ทำไมพ่อแม่ที่ดีจึงเลี้ยงลูกได้ไม่ดี

09 Aug 2023

บริการวิชาการ

 

ท่านเคยคิดไหมค่ะว่าการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นเป็นภารกิจที่แสนยาก แม้เราจะมีความตั้งใจ และพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ทำไมลูกของเราจึงยังคงเป็นเด็กดื้อ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน และมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา ซึ่งสร้างความหนักใจให้กับพ่อแม่และครูบาอาจารย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในวันนี้ดิฉันมีคำตอบค่ะ คำตอบเหล่านี้ได้มาจากการรวบรวมผลการวิจัยของนักจิตวิทยาจากหลายมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Naney Shute ได้เขียนรวบรวมไว้ใน US. News World and Report ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดิฉันขอถือโอกาสนี้นำมาถ่ายทอดนะคะ ผลการวิจัยทางจิตวิทยาได้พบข้อผิดพลาด 8 ประการ ที่พ่อแม่มักทำอยู่บ่อย ๆ ในการอบรมเลี้ยงดูลูกดังนี้

 

1. พ่อแม่ไม่ได้กำหนดขอบเขตความประพฤติให้แก่ลูก

 

พ่อแม่หลายคนเห็นด้วยกับการตั้งกฎกติกา เพื่อให้ลูกปฏิบัติตาม แต่เมื่อพบกับเด็กที่กำลังร้องไห้หรืออาละวาด พ่อแม่ก็จะยอมแพ้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกจำกัด ดังนั้นจึงอยากให้เวลานั้นเป็นเวลาที่ลูกมีความสุขมากที่สุด เลยไม่อยากขัดใจลูก ผลที่ตามมาก็คือพ่อแม่ก็เลยต้องเลี้ยงลูกแบบตามใจ อย่างไรก็ตามงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ที่ตามใจลูกอย่างไม่มีขอบเขตนั้น ทำให้เด็กต่อต้านและท้าทายพ่อแม่ขึ้น เนื่องจากการที่พ่อแม่ไม่วางกรอบให้เด็กเดิน เด็กจะรู้สึกขาดความมั่นคง ปลอดภัย จึงพยายามทดสอบว่าพ่อแม่ จะยอมตามใจเขาไปถึงไหน เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ ยังมีผลเสียอีกหลายอย่าง เช่น มีปัญหาเรื่องการเรียน ใช้ยาเสพติด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเป็นวัยรุ่น และยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต มีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวล มากกว่าเด็กที่พ่อแม่วางกรอบความประพฤติไว้อย่างชัดเจน และสนับสนุนลูกให้ปฎิบัติตาม

 

พ่อแม่สามารถกำหนดกฎกติกาง่าย ๆ และชัดเจนได้โดยการอธิบาย ให้เด็กเข้าใจถึงผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าเด็กไม่ทำตามกติกา และถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าตนเป็นพ่อแม่ที่ใจร้าย พ่อแม่ก็สามารถให้เด็กเลือกจากทางเลือกสองสามอย่างที่พ่อแม่ยอมรับได้ เช่น เล่นเกมคอมพิวเตอร์ครึ่งชั่วโมงก่อนทำการบ้าน หรือจะทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะมีสิทธิ์เล่นเกม เป็นต้น เมื่อมีกฎแล้วพ่อแม่ก็จะต้องสนับสนุนให้เด็กทำตามกฎอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใจอ่อนหรือยอมให้เด็กทำผิดกฎโดยง่าย กล่าวชมเชย และให้กำลังใจแก่เด็กในการทำตามข้อตกลง ข้อสำคัญควรเริ่มสอนให้เด็กเคารพกติกาตั้งแต่อายุน้อย ๆ เมื่อเด็กเริ่มพูดเข้าใจแล้ว การตามใจเด็กไประยะหนึ่งแล้วจึงมาตั้งกฎ จะทำให้พ่อแม่เหนื่อยมากขึ้นในการทำให้เด็กยอมรับกติกา

 

 

2. พ่อแม่ปกป้องคุ้มครองมากเกินไป

 

ครู ผู้ฝึกสอน และนักจิตบำบัดได้ตั้งข้อสังเกตว่า พ่อแม่ในปัจจุบันไม่สามารถทนเห็นลูกล้มเหลว หรือประสบความยากลำบากได้ ดังนั้นพ่อแม่จะเข้ามาแทรกทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูก ตั้งแต่การทะเลาะกับเพื่อนที่สนามเด็กเล่น การได้เล่นตำแหน่งไหนในทีมฟุตบอลของโรงเรียน จนกระทั่งคะแนนผลการเรียนของลูก พ่อแม่บางคนยังตามปกป้องคุ้มครองลูก แม้ว่าลูกจะจบการศึกษาและเข้าทำงานแล้ว

 

มีเจ้าของบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่งในนครนิวยอร์คได้เล่าว่า เขาเคยได้รับอีเมลล์จากพ่อแม่ที่เขียนมาต่อว่าว่าบริษัทให้ลูกของเขาทำงานมากเกินไป การที่พ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ว่าในบางครั้งเขาอาจจะต้องล้มเหลวหรือผิดพลาด หรือพบกับอุปสรรคบ้างจะทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีการเผชิญกับปัญหา และการที่พ่อแม่เข้ามาช่วยเหลืออย่างรวดเร็วนั้นเท่ากับเป็นการบอกเด็กว่าพ่อแม่ไม่มั่นใจ ว่าลูกจะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กกลัวปัญหา ขาดแรงจูงใจในการเรียน เด็กบางคนไม่ได้เป็นเด็กที่เกียจคร้าน แต่ไม่อยากล้มเหลวเลยไม่พยายาม

 

 

3. พ่อแม่บ่น พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ และตะโกนใส่เด็ก

 

ถ้าพ่อแม่บอกเด็กหนึ่งครั้งให้มาทานอาหาร แล้วเด็กไม่มา ถ้าพูดซ้ำอีก 20 ครั้ง เด็กจะมาไหมคะ งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ มักจะไม่รับฟังคำสั่งที่ซ้ำ ๆ กัน พ่อแม่หลายคนคิดว่าจะต้องใช้อารมณ์ พูดเสียงดัง ขู่ หรือพูดประชดประชัน เพื่อให้ลูกทำตาม ผลที่ตามมาคือ เด็กจะเลียนแบบวิธีการของพ่อแม่ ในเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ การบ่นของพ่อแม่ถือเป็นการเสริมแรงทางลบอย่างหนึ่ง เพราะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนได้รับความสนใจ จึงยังคงทำพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาต่อไป พ่อแม่หลายคนไม่รู้ตัวว่าได้เสริมแรงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของลูกโดยการไม่สนใจเวลาลูกทำดี แต่ทันทีที่ลูกทำผิด พ่อแม่ก็จะหันมาให้ความสนใจ ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมแรงให้ลูกทำผิดบ่อยขึ้น เพื่อจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ทางที่ดีพ่อแม่ควรจะใช้การสริมแรงทางบวกแทน โดยการชมเชยทุกครั้งที่ลูกทำในสิ่งที่ดีหรือถูกต้อง และไม่ให้ความสนใจในข้อผิดพลาดของลูก นอกจากนั้นพ่อแม่ยังสามารถสร้างระบบการให้รางวัลแก่ลูก เมื่อลูกทำตามข้อตกลง รวมทั้งการทำโทษเมื่อลูกทำผิดกติกาได้ด้วย เช่น ถ้าลูกเก็บของเล่นทุกครั้งที่เล่นเสร็จครบหนึ่งสัปดาห์ ลูกจะได้ของเล่นที่ลูกอยากได้ แต่ถ้าลูกไม่เก็บของเล่นเกินสองครั้งต่อสัปดาห์ ลูกจะไม่ได้ของเล่น เป็นต้น

 

 

4. พ่อแม่ชมเชยเด็กมากเกินไปและชมเชยไม่ถูกจุด

 

เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าการชมเชยเด็กทำให้เด็กรู้สึกดีและมีแรงจูงใจที่จะทำในสิ่งที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือพ่อแม่พูดคำชมเชยไม่เป็น ส่วนมากจะใช้คำกว้าง ๆ เช่น “ดีมาก” หรือเป็นคำที่เกี่ยวกับตัวเด็กแทนที่จะเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กทำ เช่น “ลูกเป็นคนเก่งจริงๆ” นักจิตวิทยาพบว่า คำชมเชยเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจน้อยลงและมีความเชื่อมั่นน้อยลง จากผลการทดลองของนักจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า เด็กระดับป.5 ที่ได้รับคำชมเชยว่า “ฉลาด” แทนที่จะได้รับคำชมเชยว่า “มีความพยายามดี” ได้ใช้ความพยายามในการทำแบบทดสอบน้อยลงและมีความยากลำบากในการจัดการกับความล้มเหลวมากกว่า การที่พ่อแม่พยายามบอกลูกว่า เขาเป็นคนพิเศษอาจทำให้เด็กหลงตนเอง แทนที่จะเห็นคุณค่าในตนเอง ดังนั้นแทนที่จะบอกกับลูกว่า “ลูกเป็นคนพิเศษของพ่อ แม่” การบอกลูกว่า “พ่อแม่รักลูก” จะดีกว่าในทุกกรณี

5. พ่อแม่ลงโทษเด็กรุนแรงเกินไป

 

ถึงแม้ว่านักจิตวิทยาพัฒนาการจะไม่เห็นด้วยกับการเฆี่ยนตีเด็ก แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ยังคงลงโทษเด็กรุนแรงเกินไป และถ้าเด็กยังทำผิดซ้ำอีก พ่อแม่ก็จะเฆี่ยนตีด้วยไม้เรียวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นพ่อแม่จึงควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่าเป้าหมายของการลงวินัยเด็กนั้นคือ การสอน ไม่ใช่ทำให้เด็กเจ็บหรือหลาบจำเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การลงโทษเด็กโดยไม่ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทุกคนกำลังทำอยู่โดย แยกเด็กให้อยู่ตามลำพังเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่เรียกว่า “timeout” นั้น นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาได้พบว่า “timeout” จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อพ่อแม่ลงโทษเด็กทันทีที่ทำผิด และเป็นการลงโทษที่ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ เพราะเด็กจะสามารถเชื่อมโยงกับความผิดที่ได้ทำไป และการลงโทษนั้นต้องไม่รุนแรง จนทำให้เด็กโกรธเคืองพ่อแม่ นักจิตวิทยาแนะนำว่า การแยกเด็กออกตามลำพังควรจะใช้เวลาเพียง 2-3 นาที โดยทั่วไปแล้วจะเป็นเวลา 1 นาทีต่ออายุ 1 ปีของเด็ก ส่วนวัยรุ่นซึ่งโตเกินกว่าที่จะใช้การลงโทษด้วย “timeout” แล้ว พ่อแม่อาจจะตัดสิทธิพิเศษ บางอย่างออกแต่ไม่ควรเกินหนึ่งวัน เพราะถ้านานกว่านั้น แทนที่เด็กจะรู้สึกสำนึกในความผิดที่ได้ทำลงไปเด็กจะรู้สึกโกรธเคืองพ่อแม่ ทำให้เกิดความห่างเหินในความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามีการลงโทษนานเกินไป ในที่สุดพ่อแม่ก็จะต้องยอมผ่อนผันอยู่ดี ดังนั้น พ่อแม่ควรจะสอนเด็กให้รู้จักทำความดี เช่น ให้ซ่อมแซมสิ่งที่เขาได้ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อแลกกับการได้สิทธิพิเศษคืน เป็นต้น

 

 

6. พ่อแม่บอกลูกว่าควรจะรู้สึกอย่างไร

 

หนังสือเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูส่วนใหญ่จะเป็นวิธีกำจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของเด็ก แต่งานวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการร่วมรู้สึกกับผู้อื่นเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้เราสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การที่เด็กได้มีโอกาสคิดถึงความรู้สึกของตนเองว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร บางครั้งก็อาจจะเกิดจากการกระทำของเขาเอง บางครั้งก็อาจเกิดจากการกระทำของคนอื่น การเข้าใจความรู้สึกของตนเองจะนำไปสู่ความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นด้วย ทำให้เด็กรู้จักยับยั้งที่จะไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น ไม่ว่าจะโดยการพูด หรือการกระทำ

 

ในเวลาที่เด็กรู้สึกเสียใจ พ่อแม่มักจะบอกกับเด็กว่า “ไม่เป็นไรหรอก” หรือ “อย่าร้องไห้” การทำเช่นนี้ทำให้เด็กไม่มีโอกาสเรียนรู้จากความรู้สึกของตนเอง แทนที่พ่อแม่จะห้ามไม่ให้เด็กเสียใจ พ่อแม่ควรจะบอกกับลูกว่า “พ่อแม่ก็เสียใจเช่นกัน พ่อแม่เข้าใจนะว่าลูกรู้สึกอย่างไร” ก็เพียงพอแล้ว อีกประการหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ควรลืมก็คือ พ่อแม่เป็นตัวแบบที่สำคัญของลูก เด็กจะเรียนรู้การร่วมรู้สึกกับผู้อื่นจากการกระทำของพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่จะต้องเข้าใจว่าการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของลูกมีความสำคัญ มันเป็นการง่ายที่จะร่วมรู้สึกดีใจกับลูกเมื่อลูกสอบได้เกรด A ในทุกวิชา แต่ถ้าลูกสอบตกนั่นเป็นช่วงเวลาที่ลูกต้องการการสนับสนุนทางด้านจิตใจจากพ่อแม่ คำพูดและท่าทีของพ่อแม่ในเวลานั้น จะทำให้ลูกรู้สึกแย่หรือมีกำลังใจที่จะแก้ตัวใหม่ ซึ่งพ่อแม่จะต้องเตรียมคำพูดและการแสดงท่าทีที่เหมาะสมสำหรับเหตุการณ์ทางลบเหล่านั้นด้วย

 

 

7. พ่อแม่ให้ความสำคัญแก่คะแนนสอบมากกว่าความริเริ่มสร้างสรรค์

 

การที่พ่อแม่เน้นผลการเรียนหรือคะแนนมากเกินไป อาจทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าเขาควรจะเรียนรู้อะไร พ่อแม่อยากให้เด็กเรียนรู้กฎ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อยากให้เด็กอ่านหนังสือคล่อง คิดเลขได้เร็ว แต่พ่อแม่ไม่ค่อยได้สนับสนุนให้เด็กมีความริเริ่มสร้างสรรค์ เด็กที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์จะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เมื่อความคิดแรกของเขาไม่เกิดผล แต่เขาจะรู้ว่าการใช้เวลาและความอดทนจะทำให้ได้คำตอบ ดังนั้น เป้าหมายของการสอนจึงไม่ใช่เพียงแต่ทำให้เด็กตอบคำถามได้เท่านั้น แต่จะต้องสอนให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักถามคำถามที่สำคัญ ๆ ด้วย พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กเป็นนักคิดได้โดยการถามคำถามปลายเปิด เช่น “ลูกมีวิธีอื่นอีกไหมที่จะแก้ปัญหานี้” หรือถามลูกที่กำลังร้องไห้งอแงว่า “ลูกมีวิธีอื่นอีกไหมที่จะบอกแม่ว่า ลูกต้องการอะไร”

 

 

8. พ่อแม่ลืมที่จะเล่นสนุกกับลูก

 

นักจิตวิทยาพบว่าในครอบครัวที่มีปัญหานั้น พ่อแม่ลูกมักไม่ค่อยได้หัวเราะหรือเล่นสนุกร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวมักจะเป็นการแก้ไขความขัดแย้ง การว่ากล่าวสั่งสอน และการตำหนิติเตียน ดังนั้น พ่อแม่จึงควรจะถามตนเองว่า “เราได้หัวเราะและเล่นสนุกกับลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไร” และถ้าหากพบว่าพ่อแม่ลูกไม่ได้หัวเราะร่วมกันร้องเพลงด้วยกัน หรือเล่นสนุกร่วมกันนานมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่พ่อแม่จะต้องหันกลับมาเตือนตนเองว่าได้มีความบกพร่องเหล่านี้ในครอบครัวแล้ว ยังคงไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นในวันนี้เพื่อทำให้บรรยากาศของครอบครัวมีความสุข สนุกสนาน และน่าจดจำตลอดไป

 

 


 

 

 

จากบทความสารคดีทางวิทยุ รายการจิตวิทยาเพื่อคุณ

ของ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ออกอากาศวันที่ 15-19 กันยายน 2551

 

 

Share this content