ภาพลวงตาทางบวก
การเกิดภาพลวงตาทางบวก ประกอบด้วย การเห็นคุณค่าในตนเองสูง หรือมองตนเองในทางบวกเกินจริง การรับรู้ว่าตนมีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เกินความสามารถที่แท้จริงของตนเอง และการมองโลกในแง่ดีว่าในอนาคตจะมีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น
การเกิดภาพลวงตาทางบวกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดได้ในบุคคลทั่วไป เราจะมองตนเองตามจริงและมีแนวโน้มไปในทางบวกเกินจริงหรือเกิดภาพลวงตาทางบวกเกี่ยวกับตนเอง ส่วนบุคคลที่มองตนเองไปในทางลบเกินจริงคือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
กล่าวได้ว่า การเกิดภาพลวงตาทางบวกนี้เปรียบเสมือนต้นทุนทางจิตให้บุคคลสามารถเผชิญกับอุปสรรคปัญหาและผ่านพ้นไปได้ รวมทั้งส่งผลให้บุคคลมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ขณะที่บุคคลที่มองแต่ความจริงมากเกินไป ไม่มีการสร้างภาพลวงตาทางบวกเลย มีแนวโน้มที่จะมีความทุกข์ จัดระบบตนเองไม่ดี และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ
การสร้างภาพลวงตาทางบวกในความสัมพันธ์
คือ การสร้างภาพในจินตนาการตามอุดมคติทางบวก และมีอุดมคติที่มาจากความประทับใจต่อคู่รักซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง โดยจะเน้นไปที่ข้อดีของคนรัก และมองข้ามข้อเสียของคนรัก
ตัวอย่างเช่น ความจริงของสามีเป็นคนเจ้าชู้ ชอบนอกใจภรรยา แต่สามีมีข้อดีคือหาเงินเก่ง เลี้ยงดูครอบครัวได้ ภรรยามองข้ามข้อเสียเกี่ยวกับความเจ้าชู้ของสามีไป สร้างภาพลวงตาโดยเน้นไปที่ข้อดีคือความสามารถในการดูแลครอบครัวของสามี ภาพลวงตาที่ภรรยาสร้างขึ้นนี้ นักจิตวิทยาพบว่า ทำให้ภรรยารับรู้ว่าสามีดูแลครอบครัวได้ดี มากกว่าที่สามีมองตนเองเสียอีก (Murray & Holmes, 1993)
การศึกษาในคู่รักและคู่สมรสหลาย ๆ งานในหลายปีที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่า ความพึงพอใจในคนรักและความสัมพันธ์ เกิดมาจากการที่บุคคลสร้างอุดมคติเกี่ยวกับคนรักของตนขึ้นมา เมื่อมีคนรัก บุคคลมักจะมองคนรักไปตามอุดมคติที่ตนสร้างไว้ การสร้างภาพลวงตาทางบวกนี้มีพื้นฐานความจริง จึงเกิดการถ่ายโอนการกระทำทางบวกไปสู่คนรัก คนรักจึงมีพฤติกรรมทางบวกเช่นนั้นตามไปด้วย (Self-fulfilling) นอกจากนี้ การรับรู้ตนเองในทางบวกและมีความสงสัยในตนเองต่ำ ส่งผลให้บุคคลเชื่อว่าพวกเขาจะมีคนรักที่ดีได้ ดังนั้น การรับรู้ตนเอง การรับรู้คนรักตามอุดมคติ และการรับรู้คนรักตามความเป็นจริง จึงมีผลต่อความพึงพอใจทั้งในคนรักและความสัมพันธ์ทั้งสิ้น
รายการอ้างอิง
“อิทธิพลของการมองโลกในแง่ดี ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และการผูกมัดในความสัมพันธ์ โดยมีภาพลวงตาทางบวกเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย กุสุมา กาญจนประกิจ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42676
“อิทธิพลของภาพลวงตาทางบวกต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก” โดย สิรินรัตน์ ศรีสรวล (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/76