การใฝ่หาความสนใจทำให้เรามีความสร้างสรรค์น้อยลง

05 Feb 2020

อาจารย์ภูมิ โชติกะวรรณ

 

ในบทความนี้ผู้เขียนจะเล่าถึง TED Talk ของนักแสดงชายชื่อดัง โจเซฟ กอร์ดอน เลวิท เกี่ยวกับเรื่องความรู้สึก 2 ประเภท คือ การให้ความสนใจ (paying attention) และการได้รับความสนใจ (getting attention)

 

ความรู้สึกสองอย่างนี้อาจจะพอจำแนกได้โดยง่าย แต่เพื่อให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ผู้เขียนขออธิบายดังนี้

 

การให้ความสนใจ หมายถึงการมีส่วนร่วมกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในปัจจุบัน ในกรณีของโจเซฟ เขาได้อธิบายถึงการทุ่มเทกับการสร้างสรรค์ในงานแสดงและการกำกับภาพยนตร์ ส่วนการได้รับความสนใจ คือความรู้สึกของการได้รับคำชื่นชมจากคนอื่น ๆ หรือการมีชื่อเสียง ในฐานะนักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง โจเซฟมีประสบการณ์ตรงอย่างท่วมท้นกับความรู้สึกทั้งสองแบบ ซึ่งเมื่อเขาได้พิจารณาดี ๆ แล้วเขาพบว่ายิ่งให้ความสำคัญกับการได้รับความสนใจมากขึ้นเท่าใด เราก็จะสูญเสียความสุขที่มีต่อการทุ่มเทให้กับงานสร้างสรรค์ของเราไป

 

มุมมองนี้ของโจเซฟได้รับการสนับสนุนด้วยงานวิจัยและแนวคิดเรื่อง “การไหลลื่น” หรือ “Flow” คำนี้บัญญัติขึ้นโดยนักจิตวิทยาชาวฮังการี ชื่อว่า ซิกเซนมิฮาย (Csikszentmihalyi) จากการศึกษาบุคคลชั้นนำกว่า 90 คน ในวงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ ธุรกิจ ราชการ และวิทยาศาสตร์ ซิกเซนมีฮาย (1995) พบว่า ผู้ที่มีความสมบูรณ์และสร้างสรรค์มักเกิดความพึงพอใจและผูกพันในงานสูงกว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความสมดุลระหว่างความท้าทายของงานและความสามารถของบุคคล ดังเช่น นักเรียนกับคณิตศาสตร์ ถ้าโจทย์เลขยากเกินความสามารถของนักเรียน ก็อาจเกิดความวิตกกังวลและขาดความมั่นใจในตนเอง แต่ถ้ามันง่ายเกินไป เขาก็จะเบื่อ ทั้งสองกรณีไม่อาจสร้างความพึงพอใจและความผูกพันของนักเรียนต่อคณิตศาสตร์ได้เลย

 

ซิกเซนมิฮายอธิบายว่า เมื่อความสมดุลบังเกิด เราก็จะทำสิ่งนั้นด้วยความเพลิดเพลิน จนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนติดปีก เขาเสนอว่า “ความลื่นไหล” คือสิ่งสำคัญที่มอบความสุขและการเติมเต็มให้กับเรา ช่วงเวลาที่ดีที่สุดไม่ใช่การได้อยู่เฉย ๆ หรือผ่อนคลาย แต่เป็นการที่ร่างกายและจิตใจของเราได้ขยายออกไปอย่างถึงที่สุดในการลงมือทำสิ่งที่ยากและคุ้มค่าให้สำเร็จ

 

กลับมาที่เวที TED Talk ของโจเซฟ ความเข้าใจเรื่อง “การลื่นไหล” การเติมเต็มชีวิตและความสุขที่ได้จากสภาวะนี้ คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ไม่ง่ายเลยที่วัยรุ่นจะสามารถลำดับความสำคัญของ การได้รับความสนใจ ว่าคือปลายทาง ส่วนการทุ่มเทตนเองในงานสร้างสรรค์ ว่าคือสิ่งที่จะพาไปสู่เป้าหมายนั้น

 

ตัวอย่างเช่น มีนักเต้น 2 คน คนหนึ่งมีแรงจูงใจจากการได้รับความสนใจ เธอมีความสุขจากการโพสต์คลิปการฝึกซ้อมและมียอดเข้าชมราว ๆ 500 ครั้ง แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันหนึ่งมียอดเข้าชมเพียง 150 ครั้ง เราสามารถเดาได้ว่านักเต้นคนที่หนึ่งจะรู้สึกท้อและเสียใจที่คนสนใจเขาน้อยลง ส่วนนักเต้นคนที่สอง แรงจูงใจของเธอมาจากความทุ่มเทในการเต้น มีความสุขระหว่างการฝึกซ้อม นักเต้นทั้งสองคนนี้จะเป็นอย่างไรหากต้องซ้อมหนักขึ้นและนานขึ้น นักเต้นคนไหนจะสร้างเส้นทางอาชีพจากความสร้างสรรค์นี้ได้มากกว่า คำตอบนี้อาจจะไม่สามารถฟันธงได้ แต่เราก็คงจะพอเห็นภาพได้ว่านักเต้นคนใดที่จะได้รับการเติมเต็มและมีความสุขมากกว่าหลังผ่านการฝึกซ้อมเป็นเวลานาน

 

ทำไมถึงแรงจูงใจจากภายนอกเช่นความโด่งดังนั้นไม่ยังยืน ประเด็นนี้โจเซฟมองว่า การได้รับความสนใจคือการเสพติดอย่างหนึ่ง “ครั้งหนึ่งตอนที่ผมมีผู้ติดตามถึงหนึ่งล้านคน ผมเคยรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มาก ตอนนี้ผมมีผู้ติดตาม 4.2 ล้านคนแล้ว แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ผมพอใจแล้ว …มันไม่เคยพอ” ตัวเลขนี้ดูจะห่างไกลจากวัยรุ่นทั่วไปมากๆ เราอาจจะสรุปเร็วเกินไปว่าแรงจูงใจจากภายนอกนั้นไม่ยั่งยืน แต่ที่แน่ ๆ แรงจูงใจจากภายในเช่นความพึงพอใจที่ได้รับจากการทุ่มเทในงานสร้างสรรค์นั้นย่อมเป็นเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความสุขในชีวิตมากกว่าการแสวงหาความโด่งดัง

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Csikszentmihalyi, M. (2013). Flow: the Psychology of Happiness. London: Ebury Digital.

 

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภูมิ โชติกะวรรณ

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Share this content