ดิฉันเชื่อว่าเราทุกคนต้องเคยผ่านวันที่แย่ๆ ถูกแม่ว่า แฟนนอกใจ เพื่อนร่วมงานแทงข้างหลัง หรือบางทีก็แทงเราซึ่งๆ หน้านี่เลย กิจการที่ทุ่มเทลงทุนขาดทุน ถูกเพื่อนๆ ต่อต้านหรือเข้าใจผิด วันที่เราตกเป็นฝ่ายผิด เป็นคนไม่ดีพอ เป็นคนไม่เอาไหน เฮ้อ… มันช่างเลวร้ายเสียจริง
ถ้าวันนั้นมาถึง เราจะรับมือกับมันอย่างไรดีคะ?
ลองมานั่งมองเรื่องร้ายๆ พวกนี้กันก่อนนะคะ
ในชีวิตเรา การตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองหรือรู้สึกว่าตัวเราไม่ดีพอ ในทางจิตวิทยาเรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเหตุการณ์ที่คุกคามการเห็นคุณค่าของตนเอง
เมื่อเจอสถานการณ์เหล่านี้เราก็จะพยายามปกป้องตัวเองด้วยการปฏิเสธบ้าง หนีความจริงบ้าง ไม่ยอมรับผิดบ้าง โทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นบ้าง เพื่อที่จะคงความรู้สึกว่าตัวเองยังดีพอ เช่น แฟนนอกใจก็โทษแฟนว่าเค้าช่างโง่ซะจริงที่หักหลังคนแสนดีอย่างเราได้
แต่การแก้ตัวเหล่านี้ก็ส่งผลเสียได้ เพราะมันทำให้เราไม่ยอมรับความผิดที่เราเป็นคนก่อหรือความบกพร่องของตัวเราเพื่อที่เราจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองต่อไป
เอ… แล้วเราจะทำอย่างไรดีให้คนที่ทำผิด เลิกโทษปี่โทษกลองแล้วหันมายอมรับความบกพร่องของตน เพื่อจะปรับปรุงตัวเองต่อไป
นักจิตวิทยาสังคมได้เสนอเทคนิคที่เรียกว่า การยืนยันคุณค่าของตนเอง
การยืนยันคุณค่าของตนเองคืออะไร?
พูดง่ายๆ ก็คือการที่เราใช้เวลานึกถึงสิ่งสำคัญในชีวิตที่เรายึดถือเป็นเป้าหมายหรือเป็นธงแห่งชีวิต เช่น ครอบครัว ธรรมมะ หรือชีวิตแบบที่เราศรัทธา เช่น การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เป็นต้น หรือนึกถึงตัวตนที่แท้จริงว่าเราเป็นใครและต้องการอะไรกันแน่ การคิดถึงเรื่องที่เราทำได้ดี หรือการนึกถึงเรื่องที่มีคนชมเชยเราเมื่อวันก่อน การได้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยได้ทำสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นตัวเราก็ใช้ได้เช่นกัน เช่น เมื่อวานได้ไปทำบุญช่วยเหลือเด็กกำพร้ามา หรือการได้แสดงออกถึงค่านิยมหลักของชีวิตเรา เช่น รักครอบครัว เป็นนักสู้ ชอบท่องเที่ยว ชอบกิน แล้วแต่แต่ละคนเลยว่า สายไหน
การยืนยันคุณค่าของตนเองช่วยอะไรเราบ้าง?
การได้นึกว่า ‘ไอ้เรามันสายกินนะเนี่ย’ จะช่วยพยุงตัวเราให้ลุกขึ้นเมื่อต้องเจอความพ่ายแพ้ผิดพลาดได้ยังไงกัน?
การนึกถึงความเป็นตัวตนของเราหรือสิ่งดีๆ อื่นๆ ที่เรามีหรือได้เคยทำ สามารถช่วยให้คนเรารู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเองมากขึ้นค่ะ ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ผิดพลาดมากขึ้น ลดการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เพื่อปกป้องตัวเอง และหันมาปรับปรุงตัวเองได้ในที่สุด เช่น สอบได้คะแนนไม่ดี ก็ยืนยันตนเองว่า “แต่เราก็เป็นลูกที่ดีของพ่อกับแม่มาตลอดเลยนะ” การคิดแบบนี้จะช่วยเตือนเราว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเรื่องเดียว เรื่องที่สำคัญจริงๆ ในชีวิตเราคือเรื่องการได้มีครอบครัวที่อบอุ่นต่างหาก และในเมื่อชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเรื่องเดียว เราก็จะลดความสำคัญของปัญหานั้นลง มองปัญหาแบบ zoom out ออกมาเห็นภาพที่กว้างขึ้น เห็นปัญหาเล็กลง และช่วยให้เรารู้สึกว่า เอาอยู่….สู้เว้ย เดี๋ยวสอบรอบหน้าแก้ตัวใหม่
การยืนยันคุณค่าของตนเองนี้ใช้ได้ผลจริงหรือเปล่า?
งานวิจัยในต่างประเทศพบผลที่ดีในหลากหลายเรื่องเลยค่ะ เช่น คนดื่มเหล้าที่มักจะแก้ตัวเมื่อถูกตำหนิหรือถูกบอกให้เลิกดื่ม เมื่อได้นั่งเขียนเล่าว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของตน (เช่นครอบครัว หรือการได้อยู่กับน้องหมาตัวโปรด) คอเหล้าเหล่านี้ก็รู้สึกมีกำลังใจพอที่จะรับฟังว่ากินเหล้ามันทรมานตับนะ พอเปิดใจรับฟังว่าฉันผิดจริง ก็น่าจะนำสู่การเลิกดื่มได้ในที่สุด
เทคนิคง่ายๆ คิดบวกๆ ลองนำไปใช้พยุงตัวเราให้ลุกยืน ในวันที่ล้มลงนะคะ
รายการอ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/redirect/201203/affirm-yourself
บทความวิชาการ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย