ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

26 Feb 2020

ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

 

โลกมนุษย์นี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งรูปพรรณสัณฐาน เผ่าพันธุ์ ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม และอีกมากมาย ในมุมมองของจิตวิทยามีหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ คนทุกคนมีความแตกต่างกัน (individual differences) จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนจะมีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ในทุกหนแห่งในทุกสังคม เมื่อมีความแตกต่าง ความขัดแย้งก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะสาเหตุของความขัดแย้งมาจากความแตกต่างในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม ความคิดเห็น การรับรู้ วิธีคิดและวิธีแก้ปัญหา หรืออาจจะมาจากเป้าหมาย ความต้องการขัดแย้งกัน บทบาทและอำนาจหน้าที่ขัดกัน เป็นต้น

 

หากเราพิจารณาความขัดแย้งจากเรื่องเล็กระดับบุคคล ไปถึงเรื่องใหญ่ระดับสังคมโลก เราจะเข้าใจสาเหตุที่มาของความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งเป็นเสมือนมีดคมที่มีสองด้าน ด้านที่ทำให้เกิดผลดีและผลเสีย

 

สำหรับข้อดีของความขัดแย้ง กล่าวคือ ความขัดแย้งกระตุ้นให้คนแสวงหาวิธีการที่ดีขึ้นในการทำงานและการดำเนินชีวิต เมื่อมีความขัดแย้งปรากฏขึ้น ก็เป็นการเปิดเผยปัญหาที่ซ่อนเร้น และเมื่อสามารถจัดการกับความขัดแย้งไปได้ คนในหน่วยงานนั้น ๆ หรือสังคมนั้น ๆ จะเกิดความเข้าใจกันยิ่งขึ้น

 

ในส่วนข้อเสียของความขัดแย้งก็คือ ทำให้ความร่วมมือและการทำงานเป็นทีมลดลง ความสัมพันธ์ของคนมีความห่างเหิน ไม่ไว้วางใจกัน ผู้ที่รู้สึกว่าตนพ่ายแพ้ จะรู้สึกไร้ค่า หมดกำลังใจ สูญเสียแรงจูงใจ นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งอาจจะเกิดปัญหาทางอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ขุ่นเคืองใจ โกรธ แค้น หวาดกลัว คับข้องใจ คับแค้นใจ อึดอัด วิตกกังวล เครียด เป็นต้น

 

นอกเหนือจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล เรายังมีความขัดแย้งในตนเอง ซึ่งเป็นภาวะที่คนคนหนึ่งรู้สึกลำบากใจ ไม่สบายใจในการตัดสินใจเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

 

ความขัดแย้งในตนเอง มี 3 รูปแบบ


 

ดังนี้

 

รูปแบบที่ 1 คือ การรักพี่เสียดายน้อง

เป็นความรู้สึกต้องการสองอย่างจนยากแก่การเลือกหรือตัดสินใจ เช่น ในช่วงวันพุธบ่ายมีเวลาที่จะลงเรียนวิชาเลือกได้ และนิสิตพบว่ามีสองรายวิชาที่อยากเรียนมาก ซึ่งในความเป็นจริงต้องเลือกเพียงรายวิชาเดียว เป็นต้น

 

รูปแบบที่ 2 คือ การหนีเสือปะจระเข้

เมื่อบุคคลไม่ชอบทั้งสองอย่าง แต่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กำลังจองตั๋วเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ตั้งใจว่าจะเดินทางโดยเครื่องบิน แต่พบว่าตั๋วเครื่องบินถูกจองหมด มีทางเลือกเพียงการเดินทางโดยรถประจำทางซึ่งใช้เวลามากและทำให้เหนื่อย กับมีทางเลือกที่จะต้องเลื่อนการเดินทางออกไปอีกหนึ่งวัน ซึ่งจะทำให้ถึงบ้านช้าไป และมีเวลาอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านน้อยลง ทั้งสองทางเลือกนั้นบุคคลไม่ชอบทั้งสองทางหากแต่จำเป็นต้องเลือก เป็นต้น

 

รูปแบบที่ 3 คือ การเกลียดตัวกินไข่

เป็นสถานการณ์เดียวกันที่มีทั้งสิ่งที่บุคคลชอบและไม่ชอบอยู่ในสถานการณ์นั้น เช่น มีข้อเสนอการทำงานที่ให้ค่าตอบแทนดี เป็นที่ถูกใจ แต่ว่าบุคคลต้องไปทำงานในสถานที่ไกลมากและไม่มีความสะดวกในการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดความลังเลในการเลือก เป็นต้น

 

 

การจัดการความขัดแย้งในตนเอง


การจัดการความขัดแย้งในใจตนสามารถทำได้โดย เริ่มจากการทำความเข้าใจว่า ทุกอย่างที่เรารับรู้ มักมาจากค่านิยม หรือประสบการณ์เฉพาะตนของผู้รับรู้ทั้งนั้น เราจะต้องรู้จักและเข้าใจตนอย่างชัดเจนถ่องแท้ ถึงความต้องการ ค่านิยม และจุดยืนของตนเอง การหมั่นสำรวจค่านิยมของตนเองเสมอ จะช่วยให้รู้จักค่านิยมที่แท้จริงของตน เมื่อรู้ค่านิยมของตนชัดเจน เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนต้องเลือก ย่อมไม่อยู่ในสภาพว้าวุ่นใจ คับข้องใจนานนัก ไม่ต้องขัดแย้งในตนเองเหมือนกับการทะเลาะกับตนเอง เราจะสามารถตัดสินปัญหาประจำวันได้รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง

 

ตัวอย่างเช่น เรารู้จักตนเองว่ามีค่านิยมความเรียบง่าย ประหยัด เราเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ เมื่อมีผู้เสนอชักชวนให้ไปเดินชมกระเป๋าถือที่มีแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ก็อาจจะคิดได้ไม่นานนักว่าจะไปหรือไม่ หรือหากจะหาซื้อของใช้ส่วนตัว ก็คงมุ่งจะซื้อของที่ราคาพอประมาณ ไม่มุ่งหาซื้อของแบรนด์เนม และมีความรู้สึกดี สบายใจ ภูมิใจในการเลือกและการตัดสินใจของตน ไม่มีความกังวลหรือมีปมด้อยเมื่อมีคนกล่าวดูถูกที่ไม่ใช้ของมีราคาสูง และก็สามารถจะชื่นชมผู้อื่นได้อย่างจริงใจโดยไม่รู้สึกว่าตนจะต้องทำตามอย่างผู้ที่ใช้ของมีราคาแพง เป็นต้น

 

 

การจัดการความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม


เมื่อเราต้องเผชิญความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม มีหลักคิดที่เป็นวิธีการพื้นฐานในการจัดการกับความขัดแย้งผ่านการพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง 2 ประการ ดังนี้

 

  1. เป้าหมายอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้น เป้าหมายนั้นมีความสำคัญสำหรับเรามากน้อยเพียงใด
  2. ความสัมพันธ์กับคู่ความขัดแย้ง มีความหมาย มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดกับเรา

 

กล่าวคือ หากทั้งเป้าหมายและความสัมพันธ์ มีความสำคัญสำหรับเราไม่มากนัก คนเรามักจัดการกับความขัดแย้งในลักษณะหลีกเลี่ยง โดยหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมอภิปรายถึงความขัดแย้ง และมักจะมีความกังวลเล็กน้อยที่จะบรรลุความต้องการของตนและผู้อื่น

 

ทว่าหากเป้าหมายมีความสำคัญสำหรับเราไม่มาก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่ขัดแย้งมีความสำคัญสำหรับเราค่อนข้างมาก เราจะมีความห่วงใยผู้อื่นสูง ห่วงใยตนเองต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะทำตามความต้องการของผู้อื่น นั่นคือการเก็บกด หรือกลบเกลื่อนได้

 

นอกจากนี้ หากพบว่าเป้าหมายมีความสำคัญกับเรามาก ส่วนความสัมพันธ์กับคู่ขัดแย้งมีความสำคัญกับเราไม่มากนัก เรามักยึดความต้องการของตนเหนือความต้องการของผู้อื่น และใช้วิธีการใช้อำนาจหรือการบังคับ

 

หากทั้งเป้าหมายและความสัมพันธ์มีความสำคัญสำหรับเราปานกลาง เราจะอยู่ตรงกลางระหว่างความสนใจความห่วงใยตนเอง กับความสนใจห่วงใยผู้อื่น และเราจะเลือกใช้วิธีการประนีประนอมหรือเจรจาต่อรอง

 

และสุดท้าย หากทั้งเป้าหมายและความสัมพันธ์มีความสำคัญสำหรับเรามากทั้งคู่ เรามักแก้ปัญหาโดยบรรลุความต้องการสูงสุดของสองฝ่าย โดยใช้วิธีการร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา

 

โดยประเด็นสำคัญก็คือ การแก้ไขความขัดแย้ง หากมีฝ่ายใดรู้สึกว่าตนแพ้ อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ ก็ยังมีความรู้สึกไม่ดี ค้างอยู่ในใจ หรือถ้าหากการแก้ไขความขัดแย้งที่ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์เลย เพราะคู่ขัดแย้งไม่ยอมลดราความต้องการของตน หรือมุ่งทำลายคู่ขัดแย้ง ผลก็จะเป็นความพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่าย การแก้ไขความขัดแย้งที่น่าปรารถนาที่สุดคือ Win-Win เนื่องจาก ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจผล เป็นการแก้ปัญหาที่ร่วมมือร่วมใจกันแสวงหาวิธีที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายต่างบรรลุผลที่ตนต้องการ

 

 

การจัดการความขัดแย้งแบบ วิน-วิน หรือแบบที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย


 

สามารถเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขต่อไปนี้

 

  • ทุกคนมีโอกาสพูดความคิดของตน โดยไม่นำอารมณ์มาเกี่ยวข้อง
  • บอกความรู้สึก โดยระมัดระวังไม่กล่าวโทษกัน
  • นำข้อมูลทั้งหมดมาอธิบายแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นที่ยอมรับโดยทุกฝ่ายเห็นพ้องกันในความขัดแย้งนั้น และแต่ละฝ่ายต่างเข้าใจความรู้สึกของกัน และคู่ขัดแย้งเห็นพ้องกันว่าสถานการณ์ควรเป็นอย่างไร
  • ตกลงร่วมกันถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อบรรลุเป้าหมาย อาจทำได้โดยการให้เขียนรายการการเปลี่ยนแปลงที่ตนเต็มใจ และพยายามเข้าใจว่าผู้อื่นจะทำอะไร
  • สร้างข้อตกลงต่าง ๆ การติดตามผล ระบุวันเดือนปีที่ชัดเจน เพื่อบรรลุกิจกรรมที่ต้องการ และที่สำคัญคือ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมกันหาข้อสรุปร่วม ที่คำนึงถึงความต้องการของตนเองและของผู้อื่น

 

คนเราทุกคนล้วนต้องการความสุข ความสงบ ความเป็นมิตร แต่เมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง และตั้งรับไม่ทัน อาจจะทำให้จิตใจขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน ยุ่งยากใจและเป็นทุกข์ หากเราจัดความคิดความเข้าใจให้มองเห็นความขัดแย้งในทางสร้างสรรค์ ก็จะมีความหวังว่าสังคมเราอยู่ร่วมกันได้แม้คิดไม่เหมือนกัน แม้คิดแตกต่างจนเกิดความขัดแย้ง เราก็สามารถหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ เมื่อเราหาทางจัดการกับความขัดแย้งนั้น ทุกฝ่ายต้องตระหนักว่าสังคมเป็นพื้นที่ของคนทุกคน มิใช่ของคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นในการแก้ไขจัดการความขัดแย้งใด ๆ จะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้อื่นด้วย มิใช่คำนึงแต่ความต้องการของตนเพียงฝ่ายเดียว หากตระหนักเช่นนี้ได้ ก็ไม่น่าจะมีความกังวลเมื่อมีความขัดแย้ง เพราะทางออกย่อมมีเสมอเมื่อคนไม่คิดเห็นแก่ความต้องการของตนแต่ฝ่ายเดียว

 

นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้า เราคงต้องมุ่งสร้างคนที่มีค่านิยมของความไม่เห็นแก่ตัว คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม คำนึงถึงสังคมมากกว่าตนเองให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อจะเป็นหลักประกันในอนาคตว่าเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแล้ว คนในสังคมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่คิดถึงส่วนรวมมากกว่า และสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content