สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 3 แนวทางการเยียวยาจิตใจ

22 Feb 2020

บริการวิชาการ

สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์


 

ผู้ร่วมการเสวนา

1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ดำเนินรายการโดย

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

 

ตอนที่ 3 – แนวทางการเยียวยาจิตใจ

 

 

 

การเยียวยาจิตใจผู้ที่ประสบเหตุหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทำได้อย่างไร

 

  1. การให้ข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วเราจะมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด เพื่อที่เราจะตอบสนองต่อกันได้อย่างเหมาะสม เช่น ไม่ซ้ำเติมผู้ประสบเหตุด้วยการถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในเวลาที่เขาไม่พร้อม
    แนวทางการเยียวยาจิตใจตัวเอง ต้องเริ่มจากการตระหนักและยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ได้ หาให้ได้ว่า ตอนที่เกิดเหตุแล้วเราไม่หลับไม่นอนหาข่าว ตามดูข่าวในทีวี ในออนไลน์ นั่นเป็นเพราะเรามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร เรากลัว เราตระหนกใช่ไหม เราต้องตระหนักอย่าปล่อยให้มันฟุ้ง
  2. ขั้นต่อมาคือสื่อสาร ระบายออกมา เพื่อบรรเทาความรู้สึกให้จางลง เมื่อพร้อม กับคนที่เราไว้วางใจ มันจะช่วยให้เราตระหนักและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นจากการพูดคุยกับคนอื่น
  3. จากนั้นเปลี่ยนการมองว่าโลกนี้น่ากลัว สถานการณ์น่ากลัว ก็เปลี่ยนเป็นพลังในการออกมาทำอะไรที่ดี ๆ ที่เกิดประโยชน์ ให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรได้ บริหารจัดการชีวิต ควบคุมสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

 

 

 

 

การช่วยดูแลผู้ที่ยังรู้สึกแย่อยู่ ยังไม่สามารถดึงอารมณ์ตัวเองกลับมาได้ ทำได้อย่างไร

 

  1. การดูแลคนใกล้ชิดสามารถทำได้ด้วยการแสดงความเข้าใจ เพื่อสื่อว่ายังอยู่ข้าง ๆ และพร้อมที่จะรับฟัง เมื่อเขาพร้อมที่จะสื่อสาร
  2. ถอยความอยากรู้ของเรา และมองเขาอย่างที่เขากำลังรู้สึกและมองโลก

ผลกระทบทางจิตใจต่อเหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถติดอยู่ในใจเราได้ยาวนาน 3-6 เดือน ถ้าใครผ่าน 6 เดือนไปแล้ว ยังคงรู้สึกกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ยังกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย ก็อาจจะต้องรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

สำหรับเด็กที่ยังสื่อสารไม่ได้ดีนัก พ่อแม่ต้องคอยสังเกตว่าเขามีพฤติกรรมถดถอยหรือไม่ เช่น จากที่ไม่ฉี่รดที่นอนแล้ว กลับมาฉี่รดที่นอน ที่เคยรักดูแลน้องกลับมาแกล้งน้องกัดน้อง ถ้าพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพาไปพบจิตแพทย์เด็กหรือนักจิตวิทยาเด็ก

 

 

 

 

การที่มีคอมเมนต์ในลักษณะที่มองผู้ก่อเหตุว่าเป็นฮีโร่ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราควรตอบสนองต่อบุคคลที่คอมเมนต์แบบนี้อย่างไร

 

เราไม่ควรตอบโต้ให้เชื้อไฟมันลุกลาม จากนั้นเราควรมาทบทวนว่าเรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราเห็น ถ้าเรารู้สึกเป็นห่วง เราก็ควรสื่อสารความรู้สึกออกมา โดยไม่ใช้คำพูดต่อต้าน หรือไปตัดสินเขาว่าเขาคิดหรือพูดไม่เหมาะสม ทำไมคิดอะไรแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เพราะถ้าไปตัดสินเขาเช่นนั้นก็จะยิ่งผลักให้เขาเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว

 

ไม่ว่าเขาจะโพสต์ลงไปเพราะคิดเช่นนั้นจริง หรือโพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจ ถ้าต้องการเข้าไปพูดคุย อาจไม่ต้องพุ่งเป้าไปที่ประเด็นนั้น ที่อาจจะทำให้ทะเลาะกันไปก่อนเสียเปล่า ๆ แต่ให้ซักถามพูดคุยกันในเรื่องทั่ว ๆ ไป เพื่อที่จะรับฟังให้รู้ว่าเขาคิดอะไร หรือเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพื่อที่จะได้เข้าใจและรู้ว่าเราควรที่จะวางตัวกับเขาอย่างไร

 

เราอาจจะพิจารณาว่าเขาแสดงความคิดเห็นเช่นนั้นแล้วเป็นคนที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุได้หรือไม่ คือมีโปรโฟล์ใกล้เคียงกับผู้ก่อเหตุหรือไม่ ถ้าเขามีแนวโน้มจะทำและทำได้ ก็อาจจะพาเขาไปรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

 

 

 

ความรู้สึกสงสารที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับรู้ถึงสาเหตุที่ผู้ก่อเหตุถูกกระทำ เราสามารถรู้สึกสงสารได้หรือไม่

 

เราสามารถรู้สึกสงสารต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ก่อเหตุได้ ความรู้สึกสงสารไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเพียงความรู้สึกที่เรามีต่อมนุษยชาติด้วยกัน แต่เราต้องรู้ว่าเมื่อบุคคลเมื่อถูกกระทำแล้ว มีสิทธิ์ที่จะตอบโต้ แต่วิธีการตอบโต้ต้องอยู่ในความเหมาะสม ไม่เกินเลยไปสู่ความรุนแรง เราควรตอบโต้หรือปกป้องตัวเองอย่างมีสติ

 

อันที่จริงแล้ว เราไม่ควรจะสงสารใคร แต่เราควรเข้าใจและให้โอกาส

 

 

Share this content