LUNCH TALK มื้อที่ 2
วันอังคารที่ 29 กันยายน 2563
เรื่อง ครูทำร้ายเด็ก : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน
วิทยากร
รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต (อ.สมโภชน์)
ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ (อ.น้อง)
คุณเวณิกา บวรสิน (ครูส้ม)
ดำเนินรายการโดย
อ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก)
สาเหตุที่การทำร้ายเด็กเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมคืออะไร?
อ.สมโภชน์ :
เรื่องนี้มองได้ 2 มิติ มิติแรกเป็นเรื่องค่านิยมของไทยตั้งแต่อดีต ที่เราเชื่อว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” เมื่อเด็กทำผิด หรือทำไม่ถูกใจเรา เราก็จะลงโทษ อีกมิติหนึ่งเป็นเรื่องของการที่ครูไม่เข้าใจวิธีการที่จะจัดการกับปัญหาของเด็ก ซึ่งเด็กสมัยนี้แอคทีฟมาก ขณะที่ครูต้องการจะควบคุมเด็ก แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงใช้วิธีการรุนแรง และคิดว่าตนเองไม่ผิด
เรื่องค่านิยมการเลี้ยงดูนั้น ผมเชื่อว่าการที่เราใช้วิธีการเลี้ยงดูเด็กเช่นไร เป็นเพราะเราเคยมีประสบการณ์ถูกใช้วิธีการเช่นนั้นมาก่อน เป็นเรื่องของการเรียนรู้จากตัวแบบ ถึงแม้ว่าการที่เราถูกกระทำเช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ในเวลาที่เราเผชิญกับปัญหาและไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร บวกกับการที่รู้สึกว่าจากที่เราเคยถูกกระทำมานั้น เราก็เงียบ ก็หยุด ดังนั้น เมื่ออยากให้เขาหยุดบ้าง เราก็เลยใช้วิธีการเช่นนั้นบ้าง
นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เรียนครู และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเด็ก
อ.น้อง :
เมื่อเราไม่รู้จักวิธีอื่นที่ดีกว่า เราก็จะใช้สิ่งที่เราคุ้นเคย เช่น ถ้าตอนเด็ก ๆ เราถูกผู้ใหญ่ขู่ว่าถ้าทำไม่ดีจะจับขังห้องมืด เมื่อถึงเวลาที่เราต้องดูแลเด็ก เราก็จะใช้วิธีเหล่านี้กับลูกหลานของเราหรือเด็กที่เราดูแลด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำไปโดยไม่ตั้งใจ แต่เป็นสิ่งที่นึกได้ในเวลานั้น และในทางจิตวิทยา คนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเอง คือคิดว่า เรายังเติบโตโดยผ่านสิ่งนั้นมาได้ มันก็น่าจะโอเค โดยที่เราลืมไปว่าตอนเด็ก ๆ เราก็ไม่ชอบ แต่เราทำสิ่งเดียวกันนี้กับเด็กรุ่นหลัง ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันด้วยResearch ทั้งนี้ ต่อให้เราไม่ได้ถูกกระทำจากพ่อแม่ แต่ผู้ใหญ่คนอื่นในชีวิตเราก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราได้เช่นกัน
ในสมัยที่ อ.น้อง โตมา เวลาเราทำการบ้านไม่ได้ หรือทำผิดทำพลาด ครูก็จะตี ตีแล้วก็จะอธิบาย แต่ในสมัยนี้เราพยายามที่จะไม่ให้มีการตี เพราะการตีมันเลยเถิดได้ การตีไม่สำคัญเท่าการอธิบาย ครูและนักจิตวิทยาเด็กจะทราบดีว่าการสอนเด็กทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องตีหรือใช้การลงโทษรุนแรง ยิ่งในเด็กเล็ก การทำร้ายร่างกายเป็นการทำร้ายจิตใจด้วย เพราะเด็กจะกลัว
ทำไมครูคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์จึงเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น?
อ.สมโภชน์ :
เป็นไปได้ว่าเป็นความเคยชินของครูบางคนที่มองว่าเป็นเรื่องปกติของการใช้ความรุนแรงในการควบคุมเด็ก และอาจเป็นไปได้ว่าเขาเข้าไปเตือนแล้ว แต่โดนสวนกลับ จึงไม่เข้าไปยุ่งอีก
อ.หยก :
ทางจิตวิทยาสังคมสามารถอธิบายได้ว่า บุคคลในเหตุการณ์อาจมองว่าเดี๋ยวก็มีคนอื่น ๆ เข้าไปจัดการ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเราโดยตรง แต่อย่างในกรณีที่เป็นข่าวนั้น อาจเป็นไปได้ว่าครูคนอื่นเคยเข้าไปห้าม แต่ถูกเตือนมาว่าความรุนแรงแบบนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ อย่างไรก็คงต้องไปติดตามข่าวเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะบางคนก็ยังพูดจริงบ้างไม่จริงบ้าง ข้อมูลยังไม่ตรงกัน
ครูส้ม :
จากประสบการณ์ของครูส้ม เคยได้ฟังจากที่ครูคนอื่นมาเล่าว่ามีครูบางคนเห็นเพื่อนครูในห้องทำโทษเด็กแบบรุนแรงแล้วเขาไม่ห้าม เพราะเขาเห็นว่าสิ่งที่ครูคนนั้นทำไปมันโอเค กรณีนี้เหมือนว่าเป็นอารมณ์ร่วมของครูในห้อง คือตนก็รู้สึกรำคาญอยู่แล้วเช่นกัน ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งทำโทษเด็กแบบรุนแรงแล้วทำให้เด็กในห้องหยุดพฤติกรรมที่ครูไม่พอใจ และทำกิจกรรมตามที่ครูต้องการได้ ครูคนอื่นที่เหลือก็จะปล่อยให้ทำโทษเด็กในลักษณะแบบนั้นต่อไป กรณีแบบนี้ผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าต้องมีการตักเตือนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ การลงโทษเด็กมีวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การทำร้ายเด็ก และการที่ครูคนอื่นเห็นเหตุการณ์แล้วไม่พูดหรือเตือน ให้ถือเป็นความผิดร่วมกันทั้งหมด เพราะถือเป็นผู้สนับสนุน
สภาวะจิตใจของเด็กที่ถูกทำร้ายจะเป็นอย่างไร?
ครูส้ม :
จากกรณีที่ครูสีส้มเคยเจอ คือมีเด็กที่เล็กมาก อายุ 2 ขวบ 8 เดือน ผู้ปกครองพามาสมัครเรียนที่โรงเรียนที่ครูสีส้มสอนอยู่ แต่เพราะยังเด็กเกินไปโรงเรียนจึงไม่ได้รับไว้ ผู้ปกครองจึงพาไปเข้าเรียนอีกโรงเรียนที่รับเด็กเข้าอนุบาลหนึ่งตั้งแต่ยังไม่ถึง 3 ขวบ และมีเปิดซัมเมอร์คอร์ส ปรากฏว่าไปเรียนได้เพียง 3 วัน คุณแม่พาเด็กกลับมา โดยที่เด็กมีอาการหวาดกลัวกับคำว่าคุณครู ไปแอบหลังพ่อแม่เมื่อได้ยินคำว่าคุณครู เด็กไม่ยอมเล่าอะไรให้ฟัง แต่เท่าที่ฟังเรื่องราว คาดว่าเด็กเห็นเพื่อนถูกทำร้าย ซึ่งกว่าที่เด็กคนนี้จะฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ ยอมคุยกับครูคนอื่น ๆ ไม่ตื่นขึ้นมาร้องกรี๊ดหรือละเมอตอนนอนกลางวัน ใช้เวลา 1 ปีเต็ม จะเห็นได้ว่าเพียง 3 วันที่เด็กพบเจอความรุนแรง ต้องใช้เวลา 1 ปี ในการแก้ไขและปรับสภาพจิตใจ
คนเป็นครูควรต้องเรียนจิตวิทยาและมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก ต้องสามารถจัดการกับเด็กได้ เด็กยิ่งเล็ก เขายิ่งป่วน พลังเยอะ เพราะเป็นวัยของการเล่นการซน การให้เขาอยู่นิ่ง ๆ เป็นเรื่องยาก หากเขาลุกเดินหรืออะไรบ้าง ครูต้องมีวิธีให้เขากลับมานั่ง หรือให้เขาลุกเดินลุกเล่นโดยที่ไม่ทำให้ห้องวุ่นวาย ในอดีตก็พบว่ามีกรณีที่ครูลงโทษเด็กรุนแรงเกินไป เช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีข่าวกรณีฟ้องร้องว่าครูใช้ไม้ตีเด็กเกือบโดนดวงตา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นครูที่ไม่ได้จบครู
แนวทางสำหรับพ่อแม่ในการสังเกตความผิดปกติของเด็กที่อาจถูกทำร้าย
อ.น้อง :
การลงโทษนักเรียนนั้น ในกรณีของเด็กโตไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเขาสามารถสื่อสารได้ แต่สำหรับเด็กเล็ก เขาไม่ได้มีภาษาที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก พ่อแม่ต้องช่างสังเกตถึงสิ่งที่ผิดปกติ เช่น การฝันร้าย นอนละเมอ หรือการกลับมาฉี่รดที่นอน การเกาะพ่อเกาะแม่เมื่อเจอคนแปลกหน้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หรือการกลัวอะไรแปลก ๆ เช่น อย่างในกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้คือเด็กกลัวห้องน้ำ
สำหรับนักจิตวิทยานั้นจะมีวิธีที่เรียกว่า Play therapy / Art therapy คือ ให้เด็กเล่นหรือทำงานศิลปะ แล้วนักจิตวิทยาจะค่อย ๆ คุยกับเด็กผ่านการเล่นการระบายสี ดูการแสดงออก การพูดของเด็กในระหว่างการเล่นนั้น
อีกกรณีของเด็กที่น่าสงสารมากเรื่องหนึ่งคือ การที่เด็กถูกขู่ว่าไม่รัก ซึ่งเด็กก็อยากให้ครูรักทั้งนั้น ถ้าครูขู่ว่าจะไม่รัก หรือบอกว่าที่ทำไปเพราะรักนะ แบบนี้จะปิดปากเด็กได้มาก ถ้าพ่อแม่ไม่ถามหรือต่อให้ถามเขาก็อาจจะไม่พูด ต้องสังเกตอย่างเดียว
อ.สมโภชน์ :
พฤติกรรมของเด็กที่ผิดปกติไป แม้เพียงเล็กน้อย เช่น ซึมเกินไป ไม่รับประทานอาหาร หรือมีอะไรที่ผิดปกติไปจากที่เคยเป็น ก็ต้องตรวจสอบ ต้องไปเช็คที่โรงเรียน ระดับความผิดปกติของเด็กนั้น ถ้าเพียงแค่ซึม ก็แสดงว่ามีปัญหาบ้าง แต่ถ้าเด็กแสดงออกอย่างเช่นมีอาการกลัว นอนแล้วกรี๊ดหรือละเมอ แบบนี้แสดงว่าเด็กมีอาการของ trauma นับเป็นปัญหาใหญ่
ครูส้ม :
สำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เด็กยังเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรอบตัวด้วย ดังเช่นที่คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยว่า เด็กอยู่บ้านซนจะตาย แต่ครูบอกว่าที่โรงเรียนเป็นเด็กดี ซึ่งเป็นไปได้ว่า เด็กจะเรียนรู้ว่าถ้าเล่นซนแบบที่บ้านครูจะดุ หรือไม่พอใจ เด็กจึงพยายามทำตัวเป็นเด็กดีเพื่อให้ครูรัก นั่นแสดงว่า เด็กไม่จำเป็นต้องโดนทำโทษ แค่เห็นเพื่อนโดนทำโทษ เขาก็จะเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้
เด็กเล็กเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากครูค่อนข้างสูง เพราะเขาเพิ่งออกจากบ้านและก้าวเท้าเข้าสู่โรงเรียน ครูคือบุคคลภายนอกคนแรกที่เขารู้สึกว่ามีอำนาจ เขาจึงต้องการการยอมรับจากครู ไม่ว่าครูจะพูดจะสั่งอะไร เขาจะเชื่อฟัง เวลาที่เกิดปัญหาอะไรขึ้นที่โรงเรียน เด็กถึงไม่พูด เพราะอาจถูกบอกจากครูว่า ไม่ให้พูด ถ้าบอกใครครูจะไม่รัก หรือบอกว่า ที่ทำไปเพราะครูรักหนูนะ แม้พฤติกรรมจะไม่ใช่ แต่เด็กจะยอมรับเช่นนั้น ยอมรับในสิ่งที่ครูบอก เพราะเขาอยากได้การยอมรับจากครู
อ.น้อง :
การที่ผู้ใหญ่ใช้ความเป็นครูมาทำร้ายเด็กจึงเป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะเด็กเขาไม่สู้ และเขายอมเพราะต้องการความรักจากครู ทุกคนที่ดูข่าวก็คงโกรธ แต่เราก็ต้องจัดการอารมณ์ของเราให้ได้ เพราะถ้าไม่ได้ ก็จะเป็นเช่นคนในข่าว ที่เขาทำร้ายเด็กเพราะเขาจัดการอารมณ์ตนเองไม่เป็นแล้วเอาไปลงกับเด็ก
อ.สมโภชน์ :
ถ้าเราสงสัยว่าลูกเราจะถูกทำร้ายที่โรงเรียน เราก็ต้องพูดคุยกับทั้งลูกและโรงเรียนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะเราคงไม่สามารถสรุปได้เองว่าเกิดอะไรขึ้น หากเราพบปัญหาว่าเด็กเกิดความกลัวจากการถูกทำร้ายที่โรงเรียน การแก้ไขจะค่อนข้างยาก เพราะเด็กยังอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่โรงเรียน การเรียนรู้ของเด็กที่ควรจะเรียนรู้ในโรงเรียนจะไม่เกิดขึ้น เด็กจะอยู่ในอาการแพนิค และยิ่งถ้าต้องพบเจอปัญหาไปนาน ๆ ได้พบเจอพฤติกรรมรุนแรงจากครูไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะโดนกระทำด้วยตนเองหรือกระทำกับเพื่อน ๆ ของเขาก็ตาม ความกลัวจะยิ่งแผ่ขยายมากขึ้น และต่อให้ย้ายโรงเรียนไป เด็กก็จะคิดว่าโรงเรียนก็คือโรงเรียน เขาก็จะกลัวเหมือนเดิม
ดังนั้นผมเสนอว่า ถ้าสาเหตุของปัญหาเกิดจากที่โรงเรียนจริง ขอให้นำเด็กออกจากโรงเรียน เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อม โดยจะต้องมีครูที่เข้าใจเด็กจริง ๆ รู้วิธีการว่าจะปฏิบัติกับเด็กอย่างไร เช่น ให้รางวัล พูดชมหรือกอดเมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดี และถ้าเขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราสามารถลงโทษได้ด้วยการวางเฉยต่อเขา และบอกเขาในสิ่งที่เขาควรทำ เพราะเด็กยังไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ขอแค่ให้ครูบอกเขา
ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูดถึง คือ เรื่องความคาดหวังของผู้ปกครอง ว่าเมื่อไปโรงเรียนเด็กจะต้องรู้ภาษาอังกฤษ เก่งคณิตศาสตร์ เมื่อเป็นเช่นนี้ โรงเรียนและครูต้องรับความคาดหวังแบบนี้มาจากพ่อแม่ ซึ่งการจะสอนให้เด็กเรียนรู้วิชาเหล่านี้ได้ก็ต้องบังคับให้เด็กอยู่กับที่ แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับที่ ซึ่งขัดกับธรรมชาติของเด็กที่เขาจะต้องเคลื่อนไหว ซึ่งครูก็อาจจะเลือกใช้การตีเด็กหรือหยิกเด็ก ซึ่งเมื่อเด็กเจ็บเขาก็หยุด กล่าวได้ว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของกันและกัน คือไม่สามารถกล่าวโทษโรงเรียนอย่างเดียวได้
นอกจากนี้ การลงโทษนั้น ยิ่งครูทำรุนแรง พฤติกรรมของเด็กก็จะยิ่งถูกกดลงไป จึงเป็นเหมือนการเสริมแรงให้ครูทำรุนแรงมากขึ้น คือครูเห็นว่าการลงโทษเด็กแบบนี้สามารถหยุดเด็กได้
ในความเป็นจริงแล้ว การจัดกิจกรรมให้เด็กนั้นจะต้องจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในข่าว อาจเป็นเพราะครูไม่เข้าใจ และปฏิบัติกันแบบเดิมตามที่เคย ๆ ทำกันมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสมัยนี้จะมี impulsive สูง (ความหุนหันพลันแล่น) เพราะมีเทคโนโลยีสูง ทุกอย่างมันเร็ว เขาก็จะเคลื่อนไหวเร็วด้วย ซึ่งนอกจากเด็กจะมี impulsive สูงแล้ว ครูเองก็เช่นกัน ควบคุมตนเองไม่ได้ เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ตอบสนองทันที โดยไม่ได้คิด
ดังนั้นแล้ว พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กเล็กนั้น เราไม่ควรจะต้องคาดหวังให้เขามาเรียนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เด็กต้องเล่นตามวัย อย่าสร้างความกดดันเป็นทอด ๆ ไปสู่โรงเรียน สำหรับเด็กนั้นเมื่อถึงเวลาเขาก็จะเรียนรู้ได้ดี ไม่จำเป็นต้องเร่งเขา
อ.น้อง :
ถ้าชวนเด็กเล่น เขาจะเล่น ถ้าชวนเด็กเรียน เขาจะไม่เอา ง่ายที่สุดคือเราควรสอนผ่านการเล่น แบบนั้นจะสนุกทั้งคนสอนและคนเรียน โดยอัตราส่วนของคนสอนต่อเด็กต้องเหมาะสม เพราะไม่มีทางที่ผู้ใหญ่หนึ่งคนจะดูแลเด็กเป็นสิบ ๆ ได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อเขาควบคุมเด็กไม่ได้ เขาจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ สัญชาตญาณที่ออกมาจะกลายเป็นความรุนแรง และพอใช้ปั๊บ เด็กหยุดในทันที เมื่อใช้ได้ผลเขาก็จะใช้ไปเรื่อย ๆ กรณีแบบนี้เราไม่ได้เจอแค่ในโรงเรียน พี่เลี้ยงเด็กที่บ้านก็มีแบบนี้เยอะเหมือนกัน พี่เลี้ยงที่ทารุณเด็กเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่บ้านก็มี ปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่ปัญหาที่โรงเรียน แต่เป็นปัญหาของพี่เลี้ยงที่ไม่ได้รับการฝึกมา และไม่มีใจที่รักเด็กจริง ๆ
ครูส้ม :
การเปลี่ยนสถานที่หรือการย้ายโรงเรียนอาจไม่ช่วยเท่าที่ควรถ้าไปเจอครูแบบเดิม นั่นคือ ถ้าเด็กถูกครูทำร้าย เด็กจะเกิดความไม่ไว้ใจครู ดังนั้น หากมีการย้ายโรงเรียนใหม่ ครูจะต้องสร้างความไว้ใจให้เด็ก จนกระทั่งเด็กรับรู้ว่าครูไว้ใจได้ อย่างเช่นกรณีเด็ก 2 ขวบที่เล่าไปนั้น ทุกเช้าครูส้มต้องไปรับมาจากคุณแม่ที่หน้าโรงเรียน และจะพาเขาเดินดูรอบโรงเรียน ครูคนอื่นก็จะทัก คุยเล่นโดยยังไม่เข้ามาแตะตัว ไม่ทำอะไรเขา ซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าที่เด็กจะเกิดความไว้ใจ ยอมคุยกับครูคนอื่นในห้อง และยอมให้ครูห้องอื่นแตะตัวได้ นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วย ว่าตอนนี้เราต้องการแก้พฤติกรรมการกลัวโรงเรียนและการกลัวครูของน้องก่อน เรื่องอื่นอย่าเพิ่งคาดหวัง แต่ครูก็จะพยายามเสริมให้ ซึ่งเด็กก็อาจจะยังเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ตราบใดที่ความไม่ไว้วางใจในตัวครูยังแก้ไม่หาย
ในกรณีที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ อย่างแรกที่อยากให้ทำ คือ การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้อง อย่าให้เด็กมีภาพติดตากับสิ่งที่เขาเคยเห็น ถ้าพ่อแม่ยังพาเด็กออกจากโรงเรียนไม่ได้ โรงเรียนก็ต้องช่วยด้วยการปรับสภาพแวดล้อม รวมถึงบุคลากรที่จะรับเข้ามาทำงาน ต้องเป็นคนที่เข้าใจเด็กและปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องคุยกับพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ
บุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถาบันการศึกษาควรมีคุณสมบัติอย่างไร?
อ.น้อง :
คนอยู่กับเด็กต้องสนุกกับการอยู่กับเด็ก รักเด็ก ไม่ขี้รำคาญ ไม่ขี้หมั่นไส้ ไม่ใจร้อน ถ้าไม่มีคุณสมบัติที่จะอยู่กับเด็กเล็ก ก็อย่าฝืน เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายได้มาก อย่างเคสเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่พี่เลี้ยงเด็กกระทืบเด็ก เมื่อเขาได้ทำสักครั้งแล้ว เขาจะทำแรงขึ้น ๆ
อ.สมโภชน์ :
คนที่มาเป็นครูอนุบาลต้องผ่านการอบรม ต้องเป็นคนที่เข้าใจเด็กและยอมรับเด็กได้ และควบคุมอารมณ์ตนเองได้ สำหรับคนที่มีความหุนหันพลันแล่น บางทีเขาอาจทำรุนแรงไปโดยไม่ตั้งใจ แต่เพราะเขาไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง และเมื่อคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงอาจหันไปใช้ความเคยชินหรือสิ่งที่เคยเรียนรู้มาในอดีต คือใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นพื้นฐานเริ่มต้นเลยคือต้องเป็นคนที่รักเด็ก และผ่านการฝึกที่จะเข้าใจและยอมรับธรรมชาติของเด็กและสิ่งที่เด็กเป็น
คนที่ทำความรุนแรงกับเด็กไปแล้วนั้น ถ้าครั้งต่อไปไม่ได้ผล เขาก็จะทำแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละครั้งที่ได้ผล ก็จะเป็นการเสริมแรงเขา ว่าเขามีอำนาจเหนือเด็ก จนกระทั่งลืมตัวไปว่าเขาไม่มีสิทธิ์ทำร้ายใคร
การลงโทษนั้นเป็นเรื่องที่กระทำได้ แต่ต้องเข้าใจว่าจุดประสงค์ของการลงโทษคือการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างพฤติกรรมรุนแรง เช่น การที่เด็กจิกหัวเพื่อนไปกระแทกผนัง เด็กไปกัดเพื่อน แบบนี้เราต้องลงโทษ แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมทั่วไปของเด็ก เช่น เด็กซน เด็กวิ่ง เด็กไม่ทำตามสิ่งที่เราบอก แบบนี้ไม่ควรจะลงโทษเลย สำหรับพฤติกรรมของเด็กที่รุนแรง เราไปดึงเด็กออกมาเฉย ๆ ไม่ได้ เราควรที่จะต้องลงโทษ โดยวิธีการลงโทษนั้นต้องไม่ใช่วิธีการรุนแรง ไม่ลงโทษด้วยอารมณ์ และต้องตามมาด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เขาด้วย คอนเซปต์ของการลงโทษคือการหยุด หยุดเพื่อสร้าง เช่น หากเด็กกัดเพื่อน เราต้องหยุดการกัด และอาจจะสอนให้เขาลองจับมือเพื่อน กอดเพื่อน หรือสอนให้เขารู้จักการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เหมาะสม และให้การเสริมแรงเขาด้วยการชื่นชม ทำให้เขาเรียนรู้ว่าการอยู่ร่วมกันต้องเป็นแบบนี้
ในปัจจุบันโรงเรียนมีการคัดกรองบุคลากรในการรับเข้ามาทำงานหรือไม่?
ครูส้ม :
ตามปกติแล้วจะต้องมีการคัดกรอง อย่างแรกเลยก็คือคนที่เป็นครูประจำชั้นจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ จบครูมาโดยตรง ถ้าไม่จบครูมาโดยตรงจะเป็นได้แค่พี่เลี้ยงเด็ก และในโรงเรียนที่มีมาตรฐาน พี่เลี้ยงเด็กก็ต้องผ่านการอบรม หรือมีเอกสารรับรองคุณวุฒิว่าผ่านการอบรมในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลเด็กในวัยเดียวกับที่มาสมัครทำงานเพื่อดูแลเด็กในวัยนั้น ๆ
เราควรจะร่วมด้วยช่วยกันอย่างไรบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก?
อ.น้อง :
เราทุกคนต้องเตือนตัวเองว่า เรื่องอารมณ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องจัดการอารมณ์ของตนเองให้ได้ ไม่ใช่นำมาเป็นข้ออ้างในการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า EQ นั่นคือ เราต้องรู้จักตนเอง ถ้าเราเหนื่อยมากทำงานไม่ไหว หรือถ้าอยู่ในอารมณ์แบบนี้แล้วไปทำงาน จะต้องทะเลาะกับคนอื่นแน่ ๆ ก็ไม่ต้องไป ลางานไปเลย เราต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่จัดการอารมณ์ตนเองได้หรือไม่ได้ และจะจัดการอย่างไร ไม่ใช่เอาอารมณ์ตนเองไปโยนใส่คนอื่นและขอให้เขาเห็นใจ เช่นนั้นเราจะเรียกตนเองไม่ได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
ถ้ามีช่วงเวลาที่เราจัดการตนเองไม่ได้จริง ๆ เราอาจต้องพึ่งมืออาชีพ ไปคุยกับนักจิตวิทยา หรือไปหาเพื่อนฝูงที่สามารถช่วยเหลือเรื่องจิตใจเราได้ ในบางครั้งเราช่วยเหลือตนเองไม่ได้แต่เราก็ต้องรู้ตัว อย่าปล่อยให้อารมณ์พาไป ข้ออ้างที่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจมันพูดง่ายมาก ไม่มีใครหรอกที่ตั้งใจ แต่การไม่ตั้งใจนั้น อาจมาจากการที่คุณไม่รับผิดชอบต่อตนเองจนเอาความรับผิดชอบนั้นไปไม่รับผิดชอบต่อคนในสังคมด้วย
อ.สมโภชน์ :
คนที่จะเป็นครูต้องรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบตนเอง และรู้ว่ามีสิทธิแค่ไหน ทุกคนมีอารมณ์ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาอารมณ์ของเราไปลงกับเด็ก เด็กควรได้รับความรัก ความเข้าใจ และนำพาเขาไปสู่สิ่งที่ควรได้รับ ในทุก ๆ วันครูอาจจะต้องฝึกกำหนดลมหายใจ นับเลข เพื่อให้ตนสงบลงเมื่อรู้สึกว่าควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นต้น
ครูส้ม :
ผู้ปกครองเองก็ควรพูดคุยกับเด็กเป็นประจำ วันนี้ที่โรงเรียนหนูทำอะไรไปบ้าง วันนี้มีอะไรเล่าให้พ่อแม่ฟังซิ การที่พูดคุยกับลูกเป็นประจำ ถ้ามีอะไรผิดปกติเด็กจะกล้าบอก ที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องรับฟังเด็ก ไม่ใช่ถามแล้วไม่ตั้งใจฟัง หรือลูกเล่าอะไรออกมาก็ดุเขาไว้ก่อน ลูกก็จะไม่อยากเล่า เพราะฉะนั้นให้คุยกันให้เหมือนชีวิตประจำวัน คุยกันให้เขารู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาที่จะคุยกันว่าเขาเจออะไร ให้เขารู้สึกวางใจว่าการคุยนี้จะไม่ได้การรับการลงโทษ เช่น การดุว่า หรือการตำหนิ เมื่อทำเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับข้อมูลอีกเยอะ และจะทราบได้ว่าลูกของเรามีความผิดปกติใดหรือไม่ เช่น ทุกทีเคยคุยมา 3 ประโยค วันนี้คุยมาประโยคเดียว เท่านี้ก็พอจะทราบได้แล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้น และเราจะตรวจจับความผิดปกติได้เร็วขึ้น
สรุป
บุคลากรที่เป็นครูหรือคนดูแลเด็กเล็ก จะต้องมีสติ รู้จักตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองว่าต้องเองกำลังดูแลอนาคตของชาติ ไม่ควรเอาอารมณ์ทางลบของตนเองไปโยนให้เป็นภาระและทำร้ายผู้อื่น พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องใส่ใจบุตรหลานของตนเอง พูดคุยสารทุกข์สุกดิบกันทุกวัน หมั่นสังเกตบุตรหลานของตนเอง เพื่อที่ว่าวันใดหากเกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้น เขาจะได้กล้ามาบอกเรา เราจะได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
รับชมการเสวนาออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/642641639724673/