จริยธรรม – Morality

12 Feb 2025

คำศัพท์จิตวิทยา

 

จริยธรรม หมายถึง หลักการ แนวทาง และค่านิยม ที่บุคคลใช้ประเมินและตัดสินพฤติกรรมทางสังคม ว่าพฤติกรรมหรือการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูก ที่ควรนำมาประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ทางสังคมที่แต่ละสังคมสร้างขึ้น และพฤติกรรมหรือการกระทำใดเป็นการกระทำที่ชั่วและไม่สมควรประพฤติปฏิบัติ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ทางสังคม ตลอดจนปฏิกิริยาที่บุคคลมีต่อพฤติกรรมและแนวโน้มที่นำไปสู่การมีพฤติกรรมจริยธรรมทางบวก และพยายามหักห้ามใจมิให้มีพฤติกรรมจริยธรรมทางลบ อันเป็นผลมาจากการยอมรับมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคม และนำมาสร้างเป็นลักษณะทางจริยธรรมขึ้นในตนเอง

 

Kohlberg (1976) เสนอว่า จริยธรรมเป็นผลมาจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการทางปัญญา (cognitive processes) และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ บุคคลจะมีพัฒนาการทางจริยธรรมอยู่ในขั้นสูงก็ต่อเมื่อมีทักษะทางปัญญาสังคม มีความสามารถที่จะเข้าใจในทัศนะของผู้อื่น และช่างคิดช่างสังเกตซึ่งทำให้บุคคลสามารถเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางสังคมมากขึ้น ส่งผลให้บุคคลมีคุณภาพในการคิดเชิงจริยธรรม และสามารถคิดหาเหตุผลมาตัดสินพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสมเหตุสมผลตามบรรทัดฐานของสังคม

 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ในอดีตนักจิตวิทยาจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการทางปัญหาในการหาเหตุผลเพื่อการตัดสินเชิงจริยธรรม แต่การศึกษาที่ผ่านมาได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงอิทธิพลของจิตไร้สำนึกที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเบรกรถทันทีเมื่อเห็นไฟแดง บุคคลทำลงไปโดยไม่ต้องคิด เป็นการรู้เอง ซึ่งก็คือการตัดสิน หาทางออก หรือหาข้อสรุปอย่างทันทีทันใดโดยไม่ต้องพยายาม

 

 

การรู้เองทางจริยธรรม (moral intuition) จึงหมายถึง การตัดสินด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นมาในจิตสำนึกอย่างทันทีทันใด อาจเป็นการประเมินที่มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกรวมอยู่ด้วย เช่น ดี-เลว ชอบ-ไม่ชอบ โดยปราศจากการตระหนักรู้ ปราศจากการค้นหา เปรียบเทียบหรือวินิจฉัยเพื่อหาข้อสรุป ทั้งการรู้เองและการใช้เหตุผลต่างก็เป็นลักษณะของปัญญาทั้งคู่ แต่แตกต่างกันที่ การรู้เองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความพยายามและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ส่วนการใช้เหตุผลเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้ากว่า และอาจต้องใช้ความพยายาม

 

 

Haidt (2001) ได้เสนอว่า ในการตัดสินเชิงจริยธรรม คนเราใช้การรู้เองมากกว่า ส่วนการใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่เกิดภายหลังจากที่การตัดสินได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อบุคคลต้องการหาเหตุผลมาอ้างอิงการตัดสินใจ ตามแนวคิดนี้ การตัดสินด้านจริยธรรมจะคล้ายกับการตัดสินเชิงสุนทรียศาสตร์ นั่นคือ เมื่อเราเห็นการกระทำหรือได้ยินเรื่องราวต่าง ๆ เราจะเกิดความรู้สึกทันทีว่าสิ่งนั้นรับได้หรือรับไม่ได้ ซึ่งแสดงออกมาทางอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและไม่ต้องพยายาม ความรู้สึกว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด ดีหรือเลวจะเกิดขึ้นมาเอง การรู้เองทางจริงธรรมเหล่านี้มีทั้งที่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ (natural selection) และเกิดจากแรงผลักดันทางวัฒนธรรม

 

ตัวอย่างของการตัดสินทางจริยธรรมที่คนเราใช้การรู้เองเป็นสำคัญ คือ เรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยสายเลือดระหว่างพี่กับน้อง เมื่อคนทั่วไปรับรู้เรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะตัดสินทันทีว่าผิดจริยธรรม โดยอ้างถึงเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น หากพลาดพลั้งมีลูก ลูกที่เกิดมาจะมีความผิดปกติ หรือพี่น้องคู่นี้ต้องรู้สึกผิดเป็นบาดแผลในใจ ถึงแม้บุคคลจะได้ทราบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความเต็มใจของสองพี่น้อง และมีการคุมกำเนิดเป็นอย่างดี คนทั่วไปก็ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดอยู่ดี แม้บางคนจะไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไมจึงตัดสินเช่นนั้น

 

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าอารมณ์ความรู้สึกจากการรู้เองส่งผลต่อการตัดสินด้านจริยธรรมเป็นอย่างมาก ในงานวิจัยที่เจาะลึกลงไปในระดับประสาทวิทยายังพบว่า คนไข้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนตรงกลางของสมองส่วนหน้า ทำให้คนไข้มีอารมณ์ความรู้สึกที่ขาดหาย และความตื่นตัวทางประสาทสัมผัสที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมการตอบสนองอย่างอัตโนมัติและการตัดสินใจก็ลดน้อยถอยลง คนไข้มีการตัดสินใจที่ย่ำแย่ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ถึงแม้เขาจะยังรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เนื่องจากอารมณ์ความรู้สึกที่ขาดหายไป ทำให้ไม่สามารถ “รู้สึก” ถึงทางเลือกที่เหมาะสม

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

ปริญญา ฤกษ์อรุณ. (2548). ลักษณะทางจริยธรรมของวัยรุ่นตอนปลายที่มีพฤติกรรมอาสาช่วยเหลือผู้อื่น. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/7910

 

ไตรภพ จตุรพาณิชย์. (2557). อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.14457/CU.the.2014.663

 

Share this content