เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนรักกัน แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิก อีกฝ่ายหนึ่งจึงตอบแทนด้วยความรุนแรง เช่น การฆ่าหั่นศพแฟน การระเบิดตัวตายพร้อมกัน การยิงคู่รักตาย แล้วก็ฆ่าตัวตายตามอย่างสยดสยอง ซึ่งมักจะกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งให้เราสลดใจกันอยู่บ่อย ๆ หลายคนจึงเกิดคำถามว่า คนรักกัน ไม่ทำร้ายกัน จริงรึเปล่า การทำร้ายหรือทำลายทั้งตัวเอง และคู่รัก ที่เกิดขึ้นเมื่อคนเราอกหักหรือผิดหวังในความรักนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
ก่อนอื่นเราต้องเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยคำถามว่า ทำไมคนเราจึงคิดจะทำร้ายตัวเอง เมื่อถูกคนรักทอดทิ้ง และทำไมคนเราจึงคิดฆ่าคนที่เรารักมากให้ตาย หรือทำร้ายเขาให้เจ็บปวดอย่างมาก เมื่อเขาทอดทิ้งเราไป หลายคนก็อาจจะตอบง่าย ๆ ว่าเป็นเพราะเราโกรธมากหรือเสียใจมากนะสิ แต่ก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเคยเสียใจมากหรือโกรธมากจากความผิดหวังในความรักเช่นกัน แต่ทำไมเราไม่ก่อเหตุรุนแรงต่อคนรักหรือต่อตัวเองอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การทำร้ายตนเองและคู่รักเมื่อผิดหวังในความรัก จึงไม่ได้เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ
นักจิตวิทยาได้ศึกษาย้อนหลังไปถึงช่วงที่เราแต่ละคนยังเป็นทารกในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต เมื่อเราเป็นทารกนั้น เราได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างอบอุ่นจากผู้เลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแม่ของเรา แม่ให้การตอบสนองต่อความต้องการเมื่อเราร้องโยเย ให้ความใกล้ชิดและแสดงสัมผัสรักต่อเรามากน้อยเพียงใด แม่พูดคุยกับเราด้วยถ้อยคำที่สะท้อนความรักความห่วงใยเพียงใด ซึ่งความแตกต่างในการเอาใจใส่จากแม่นี้เอง ที่นักจิตวิทยาศึกษาพบว่าจะทำให้เด็กพัฒนาความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเพียงใด ความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง และความไว้วางใจในตัวผู้อื่น ซึ่งจะติดตัวมาจนเป็นผู้ใหญ่ และเรียกว่า ลักษณะความผูกพันกับผู้อื่น แบ่งได้ 3 แบบ คือลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง แบบหลบเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง ซึ่งลักษณะความผูกพันแบบใดแบบหนึ่งในตัวเราแต่ละคนนี้ก็จะมีอิทธิพลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น การมีเพื่อนใหม่ การมีคนรัก และความสุขในความสัมพันธ์กับคนอื่นในชีวิตของเรา
ลักษณะความผูกพันแบบใดทำให้เรามีความรักหรือมีความสัมพันธ์ราบรื่น และแบบใดมักทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาและทำให้เราแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ด้วยการทำร้ายกันได้ในที่สุด?
การที่เราแต่ละคนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเองไม่เท่ากัน และเชื่อมั่นในตัวคนอื่นแตกต่างกัน ก็เพราะการเอาใจใส่จากแม่ในการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะกลายเป็นลักษณะความผูกพันกับคนอื่น 3 แบบ คือแบบมั่นคง แบบหลีกเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง ลักษณะความผูกพันแต่ละแบบนั้น ทำให้คนเราสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นแตกต่างกัน
- ลักษณะความผูกพันแบบมั่นคง เกิดจากการที่แม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ทารกอย่างอบอุ่น ทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในคุณค่าของเราเอง คาดหวังการตอบสนองดีๆ จากผู้อื่นในการหาเพื่อนใหม่หรือจีบใครสักคน มีความรักที่อบอุ่นยืนยาวกับคนรัก แสดงความรักที่มีต่อผู้อื่น ถ้ามีปัญหาทะเลาะกันก็จะมักจะไม่โกรธมาก แต่ถ้าโกรธหรือเถียงกับแฟน ก็มักจะคาดหวังในทางบวกว่า เราจะหาทางออกหรือตกลงคืนดีกันได้ในที่สุด
- ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เลี้ยงดูลูกอย่างห่างเหิน ทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจ ทำให้ลูกไม่ได้รับการตอบสนองที่เขาต้องการจากคนสำคัญที่สุดอย่างแม่ จะทำให้เขามีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นในแบบที่ไม่มั่นคง ในลักษณะหลีกเลี่ยงผู้อื่นค่ะ คนแบบนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าเพียงพอแก่ความรักและไม่เชื่อใจผู้อื่น ทำให้เขาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อสัมพันธ์กับใครหรือมีความรักสักครั้ง มักแสดงความก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว และปฏิเสธมิตรไมตรีจากผู้อื่น ตอนเด็ก ๆ จึงมักไม่ค่อยมีเพื่อน
- ลูกที่ผู้เป็นแม่ให้ความเอาใจใส่ต่อเขาอย่างไม่สม่ำเสมอในวัยทารกนั้น ก็จะมีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นที่ไม่มั่นคงในแบบวิตกขัดแย้ง นั่นก็คือคน ๆ นี้จะมีความขัดแย้งในตัวเอง คืออยากจะเป็นที่รักของคนอื่นมาก แต่ก็วิตกกังวลมากว่าตัวเองจะไม่มีค่าเพียงพอสำหรับเขา กลัวจะถูกปฏิเสธ กลัวว่าเขาจะไม่รักจริง เวลาเห็นแฟนไปคุยกับคนอื่นก็อาจรู้สึกหวั่นไหว วิตกกังวลมาก และอยากอยู่ใกล้ ๆ คนรักเอาไว้ก่อน การวิจัยจึงพบว่าคนแบบนี้ขี้หึงที่สุด และด้วยความขี้หึง รวมทั้งไม่มั่นใจในตัวเองนี้ ทำให้เขาไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาวนัก มักถูกตีจากได้ง่าย จนทำให้ผู้ชายที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบวิตกขัดแย้ง มักทำร้ายร่างกายคนรักของตน เนื่องจากความโกรธและหึงหวงนั่นเอง
เมื่อต้องสูญเสียคนรักหรือถูกทอดทิ้ง คนแบบใดที่เราต้องระวังไม่ให้เขาลุกขึ้นมาทำร้ายเราหรือทำร้ายตัวเขาเอง?
ลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นที่ทำให้เราตอบสนองต่อการอกหักหรือถูกแฟนทอดทิ้งต่างกัน แบบไหนที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือฆ่าแฟนทิ้งได้ในที่สุด?
เมื่อถูกปฏิเสธหรือเมื่อผิดหวัง เราก็จะรู้สึกเสียใจ และโกรธตามธรรมชาติ และเมื่อพูดถึงอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่การทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งได้นั้น การวิจัยก็ชี้ว่า ผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบมั่นคงจะไม่โกรธง่าย ถึงอีกฝ่ายหนึ่งจะยั่วโมโห เขาก็มักจะไม่โกรธตอบ ในขณะที่ผู้มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบหลีกเลี่ยง มักแสดงความโกรธง่าย ไม่เป็นมิตร และมักไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังโมโหมาก ส่วนผู้ที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นในแบบวิตกขัดแย้งนั้น มักจะรู้สึกโกรธเมื่อคนรักแสดงท่าทางห่างเหิน ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาตามลำพัง เช่น ไม่ให้เวลาว่างแก่ตนมากพอเมื่อตนต้องการ แต่คนแบบนี้กลัวการถูกทอดทิ้งมาก จึงมักเก็บกดเอาความโกรธนี้เอาไว้ในใจ
จะเห็นได้ว่าการแสดงความรู้สึกของคนแบบวิตกขัดแย้งนี้ซับซ้อนมากทีเดียว เขาจะไม่แสดงความโกรธในตอนที่คนรักของเขาหงุดหงิดกังวลเพราะมีโอกาสถูกทอดทิ้งสูง และการถูกทอดทิ้งสำหรับเขาแล้วคือการสูญเสียที่ใหญ่หลวง
ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว เราจะเห็นว่าผู้ที่ถูกเลี้ยงมาอย่างไม่อบอุ่นทั้ง 2 แบบ คือแบบที่แม่ทอดทิ้งไม่ใส่ใจหรือเรียกว่าแบบหลีกเลี่ยง กับแบบที่แม่ให้ความอบอุ่นไม่สม่ำเสมอหรือเรียกว่าแบบวิตกขัดแย้ง จะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะโกรธง่ายหรือขี้โมโหต่อคนรัก จึงมีแนวโน้มที่จะทำร้ายคู่รักของตนมากกว่า
นอกจากนี้ ในการปรับตัวต่อความเศร้าเสียใจหรือการถูกทอดทิ้งจากคนรักนั้น ลักษณะของความผูกพันแบบมั่นคงหรือไม่มั่นคงนี้ ก็มีอิทธิพลอย่างมาก
โดยการวิจัยชี้ว่า คนที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง จะเผชิญความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่หลอกตัวเอง นำไปสู่การจัดการและปรับตัวไปตามความจริง ในขณะนี้ผู้มีความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ก็จะหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าตนเองรู้สึกเสียใจ พยายามเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพิกเฉย ไม่สนใจต่อความรู้สึกนี้ ส่วนผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง ก็จะครุ่นคิดหมกมุ่นอยู่กับความเศร้าเสียใจนั้น และขยายความทุกข์นั้นให้ยิ่งใหญ่หลวงมากขึ้น อาจรู้สึกว่าการสูญเสียคนรักเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เหมือนโลกทั้งโลกถล่มทลาย หมดสิ้นความหวัง จึงเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงสูงที่สุดที่จะทำร้ายตนเอง และทำร้ายคนรักที่ทอดทิ้งตนไป ด้วยความโกรธแค้นและสิ้นหวังในความสัมพันธ์นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูให้ความอบอุ่นแก่ลูกอย่างขาด ๆ เกิน ๆ ไม่สม่ำเสมอนั้น อาจส่งผลให้เขาเป็นผู้โหยหิวความรักในวัยผู้ใหญ่และทนไม่ได้ที่จะไม่ได้รับมันอีก จึงทำให้ความรักของเขาอาจลงเอยด้วยการทำลายได้ ดังนั้น การเลี้ยงดูและให้ความอบอุ่นกับลูกนั้น มีอิทธิพลสำคัญต่อการปรับตัวเมื่อต้องผิดหวังในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งทางที่ดีคือเราต้องให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้พอเพียง
นอกจากนี้ การให้ความรักความอบอุ่นจนมากเกินไป จนกลายเป็นการปกป้องจนเกินเหตุ ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญปัญหา แก้ปัญหา ผ่านความรู้สึกยุ่งยากหรืออุปสรรคในเรื่องต่างๆ ก็อาจจะกลายเป็นว่าเลี้ยงลูกแบบปกป้องเกินไป โดยเฉพาะแม่ที่มักจะหวงลูกเกินเหตุมากกว่าพ่อ สังเกตได้ง่ายกับคำพูดและการกระทำเช่น “อย่าไปเลยลูกอันตราย” “อย่าทำเลยลูกลำบาก ให้พี่เลี้ยงเค้าทำแทนก็ได้” “เหนื่อยมั้ยลูก ถ้าเหนื่อยก็ไม่ต้องเรียนแล้ว ไม่ต้องทำแล้ว” คำพูดหรือการแสดงออกลักษณะนี้ พ่อแม่สมัยใหม่ที่มีฐานะดีมีชีวิตสะดวกสบายเพียบพร้อมมักจะหยิบยื่นให้ลูกด้วยความรัก อาจจะเนื่องจากพ่อแม่เคยลำบากมามาก แล้วไม่อยากให้ลูกเหมือนตนเอง หรือการให้ความสำคัญกับลูกมาก ๆ อาจเพราะสูญเสียลูกคนอื่นไป สูญเสียสามีหรือภรรยาไป ก็ทุ่มเทความรักแก่ลูก หรือเพราะมีลูกเพียงคนเดียว เป็นต้น
การปกป้องเขาในลักษณะนี้ จะทำให้ลูกไม่มีโอกาสเผชิญปัญหายาก ๆ ไม่เรียนรู้การจัดการกับความผิดหวัง และอารมณ์ทางลบต่างๆ ไม่เรียนรู้ที่จะอดทนกับความยากลำบากในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ ซึ่งผลที่ตามมานั้นก็น่าตกใจ เพราะการเลี้ยงลูกแบบนี้ เป็นการปิดโอกาสไม่ให้เด็กได้พัฒนาทักษะในการดูแลตนเอง ปรับตัวต่อความเครียดเมื่อต้องเผชิญปัญหาของเขา ไม่เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และรู้จักอดทนกับความยากลำบาก หรือคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ลูกที่เปราะบาง ติดพ่อติดแม่ พึ่งพาอาศัยผู้อื่น ตัดสินใจเองไม่ได้ มักวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เผชิญ ไม่รู้สึกว่าตนเองเก่งหรือภูมิใจในตัวเอง ไม่มีภูมิต้านทานความผิดหวังที่เจอ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขาจะยิ่งขาดความมั่นใจตามธรรมชาติแห่งวัย เมื่อเจอกับความผิดหวังครั้งรุนแรงจากความรัก ก็จะทำให้เขารับไม่ได้ ปรับตัวไม่ได้ จัดการกับปัญหาไม่ได้ บวกกับความหุนหันพลันแล่น การห่างเหินจากพ่อแม่มากขึ้น และการได้รู้ได้เห็นสื่อรุนแรงต่าง ๆ ก็จะทำให้เขาตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยความตาย ทั้งฆ่าตัวเองหรือฆ่าคนรักได้
เพราะฉะนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือ เปิดโอกาสให้เขาได้เผชิญความยากลำบาก ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการไขว่คว้าสิ่งที่เขาต้องการ ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น ได้รู้สึกเจ็บปวดเพื่อจะเรียนรู้ว่าเขาจะหลีกเลี่ยงมันอย่างไรในครั้งต่อไป โดยพ่อแม่เพียงแต่แนะวิธีการที่เป็นประโยชน์แก่เขา ไม่ปล่อยให้ลองผิดลองถูกเองจนเกินไป และรับฟังความเจ็บปวดของเขาอย่างเห็นอกเห็นใจ นี่คือความรักที่ดีต่อลูกอย่างแท้จริง
นอกจากพ่อแม่จะต้องเข้าใจความสำคัญของการเลี้ยงดู การให้ความอบอุ่น และการปกป้องลูกไม่ให้มากเกินไปแล้ว พ่อแม่ยังต้องเข้าใจลักษณะสำคัญของวัยแห่งความรัก หรือวัยรุ่นด้วยว่า วัยรุ่นนั้นเป็นวัยแห่งการมีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง ดังนั้น เมื่อเขารู้สึกรักใครซึ่งมักจะเป็นรักแรก เขาก็มักจะรักแรงและฝังใจไปนาน เช่นเดียวกับเมื่อเขาอกหักจากคนรัก เขาก็จะเจ็บปวดมาก และด้วยวัยแรกรัก ทำให้เขายังไม่เรียนรู้ถึงการประคับประคองความรัก ไม่มีประสบการณ์ในการเข้าใจอารมณ์รักหรือหลอกของผู้อื่น ดังนั้น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยลูกด้วย
เริ่มตั้งแต่ชี้ให้เขาเห็นถึงธรรมชาติของความรักในวัยรุ่น อารมณ์รักแรงเกลียดแรงของวัยนี้ อาจด้วยการเล่าให้เขาฟังว่าสมัยพ่อแม่เป็นวัยรุ่นนั้นก็เคยมีประสบการณ์ความรักมาอย่างไร เพื่อนำไปสู่การรู้จักหักห้ามความรู้สึกไม่ให้เศร้าโศก หรือแค้นเคืองใจต่อแฟนหรือคนรักที่ทิ้งเขาไป ชี้ให้ลูกได้เห็นว่า การผิดหวังทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องจัดการความสัมพันธ์ เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้าม และอย่าลืมแสดงให้เห็นว่า ท่านพร้อมจะเข้าใจและให้ความรักแก่เขา ไม่ว่าเขาจะถูกใครปฏิเสธอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ลูกวัยรุ่นที่ครุ่นคิดถึงแต่ความบกพร่องของตัวเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าเนื่องจากถูกคนรักทอดทิ้งนั้น แน่ใจได้มากขึ้นว่า เขามีพ่อแม่ที่เห็นเขามีค่าและต้องการเขาเสมอ และจะเสียใจอย่างมากหากเขาตัดสินใจทำร้ายตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เขาทำร้ายตนเอง และช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เขาทำลายตัวเองด้วยการหันเข้าหาสุรายาเสพติด เพียงเพราะอกหักหนเดียวได้ โดยเฉพาะในลูกชาย เพราะผู้ชายมักเสียใจจากการอกหักมากกว่าหญิง และมีนิสัยระบายความพ่ายแพ้ให้ผู้อื่นฟังน้อยกว่าผู้หญิง และมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวและทำร้ายตนเองและผู้อื่นมากว่าหญิงด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกเข้าถึงอาวุธต่างๆ ได้ง่าย เช่น เก็บปืนผาหน้าไม้ให้มิดชิด ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นได้ทางหนึ่ง
นอกจากนี้ พ่อแม่พี่น้องน่าจะชี้ชวนให้เขาร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจกับสมาชิกในครอบครัว แสดงให้เขาเห็นว่า โลกนี้ยังมีอะไรให้ทำให้เรียนรู้อีกมาก เพราะคนอกหักมักจะสิ้นกำลังใจไม่อยากทำอะไร และยกเลิกแผนการต่างๆ ที่วางเอาไว้ มัวไปครุ่นคิดถึงแต่โอกาสคืนดี และคิดว่าคนที่ทิ้งเขาไปนั้นจะรู้สึกอย่างไร จะกลับมาหา จะโทรมาหรือไม่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงต้องให้เวลาลูก ทำใจและก็ไม่ต้องวิตกกังวล หรือแสดงอาการเครียดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ในครอบครัว เพียงแต่สร้างบรรยากาศแห่งการปลอบโยนและพร้อมรับฟัง ช่วยให้ลูกผ่านประสบการณ์อันปวดร้าวนี้ไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เขายังคงมีมุมมองที่ดีต่อความรัก และพร้อมจะมีรักและครอบครัวที่อบอุ่นได้อีกต่อไป
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University