ล้มแล้วลุกได้…หากเรามีทุนทางจิตวิทยา
“Resilience” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 1
จากสถานการณ์ของโรคระบาด COVID-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงและยังคงส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นต่อบุคคล ในการประกอบอาชีพ คือ ปัญหาการว่างงาน การถูกลดเงินเดือน หรือการถูกให้ออกจากงานกลางคัน ข้อมูลรายงานภาวะสังคมไทยประจำไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 ของสำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปว่า อัตราการว่างงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และการว่างงานของแรงงานในระบบยังอยู่ในระดับสูง มีผู้ว่างงานจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.96 สูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากขึ้น หากการแพร่ระบาดยังคงรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน
ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นในการเผชิญปัญหาและชะตากรรมที่เลวร้ายนี้ ในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์และบนโลกโซเชียล พบโศกนาฏกรรมของคนพ่ายแพ้ชีวิตเพราะปัญหาการตกงาน ขาดรายได้ กิจการไปต่อไม่ไหว แบกรับหนี้สินจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตายตามมา จนกลายเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจรายวัน แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงสู้ชีวิต ลุกขึ้นมาในยามที่ล้ม และก้าวเดินไปด้วยหัวใจนักสู้ ในเส้นทางชีวิตใหม่ ข่าวดาราขับรถส่งอาหาร หรือ กัปตันเครื่องบินเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ผันตัวเองไปเป็นแม่ค้าขายทุเรียน แม้แต่พนักงานเงินเดือนน้อยที่ตกงานแต่กลับประสบความสำเร็จในการขายของออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า คนเหล่านี้มีมุมมองชีวิตที่ต้องรับมือกับปัญหาและอุปสรรคอย่างไร สิ่งใดเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาลุกขึ้นสู้ มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แม้ในยามมืดมิด
ในปี 2002 ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา Fred Luthans ได้นำเสนอตัวแปรทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก ที่เรียกว่า Psychological Capital หรือ ทุนทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นคุณลักษณะและทรัพยากรทางจิตวิทยาที่มีอยู่ในตัวของแต่ละบุคคลที่สามารถวัดได้ พัฒนาได้และนำไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร ส่งผลให้องค์กรมีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น พนักงานมีสุขภาวะที่ดีมากขึ้น ทุนทางจิตวิทยาจึงเสมือนหนึ่งภูมิคุ้มกันที่ยอดเยี่ยมในการดำรงไว้ซึ่งสมรรถนะและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนเรา
Luthans (2002) ได้กล่าวว่า ทุนทางจิตวิทยามี 4 องค์ประกอบ ได้แก่
- การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-efficacy)
- การมองโลกในแง่ดี (Optimism)
- ความหวัง (Hope)
- ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience)
ในปัจจุบันได้มีการขนานนามของทุนทางจิตวิทยาขึ้นมาใหม่ โดยการนำเอาตัวอักษรตัวแรกของแต่ละองค์ประกอบมาจัดเรียงต่อกันจนกลายเป็นคำว่า HERO หรือ ยอดมนุษย์ ซึ่ง H หมายถึง Hope E หมายถึง Efficacy R หมายถึง Resilience และ O หมายถึง Optimism ชื่อใหม่ในความหมายเดิมของทุนทางจิตวิทยา ยิ่งทำให้ตัวแปรทางจิตวิทยาเชิงบวกนี้ดูมีพลังพิเศษและจดจำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทความตอนนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอเพียง 1 ใน 4 องค์ประกอบของทุนทางจิตวิทยา นั่นคือ Resilience ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ถูกกล่าวขานมากในสถานการณ์ของโลกที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ทั้งวิกฤติจากโรคระบาด ความผันผวนทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ของภัยธรรมชาติ และ ความร้อนแรงทางการเมืองทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ แม้ว่า Resilience เป็นคำที่ยังไม่มีคำบัญญัติที่ชัดเจนในคำเดียว แต่เรายังอาจพบคำที่แทนความหมายของ Resilience ที่หลากหลายได้ในภาษาไทย เช่น ความสามารถในการกลับคืนสู่ปรกติ พลังแห่งการฟื้นตัว ความยืดหยุ่นทางจิตใจ การล้มแล้วลุกเร็ว หรือแม้แต่ ปัญญาล้มลุก เป็นต้น แต่ในบทความนี้ขอเลือกใช้คำว่า ความสามารถในการฟื้นพลัง เพื่อแทนความหมายของ Resilience
รากศัพท์ของคำว่า Resilience มาจากภาษาละตินซึ่งมีความหมายว่า ดีดตัวกลับมา หรือ สะท้อนกลับ ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 20 นั้น คำว่า Resilience ถูกใช้ในแวดวงของงานด้านวิศวกรรมเพื่อให้เข้าใจถึงความผิดปรกติเกี่ยวกับรูปทรงของวัสดุ (Deformation) ในช่วงปี 1970 คำว่า Resilience นี้ได้ก้าวออกมาจากวงการวิศวกรรมไปสู่แวดวงด้านจิตวิทยาและใช้อธิบายถึงการปรับตัวในทางที่ดีขึ้นต่อความเครียดหรือความชอกช้ำใจ (Garmezy, 1973) คำว่า Resilience ยังถูกนำมาใช้ในงานด้านนิเวศน์วิทยา เพื่อใช้ในการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศน์ ที่ใช้การฟื้นคืนในการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือการก้าวไปสู่สภาวะใหม่ในระบบนิเวศน์ (Holling, 1973)
Luthans (2002) กล่าวว่า ความสามารถในการฟื้นพลังนี้จะช่วยให้บุคคลมองว่าความพ่ายแพ้ ความล้มเหลว การถูกคุมคาม เป็นการลงทุนทั้งทางด้านเวลา พลังงานชีวิต และทรัพยากรในตนเอง การปรับเปลี่ยนมุมมองและให้คุณค่าทางบวกกับความพ่ายแพ้ ความล้มเหลวและอุปสรรคที่เคยผ่านมาในชีวิต จะช่วยให้บุคคลเรียนรู้ที่จะผ่านพ้นความยากลำบากต่าง ๆ และกลับคืนมาสู่ภาวะปรกติได้ (Sutcliffe & Vogus, 2003; Youssef & Luthans, 2005)
ความสามารถในการฟื้นพลังนั้นจึงเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เองในทันที หากต้องผ่านการบ่มเพาะจากประสบการณ์ตั้งแต่วัยเยาว์ที่ได้ก้าวข้ามผ่านความพ่ายแพ้ ล้มเหลว ความไม่สมหวัง และสภาวะทางอารมณ์ที่เคยท้อแท้และหมดกำลังใจมาก่อน หากทุกคนเคย ขี่จักรยานล้ม สอบตก อกหักจากความรักครั้งแรก พลาดหวังจากการสอบคัดเลือกเข้าคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้ หรือ ล้มเหลวจากความคาดหวังและแม้แต่สูญสียบุคคลอันเป็นที่รัก ช่วงเวลาของประสบการณ์เหล่านี้ จะเป็นบทเรียนที่มีความหมาย ช่วยให้แง่คิดและสร้างมุมมองในการเรียนรู้ที่ต่างออกไปและช่วยประคับประคองให้สามารถลุกขึ้นเดินต่อได้ในหนทางของชีวิต การไม่จมอยู่กับอดีตและยอมทิ้งความฝันเดิมที่กลายเป็นความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า และมุ่งคว้าความฝันใหม่ที่สามารถทำสำเร็จได้อย่างสวยงามด้วยสองมือของตนเองในที่สุด สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง ช่วยพัฒนามุมมองของการ “ล้มได้ก็ลุกได้” ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีพลังที่ไม่มีวันสิ้นสุด แม้จะต้องล้มลุกคลุกคลานอีกซักกี่ครั้งก็ตาม
Charles Darwin ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด” ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้มีชีวิตรอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้า เช่น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือแม้กระทั่งโรคระบาด จึงเป็นกุญแจสำคัญในการไขไปสู่ความลับที่ว่า ทุกสิ่งที่อาจเกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้เสมอ
ในช่วงที่เกิดโรคระบาด COVID-19 Bozdag และ Ergun (2020) ศึกษาถึงความสามารถในการฟื้นพลังในกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ในประเทศตุรกี พบว่า การให้บริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องในช่วงของการระบาดส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดความเครียดทั้งจากความกังวลใจที่อาจจะติดเชื้อโควิดจากผู้ป่วยและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงาน ผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในช่วงการระบาดของ COVID-19 มีความสามารถในการฟื้นพลังเพิ่มมากขึ้นได้แก่ คุณภาพการนอนหลับ (Quality of sleep) อารมณ์ในเชิงบวก (Positive emotions) และความพึงพอใจในชีวิต (Life satisfaction)
นอกจากนั้น การศึกษาของ Walsh (2020) พบว่า ความสามารถในการฟื้นพลังหลังจากเหตุการณ์การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวเนื่องจากโรคระบาด COVID-19 นั้นประกอบไปด้วยปัจจัย 3 ประการได้แก่
1) กระบวนการสร้างความหมาย (Meaning making processes)
หมายถึง กระบวนการตีความและทำความเข้าใจกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นในทิศทางบวกหรือลบ เช่น การตีความว่าเหคุการณ์ร้ายนั้นว่าจะกลายเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าต่อตนเอง หรือ จะมองว่าเหตุการณ์ร้ายนั้นยังคงเป็นบาดแผลในชีวิตตลอดไป
2) ทัศนคติเชิงบวก (Positive outlook)
หมายถึง การดำรงชีวิตของตนเองต่อไปอย่างคนที่มีความหวังและพลังภายในตนเองที่พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายในอนาคตด้วยความกระตือรือร้น อันได้แก่ ความกล้าหาญ ความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรเกื้อกูลกันระหว่างญาติมิตร
3) ค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่อยู่เหนือธรรมชาติ (Transcendent values and Spiritual moorings)
หมายถึง ความศรัทธาทางจิตวิญญาณหรือความเชื่อทางศาสนา สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลเกิดพลังในการหยัดยืนและลุกขึ้นมาดำเนินชีวิตต่อไปเพื่อสมาชิกในครอบครัวที่ยังคงเหลืออยู่
ความสามารถในการฟื้นพลังจึงเป็นคุณลักษณะทางจิตวิทยาที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บุคคลสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลทางการวิจัยพบผลสอดคล้องกันจำนวนมากและเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงพอจะเห็นแนวทางการสร้างเสริมความสามารถที่จะล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ การเปลี่ยนวิธีคิดหรือเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับเราในทิศทางที่เป็นบวก นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ด้านของทุนทางจิตวิทยา หรือ HERO ( H หมายถึง Hope E หมายถึง Efficacy R หมายถึง Resilience และ O หมายถึง Optimism) มีความตรงเชิงอำนาจจำแนก (Discriminant validity) คือ แต่ละองค์ประกอบมีโครงสร้างที่แยกขาดออกจากกันอย่างชัดเจน (Luthans, et al., 2007) และแต่ละองค์ประกอบต่างส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลและองค์กรที่บุคคลเป็นสมาชิกอยู่ งานวิจัยยังพบอีกว่า การเสริมสร้างให้บุคคลมีคุณลักษณะครบทั้ง 4 ด้านของ HERO จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคคลและองค์กรนั้น (Luthans et al., 2005) โปรดติดตามอ่านเรื่องราวของ HERO ในองค์ประกอบย่อยที่เหลือได้ในตอนต่อไป
รายการอ้างอิง
Bozdağ, F., & Ergün, N. (2020). Psychological resilience of healthcare professionals during COVID-19 pandemic. Psychological Reports, 1–20.
Garmezy, N. (1973). Competence and adaptation in adult schizophrenic patients and children at risk. In S. R. Dean (Ed.), Schizophrenia: The first ten Dean Award Lectures (pp. 163–204). New York, NY: MSS Information Corp.
Holling, C. S. (1973). Resilience and stability of ecological systems. Annual Review of Ecology and Systematics, 4, 1–23.
Luthans, F. (2002) The need for and meaning of positive organizational behavior. Journal of Organizational Behavior, 23, 695–706.
Luthans, F., Avolio B. J., Walumbwa F., & Li W. (2005) The psychological capital of Chinese workers: Exploring the relationship with performance. Management and Organization Review, 1, 247–269.
Luthans, F., Avolio, B. J., Avey, J. B., & Norman, S.M. (2007). Positive psychological capital: Measurement and relationship with performance and satisfaction. Personnel psychology, 60(3), 541-572.
Sutcliffe, K. M., & Vogus, T. J. (2003). Organizing for resilience. In K. Cameron, J. E. Dutton, & R. E. Quinn (Eds.), Positive organizational scholarship (pp. 94-110). San Francisco, CA: Berrett-Koehler.
Walsh, F. (2020). Loss and resilience in the time of COVID-19: Meaning making, hope, and transcendence. Family Process, 59, 898–911.
Youssef, C. M., & Luthans, F. (2005). Resiliency development of organizations, leaders and employees: Multi-level theory building for sustained performance. In W. Gardner, B. Avolio, & F. Walumbwa (Eds.), Monographs in leadership and management (Vol. 3, pp. 303-343). Oxford: Elsevier.
เอกสารนำเสนอประกอบการแถลงข่าว ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2564 วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 521 อาคาร 5 ชั้น 2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาพประกอบ https://www.wallpaperup.com/
บทความวิชาการ
โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน
นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร เรวดี วัฒฑกโกศล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย