ความรุนแรงในคู่รัก

13 Mar 2015

บริการวิชาการ

 

ความรุนแรงในคู่รัก

 

: ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวนทั้งหมด 1,010 คน เพศชาย 454 คน และเพศหญิง 556 คน มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชน อาศัยอยู่ในภาคเหนือ 299 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 300 คน ภาคกลาง 251 คนและภาคใต้ 160 คน โดยมีคู่รักเป็นเพศตรงกันข้ามที่คบหากันมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือไม่มีคู่รักหรือคู่สมรสในปัจจุบันแต่เคยมีในอดีตที่คบหากันมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

 

 

รูปแบบของการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักมี 4 รูปแบบ


 

คือ

  • ความรุนแรงทางจิตใจ (psychological aggression) คือ พฤติกรรมหรือคำพูดที่ทำร้ายอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงการทำให้คู่รักรู้สึกเจ็บปวด เสียใจ อับอาย
  • การทำร้ายทางร่างกาย (physical assault) คือ พฤติกรรมที่ทำร้ายหรือทำอันตรายด้านร่างกายของคู่รัก รวมถึงการใช้วัตถุหรืออาวุธเพื่อทำร้ายคู่รัก
  • การคุกคามทางเพศ (sexual coercion) คือ พฤติกรรมรวมถึงการใช้คำพูด การบังคับขู่เข็ญและการใช้กำลังเพื่อบังคับให้คู่รักมีเพศสัมพันธ์กับตนเองโดยไม่เต็มใจ
  • การบาดเจ็บ (injury) คือ การบาดเจ็บทางร่างกายอันเกิดจากการกระทำของคู่รักโดยพิจารณาจากความบอบช้ำของร่างกายหรือการแตกหักของกระดูก ความจำเป็นในการส่งไปรักษาพยาบาลหรือความเจ็บปวดที่เกิดต่อเนื่องมากกว่า 1 วัน

 

ผลการวิจัย พบว่า เพศชายและหญิงไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 75 เคยกระทำความรุนแรงต่อคู่รักอย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

 

ทั้งนี้ เพศชายมี “อัตราส่วนการกระทำความรุนแรง” มากกว่าเพศหญิงโดยรวม ซึ่งทางจิตใจมีค่าใกล้เคียงกัน แต่เพศชายมากกว่าเพศหญิงในการกระทำความรุนแรงทางกาย ทางเพศ และการทำร้ายจนบาดเจ็บ

 

แต่เมื่อพิจารณา “ระดับของการกระทำความรุนแรง” แล้ว พบว่า เพศชายมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงโดยรวมสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ขณะที่เพศหญิงมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงทางจิตใจสูงกว่าเพศชายเล็กน้อย และมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงทางกายสูงกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเพศชายมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงทางเพศสูงกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญ และมีค่าเฉลี่ยการทำร้ายจนบาดเจ็บสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

 

ส่วนคุณลักษณะที่พบความแตกต่างระหว่างชายหญิงที่มีความแตกต่างในการกระทำความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ คือ เพศชายที่มีรายได้ต่ำกว่า และเพศหญิงที่มีรายได้เท่ากับคู่รัก มีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักสูงสุด ในขณะที่ทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีรายได้สูงกว่าคู่รักมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักต่ำสุด

 

 

อัตราส่วนการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก


 

เพศชาย ร้อยละ 74 รายงานว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยมีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ทางกายและทางเพศที่มีคะแนนใกล้เคียงกัน และถูกทำร้ายจนบาดเจ็บต่ำที่สุด

 

ส่วนเพศหญิงมีอัตราส่วนการถูกกระทำความรุนแรง ร้อยละ 70 รายงานว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยมีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ทางเพศ ทางกายและถูกทำร้ายจนบาดเจ็บต่ำที่สุด

 

โดยเพศชายมีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักสูงกว่าเพศหญิงในทุกด้านอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นการได้รับความรุนแรงทางเพศที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับเพศหญิง

 

 

 

สำหรับตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อความแตกต่างในการถูกกระทำความรุนแรงระหว่างชายหญิง ได้แก่ สถานภาพสมรสของกลุ่มคนทำงานพบว่า เพศชายที่มีสถานภาพโสด และเพศหญิงที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรส มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักสูงสุด ส่วนกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักต่ำสุดได้แก่ เพศชายที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรส และเพศหญิงที่ไม่ได้แต่งงานแต่อยู่ร่วมกันกับคู่รัก

 

นอกจากนี้ เพศชายที่มีรายได้ต่ำกว่า และเพศหญิงที่มีรายได้เท่ากับคู่รัก มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักสูงสุด แต่เพศชายที่มีรายได้สูงกว่า และเพศหญิงที่มีรายได้ต่ำกว่าคู่รัก มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักต่ำสุด

 

 

ผลการวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงในคู่รัก


 

ประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางตรง” ต่อการกระทำและการถูกกระทำความรุนแรงในคู่รัก เนื่องจากเด็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และยังขาดทักษะการใช้เหตุผลตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด จึงใช้พ่อแม่ของตนเองเป็นแบบอย่างสำหรับการทำสิ่งที่ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ ประสบการณ์ความรุนแรง และการสนับสนุนจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางอ้อม” ต่อการกระทำความรุนแรงต่อคู่รัก “ผ่านความวิตกกังวลในความผูกพันต่อคู่รัก” เพราะประสบการณ์วัยเด็กที่รุนแรงหรือได้รับการสนับสนุนน้อยเกินไปจากพ่อแม่ มีผลต่อการสร้างรูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นคงต่อคู่รัก คนที่วิตกกังวลในความผูกพันสูงมักแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางลบ มุ่งร้าย แสดงความกลัวและความโกรธอย่างมาก พวกเขาต้องการใกล้ชิดกับคู่รัก แต่กังวลถึงคุณค่าและการเป็นที่รัก คิดทางลบต่อตนเอง กลัวถูกทอดทิ้ง มีแนวโน้มชอบตำหนิและจับผิด จึงมีการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักเพื่อบังคับให้คู่รักสนใจมาที่พวกเขา

 

ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์ความรุนแรง และประสบการณ์การสนับสนุนจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางอ้อม” ต่อการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก “ผ่านการหลีกหนี” และ “ความวิตกกังวลในความผูกพัน” ต่อคู่รัก เนื่องจากคนที่มีการหลีกหนีในความผูกพันมักทำพฤติกรรมออกห่างหรือหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับคู่รัก ทำให้คู่รักที่มีความวิตกกังวลในความผูกพันเข้าใจว่าเป็นสัญญาณเตือนของการยุติความสัมพันธ์ ซึ่งกระตุ้นให้คู่รักกระทำความรุนแรงเพื่อควบคุมหรือรักษาความสัมพันธ์ของตนไว้ และมักตีความสถานการณ์ผิดเพราะวิตกกังวลในความผูกพัน และรับรู้ไม่ถูกต้องเมื่อคู่รักทำพฤติกรรมถอนตัว รับรู้ว่าการถอนตัวของคู่รักคือการจะยุติความสัมพันธ์ จึงอาจตอบโต้โดยการกระทำความรุนแรง ดังนั้นคนที่มีการหลีกหนีในความผูกพันจึงมักกลายเป็นเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก ส่วนคนที่วิตกกังวลในความผูกพันที่มักใช้ความรุนแรงในการดึงความสนใจหรือควบคุมคู่รักก็อาจถูกใช้วิธีเดียวกันตอบโต้กลับมาซึ่งเป็นธรรมดาของการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

 

 

 

 

ประสบการณ์ความรุนแรงและการสนับสนุนจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางอ้อม” ต่อการกระทำความรุนแรงต่อคู่รัก “ผ่านความหลงตนเอง” อีกด้วย เนื่องจากความหลงตนเองเป็นผลของการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่มีต่อลูกโดยได้รับการให้ค่าสูงเกินไปหรือถูกปฏิเสธ รวมถึงการเลี้ยงดูที่เย็นชา การไม่แสดงออกของพ่อแม่แต่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อเด็ก ทำให้คนที่มีความหลงตนเองพยายามรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งถูกแผ่ขยายไปรวมถึงความสัมพันธ์ในภายหลังเพื่อปกป้องตัวตน ดังนั้นคนที่หลงตนเองจึงแสดงออกเพื่อป้องกันตัวจากความรู้สึกที่ไม่ดีและการถูกทอดทิ้งจากการถูกปฏิเสธในวัยเด็ก คนที่มีความหลงตนเองจะมีความไม่ไว้วางใจผู้อื่นสูงและไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์ ความสัมพันธ์กับคู่รักจึงมีลักษณะของความหึงหวง การควบคุมและการถอนตัวจากคู่รัก จึงมีการกระทำความรุนแรงต่อคู่รัก

 

 

ข้อแนะนำของผู้วิจัยเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงระหว่างคู่รัก


 

1. การไม่ใช้ประสบการณ์ความรุนแรงต่อเด็กของพ่อแม่ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงในคู่รักหรือคู่สมรสในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการกระทำความรุนแรงทางจิตใจโดยการทำร้ายความรู้สึก ดูถูก และสร้างความอับอายจากพ่อแม่ ที่มักถูกละเลยและมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นเพียงการระงับการพัฒนาไปสู่รูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะความวิตกกังวลในความผูกพันและบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรุนแรงในคู่รัก แต่การให้ประสบการณ์การสนับสนุนของพ่อแม่ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการเป็นตัวแบบที่ดีและให้ความเป็นธรรมแก่ลูก เป็นวิธีการสอนที่ดีกว่า โดยใช้การปฏิบัติให้มากกว่าใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเด็กได้มีตัวแบบที่ได้ในการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมเพื่อสุขสภาวะที่ดีต่อไป

 

2. แม้จะมีประสบการณ์ความรุนแรงจากพ่อแม่หรือมีประสบการณ์การสนับสนุนจากผู้เลี้ยงดูมาน้อยแต่ถ้าบุคคลรู้จักการหลีกเลี่ยงในความสัมพันธ์ โอกาสที่จะกระทำความรุนแรงต่อคู่รักจะน้อยลง ดังนั้นผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ขัดความแย้งหรือมีอารมณ์โกรธกับคู่รักอย่างรุนแรงควรพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือถอยห่างจากคู่รักจนกว่าจะใจเย็นลง อย่างไรก็ตามการถอยห่างจากคู่รักควรทำด้วยความสงบเพื่อไม่เป็นการยั่วยุคู่รักของตนเอง และควรสังเกตสัญญาณที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งก่อนที่จะเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น

 

3. คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองแบบแสดงออก โดยเฉพาะความหลงตนเองด้านการแสวงหาผลประโยชน์ มีแนวโน้มกระทำความรุนแรงต่อคู่รักโดยเฉพาะการกระทำความรุนแรงทางเพศ เนื่องจากมีความอดทนต่ำต่อสถานการณ์คุกคาม ไม่ไว้วางใจผู้อื่น มีความไม่มั่นคงสูง จึงควรส่งเสริมความสัมพันธ์ในคู่รักโดยไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ การได้เปรียบเสียเปรียบในคู่รักมากเกินไป แต่ความหลงตนเองแบบความหวั่นไหวมากกว่าปกติจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก เนื่องจากกลัวการไม่ยอมรับและการถูกปฏิเสธจากคนอื่นจึงเป็นฝ่ายถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักโดยเฉพาะความรุนแรงทางกาย ดังนั้นแนวทางที่จะช่วยลดความกลัวการถูกปฏิเสธ คือการพยายามให้การสนับสนุนความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อลดความหลงตนเองแบบไม่แสดงออกลง

 

4. หากเกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัวแล้วต้องพยายามยุติโดยเร็วที่สุด เพราะจะมีผลต่อคนในครอบครัวโดยเฉพาะบุตรหลานที่สามารถรับรู้ถึงความรุนแรงนั้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการกระทำความรุนแรงต่อเด็กที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็กเสียไป ส่งผลต่อการพัฒนาความผูกพัน บุคลิกภาพ และความสัมพันธ์กับผู้อื่นในอนาคต

 

5. ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลต่อการเกิดความรุนแรงในคู่รัก อาทิ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ สถานภาพสมรส การแต่งงานใหม่ของเพศหญิง รวมถึงภาพความรุนแรงระหว่างพ่อแม่ที่ลูกรับรู้ ดังนั้นการเลือกคู่รักหรือคู่สมรส รวมถึงการจัดการความขัดแย้งภายในครอบครัวแบบไม่ใช้ความรุนแรง คือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการกระทำความรุนแรงและการถูกกระทำความรุนแรงในคู่รัก”
“A development of the causal models of perpetration and victimization of intimate partner violence”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ด.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2557)
โดย นางสาวศรัญญา ศรีโยธิน
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44394

Share this content