วิธีการหลีกเลี่ยงหลุมพรางในการคิด

15 Dec 2021

อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์

METATHINKING

 

 

การนึกคิด (thinking) เป็นสิ่งที่เราต้องทำในทุก ๆ วัน ซึ่งประกอบไปด้วยการสัมผัสรับรู้ การจดจำ และการใช้เหตุผลในการประมวลข้อมูลจากประสบการณ์และผู้คนที่เผชิญในแต่ละวัน งานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ว่าการนึกคิดของมนุษย์มักมีจุดบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน Daniel Kahneman นักจิตวิทยาที่ได้รับรางวัล Nobel Prize ในการศึกษาวิธีการคิดของมนุษย์ ได้เขียนหนังสือเล่มดังชื่อ Thinking, Fast and Slow ซึ่งเสนอว่ากระบวนการคิดนั้นสามารถแบ่งออกคร่าว ๆ เป็นสองประเภท คือ “System 1” และ “System 2”

 

“System 1” คือ การนึกคิดแบบอัตโนมัติ เป็นการประมวลข้อมูลตามสัญชาตญาณและอารมณ์ เราสามารถใช้กระบวนการนึกคิดประเภทนี้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องใช้ความพยายามทางปัญญา (cognitive effort) มากมาย แต่ข้อเสีย คือ การคิดแบบนี้มักจะถูกบิดเบือนและไม่เป็นไปตามเหตุผล เพราะฉะนั้นการประมวลข้อมูลในลักษณะนี้อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ในทางกลับกัน “System 2” คือ การนึกคิดซึ่งใช้การวิเคราะห์ เป็นการไตร่ตรองข้อมูลโดยรอบคอบและมีการใช้เหตุผลอย่างถูกต้อง กระบวนการคิดประเภทนี้จะใช้เวลานานกว่าและใช้ความพยายามทางปัญญามากกว่า และจะนำไปสู่ข้อสรุปและความคิดเห็นที่สมเหตุสมผลมากกว่าการใช้ “System 1”

 

เราสามารถพัฒนาวิธีการคิดให้รอบคอบมากขึ้นและหลีกเลี่ยงการนึกคิดแบบบิดเบือนโดยการฝึกฝน “ทักษะการไตร่ตรองพิจารณากระบวนการคิดของตนเอง” ที่เรียกว่า “metathinking” ทักษะนี้คือการตระหนักรู้และควบคุมการนึกคิดและการประมวลข้อมูล ซึ่งจะส่งผลให้การนึกคิดและการตัดสินของเรามีเหตุผลและตรงต่อความเป็นจริงมากขึ้น เราสามารถฝึกทักษะนี้ได้โดยการรู้เท่าทันวิธีการคิดผิด ๆ (fallacy) และอคติส่วนตัวที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ผิด ๆ การพัฒนาทักษะ metathinking จะช่วยให้คุณประมวลข้อมูลจากบุคคลรอบข้างและจากสื่อต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น

ต่อไปนี้จะนำเสนอ 4 ตัวอย่างของหลุมพรางในการนึกคิดในชีวิตประจำวัน พร้อมกับแบบฝึกหัด metathinking ง่าย ๆ เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่านพิจารณาวิธีการนึกคิดของตนเอง

 

1. อคติและความลำเอียงในภาษา

 

เมื่อเราต้องการอธิบายเหตุการณ์หรือบุคคลที่เราพบเจอ เรามักจะใช้ภาษาในการบอกเล่า ซึ่งเราอาจมองว่าการใช้ภาษาเป็นการอธิบายที่บ่งชี้ความจริงอย่างแน่ชัด เช่น “อากาศวันนี้ร้อนมาก” แต่ในความเป็นจริงภาษาที่เราใช้อธิบายมักจะมีอคติแฝงอยู่เสมอ ซึ่งสะท้อนค่านิยมหรือความเชื่อหลักของผู้พูด โดยเฉพาะในการอธิบายลักษณะนิสัยของผู้อื่น เช่น ดาและญาเป็นเพื่อนร่วมงานกับเฟิร์น ดามองว่าเฟิร์นเป็นคนที่ “ขี้เหนียว ประมาท บ้างาน และหลงตัวเอง” ส่วนญามองว่าเฟิร์นเป็นคนที่ “ประหยัด กล้าหาญ ทุ่มเทกับงาน และมีความมั่นใจในตัวเอง” ให้สังเกตว่าแต่ละคำศัพท์ที่เลือกใช้นั้นบ่งชี้ค่านิยมที่แตกต่างกันของดาและญาในการอธิบายบุคคลเดียวกัน การฝึกฝน metathinking ในที่นี้คือการคำนึงว่าภาษาที่เราใช้นึกคิดและบอกเล่านั้นล้วนมีอคติทั้งสิ้น จึงพึงไตร่ตรองว่าค่านิยมและอคติส่วนตัวส่งผลต่อภาษาที่เราพูดออกไปอย่างไร และไม่ตกหลุมพรางเชื่อว่าการตัดสินส่วนตัวของเราคือคำนิยามที่เที่ยงตรงและปราศจากอคติ

 

แบบฝึกหัด – คำศัพท์ต่อไปนี้สมมุติว่าเป็นคำนิยามต่อบุคคลจากมุมมองของนางสาว A ได้แก่ “เห็นแก่ตัว” “มักใหญ่ใฝ่สูง” “ขี้เกียจ” “เรื่องมาก” “ไม่เชื่อฟัง” “หัวโบราณ” “ปัญหา” “ความล้มเหลว” ให้ผู้อ่านนึกคิดคำศัพท์ที่สะท้อนทัศนคติและค่านิยมจากมุมมองของนางสาว B ผู้ที่มักจะมองเหตุการณ์และผู้คนในแง่บวกมากกว่านางสาว A อาทิ การเปลี่ยนใช้คำว่า “โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง” แทนที่จะใช้ว่า “ความล้มเหลว” เป็นต้น

 

 

2. ขาวดำ หรือแรเงาสีเทา?

 

ในโลกนี้มีปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งที่สามารถแบ่งแยกเป็น 2 หมวดได้อย่างชัดเจน (dichotomous variable) เช่น การที่สตรีจะตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ (โดยไม่มีการตั้งครรภ์ ‘เล็กน้อย’ หรือ ‘ปานกลาง’) หรือการระบุเมืองที่เกิด (เช่น เกิดที่กรุงเทพฯ หรือไม่ได้เกิดที่กรุงเทพฯ) ในขณะที่มีปรากฏการณ์อีกส่วนหนึ่งที่แม้จะมี 2 ขั้ว แต่สามารถไล่ระดับความเข้มข้นแบบต่อเนื่องได้ (continuous variable) เช่น ช่วงระหว่างสีดำกับสีขาวจะมีแรเงาสีเทาหลายระดับ ปัญหาก็คือ เรามักสับสนระหว่างตัวแปรสองประเภทนี้ โดยมักคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นสองหมวดชัดเจน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เหมาะที่จะแบ่งออกแบบนั้น เช่น คนดี-คนไม่ดี คนปกติ-คนผิดปกติ ชอบอยู่คนเดียว-ชอบสังสรรค์ ชอบอิสระ-ชอบพึ่งพาอาศัย เราสามารถฝึกฝน metathinking ในแง่นี้โดยการคำนึงว่าทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับบุคคลมักเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีเพียงสองขั้ว และฝึกแยกแยะปรากฏการณ์สองประเภทนี้

 

แบบฝึกหัด – ให้ผู้อ่านตอบว่าปรากฏการณ์ต่อไปนี้มีลักษณะขาวดำที่แบ่งแยกได้ชักเจนเป็นสองขั้ว (dichotomous) หรือมีลักษณะต่อเนื่องโดยมีพื้นที่สีเทาระหว่างกลาง (continuous) : “สถานะโสด-สมรส” “ลักษณะเพศชาย-เพศหญิง” “มีนิสัยรับผิดชอบ-ไม่รับผิดชอบ” “มีชีวิต-เสียชีวิต” “โบราณ-สมัยใหม่” “อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม” “เปิด-ปิดพัดลม” “นิสัยดี-นิสัยไม่ดี”

 

 

3. Fundamental Attribution Error

 

ถ้ามีใครขับรถเร็วและปาดหน้ารถของคุณบนทางด่วน คุณจะอธิบายพฤติกรรมนี้ว่าอย่างไร? มนุษย์มักอธิบายพฤติกรรมของผู้อื่นด้วยเหตุผลสองประเภท คือ ให้เหตุผลเกี่ยวกับนิสัยและทัศนคติของบุคคล (เขาเป็นคนขับรถประมาทและไม่คำนึงถึงผู้อื่น) หรือเหตุผลเกี่ยวกับสถานการณ์ชั่วขณะของบุคคล (ตอนนี้เขามีธุระรีบไปไหนหรือเปล่า) ในความเป็นจริงพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากปัจจัยทั้งสองประเภท แต่เรามักตีความพฤติกรรมผู้อื่นในแง่ของนิสัยโดยไม่ค่อยคำนึงถึงสถานการณ์ เราสามารถฝึก metathinking โดยคำนึงว่าสถานการณ์อาจส่งผลต่อพฤติกรรมผู้อื่นมากกว่าที่เราคิด ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจการกระทำของผู้อื่นอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

 

แบบฝึกหัด – ให้ผู้อ่านลองนึกถึงเหตุผลเกี่ยวกับ ‘สถานการณ์’ เพื่ออธิบายพฤติกรรมต่อไปนี้ : “การปล้นลักทรัพย์” “การมีบุตรหลายคน” “การติดเกม” “ความรุนแรงในครอบครัว” “การสอบตก” “การชนะการแข่งขันกีฬา”

 

 

4. Correlation is not causation

 

การที่มีสองปรากฏการณ์ (A และ B) มักเกิดขึ้นควบคู่กัน บ่งชี้ว่าสองปรากฏการณ์นั้นมีความสัมพันธ์กัน แต่เราไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่าง A และ B ได้ เช่น ผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว (B) มักจะเล่นเกมที่มีความรุนแรง (A) จึงเชื่อว่า ‘การเล่นเกมรุนแรง’ ส่งผลให้เกิด ‘พฤติกรรมก้าวร้าว’ (A ส่งผลให้เกิด B) แต่ในความเป็นจริงมีการอธิบายอื่น ๆ อย่างน้อยสามวิธีที่เป็นไปได้เช่นกัน ได้แก่ เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่แล้วอาจชอบและเลือกที่จะเล่นเกมรุนแรง (B ส่งผลให้เกิด A) หรืออีกวิธีการอธิบายคือ ทั้ง A และ B ต่างส่งผลต่อกัน ส่วนคำอธิบายสุดท้ายคือ A และ B อาจเกิดขึ้นควบคู่กันเพราะมีปัจจัยที่สามที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์นั้น (C ส่งผลให้เกิด A และ B) อาทิ ‘ความขัดแย้งในครอบครัว’ อาจส่งผลให้เกิดทั้งพฤติกรรมก้าวร้าวและการเล่นเกมรุนแรง เราสามารถฝึก metathinking โดยการคำนึงว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันเป็นเพียงการสะท้อนว่าตัวแปรเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่สามารถบ่งชี้ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือเพราะเหตุใด

 

แบบฝึกหัด – สมมุติว่ามีผลสำรวจชี้ว่าบุคคลที่ไม่ยึดมั่นในศาสนามักจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่ยึดมั่นในศาสนา ให้ผู้อ่านลองนึกวิธีการอธิบายปรากฏการณ์นี้ในเชิงเหตุผลอย่างน้อย 4 วิธี โดยเริ่มต้นพิจารณาสองปัจจัยหลักที่กล่าวไป คือ ‘ความเคร่งครัดในศาสนา’ (A) และ ‘ระดับความสุขในชีวิต’ (B)

 

 

 

เราทุกคนล้วนมีแนวโน้มที่จะใช้การนึกคิดแบบอัตโนมัติตามสัญชาตญาณและอารมณ์ (System 1) แต่การไตร่ตรองวิธีการนึกคิดของตนเองสามารถช่วยพัฒนาการนึกคิดที่สมเหตุสมผลมากขึ้น (System 2) การหมั่นฝึกฝน metathinking จะช่วยลดอคติในการรับรู้ ตัดสิน และอธิบายพฤติกรรมของผู้อื่น ทำให้เข้าใจตนเอง ผู้คนรอบข้าง และประสบการณ์ในโลกอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น ลดการคิดเข้าข้างตนเองและการด่วนสรุป ซึ่งจะช่วยให้เรามองโลกที่เที่ยงตรงและลึกซึ้งกว่าเดิม เพียงใช้เวลาสักนิดในการพิจารณาวิธีประมวลการนึกคิดของตนเอง

 

 

 


 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 


 

บทความวิชาการ โดย

อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Share this content