การควบคุมตนเอง – Self-control

23 Sep 2024

คำศัพท์จิตวิทยา

 

การควบคุมตนเอง – Self-control

 

การควบคุมตนเอง หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนหรือยับยั้งอารมณ์ พฤติกรรม และความปรารถนาตามธรรมชาติของบุคคล ในการตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้นที่มีความดึงดูดใจ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในระยะยาว และเพื่อเป็นการกระทำตามกฎหรือบรรทัดฐานของสังคม

 

การควบคุมตนเองหมายรวมไปถึงการจัดการระหว่างแรงจูงใจ 2 ประเภท ได้แก่ แรงกระตุ้นตามธรรมชาติ และความต้องการทางวัฒนธรรม

 

แรงกระตุ้นโดยธรรมชาติเป็นการตอบสนองพื้นฐานที่กระทำเพื่อตนเองในลักษณะค่อนข้างเห็นแก่ตัว ในขณะที่ความต้องการทางวัฒนธรรมเป็นระบบที่เกิดจากกฎและบรรทัดฐานของกลุ่มหรือสังคม การควบคุมตนเองเป็นสิ่งที่คอยยับยั้งการกระตุ้นโดยธรรมชาติและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่สอดคล้องกับสังคม เพื่อให้ตนเป็นที่ยอมรับ

 

 

 

 

การควบคุมตนเองมีความหมายใกล้เคียงกับนิยามของการกำกับตนเอง (self-regulation) แต่การกำกับตนเองมีความหมายถึงบริบทที่กว้างกว่าการควบคุมตนเอง เพราะหมายรวมไปถึงกระบวนการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของตนเองเพื่อที่จะสามารถดำรงอยู่บนเส้นทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องยับยั้งการตอบสนองอื่น ๆ หรือเป็นเพียงแค่การตอบสนองต่อสิ่งรบกวนภายนอก อีกทั้งแรงจูงในในการกำกับตนเองนั้นจะต้องมีจุดกำเนิดมาจากภายในตัวบุคคลนั้นเอง

 

นอกจากนี้ การกำกับตนเองเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติและไม่จำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ส่วนการควบคุมตนเองนั้นเป็นลักษณะย่อย ๆ ที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง อยู่ภายใต้การกำกับตนเองอีกทีหนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์ที่บุคคลต้องอาศัยการควบคุมตนเองนั้น บุคคลต้องใข้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนการตอบสนองของตนโดยยับยั้งการตอบสนองพื้นฐานเพื่อนำไปสู่ทางเลือกในการตอบสนองอื่น ๆ ที่ตนให้คุณค่ามากกว่า

 

 

การควบคุมตนเองอาจหมายถึง สภาวะการควบคุมตนเอง (state self-control) หรือลักษณะนิสัยการควบคุมตนเอง (dispositional self-control) โดยสภาวะการควบคุมตนเองจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และเวลา ซึ่งมีงานวิจัยหลายงานพบว่าความสามารถในการควบคุมตนเองของบุคคลขึ้นอยู่กับอิทธิพลทางสถานการณ์ รวมถึงความพยายามในการควบคุมตนเองในอดีต อารมณ์และแรงจูงใจ ส่วนลักษณะนิสัยการควบคุมตนเองนั้นมีแนวโน้มที่จะคงที่ข้ามเวลาและสถานการณ์มากกว่า

 

 


 

 

การพร่องในการควบคุมตน – Ego-depletion

 

การพร่องในการควบคุมตน หมายถึง สภาวะที่บุคคลเกิดความพร่องในการควบคุมตนเองในด้านความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมที่เกิดจากการแสดงพฤติกรรมที่ต้องอาศัยการควบคุมตนเองก่อนหน้า

 

เนื่องจากกระบวนการในการควบคุมตนเองนั้นอยู่ในรูปแบบของพลังงานอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อบุคคลต้องใช้ทรัพยากรในการควบคุมตนเองซ้ำ ๆ ทำให้ทรัพยากรดังกล่าวที่มีอยู่พร่องลงไป จึงส่งผลให้ความสามารถในการทำงานที่ต้องใช้การควบคุมตนเองในงานต่อ ๆ ไปของบุคคลลดทอนลง เช่น ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่ตนเองประสงค์ได้

 

 


 

 

 

ข้อมูลจาก

 

จิรายุ เลิศเจริญวนิช. (2557). อิทธิพลของการควบคุมตนเองและการวางกรอบการตัดสินใจต่อเจตนาและพฤติกรรมเพื่อส่วนรวมในภาวะยุ่งยากสองด้านทางสังคม [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://digiverse.chula.ac.th/Info/item/dc:20842

 

ธนัชพร วุฒิพงศ์. (2557). อิทธิพลของการกำกับการแสดงออกของตนและการพร่องในการควบคุมตนต่อการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://digiverse.chula.ac.th/Info/item/dc:20845

Share this content