ถอดความ PSY Talk เรื่อง ไขรหัสกลโกง : เมื่อการโกงออนไลน์แพร่หลายเหมือนโรคระบาด

27 Jan 2023

บริการวิชาการ

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

ไขรหัสกลโกง : เมื่อการโกงออนไลน์แพร่หลายเหมือนโรคระบาด

 

โดยวิทยากร
  • รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม
  • อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาปริชาน

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • อ. ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ ผู้ช่วยคณบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา

 

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.00-11.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่

https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1191956768366252/

 

 

 

 

นิยามการโกง


 

อ.สมโภชน์ :

การโกงคือการพยายามใช้กลวิธีหรือ strategy ต่าง ๆ ใช้เล่ห์เพทุบายทั้งหลาย เพื่อล่อลวงเพื่อชักจูงให้คนทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของตัวผู้กระทำ โดยเจตนา

 

อ.กฤษณ์ :

จุดสำคัญของการโกงคือเจตนา และอีกส่วนหนึ่งคือการลวง (deception) คือการทำให้ผู้ถูกหลอกลวงเข้าใจผิดในบางสิ่งบางอย่างว่าสิ่งนี้คือความจริง หรือเป็นสิ่งทีเกิดขึ้น เช่น การโกงการสอบ ก็มีเจตนาให้เข้าใจผิดว่าเราเป็นผู้มีความสามารถในการทำข้อสอบสูง

 

 

การโกงออนไลน์มีลักษณะอย่างไรบ้าง


 

อ.สมโภชน์ :

ตำรวจเขาได้แบ่งการโกงออนไลน์ออกเป็น 18 ประเภท เช่น การหลอกให้รัก การโกงให้ไปลงทุน แชร์ลูกโซ่ การถ่ายภาพเว็บโป๊ เป็นต้น แต่ถ้ามองในทางจิตวิทยา กลโกงทั้งหลายอยู่บนพื้นฐานของ 2 มิติเท่านั้น เป็นมิติทางจิตวิทยาโดยตรง คือเรื่องแรงจูงใจ (motivation) ที่ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วก็สามารถสร้างกลโกงได้อีกหลายร้อยวิธี คือหนึ่งมนุษย์เรามีตัณหา ความโลภ ความอยาก เรื่องที่สองคือความกลัว มนุษย์มี 2 มิตินี้ เช่นเดียวกับในทางพุทธที่กล่าวว่า เรามีสิ่งที่อยากได้ และหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่อยากได้

  • เรื่องตัณหา เช่น การหลอกเรื่องชู้สาว การหลอกให้ลงทุน
  • เรื่องความกลัว เช่น การหลอกเรื่องภาษี การหลอกว่าเราไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมาย คือหลอกให้เรารู้สึกกลัว เมื่อกลัวก็ทำตาม

 

อ.กฤษณ์ :

จากฐานสองตัวนี้ บวกกับเทคโนโลยี และบวกกับปัจจัยอื่น ๆ ของแต่ละบริบทสังคม ทำให้เกิดเป็นรูปแบบการโกงที่หลากหลาย การโกงบางอย่างใช้ได้ในสังคมไทย แต่อาจใช้ไม่ได้ในประเทศอื่น เพราะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ประเทศไทยมีบริบทของการเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีคนที่ต้องการจะไต่ขึ้นในทางเศรษฐานะ การชักจูงในเรื่องของรางวัล โอกาสในทางธุรกิจ ก็ดึงดูดได้ง่าย

 

หรือเราอยู่ในประเทศที่มีระยะห่างของอำนาจสูง (power distance) เวลามีคนที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่ คนก็จะรู้สึกว่าต้องให้ความเคารพเชื่อถือ ทำให้คนที่แฝงตัวมาในคราบนี้สามารถกระทำการได้ง่ายขึ้น เทียบกับประเทศที่มีกฎหมายที่ปกป้องสิทธิ์ของประชาชนมาก ประชาชนอาจรู้สึกว่าฉันไม่ต้องทำ มีปัญหาก็ไปเจอกันในศาล ขณะที่ถ้าเป็นเราอาจจะกังวลว่าจะถูกข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานฯ ก็จะคล้อยตามได้

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องบริบททางการทำธุรกรรมด้วย ในบางประเทศการโอนเงินจากคนต่อคนเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยทำกันในเชิงธุรกิจ เขาจะให้ตัดบัตรเครดิต หรือผ่านระบบ payment ที่มีธนาคารหรือองค์กรเป็นตัวกลางรองรับ ไม่ใช่โอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง ดังนั้นเทคนิคที่หลอกว่ามีองค์กรของรัฐมาบอกให้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคล เพราะเป็นคนที่ดูแลด้านนี้อยู่ จึงเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล ขณะที่ของเราอาจจะมองว่าปกติ คุ้นชิน และไม่ฉุกใจ

 

 

อะไรที่กระตุ้นความอยากและความกลัวได้ผล


 

อ.สมโภชน์ :

เวลาเขาสุ่มคนเป็นร้อยเป็นพัน ใครที่อยู่ในภาวะจิตตก หรืออยู่ในจังหวะชีวิตที่กำลังดาวน์ กำลังเซหรือสูญเสียบางอย่าง สิ่งที่เข้ามาเสนอก็จะเข้ามาประจวบเหมาะพอดี การชักจูงคนแบบนี้มันไม่ได้ง่าย ถ้าจังหวะสถานการณ์ไม่ได้เอื้อ คือคนที่ทำการโกงเขาก็มีความสามารถ แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถชักจูงได้ทุกคน เขาสุ่มสักพันคน โอกาสที่จะได้สักคนก็ไม่แปลก และมันก็คุ้มสำหรับเขาแล้ว

 

อ.กฤษณ์ :

ถ้ามองอัตราความสำเร็จในการโกงมันคงไม่ได้สูง พอมีเคสอะไรเกิดขึ้นมา ก็มีการทำข่าว ตีข่าว ว่ามีผู้เสียหาย ในมุมมองของคนที่รับรู้ก็จะเห็นภาพว่ามีเคสแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย แต่ถ้ามองในมุมของผู้กระทำ จำนวนครั้งที่ต้องโทรมันมาก มีคนที่วางสายใส่ มีคนที่ไม่เชื่อ เขาก็ต้องพัฒนาเทคนิคให้มีโอกาสเจอกับบางคนที่อยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมจะระวังตัวเต็มที่แล้วทำให้เกิดเหตุตรงนี้ได้ ซึ่งเขาก็พยายามที่จะสร้างสถานการณ์ให้น่าเชื่อถือ เช่น เปิดด้วยเทปเสียงว่าหน่วยงานนี้กำลังติดต่อท่านและกำลังจะโอนสายให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งมันก็ดูคล้าย ๆ กับประสบการณ์ที่บางคนเคยมี ส่วนนี้ก็จะเป็นขั้นตอนการสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นเมื่อมาคุยสาย ก็จะโน้มน้าวด้วยการกระตุ้นให้เกิดความอยากหรือความกลัว เช่น คุณติดหนี้บัตรเครดิตอยู่นะ คุณมีพัสดุค้างอยู่ถ้าไม่จ่ายก็จะมีผลที่ตามมา ไม่ว่าจะถูกปรับ หรือถูกหมายศาลเรียก เมื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแล้ว ถ้าเขาปล่อยให้มีเวลาให้คนได้คิดทบทวน คนก็จะตกหลุมพรางน้อยกว่า ดังนั้นเขาก็จะต่อเนื่องด้วยความเร่งด่วนว่าจะต้องจัดการให้เสร็จภายในการคุยสายนี้ ถ้าปล่อยไว้ไม่แก้ปัญหานี้ค่าปรับจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือเมื่อกระตุ้นให้เกิดความกลัว เขาก็จะต่อด้วยการเผยทางรอดให้เรา เช่น คุณจะต้องโอนเงินมาที่นี่ หรือคุณต้องส่งข้อมูลบัญชีให้เขาตรวจสอบ โดยตลอดกระบวนการนี้ต้องมีการขัดขวางให้คนไม่อยู่ในภาวะที่จะตั้งสติคิดทบทวนอย่างมีเหตุผลได้ โดยการหว่านล้อมต่าง ๆ นานา ใช้ความกลัวใช้ความเร่งด่วนมากดดัน

 

เมื่อกระบวนการทางความคิดของเราไม่สามารถทำได้เต็มที่ ก็มีแนวโน้มที่เราจะตัดสินใจอะไรลงไปตามที่เขาชักจูงได้ และยิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับคนที่อยู่ในภาวะจิตตก มีปัญหาทางอารมณ์ หรือมี cognitive capacity ไม่เต็มที่ เช่นในเด็ก หรือผู้สูงวัยมาก ๆ หรือแม้แต่คนทำงานทั่วไปที่ทุกวันนี้ก็เหนื่อยอยู่แล้วกับการหาเช้ากินค่ำ แล้วพอได้ยินว่าจะต้องไปศาลหรือไปไหนที่ทำให้ยุ่งยาก พอเขาเสนอทางรอดอะไรมาจึงคล้อยตามและตกหลุมพรางโดยไม่รู้ตัวได้

 

อ.สมโภชน์ :

ถ้าปล่อยให้คิดคนก็จะถอยได้ แต่เขาจะใช้วิธีรุกตลอดเวลา กระตุ้นเร้าตลอดเวลาให้เราทำอะไร

 

อ.กฤษณ์ :

คนที่โดนหลอกแล้วไปเล่าให้คนอื่นฟัง ทุกคนก็จะพูดว่า ไปโดนหลอกได้อย่างไร แต่นั่นเพราะว่าคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่ได้อยู่ใต้สภาวะอารมณ์เดียวกัน สถานการณ์เดียวกัน พอให้มานึกย้อนหลังทุกอย่างมันจะดูชัดไปหมดว่าเป็นการหลอกลวง แต่ ณ เวลาที่เจอเราอาจจะบอกไม่ได้

 

 

เราจะสามารถป้องกันตนเองไม่ได้ให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร


 

อ.สมโภชน์ :

ยาก เพราะในสถานการณ์ที่ถูก Hi jack ความคิดไปแล้ว ก็เหมือนเราถูกดึงไปที่จุดจุดหนึ่ง คือถ้าเผื่อเราได้มีเวลาที่จะหยุดคิด แล้วไปโทรไปตรวจสอบกับคนอื่นก่อนก็จะสามารถช่วยได้ แต่ก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะทางฝ่ายผู้กระทำเขามีวิธีการกระตุ้นเร้าตลอดเวลา เขาถูกเทรนด์มาอย่างดี ว่าถ้าคนพูดมาอย่างนี้ จะไปต่ออย่างไร จนคนตกหลุมพรางจนได้

 

อ.กฤษณ์ :

เวลามีเคสเกิดขึ้นแล้วและมีการออกข่าว ก็จะมีการเตือนให้คนระวังตัว ซึ่ง warning sign พวกนี้สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คนได้เตรียมตัวก่อนที่จะเจอ มีทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เสนอว่าถ้าเราได้ซักซ้อมเหตุการณ์พวกนี้ในหัวเอาไว้ก่อน เมื่อวันหนึ่งที่เราเจอรูปแบบพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กันนี้ เราจะจับไต๋ได้ง่ายขึ้น เพราะเราเคยมีภาพในหัวแล้วว่าเขาสามารถโทรมาหาเราแบบนี้ได้นะ มีคำพูดแบบนี้ได้ เช่น พอเราได้ยินว่าโทรมาจาก…คุณมีพัสดุรออยู่… เราก็ตัดสินใจกดวางสายได้เลย ไม่ฟังเลย หรือบางคนก็คุยต่อแล้วตอบโต้กลับไป

ซึ่งการที่เราสามารถทำแบบนี้ได้เพราะมันมีข่าวออกมามาก คนก็สามารถเตรียมตัวได้ว่าถ้าเขามาแบบนี้ฉันจะตอบอย่างไร พอข้อมูลพวกนี้มันถูกวางแผนเอาไว้ เป็น if…then… ก็จะช่วยให้คนป้องกันตนเองก่อนเดินเข้าไปในหลุมได้ แต่ถ้าไม่มีการตระหนักแบบนี้มาก่อนก็จะเข้าไปได้ง่ายมาก จะสังเกตได้ว่าเขาจะมีการเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ ถ้ามุกพัสดุตกค้างไม่ได้ผลแล้ว ก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องภาษีแทน หรือค่าบัตรเครดิตแทน ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการสร้างการตระหนัก (awareness) เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าทางตำรวจหรือทางธนาคารมาช่วยในการประชาสัมพันธ์ตรงนี้มากขึ้น ก็เป็นส่วนที่จะช่วยได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารพวกนี้ก็จะยิ่งน่ากังวล ใครที่มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้โดยตรง เช่น คนที่ดูแลผู้สูงอายุในบ้านพัก ก็ควรให้มีกิจกรรมส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้ได้รู้ตัวกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันได้

 

อ.สาม :

การรู้ข้อมูลก่อนเป็นเหมือนการได้มีภูมิคุ้มกันที่จะทำให้เราได้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

 

อ.กฤษณ์ :

เมื่อเราเข้าไปอยู่ตรงนั้นแล้ว การจะบอกว่าฉันยังไม่ตัดสินใจ ฉันยังไม่ทำตามที่เขาบอก แล้วขอไปตรวจสอบก่อน ไปคิดก่อน มันฟังดูง่าย แต่ในบริบทของสังคมไทย และประสบการณ์ที่เราเคยมี เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อผู้มีอำนาจมากกว่า เรารู้สึกว่าถ้าไม่ทำจะมีผลร้ายตามมา ดังนั้นการฝึกให้คนรู้สึกว่าเขาควบคุมชะตาชีวิตของตนเองได้ เรียกว่ามี internal locus of control ก็สำคัญ เพราะมันเป็นจุดที่เราจะบอกตนเองได้ว่า เรื่องนี้ฉันไม่ผิด ฉันไม่เคยมีหนี้บัตรเครดิต ไม่เคยทำอะไร ดังนั้นฉันสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อคำพูดของใครวันนี้ ถ้าใครอยากจะมีปัญหาก็ไปเจอกันที่สำนักงาน ไปเจอกันในศาล

 

สิ่งนี้เป็นการฝึกให้ตัวบุคคลได้ควบคุมชีวิตตัวเองได้มากขึ้น ถ้าทำได้ เราก็จะกล้าปฏิเสธ กล้าที่จะบอกว่าไม่ ฉันจะจัดการเรื่องนี้ด้วยวิธีอื่น ไม่ทำตามวิธีที่ใครพูดมา จะทำด้วยวิธีที่คิดว่าถูกต้องกว่า ไม่ใช่ทางออกไว ๆ ที่ใครเสนอ ตรงนี้ต้องอาศัยการพัฒนาการบุคลิกภาพในตัวบุคคล และรวมไปถึงสภาวะแวดล้อมตลอดจนวัฒนธรรมในสังคม ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาได้รับการปกป้องสิทธิของเขาจากรัฐบาล ในฐานะพลเมืองของประเทศ มันไม่ใช่ที่อยู่ ๆ จะมีใครมาบอกว่าเรามีหนี้ แล้วเขาต้องยอมรับว่าเขามีทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ทำ เราสามารถสู้เพื่อสิทธิของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม หรือกฎหมายอะไรก็ตามที่ทำให้คนรู้สึกว่าฉันควบคุมปัจจัยในชีวิตของตนเองได้ ถ้าสร้างสิ่งนี้ได้ ก็เพิ่มโอกาสที่เราจะเดินออกจากหลุมตรงนั้นได้มากขึ้น

 

 

มีลักษณะของคนที่จะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายหรือไม่


 

อ.สมโภชน์ :

ทุกคนมีโอกาสตกหลุมพรางได้หมดไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราเก่ง หรือมั่นใจในตนเองแค่ไหน ยิ่งคิดว่าเก่งยิ่งตกหลุมพรางได้ง่าย พอเราลงไปเล่นเกม เกมมันไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด เพราะเราไม่ได้เห็นภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นปัญหานี้จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ แต่ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของแต่ละคนว่าได้ศึกษาข้อมูลมาขนาดไหน

 

ผมคิดว่าการกระตุ้นด้วยความกลัวจะใช้ได้ยากขึ้น เพราะคนเริ่มจะเข้าใจ และรับมือมันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่เขาเชื่อในอำนาจควบคุมของตนเอง รวมถึงทางฝ่ายราชการให้ข้อมูลมากขึ้น และเรื่องอำนาจนิยมถ้าลดลงไปได้ ปัญหาเรื่องความกลัวก็แก้ไม่ยาก

 

แต่ส่วนที่แก้ได้ยากคือการกระตุ้นด้วยตัณหา ความโลภ ความอยาก มันไม่มีทางที่จะหมดลงได้ มันขึ้นอยู่กับสภาพสังคม เราจะสอนให้คนไม่โลภ ไม่มีตัณหาได้อย่างไร มันอาจจะแก้ไม่ได้ เพียงแต่พอจะลดลงได้เท่านั้น

 

อ.กฤษณ์ :

ถ้าเรานึกถึงเรื่องแชร์ลูกโซ่ หรือการหลอกให้ลงทุน ปัญหานี้มีมากี่สิบปีก็ทริคเดิม ไม่ได้ซับซ้อนหรือมีการเปลี่ยนแปลงมาก แค่เปลี่ยนจากการลงเล่นแชร์ เปลี่ยนไปเป็นคริปโตหรือการลงทุนในรูปแบบอื่น แต่จะเห็นว่ามันก็ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนอย่างการมาหลอกให้กลัว การหลอกให้กลัว อย่างเมื่อก่อนที่จะปลอมตัวมาเคาะประตูบ้าน เดี๋ยวนี้มาเป็นออนไลน์ เป็นคอลเซ็นเตอร์ แล้วต้องสร้างเรื่องให้สมจริงสมจัง ในขณะที่การหลอกว่าจะมีความสัมพันธ์ด้วย แล้วขอให้โอนเงินมาหน่อย จะเห็นว่าการเล่นกับตัณหาของคนมันจะตรงไปตรงมา ชักดาบหรือชิ่งกันซึ่ง ๆ หน้าก็ทำได้

 

เปรียบเทียบกันในสองกรณีนี้ ผู้ถูกหลอกก็จะถูกสังคมมองต่างกัน เวลาเป็นเรื่องของการหลอกลวงด้วยความกลัว เราจะรู้สึกว่าเขาเป็นเหยื่อ เขาถูกกระทำ แต่พอเป็นเรื่องการหลอกให้ลงทุน จะถูกมองว่าเพราะโลภมากเองถึงได้ถูกหลอก มีการซ้ำเติม ถึงแม้ว่าทั้งสองกรณีจะเป็นการถูกโกงเหมือนกัน แต่ด้วยแรงจูงใจที่ต่างกัน มนุษย์เราก็มีแนวโน้มที่จะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีน้ำหนักไม่เท่ากัน มีที่มาไม่เท่ากัน

 

สิ่งนี้ทำให้การรับรู้สาธารณะ (public perception) รับรู้ไม่เหมือนกันว่าการโกงแบบไหนที่รุนแรง อันตราย น่ากลัวมากกว่า ซึ่งก็จะส่งผลต่อการทำงานของตำรวจที่จะเข้าไปกวาดล้าง เขาก็อาจเลือกเข้าไปจัดการการกระทำผิดบางอย่างก่อน มากกว่าการกระทำผิดบางอย่าง เช่น เขาอาจมองว่าแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์เป็นเรื่องอันตรายกว่า มีคนเฒ่าคนแก่ เด็ก ตกเป็นเหยื่อ ส่วนกรณีการหลอกให้ลงทุนในคริปโต เขาอาจจะมองว่าเพราะคุณไม่ศึกษาให้ดีก่อนลงทุน ก็ควรรับความเสี่ยงกันเอง ก็เป็นไปได้

 

 

ทำไมคนถึงกล้าโกง กล้าทำตั้งแต่ยังเด็ก


 

อ.สมโภชน์ :

เพราะมันไม่ใช่เรื่องยาก คนก็อยากหาเงินด้วยวิธีง่าย ๆ สบาย และโอกาสที่จะได้รับการลงโทษมันน้อย

 

ทางราชการเขาก็อาจจะไม่ได้จัดการอย่างจริงจัง ดังที่อ.กฤษณ์พูดตอนต้น จากการรับรู้ทางสังคมที่มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหารุนแรงหรือไม่ พอเขาคิดว่าไม่รุนแรง เขาก็จะวางเรื่องนี้ไปจัดการเรื่องที่สำคัญกว่าก่อน

 

ดังนั้นเมื่อเทียบกับโอกาสที่จะได้(รับจากการโกง) และโอกาสที่จะถูกจับมาลงโทษ มันก็เป็นธรรมดาที่จะคิดทำตามหลักความน่าจะเป็น ยิ่งคนยุคใหม่เป็นคนที่เก่งด้านเทคโนโลยี เขาฉลาดเรื่องนี้ เขามีความสามารถที่จะทำ และมีเรื่องของตัวแบบด้วย สามารถศึกษาจากอินเทอร์เน็ตได้ การมีตัวแบบก็นำพาให้คนไปสู่จุดนั้นได้ง่าย และอย่างที่บอกว่าโอกาสที่จะถูกจับมันน้อย ขณะที่โอกาสที่จะได้มันสูงกว่า มันก็น่าเสี่ยง

 

อ.กฤษณ์ :

เรื่องความเป็นไปได้ที่จะถูกจับ ถ้ามองตามทฤษฎีทางจิตวิทยาเรื่องแรงจูงใจ ว่าด้วย expectancy theory คือว่าคนเราจะทำอะไรก็ตาม เราจะคาดหวังว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย ทั้งนี้ความคาดหวังจุดสำคัญของมันไม่ใช่โอกาส (probability) ที่จะเกิดขึ้นในความเป็นจริง มันไม่ใช่ว่ามีกรณีที่ถูกจับทั้งหมดกี่กรณี แต่มันเป็นการรับรู้ของผู้กระทำ ว่าตัวเขามีโอกาสที่จะถูกจับหรือไม่ เช่น เขามองว่าเขาทำเล็ก ๆ ไม่ใช่แก๊งใหญ่ เห็นตำรวจเอาแต่ทลายแก๊งใหญ่ พวกเล็ก ๆ เขาไม่น่ามาใส่ใจหรอก เขาก็อาจเลือกที่จะทำ

 

ตัวที่ทำให้คนหลีกเลี่ยงที่จะกระทำความผิด เช่นที่พบในงานวิจัยเรื่องการโกงในชั้นเรียน การทำความผิดบนท้องถนน ก็เป็นในเรื่องของความรู้สึกว่าฉันจะถูกจับได้หรือเปล่า ถ้ารู้สึกว่าตัวเองมีโอกาสจะถูกจับได้ก็จะไม่ทำ

 

ในสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็เป็นไปได้ว่าเพราะคนไม่รู้สึกว่าฉันจะถูกจับ สาวมาไม่ถึงตัวฉันหรอก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่ามันเกิดขึ้นน้อยจริง ๆ ก็ได้ หรือมันอาจจะเกิดขึ้นแต่มันไม่มีการออกข่าวก็ได้ มันไม่มีการพูดถึง ไม่มีเคสขึ้นมาว่าเขาจับกันอุตลุดเลย คนนี้โดนโกง อีกสามวันจับได้แล้ว ถ้าคนคิดว่าสิ่งที่ฉันไปโกงออนไลน์เอาไว้ จะถูกแกะรอยได้ ตามถึงตัวได้อย่างรวดเร็ว มันก็จะทำให้คนเสี่ยงที่จะกระทำความผิดน้อยลง

 

ดังนั้นคงต้องบอกว่าทุกคนวันนี้คนไม่ได้คิดว่าคนโกงจะถูกจับได้ คนทำก็ชะล่าใจ เครื่องไม้เครื่องมือที่จะสร้างเรื่องไปหลอกก็ทำได้ง่ายขึ้น จะอัดเสียงหรือสร้างหน้าเว็บให้เหมือนของจริง เมื่อก่อนมันไม่ง่าย แต่ตอนนี้ด้วยเทคโนโลยีมันทำได้ง่ายขึ้นเยอะ เรียกว่าอุปสรรคในการกระทำผิดมันน้อย

 

 

การเตือนภัยจากภาครัฐเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพหรือไม่


 

อ.สมโภชน์ :

การเตือนก็ดีกว่าการไม่เตือน แต่อย่างที่บอกว่ามันช่วยเรื่องการหลอกให้เกิดความกลัวได้ แต่การหลอกให้เกิดตัณหาคงช่วยไม่ได้มาก ตราบใดที่คนเรายังอยากรวย ห้าสิบปีที่แล้วใช้กลยุทธ์อะไร ทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนรูปแบบ และสิ่งที่ทำให้การหลอกแบบนี้สำเร็จ คือการทำให้เห็นโมเดลของคนที่ได้ เช่น เขาทำอันนี้แล้วได้เงินเท่าไหร่ มีรถหรูขับ คือเห็นว่าเขาได้ ก็เลยเกิดให้มีแมงเม่าบินเข้ากองไฟกันตามมา และตัวแบบนั้นอาจจะไม่ใช่ของจริงก็ได้ เป็นตัวแบบที่สร้างขึ้นมา

 

ปัญหานี้จึงแก้ยาก ถ้าจะแก้คือต้องทำให้คนคิดให้ได้ว่า ทุกอย่างในชีวิตไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความพยายาม ถ้าเราปลูกฝังเด็กแบบนี้ตั้งแต่ต้น ให้การศึกษา ให้ข้อมูล ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง

และนอกเหนือจากตำรวจ ก็อาจจะต้องมีหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เป็นหน่วยไอที ที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้โดยเฉพาะ

 

อ.กฤษณ์ :

การเตือนเป็นการปรับพฤติกรรมของผู้เป็นเหยื่อให้เขาระวังตัว ซึ่งก็จะใช้ได้ผลในบางกรณีดังที่อ.สมโภชน์ได้อธิบายไป ซึ่งจุดนี้ก็ยังไม่พอ เราต้องปรับพฤติกรรมของผู้ที่ทำความผิดด้วย จะให้เหยื่อระวังตัวอย่างเดียวไม่พอ สำหรับตัวผู้กระทำ การมีข้อกฎหมาย มีบทลงโทษ ทำเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าไม่ทำให้เห็นว่ามีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ผู้กระทำผิดก็จะไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้คือความเสี่ยง ดังนั้นเราต้องทำให้เกิดความรู้สึกของการบังคับให้กฎหมายที่จริงจัง ดังที่เราทราบว่าตำรวจเขามีงานเยอะ และมีการจับเคสพวกนี้ได้เหมือนกัน แต่การนำเสนอหรือการออกข่าวที่อาจจะยังไม่ไปถึงคน อย่างออกข่าวทีวีจะถึงคนสักกี่เปอร์เซ็นต์สำหรับยุคสมัยนี้ ยิ่งถ้ามองไปยังเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์เกือบ 100% จะทำให้ข่าวพวกนี้ไปถึงการรับรู้ของเขาได้อย่างไร ว่ามีการบังคับใช้กฎหมายพวกนี้อย่างจริงจังอยู่ เรื่อง public perception ตรงนี้จึงควรต้องมีการปรับปรุงด้วย ให้คนรู้สึกว่าเกรงกลัวต่อกฎหมายมากขึ้น

 

 

ถ้ามีคนใกล้ตัวเป็นเหยื่อควรตอบสนองอย่างไร


 

อ.สมโภชน์ :

เราคงไม่ซ้ำเติมกันอยู่แล้ว ควรให้กำลังใจกัน อาจไม่ต้องพูดอะไรมาก แค่จับไหล่จับมือ มีอะไรก็คุยกัน และรับฟังเป็นสำคัญ บางครั้งการที่เราพูดอะไรออกไป เราอาจจะคิดว่าเราระวังแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังมีจิตใจเปราะบางอยู่เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ เขาจะรู้สึกอ่อนไหวกว่าปกติ ถ้าเป็นผมผมคงไม่พูดอะไรมาก แค่แสดงให้รู้ว่ายังอยู่ข้าง ๆ นะ แล้วมีอะไรก็คุยกันได้ อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ถ้าเขาอยากระบายอะไรก็ฟังเขา ไม่ต้องพูดอะไรที่เป็นการซ้ำเติม ฟังอย่างตั้งใจ สนับสนุน ให้กำลังใจว่าชีวิตต้องเดินต่อไปข้างหน้า โดยไม่ต้องคอมเมนต์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

อ.กฤษณ์

สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเตรียมตัวก่อนคือเราต้องสำรวจทัศนคติตัวเราเองด้วย ว่าเรามีอคติในใจหรือไม่ เรามองว่าเขาเป็นเหยื่อ หรือมองว่าเขาโง่เอง พลาดเอง เราต้องปรับทัศนคติของเราก่อนว่าจริง ๆ เขาก็เป็นเหยื่อเหมือนกัน ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบการหลอกลวงแบบไหน สุดท้ายเขาก็คือคนที่ถูกหลอก การที่เราเข้าหาเขาด้วยความเข้าใจว่าทุกคนผิดพลาดได้ ทุกคนตกเป็นเหยื่อได้ ตรงนี้เป็นท่าทีที่สำคัญในจุดแรก เวลาเข้าไปคุยเราจึงจะทำให้เขารู้สึกว่าเราเข้าไปรับฟังจริง ๆ ไม่ไปตัดสิน เราเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้ ถ้าเราสร้างความรู้สึกว่าเราอยู่ข้างเดียวกัน เมื่อเขาพร้อมเขาก็จะเปิดใจและเล่าสิ่งต่าง ๆ ให้ฟัง โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไร เขาก็จะค้นพบบทเรียนต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

 

 

Share this content