ความหมายในชีวิตจากสิ่งที่มีอยู่

23 May 2022

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

 

เมื่อบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแล้วกลับเข้ามานั่งในที่นั่งของตนเอง ฉันที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ดูแลก็สังเกตเห็นว่า สิ่งแรกที่บัณฑิตทำเมื่อกลับมานั่งเรียบร้อยก็คือการนั่งอ่านปริญญาบัตรของตัวเอง แน่นอนทุกคนก็คงตรวจสอบว่าชื่อของตัวเองบนปริญญาบัตรถูกต้องหรือไม่ซึ่งก็คงใช้เวลาไม่นานนักในการตรวจสอบ แต่ทว่าบัณฑิตหลายคนกลับนั่งดูปริญญาบัตรของตัวเองนานกว่านั้นมาก บางคนนั่งอ่านนานหลายนาที ทำให้ฉันนึกได้ว่าบัณฑิตเหล่านั้นคงกำลังรับรู้อะไรบางอย่างที่มี “ความหมาย” มากกว่าข้อความที่ปรากฏอยู่บนปริญญาบัตร

 

 

ความหมายที่แต่ละคนรับรู้นั้นคงไม่เหมือนกัน และไม่มีทางที่จะเหมือนกัน เพราะความหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์เรากำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะให้คุณค่ากับมัน ในทุกวันนี้หลายคนตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า ฉันมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ความหมายในชีวิตของฉันคืออะไร เพราะอะไรฉันถึงต้องมีชีวิตอยู่ จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นความรู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้า เบื่อหน่าย และไม่ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

 

 

Viktor Frankl จิตแพทย์ชาวเวียนนา ผู้คิดค้นจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต (Logotherapy) กล่าวไว้ว่า ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์เราขาดแรงจูงใจภายใน และหันไปพึ่งพาสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้สิ่งแวดล้อมภายนอกเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเรามากขึ้น มากจนกลายเป็นข้อจำกัดให้เราไม่สามารถทำอะไร ไม่มีอิสรภาพ และรับรู้ว่าชีวิตของเราไร้ความหมายในที่สุด (Frankl, 1988)

 

เมื่อชีวิตตกอยู่กับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอย หายใจทิ้งไปวัน ๆ เพราะทุกอย่างในชีวิตถูกกำหนดมาแล้ว ฉันไม่สามารถหลีกหนีจากโลกและสังคมตรงนี้ได้ หรือในบางกรณีที่เราใช้ชีวิตสนใจแต่ตัวเองจนลืมคุณค่าของคนอื่น ทั้งหมดล้วนเป็นทัศนคติและมุมมองที่ทำให้ความหมายในชีวิตของเราหายไปได้ การดำเนินชีวิตด้วยทัศนคติดังกล่าวเป็นการดำเนินชีวิตที่คำนึงถึง “สิ่งที่ควรจะเป็น” มากกว่า “สิ่งที่เป็นอยู่”

 

ดังนั้น การกลับมาดำเนินชีวิตภายใต้ทัศนะสิ่งที่ฉันเป็นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรากลับมาตระหนักในตัวเองมากขึ้น มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเรา มองสิ่งที่เรามีอยู่ มองสิ่งที่อยู่รอบข้างของเรา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเริ่มค้นหาความหมายในชีวิตของเรา หากเราทำสิ่งของสักชิ้นหาย เราก็จะนึกทบทวนว่าเราเห็นของชิ้นนั้นครั้งสุดท้ายที่ไหนเมื่อไหร่ แล้วค่อยเริ่มค้นหาจากจุดนั้น ความหมายในชีวิตก็ไม่แตกต่างกัน เราเองก็คงต้องกลับมานึกทบทวนชีวิตที่เป็นอยู่ ชีวิตที่เรามีอยู่ สิ่งรอบข้างผู้คนรอบตัวของเราเช่นกัน

 

มนุษย์เราเป็นคนให้ความหมายในชีวิตของตัวเอง

เช่นเดียวกับที่บัณฑิตแต่ละคนที่ใช้เวลาคำนึงถึงความหมายในชีวิตจากปริญญาบัตรที่อยู่ในมือของตนเอง

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Frankl, V. E. (1988). Man’s search for meaning. Simon and Schuster.

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/photos/flat-lay

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content