ความจริงของความรู้สึกเสียใจภายหลัง

24 Mar 2015

บริการวิชาการ

 

ความจริงของความรู้สึกเสียใจภายหลัง

 

เมื่อเปรียบเทียบความรู้สึกเสียใจภายหลัง ระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง ผู้มีลักษณะความเป็นชายสูง (masculinity) ผู้มีลักษณะความเป็นหญิงสูง (femininity) ผู้มีลักษณะปัจเจกนิยมสูง (individualism) และผู้มีลักษณะคติรวมหมู่สูง (collectivism)

ในความสัมพันธ์กับคู่รัก เพื่อน ครอบครัว และเรื่องการศึกษา พบว่า

 

ส่วนใหญ่คนเราเสียใจภายหลังจากการ “ไม่กระทำ” มากกว่าเสียใจภายหลังจากการ “กระทำ”

 

อาจเป็นเพราะ โดยมากแล้วสิ่งที่ได้ทำลงไปเราพอที่จะแก้ไขภายหลังได้ แต่สิ่งที่ไม่กระทำ มักไม่หวนคืนกลับมาให้ได้มีโอกาสแก้ตัว และเรามักไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราจึงไม่ทำในขณะที่มีโอกาส อีกทั้งคนเรายังคิดถึง “สิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นถ้าได้ทำ” ได้ง่ายกว่า “นึกถึงสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นจากการทำลงไปแล้ว”

 

ยกเว้น ในบริบทความสัมพันธ์แบบคู่รัก ผู้หญิงหรือผู้ที่มีลักษณะความเป็นหญิงสูงเสียใจภายหลังจากการกระทำและไม่กระทำไม่แตกต่างกัน และเสียใจจากการไม่กระทำน้อยกว่าผู้ชาย

 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ในมุมมองของทฤษฎีจิตวิทยาวิวัฒนาการอธิบายว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มต้องลงทุนมากกว่าในการดำรงเผ่าพันธุ์ จากที่ต้องเป็นฝ่ายอุ้มท้อง ทั้งยังมีช่วงระยะเวลาในการเจริญพันธุ์ที่จำกัด จึงเป็นไปได้ว่าในความสัมพันธ์แบบคู่รัก ผู้หญิงมักต้องระมัดระวังตัวมากกว่าผู้ชายในการวางตัวหรือทำพฤติกรรมต่างๆ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจึงมีความคิดในแนวทางที่ว่า ไม่น่าทำสิ่งนั้นลงไปเลย

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

 

“บทบาทของเพศ บทบาททางเพศ และความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ ต่อการเสียใจภายหลัง และเป้าหมายการควบคุม”
“The roles of sex, gender-role, and degrees of individualism-collectivism in regret and regulatory focus”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา (2550)
โดย นางสาวสินีรัตน์ โชติญาณนนท์
ที่ปรึกษา อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20415

Share this content