Psyche Poll #3 : วันหยุดสุดหรรษา

23 May 2019

บริการวิชาการ

 

วันหยุดสุดหรรษา : กิจกรรมในวันหยุด นิยามของการไปเที่ยวค้างคืน ถ้าไม่อยากถูกสาดน้ำในวันสงกรานต์ ขอเปลี่ยนเป็น…?

 

 

โพลลำดับที่ 3 ของเพจบริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา เป็นเรื่องเบา ๆ ชิล ๆ ว่าด้วยเรื่องวันหยุดและเทศกาลสงกรานต์ หลังจากครั้งที่ 2 นั้นเราทำเรื่องจริงจังอย่างโพลการเลือกตั้งกันมาแล้ว (ย้อนความจริงจังกันอีกครั้งได้ที่ Psyche Poll#2 Election Poll และอีกโพลที่จริงจังไม่ต่างกันกับเรื่องของหัวใจ Psyche Poll#1 Love Poll )

 

สำหรับโพลวันหยุดสุดหรรษานี้ เรามีผู้ร่วมสนุกตอบคำถามจำนวน 101 คน เป็นผู้หญิง 76 คน (75.2%) ผู้ชาย 18 คน (17.8%) และเพศอื่นๆ 7 คน (7%) มีอายุเฉลี่ย 31.22 ปี (ต่ำสุด 16 ปี และสูงสุด 48 ปี) กว่า 1 ใน 3 เป็นข้าราชการ/พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ รองลงมาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน บางส่วนเป็นนักเรียนนักศึกษา เจ้าของธุรกิจ และฟรีแลนซ์

 

ข้อคำถามประกอบด้วย
  • ถ้าคุณได้รับวันหยุดโดยไม่คาดฝัน 1 วัน กิจกรรมที่คุณจะทำในวันหยุดนั้นคืออะไร
  • การไปเที่ยวค้างคืนต่างจังหวัด สำหรับคุณคืออะไร
  • สงกรานต์นี้อยากถูกสาดอะไร ถ้าไม่ใช่น้ำ
  • สงกรานต์นี้จะปฏิเสธคนที่จะเข้ามาสาดน้ำยังไงถ้าไม่อยากโดนสาดน้ำ

 

 

ผลการสำรวจปรากฏดังนี้

 

  1. กิจกรรมในวันหยุดที่ได้มาโดยไม่คาดฝัน

 

 

 

นอน!คือคำตอบที่นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยการใช้เวลากับครอบครัว แฟน และเพื่อนฝูง ที่เหลือจึงเป็นการท่องเที่ยว การทำงานบ้าน และงานอดิเรกต่างๆ

 

นอน คือกิจกรรมที่เราทำอยู่แล้วทุก ๆ วัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่วิถีชีวิตของแต่ละคน แต่เหตุใดในวันหยุดที่นอกเหนือจากวันหยุดปกติซึ่งเราสามารถใช้เวลาไปกับการทำอะไรก็ได้ เราจึงปรารถนาการนอนมาเป็นอันดับที่หนึ่ง

 

ก่อนอื่น ผู้เขียนเข้าใจว่าการนอนในที่นี้ อาจหมายถึงการนอนจริง ๆ ที่เป็นการนอนหลับ และรวมไปถึงการนอนแบบไม่หลับ แต่ได้กลิ้งไปกลิ้งมา อ่านหนังสือ เล่มเกม เล่นเนต คุยแชท และกินบนเตียงนอน ซึ่งเราอาจเรียกรวม ๆ การนอนแบบทั้งหลับและไม่หลับนี้ว่าเป็น “การพักผ่อน” นั่นเอง

 

การพักผ่อนนั้นสำคัญไฉน

 

โดยทั่วไปแล้วเรามักมีแพลนสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ค่อนข้างเป็นกิจวัตร อาทิ ทำงานบ้าน จับจ่ายซื้อของเข้าบ้าน กลับบ้านหรือไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ แต่สำหรับคำถามข้อนี้ที่กล่าวถึงวันหยุดที่ไม่ใช่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ปกติ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เรามักมีแพลนล่วงหน้ามาก่อน จึงอาจส่งผลให้ผู้ตอบนึกถึงกิจกรรมที่ “อยากทำ” เพราะปกติไม่ค่อยได้ทำหรือมีเวลาทำ มากกว่ากิจกรรมที่ทำเป็นประจำหรือมีหน้าที่อันควรต้องทำ

 

เช่นนั้นแล้วเราอาจอนุมานได้ว่า การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อน และคนรัก เป็นกิจกรรมที่เราปรารถนา แต่ไม่ได้ “เต็มอิ่ม” กับมันในช่วงเวลาปกติ

 

เมื่อพิจารณาลักษณะของผู้ตอบซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และค่อย ๆ รับมือกับความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตในหน้าที่การงาน ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดการที่ไม่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเลยสักวันจึงน่าดึงดูดใจยิ่ง

 

อย่างไรก็ดี การนอน (นอนหลับและนอนกลิ้ง) ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น มีเรื่องต้องพิจารณากันอยู่บ้าง

 

นั่นคือ เราต้องแน่ใจว่าการพักผ่อนของเราจะช่วยให้เราได้ “ผ่อนคลาย” จากความตึงเครียดเหนื่อยล้า ไม่ใช่ยิ่งพักแล้วยิ่งเครียดมากขึ้น จากการพยายามข่มตาหลับแต่ไม่หลับก็ดี หรือการเล่นเกมดูหนังเสพโซเชียลบนเตียงจนยิ่งเครียดและใจคอไม่สงบก็ดี

 

เช่นเดียวกับในชีวิตประจำวัน ชั่วโมงการนอนนั้นไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพการนอน เราไม่จำเป็นต้องนอนให้ได้วันละหลายๆ ชั่วโมง ขอแค่ให้การนอนของเราเป็นการปล่อยวางกายใจให้สงบ ไม่ครุ่นคิด เคร่งเครียด คาดหวัง และวิตกกังวลใดๆ อย่างแท้จริง

 

ถ้าทำให้ได้เช่นนี้ทุกวัน เราก็สามารถเต็มอิ่มกับการพักผ่อนทุกค่ำคืนของเราได้ โดยไม่ต้องรอชดเชยเอาในวันหยุดค่ะ

 

 

  1. ความหมายของการไปเที่ยวค้างคืนต่างจังหวัด

 

 

 

วันหยุดแค่วันเดียวหลายคนอาจจะเลือกพักผ่อน แต่ถ้าหยุดยาวติดต่อกันหลายวันเข้า การไปท่องเที่ยวค้างคืนที่อื่นก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจขึ้นมา

 

อย่างไรก็ตาม นิยามของการเที่ยวค้างคืนนอกบ้านของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกัน ดังเช่นพฤติกรรมการเที่ยวของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

บางคนต้องไปเป็นหมู่คณะ คนยิ่งเยอะยิ่งสนุก บางคนชอบไปแค่กับคนที่รู้ใจสนิทสนม บางคนก็ชอบไปคนเดียวเสียเลยไม่วุ่นวายดี

 

บางคนชอบแพลนล่วงหน้านานๆ บางคนชอบทริปกะทันหัน (เพราะแพลนนานมักล่ม) บางคนไม่คิดอะไรเลย รู้ตัวอีกที คืนนี้ไม่นอนบ้านแล้วจ้า

ความแตกต่างนี้ อาจเป็นไปด้วยนิสัยที่แตกต่างกัน หรือเป็นเพราะสภาวะปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ก็เป็นได้

 

เช่น ถ้าเรากำลังอยู่ในช่วงที่เครียดมากๆ มีแหล่งความเครียดมาคอยกวนใจตลอดๆ การออกไปเที่ยวต่างจังหวัด อาจทำให้สัญญาณมือถือของเราเกิดไม่ดีขึ้นมาเสียอย่างนั้นก็ได้ หรือบางคนต้องขนงานไปทำระหว่างเที่ยว หรือออกไปเที่ยวก็เพื่อให้ได้งาน ความรู้สึกของการพักผ่อนหรือผ่อนคลายไม่เกิดขึ้น การไปค้างคืนต่างสถานที่จึงอาจมีความหมายแค่การเปลี่ยนที่นอนเฉยๆ

 

และถ้าใครเคยล้มเหลวจากการพยายามหาเวลาว่างที่ตรงกันกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง หรือตกลงกันไม่ได้ในเรื่องสถานที่ที่จะไปบ่อยๆ จากที่เคยไปเที่ยวเป็นหมู่คณะตามประสาคนในวัฒนธรรมคตินิยมรวมหมู่ (collectivism) ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นนิยมเที่ยวแบบไปคนเดียวแล้วหาเพื่อนใหม่เอาข้างหน้าก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ดี จากผลโพลที่ออกมาก็นับว่าน่าดีใจ ที่ 3 อันดับแรกของผู้ตอบโพลได้ให้ความหมายของการออกไปท่องเที่ยวในแบบที่มีสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะ

 

การได้สานสัมพันธ์กับผู้อื่น การได้ทำในกิจกรรมที่สนใจ รวมถึงการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ตนเองเรียนรู้ ล้วนเป็นสิ่งที่การศึกษาทางจิตวิทยาหลายงานเห็นพ้องกันว่าส่งผลต่อความสุขของบุคคล

 

อาจมีกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ตอบสนองความต้องการทั้ง 3 ด้านนี้ แต่การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมไม่กี่อย่างที่ให้ความสุขแก่เราได้หลายๆ ด้านพร้อมกัน ทั้งยังมีผลต่อเราได้ยาวนาน แม้เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแล้ว เพียงแค่เรานึกถึง ย้อนดูรูปที่ถ่ายไว้ ความทรงจำที่ถูกกระตุ้นก็พาให้อารมณ์ทางบวกจากเหตุการณ์นั้นกลับมาให้เรารู้สึกได้อีกเสมอ

 

ดังนั้น หากเรามีเวลาว่างเพียงพอ (และว่างตรงกันหากคุณไม่คิดจะไปคนเดียว) ขอให้ลงทุนใช้เงินรายได้เหนือรายจ่ายและการเก็บออมไปกับการท่องเที่ยว

 

จะเที่ยววันเดียว หลายวัน เที่ยวใกล้ๆ หรือเที่ยวไกลๆ ก็แทบจะรับประกันความรู้สึกดีต่อใจให้กับคุณได้ทั้งสิ้น

 

 

  1. ถ้าไม่ใช่น้ำ ขอให้ที่สาดมานั้นเป็น…

 

 

เงิน!

 

แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ยากมาก (ถ้าไม่นับการโปรยทานตามงานบวช) แต่ “เงิน” ก็เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งทิ้งห่างจากอันดับอื่นๆ หลายช่วงตัวเลยทีเดียว

 

อันที่จริงก็ไม่ได้เป็นผลที่สร้างความแปลกใจให้ผู้สร้างโพลมากนัก เพราะตอนนึกหาตัวเลือก “เงิน” ก็เป็นชอยซ์ที่เด้งมาอันดับหนึ่งในใจของผู้สร้างโพลเช่นกัน

 

การสาดน้ำ รดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการมอบความสุข สนุกสนานให้แก่กันและกันในช่วงที่ร้อนที่สุดของปี หากจะมีสิ่งใดที่จะถูกใช้แทนน้ำ สิ่งนั้นก็ควรจะมอบความสุขและช่วยดับร้อนให้กับเราเช่นกัน

 

เงินสัมพันธ์กับความสุขของคนเรามากน้อยขนาดไหน

 

แม้นักจิตวิทยาจะคอยบอกว่าความสุขนั้นขึ้นอยู่ที่ใจ ว่าใจของเรานั้นรับรู้และตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไร มองว่าตนเองสามารถรับมือและจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ จนในที่สุด เราพึงพอใจในชีวิตของเรามากน้อยแค่ไหน

 

อย่างไรก็ดี การรับรู้และตีความต่าง ๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่เรามีอยู่จริงด้วย ว่ามันเพียงพอต่อการใช้ชีวิตและการจัดการปัญหาในแต่ละวันของเราหรือไม่

 

หากเราขาดแคลน มีไม่พอกิน ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตได้ หรือชีวิตที่ใช้อยู่นั้นปราศจากซึ่งอิสระที่จะได้ทำในสิ่งที่พึงพอใจ หรือไม่ต้องทำในสิ่งที่ไม่พึงพอใจ ก็เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะรับรู้ว่าตนเองมีความสุข

 

เงินซึ่งเป็นตัวกลางในการได้มาซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้น จึงสัมพันธ์กับระดับความสุขของบุคคลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

แต่ทั้งนี้ เมื่อเรามีเงินมากถึงจุด ๆ หนึ่ง คือจุดที่เราสามารถเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของเราได้ การมีเงินมากขึ้นไปกว่านั้น ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความสุขให้กับเรามากขึ้นตามไปด้วย

 

คราวนี้ “ใจ” จะเป็นนายของความสุขอย่างแท้จริง

 

ใจที่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง รู้ซึ้งถึงความหมายของชีวิต มีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวกของตน คือใจที่เป็นสุข

 

ดังนั้น นอกเหนือจากเงินแล้ว คำพูดดีๆ ความรัก รอยยิ้ม (แม้กระทั่งน้ำมนต์หากมองในแง่การเติมพลังทางจิตวิญญาณ) ก็ล้วนเป็นสิ่งดี ๆ ที่เราควรส่งมอบให้แก่กัน และเป็นสิ่งมีค่าที่ควรทุกคนสมควรได้รับ

 

เงินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด แต่คำพูดดีๆ ความรัก และรอยยิ้ม เป็นของฟรีที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด

จงใช้กันอย่างสิ้นเปลืองกันตลอดทั้งปีเลยนะคะ

 

 

  1. จะปฏิเสธคนที่เข้ามาสาดน้ำใส่เราอย่างไร

 

 

คนไทยปฏิเสธใครไม่เก่งจริงหรือไม่

 

จากการสำรวจทางจิตวิทยาเรื่องการจัดการความขัดแย้งซึ่งมีด้วยกันหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. การพยายามหาทางออกร่วมกัน (เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย) 2. การประณีประนอม (ยอมถอยคนละก้าว) 3. การใช้อำนาจ 4. การยอมตาม และ 5. การหลีกหนี พบว่า คนไทยมักเลือกแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธียอมตามและหลีกหนีมากที่สุด

 

ในการศึกษาดังกล่าวอธิบายว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนไทยมีค่านิยมแบบคติรวมหมู่สูง คือเห็นแก่ความสัมพันธ์มากกว่าเป้าหมายของตนเอง อีกทั้งยังมีแรงขับที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองน้อยอีกด้วย

 

แม้สถานการณ์ปฏิเสธการสาดน้ำนั้นไม่ถึงขั้นที่เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับใคร แต่เหมือนว่าการ “จบปัญหาที่ตัวเราเอง” จะเป็นทางออกที่ฝังอยู่ใน DNA ของเราไปแล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการเรียนรู้ของเราว่าในอดีตเราเคยได้พยายามปฏิเสธไปแล้วแต่ไม่ได้ผล เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เดิมหรือสถานการณ์ที่คล้ายๆ กันอีก ก็เลือกทางที่จะเห็นผลแน่นอนมากกว่า

 

จากตัวเลือกทั้งหมด แม้สัดส่วนคนที่พยายามเจรจาด้วยเหตุผลรวมแล้วจะมากกว่าคนที่เลือกเก็บตัวอยู่บ้าน แต่ก็ถือว่ามีจำนวนต่างกันไม่มาก สะท้อนได้ว่าเราต่างมีประสบการณ์ “ล้มเหลวในการปฏิเสธ” กันมาแล้วไม่มากก็น้อย

 

ประสบการณ์ที่บุคคลเรียนรู้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประสบการณ์ของบุคคลอื่นที่เราได้เห็นได้ฟังมาด้วย

 

เช่นผู้เขียนเอง เคยใช้ทั้งวิธีบอกสั้น ๆ ว่าไม่เล่น อธิบายว่าไปธุระ รวมถึงการมองแรง ก็ไม่มีวิธีไหนได้ผล และเคยเห็นคนที่ใส่สูทผูกไทเรียบร้อย พยายามขอร้องว่าต้องไปงาน ไปวัด ก็ยังคงเปียกไปทั้งตัวเช่นกัน ผู้เขียนจึงได้เรียนรู้ว่า อย่างน้อย…แถวบ้านของผู้เขียนก็ไม่เหมาะที่จะใช้วิธีเจรจา…

 

เพื่อไม่ให้เราหมดหวังกับการปฏิเสธและการต่อรองเกินไปนัก ก่อนจบบทความนี้จึงขอฝากวิธีเพิ่มความกล้ายืนหยัดในสิทธิของตนเอง 6 ข้อด้วยกันนะคะ

 

  1. จำไว้ว่า ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของเรา มีคุณค่ามีความสำคัญพอ ๆ กับของคนอื่น เคารพในตัวเอง และหยุดขอโทษไปเสียทุกเรื่องทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด
  2. เมื่อต้องการสิ่งใดอย่ารอให้คนอื่นมาสังเกตเห็น จงพยายามหาทางด้วยตัวเองโดยไม่เอาเปรียบผู้อื่น หากจำเป็นอาจขอร้องให้ผู้อื่นช่วย โดยให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราร้องขอไม่เป็นการทำร้ายความรู้สึกและความปรารถนาของเขา
  3. รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง หากมีใครไม่พอใจในสิ่งที่เราไม่ได้ทำผิด (เช่น เราปฏิเสธโดยที่เรามีสิทธิปฏิเสธ แล้วเขาโกรธ) นั่นเป็นปัญหาของเขา เราเพียงแต่ควบคุมอารมณ์และการแสดงออกของเราให้ดี
  4. แสดงความคิดและความรู้สึกด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่เหมาะสม ไม่พูดและทำในสิ่งที่เราเองก็ไม่ชอบให้ใครมาทำใส่เรา
  5. ยอมรับคำชมอย่างขอบคุณ และรับคำตำหนิอย่างจริงใจ แต่หากใครเข้าใจเราผิด ก็สื่อสารว่าเราไม่เห็นด้วยอย่างไรโดยไม่ทำไปด้วยอารมณ์โกรธเคือง
  6. ยอมรับว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ตลอดเวลา รู้ในขีดจำกัดและขอบเขตของตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็ปฏิเสธด้วยความนุ่มนวล หรือเรื่องใดที่พอจะหาทางออกร่วมกันได้ ก็อาจเสนอทางเลือกอื่นขึ้นมา

 

สิ่งเหล่านี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน แต่ถ้าเราคอยตระหนักและฝึกฝนอยู่เสมอ ก็จะกลายเป็นนิสัยของเราได้

 

คนที่รู้จักรักษาสิทธิ์ของตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้สึกเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น หากในสังคมของเราตระหนักในสิทธิของกันและกันมากขึ้น การแก้ปัญหาด้วยการยอมตามและหลีกหนีก็จะน้อยลงได้ในที่สุด

 

Share this content