“ผู้หญิงคิดเลขไม่เก่ง”
“ผู้ชายรับฟังคนอื่นไม่เป็น”
“ผู้หญิงช่างคุยกว่าผู้ชาย”
เราคงเคยได้ยินความเชื่อเหมารวม หรือ stereotype เหล่านี้มาจนชินหูและเชื่อว่านี่เป็นความจริงของโลก แต่ภาพเหมารวมเหล่านี้เป็นความเชื่อ และความเชื่ออาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือความเชื่อนี้มันสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมที่สำคัญในชีวิตของคนได้
ภาพเหมารวม (stereotype) คือ ความเชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มทางสังคมหนึ่ง ๆ นั้นมีลักษณะ นิสัยใจคอ พฤติกรรมเป็นอย่างไร โดยความเชื่อนั้นอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะระบบการรู้คิด (cognition) ของมนุษย์นั้นได้สร้างทางลัดเพื่อช่วยให้เราประหยัดสมองเวลาที่ต้องพบเจอกับคนในกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ
เช่น ถ้าเราเชื่อว่าคนในประเทศหนึ่ง ๆ มาสายเป็นประจำ เราก็จะไม่คาดหวังที่จะเจออีกฝ่ายตรงตามนัด
หรือ เราอาจจะเลือกที่จะปรึกษาปัญหาหัวใจกับพี่สาวที่เป็นพยาบาลแทนพี่ชายที่เป็นวิศวกร เพราะคิดว่าคนนึงน่าจะรับฟังเราดีกว่าอีกคน
บางครั้งภาพเหมารวมนี้อาจจะสะท้อนความจริงบางส่วนหรือตรงกับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ภาพเหมารวมนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราประมวลข้อมูลในสังคมที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น
ด้วยความที่ภาพเหมารวมไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อของคนเพียงคนเดียว แต่คนจำนวนในสังคมเห็นตรงกัน มันจึงแทรกตัวอยู่กับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในทุก ๆ เวลา ราวกับว่ามันอยู่ในทุกอณูของอากาศที่เราหายใจ และความเชื่อเหมารวมนี้สามารถคุกคามจิตใจและพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน (Steele & Aronson, 1997) ที่บัญญัติคำว่า การคุกคามโดยภาพเหมารวม (stereotype threat) จึงเปรียบว่าการคุกคามนี้มันซ่อนตัวอยู่ในอากาศ (A threat in the air)
ภาพเหมารวมนี้มันคุกคามคนเราได้อย่างไร?
นักจิตวิทยาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กข้อหนึ่ง นั่นคือ คะแนนคณิตศาสตร์ของเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงในช่วงประถมนั้นไม่ได้แตกต่างกัน แต่ความแตกต่างของคะแนนสอบเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในวัยมัธยมและมหาวิทยาลัย แถมยังจำกัดอยู่เฉพาะในด้านคณิตศาสตร์เท่านั้น ในขณะที่คะแนนสอบวิชาอื่นของเด็กผู้ชายและผู้หญิงนั้นไม่แตกต่างกัน (บางทีเด็กผู้หญิงได้คะแนนดีกว่าด้วยซ้ำ)
จึงเกิดคำถามว่า…ความแตกต่างของคะแนนเลขนี้เป็นความแตกต่างของความสามารถทางความคิดจริง ๆ หรือเป็นผลมาจากความคิด ความเชื่อ ความคาดหวังทางสังคม
นักจิตวิทยาจึงทดลองให้นักศึกษาชายหญิงมาลองทำข้อสอบเลข โดยนักจิตวิทยาบอกกลุ่มนักศึกษาชายหญิงกลุ่มหนึ่งว่า โดยทั่วไปผู้ชายผู้หญิงจะทำคะแนนในข้อสอบนี้ได้ไม่เท่ากัน แต่นักจิตวิทยาบอกนักศึกษาชายหญิงอีกกลุ่มหนึ่งว่า โดยทั่วไปผู้ชายผู้หญิงได้คะแนนในข้อสอบนี้ไม่ต่างกัน ในความเป็นจริงแล้วข้อสอบเลขทั้งสองชุดนั้น เป็นข้อสอบชุดเดียวกัน แต่ปรากฏว่านักศึกษาหญิงที่ในกลุ่มแรกถูกคุกคามจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่เก่งเลข จนทำคะแนนได้น้อยกว่าเด็กผู้หญิงในกลุ่มที่สองตามความเชื่อนั้นจริง ๆ ในขณะที่นักศึกษาหญิงในกลุ่มที่สองไม่รู้สึกถูกคุกคามและได้คะแนนไม่แตกต่างจากนักศึกษาชาย แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างของคะแนนชายหญิงไม่ได้เป็นเพราะความแตกต่างของความสามารถ แต่เป็นเพราะผู้หญิงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันและคุกคามมากกว่าเมื่อต้องลงมือทำข้อสอบในวิชาที่สังคมมองว่าผู้หญิงไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถ
ในทางตรงกันข้ามผู้ชายก็สามารถประสบปัญหาแบบเดียวกันได้เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีภาพเหมารวมว่าผู้ชายทำได้ไม่ดี เช่น เมื่อต้องรับฟังและทำความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ดังนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่า ก่อนที่เราจะพูด แซว หรือแม้แต่ชมใคร (แม้กระทั่งแซวหรือชมตัวเอง) เกี่ยวกับความเชื่อของภาพเหมารวมเหล่านี้ เช่น “ปล่อยให้พวกผู้ชายเขาคิดเลขกันไปเถอะ” หรือ “เป็นผู้หญิงที่คิดเลขเก่งจังนะ” เรากำลังอาจจะเผยแพร่ภาพเหมารวมผิด ๆ เกี่ยวกับคนกลุ่มต่าง ๆ จนกลายเป็นสถานการณ์ที่คุกคามให้เกิดความกดดัน จนคนกลุ่มนั้นไม่สามารถที่จะแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่
ถ้าจะให้ดีขอให้ชื่มชมกันที่พฤติกรรมโดยไม่ต้องเอาเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือกลุ่มสังคมของคน ๆ นั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง
บทความโดย
อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University