Giving a damn for something you want to live for…
คุณเคยพูดกับตัวเองไหมว่า “ช่างมันเถอะ” กับหลาย ๆ เรื่องในชีวิต ลองนึกย้อนดูว่าคุณพูดอย่างนั้นในเรื่องอะไรบ้าง หากเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลืมหยิบสินค้าที่ราคาไม่แพงของจากร้านค้าหลังชำระเงินแล้ว โดนคนแซงคิวซื้ออาหารตอนพักรับประทานอาหารกลางวัน ได้ยินคนในที่ทำงานนินทาว่าร้ายเราเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือรถยนต์ถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวกระจกข้างเป็นแผลนิด ๆ หน่อย ๆ
“ช่างมันเถอะ” ดูจะเป็นวิธีคิดต่อสถานการณ์ที่ดี เพราะหากคุณปล่อยวางกับเรื่องหยุมหยิมเหล่านี้ได้ก็จะทำให้ชีวิตของคุณน่าอยู่ขึ้น ไม่ทำให้คุณคิดหมกมุ่นวุ่นวายใจ หัวเสียเจียนบ้า เสียเวลาคิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องจนทำให้หมดพลังงานที่จะสามารถไปทำอย่างอื่นที่จำเป็น การ “ช่างมัน” ในเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญ คุณอาจจะต้องใช้ทักษะในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน หรือ การมีสติ (mindfulness) ซึ่งเป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้ และช่วยให้เราเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ปล่อยวางและหยุดคิดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ถ้าทำได้แล้วอาจทำให้เราเห็นโลกในมุมที่รื่นรมย์ยิ่งขึ้น ความคิดและความรู้สึกโปร่งเบา ไม่ต้องแบกไปเสียทุกเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ถ้าสังเกตให้ดี สิ่งที่เราเลือกจะ “ช่างมัน” เพื่อช่วยให้จิตใจเราดีขึ้น มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเมื่อพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง ก็มักเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้หรืออยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา การเก็บเรื่องเหล่านี้มานั่งเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันหรือกลุ้มใจจนหน้าดำคร่ำเครียดนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร รังแต่จะทำให้เสียสุขภาพจิต เราจึงเลือกใช้วิธีคิดแบบปล่อยวาง หรือปลง เพื่อให้จิตใจเป็นสุข
อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องแยกแยะเรื่องที่จะ “ช่างมัน” ด้วยเหมือนกัน มิฉะนั้นจากเรื่องที่ควร “ปล่อยวาง” จะกลายเป็น “ละเลย” สิ่งที่สิ่งที่สำคัญไปเสีย
หากเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือแม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว แต่พิจารณาแล้วว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียขึ้นได้อีกในอนาคตหรือสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ การเลือกที่จะ “ช่างมัน” อย่างนี้จะกลายเป็น “ละเลย” และประมาทกับอนาคตจนเกินไป แม้การใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จะช่วยให้เราเป็นสุข เมื่อเผชิญเรื่องแก้ไขไม่ได้หรือเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย แต่ก็ควรระวังตัวเองไม่ให้ใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จนเคยชินเป็นนิสัย จากแค่ “ปล่อยวาง” ให้ใจสบาย อาจจะเลยเถิดไปถึง “ละเลย” เรื่องสำคัญของชีวิตไปได้
อย่าปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวพัดพาให้เรารู้สึกว่า ช่างมัน กับทุก ๆ เรื่องไปเสียหมดจนสุดท้ายเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ก็แค่ทำสิ่งที่ควรจะทำเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ พาให้เรารู้สึกเหมือนกับจะใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยขาดซึ่งความหมายหรือแก่นสารในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งขับเคลื่อนสำคัญของการมีชีวิตอย่างมีคุณค่าและสุขภาวะที่ดี
ทฤษฎี Self-Determination Theory/SDT หรือการกำหนดตนเอง กล่าวถึงความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของมนุษย์ (psychological needs) 3 อย่าง ได้แก่ ความสามารถ (competence) การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relatedness) และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ (autonomy) ล้วนเป็นสิ่งที่หากเราได้ตอบสนองความต้องการทั้ง 3 ด้านนั้นจะจูงใจให้เราลุกขึ้นมา ริเริ่ม ทำสิ่งต่าง ๆ และพร้อมที่จะทำตามหน้าที่และยอมรับบรรทัดฐานของสังคมที่เรายึดถือ อีกนัยหนึ่งก็คือ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มาจากแรงจูงใจภายใจตัวเรา
จริง ๆ แล้วความต้องการทางจิตใจพื้นฐานดังกล่าว ก็เปรียบเสมือนกับความต้องการทางกายภาพ สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้นั้น ทั้งมนุษย์ ต้นไม้ใบหญ้า และสัตว์โลกนั้น ต่างมีความต้องการทางกายภาพ เช่น ออกซิเจน น้ำ และสารอาหาร ซึ่งเราต้องตอบสนองความต้องการเหล่านี้เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แต่หากเราขาดแคลนสิ่งเหล่านี้เราก็จะทุกข์ทรมาน ดังนั้นการสร้างปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจภายในตัวเอง อย่างบรรยากาศ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสเข้าถึงความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากก็ตาม (ให้ตัวเรารู้สึกถึงว่ามีความชำนาญหรือความถนัดในบางอย่างที่ท้าทาย) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (เช่น ได้รับการสนับสนุน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมหรือกลุ่มนั้นๆ) และมีอิสระในการตัดสินใจหรือรู้สึกถึงว่าตนสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ (ไม่ใช่แค่ให้นายสั่งเท่านั้น หรือทำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อื่น) ก็จะทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมุ่งหวังหรือมุ่งมั่นให้สำเร็จจนได้
หากเราละเลยการรักษาระดับแรงจูงใจภายในที่จะผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญกับตัวเรา นอกจากความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของเราจะพร่องหรือถูกละเลยแล้ว ก็จะทำให้ตัวเราจมอยู่กับสิ่งที่เราไม่ต้องการจะทำ แต่ทำสิ่งนั้นให้ผ่านไปวันหนึ่งอย่างแกนๆ เท่านั้น แรงจูงใจภายในนั้นสำคัญมากเพราะจะเป็นพลังผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จในระยะยาว รวมถึงนำไปสู่ความรู้สึกภูมิใจต่อคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ตัวเองได้ลงมือกระทำอย่างแท้จริง ต่างจากแรงจูงใจที่เกิดจากภายนอกตัวเรา เช่น รางวัล คำชม หรือกำหนดเวลา deadline ต่าง ๆ ที่แม้จะกระตุ้นให้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงสภาวะชั่วคราว ไม่ยั่งยืน หากขาดรางวัลหรือปัจจัยกระตุ้น อีกทั้งไม่ได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิหรือความหมายลึกซึ้งต่อผลงานที่ได้รับ
อย่างนี้แล้ว การสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งตนเองและคนอื่นรอบตัวเรา เช่น บุตรหลาน พนักงาน นักเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่สามีหรือภรรยา พึงระวังว่าการสร้างแรงจูงใจให้คนทำสิ่งต่าง ๆ ต้องแยกแยะระหว่างความต้องการที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจอย่างแท้จริง หรือเพียงแค่ต้องการควบคุมพฤติกรรมด้วยการใช้สิ่งจูงใจภายนอก (เงิน หรือ รางวัล ต่าง ๆ)
หากเราต้องการสร้างแรงจูงใจที่ยั่งยืนและช่วยสร้างคุณค่าและความหมายของการกระทำสิ่งต่าง ๆ ก็ควรสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจจากภายในตัวบุคคล – – สื่อสารกับตนเองหรือเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน – – เรียนรู้ความต้องการของตนเองหรือเป้าหมาย แทนที่จะควบคุมกำกับให้ทำตาม – – และเปิดโอกาสให้ตนเอง/เป้าหมายได้ลงมือทำ เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ไม่ท้าทายมาก เพื่อลิ้มรสความสำเร็จ สร้างความรู้สึกถึงความสามารถ ความชำนาญ ที่ทำให้วงจรแรงจูงใจจากภายในหมุนล้อขับเคลื่อน การทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีคุณค่า มีความหมาย และยั่งยืน
ภาพจาก http://sourcesofinsight.com/find-your-drive-the-keys-to-motivation/
บทความโดย
อาจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University