ประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้หญิงที่มีประสบการณ์ถูกสามีทำร้ายร่างกาย และเข้ามาพักพิงอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ จำนวน 9 ราย
1. ความรู้สึกที่ถูกทำร้าย
ประกอบด้วย ความไม่คาดคิด กลัวและหวาดระแวง อายที่จะบอกเรื่องราวให้คนอื่นได้รับรู้ เหน็ดเหนื่อยกับความยากลำบากในชีวิต โกรธแค้นเกลียดชังสามี และต้องการก้าวออกไปจากความสัมพันธ์
2. เหตุผลของการคงอยู่ในความสัมพันธ์
ความรัก ความคาดหวังว่าสามีจะเปลี่ยนพฤติกรรม ความรักลูก และหมดหนทางไป
3. ความรู้สึกของการทนอยู่ในความสัมพันธ์
โทษและสมน้ำหน้าตนเอง จำต้องอดทนต่อความเจ็บปวดที่ได้รับ และใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ
4. จุดแตกหัก
เป็นความรู้สึกที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจออกไปจากความสัมพันธ์ ซึ่งมาจากการหมดความเชื่อมั่น และความคาดหวังในตัวสามี และหมดสิ้นความอดทนต่อความรุนแรงที่ได้รับ
5. ความรู้สึกที่ตกค้างจากการถูกทำร้าย
ประกอบด้วยความกลัวและระแวงว่าจะเกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำ เสียดายและผิดหวังกับชีวิตที่ต้องตกต่ำ และคิดว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเวรกรรมของตน
6. จิตใจที่ได้รับการฟื้นพลัง
เป็นภาวะจิตใจที่ได้รับกำลังใจต่อการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างมีคุณค่า ด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังมากขึ้น
เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน การเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดี ไม่จำเป็นที่จะคงสิ่งดีนั้นไว้ตลอด จากความสุภาพอ่อนโยน ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นความก้าวร้าว แข็งกระด้าง ที่ไม่ทันได้ตั้งรับและไม่คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับตน
ถึงจะมีความเหน็ดเหนื่อย น้อยใจ โกรธแค้นเกลียดชัง รวมถึงต้องการออกไปจากความสัมพันธ์ที่รุนแรง แต่ผู้หญิงก็ไม่เคยหยุดการทำหน้าที่ภรรยาและแม่ โดยไม่ได้คิดว่าจะมีสิ่งที่เลวร้ายกว่าตามมาในอนาคต
ความสุขกับการได้อยู่ร่วมการชายคนรักค่อย ๆ ถูกแทรกซึมด้วยความทุกข์ แม้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ความทุกข์หมดไปและคงความสุขไว้เช่นเดิม แต่ยิ่งพยายามเท่าใด ก็ยิ่งเหนื่อยหน่ายกับความพยายามของตัวเอง ความโหดร้ายที่เกิดซ้ำๆ บ่งบอกว่าความพยายามที่ทำไปนั้นไร้ความหมาย ถึงกระนั้นผู้หญิงก็ไม่สามารถถอยออกไปจากความสัมพันธ์ได้โดยง่าย ด้วยเงื่อนไขต่างๆ นานาที่บีบคั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะความรักที่ยังคงมีต่อสามีและลูก และความไม่รู้ว่าจะไปไหน ทำอย่างไร จึงต้องจำยอมทนรับกับสิ่งโหดร้ายที่เกิดขึ้น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำเพื่อประคับประคองล้วนแล้วแต่ทำด้วยความเป็นห่วงความรู้สึกและสวัสดิภาพของคนอื่น แต่วันหนึ่งก็มีเหตุที่ทำให้ถึงจุดแตกหัก วันที่ได้มองย้อนกลับเข้ามาในตัวเอง พิจารณาว่าตนเองได้อะไรตอบแทนจากความพยายาม คำตอบที่ได้คือมีแต่ความสูญเสีย สูญเสียสิ่งต่างๆ มากมายและอาจแม้กระทั่งชีวิตของตน ซึ่งตะหนักได้ว่านั่นคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ดังนั้นผู้หญิงจึงตัดสินใจก้าวเดินออกมาจากความสัมพันธ์ และเข้ามาพักฟื้นเยียวยารักษาจิตใจที่บอบช้ำ เตรียมความพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง ได้เรียนรู้และเห็นถึงคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ และบอกกับตัวเองว่าจะไม่ทำให้ตนตกไปอยู่ในภาวะของความทุกข์ยากอีก การใช้ชีวิตในวันข้างหน้าจะต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
งานวิจัยนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อช่วยให้นักจิตวิทยาการปรึกษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆ สามารถช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม
“ประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย”
“Psychological experiences of physically abused women”
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2552)
โดย นางสาวศศิพันธุ์ กันยอง
ที่ปรึกษา : ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/15897