การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง
จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน
โดยวิทยากร
-
ผศ. ดร.ฐนันดรศักดิ์ บวรนันทกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
-
ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-
อาจารย์ ดร.ปิยกฤตา แก้วพิกุล
อาจารย์ประจำคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
-
ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์
รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 16.00 – 17.00 น.
รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1787613661449021
มีการใช้หลักการทางจิตวิทยาในกระบวนการสอบสวนหรือไม่
อ.ฐนันดรศักดิ์
ในแง่ทฤษฎีการเรียนการสอน จิตวิทยาถูกนำมาใช้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในสาขา โดยเฉพาะในวิชาทฤษฎีอาชญวิทยา (Criminology) มีพูดถึงพื้นฐานทางจิตวิทยาต่าง ๆ (เช่น เรื่องความจำที่ผิดพลาด การโกหก การสารภาพเท็จ) และมีวิชา Personality and crime คือเรื่องบุคลิกภาพกับการประกอบอาชญากรรม ในทางวิชาการนำไปใช้ได้ค่อนข้างเยอะ
อีกส่วนหนึ่งใช้ในวงการปฏิบัติ ในกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ ในยุคแรกก็มีวิชา Forensic Psychology แปลว่า นิติวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยา หรือ นิติจิตเวช เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก มีทั้งการศึกษาและการฝึกอบรม ตอนหลังมีการเพิ่มนักจิตวิทยามาในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เรียกว่าสหวิชาชีพ เนื่องจากมองว่าเด็กเป็นกลุ่มคนที่มีจิตใจเปราะบาง นักจิตวิทยาก็จะช่วยในกระบวนการสอบสวนไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำสองในเด็กและผู้หญิง ไม่ให้ระลึกถึงความบอบช้ำทางจิตใจที่มีอยู่ (Psychic trauma) ในประเทศไทยก็นำมาใช้แล้ว
เรื่องที่สามคือการศึกษาที่ FBI ที่ได้ประมวลไว้และนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ เผยแพร่ในทางภาพยนตร์ก็มี อาทิ criminal mind คือการศึกษาเรื่องแรงจูงใจของอาชญากรที่ประกอบอาชญากรรม มักเกี่ยวข้องกับการตามล่าเหล่าฆาตกรต่อเนื่อง (Serial killing) และล่าสุดในช่วง 10 กว่าปีนี้ มีการทำ Criminal profiling ประวัติอาชญากรรมทางจิต เป็นการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีของศาล ในอเมริกามีศาลที่เรียกว่า Mental health court เป็นศาลที่พิจารณาความผิดของผู้ที่มีปัญหาโรคจิต หรือติดเสพสารเสพติดจนเสียสภาพจิตไป ในอังกฤษก็มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่โด่งดังเรื่องนี้ อยู่ที่ลิเวอร์พูลและฮัดเดอส์ฟีลด์ ตัวท่านและลูกศิษย์ก็ได้เผยแพร่เรื่อง criminal profiling จนเป็นที่แพร่หลาย
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของบทบาทของการใช้จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน
ในการพิจารณาคดีของศาลเอง ผมได้ไปบรรยายหลักสูตรผู้พิพากษาเรื่องจิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวน ก็พบว่าเขานำเอาเรื่อง จิตวิทยาในการโกหก และจิตวิทยาในเรื่องการ recall ความทรงจำของคนที่นำตัวมาเป็นพยาน มาใช้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงเรื่องจิตวิทยาในการรับสารภาพ เหล่านี้เป็นมิติที่พยายามดึงเอาจิตวิทยามามีบทบาทในทางอาชญวิทยาและกระบวนการยุติธรรม
คนที่เรียนหลักสูตรการใช้จิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวนมีใครบ้าง
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
คนที่เรียนศาสตร์เหล่านี้ก็มีบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เราได้ไปทำ MOU กับมหาวิทยาลัยฮัดเดอส์ฟีลด์ แล้วได้เอาพวกวิชา Investigative Psychology เข้ามา มีการทำคอร์สอบรมให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ศาล ตำรวจ ราชทัณฑ์ จนถึงผู้คุมประพฤติเยาวชน
อ.อภิชญา
ลูกศิษย์ของเราที่จบจิตวิทยาไป (แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม) บางคนก็ไปทำงานในกระทรวงยุติธรรม บางคนก็ได้ทุนของกพ.ไปเรียนทางด้าน Forensic Psychology และด้าน Applied Psychology ตนเองก็เลยเปิดรายวิชา Psychology and Crime เพื่อให้นิสิตที่สนใจทางด้านนี้จะได้นำความรู้ทางจิตวิทยาไปต่อยอดหรือใช้ในชีวิตประจำวันหรือชีวิตการทำงาน เราสอนเกี่ยวกับเรื่อง false memory ความจำผิดที่พลาด ให้ได้รู้ว่าเรามักมั่นใจในความจำของเรามากเกินจริง เราจะคิดว่าเราเห็นเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้ แต่ทุกครั้งที่เราพูดออกมาใหม่ เราจะ encode ข้อมูล ใส่สี ตกแต่งข้อมูล และใส่กลับเข้าไปในสมองอีกทีหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความจำผิดที่พลาด และ false confession การสารภาพเท็จ ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุก ในต่างประเทศพบเคสเหล่านี้หลังจากพิสูจน์ด้วย DNA แล้วได้พบว่าการให้ปากคำของพยานและผู้ต้องสงสัยนั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนก็ตั้งใจโกหก เพราะมี hidden agenda แต่บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่มีความจำที่ผิดพลาด และมีบุคลิกที่คล้อยตามสิ่งชี้แนะในบริบทแวดล้อมได้โดยง่าย
สำหรับการนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ก็อย่างเช่นการเสพข่าว เราจะสามารถติดตามข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ พิจารณาได้ว่าข่าวไหนน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
อ.ปิยกฤตา
ที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีเปิดรายวิชาจิตวิทยากับกระบวนการยุติธรรม สำหรับคนที่จะทำงานในกระบวนการยุติธรรม การมีองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน เพราะอาชญากรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน คือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จิตวิทยาสามารถเข้ามาช่วยได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตอนเกิดอาชญากรรมจนถึงการขึ้นศาล การพิจารณาคดี การตัดสินโทษ และการบังคับคดี โดยจิตวิทยาจะเข้ามาช่วยปิดจุด Human error ที่มนุษย์นั้นสามารถมีได้ตลอดเวลา
ตัวอย่างการใช้จิตวิทยาในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตั้งแต่ยังจับคนร้ายไม่ได้ ก็จะมีการทำ criminal profiling ที่ดูความสอดคล้องของพฤติกรรมเพื่อวิเคราะห์หาตัวคนร้าย และเมื่อได้ตัวผู้ต้องสงสัยและพยาน การสอบปากคำก็สามารถนำจิตวิทยาเข้ามาช่วยได้ในการดูว่าความทรงจำของผู้ให้ปากคำที่อาจจะมีข้อผิดพลาดหรือยังไม่สมบูรณ์นั้น จิตวิทยาจะช่วยเติมให้มันละเอียดขึ้นหรือแม่นยำขึ้นได้อย่างไร หรือตอนชี้ตัวผู้ต้องสงสัย ศาสตร์จิตวิทยารู้ว่าความจำของมนุษย์นั้นจดจำเป็นภาพรวมมากกว่าที่รายละเอียด ดังนั้นควรให้ดูในองค์รวมก่อนไปดูรายละเอียดที่ตาหรือจมูก
ดังนั้นการมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยา นอกจากช่วยในการทำงานของผู้เกี่ยวข้องแล้ว กับคนทั่วไปยังช่วยให้เรามีวิจารณญาณในการเสพข่าว และการวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวอาชญากรรมมากขึ้นด้วย
กระแสสังคมที่ช่วยกันตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ในคดี มีอิทธิพลต่อกระบวนการสอบสวนเพียงใด
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
การจับพิรุธของสื่อสังคมก็อาจมีส่วนช่วยพนักงานสอบสวนในแง่ของการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานหรือกวาดข้อคิดข้อสงสัยต่าง ๆ เข้ามาเพื่อหาข้อพิสูจน์หาความจริงให้มากที่สุด ไม่ให้ตกหล่นประเด็นใดไป นอกเหนือจากที่ใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งการสอบสวนของเจ้าหน้าที่เขาก็มีเทคนิคของเขาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน โรงเรียนนายร้อยเขามีวิชาชื่อว่า จิตวิทยาตำรวจ ที่สอนให้พนักงานสอบสวนนำหลักการต่าง ๆ มาใช้ประกอบในการสอบปากคำ มันก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือมีหลักการความรู้ กระบวนการ และเจ้าหน้าที่เขาก็มีประสบการณ์ของเขาที่อาจจะเป็นเรื่องจิตวิทยาในชีวิตประจำวันมาประยุกต์ร่วมด้วย
ส่วนในแง่การทำสำนวนคดี กระแสสังคมไม่ได้กระทบมากนัก เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ ทั้งพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม หรือพยานในที่เกิดเหตุ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกกลั่นกรองโดยอัยการอีกชั้นหนึ่ง และพิสูจน์ในศาล ดังนั้นกระแสสังคมก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากนักเพราะจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานเป็นหลัก
ประเด็นของสังคมน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า ประชาชนจึงมีการพยายามจับข้อพิรุธต่าง ๆ ดังนั้นนอกเหนือจากการที่ตำรวจทำตามหลักวิชาการที่เรียนมา ทำงานไปตามข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม และนำข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากนั้นก็เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในวงการตำรวจเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความชื่อมั่นในการเก็บพยานหลักฐาน แต่ถามว่ากระแสสังคมเหล่านี้มีผลต่อคดีมากหรือไม่ คิดว่ามีผลในการทำงานแค่ระดับหนึ่ง เพราะข้อมูลหลักฐานที่จะนำไปพิสูจน์ก็จะต้องอิงจากหลักการที่มีอยู่ในกระบวนยุติธรรม
การวิเคราะห์บุคลิกภาพของอาชญากรมีส่วนในการพิจารณาคดีเพียงใด
อ.อภิชญา
ในการพิจารณาคดีอาชญากรรมจะให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรมทางนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า ส่วนเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับบุคลิกภาพก็มีการให้ความสนใจ แต่ยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก
ในต่างประเทศ เช่นในประเทศอังกฤษ มีการวิเคราะห์บุคลิกภาพและสืบประวัติของคนเวลาให้ปากคำ ว่าพยานหลักฐานที่มาจากพยานหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีคนนี้มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยานั้นยังไม่ได้นับเป็นหลักฐานสำคัญเท่ากับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ให้ทางศาลไว้พิจารณา
จิตวิทยาการโกหก จับพิรุธ มีจริงหรือไม่
อ.ปิยกฤตา
ทางจิตวิทยาก็มีความพยายามอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนเราเวลาที่เราโกหก ถ้าเราโกหกจะมีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง
จิตวิทยามีกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการโกหกอยู่ 3 แนวทาง คือ
- Emotional approach เสนอว่า คนโกหกจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น อันเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกผิด รู้สึกกลัว รู้สึกตื่นเต้น
- Cognitive approach เสนอว่า คนโกหกจะใช้ทรัพยากรทางสมองมาก เนื่องจากการโกหกเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ทำให้การตอบสนองทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวโดยรวมจะช้าลง พูดช้าลง หรือมีจังหวะหยุดพูดค่อนข้างบ่อย
- Attempted-control approach เสนอว่า คนโกหกมักพยายามควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งการควบคุมนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนเราฝึกฝนอยู่ทุกวัน ดังนั้นยิ่งพยายามควบคุมยิ่งทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
จะเห็นว่าแต่ละแนวคิดให้ข้อเสนอแนะที่ขัดแย้งกันในบางจุด เช่น แนวคิดแรกบอกว่าคนโกหกจะตื่นเต้น ทำให้ขยับร่างกายมากขึ้น ดูยุกยิก ขณะที่แนวคิดที่สามกลับบอกว่าคนโกหกจะทำให้คนมีท่าทีแข็ง ๆ คอยยั้งตัวเอง หรือการที่แนวคิดที่สองเสนอว่าคนโกหกจะพูดช้าลงและตะกุกตะกักเพราะต้องคิดมากขึ้น แต่ก็มีงานวิจัยหลายงานพบว่าคนโกหกจะพูดเร็ว พูดรัวจนแทบไม่มีจังหวะหยุดเลย ต่อมางานวิจัยที่รวบรวมสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ข้อสรุปว่าคนโกหกจะพูดเร็วหรือช้า รัวหรือตะกุกตะกัก ขึ้นอยู่กับประเภทของการโกหก เช่น หากเป็นการโกหกด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ ไม่ใช่แค่ปกปิดหรือไม่พูด การโกหกลักษณะนี้จะทำได้ยากกว่า ทำให้คนโกหกพูดตะกุกตะกัก เพราะคิดไปพูดไป แต่ถ้าเป็นการโกหกที่แค่ปกปิดความจริงหรือพูดไม่หมด คนโกหกจะพูดเร็ว เพราะเรื่องราวจะมีอยู่ในความคิดแล้ว
ส่วนเรื่องภาษากาย ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่พอจะได้ผลวิจัยที่สอดคล้องกันว่าคนโกหกจะมีการเคลื่อนไหวมือ แขน เท้า ที่ช้าลง และมีการใช้เสียงสูงกว่าปกติ ส่วนการหลบตา การมองไปทางอื่น การยิ้ม ยังไม่ใช่ภาษากายที่จะระบุได้ถึงการโกหก รวมถึงที่คนเชื่อกันว่า คนโกหกจะมองบนซ้ายนั้น งานวิจัยปัจจุบันก็ยังไม่สนับสนุนไปในทางเดียวกัน
ดังนั้นการที่จะระบุว่าคนโกหกมีภาษากายหรือมีการใช้คำพูดเช่นไร ยังไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถสรุปตายตัวได้
เครื่องจับเท็จใช้ได้จริงหรือไม่
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
เครื่องจับเท็จยังมีประเด็นในแง่กฎหมาย คือยังไม่ได้เป็นสภาพบังคับ แม้ตำรวจจะใช้เครื่องจับเท็จในการสอบสวน แต่ในกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ยอมรับ ศาลยังไม่ได้ยอมรับ เป็นได้เพียงข้อมูลประกอบ ถ้ามี
ส่วนในแง่จิตวิทยา เครื่องจับเท็จยังมีข้อผิดพลาดในระดับหนึ่ง เช่น การดื่มเบียร์เพียง 1 กระป๋อง ก็สามารถทำให้เข็มไหวได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ หรือความอ่อนไหวของผู้ถูกซักถาม ที่จะทำให้เกิดผลลวง หรือในทางตรงกันข้าม หากมีการฝึกฝนและเข้าใจการทำงานของเครื่องมือ เช่นคนที่ทำงานด้านข่าวกรอง ก็สามารถโกหกได้เป็นตุเป็นตะโดยที่เครื่องไม่สามารถจับได้
ด้วยเหตุนี้หากผู้ถูกสอบสวนยินยอมเข้าเครื่องจับเท็จ ข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นเพียงพยานประกอบในการรับฟังเท่านั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้ในการตัดสินคดีได้แบบข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์
ทำไมจึงมีคนรับสารภาพเท็จ
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
ก่อนการให้ปากคำในศาลก็มีการให้สาบานตน ถึงขนาดมีการพูดกันว่าการพิจารณาคดีในศาล ชนะหรือแพ้ขึ้นอยู่กับว่าใครโกหกเก่งกว่ากัน คนไปสาบานตัวก็มีทั้งคนที่กลัวและไม่กลัว ยืนขาไขว้กันหรืออะไรต่าง ๆ ผู้พิพากษาบางคนก็เชิญพระพุทธรูปมาตั้งในศาลเลย ต้องยอมรับว่าบ้านเราบางครั้งมันมีการเสี้ยมพยาน คือก่อนที่จะขึ้นให้ปากคำ บางครั้งเองทนายก็เอาพยานมาแล้วคุยว่าถ้าเขาถามแบบนี้ต้องตอบแบบนี้นะ เคยมีถึงขนาดกลับคำให้การในศาลเลย เพราะฉะนั้นการให้การเท็จหรือไม่เท็จในแง่หนึ่งก็มาจากการเตรียมกัน
และมีกรณีไม่น้อยที่ทนายความบอกลูกความให้รับสารภาพ เนื่องจากมีเรื่องของบัญชีอัตราโทษ ภาษาบ้านเราเรียกว่า “ยี่ต๊อก” บางครั้งทนายความเองก็ไปเดาเอาว่าถึงลูกความไม่ผิดแต่ถ้ารับสารภาพ ศาลก็จะตัดสินด้วยการรอลงอาญาหรือได้รับการลดโทษ ดังนั้นทนายจึงให้คำแนะนำแก่ลูกความว่า ต่อให้ไม่ผิดก็ให้สารภาพ ดีกว่าสู้คดีแล้วแพ้
อีกประเภทหนึ่งคือ ฝั่งจำเลยไม่มีข้อพิสูจน์ที่จะหักล้างได้ ไม่มีความสามารถในการเอาพยานหลักฐานอย่างอื่นมาโตแย้งได้ เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร คนที่ไม่มีหนทางในการสู้คดีบางคนจึงมองว่าการสารภาพเป็นทางออกของตน เพราะอย่างน้อยศาลก็จะลดโทษและตนก็จะติดคุกไม่กี่ปีเป็นต้น
การรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้ทำผิดก็มีเยอะเหมือนกัน
อ.อภิชญา
การสารภาพเท็จมีหลายแบบ มีเคสหนึ่งในต่างประเทศที่สารภาพเท็จโดยการที่เจ้าตัวเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุจริง ๆ เนื่องจากขณะเกิดเหตุผู้ต้องสงสัยได้กินยากล่อมประสาทเข้าไป ทำให้ตกอยู่ในภาวะมึนงง และเมื่อนำตัวมาไต่สวน การไต่สวนเป็นระบบปิด คือไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก ไม่มีทนาย ด้วยสภาวะแวดล้อมและวิธีการซักถามบางอย่าง ทำให้ผู้ถูกไต่สวนเกิดความจำผิดพลาดและเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุ เรียกว่า Internalize false confession
ในประเทศไทย ก็มีคดีล่วงละเมินทางเพศคดีหนึ่งที่ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ แต่เมื่อตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าไม่ใช่คนร้าย ส่วนที่รับสารภาพไปนั้นเพราะขณะถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่โน้มน้าวให้รับสารภาพ เพราะอย่างไรก็ไม่มีทางสู้พยานหลักฐานได้ ไม่มีทางหนีพ้น และผู้ต้องสงสัยก็เชื่อตามนั้น
กรณีที่สารภาพเท็จโดยคล้อยตามว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดนั้นมีจริง แต่มีไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสารภาพเท็จโดยรู้ตัว เนื่องจากอยากให้ตนหลุดพ้น เหนื่อยจากการสอบสวน จึงตัดสินใจรับสารภาพเพราะคิดว่าติดคุกไม่นาน นอกจากนี้ก็มีคนที่รับผลประโยชน์จากการสารภาพ หรือต้องการช่วยเหลือคนอื่นจึงรับผิดแทน
มีปัจจัยอื่นหรือแรงจูงใจอะไรที่ทำให้คนรับสารภาพเท็จ
อ.ปิยกฤตา
ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหา การรับสารภาพเท็จนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่ว่าจะในกรณีที่คล้อยตามและเชื่อจริง ๆ ว่าตัวเองกระทำ หรือบางคนเต็มใจรับสารภาพเท็จเพื่อรับผิดแทนลูกแทนคนในครอบครัว หรือบางคนมีภาวะทางจิต หรือเป็น psychopath ต้องการให้ตนได้รับความสนใจ จึงรับสารภาพเท็จเพื่อให้ตัวเองตกอยู่ใน spotlight
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับสารภาพผิดในสิ่งที่ตนไม่ได้กระทำอันเนื่องจากสถานการณ์พาไป กรณีเช่นนี้คือสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งมาจากกระบวนการสอบสวน กล่าวคือ กระบวนการสอบสวนได้กระตุ้นให้ผู้ต้องสงสัยเกิดความรู้สึกเครียด กดดัน เหนื่อยล้า แล้วจึงรับสารภาพเพื่อที่จะหนีจากสภาวะที่กำลังเผชิญ อาจเพราะบางคนยังเป็นเด็กอยู่ หรือมีประสบการณ์ชีวิตน้อย แม้แต่การอดนอน หรือมีบางคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีทักษะการคิดที่ไม่มากพอ หากเขาโดนชี้นำ โดนชักชวน โดนกดดันมาก ๆ ก็อาจทำให้เขารับสารภาพผิดได้โดยที่เขาก็ไม่ได้ทำด้วยซ้ำ ดังนั้นกระบวนการสอบปากคำหากไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการสารภาพเท็จหรือการจับแพะได้
ส่วนเรื่องพยาน ก็มีเช่นกันที่เขาเกิดคิดว่ามีความทรงจำนี้ทั้งที่ไม่มีจริง แบบที่เรียกว่า reconstructive memory เพราะมนุษย์เราชอบมีสคริปต์อยู่ในหัว ความจำของเราไม่ไช่การอัดวิดีโอ ฉายภาพซ้ำได้เป๊ะ ๆ มันมีความไม่สมบูรณ์แบบของมัน เมื่อมันไม่สมบูรณ์แบบ เราก็อาจเอาเรื่องอื่น ๆ มาปะต่อ ๆ กันให้มันกลายเป็นความจำที่สมบูรณ์ แล้วเราก็เชื่อว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบนั้น
จะเห็นว่า human error ของเรามันส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมในหลายกระบวนการมาก ๆ
สิ่งแวดล้อมที่ควรให้เป็นไปในการสอบสวนเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดคืออะไร
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
ปัจจุบันโลกเปิดกว้างมากขึ้น การสอบสวนในรูปแบบที่สร้างความกดดันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีโอกาสพนักงานสอบสวนจะถูกร้องเรียน อย่างที่ทราบกันเรื่องหลัก Miranda warning คือเมื่อถูกจับคุณมีสิทธิที่จะไม่พูด ตำรวจของไทยก็ต้องแจ้งสิทธิแบบนั้นแก่ผู้ถูกจับกุมเช่นกัน
ในการสอบปากคำ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ก็ต้องกระทำแบบโปร่งใส การสอบปากคำติดต่อกัน 4-5 ชม. อาจจะทำได้กับคนที่ไม่รู้เงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิตนเอง แต่กับคนที่เขารู้ในสิทธิของเขา การสอบโดยไม่พักเลย สอบโดยไม่มีทนาย หรือมีการใช้กำลังข่มขู่ ก็ถูกนำมาใช้อ้างในชั้นศาลได้ว่าเขาถูกสอบติดต่อกัน 5 ชม. ดังนั้นคำให้การของเขาในชั้นพนักงานสอบสวนนั้นเชื่อถือไม่ได้ ศาลก็ให้สอบสวนใหม่ในชั้นศาลเลยก็มี
ดังนั้นพวกการสอบในห้องมืด สอบแบบไม่มีใครอยู่เลย หรือมีแนวโน้มการใช้กำลังทำร้าย ถ้าเป็นต่างจังหวัดไกล ๆ ก็อาจมีเจอได้ แต่ในพื้นที่ที่มีความเจริญขึ้นมา พนักงานสอบสวนเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะการคุ้มครองสิทธิในปัจจุบันมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก เช่น มีการสอบปากคำโดยการบันทึกเทป เด็กไม่ต้องขึ้นให้การ การมีสหวิชาชีพหรือนักจิตวิทยาคอยดูแล พนักงานสอบสวนไม่สามารถสอบถามเด็กได้โดยตรง ต้องถามผ่านนักจิตวิทยา กระบวนการตรงนี้มันถูกกำหนดโดยกฎหมายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นวิธีการสอบสวนแบบดั้งเดิม ที่กดดันให้เกิดความหวาดกลัวความเครียดสูงเกินเหตุนั้นทำได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน มันไม่ค่อยได้ผลในปัจจุบัน เขาก็จะไปใช้เทคนิคจิตวิทยาอย่างอื่น พนักงานสอบสวนที่มีประสบการณ์สูงเมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานใดน่าจะมีน้ำหนักที่รับฟังได้ในคดี ก็จะมุ่งเป้าไปทางนั้นมากกว่าที่จะใช้การกดดัน
เทคนิคการสอบสวนแบบ Good cop-Bad cop มีจริงหรือไม่
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
มีครับ ถุงดำ แต่ก่อนภาษาตำรวจเขาเรียกว่าพาไปเที่ยว Big-C เป็นคำศัพท์เฉพาะ ปกติแล้วถ้าไปใช้กำลังเตะ ถีบ แบบ bad cop เต็มที่ มันจะเจอร่องรอย ความเสี่ยงของพนักงานสอบสวยมันมีเยอะ และอย่างยิ่งในปัจจุบันมันมีกล้องวงจรปิดทั้งในโรงพักและรอบ ๆ วิธีอื่น ๆ ที่เขาใช้ก็จะมีน้ำแข็ง คือใส่กุญแจมือแล้วเอาน้ำแข็งเป็นก้อน ๆ วางทับอวัยวะ แต่ก่อนมี เดี๋ยวนี้บางแห่งก็มี มันจะไม่ทิ้งร่องรอยบอบช้ำไว้บนร่างกาย ที่ใช้ถุงรัดแล้วคลายก็มี แต่ในปัจจุบันตำรวจเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เกิดไปทำแล้วมีคนวางยาก็แย่
ส่วนใหญ่เขาก็จะใช้ประสบการณ์ ว่าสำนวนคดีนี้ศาลรับฟังตรงนี้เป็นหลัก เอาพยานหลักฐานตรงนี้เป็นหลัก เขาก็จะมุ่งเป้าไปให้น้ำหนักตรงนั้นมากที่สุด ให้หลักฐานตรงนั้นไปปรากฏมากที่สุด มากกว่า
การวางตัวที่เหมาะสมในกระบวนการสอบสวนเป็นอย่างไร เช่นที่เคยได้ยินว่าให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอนด์ได้เคยพูดไว้ว่า Paradigm ในกระบวนการยุติธรรมมี 2 รูปแบบ แบบแรก Crime control คือให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก อย่างในอเมริกา อีกแบบคือ Due process คือให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหา ของประเทศไทยเรากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูฐว่ากรอบที่เราใช้เป็นแบบ Due process คือหลักที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาคือผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ และในกฎหมายของเราก็ใช้หลักการกล่าวหา คือผู้ที่กล่าวอ้างต้องเป็นผู้พิสูจน์ และถ้าพิสูจน์ไม่สมต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ต้องปล่อยตัวไป ใบกระบวนการเหล่านี้จะเห็นว่ามีการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหาค่อนข้างเยอะ
ทีนี้ปัญหาของรูปแบบนี้คือ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนที่มีเงินมาก ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะจ้างทนายความหรือใคร ๆ เป็นที่ปรึกษาหรือออกหน้าให้ ดังนั้นในรูปแบบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหามากเช่นนี้ ก็จะเป็นจุดอ่อนให้รัฐใช้อำนาจในการพิสูจน์และเอาผิดได้น้อยกว่า
คำแนะนำถึงคนทั่วไปในการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างละอคติ ไม่ไปตัดสินและชี้นำสังคม
อ.อภิชญา
มีตำรวจท่านหนึ่งเคยออกมาพูดว่า โซเชียลมีเดียก็กดดันตำรวจเหมือนกัน ตำรวจยังไม่กล้าปิดคดีบางคดีเลย แสดงว่าอิทธิพลทางสังคมมันมีจริง ถึงแม้ว่าตำรวจจะทำหน้าที่ไปตามพยานหลักฐานก็ตาม
ข้อดีมันก็มี คือตำรวจเขาก็ได้เก็บประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมตั้งข้อสงสัยให้ทำคดีอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่บางครั้งก็เป็นการปะติดปะต่อจนกลายเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นเอง (confabulation) ดังนั้นเราควรต้องหาสมดุลให้ดีระหว่างที่จะช่วยตำรวจสืบสวนกับการให้ความยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้อง หากเราไปกล่าวหาใครมาก ๆ และสุดท้ายแล้วเขาได้รับการตัดสินว่าไม่ผิด ก็เหมือนกับเป็นการไปทำร้ายเขา เป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจ (trauma) คนบางคนที่ถูกตราหน้า (label) และได้รับอิทธิพลทางสังคมมาก ๆ ถึงขนาดไม่อยากมีชีวิตอยู่เลยก็มี
อ.ปิยกฤตา
เวลาเราเสพข่าวคดีต่าง ๆ เราอาจจะชอบจับผิดว่าคนนั้นคนนี้โกหก แต่ทั้งนี้การโกหกหรือการมีพิรุธ ปฏิกิริยาที่มันออกมาจากร่างกายของคน หลาย ๆ ครั้งมันไม่ใช่ universal sign ไม่ใช่ universal expression ที่จะบอกว่าทุกคนที่โกหกจะต้องมีลักษณะแบบนี้ 1-2-3-4 มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจจะทำให้การแสดงออก คำพูด ท่าทางของเขา อาจจะดูเหมือนคนโกหก ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนทำ เช่นคนบางคนเป็นคนตื่นเต้นง่ายแม้จะกำลังพูดความจริงอยู่ อีกข้อหนึ่งคือเรามักจะคิดว่า มีแค่คนที่ทำผิดเท่านั้นที่จะดูกลัว ดูประหม่า เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องปิดบัง ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้น ความตื่นเต้นมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน นึกถึงตัวเราถ้าอยู่วันหนึ่งเราต้องไปนั่งคุยกับผู้บังคับใช้กฎหมายที่เราอาจจะถูกปลูกฝังมาว่าเขาอาจจะทำอะไรก็ได้ เราก็อาจจะรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน
ดังนั้นความเชื่อของเราว่าคนนั้นคนนี้มีพิรุธ คำพูดของเราอาจไปกระทบกับเขา หรือไปกระทบกับคนทำคดี แล้วส่งผลชี้นำอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งหากเป็นคนที่กระทำความผิดจริง ๆ การบอกว่าคนโกหกจะมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ เขาก็อาจจะไปฝึกและเลี่ยงไม่ทำทุกอย่างที่ชี้กันมา
อยากให้ทำความเข้าใจในมนุษย์ว่าทุกอย่างไม่มีอะไร 100% ไม่มีอะไรเป็นแพทเทิร์น และมีช่องว่างมากมายให้เกิดความผิดพลาดในสิ่งต่าง ๆ ที่เราเชื่อกันมา เพราะฉะนั้นให้เราฟังไว้ ดูไว้ พอเป็นแนวทาง แต่อย่าไปฟันธงและแสดงความคิดตัดสินอะไรแบบมั่นใจเกินไป
ฝากถึงคนที่สนใจในเรื่องอาชญวิทยา หรือจิตวิทยาอาชญากรรม
อ.ฐนันดร์ศักดิ์
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้สร้างอิทธิพลในแง่ mass social psychology ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราน่าจะวางแผนหรือออกแบบให้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกล่อมเกลา สร้างประโยชน์ นำเอาความรู้ทั้งทางจิตวิทยาสังคมมาสร้างสรรค์สังคม อีกอันหนึ่งที่มีผลมาก ๆ คือจิตวิทยาพัฒนาการ ที่สามารถส่งผลกับเราตั้งแต่ในวัยเด็ก การปรับตัว การสร้างบุคลิกภาพ อะไรต่าง ๆ ที่จะหล่อหลอมคนว่าจะเติบโตไปเป็นคนปกติในสังคมหรือเดินเข้า juvie (สถานพินิจ) นอกจากนี้ข้อมูลที่ FBI ประมวลไว้ในแง่อาชญากรรม สามารถนำมาตกผลึกทางความคิด และนำมาเป็นองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาวางแผนอะไรต่าง ๆ ได้ ทั้งสามด้านสามารถนำมาร่วมกันเพื่อใช้สร้างคนหรือปรับพฤติกรรมของ next generation ได้
อ.อภิชญา
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราจะต้องดูแลคือคนที่อยู่ในคุก ถ้าเรามีความเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ จะทำอย่างไรให้คนที่เข้าไปอยู่ในคุกได้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ดังที่ เนลสัน แมนเดอลา ได้กล่าวไว้ว่า “จะดูว่าชาติไหนเป็นอย่างไร ให้ดูว่าเราปฏิบัติต่อคนที่เล็กน้อยที่สุดในสังคมอย่างไร”
อ.ปิยกฤตา
การมีความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจในพฤติกรรม เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะใช้ในกระบวนการยุติธรรม ใช้ในการฟื้นฟูคนที่กระทำความผิด หรือใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดก็ดี จิตวิทยามั่นไปได้หลายทาง อีกประการคือการวิจัยเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้แพร่หลายมาก ใครที่สนใจเรียนทางนี้ ผลิตงานวิจัยทางนี้ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่กระบวนการยุติธรรมไทยได้