สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
ผู้ร่วมการเสวนา
1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์
2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ดำเนินรายการโดย
ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ตอนที่ 1 – สาเหตุการเกิดอาชญากรรมและการป้องกัน
พฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นกับคนปกติได้
ทุกคนมีโอกาสที่จะกระทำความรุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูด มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่ว่าคนที่ทำจะต้องเป็นคนที่มีความผิดปกติถึงจะกระทำ คนผิดปกติบางคนเขาก็ไม่ก้าวร้าว
คนปกติอย่างพวกเราพอถึงเวลาที่พอเหมาะ มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น มี trigger (ตัวกระตุ้น) ก็สามารถเกิดพฤติกรรมความรุนแรงหรือความก้าวร้าวได้ เพราะความก้าวร้าวเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เป็นพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักคือการควบคุมไม่ให้มันแสดงออกนั้นสำคัญกว่า
คนแบบที่มีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและเป็นอันตรายต่อผู้อื่น
เราจะสังเกตได้ว่าในอดีตเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ไม่ค่อยมีเกิดขึ้น ความก้าวร้าวไม่ค่อยแสดงออกลักษณะนี้
เท่าที่ศึกษาลักษณะของสังคม ตอนนี้เกิดปัญหาคล้ายกันทั่วโลกคือเด็กเราอยู่ในสังคมที่เรียกว่าไฮเทคโนโลยี เราถูกสร้างลักษณะบางอย่างขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจ แต่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นั่นคือความหุนหันพลันแล่น (impulsiveness) เนื่องจากเราทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว มีอะไรเราก็กดโทรศัพท์ เราไม่รอ เราไม่ได้สอนเด็กให้ควบคุมตัวเอง มีวินัย ยอมรับกฎระเบียบของสังคม จริง ๆ ไม่ใช่แค่เด็ก ผู้ใหญ่เอง เมื่อก่อนยังคิดช้าๆ รอ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีอะไรกดโทรศัพท์แล้ว
ประเด็นที่สองตามมา ตามหลักจิตวิทยาคนที่มีแนวโน้มแสดงความก้าวร้าวสูง ข้อแรก คือคนที่มองโลกในแง่ร้าย เราพบว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะมีความรู้สึกว่าทำไมตนเองต้องถูกกระทำ ทำไมต้องมาทำกับฉันแบบนี้ แล้วจะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน (นักจิตวิทยาสังคมก็สนใจเรื่องนี้และพยายามเปลี่ยนความคิดของคนให้มองโลกในแง่บวกมากขึ้น คือไม่ใช่ว่าไม่ให้มองลบเลย ก็ไม่ดี เพียงแต่ให้พยายามมองในแง่บวกเป็นหลัก)
ต่อมาคือ การที่เรามองปัญหาไปทางคนอื่น เราไม่ค่อยมองสาเหตุที่ตัวเรา เวลาเราทำอะไรเราไม่มอง แต่เวลาที่คนอื่นทำ เราจะรู้สึกว่าทำไมคนอื่นทำแบบนี้ ทำไมสังคมเป็นแบบนี้ และจะมีแนวคิดว่า เธอทำฉัน ฉันก็ทำเธอ หรือเพื่อปกป้องกันฉันก็ทำเธอก่อน
อีกข้อคือการที่ชอบดูอะไรที่โหดร้าย ก็จะมีแนวโน้มที่จะแสดงออกทางก้าวร้าว แต่ก็อาจจะมีผลตรงข้ามก็ได้ คือพอดูอะไรแบบนี้แล้วก็เหมือนเป็นการได้ระบาย
ปัจจัยที่ทำให้คนก่อเหตุอาชญากรรมคือ มูลเหตุจูงใจ + โอกาส
มูลเหตุจูงใจ คือ การตัดสินใจของคน พฤติกรรมของคน
ส่วนโอกาส คือ ช่วงจังหวะเวลา สถานที่ ที่ทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ เช่น การเข้าถึงอาวุธปืน การเข้าถึงสถานที่
ผู้กระทำความผิดมีลักษณะส่วนบุคคลเช่นไร
ในการศึกษาของต่างประเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงมาเป็นเวลากว่า 20 ปี พบว่า มีลักษณะของผู้ที่กระทำความผิดอยู่ 4-5 ประการ ได้แก่
เป็นคนที่เก็บตัว โดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร เก็บกด ในอเมริกามีเหตุการณ์กราดยิงมากว่า 200 กว่าครั้งในสิบปี (ปีละยี่สิบกว่าครั้ง) มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน
ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะมีลักษณะเช่นนี้ คือ
- ถูก discriminate จากเพื่อน มีปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่มีที่ปรึกษา แนะนำทางออกให้ จึงแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อย่างเช่นกรณีที่โคราชนี้ มีทหารคนอื่นที่โดนโกงเหมือนกัน ถูกกระทำแบบเดียวกัน และมีแนวคิดจะก่อเหตุเหมือนกัน แต่ได้ไปปรึกษาแม่ เมื่อมีคนปรึกษาจึงไม่ได้กระทำ
- เป็นคนที่ถูกกระทำมาในวัยเด็ก เช่น คนที่มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกกระทำจากพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ถูกกระทำจากในโรงเรียนหรือที่ทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียด เช่นในอเมริกา เคยมีเหตุเด็กอายุ 16 ไปกราดยิงเพื่อนในโรงเรียน และได้ให้เหตุผลว่าเขาเกลียดโรงเรียน เกลียดวันจันทร์เท่านั้น เพราะเคยถูกปฏิเสธ และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกกดดัน
- เป็นผู้ที่นิยมหรือคลุกคลี เรียนรู้เกี่ยวกับความรุนแรงมาโดยตลอด เช่น เคยมีผู้ก่อเหตุกราดยิงที่มีพฤติกรรมชอบฆ่าสัตว์ ยิงม้า ยิงสุนัข ชื่นชอบสะสมปืน บางรายมีการเขียนเรียงความที่แสดงถึงความคับแค้นและการฆาตกรรม
- มีการเรียนรู้ศึกษาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา (อย่างจริงจัง) มีการจดบันทึก และวางแผนไว้
ปัจจัยด้านโอกาส
มูลเหตุจูงใจเหล่านี้ เมื่อรวมกับโอกาสในการกระทำความผิด อย่างในอเมริกาที่อาวุธปืนหาง่าย โดยเฉพาะที่มีอานุภาพร้ายแรง เหตุกราดยิงก็เกิดขึ้นได้มากกว่า
อย่างในประเทศไทยแม้เพิ่งเคยเกิดเหตุกราดยิง แต่กรณีที่มีการตายจากอาวุธปืนนับว่ามีมาก เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก เพราะในประเทศไทย เพียงแค่ขับรถปาดหน้ากัน ตบไฟสูงใส่กัน สามีภรรยาขัดแย้งกัน ก็ยิงกันได้ อาวุธปืนมีในครอบครองกันเยอะ คนหนึ่งมีได้ 4-5 กระบอก พ่อแม่มีเก็บไว้ ลูกหยิบไปเล่นที่โรงเรียน แม้แต่ลิงก็เคยมีเหตุลิงหยิบปืนไปเล็งทำท่าจะยิง
ในบางประเทศที่อาวุธปืนหายากอย่างในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน แม้ไม่มีเหตุกราดยิง Mass Shooting ก็จะเป็นลักษณะการใช้อาวุธอื่น Mass killer เช่น เอามีดมาไล่แทงคนในรถไฟ หรือในญี่ปุ่นเคยมีการใช้ยาพิษก่อเหตุในสถานีรถไฟใต้ดิน
ถ้าถามว่าจะป้องกันเรื่องนี้อย่างไร ก็ต้องทำทั้งสองอย่าง คือตัดโอกาสและตัดเหตุจูงใจ
ตัดโอกาส คือเรื่องการควบคุมอาวุธปืน ไม่ให้มีมายิงกันง่าย ๆ แต่เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ยากเพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง บริษัทปืนก็ดี สนามยิงปืน สวัสดิการปืนของหน่วยราชการก็ดี ก็ต้องอาศัยพลังของคนในสังคมช่วยกันผลักดัน เพราะแม้ต่อให้จ่าคนนี้ไม่ไปปล้นอาวุธปืน แต่ตัวเขาเองก็มีปืนอยู่แล้ว 5 กระบอก หรือ ผอ.กอล์ฟเองก็มีอาวุธปืนอานุภาพร้ายแรง
ส่วนการตัดมูลเหตุจูงใจ ก็ต้องเปิดช่องให้คนในสังคมได้มีโอกาสระบาย ไม่ใช่สร้างกฎหรือกติกาที่มีการเอาเปรียบกันได้ จนทำให้คนไม่มีโอกาสได้ระบายหรือคลายความกดดัน
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การลอกเลียนแบบนั้นมี 2 มิติ
- การเรียนรู้จากตัวแบบ คือ เราได้เรียนรู้ว่าตัวแบบกระทำอะไร อย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร
- แรงจูงใจให้กระทำพฤติกรรมตามแบบ นั่นแปลว่า การเรียนรู้พฤติกรรมจากตัวแบบไม่ได้หมายความว่าเราจะทำเลียนแบบ เราต่างรู้ว่าเราจะฆ่าใครอย่างไร ฆ่าตัวเองอย่างไร ขโมยอย่างไร แต่ถามว่าเราจะทำหรือไม่
ดังนั้นตัวแบบไม่ได้ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ ว่าเรามีตัวกระตุ้นให้ต้องการที่จะทำพฤติกรรมนั้นหรือไม่ มีความสามารถที่จะทำได้หรือไม่ เช่น เรารู้วิธีการปล้นธนาคาร เราคิดอยากปล้นธนาคาร เราไปหาอาวุธได้ แต่เมื่อธนาคารมีวิธีการป้องกันที่ดี ปล้นไปแล้วอาจจะติดคุกหรือตาย เราก็ไม่ปล้น
ดังนั้นเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย ต้องมีการประจวบเหมาะของแรงจูงใจ ตัวกระตุ้น โอกาส สถานการณ์ และการฆ่ากันตาย ยิงกัน จี้ปล้น หรือยิงปืนระบายความเครียดอย่างเหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราไม่สามารถเปรียบเทียบกับเหตุการณ์นี้ที่ได้
การก่อความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้วางแผนไว้ได้หรือไม่
ต้องแยกกันระหว่างการวางแผน และการตั้งใจ เช่นในกรณีโคราชนั้น จากการวิเคราะห์ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการก่อเหตุที่มีการวางแผน แต่จะก่อเหตุโดยตั้งใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ก่อเหตุมีการลำดับแผนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่เมื่อวางแผนแล้วยังไม่ได้มีการตั้งใจจะทำ แต่เขาทำเพราะมีเหตุกระตุ้นให้ลงมือ หากเป็นการหุนหันพลันแล่นโดยไม่มีการวางแผนแล้วนั้น เมื่อมีเหตุกระตุ้นทำให้เกิดความโกรธรุนแรง ก็จะหยิบปืนขึ้นมายิงเปรี้ยงหนึ่ง แล้ววาง จะไม่มีการไปยิงผู้อื่น แต่ในกรณีโคราชที่มีการวิ่งไปยิงผู้อื่นต่อ แสดงว่ามีการวางแผน ว่าถ้าทำแล้วจะต้องมีชื่อของตนปรากฏออกไปให้ได้ ให้คนรู้ว่าฉันอยู่ตรงนี้ มีอะไรเกิดขึ้นกับฉัน
ดังนั้นในกรณีโคราช เรียกว่าเป็นการประจวบเหมาะของแผนการ เหตุกระตุ้น โอกาส ความสามารถที่จะลงมือ
ดังนั้นการที่จะป้องกันเหตุความรุนแรง ต้องหาทางป้องกันสภาพแวดล้อมไม่ให้มีโอกาสหรือปัจจัยเอื้อต่อการเกิดเหตุการณ์ เช่น การเข้าถึงอาวุธ ฯลฯ การจะไปควบคุมตัวบุคคลไม่ให้มีความก้าวร้าวหรือคิดวางแผนในใจเป็นเรื่องยาก เพราะคนได้เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ ไปแล้ว รู้แล้วว่าถ้าอยากทำจะทำได้อย่างไร
การจัดการที่สภาพแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่ทำได้เบื้องต้น ถ้าควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ต่อให้คนมีความก้าวร้าวอย่างไรเหตุการณ์ก็จะไม่เกิด หรือถ้าเกิดก็จะไม่รุนแรง จากนั้นสิ่งที่ควรทำต่อไปคือการให้สถาบันครอบครัวเลี้ยงดูปลูกฝังเด็กให้รู้จักควบคุมตัวเอง มีภูมิคุ้มกันที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ เมื่อเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ก็ต้องหันกลับมาควบคุมที่ตัวเอง
การฆ่าตัวเอง และการฆ่าผู้อื่น แบบธรรมดา (ด้วยรักโลภโกรธหลง) เกิดขึ้นได้ทั้งโดยวางแผนและไม่ได้วางแผน
ส่วนการฆ่าอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า การฆ่าต่อเนื่อง serial killer เช่นกรณีของสมคิด ที่มีการฆ่า แล้วเว้นระยะ แล้วกลับมาทำใหม่ แล้วทิ้งระยะอีก เช่นนี้คือมีการวางแผนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีการเลือกที่กระทำต่อเหยื่อบางกลุ่ม คือเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ ที่ทำแล้วสามารถปกปิด หลุดรอดได้ ไม่ถูกจับ ในสถานที่ที่ไม่มีใครเห็น เช่นในโรงแรมหรือในบ้าน
และมีการฆ่าอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า spree killer คือการฆ่าต่อเนื่องด้วยอารมณ์พาไป ยิงคนแรกและคนที่สองที่สามต่อไปด้วยอารมณ์ ยิงไปเรื่อยๆ ในสถานที่แตกต่างด้วยระยะเวลาอันสั้น ลักษณะแบบนี้มีการวางแผนอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น กรณีที่ลพบุรี พอยิงคนแรกแล้ว คนอื่นยิงตามไปไม่มีเหตุผลแล้ว แต่การที่จะไปปล้นก็มีการวางแผนมาก่อน
การฆ่าประเภทที่สุดท้ายคือ การกราดยิง หรือ Mass Shooting ทุกกรณีหรือส่วนใหญ่ มีการวางแผนทั้งนั้น เพราะการจะทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอาวุธ เช่นในกรณีโคราช ผู้ก่อเหตุมีการคิดแล้วว่าจะไปปล้นอาวุธ และมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กก่อนว่าเดี๋ยวคอยดู จะมีข่าวใหญ่ เช่นเดียวกับในอเมริกา ผู้ก่อเหตุก็จะโพสต์หรือมีการบันทึกเอาไว้ว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ให้คนคอยจดจำ
มุมมองทางอาชญวิทยาต่อการวิสามัญคนร้าย
การใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาความรุนแรง ก็จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอีก อย่างกรณีในนิวซีแลนด์ ที่มีการกราดยิงในมัสยิดแล้วไลฟ์เฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่จับเป็นคนร้าย แล้วไม่ให้ตัวตนกับคนร้าย ส่งคนร้ายเข้าคุกไป ในนอร์เวย์มีการยิงเด็กในค่ายหลายสิบคน ตอนนั้นก็มีคนเรียกร้องให้ประหารชีวิต แต่เขาตัดสินจำคุก และได้ให้คำอธิบายว่าปกติคนในประเทศของเขาไม่มีการทำผิดแบบนี้อยู่แล้ว เป็นสังคมที่มีความสงบ ปราศจากความรุนแรง
การที่มีใครสักคนมาก่อเหตุแบบนี้แสดงว่าคนนั้นต้องมีความผิดปกติที่ควรได้รับการแก้ไข ควรบำบัดคนเหล่านั้นให้กลับมา จึงส่งเข้าคุกที่ดีที่สุดในโลก มีความสวยงาม สะอาด สะดวกสบาย เพื่อเปลี่ยนให้ดีขึ้น
ดังนั้นจะวิสามัญหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ความคิดของคนในสังคม ถ้าสังคมไหนมีแนวคิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ความรุนแรงต้องแก้ด้วยความรุนแรง ก็จะมีการวิสามัญ ถ้าที่ไหนมีปรัชญาเปลี่ยนคนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ก็จะไม่มีการประหารหรือวิสามัญ
สำหรับในนอร์เวย์ในอเมริกาเมื่อจำคุกครบจำนวนขั้นต่ำแล้ว เขาจะมีการประเมินก่อนว่าสภาพจิตใจสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้หรือยังเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ ในบางกรณีที่มีคนประเมินไม่ผ่าน ก็ติดคุกต่อไปอีก ซึ่งหลายเคสที่สภาพจิตใจเขาเสียไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาเหมือนเดิมก็ยาก โดยเฉพาะในกรณีทีเป็นการฆ่าต่อเนื่อง เขาสามารถเว้นการก่อเหตุไปได้หลายปี เว้นไปห้าปี สิบปี สิบเก้าปีก็ยังมี แล้วกลับมาก่อเหตุได้ ไม่หาย ดังนั้นการปรับ การแก้ไขพฤติกรรม การเยียวยา ก็เป็นเรื่องจำเป็น
แต่กับบางคนก็ไม่สามารถทำได้ ต้องเก็บเขาไว้นาน ๆ ให้ความชราภาพทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรม
อย่างไรก็ดีสำหรับในประเทศไทย ระบบคำพิพากษาของเราเป็นคำพิพากษาที่ตายตัว คือ จำคุกสิบปี ก็คือสิบปี ต่างจากของต่างประเทศที่เป็นแบบขั้นต่ำ คือ อย่างน้อยสิบปี เมื่อติดคุกสิบปีแล้ว ก็มาประเมินว่าควรจะอยู่อีกกีปี ของเราจึงไม่มีการประเมิน แต่มีการอบรมขัดเกลาในระหว่างที่ติดอยู่
อีกประเด็นหนึ่งคือการแยกแยะคนที่กระทำผิดโดยพลั้งพลาด หรือโดยสันดานเป็นผู้ร้าย ด้วยความโหดเหี้ยมทารุณ ใครที่กระทำผิดโดยพลั้งพลาดก็ควรที่จะให้เขาได้รับโอกาสกลับสู่สังคม แต่คนที่ทำผิดโดยร้ายแรง เราควรจะเก็บเขาไว้นาน ๆ แต่ด้วยระบบกฎหมายของเราขณะนี้เราไม่สามารถเก็บเขาไว้ได้นาน เมื่อคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องปล่อยออกมา
แต่ตอนนี้กระทรวงยุติรรมมีแนวคิดที่จะเก็บคนเหล่านี้ไว้นาน ๆ ด้วยมาตรการต่าง ๆ หรือทีฟลอริด้า กฎหมายของเขา หากผู้ใดมีการกระทำผิดซ้ำเดิมครบ 3 ครั้ง แม้เป็นเพียงคดีเล็กน้อย เช่น ขโมยชุดชั้นใน ก็สามารถจำคุกตลอดชีวิตได้ เพราะถือว่ากระทำผิดโดยสันดาน