การถูกปฏิเสธจากกลุ่ม – Social/Group Rejection

25 Apr 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

การถูกปฏิเสธจากกลุ่ม คือ การที่สมาชิกในกลุ่มแสดงพฤติกรรมเพิกเฉย ไม่สนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมากเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย การถูกปฏิเสธหรือถูกขับออกจากกลุ่มจึงอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดเช่นเดียวกับการเจ็บปวดทางกาย อันเป็นกลไกพื้นฐานที่ส่งสัญญาณว่ามีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้น

 

กล่าวได้ว่าการถูกปฏิเสธจากกลุ่มเป็นการลงโทษทางสังคมวิธีหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่ถูกปฏิเสธรับรู้ว่าตนเองมีโอกาสที่จะอยู่รอดในสังคมได้น้อยลง รู้สึกว่าตนไร้ค่า เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีตัวตน เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ความตายทางสังคม

 

การถูกปฏิเสธจากกลุ่มเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ในกลุ่มเด็ก จะใช้การปฏิเสธหรือขับออกจากกลุ่มเวลาที่เล่นด้วยกัน ในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงจะใช้การปฏิเสธเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะกัน ส่วนในผู้ใหญ่ เกือบทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์เป็นผู้ปฏิเสธและถูกปฏิเสธมาแล้วทั้งสิ้น

 

ในการสำรวจชาวอเมริกันกว่า 2,000 คน พบว่า มีจำนวน 67% รายงานว่าเคยใช้วิธีเงียบ ไม่พูดกับคนรักเมื่อต้องการปฏิเสธ มี 75% ระบุว่าเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกคนรักไม่พูดด้วย และจากคำรายงานของพลเมืองผู้สูงอายุพบว่า การถูกสังคม เพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกครอบครัวเพิกเฉย มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจในชีวิต นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการประเมินตนเองในทางลบ และบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการถูกปฏิเสธมักรู้สึกทางลบต่อคนที่ปฏิเสธตน อย่างไรก็ดี เมื่อมีโอกาสบุคคลที่ถูกปฏิเสธก็มักพยายามทำดีเพื่อที่ตนจะได้กลับไปเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เพื่อป้องกันความรู้สึกไม่สบายใจจากการถูกปฏิเสธ บุคคลจะพยายามนำความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคืนมาด้วยการพยายามจดจำข้อมูลของกลุ่มมมากขึ้น รักผู้อื่นมากขึ้น หรือกระทั่งคล้อยตามบรรทัดฐานของกลุ่มมากขึ้นแม้ว่าตนจะไม่เห็นด้วย

 

 

ความแตกต่างระหว่างบุคคลต่อการตอบสนองเมื่อถูกปฏิเสธจากกลุ่ม

 

1. การเห็นคุณค่าแห่งตน (Self-esteem)

 

บุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ เมื่อถูกปฏิเสธจะรายงานอารมณ์ลบว่ารู้สึกเจ็บปวดมากกว่า และจะมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือรู้สึกได้ไวกว่าบุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองสูง

 

2. ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cultural differences)

 

ในด้านความรู้สึกต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ในวัฒนธรรมตะวันตก (อเมริกา) ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคือการเป็นส่วนหนึ่งอย่างหลวม ๆ กว้าง ๆ หมายความว่าชาวตะวันตกจะมีความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะยืดหยุ่น เพราะเหตุนี้ชาวตะวันตกจะเชื่อใจและสนิทสนมกับคนแปลกหน้าได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ถูกคนแปลกหน้าทำร้ายจิตใจได้ง่าย ๆ เพราะมีจิตใจเปิดกว้าง ขณะที่ชาวตะวันออก (ญี่ปุ่น) ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคือการเป็นส่วนหนึ่งอย่างมั่นคงปลอดภัย หมายความว่าพวกเขาจะคาดหวังในความสัมพันธ์ว่าจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต ดังนั้นชาวตะวันออกจะระแวดระวังในการปฏิสัมพันธ์หรือสนิทสนมกับคนแปลกหน้า ทั้งนี้ผู้ร่วมการทดลองจากทั้งสองวัฒนธรรมต่างรู้สึกไม่สบายใจต่อการถูกปฏิเสธเหมือนกัน แต่ผู้วิจัยพบว่า ชาวอเมริกันในตอนแรกจะเชื่อในคู่รักของตนมาก และเมื่อถูกปฏิเสธพวกเขาลดความประทับใจที่มีต่อคู่รักในด้านความรู้สึกอบอุ่น คุณสมบัติ และความเข้ากันได้ ส่วนชาวญี่ปุ่นเมื่อถูกปฏิเสธ จะลดแค่ความรู้สึกอบอุ่นที่มีต่อคู่รักเท่านั้น แต่ยังคงความประทับใจต่อคู่รักในด้านคุณสมบัติและความเข้ากันได้ไว้ที่ระดับกลาง ๆ

 

3. รูปแบบความผูกพัน (Attachment style)

 

เด็กที่ค่อนข้างขาดความอบอุ่น เช่น ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง มีแนวโน้มจะก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่ของตนและมีความอบอุ่น ซึ่งการตอบสนองในวัยเด็กนี้จะส่งผลระยะยาวไปถึงวัยผู้ใหญ่ คือ เมื่อถูกปฏิเสธจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อด้านสังคม บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (secure) สามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และมักไม่กลัวการถูกปฏิเสธ มีความมั่นคงทางอารมณ์สูง ส่วนบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบขาดความใส่ใจ (dismissing) เมื่อถูกปฏิเสธจะไม่แสดงอาการหรืออารมณ์โกรธออกมา แต่จะลดความสัมพันธ์กับผู้อื่นลง ขณะที่บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (preoccupied) และแบบหวาดกลัว (fearful) จะแสดงความโกรธเมื่อถูกปฏิเสธมากกว่าแบบอื่น ๆ

 

4. รูปแบบความเป็นมิตร (Agreeableness)

 

ลักษณะความเป็นมิตรเป็นหนึ่งในห้าของบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ ที่มีลักษณะเป็นมิตรกับผู้อื่น มีความยืดหยุ่น สามารถพูดคุยตกลงรอมชอมกับผู้อื่นได้ดี มักมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง บุคคลที่มีลักษณะนี้สูงจึงมักใส่ใจในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่น เมื่อถูกปฏิเสธบุคคลเหล่านี้จะมีการตอบสนองที่หนักและรุนแรงกว่า

 

5. ลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธ (Rejection sensitivity)

 

บุคคลที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธสูงมีแนวโน้มจะคาดการณ์ว่าตนจะถูกปฏิเสธอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์อาจไม่ได้เกิดขึ้น บุคคลมักตีความสถานการณ์ที่กำกวมว่าตนกำลังจะถูกปฏิเสธ ดังนั้นจึงมักตอบสนองต่อการถูกปฏิเสธอย่างเป็นปฏิปักษ์ ด้วยความวิตกกังวลและใส่ใจมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น การที่บุคคลกลัวการถูกปฏิเสธและมักวิตกกังวลว่าจะจะถูกปฏิเสธนี้พัฒนามาจากประสบการณ์การถูกปฏิเสธในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้น การรับรู้ว่าตนถูกปฏิเสธเป็นตัวกระตุ้นทั้งอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมามากเกินความจริง ทั้งอารมณ์โกรธ อิจฉา และพยายามควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม บุคคลที่มีความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธสูงมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจมีการปฏิเสธ กระทั่งหลีกเลี่ยงการการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่บุคคลจะได้รับการยอมรับในสังคมก็ลดน้อยลงไปด้วย

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการถูกปฏิเสธจากกลุ่มต่อการคล้อยตามกลุ่ม : การศึกษาอิทธิพลกำกับของความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธต่ออิทธิพลส่งผ่านของความก้าวร้าว” โดย ธีร์กัญญา เขมะวิชานุรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46118

 

ภาพประกอบ https://www.rawpixel.com/

Share this content