ความพึงพอใจในงาน
หมายถึง ความรู้สึกดี หรือมีเจตคติทางบวกต่อการทำงาน อันเนื่องมาจากการที่บุคคลทำงานแล้วได้รับการตอบสนองความต้องการในระดับที่บุคคลคาดหวังไว้ ทั้งที่เป็นความต้องการภายในของบุคคลเอง เช่น การต้องการความยอมรับ ความภาคภูมิใจในตนเอง การได้พิสูจน์ความสามารถ และตอบสนองความต้องการจากภายนอก เช่น ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน ชีวิตมีความมั่นคงและมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ทฤษฎีสองตัวประกอบของเฮอร์ซเบอร์ก (1959)
ทฤษฎีนี้เสนอว่า สิ่งที่บุคคลต้องการจากการทำงานนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความต้องการภายในของบุคคลที่ต้องการจะพัฒนาและสร้างความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นกับตัวเองจากการทำงานนั้น ๆ และอีกกลุ่มเน้นความสำคัญที่ความเสมอภาคและความราบรื่นในการทำงาน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องและจะทำให้บุคคลสามารถเข้าถึงความต้องการในกลุ่มที่หนึ่งได้ กลุ่มความต้องการ 2 กลุ่มนั้นได้แก่ 1. ปัจจัยจูงใจ (motivation) และ 2. ปัจจัยค้ำจุน (hygiene)
1. ปัจจัยจูงใจ – เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้บุคคลเกิดความพึงพอใจในการทำงาน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้บุคคลใช้ความพยายามและความทุ่มเทในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ
ประกอบด้วย ความสำเร็จในการทำงาน, การได้รับการยอมรับนับถือ, ลักษณะงานที่ปฏิบัติ, ความรับผิดชอบ และความก้าวหน้า
2. ปัจจัยค้ำจุน – เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งช่วยไม่ให้ขวางการทำงาน หรือลดประสิทธิภาพของการทำงานลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปัจจัยค้ำจุนเป็นปัจจัยคือสิ่งที่จะป้องกันและลดความไม่พึงพอใจที่จะเกิดขึ้นในการทำงานนั้นๆ ไม่ใข่สิ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจโดยตรง
ประกอบด้วย นโยบายและการบริหาร, การปกครองบังคับบัญชา, ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน, ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา, สภาพ/เงื่อนไขการทำงาน, เงินเดือน, ชีวิตส่วนตัว, ความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา, ฐานะ และความมั่นคง
ทฤษฎีคุณลักษณะของงาน (job characteristics theory)
ทฤษฎีนี้เสนอว่า เมื่องานมีคุณลักษณะที่สำคัญในระดับสูง จะนำไปสู่ความพึงพอใจในงาน มีด้วยกัน 5 ประการดังนี้
- ความหลากหลายของงาน – เป็นระดับของงานที่มีจำนวนกิจกรรมที่ต่างกันออกไป มีการใช้ทักษะที่แตกต่างและใช้พรสวรรค์
- การระบุขอบเบตของงาน – เป็นระดับของงานที่ระบุได้ว่ามีขอบเขตของงานอย่างไร ต้องใช้สิ่งใดบ้างเพื่อให้งานสำเร็จ รวมถึงเห็นจุดกำเนิดของงานและจุดสิ้นสุดพร้อมผลลัพธ์
- มีความสำคัญและมีความหมาย – คือระดับของงานที่ทำนั้นมีอิทธิพลต่อผู้อื่น หรือเป็นงานที่สามารถช่วยดหลือความเป็นอยู่ในครอบครัวให้ดีขึ้น และคุณลักษณะของงานที่เมื่อมองไปในอนาคตแล้วมีความสำคัญ ช่วยเหลือผู้อื่น หรือโลกได้
- อำนาจควบคุมในตนเอง – คือระดับที่งานนั้นสามารถให้อิสระ เมื่องานให้อำนาจควบคุมในตนเอง บุคคลจะพยายามมากกว่างานที่ขาดอิสระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อำนาจควบคุมในตนเองมีหลายรูปแบบ รวมไปถึงอิสระในการควบคุมเวลา ตารางของงาน วิธีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้
- การให้ผลป้อนกลับ – คือระดับของผลจากการทำกิจกรรมของงาน ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลแก่บุคคลผู้ทำงานนั้นอย่างกระจ่างชัดเจน ว่าบุคคลนั้นมีศักยภาพอย่างไรในการทำงาน
ปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน
Spector (1996) ได้ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งอิทธิพลต่อความพึงพอใจในงาน โดยสามารถสรุปได้เป็นหัวข้อดังนี้
- ลักษณะบุคลิกภาพ – ปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.1 อารมณ์ความรู้สึกทางลบ – บุคคลที่มีอารมณ์ทางลบมักจะส่งผลข้ามสถานการณ์ ทำให้เมื่ออยู่ในบริบทของการทำงานหรือองค์การแล้ว ก็มีแนวโน้มไม่พึงพอใจในงานด้วย 1.2 ความเชื่ออำนาจในตน – บุคคลที่เชื่อในอำนาจในตนจะเชื่อมั่นในการควบคุมสถานการณ์ของตน เมื่อพบอุปสรรคจึงมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการได้ จึงมีความพึงพอใจในงานสูงกว่าบุคคลที่ไม่มีความเชื่อในอำนาจของตน
- เพศ – เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในระดับต่ำ แต่เคยมีงานวิจัยพบว่า เพศชายมักจะชอบงานที่มีลักษณะจัดการ หรือต้องอาศัยทักษะ ความเชี่ยวชาญ ส่วนเพศหญิงมักจะชอบงานลักษระงานที่แน่นอน เป็นกิจวัตรมากกว่า
- อายุ – มีงานวิจัยที่พบว่าบุคคลจะมีความพึงพอใจในงานมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เพราะการตระหนักในผลประโยชร์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากองค์การ เป็นผลจากความก้าวหน้าในอาชีพในองค์การนั้น รวมถึงเงื่อนไขการทำงาน ตำแหน่งงาน และเงินเดือนที่เปลี่ยนไป
ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในงาน (โดยรวม)
ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในงานมีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งสามารถพิจารณาได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
- ปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย ประสบการณ์การทำงาน, เพศ, จำนวนสมาชิกในการทำงาน, อายุ, เวลาในการทำงาน, เชาวน์ปัญญา, ระดับการศึกษา, บุคลิกภาพ, ระดับเงินเดือน, แรงจูงใจในการทำงาน และความสนใจในงาน
- ปัจจัยด้านงาน ประกอบด้วย ลักษณะงาน, ทักษะความหลากหลายในการทำงาน, ฐานะทางวิชาชีพ, ขนาดของหน่วยงาน, ระยะทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และโครงสร้างของงาน
- ปัจจัยด้านการจัดการ ประกอบด้วย ความมั่นคงในงาน, รายรับ, โอกาสก้าวหน้า, อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่, สภาพการทำงาน, เพื่อนร่วมงาน, ความรับผิดชอบในงาน, การนิเทศงานสำหรับพนักงานใหม่, การสื่อสารกับผู้บังคับบัญชา, ความศรัทธาในผู้บริหารกับพนักงาน
- ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย การจัดสถานที่, อุณหภูมิ, แสง, เสียง, บรรยากาศในการทำงานที่ช่วยส่งเสริมการติดต่อสื่อสาร และการประสานงานภายในองค์การ
ข้อมูลจาก
“ความพึงพอใจในการทำงานและปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” โดย พิมประไพ ศุภรัตน์ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/4761
“ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในการทำงานกับความพึงพอใจในงานของพนักงานบริการบริษัทแห่งหนึ่ง” โดย ขนิษฐ์รัฐ อติชาตศรีสกุล และ ณัฏฐา เทียนทอง (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47175
“ความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในงานกับความผูกพันต่อองค์การ โดยมีความเข้มแข็งอดทนเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ธัญญภรณ์ อรรณพ ณ อยุธยา, นันทนัช ทองอุปการ และ ไพสิฐ คานทองดี (2555) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44196