วุฒิภาวะทางจิตสังคม (Psychosocial maturity) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิดตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมกับความเป็นผู้ใหญ่
วุฒิภาวะทางจิตสังคมเป็นตัวแปรทางจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นถึงการมีบุคลิกภาพและสุขภาวะทางจิตที่ดี และยังเป็นตัวแปรด้านสังคมที่ทำให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ วุฒิภาวะทางจิตสังคมอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีของ Erikson กล่าวคือ ถ้าบุคคลสามารถผ่านช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้ด้วยดีก็จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงวัยถัดไปได้อย่างประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีความสำคัญในการวัดการประสบความสำเร็จในชีวิต
วุฒิภาวะทางจิตสังคมมี 7 องค์ประกอบ
- ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Self-reliance) หมายถึง ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ สามารถริเริ่มและเป็นที่พึ่งให้แก่คนรอบข้างได้
- การรู้จักตนเอง (Identity) หมายถึง การรู้จักอุปนิสัยของตนเอง อัตลักษณ์ ความสนใจหรือความต้องการของตนเอง และให้คุณค่ากับสิ่งนั้น
- ความรับผิดชอบในการทำงาน (Work responsibility) หมายถึง ความสามารถในความมุ่งมั่นต่อการทำงาน รับผิดชอบต่องานที่ตนเองได้รับมอบหมาย และแสดงความคิดเห็นระหว่างการทำงานได้อย่างเหมาะสม
- การคำนึงถึงผลกระทบในอนาคต (Consideration of future consequence) หมายถึง ความสามารถในการคาดคะเนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำหรือความคิดของตนเอง เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และวางแผนสู่เป้าหมายของตนเองในอนาคต
- การคำนึงถึงผู้อื่น (Consideration of others) หมายถึง ความสามารถในการคิดหรือเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมมองของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ไม่เห็นแก่ตัว และช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
- การควบคุมอารมณ์หุนหันพลันแล่น (Impulse control) หมายถึง ความสามารถในควบคุมอารมณ์ภายในของตนเอง ไม่หุนหันทำตามสัญชาตญาณ มีการคิดไตร่ตรองก่อนการกระทำเสมอ
- การยับยั้งความก้าวร้าว (Suppression of aggression) หมายถึง ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวของตนเองให้แสดงออกอย่างเหมาะสม ไม่ทำร้ายบุคคลรอบข้างเมื่อโกรธ
อายุมีความสัมพันธ์กับวุฒิภาวะทางจิตสังคม โดยงานวิจัยพบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่จะมีวุฒิภาวะทางสังคมมากกว่า และตัดสินใจเข้าสังคมมากกว่ากลุ่มวัยรุ่น โดยวุฒิภาวะทางจิตสังคมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้ในช่วงอายุ 16-19 ปี และจากการศึกษาเรื่องความคิดความเข้าใจ (cognition) และวุฒิภาวะทางจิตสังคม ใน 11 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย พบว่า ความคิดเข้าใจเข้าจะเกิดขึ้นราว ๆ อายุ 16 ปี แต่วุฒิภาวะทางจิตสังคมจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 18 ปี
ในการศึกษาระยะยาว (longitudinal study) ในวัยรุ่นอันธพาลและติดตามผลไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า วัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะทางจิตสังคมต่ำจะมีปัญหาพฤติกรรมในการแยกตัวจากสังคมสูง (antisocial behavior) และเมื่อติดตามผลไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า บุคคลมีวุฒิภาวะทางจิตสังคมสูงขึ้นจะเริ่มมีการเข้าสังคมมากขึ้น กลับกันผู้ที่ยังคมมีวุฒิภาวะทางจิตสังคมต่ำ จะยิ่งขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ มีความก้าวร้าว มุมมองความคิดไม่กว้างไกล และยังคงมีปัญหาพฤติกรรม
นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม กล่าวคือ หากลูกรับรู้ถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เหมาะสม ทั้งการได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่และการได้รับอิสระในการคิดหรือทำสิ่งต่าง ๆ จากพ่อแม่ จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีวุฒิภาวะทางจิตสังคม ทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง ๆ ที่เป็นปัญหาได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก
“ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนบทบาท การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ ต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม ในผู้ใหญ่แรกเริ่ม” โดย ณิชมน กาญจนนิยต (2562) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69650