ความสำคัญของการนอนหลับต่อการทำงานของสมอง

06 May 2024

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

 

การนอนหลับเป็นกระบวนการที่จำเป็นสำหรับสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของสมอง ซึ่งเป็นส่วนควบคุมทุกระบบในร่างกายของมนุษย์ หากขาดการนอนหลับอย่างเพียงพอ สมองจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางปัญญาและอารมณ์ของเรา ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับและการรู้คิดเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ในจิตวิทยาสมัยใหม่ การนอนหลับซึ่งเป็นความจำเป็นทางชีวภาพส่งผลต่อกระบวนการการรู้คิดหลายประการ รวมถึงความจำ การให้ความสนใจ และการทำงานของผู้บริหาร แบบแผนการนอนหลับทั้งที่ดีและแย่ มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ ความทรงจำ และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของเรา

 

ในช่วงการนอนหลับจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 90 นาที สมองจะผ่านรอบการนอนหลับ 4 ระยะ ได้แก่

 

1. ระยะหลับตื้น (NREM1; เริ่มง่วง)

เป็นช่วงที่เริ่มหลับ กล้ามเนื้อเริ่มผ่อนคลายและเคลื่อนไหวช้าลง เราอาจรู้สึกเหมือนกำลังจะหลับและตื่นขึ้นทันที

 

2. ระยะก่อนหลับลึก (NREM2; ผล็อยหลับหรือเคลิ้มหลับ)

เป็นช่วงที่ร่างกายเข้าสู่การนอนหลับอย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น หัวใจเต้นช้าลง และอุณหภูมิร่างกายลดลง การนอนหลับในช่วงนี้ช่วยให้ร่างกายพร้อมสำหรับการนอนหลับลึก

 

3. ระยะหลับลึก (NREM; ช่วงหลับลึก)

เป็นช่วงที่สมองทำงานช้าลง และเป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง เช่น ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

 

4. ระยะหลับฝัน (REM; REM sleep)

เป็นช่วงที่ดวงตาเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็วแม้จะยังหลับตาอยู่ ความฝันต่างๆ จะเกิดขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากสมองตื่นตัวมากขึ้นกว่าช่วงอื่นๆ การเต้นของหัวใจและการหายใจเร็วขึ้นใกล้เคียงกับขณะตื่น แต่กล้ามเนื้อจะขยับตัวไม่ได้ชั่วคราวเพื่อป้องกันการตอบสนองทางร่างกายขณะเกิดความฝัน

 

 

The sleep cycle goes through stages of light sleep, deep sleep, and active REM sleep.

ภาพจาก https://www.sleepfoundation.org/sleep-calculator

 

 

การนอนหลับมีบทบาทสำคัญในการรวมข้อมูลใหม่เข้าสู่ความทรงจำระยะยาว ฮิปโปแคมปัสและนีโอคอร์เท็กซ์ทำงานร่วมกันในระหว่างการนอนหลับ โดยเฉพาะในช่วงระยะนอนหลับลึกและระยะหลับฝันเพื่อถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวันเข้าสู่การเก็บระยะยาว (Walker & Stickgold, 2004) ระยะนอนหลับลึก เป็นช่วงที่ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเติบโต (growth hormones) ซ่อมแซมเซลล์ สร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างพลังงาน และฟื้นฟูสุขภาพจากความเครียดในช่วงระหว่างวันที่ผ่านมา และเกี่ยวข้องกับกระบวนการนำความรู้ใหม่ ความทรงจำใหม่ มาเก็บให้เป็นความทรงจำถาวรในสมองเป็นความทรงจำระยะยาว (memory consolidation) ในขณะที่การนอนหลับฝันจะช่วยเสริมสร้างความจำระยะยาว โดยนำประสบการณ์ต่างๆ มาจัดระบบและบันทึกลงในสมองส่วนความจำระยะยาว (Diekelmann & Born, 2010) การนอนหลับที่เพียงพอช่วยให้เรารักษาและเรียกข้อมูลได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเรา

 

การนอนหลับยังส่งผลต่อการให้ความสนใจและโฟกัสอีกด้วย ซึ่งเป็นฟังก์ชันการรู้คิดที่สำคัญในการทำกิจกรรมประจำวัน การนอนที่เพียงพอช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทในการประมวลผลข้อมูล ซึ่งมีผลต่อการสังเกตและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว นอกจากนี้การนอนหลับยังมีส่วนช่วยในการควบคุมอารมณ์และความเครียด ซึ่งสามารถลดความฟุ้งซ่านและทำให้เราสามารถให้ความสนใจ โฟกัสกับสิ่งต่างๆได้ง่ายมากยิ่งขึ้น (Banks et al., 2007) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการอดนอนแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถลดความตื่นตัว ความเร็วในการตอบสนอง และการให้ความสนใจที่ต่อเนื่องได้ (Lim & Dinges, 2010) การขาดการให้ความสนใจและโฟกัสส่งผลทำให้มีผลิตภาพ (productivity) ลดลง มีโอกาสที่จะตัดสินใจที่ผิดพลาดมากขึ้น และเสี่ยงในการทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น โดยเฉพาะในการทำงานที่เสี่ยงสูง เช่น การขับรถหรือการใช้เครื่องจักร

 

ดังนั้นหากเรานอนไม่พอจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง การอดนอนระยะสั้นส่งผลต่อการทำงานของการรู้คิดทันที เช่น การให้ความสนใจ ความจำ และความสามารถในการแก้ปัญหา การนอนไม่พอเพียงหนึ่งคืนสามารถนำไปสู่การขาดการรู้คิดที่คล้ายกับการเมาแอลกอฮอล์ ทำให้เวลาตอบสนอง ความสามารถในการเรียกคืนความจำ และการตัดสินใจลดลง แต่หากเป็นการขาดการนอนหลับเรื้อรังสามารถนำไปสู่การขาดการรู้คิดในระยะยาวได้ งานวิจัยเชื่อมโยงการอดนอนเป็นเวลานานกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคความเสื่อมประสาท เช่น อัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการสะสมของแผ่นเบต้าอะไมลอยด์ที่เพิ่มขึ้นจากการนอนหลับที่ไม่ปกติ ส่งผลทำให้สมองเสื่อมได้ มีปัญหาในการคิดวิเคราะห์ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รวมถึงลดความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ (Ju et al., 2014) นอกจากนี้ การขาดการนอนหลับยังเกี่ยวข้องกับภาวะความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ทางกายภาพ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะซึมเศร้า เนื่องจากการขาดการนอนหลับส่งผลต่อการควบคุมระดับฮอร์โมนและกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้ใหญ่ควรนอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสมาธิจดจ่อ สร้างความทรงจำใหม่ ควบคุมอารมณ์ได้ดี และมีพลังงานเพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน

 

อ้างอิง

Banks, S., & Dinges, D. F. (2007). Behavioral and physiological consequences of sleep restriction. Journal of clinical sleep medicine : JCSM : official publication of the American Academy of Sleep Medicine, 3(5), 519–528. https://doi.org/10.5664/jcsm.26918

Diekelmann, S., & Born, J. (2010). The memory function of sleep. Nature reviews. Neuroscience, 11(2), 114–126. https://doi.org/10.1038/nrn2762

Ju, Y. E., Lucey, B. P., & Holtzman, D. M. (2014). Sleep and Alzheimer disease pathology–a bidirectional relationship. Nature reviews. Neurology, 10(2), 115–119. https://doi.org/10.1038/nrneurol.2013.269

Lim, J., & Dinges, D. F. (2010). A meta-analysis of the impact of short-term sleep deprivation on cognitive variables. Psychological Bulletin, 136(3), 375–389. DOI: 10.1037/a0018883

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรี นานาชาติ (JIPP) อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน และอาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

 

Share this content