Mindfulness – สติ

16 Feb 2018

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

ในทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายของคำว่าสติไว้ว่า สติคือการระลึกได้ การไม่ลืม การไม่เผลอ การไม่เลินเล่อ การไม่ฝันเฟื่อง การไม่เลื่อนลอย การระมัดระวัง การตื่นตัวต่อหน้าที่ การมีสมาธิ การที่จิตอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น สภาวะที่มีความตื่นตัวต่อการรับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ และตระหนักรู้ได้ว่าควรโต้ตอบต่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอย่างเหมาะสมได้อย่างไร

 

โดยทำหน้าที่เหมือนกับผู้เฝ้าระวัง เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ทำหน้าที่กำหนดรู้ต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 และรวมถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้สติเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่คอยกำกับพฤติกรรมทั้งภายในและภายนอกให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต, 2555)

 

 

ในทางตะวันตกหรือในทางจิตวิทยาก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับสติเป็นจำนวนมากและได้นิยามความหมายไว้ว่า

 

สติ (mindfulness) คือ คุณลักษณะของบุคคลที่จะสามารถมุ่งใส่ใจต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะ โดยส่งผ่านจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่งในลักษณะที่ต่อเนื่องกัน โดยที่บุคคลยอมรับและเปิดรับต่อประสบการณ์โดยไม่ประเมิน วิเคราะห์ และตัดสิน ซึ่งเป็นการยอมรับต่อประสบการณ์หรือปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างสมบูรณ์

นักจิตวิทยามองว่าสติเป็นกลุ่มของทักษะที่บุคคลสามารถเรียบรู้และฝึกฝนได้ โดย Dimidjian และ Linehan (2003) ได้จำแนกทักษะที่เป็นองค์ประกอบของสติได้ 4 องค์ประกอบ ได้แก่

 

  1. การสังเกต – ความสามารถในการรับรู้และใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น เสียง สัมผัส และกลิ่นรอบตัว รวมทั้งการสังเกตปรากฏการณ์ภายในบุคคล เช่น การสังเกตการรับรู้ กระบวนการทางความคิดและอารมณ์
  2. การบรรยาย – ความสามารถในการระบุและวิเคราะห์อย่างไม่ตัดสินต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการรับรู้ของจิตและมุ่งให้ความสนใจต่อกระบวนการของจิต พร้อมทั้งเปลี่ยนทัศนคติให้ไม่มีการตัดสินและคาดเดาเกี่ยวกับสิ่งนั้น
  3. การแสดงออกด้วยความตระหนักรู้ – ความสามารถในการทำกิจกรรมหรือแสดงพฤติกรรมของบุคคลอย่างมีความตระหนักรู้ต่อตนเองผ่านการมุ่งความสนใจไปที่พฤติกรรมนั้นๆ โดยไม่มีการแบ่งสติไปกับสิ่งอื่น ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับการตอบสนองอัตโนมัติที่เป็นพฤติกรรมที่ทำไปโดยขาดความตระหนักรู้
  4. การยอมรับ – ความสามารถในการที่จะยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการตัดสินผ่านการหยุดการประเมินหรือการจำแนกที่มีต่อสิ่งต่างๆ เช่น ดี/ไม่ดี ถูก/ผิด หรือ มีค่า/ไม่มีค่า และอยู่กับความเป็นจริงโดยไม่หลีกหนี หลบหนี หรือพยายามเปลี่ยนแปลง

 

การฝึกสติถูกนำมาใช้ในการบำบัดโดยหลายแนวคิดและวิธีการตามการให้คำนิยามเกี่ยวกับโครงการและกระบวนการของสติ เช่น

 

1. แนวคิดการบำบัดแบบ Mindfulness-Based Stress Reduction (MBSR)

เป็นการบำบัดโดยมุ่งสนใจต่อการรับมือกับอาการเจ็บปวดเรื้อรัง และอาการที่เกี่ยวข้องกับการเครียด ในลักษณะที่สนับสนุนให้บุคคลเสริมสร้างและพัฒนาความตระหนักรู้ต่อตนเอง การยอมรับต่อประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่มีต่อสิ่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกบุคคล และลดพฤติกรรมที่กระทำอย่างเป็นอัตโนมัติ รวมถึงพฤติกรรมที่ขาดความยืดหยุ่นที่เป็นปัญหาต่างๆ อย่างบุคคล ผ่านกิจกรรมอย่างเช่น กำหนดจิตอยู่กับลูกเกด หัตถะโยคะ เดินจงกรม เป็นต้น

2. แนวคิดการบำบัดแบบ Mindfulness-Based Cognitive Theory (MBCT)

เป็นการบำบัดที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในกระบวนการป้องกันไม่ให้อาการทางจิตต่างๆ กลับมาใหม่ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรควิตกกังวล โดยให้บุคคลได้สำรวจความคิดที่เป็นอัตโนมัติ เพื่อให้เข้าใจต่อกระบวนการความคิดของตนเองมากยิ่งขึ้น และในตอนท้ายของกระบวนการบำบัดจะมีการออกแบบวางแผนเชิงพฤติกรรมเพื่อสนับสนุนให้บุคคลไม่กลับมาเป็นตามอาการเดิมอีก หรือช่วยให้สามารถรับมือกับอาการต่างๆ ได้ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมในรูปแบบ MRSR ผสมผสานกับการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT)

3. แนวคิดการบำบัดแบบ Acceptance and Commitment Therapy (ACT)

เป็นการบำบัดที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางความคิดและความรู้สึกที่ส่งผลในเกิดความทุกข์ทางจิตใจของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกผ่านภาษาและคำพูด โดยมีความเชื่อว่า พื้นฐานของปัญหามนุษย์เกิดจากการหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้าต่อประสบการณ์ การยึดติดต่อความคิดตนเอง และความไม่ยืดหยุ่นในกระบวนการทางจิตใจ นำไปสู่การละเลยในการลงมือปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหา แนวทางการบำบัดนี้จึงเอื้อให้บุคคลได้สำรวจตนเอง เข้าใจความคิดความรู้สึกและการกระทำของตนเอง เกิดความยืดหยุ่นทางความคิด และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

4. แนวคิดการบำบัดแบบ Dialectical Behavioral Therapy (DBT)

เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการของการยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงเข้าด้วยกัน ถูกนำไปใช้กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Borderline และบุคคลที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย รวมถึงกลุ่มอาการอื่นๆ ด้วย DBT ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม รวมเข้ากับการฝึกทักษะต่างๆ ทางด้านเจริญสติ เพื่อให้บุคคลพัฒนาความสามารถในการควบคุมจิดใจของตนเอง รวมถึงปัญญาหรือความสามารถในการเห็นความจริงและการตอบสนองได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การกระตุ้นให้บุคคลเกิดภาวะสมดุลทางจิต ระหว่างจิตที่เป็นตัวแทนของเหตุผลและจิตที่เป็นตัวแทนของอารมณ์

 

 


 

ข้อมูลจาก

“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสติ การกำกับอารมณ์แบบปรับปลี่ยนความคิดการกำกับอารมณ์แบบเก็บกด และสุขภาวะทางจิต” โดย ฏาว แสงวัณณ์ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55534

 

Share this content