การรับประทานอาหารอย่างมีสติ คือ การตระหนักรู้อย่างไม่ตัดสิน ทั้งทางกายและอารมณ์ความรู้สึก ที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร
ตรงกันข้ามกับการรับประทานอาหารอย่างไม่มีสติ (Mindless Eating) ซึ่งหมายถึงการรับประทานอาหารอันไม่ได้เป็นผลมาจากความต้องการหรือความหิว แต่เป็นเพราะการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น ครอบครัว เพื่อน ลักษณะบรรจุภัณฑ์ ขนาดของภาชนะ ชื่อเรียก จำนวน ฉลาก แสง สี ลักษณะ กลิ่น การถูกรบกวน ระยะทางจากตัวเราไปยังอาหาร แผงสินค้า ชั้นวางอาหาร
การวัดการรับประทานอาหารอย่างมีสติ
แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้
- การยับยั้งชั่งใจ (Disinhibition) – การรู้ว่าตนควรหยุดรับประทานเมื่อใด
- การตระหนักรู้ในรสชาติ (Awareness) – การชื่นชมรส กลิ่น รูปร่างหน้าตาของอาหาร
- สิ่งยั่วยวนภายนอก (External cues) – การรับประทานอาหารเพราะถูกสิ่งเร้าภายนอกกระตุ้น รู้ว่าสิ่งเร้าภายนอกส่งผลต่อความอยากอาหาร หรือการรับประทานอาหารของตน เช่น รับประทานอาหารเพราะอาหารนั้นน่ารับประทาน หรือเพราะมีโปรโมชั่นลดราคา
- การตอบสนองทางอารมณ์ (Emotional response) – การรับประทานอาหารที่เกี่ยวข้องกับสภาวะอารมณ์ ไม่ได้เป็นผลมาจากความหิวหรือความต้องการทางร่างกาย เช่น รับประทานขนมเพราะเครียด
- การไม่ไขว้เขว (Distraction) – การถูกเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่นนอกเหนือจากอาหาร เช่น รับประทานขนมระหว่างทำงานหรือดูโทรทัศน์
งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเพิ่มการมีสติในการรับประทานอาหาร อาทิ การนั่งสมาธิฝึกสติ การเข้ากลุ่มสำรวจสัญญาณความหิวและความอิ่มของตน การอภิปรายกลุ่มเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การเพิ่มความรู้ทางโภชนาการ และการเรียนรู้แรงกดดันในการรับประทานอาหารจากสังคม พบว่า ช่วยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองมีระดับสติและยับยั้งชั่งใจได้มากขึ้น น้ำหนักตัวของกลุ่มตัวอย่างลดลง ค่าดัชนีมวลกายดีขึ้น
รายการอ้างอิง
“ความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารอย่างมีสติกับพฤติกรรมรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยมีดุลยทัศนกาลเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย ญาณิศา จักรกลม ณัฐธนัญ ศิริทรงกล และณัฐวีร์ ว่องวิทย์โอฬาร (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/57932