เครียดงานหลังปีใหม่: พอจัดการได้ ถ้าตั้งหลักดี ๆ

09 Jan 2025

ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

 

รู้สึกเหมือนกันไหมคะว่าเทศกาลปีใหม่ผ่านไปเร็วจนน่าใจหาย หลายคนบ่นว่าเหมือนตื่นมาจากฝัน ความรู้สึกผ่อนคลายกับเวลาสบาย ๆ หมดไปเร็วเหลือเกิน ถึงเวลานี้ หลายคนคงกลับมาใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานแบบเดิม ๆ และอาจมีเพิ่มเติมด้วยความรู้สึกกดดันกับงานกองใหญ่ ที่เคยผัดผ่อนไว้ช่วงก่อนเทศกาล ตอนนั้นอาจคิดไปว่าปีใหม่ เราคนใหม่ จะมีพลังจัดการได้ทุกอย่าง แต่พอกลับมาเจอกองงานอีกครั้ง หรือเห็นงานใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามา ก็อาจพาให้เกิดความเครียดได้

 

แต่อย่างไร อย่าเพิ่งรู้สึกไม่ดีกับความเครียดนะคะ ถ้ารักษาไว้ในระดับพอดี ๆ ความเครียดก็มีประโยชน์ได้ค่ะ ความเครียดที่ไม่สูงเกินไป จะส่งผลให้เราเกิดแรงจูงใจ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ลงมือทำอะไรไม่นิ่งเนือย ในปีนี้ เราอาจได้ผลงานที่ดี มีประสิทธิภาพในการใช้เวลา หรือเห็นความรุดหน้าในงานถ้าจัดการความเครียดได้ลงตัวนะคะ

 

ในทางกลับกัน ถ้าความเครียดนั้นสูงเกินไป ก็จะส่งผลเสียทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด เกร็ง ไม่สบายใจ บางคนทานไม่ได้นอนไม่หลับ ความเครียดสูงยังบั่นทอนสมาธิ การรับรู้ การตัดสินใจ และส่งผลให้หลาย ๆ คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางคนหลีกเลี่ยงหนีสถานการณ์ตึงเครียด ใช้เกม การกินหรือสุรายาเสพติดเป็นเครื่องปลอบใจ ถ้ามาถึงจุดนี้ เราคงต้องตั้งหลักหาวิธีจัดการความเครียดแล้วค่ะ

 

ความเครียดเป็นผลจากการประเมินสถานการณ์ว่าคุกคามความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ และเรามีตัวช่วยในการรับมือสถานการณ์นั้นมากน้อยเพียงใด ความเครียดเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ในสถานการณ์ดี ๆ เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง การแต่งงาน การให้กำเนิดสมาชิกใหม่ในครอบครัว เมื่อไรที่เรารับรู้ว่าตัวเองออกจากพื้นที่ปลอดภัย เราอาจเกิดความเครียดได้

 

เนื่องจากความเครียดมีที่มาหนึ่งจากการรับรู้ของเราเอง การตั้งหลักทบทวนว่าเรารับรู้หรือประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มแรกเลย ลองทบทวนว่าสถานการณ์ตึงเครียดนั้นเกี่ยวข้องกับเรามากน้อยเพียงใด ถ้างานกองใหญ่ที่รออยู่หลังปีใหม่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับเราคนเดียว เราก็อาจจะต้องกระจายปริมาณความเครียดไปให้เหมาะสม

 

นอกจากนั้น ความเครียดเกิดการจากรับรู้ว่าเราถูกคุกคามไม่ปลอดภัย บางทีพอได้ยินคำว่า “งาน” เราก็พาลเครียดไม่ปลอดภัยไปแล้ว แต่ถ้าตั้งหลักมองดี ๆ งานที่ต้องดูแลก็อาจเป็นโอกาสให้เราได้แสดงฝีไม้ลายมือหรือเรียนรู้พัฒนาตัวเองก็ยังได้ และอาจจะไม่ใช่ภัยคุกคามเสมอไป

 

ลองทบทวนดูความคาดหวังของเราสักนิดนะคะว่าจะกดดันตัวเราไปหรือไม่ เช่น ถ้าเรามองแบบดำขาวว่างานกองใหญ่ที่รออยู่ต้องเสร็จไปในทันทีที่ปีใหม่มาถึง แบบนี้ก็คงเครียดไม่น้อย จะผ่อนคลายกว่าแน่ ถ้าเราค่อยๆ ประเมินแล้วตั้งกำหนดเวลาคิดว่าน่าจะค่อย ๆ ทยอยทำงานนั้นไป

 

สุดท้ายแล้ว การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับงานก็ช่วยลดความเครียดไปได้ค่ะ ร่างกายที่พร้อม จิตใจที่แข็งแรงนับเป็นพื้นฐานที่ดี แต่ยังมีวิธีเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมได้ เช่น การจัดสรรเวลาที่ดี การนึกทบทวนนำเอาวิธีการทำงานหรือแนวทางการแก้ปัญหาที่เคยใช้ได้ผลในอดีตกลับมาใช้อีก และหากเฉพาะเราคนเดียวแบกรับงานกองโตไม่ไหว การขอรับกำลังกาย กำลังใจ หรือคำแนะนำจากคนข้างเคียงก็นับเป็นตัวช่วยที่ดีในการบรรเทาความเครียดค่ะ

 

 

การตั้งหลักทบทวนทำความเข้าใจที่มาและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับงานจะช่วยลดความเครียดของเราลงได้ และหากได้ทดลองใช้ให้คุ้นชินตั้งแต่ต้นปี ก็น่าที่จะช่วยให้คุณได้มีเครื่องมือใหม่ ๆ ไว้ใช้จัดการความเครียดต่อไปนะคะ แต่หากลองตั้งหลักทบทวนแล้ว ยังมีประเด็นที่คุณอยากพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อจัดการความเครียดของคุณ ติดต่อนักจิตวิทยาได้นะคะ

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

 

Share this content