การคุกคามจากภาพในความคิด หมายถึง เหตุการณ์ที่บุคคลต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่กลุ่มของตนมีภาพในความคิดทางลบ และบุคคลรู้สึกตระหนักในตนว่าตนเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น หรือเมื่อบุคคลรับรู้ว่าภาพในความคิดนั้นเกี่ยวของกับตน ซึ่งการคุกคามจากภาพในความคิดอาจส่งผลให้บุคคลแสดงออกได้ด้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น หรือแสดงออกได้ต่ำกว่าศักยภาพของตน
เช่น นักเรียนหญิงที่ถูกบอกว่าผู้หญิงคิดเลขไม่เก่งเท่าผู้ชาย เมื่อทำโจทย์เลข ก็ได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบอกดังกล่าว
หรือกรณีที่ คนแอฟริกันอเมริกันมีภาพในความคิดว่าตนมีความสามารถทางปัญญาด้อยกว่าคนผิวขาว เมื่อให้เล่นกีฬากอล์ฟ กลุ่มที่ได้รับการบอกว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยปัญญา ได้คะแนนการตีกอล์ฟน้อยกว่า กลุ่มที่ได้รับการบอกว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยทักษะทางกีฬา
กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามจากภาพเหมารวม
กลไกที่สามารถอธิบายผลของการเกิดการคุกคามจากการเหมารวมมีหลายประการ เช่น การเกิดความวิตกกังวลในบุคคล และการรบกวนทางความคิด (cognitive interruption) หมายถึง การที่บุคคลคิดมากขึ้นในเรื่องความเกี่ยวข้องของตนเองกับการเหมารวม ทำให้บุคคลถูกดึงความสนใจออกไป ขาดแรงกระตุ้น จนทำให้ผลงานแย่ลงในที่สุด
การคุกคามจากการเหมารวมอาจทำให้ความพยายามของบุคคลในการทำงานลดลงอันเนื่องมาจากความคาดหวังที่ต่ำลง หรืออาจเกิดจากการใช้วิธีหักล้างตนเอง (self-defeating strategies) เช่น การไม่เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่กระตุ้นการเหมารวมของกลุ่มตนเอง หรือลดเวลาในการฝึกฝนหรือการทำงานลง
นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่าการคุกคามจากการเหมารวมทำให้บุคคลมีการควบคุมตนเองที่ลดลง คือทำให้ความสามารถในการควบคุมความสนใจและพฤติกรรมที่ตนต้องการลดน้อยลง เช่น เมื่อนักศึกษาผิวดำถูกเหยียดผิว พวกเขากำกับตนเองได้ยากขึ้นในการเรียน
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามจากการเหมารวม
การคุกคามจากภาพในความคิดนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น
- ความยากง่ายของงาน : ในงานยากบุคคลจะเกิดความสงสัยในความสามารถของตน วิตกกังวลและคับข้องใจทำให้ผลงานแย่ลง
- การประเมินผลงาน : งานที่มีการประเมินทำให้เกิดความกดดันสูงมากกว่างานที่ไม่มีการประเมิน
- การเห็นคุณค่าในตนเอง รูปแบบการมองโลก และความตระหนักในความสามารถของตน : แต่ละคนมีความไวต่อการถูกคุกคามจากภาพในความคิดแตกต่างกัน หากเป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองสูง หรือมองโลกในแง่ดี หรือเรื่องที่มาคุกคามนั้นเป็นเรื่องที่บุคคลมั่นใจในความสามารถ การคุกคามดังกล่าวจะไม่มีผลมากนักหรือไม่มีเลย
- จำนวนบุคคลในกลุ่ม : หากบุคคลที่ถูกคุกคามจากการเหมารวมอยู่ตัวคนเดียวโดยถูกคาดหวังให้เป็นตัวแทนของกลุ่ม อิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมจะมีมากขึ้นและผลงานที่แสดงออกจะด้อยลง เช่น เมื่อผู้หญิงทำข้อสอบกับผู้ชาย จะทำให้ทำได้แย่ลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพิ่มจำนวนผู้ชายที่เข้าสอบด้วย
- ความเด่นชัดของการเหมารวม : เช่น เมื่อผู้หญิงถูกประเมินด้วยผู้ประเมินเพศชายที่มีความเหยียดเพศ
การลดการคุกคามจากการเหมารวม
งานวิจัยศึกษาอิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมต่อความสามารถในหลายด้าน เช่น
- การสนับสนุนให้บุคคลนึกถึงคุณค่าและความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง (self-identity) การยืนยันคุณค่าของตนเอง (valued-affirmation) รวมถึงการให้บุคคลเน้นภาพความคิดของตนในบทบาทอื่นมากกว่า
- การให้ตัวแบบเชิงบวก (positive role model) โดยการเสนอมุมมองที่ทำให้บุคคลมองความสำเร็จของบุคคลตัวอย่างภายในกลุ่ม เช่น ผู้หญิงจะทำข้อสอบเลขได้ดีขึ้นเมื่อผู้คุมสอบเป็นผู้หญิง
ข้อมูลจาก
“ผลของการคุกคามจากภาพในความคิด การเห็นคุณค่าในตนเอง และรูปแบบการอนุมานสาเหตุต่อผลงานด้านคณิตศาสตร์ในนักเรียนหญิงระดับมัธยม ศึกษาตอนปลาย” โดย ธนรักษ์ คุณศรีรักษ์สกุล (2554) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/32107
“อิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมและการดูตัวแบบเชิงบวกต่อการรับรู้การคุกคามจากการเหมารวมและความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของคนที่มีภาวะตาบอดสี” โดย อนุสรณ์ อาศิรเลิศสิริ (2563) https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/75702