ท่านเคยทำอะไรลงไปทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยง รู้ว่ามันอันตรายบ้างหรือไม่
– ไปทะเลหน้ามรสุม
– ไปน้ำตกช่วงน้ำหลาก
– ใช้มือถือขณะขับรถ
– ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
– ไม่สวมหมวกกันน็อก
– เดินข้ามถนนไม่ตรงทางม้าลาย
– ออกไปอยู่ที่โล่งขณะฝนตก
– มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
– เล่นพนัน
– ซื้อหวย
– บริโภคน้ำตาลและไขมันเกินความต้องการของร่างกาย
ถ้าท่านเคย ท่านก็อาจเป็นคนหนึ่งที่มีความประมาท
จากเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ หลายคนก็เกิดคำถามว่า ทำไมคนเราถึงประมาท ทำไมเราจึงทำทั้งที่น่าจะรู้ว่ามันอันตราย มันมีความเสี่ยง…?
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเรามีความคิดเข้าข้างตัวเองเสมอ (ในทางจิตวิทยาเรียกว่า มี bias) ในกรณีนี้คือการคิดเข้าข้างตัวเองว่า “เรื่องร้าย ๆ จะไม่เกิดขึ้นกับเรา” ไม่มีใครคิดว่าวันนี้ออกจากบ้านไป (หรือแม้แต่อยู่ในบ้าน) เราจะตาย จะเกิดอุบัติเหตุกับเรา จะมีมาทำร้ายเรา มีโรคร้ายค่อย ๆ ก่อตัวสะสมในตัวเรา
เราคิดแต่ว่าวันนี้เราจะได้รับอะไร เราไม่ค่อยคิดว่าเราจะสูญเสียอะไร
เพราะเรื่องร้าย ๆ ทำให้เราหดหู่ เรื่องน่ากลัวทำให้เราเครียด เราจึงปัดสิ่งเหล่านั้นออกไป มองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่มันเกิดขึ้นรอบตัวเราตลอดเวลา และหากมนุษย์ไม่คิดเข้าข้างตัวเองเสียบ้าง หากมนุษย์ใช้เวลาอยู่กับอารมณ์เครียดและหดหู่ เราอาจนั่งอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร
เราจะไม่ประดิษฐ์เครื่องบิน เราจะไม่ขับรถ เราจะไม่ลงทุน บรรพบุรุษของเราจะไม่จุดไฟ ไม่ไปล่าสัตว์ ไม่โยกย้ายถิ่น และจะไม่จีบสาว
หากเราไม่คาดหวังว่าจะเกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นกับเรา หรือเราเอาแต่คิดว่าจะเกิดเรื่องแย่ ๆ กับเรา การมีชีวิตก็คงมีความหมายที่แตกต่างไปจากเดิม
นอกจากนี้ การกระทำและการตัดสินใจเลือกของเรานั้นขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และเหตุผล การใช้เหตุผลเปลืองพลังงานและเวลากว่าการใช้อารมณ์มาก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังขัดกับความสะดวกสบาย ความต้องการที่จะได้มาซึ่งสิ่งของหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราวาดฝัน
เมื่อเหตุผลและอารมณ์ขัดแย้งกัน หลายครั้งอารมณ์ก็เป็นฝ่ายชนะ ด้วยว่าถ้าพูดกับตามหลักวิวัฒนาการแล้ว สมองส่วนอารมณ์เราได้รับการส่งทอดจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยสัตว์เลื้อยคลาน ขณะที่สมองส่วนเหตุผลเพิ่งถูกสร้างมาในสมัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ของที่มาก่อนย่อมแข็งแกร่งกว่า อัพเกรดมามากกว่า ด้วยการประมวลผลอย่างรวดเร็วจนบ่อยครั้งเรา “คิด” ตามไม่ทัน เราจึงทำอะไรลงไปก่อนที่เราจะใคร่ครวญให้ดี
อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างบางประการอยู่ระหว่าง การใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง กับ ความประมาท
การมีความหวังหรือการมองโลกในแง่ดีนั้น คือ การมองไปที่ความสำเร็จ หรือทางออกของปัญหา โดยเราจะมีแรงจูงใจที่จะพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนั้น และเพื่อความสำเร็จ เราจะตัดตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ออกไปหรือจำกัดให้มันเหลือน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับส่วนที่เราควบคุมได้ให้มากขึ้น เช่น เราไม่อาจควบคุมการใช้รถใช้ถนนของคนอื่นได้ แต่เราสามารถควบคุมการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายของเราได้
ความประมาท คือ การที่เราไม่ตระหนักในอำนาจควบคุมของสิ่งอื่นนอกตัวเรา หรือเราไม่ตระหนักว่าอำนาจควบคุมนั้นแท้จริงอยู่ในมือของผู้อื่น เช่น การที่นักท่องเที่ยวตระหนักในอำนาจของธรรมชาติน้อยเกินไป และนักพนันไม่ตระหนักว่าอำนาจคุมเกมที่แท้จริงอยู่ที่เจ้ามือ นอกจากนี้ เรายังไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้มากพอ เช่น การหาความรู้ในการลงทุน หนทางป้องกันที่เราสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงหาแผนสำรองสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้้น
การที่เราจะลดความประมาทได้นั้น เราต้องฝึกฝนให้เราสามารถใช้เหตุผลได้อย่างรวดเร็ว ประเมินสถานการณ์ด้วยข้อมูลทั้งหมดตรงหน้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเปิดรับข้อมูลที่เราไม่อยากจะรับ (ใช้เวลากับความหดหู่ ความเครียดบ้าง) เพื่อลด bias “เรื่องร้าย ๆ จะไม่เกิดขึ้นกับฉัน” ออกไปให้มากที่สุด
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ “ปัจจัยทางสังคม” หากเป็นสังคมมีคติ “Safety First” คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ความคิดและพฤติกรรมประมาทของบุคคลก็มีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้าม หากเป็นสังคมที่ความปลอดภัยเป็นรองความสะดวกสบาย ความต้องการส่วนตนแล้ว บรรทัดฐานและค่านิยมดังกล่าวก็ส่งผลให้บุคคลมีความคิดเข้าข้างตัวเองและมีพฤติกรรมประมาทมากขึ้น
แน่นอนว่าเรื่องร้าย ๆ อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้เช่นที่เกิดขึ้นกับทุกคน ความล้มเหลว ความสูญเสีย แก่ เจ็บ และตาย พร้อมมาหาเราอย่างไม่เลือกเวลา เรายังสามารถคิดเข้าข้างตัวเองต่อไปได้ตามวิถีของปุถุชน เพียงแต่เราต้องคิดควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อม ฝึกฝนการใช้เหตุผล รวมถึงฝึกฝนวิธีทำใจ (กรณีที่เราไม่สามารถทำอะไรกับเรื่องสุดวิสัยได้)
และอย่าลืมเตือนตัวเองว่า เมื่อไรที่เราคิดว่าเราไม่ได้ประมาท แสดงว่าเรากำลังประมาทอยู่นั่นเอง
บทความวิชาการ
โดย คุณรวิตา ระย้านิล
นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย