เริ่มต้นปีใหม่แล้ว มีใครตั้งปณิธานปีใหม่ว่าอยากจะทำงานหนักและยอมเหนื่อยมากกว่าเดิมไหมคะ?
ถ้ามี…เหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้คุณอยากทำงานหนักขึ้นคืออะไร?
เหตุผลของแต่ละคนคงต่างกันไป บางคนก็อยากลืมตาอ้าปาก พ้นจากความยากจน บ้างก็เพื่อให้มีทัดเทียมเพื่อนบ้าน เข้าสังคมได้ไม่อายใคร บางคนอาจตั้งใจจะทำงานหนักเพื่อจะได้มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นับหน้าถือตามากขึ้น แต่บางคนก็ทำงานหนักเพื่อพัฒนาตนเอง อยากเก่ง อยากเรียนรู้มากกว่าเดิม
หากมองผ่านมุมของทฤษฎีทางจิตวิทยา ก็อาจเทียบเคียงได้กับทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow, 1943) ที่กล่าวว่า แรงจูงใจที่ผลักดันให้มนุษย์เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมานั้น แบ่งได้เป็นห้าลำดับขั้น จากพื้นฐานที่สุด คือ ความต้องการทางชีวภาพที่จำเป็นต่อการอยู่รอด (น้ำ อาหาร อากาศ) ความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ไปจนถึงความต้องการทางสังคม ได้แก่ ความต้องการเป็นที่รัก ความต้องการการยอมรับนับถือ ไปจนถึงขั้นสูงสุดที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อความต้องการพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ (self-actualization)
แต่นักจิตวิทยาและคนทั่วไปล้วนได้เห็นตัวอย่างพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยทฤษฎีลำดับขั้นของมาสโลว์ (1943) เช่น มหาตมะ คานธี ผู้นำต่อต้านการกดขี่ของรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดีย เนลสัน เมนเดลา ผู้นำต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ หากลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ต้องได้รับการเติมเต็มในขั้นพื้นฐานก่อนจึงจะก้าวผ่านไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นได้ และจบลงที่การพัฒนาตัวตนของตนเองในขั้นที่ห้าเป็นขั้นสูงที่สุด ก็ยากที่จะอธิบายว่าทำไมจึงมีบุคคลที่ยอมละทิ้งความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุด คือ อาหาร เสรีภาพ และความปลอดภัยของตัวเอง โดยยอมติดคุก ถูกทำร้าย และอดอาหาร เพื่อประโยชน์และชีวิตที่ดีกว่าของผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นญาติมิตรของตนเอง
อันที่จริง มาสโลว์เองก็เห็นข้อจำกัดนี้ของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ และได้เสนอแนวคิดเพิ่มเติมไว้แล้ว โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อตั้งคำถามกับบุคคลที่อยู่ในขั้นการพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ (self-actualizing) ว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้น ผลักดัน บันดาลใจเขาในการทำสิ่งที่เขาทำอยู่ คำตอบที่ได้มักเป็นสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า เหนือกว่าตัวตนของบุคคล เช่น ความดี ความงาม ความจริง ความยุติธรรม ซึ่งมาสโลว์มองว่าเป็นความต้องการที่ก้าวข้ามขอบเขตของตัวตน (self-transcend) และน่าจะเป็นขั้นที่เหนือกว่า self-actualization (Maslow, 1969)
แต่มาสโลว์ป่วยและเสียชีวิตก่อนที่จะได้พัฒนาส่วนต่อขยายของทฤษฎีนี้ให้สมบูรณ์ นักจิตวิทยารุ่นต่อมา (Koltko-Rivera, 2006) ประมวลแนวคิดของมาสโลว์และสรุปนิยามของความต้องการที่เหนือตัวตน (self-transcendence) ไว้ว่า เป็นความต้องการที่จะส่งเสริม สนับสนุนประเด็นสำคัญบางอย่างที่เหนือกว่าตัวตนหรือผลประโยชน์ของบุคคล และได้เป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าขอบเขตของตัวตน
แนวคิดดังกล่าวของมาสโลว์นั้นเป็นต้นกำเนิดของจิตวิทยากลุ่มที่เรียกว่าจิตวิทยาเหนือตน (Transpersonal Psychology) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ใช่กระแสหลักในวงการจิตวิทยา แต่ก็มีงานวิจัยที่นำแนวคิดแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน (self-transcendent motive) ไปทดสอบเชิงประจักษ์ เช่น งานวิจัยล่าสุดของทีมนักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกางานหนึ่ง ตั้งคำถามว่า ระหว่างแรงจูงใจอยากทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง (self-interest) กับแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน (Self-transcendence) แรงจูงใจแบบใดที่ทำให้คนเรามีความเพียรพยายาม กำกับควบคุมการกระทำของเราเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ดีกว่ากัน
ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่านักเรียนนักศึกษาที่มีแรงจูงใจที่เหนือตัวตนสูง ซึ่งได้แก่ คนที่ตอบว่าเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “ฉันอยากเรียนสิ่งที่จะช่วยให้ฉันสร้างผลกระทบทางบวกแก่โลกนี้ได้” “ฉันอยากได้ทักษะที่ฉันสามารถนำไปใช้ทำงานที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น” และ “ฉันอยากเป็นคนที่มีการศึกษาที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้” มักมีความอดทน เพียรพยายามในการทำงานที่ยากและน่าเบื่อได้มากกว่า และมีอัตราการลาออกกลางคันน้อยกว่าคนที่มีคะแนนแรงจูงใจที่เหนือตัวตนต่ำ (Yeager et al, 2014)
นอกจากนี้ ในการทดลองซึ่งผู้วิจัยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน อยากทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ด้วยชุดกิจกรรมที่ประกอบด้วยการเชิญชวนให้คิดถึงโลกที่ดีกว่าเดิม และคิดว่าตนเองจะมีส่วนช่วยให้โลกในอุดมคตินั้นเป็นจริงได้อย่างไรบ้าง ให้อ่านตัวอย่างข้อความที่ระบุว่านักเรียนรุ่นก่อนๆ ได้เขียนไว้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการมองว่าการเรียนจะช่วยให้เขาออกไปช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร และสุดท้ายให้เขียนข้อความฝากถึงรุ่นน้องที่จะมาเรียนวิชาเดียวกันในปีหน้า
ผลการทดลองพบว่า นักศึกษาที่ได้ทำกิจกรรมกระตุ้นแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตนเหล่านี้ ตั้งใจเรียนมากกว่า ศึกษาเนื้อหาที่เรียนอย่างลึกซึ้งกว่า และอดทนอดกลั้นแม้งานที่ต้องทำจะยากและน่าเบื่อ ไม่วอกแวกไปทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า และในเวลาต่อมาก็มีผลการเรียนดีกว่านักศึกษากลุ่มที่ให้คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวที่จะได้รับจากการตั้งใจเรียน (Yeager et al., 2014)
ผลการวิจัยเชิงประจักษ์นี้ สอดคล้องกับความคิดของฟริดริก นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน และวิคเตอร์ แฟรงเคิล (Victor Frankle) นักจิตวิทยาชาวออสเตรียที่กล่าวไว้ว่า เมื่อชีวิตของบุคคลมีเป้าหมายที่มีความหมายแล้ว เขาจะสามารถอดทนและทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง และดูเหมือนเป้าหมายที่เหนือกว่าตัวตน (self-transcendence) นั้น จะมีความหมายและมีพลังมากยิ่งกว่าเป้าหมายที่มีขอบเขตอยู่เพียงแค่ผลประโยชน์หรือความสุขของตนเอง ทำให้คนเราสามารถทำสิ่งที่ยาก เหน็ดเหนื่อย และน่าเบื่อได้โดยไม่ท้อถอย ข้อค้นพบนี้อาจช่วยอธิบายส่วนที่ทฤษฎีลำดับ
ขั้นความต้องการห้าขั้นของมาสโลว์ยังอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีคนบางคนที่ทำอะไรเพื่อคนอื่นโดยไม่สนใจผลประโยชน์ ความสุขสบาย หรือความปลอดภัยส่วนตัวเลย เพราะเมื่อบุคคลไปพ้นจากความต้องการที่จะทำเพื่อตัวเองแล้ว ก็เป็นไปได้ที่เขาจะยอมทำพฤติกรรมที่อาจทำให้ตนเองลำบาก หากการกระทำนั้นตอบโจทย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น สังคม ประเทศ มนุษยชาติ
มาถึงตรงนี้แล้ว ทำให้นึกถึงพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชได้ทรงตรากตรำพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัย เพื่อช่วยให้ประชาชนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเอง และทำให้ประเทศไทยของเราแข็งแรง สำหรับคนไทยทั้งประเทศ นี่คงเป็นแบบอย่างที่สะท้อนแนวคิดเรื่องการทำเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตัวตนได้อย่างชัดเจนที่สุด
เหมือนตอนหนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ที่ว่า
“นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย”
ปณิธานปีใหม่ของคุณคืออะไรนะคะ?
รายการอ้างอิง
Koltko-Rivera, M.E. (2006) Rediscovering the later version of Maslow’s hierarchy of needs: Self-transcendence and opportunities for theory, research, and unification. Review of General Psychology, 10(4), 302–317. https://doi.org/10.1037/1089-2680.10.4.302
Maslow, A. H. (1943). A theory of human motivation. Psychological Review, 50, 370 –396. https://doi.org/10.1037/h0054346
Maslow, A. H. (1969). The farther reaches of human nature. Journal of Transpersonal Psychology, 1, 1–9. http://www.humanpotentialcenter.org/Articles/FartherReaches.pdf
Yeager, D. S., Henderson, M., Paunesku, D., Walton, G., Spitzer, B., D’Mello, S., & Duckworth, A. L,. (2014). Boring but important: A self-transcendent purpose for learning fosters academic self-regulation. Journal of Personality and Social Psychology, 107, 559–580. https://doi.org/10.1037/a0037637
บทความวิโดย
อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University