ปลดแอกจาก Internalised Oppression

09 Sep 2020

อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

ฉันต่อแถวอยู่หลังเพื่อนผิวขาวชาวอเมริกันและแคนาดาสี่คน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของสก็อตแลนด์ประทับตราในหนังสือเดินทางก่อนขึ้นเครื่องบินไปทริปในยุโรปด้วยกัน เพื่อนคนแรกยื่นหนังสือเดินทางอเมริกา เจ้าหน้าที่ประทับตรา คนที่สองยื่นหนังสือเดินทางแคนาดา เจ้าหน้าที่ประทับตรา ฉันเตรียมหนังสือเดินทางประเทศไทยที่มีวีซ่าสำหรับเดินทางในยุโรปพร้อมไว้ที่กระเป๋ากางเกงด้านหลัง เมื่อถึงคิวขณะที่ฉันกำลังเอื้อมไปหยิบหนังสือเดินทางที่เหน็บไว้ที่กระเป๋ากางเกงด้านหลังนั้น เจ้าหน้าที่ก็พูดขึ้นว่า…

 

“You have your visa ready, right?” (คุณมีวีซ่าพร้อมแล้วใช่หรือไม่)

“Yes, of course. I have it.” (แน่นอน ฉันมีวีซ่ามาแล้ว)

 

ฉันตอบด้วยความรู้สึกเตรียมพร้อม มั่นใจเหมือนเด็กนักเรียนหน้าห้องที่รู้ว่าจะต้องถูกครูถาม จึงเตรียมทำการบ้านมาอย่างดีและตอบด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

 

ฉันยื่นหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่ประทับตรา และเดินออกมาหาเพื่อนชาวแคนาดาที่ยืนรออยู่ข้าง ๆ เพื่อนพูดทักทันทีว่า “รู้รึเปล่าว่าเธอกำลังโดนเหยียด (ทางเชื้อชาติ) อยู่ เจ้าหน้าที่ไม่ควรถามเธอว่าเธอมีวีซ่ารึเปล่าก่อนที่จะเห็นหนังสือเดินทางของเธอ เขาไม่ควรคิดเอาเองว่าเธอมาจากประเทศที่ต้องใช้วีซ่า”

 

ความรู้สึกภาคภูมิใจ ยินดีในการเป็นเด็กดีหายไปกลายเป็นความรู้สึกโกรธและอับอายเมื่อเกิดความเข้าใจว่าเรากำลังโดนเหยียด โดนปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตภายใต้ระบบที่เราคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราคุ้นชิน ที่เรายอมรับเข้ามาเป็นการใช้ชีวิตประจำวันของเรา แท้จริงแล้วคือการใช้ชีวิตภายใต้ระบบแห่งความไม่เท่าเทียม ระบบแห่งการกดขี่และการเหยียดที่เราไม่เคยมองเห็นเลยจนเมื่อมีบุคคลจากกลุ่มที่มีอำนาจเหนือระบบนี้ (dominant/privileged group) ชี้ให้เราเห็น ทำให้ความต้องการเป็น “เด็กดี” ภายใต้ระบบความไม่เท่าเทียมที่ว่า “ฉันสมควรได้รับการปฏิบัติแบบนี้ เพราะนี่คือสิ่งมันควรจะเป็น” ได้รับการ ปลดแอก แปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ เพราะฉันรู้แล้วว่าฉันสมควรจะได้สิ่งที่ดีกว่านี้…สิ่งที่เท่าเทียม

 


แม้ตัวอย่างที่ยกมานั้นจะเป็นตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ แต่การรับเอาค่านิยมและวิถีการใช้ชีวิตภายใต้ระบบแห่งการกดขี่และไม่เท่าเทียมมาเป็นความเชื่อของตนภายในกลุ่มคนที่ถูกกดขี่เองนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆด้านของชีวิตที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม เช่น ชนชั้น เพศ การบกพร่องทางร่างกาย เป็นต้น ในทางจิตวิทยาเรียกกระบวนการนี้ว่า Internalised oppression มีความหมายตรงตัวเลยว่า คือ การรับเอาทัศนคติและมุมมองที่มาจากระบบสังคมที่มีความกดขี่และไม่เท่าเทียมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนหรือค่านิยมของตนเอง ทำให้บุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ (oppressed group) เชื่อว่าระบบความไม่เท่าเทียมในสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่นั้น เป็นระบบที่เป็นปกติ ทั่วไป ที่มันควรจะเป็น ซึ่งแปลว่า คนเหล่านั้นจะรู้สึกว่าตนเองสมควรที่จะอยู่ในสถานะหรือบทบาทที่สังคม (ซึ่งมาจากผู้มีอำนาจในสังคม) ให้มา ไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกเอาเปรียบหรือปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม การเรียกร้องถึงความเท่าเทียมเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปและอาจไม่ยุติธรรมกับผู้อื่นในสังคม แม้ว่าผู้อื่นในสังคมนี้จะหมายถึงกลุ่มคนมีอำนาจที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้และได้รับประโยชน์หรืออย่างน้อยไม่เสียประโยชน์จากระบบที่ไม่เท่าเทียมนี้ก็ตาม

 

หากพิจารณาตัวอย่างที่ยกมา จะทำให้เข้าใจกระบวนการภายในจิตใจของผู้ที่มี Internalised oppression ได้มากขึ้นว่า นอกจากที่ฉันมองไม่เห็นถึงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมนั้นแล้ว ฉันยังปฏิบัติตนให้เป็น “เด็กดี” ของผู้มีอำนาจ ของกลุ่มคนที่สร้างและรักษาระบบความไม่เท่าเทียมนี้อีก เกิดเป็นความเชื่อว่า “นี่คือสิ่งที่มันควรจะเป็น” หรือ “แค่นี้ก็ดีพอแล้ว” โดยไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย คัดค้านที่จะให้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้นหรือได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมมากขึ้น บางคนอาจจะสนับสนุนให้รักษาระบบความไม่เท่าเทียมนี้ด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่คุ้นเคย เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับตนเองและทุกคน ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นไปในแนวที่สนับสนุนหรือรักษาความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ไว้ ซึ่งอาจทำให้เราเชื่อจริง ๆ ว่า เราไม่เก่ง ไม่ดีพอ หรือไม่มีค่าพอที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเหมือนกลุ่มคนอื่น และเชื่อว่ากลุ่มที่มีอำนาจเหนือเรานั้นสมควรที่จะได้อยู่ในสถานะหรือบทบาทที่เหนือกว่าเรา ความเชื่อเหล่านี้ก็ได้มาจากการถูกปลูกฝังผ่านระบบต่าง ๆ ทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นจากผู้มีอำนาจที่ต้องการจะรักษาความไม่เท่าเทียมนี้ไว้ แนวคิดทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้อย่างดี

 

อีกความรู้สึกที่อยากให้ทุกคนได้เห็นคือ ความโกรธและความอับอายที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าใจว่าฉันกำลังโดนเหยียดหรือปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม สองความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่ควรจะเกิดขึ้นและไม่แปลกที่จะเกิดขึ้น ความแปลกจริง ๆ แล้วน่าจะเป็นว่า ที่ผ่านมาทำไมจึงไม่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ทั้ง ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การถูกกดขี่หรือปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมมาโดยตลอด การได้รับการเปลี่ยนมุมมองโดยเฉพาะจากบุคคลที่มาจากกลุ่มที่เหนือกว่า (dominant group) เป็นเสมือนการอนุญาตให้ฉันมองเห็นความไม่เท่าเทียมนี้ รู้สึกอายที่อยู่ในสถานะนั้นเมื่อเทียบกับเพื่อนคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกได้รับอนุญาตให้ความโกรธได้ออกมา เป็นความรู้สึกที่เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การปลดแอกทางความคิดนำมาซึ่งการปลดแอกทางความรู้สึก ช่วยให้บุคคลเห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเอง เคารพตนเองและเห็นความสำคัญของการได้รับความเคารพเทียบเท่ากับมนุษย์คนอื่น ๆ ในสังคม และหวังว่าจะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมที่สร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกกลุ่มต่อไป

 

 

รายการอ้างอิง

 

David, E. J. R., & Derthick, A. O. (2013). What Is Internalized Oppression, and So What? In E. J. R. David (Ed.), Internalized Oppression (pp. 1–32). Springer Publishing Company. https://doi.org/10.1891/9780826199263.0001

 

Tappan, M. B. (2006). Reframing Internalized Oppression and Internalized Domination: From the Psychological to the Sociocultural. Teachers College Record, 108(10), 2115–2144. https://doi.org/10.1111/j.1467-9620.2006.00776.x

 

ภาพประกอบจาก http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร. พนิตา เสือวรรณศรี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

Share this content