สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 2 แนวทางการนำเสนอข่าวสารของสื่อและประชาชน

21 Feb 2020

บริการวิชาการ

สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์


 

ผู้ร่วมการเสวนา

1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ดำเนินรายการโดย

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

 

ตอนที่ 2 – แนวทางการนำเสนอข่าวสารของสื่อและประชาชน

 

 

การนำเสนอข่าวของสื่อแบบไหนที่เรียกว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในสถานการณ์ความรุนแรง

 

เมื่อเกิดเหตุลักษณะแบบนี้ คนข่าวเองก็เหนื่อย เสี่ยงชีวิตตัวเอง ไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติการด้วยซ้ำ ด้วยความตั้งใจอย่างหนักเพื่อความรวดเร็ว ถูกต้อง ได้เรื่องราว และได้จำนวนผู้ชม

 

แต่อิทธิพลของสื่อนั้นทรงอิทธิพลมาก การรายงานข่าวของสื่อนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมมาก เพราะฉะนั้นเราควรจะมาหาตรงกลางว่าจุดเหมาะสมอยู่ตรงไหน

 

จากข้อมูลที่มีเกี่ยวกับการศึกษาทางจิตวิทยาเรื่องอิทธิพลของการนำเสนอข่าวของสื่อต่อเหตุการณ์กราดยิงในอเมริกาเป็นเวลากว่า 5-6 ปี พบว่า ลักษณะการรายงานข่าวรูปแบบหนึ่งสามารถทำนายการเกิดเหตุต่อไปได้ (จะมีเหตุการณ์คล้ายๆ กันตามมาภายใน 2 สัปดาห์) โดยอธิบายเหตุผลว่า การเลียนแบบนั้น เกิดขึ้นกับคนที่มีโอกาสมีความพร้อมและได้รับการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจจากการเชื่อมโยงตนเองกับผู้ก่อเหตุกรณีก่อน นั่นแปลว่า

 

  1. การนำเสนอข่าวในลักษณะการเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจในการก่อเหตุ ทำให้คนที่มีแนวโน้มไขว้เขวอยู่แล้ว รับรู้ถึงความคล้ายคลึงของตนเองกับผู้ก่อเหตุ และยึดเป็นตัวเปรียบเทียบ นอกจากนี้ การมองเห็นถึงรางวัลที่จะได้รับ คือการได้มีตัวตน มีพื้นที่ข่าว แม้ในทางกฎหมายจะถูกลงโทษ แต่เมื่อสื่อนำเสนอข่าวเพื่อจะให้ข้อมูลกับผู้คนว่าเกิดอะไรขึ้น ตอบสนองความอยากรู้ ความเป็นห่วงของผู้คน ก็ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกได้มีตัวตน
  2. ยิ่งการใช้คำบรรยายพฤติกรรมผู้ร้ายในบางลักษณะก็ยิ่งกลายเป็นดูเท่ ดูน่ายกย่อง เช่นคำว่า “อุกอาจ” อาจจะดูเท่ ดูเจ๋ง สำหรับบางคนที่นิยมความรุนแรง ทั้งนี้ควรใช้คำที่เป็นทางลบ ให้รู้สึกว่าไม่น่าทำตาม เช่น พฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย พฤติกรรมที่ขาดเมตตา
  3. นอกจากนี้ การนำเสนอตัวเลข เช่น ยอดผู้เสียชีวิต และเปรียบเทียบว่าครั้งนี้ คนเสียชีวิตมากกว่าครั้งก่อน น้อยกว่าครั้งก่อน มันให้นัยยะของความเก่ง ความเจ๋ง ก็จะกระตุ้นให้คนรู้สึกอยากทำลายยอด

 

สรุปได้ว่า การนำเสนอของสื่อที่กระตุ้นแรงจูงใจ ให้รู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง มองเห็นถึงการได้รางวัล จะไปเพิ่มแนวโน้มการตัดสินใจของคนที่มีความพร้อม มีโอกาส ก่อเหตุขึ้นได้

 

 

 

 

ดังนั้นการนำเสนอข่าวลักษณะนี้ก็คงต้องมาช่วยกันคิดต่อว่าจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร

 

โดยมีไกด์ไลน์คร่าวๆ จากบทความต่างๆ ว่า

  1. ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย
  2. นำเสนอเรื่องราวของเหยื่อแทน สร้างตัวแบบทางบวก ว่าคนเหล่านี้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้อย่างไร เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อน ผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งพบผลว่าผู้ชมเองก็ชอบรับข่าวแบบนี้เช่นกัน

 

 

 

การแชร์ข่าวในโซเชี่ยลเราสามารถทำได้อย่างไรจึงเหมาะสม

 

ทุกวันนี้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เรามีทำให้เราทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ดังนั้นไกด์ไลน์สำหรับการเป็นสื่อหรือผู้ส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ก็ทำได้ในลักษณะเดียวกันกับของสื่อหลัก คือ

  1. อย่าทำให้ผู้ก่อเหตุดูเป็นคนพิเศษ มีตัวตน มีพื้นที่ กลายเป็นที่ดูเท่ ถือปืน ใส่ชุดยูนิฟอร์ม ดูน่ายกย่อง
  2. ให้เราอัปเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์ หรือที่เรียกว่าไม่ดึงดราม่า ไม่ให้ค่ากับผู้ก่อเหตุ และ
  3. เราควรเน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา

และพวกเราเองเป็นผู้บริโภค เรามีฟีดแบค มีการตักเตือนกันอย่างตรงไปตรงมา ได้อย่างรวดเร็ว เราเลือกได้ว่าจะรับข่าวสารจากสื่อใด แชร์สิ่งใด

 

Share this content