ความปลอดภัยทางจิตใจในการทำงาน คือ ความเชื่อของสมาชิกในทีมว่าตนจะไม่ถูกลงโทษ หรือหักหน้า จากการพูดถึงความคิด คําถาม ข้อกังวล หรือความผิดพลาด เพราะสมาชิกต่างต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงระหว่างบุคคลเมื่อต้องทํางานร่วมกับผู้อื่น ไม่ต้องการที่จะถูกเพิกเฉยจากการถามคําถามหรือหาข้อมูล ถูกมองว่าไม่มีความสามารถ ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี และถูกมองว่าเป็นคนที่รบกวนการทํางานของผู้อื่น
หากมีความปลอดภัยทางจิตใจในการทํางาน ผู้คนจะมีความมั่นใจที่จะกระทําพฤติกรรมต่าง ๆ อาทิ การถามคำถาม การแบ่งปันข้อมูล การขอความช่วยเหลือ การทดลองในสิ่งใหม่ๆ การพูดถึงความผิดพลาด และการขอผลป้อนกลับ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ต่อไปได้
นั่นหมายความว่า การปลอดภัยทางจิตใจไม่ได้หมายถึงบรรยากาศที่สบาย ๆ เป็นกันเอง ความสนิทสนมกันของสมาชิก หรือการปราศจากแรงกดดัน หรือการไม่มีปัญหาภายในทีม ในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจนั้น จะเอื้อให้สมาชิกสามารถอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาหรือข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้ เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดที่หลากหลายส่งผลทําให้เกิดการสร้างและแบ่งปันวิธีการในการแก้ไขปัญหารวมถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนากระบวนการและผลลัพธ์ในการทํางาน นำมาสู่การเพิ่มผลงานทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม
นอกจากนี้ ความปลอดภัยทางจิตใจช่วยลดความวิตกกังวลในการเรียนรู้ เมื่อพนักงานในองค์การต้องเรียนรู้สิ่งใหม่จากการเปลี่ยนแปลงขององค์การได้อีกด้วย
ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดความปลอดภัยทางจิตใจ
- บริบทสนับสนุน (context support) – การมีทรัพยากรข้อมูลและรางวัลอย่างเหมาะสมต่อทีม
- การสอนแนะจากผู้นํา (leader coaching)
- ความใส่ใจอย่างทั่วถึงของผู้นํา (leader inclusiveness)
- การปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสมาชิกภายในทีมที่มีคุณภาพ
อ้างอิง
“ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจในการเรียนรู้กับความผูกพันต่อองค์การโดยมีความปลอดภัยทางจิตใจเป็นตัวแปรกำกับ” โดย วีระวัชร์ มงคลโชติ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/57930