การเปิดเผยตนเอง – Self-disclosure

06 Sep 2024

คำศัพท์จิตวิทยา

 

การเปิดเผยตนเอง หมายถึง การที่บุคคลเปิดเผยความคิด ความรู้สึก รวมถึงข้อมูลของตนเองต่อผู้อื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและไว้วางใจกับระหว่างบุคคล ซึ่งนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

 

หากบุคคลเปิดเผยตนเองอย่างเหมาะสม ถูกกาลเทศะ จะได้รับประโยชน์อย่างมาก เนื่องจาก

 

  • การเปิดเผยตนเองถือเป็นการระบายความรู้สึกและอารมณ์ของบุคคล ช่วยให้บุคคลสบายใจมากขึ้น ส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น
  • การเปิดเผยตนเองยังช่วยในการเปรียบเทียบตนเองกับมาตรฐานทั่วไปของสังคม ในด้านความคิด ความรู้สึก หรือสิ่งที่บุคคลปฏิบัติในสังคม โดยสามารถพิจารณาได้จากปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้อื่น การเปิดเผยตนเองจึงเสมือนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บุคคลเข้าใจในสิ่งที่ตนควรทำและไม่ควรทำได้ดีขึ้น
  • การเปิดเผยตนเองช่วยเพิ่มการตระหนักในตนเอง ทำให้บุคคลเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น ทำให้ส่วนที่เราไม่รู้เกี่ยวกับตนเองลดลง ซึ่งจะเกิดจากการที่บุคคลทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำพูดของตนเอง รวมถึงการได้รับ feedback จากผู้อื่นด้วย
  • การเปิดเผยตนเองในการสื่อสารระหว่างบุคคล ทำให้คู่สื่อสารสามารถสื่อสารได้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเองโดยเฉพาะเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีต สามารถใช้เป็นข้อแนะนำหรืออุทธาหรณ์ให้แก่ผู้อื่นได้

 

อย่างไรก็ตาม หากการเปิดเผยตนเองนั้นไม่เหมาะสมหรือรวดเร็วเกิดไป ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ ดังนั้น บุคคลไม่ควรเปิดเผยตนเองรวดเร็วเกิดไป และลักษณะสภาพแวดลล้อมต่าง ๆ ในการเปิดเผยตนเองจำเป็นต้องก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน โดยเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นทั่ว ๆ ไปก่อน และก่อนการเปิดเผยข้อมูลที่มีความลึกซึ้ง จำเป็นต้องดูการตอบสนองของฝ่ายตรงข้ามด้วย หรือสังเกตจากข้อมูลที่ฝ่ายตรงข้ามเปิดเผยแก่เรา

 

สรุปได้ว่า การเปิดเผยตนเองช่วยเพิ่มความไว้วางใจ เพิ่มความใกล้ชิด เพิ่มการเห็นคุณค่าในตน เพิ่มความปลอดภัย และช่วงส่งเสริมความงอกงามของบุคคล ขณะที่ความเสี่ยงที่จะได้รับจากการเปิดเผยตนเอง ได้แก่ การถูกผู้อื่นปฏิเสธ ถูกผู้อื่นดูถูก และถูกผู้อื่นทำลายความเชื่อมั่นของเรา

 

 

 

 

Joseph และ Harrison ได้สร้างหน้าต่าง Johari Window เพื่ออธิบายถึงการเปิดเผยตนเองต่อคู่สื่อสารไว้ดังนี้

 

  1. บริเวณเปิด (open) – เป็นบริเวณที่ตนเองรู้และคนอื่นรู้ จึงทำให้ความสัมพันธ์ของคู่สื่อสารมีมาก และย่อมทำให้มีการเปิดเผยตนเองมากยิ่งขึ้น เช่น สีผิว สีดวงตา เพศ อายุ หรือพฤติกรรมของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นรับรู้ได้ และหากต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มีมากขึ้น แต่ละฝ่ายจะต้องพยายามเปิดเผยข้อมูลของกันและกันให้รับรู้ด้วย
  2. บริเวณจุดบอด (blind) – เป็นบริเวณที่คนอื่นรู้แต่ตนเองกลับไม่รู้ เช่น บางคนขมวดคิ้วเวลาโกรธ บางคนเผลอกัดเล็บเมื่อตื่นเต้น ซึ่งเป็นอาการที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว หากบุคคลรู้จุดบอดของตนเองก็จะสามารถพัฒนาการสื่อสารระหว่างบุคคลได้ ด้วยการยอมรับปฏิกิริยาตอบกลับของผู้อื่นต่อพฤติกรรมของตนที่ได้แสดงออก และพร้อมที่จะพัฒนาเพื่อขจัดให้จุดบอดนี้ลดน้อยลง
  3. บริเวณซ่อนเร้น (hidden) – เป็นบริเวณที่ตนเองรู้แต่คนอื่นไม่รู้ เป็นลักษณะปกปิดข้อมูลไม่อยากให้คนอื่นทราบ เป็นเรื่องราวที่เป็นความลับของตน เช่น ความฝัน ประสบการณ์น่าอับอายของตน แต่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยให้กับบางคนที่บุคคลไว้วางใจและใกล้ชิดสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอย่างมาก
  4. บริเวณที่ไม่รู้ (unknown) – เป็นบริเวณที่ทั้งตนเองและผู้อื่นไม่รู้ ทำให้ไม่รู้จักตนเอง โดยเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องลึกภายใต้จิตสำนึกของตนเรา ปมด้อยบางอย่างที่ตนเองไม่เคยรู้ แต่บริเวณนี้ก็สามารถทำให้ลดลงได้แม้ไม่รู้ โดยการสื่อสารระหว่างบุคคลให้มากขึ้น เพื่อดึงสิ่งเหล่านั้นออกมาหรือลบจุดด้อยให้ลดลง

 

ทั้งนี้ อาณาเขตทั้งสี่ของแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากัน และแตกต่างกันตามลักษณะของบุคคล อาณาเขตดังกล่าวเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นจะส่งผลถึงระดับการเปิดเผยตนเองของบุคคล เช่น หากอาณาเขตของบริเวณที่เปิดเผยมาก ก็จะส่งผลให้อาณาเขตของส่วนอื่นลดลง และส่งผลต่อระดับการเปิดเผยตนเองที่สูงขึ้นของบุคคลนั้น

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

ฐิติภูมิ งามสมจันทร์, ธนาภรณ์ กองพล, & เอมิกา รุ่งวานิชการ. (2553). อิทธิพลของแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ แรงจูงใจใฝ่ใกล้ชิด การเปิดเผยตนเองและการเห็นคุณค่าในตนเองต่อการใช้แอพพลิเคชั่น “การรับเพื่อน” ในเฟชบุ๊ก [โครงการวิชาการวิทยาศาสตรบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://digiverse.chula.ac.th/Info/item/dc:9115

 

ณัฐรดา อยู่ศิริ, สุพิชฌาย์ นันทภานนท์, & หทัยพร พีระชัยรัตน์. (2557). ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเผยตนเอง ความเหงา และการทำหน้าที่ของครอบครัวต่อพฤติกรรม การเสพติดอินเทอร์เน็ต [โครงการวิชาการวิทยาศาสตรบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://digiverse.chula.ac.th/Info/item/dc:9260

 

 

Share this content