“จิตวิทยาการกีฬา” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Sport Psychology” เป็นสาขาวิชาที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการกีฬาของชาติเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงเวลานี้คนไทยเราสนใจกีฬาและการออกกำลังกายมากขึ้น เรามีนักกีฬาที่เป็นแชมป์ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้องเมย์ (รัชนก อินทนนท์) โปรเมย์ (เอรียา จุฑานุกาล) และ น้องณี (สุธิยา จิวเฉลิมมิตร) รวมถึงกีฬาประเภททีมที่ไทยเราติดอันดับโลกหลายประเภท เช่น วอลเลย์บอลหญิง ฟุตซอลชาย ลีกกีฬาในประเทศหลายประเภทก็กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ จึงน่าที่จะถึงเวลาที่เราจะหันมาสนใจในเรื่องของจิตวิทยาการกีฬาอย่างจริงจังเสียที
เมื่อก่อนนี้ เรามักจะคิดกันว่านักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์จะเป็นผู้ชนะเสมอ เราจึงไปเน้นที่การฝึกฝนทางร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว นักกีฬาในยุคนั้นจึงถูกมองว่ามีแต่ความแข็งแรง ในส่วนของความฉลาดหรือความสามารถด้านอื่น ๆ ได้ถูกมองข้ามไป แต่หลังจากที่สาขาวิชาทางจิตวิทยาการกีฬาเกิดขึ้น ทำให้มุมมองเรื่องการฝึกนักกีฬาเปลี่ยนไป นักกีฬาที่มีแต่ความแข็งแรงของร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่มีโอกาสที่จะชนะในการแข่งขันได้เลย ถ้าไม่รู้จักใช้ปัญญาในการวางแผนในการแข่งขัน จะเห็นจากตัวอย่าง เช่น โมฮัมมัท อาลี อดีตแชมป์นักมวยรุ่น เฮฟวีเวท ที่ใช้ปัญญาในการวางแผนชกกับคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่า โดยการพูดยั่วยุให้คู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ เมื่อคู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ โอกาสที่อาลีจะชนะก็มากขึ้น หรืออย่างเช่นถ้าเราดูการแข่งขันเทนนิสระดับโลก เราจะสังเกตเห็นว่านักเทนนิสที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า มักตีได้ดีกว่าผิดพลาดน้อยกว่า จึงมีโอกาสชนะได้มากกว่า ในกรณีที่มีฝีมือไม่ต่างกันมากนัก
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักกีฬาก็คือคน คนก็จะต้องมีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งร่างกายและจิตใจย่อมมีผลต่อกันและกัน ร่างกายที่อ่อนแอย่อมทำให้จิตหดหู่ ขณะเดียวกัน จิตใจที่เบิกบานย่อมทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าเช่นกัน และถ้าจะถามว่า ร่างกายที่แข็งแรงแต่มีจิตใจที่หดหู่ มีโอกาสเป็นไปได้ไหม แล้วคนที่มีร่างกายที่อ่อนแอจะมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นไปได้ไหม คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้คำถามที่ตามมาคือ คนที่อ่อนแอกว่าแต่มีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะมีโอกาสที่จะชนะคนที่แข็งแรงกว่าแต่มีจิตใจที่หดหู่ ได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าอย่างนั้นสภาพจิตใจของนักกีฬาก็สำคัญกว่าสภาพของร่างกายอย่างนั้นสิ ก็ไม่เชิง ความจริงแล้วทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬาควรจะต้องสอดคล้องกัน โอกาสที่จะชนะในการแข่งขันจึงจะเกิดขึ้นได้
ในประเทศไทยเรานั้น มีโรงเรียนกีฬา มีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาพลศึกษาที่ดีมากมาย ดังนั้นถ้าพูดในด้านการพัฒนาทางด้านร่างกายก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเรามีองค์ความรู้ และเราทำได้ดี แต่ถ้ามองในแง่ของการพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจแล้ว เรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากวงการกีฬาในบ้าน เรายังให้ความใส่ใจในเรื่องทางด้านจิตวิทยาน้อยไป แต่ก็น่าเป็นที่ยินดีได้ในระดับหนึ่งที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้พยายามหานักจิตวิทยาไว้ประจำทีมนักกีฬาไทยในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ ถึงแม้ว่างบประมาณในด้านนี้ยังค่อนข้างน้อย ประกอบกับการที่เรามีนักจิตวิทยาที่สนใจทางด้านการกีฬาไม่มากนัก จึงทำให้นักจิตวิทยาหนึ่งคนต้องดูแลนักกีฬาจำนวนมากและดูแลหลายประเภทของกีฬา แต่ก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะมีนักจิตวิทยาหนึ่งคนต่อหนึ่งทีมเป็นอย่างน้อย เมื่อถึงเวลานั้นนักกีฬาของเราก็คงจะมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่จะแข่งขันและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเราเป็นอย่างมาก
ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการกีฬาพัฒนามาได้ราว ๆ 50 กว่าปีแล้ว โดยเริ่มจากทั้งทางยุโรปและอเมริกา โดยที่ศาสตร์นี้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ที่มีผลต่อการเข้าร่วมและการแสดงออกในการแข่งขันกีฬา และการออกกำลังกาย รวมถึงผลทางจิตวิทยาที่เกิดจากการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายที่มีต่อนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย ในช่วงต้น (ทศวรรษที่ 1960) ได้มีการตั้งสมาคมระดับนานาชาติขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เรียกสมาคมนั้นว่า ISSP (International Society of Sport Psychology) โดยมี Dr. Ferruccio Antonelli จิตแพทย์ชาวอิตาลีเป็นนายกสมาคมคนแรก และในปี 1968 ได้มีการจัดประชุมของสมาคมขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และในปีนั้นเองนักจิตวิทยาการกีฬาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งสมาคมของตนเองขึ้นเรียกชื่อสมาคมว่า North America Society for the Psychology of Sport and Physical Activity จากวันนั้นเองจิตวิทยาการกีฬาก็เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น ได้มีการวิจัยเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งในระยะแรกของการวิจัยนั้นนักจิตวิทยาการกีฬาจะให้ความสนใจปัจจัยทางด้านบุคคลิกภาพที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา แต่ต่อมาความสนใจเรื่องดังกล่าวเริ่มลดหายไป มาสนใจในประเด็นของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่า ปัจจัยทางด้านปัญญาหรือความคิดของบุคคลที่มีต่อสภาพแวดล้อมนั้น น่าจะมีผลต่อการแสดงออกในการเล่นกีฬา
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 จึงมีการให้ความสนใจศึกษาถึงปัจจัยทางด้านความคิดและจินตภาคของนักกีฬาที่มีผลต่อการแข่งขันของนักกีฬา โดยตั้งคำถามว่า นักกีฬาควรคิดอย่างไร ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้เป็นอย่างดี จากการวิจัยในระยะนั้นพบว่านักกีฬาที่มีความคิดว่า “ฉันทำไม่ได้” มีผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นประสบความล้มแหลวในการแสดงออกในการแข่งขัน ในทางกลับกันว่านักกีฬาที่มีความคิดว่าเขาสามารถทำได้ ก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลนี้เองจึงมีความเชื่อว่าความคิดทางบวกน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญประเด็นหนึ่ง ที่จะทำให้นักกีฬาสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลจากการที่นักกีฬาเหล่านี้มีความคิดทางบวกต่อตนเองและประสบชัยชนะในการแข่งขัน ก็ทำให้นักกีฬาเหล่านี้มีการรับรู้ความสามารถของตนเองมากขึ้น และนักกีฬาที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นสามารถที่จะแสดงออกถึงความสามารถของตนเองได้เต็มศักยภาพที่ตนมีอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นักกีฬาเหล่านี้เริ่มสงสัยในความสามารถของตน นักกีฬาเหล่านี้ก็จะแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้ไม่เต็มศักยภาพ อย่างที่เราจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า นักกีฬาก็มีวันที่ฟอร์มดีและฟอร์มตกนั่นเอง
ปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสำคัญถึงปัจจัยทางปัญญา ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการซ้อมและการแข่งขัน ปัจจัยทางปัญญาที่พวกนักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสนใจคือความคิดและความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดทางบวก ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ไม่เฉพาะกับนักกีฬาเท่านั้น หากแต่จะเป็นประโยชน์แก่การใช้ชีวิตของบุคคลทั่วไปอีกด้วย
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้นักกีฬามีการแสดงออกในการแข่งขันได้สม่ำเสมอนั้น คือการที่พวกเขาประสบความสำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่งคือชัยชนะในการแข่งขันนั่นเอง และด้วยปัจจัยนี้ การศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ นั่นคือถ้าเราเกิดความล้มเหลวในชีวิตหรือในการกระทำสิ่งต่าง ๆ เราควรหยุดคิดและหยุดทำสักพัก มาตั้งหลักใหม่ โดยการทำกิจกรรมที่เราสามารถทำได้และจะต้องสำเร็จแน่นอน การทำเช่นนี้จะทำให้ความเชื่อในความสามารถของเราเพิ่มมากขึ้น และเราค่อย ๆ ขยับระดับความยากของงานให้สูงขึ้นอย่างไม่รีบร้อน ก็จะทำให้เราทำงานได้เต็มความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ ก็จะสูงขึ้นตามมาเช่นกัน
นอกจากปัจจัยทางด้านความสำเร็จในการกระทำจะส่งผลต่อการเพิ่มความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ แล้วยังมีอีกอย่างน้อย 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความเชื่อในความสามารถของตนเอง ได้แก่ การพูดของโค้ชที่บอกแก่นักกีฬาว่าพวกเขาสามารถทำได้ก็จะทำให้นักกีฬาเหล่านั้นทำได้ดีในช่วงเวลาการแข่งขันเช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะส่งผลคือ การเห็นต้นแบบ นั่นคือถ้าเราได้เห็นบุคคลอื่นทำได้หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลอื่นว่าเขาทำได้ ก็จะทำให้เราเชื่อว่าเราทำได้เช่นกัน ดังนั้นการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียง ก็จะทำให้เกิดเป็นแรงผลักดันให้เราสามารถเกิดความเชื่อว่าเราทำได้ นอกจากนี้ความไม่วิตกกังวลในการแข่งขันก็จะช่วยให้ความเชื่อในความสามารถของตนเองสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นนักกีฬาน่าจะได้มีการฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าจิตวิทยาการกีฬามิได้มุ่งไปที่นักกีฬาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ความสนใจในบุคคลทั่วไปที่ออกกำลังกายอีกด้วย ดังนั้นพวกฟิตเนสทั้งหลายที่เปิดกันอย่างมากมาย น่าจะมีนักจิตวิทยาการกีฬาประจำศูนย์ด้วยก็จะเป็นการดี
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
ภาพประกอบ https://www.freepik.com/