Zick Rubin (1970) เสนอว่า ความรัก คือเจตคติเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งมีต่ออีกบุคคลหนึ่งในทิศทางที่แน่นอน Rubin ได้แยกความแตกต่างระหว่างความชอบและความรักไว้ว่า ความรักนั้นเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งและความผูกมัดมากกว่าความรู้สึกชื่นชอบธรรมดา โดยเขาเสนอว่าความรักประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่
- Attachment – ความต้องการอยู่กับอีกคนหนึ่ง อยากใช้เวลาด้วยกัน และแสวงหาความใกล้ชิด
- Caring – ความต้องการให้อีกคนหนึ่งมีความสุขและได้เติมเต็มความต้องการของเขา เห็นอกเห็นใจ ใส่ใจ
- Intimacy – ความสนิทสนมทางอารมณ์และความรู้สึกของการแบ่งปันความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ส่วนตัว ทำให้เกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างกัน
มุมมองด้านจิตวิทยาวิวัฒนาการ มักอธิบายความรักว่าเกี่ยวข้องกับการเลือกคู่ คือ มองว่าความรักเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทารกที่เกิดขึ้นสามารถอยู่รอดสูง และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ของตนไว้ได้ เนื่องจากบุคคลที่มีความรักต่อกัน ตัดสินใจอยู่ร่วมกัน และมีการให้กำเนิดทารกขึ้น บุคคลทั้งสองจะสามารถดูแลทารกที่เกิดมาได้อย่างดี มีโอกาสรอดสูง และมีอายุที่ยืนยาวจนสามารถสืบเผ่าพันธุ์ได้สูงกว่าทารกที่เกิดจากบุคคลที่ไม่ได้มีความรักต่อกัน ไม่ช่วยกันเลี้ยงดูทารก
ส่วนทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม อธิบายว่า ความรักเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคม โดยบุคคลจะเรียนรู้พฤติกรรมความรักโดยอาศัยบริบททางสังคมเป็นหลัก ดังนั้นรูปแบบความรักในแต่ละวัฒนธรรมจึงมีความแตกต่างกัน ตามแต่การเรียนรู้ของบุคคลในสังคม
ขณะที่ทฤษฎีการขยายความเป็นตัวตน มีมุมมองว่า มนุษยมีความปรารถนาที่จะเติบโตและขยายความเป็นตัวตนของตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การเรียนรู้ประสบการณ์การมีสัมพันธภาพ ร่วมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับรู้ตนเองของบุคคลอื่น ทำให้บุคคลสามารถเข้าใจตัวตนของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ความเป็นตัวตนของตนเองมีขอบเขตขยายกว้างขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน
รูปแบบความรัก
รูปแบบความรักหรือเจตคติเกี่ยวกับความรักพัฒนามาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กในครอบครัว รวมถึงบุคลิกภาพ เพศ ภูมิหลัง เชื้อชาติ สถานภาพ อายุ ค่านิยม และประสบการณ์ในชีวิตจะหล่อหลอมแนวคิดต่อความรักด้วย ทั้งนี้ Lee (1973) ได้แบ่งประเภทของรูปแบบความรักและลักษณะของบุคคลที่มีความรักแต่ละรูปแบบดังนี้
1. ความรักแบบเสน่หา (Eros)
คือ ผู้ที่เชื่อและมีความดึงดูดใจกับคู่รักตั้งแต่แรกพบ ต้องการความผูกพันทางร่างกายและอารมณ์สูง พอใจกับการมีอารมณ์ที่เร่าร้อน พร้อมที่จะรักและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ พยายามพัฒนาสายสัมพันธ์กับคนรักอย่างรวดเร็ว เปิดเผยตนเองอย่างซื่อสัตย์และจริงใจ สนใจแต่เฉพาะคู่ของตน และไม่เรียกร้องความเป็นเจ้าของจากคู่รัก
2. ความรักแบบเล่นเกม (Ludus)
คือ ความรักที่มีความผูกพันกันเพียงชั่วคราว มีคู่รักหลายคนในเวลาเดียวกัน และพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างความผูกพันทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งกับคู่รัก ไม่แสดงความหึงหวงและความเป็นเจ้าของ รวมทั้งไม่ต้องการให้คู่รักแสดงความหึงหวงและความเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน ต้องการรักษาความเป็นอิสระของตน แม้บุคคลจะไม่ปรารถนาที่จะทำให้คู่ของตนเจ็บปวด แต่การโกหกและการไม่ซื่อสัตย์เกิดขึ้นได้เสมอ
3. ความรักแบบมิตรภาพ (Storge)
คือ ความรักที่มีพื้นฐานมาจากมิตรภาพ คู่รักมักรู้จักกันมาแบบเพื่อนเป็นเวลานาน มีความใกล้ชิดสนิทสนมคุ้นเคยกัน เข้าใจกัน คู่รักต้องการเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างค่อนเป็นค่อยไป ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน บุคคลจะพิจารณาความรักในฐานที่เป็นพื้นฐานของสังคมและครอบครัว โดยปราศจากความใคร่และไม่ต้องการความตื่นเต้นเร้าใจ แต่ต้องการมิตรภาพที่แนบแน่น
4. ความรักแบบใช้เหตุและผล (Pragma)
คือ ความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ บุคคลจะแสดงหาคู่รักที่เหมาะสมกับตนมากที่สุด ใช้เหตุและผลพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกัน โดยมีจุดหมายที่จะมีความสัมพันธ์กันในระยะยาวและต้องการที่จะรู้จักคู่รักของตนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ หากพิจารณาว่าคู่รักไม่เหมาะสมกันตน บุคคลอาจยุติความสัมพันธ์ลง
5. ความรักแบบลุ่มหลง (Mania)
คือ ความรักที่ปรารถนาความใกล้ชิดกัน ต้องการความเป็นเจ้าของกันและกันสูง มักเกิดความหึงหวงและความเข้าใจผิดกัน มักหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่เกี่ยวกับคู่ของตน ปรารถนาที่จะใช้เวลาอยู่กับคู่ตลอดเวลา เกิดความวิตกกังวลทันที่ถ้าคู่ของตนขาดความสนใจหรือไม่แสดงความรักตามที่ปรารถนา เชื่อว่าถ้าตนมีชีวิตโดยปราศจากความรักชีวิตของตนจะไม่มีค่า
6. ความรักแบบเสียสละ (Agape)
คือ ความรักที่บุคคลต้องการเป็นฝ่ายให้มากกว่าฝ่ายรับ คิดถึงความสุขและผลประโยชน์ของคู่รักเป็นหลัก โดยไม่กังวลถึงความต้องการของตนเองและไม่คาดหวังว่าจะได้รับอะไรกลับคืน ห่วงใย ใส่ใจ ให้อภัย ไม่เรียกร้อง มีการสนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกันสูง ดังนั้น “การให้” จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความรักแบบเสียสละ
งานวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับรูปแบบความรัก
งานของ Fricker และ Moore (2002) พบว่า รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงสัมพันธ์กับความรักแบบเสน่หา บุคคลที่รับรู้ตนเองทางบวกจะเห็นคุณค่าในตนเองสูง และมีอิทธิพลทางทางบวกโดยตรงต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ส่วนรูปแบบความผูกพันแบหลบหลีกมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความรักแบบเล่นเกม และมีสหสัมพันธ์ทางลบกับความรักแบบเสน่หาและเสียสละ อีกทั้งลักษณะรูปแบบความผูกพันวิตกกังวลยังสะท้อนความรักแบบลุ่มหลง โดยบุคคลจะต้องการผูกมัดในความสัมพันธ์แบบโรแมนติดอย่างมาก และขึ้นกับคู่รักของตนเป็นสำคัญ
งานของ Morrow, Clark และ Brock (1995) พบว่า บุคคลจะเลือกคู่รักที่มีรูปแบบความรักคล้ายกับรูปแบบความรักของตน สอดคล้องกับงานของ Hahn และ Blass (1997) ที่พบว่า รูปแบบความรักที่บุคคลคล้ายคลึงกับคู่รักมากที่สุดคือ ความรักแบบมิตรภาพ และความรักแบบเสียสละ ส่วนที่คล้ายคลึงกับคู่รักน้อยที่สุดคือ ความรักแบบเล่นเกม นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า คู่รักที่มีรูปแบบความรักคล้ายคลึงกันจะมีแนวโน้มอยู่ด้วยกันและพึงพอใจในความสัมพันธ์มากกว่าคู่รักที่มีรูปแบบความรักแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีความคาดหวังในความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางเดียวกัน
งานของ วาริน เทพยายน (2542) พบว่าอายุมีสหสัมพันธ์ทางลบกับความรักแบบลุ่มหลง คือเมื่ออายุเพิ่มขึ้นและมีระยะเวลาคบกับคนรักนานขึ้น จะทำให้มีความรักแบบลุ่มหลงลดลง และพบว่าบุคคลที่เคยมีความรักหลายครั้งมีแนวโน้มจะมีความรักแบบเล่นเกมสูงขึ้น เสียสละในความรักและพึงพอใจในความสัมพันธ์น้อยลง
ข้อมูลจาก
สุธาสินี ใจสมิทธ์. (2553). อิทธิพลของความหลงตนเอง รูปแบบความรักแบบเล่นเกม และการกระตุ้นลักษณะเน้นความสัมพันธ์ต่อการผูกมัดในความสัมพันธ์. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.14457/CU.the.2010.1915
สิริภรณ์ ระวังงาน. (2553). ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีองค์ประกอบของความรักทั้งสามเป็นตัวแปรส่งผ่าน. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.14457/CU.the.2010.1237