จิตวิทยาความรุนแรง : กรณีสามีทำร้ายภรรยา

19 Feb 2020

รศ.ศิรางค์ ทับสายทอง

 

ทุกสังคมมีความคิดตรงกันว่าสตรีและเด็กจัดเป็นบุคคลที่อ่อนแอ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เมื่อถูกทำร้าย ดังนั้นการก่อความรุนแรงต่อสตรีและเด็กจึงเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้เกี่ยวข้องพยายามค้นหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามพฤติกรรมดังกล่าวก็ยังคงปรากฏอยู่ในทุกสังคม และนับวันจะยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้น

 

พฤติกรรมการทำร้ายร่างกายภรรยาของสามี มักจะเริ่มต้นจากการผลักและการตบหน้าภรรยา แล้วเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปจนถึงขั้นทุบตี เป็นเหตุให้ภรรยาบาดเจ็บสาหัส บางรายอาจเสียชีวิต และ/หรือดำรงชีวิตต่อไปอย่างหวาดกลัว

 

การศึกษาของ Yllo และ Straus (1981) พบว่าความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวมักเกิดขึ้นบ่อยในคู่สามีภรรยาวัยหนุ่มสาว ซึ่งอาจจะแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสกันก็ได้ มีฐานะยากจน และตกงาน ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (O’ Leary และคณะ, 1989) ได้ระบุว่าการแสดงความรุนแรงต่อกันในระดับต่ำได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายเริ่มผูกสมัครรักใคร่กัน กล่าวคือ เพศหญิง 44 % และเพศชาย 31 % รายงานว่ามีการผลักหรือตบหน้าคู่สัมพันธ์มาตั้งแต่ก่อนสมรสแล้ว รวมทั้งเพศหญิง 36 % เพศชาย 27 % รายงานว่ามีการทำร้ายกันและกันในช่วง 18 เดือนแรกของชีวิตสมรส ด้วยเหตุนี้ คู่สมรสบางคู่จึงได้ทำข้อตกลงตั้งแต่เริ่มใช้ชีวิตร่วมกันว่า จะจำกัดความรุนแรงที่อาจแสดงต่อกันในรูปของความก้าวร้าวทางวาจาเท่านั้น

 

พฤติกรรมการทำร้ายร่างกายกันดังกล่าวยังพบได้บ่อยหลังการเสพสุรา หรือยาเสพติด แต่ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติและสถานะทางเศรษฐกิจ

 

 

สามีที่ชอบทำร้ายร่างกายภรรยาจะมีลักษณะบุคลิกภาพแบบใด?


 

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (Bouza, 1990) ได้ระบุว่า สามีที่ทำร้ายภรรยามักเป็นคนโดดเดี่ยวทางสังคม มีการตระหนักถึงคุณค่าของตนเองในระดับต่ำ มีความไม่มั่นคงทางเพศ ขี้อิจฉาริษยารวมทั้งมักจะโยนความผิดให้ฝ่ายภรรยา

 

เมื่อสามีมีลักษณะอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้ว เหตุใดภรรยาจึงไม่ตีจากไปแต่ยังคงอดทนอยู่ด้วย?

 

O’ Leary และคณะ (1989) พบว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของผู้หญิงที่อยู่ในสภาวะดังกล่าว มิได้คิดว่าชีวิตคู่ของตนไร้ความสุข บุคคลดังกล่าวมักไม่ยอมรับความจริงและโทษว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว คือ เหล้า ความเครียด ความคับข้องใจ หรือไม่ก็แปลความหมายของพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก หรือความเป็นชายที่แท้จริง รวมทั้งมีความเชื่ออย่างฝังใจว่าคู่ของตนมิได้มีเจตนาจะทำร้ายตน

 

ส่วนภรรยาที่มีการตระหนักในคุณค่าของตนเองต่ำ จะรู้สึกว่าตนเองสมควรจะถูกทุบตี ภรรยาที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองทางเศรษฐกิจได้ จะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถจะไปไหนได้รอดเนื่องจากไม่มีงานทำ จึงต้องกลับมาทนอยู่ในสภาพเดิม และภรรยาบางคนจำต้องทนอยู่ เนื่องจากรู้ว่าหากหนีไป สามีจะติดตามหาอย่างไม่ลดละ หากพบอาจจะทำร้ายร่างกายหนักกว่าที่เป็นอยู่ หรืออาจจะฆ่าภรรยาที่ทรยศได้

 

นอกจากนั้นแล้ว ภรรยาที่ถูกทำร้ายร่างกายยังคิดว่าตนเองไร้ที่พึ่งพิง ด้วยเหตุว่าเมื่อแจ้งความแล้ว ตำรวจมักมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว พยายามไกล่เกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกัน และแทบจะไม่เคยจับสามีเข้าคุกเลย ซึ่งขัดแย้งกับผลการวิจัยของ Bouza (1990) ที่รายงานว่า สามีที่ทำร้ายภรรยาแล้วถูกจับกุมคุมขัง มีแนวโน้มจะทำร้ายภรรยาน้อยลง

 

ในปัจจุบัน สังคมได้ให้ความสนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น โดยมีการตั้งบ้านฉุกเฉินสำหรับเด็กและสตรีที่ถูกทำทารุณกรรมขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการด้านคดีความ นอกจากนั้นยังได้จัดโปรแกรมพิเศษเพื่อช่วยเหลือสามีที่ชอบทำร้ายภรรยาให้หยุดพฤติกรรมที่เลวร้ายดังกล่าว โดยการจัดให้มีการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่ม มีการทำครอบครัวบำบัด (family therapy) ซึ่งจะช่วยแก้ไขพฤติกรรมของบุคคลต่าง ๆ ในครอบครัว อีกทั้งยังช่วยหยุดความรุนแรงในระดับต่ำหรือปานกลางลงก่อนที่จะลุกลามจนเกิดอันตรายขึ้นได้

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ศิรางค์ ทับสายทอง

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content