เกิดอะไรขึ้น ? เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

03 Feb 2025

ผศ. ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

 

 

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย… หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง

 

แล้วเคยสงสัยกันมั้ยว่า การเป็นวัยรุ่นเหนื่อยอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างกับการเป็นวัยรุ่น และถ้าอยากจะลดความเหนื่อยล่ะ จะทำได้อย่างไร

 

วัยรุ่น เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาสู่การเป็นผู้ใหญ่ หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นนั้น เหตุผลหลัก ๆ คือ เพื่อเตรียมวัยรุ่นให้พร้อมกับการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่

 

ดังนั้น เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่นจึงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะเป็นพื้นฐานต่อการรับบทบาทในฐานะผู้ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

โดยการเปลี่ยนแปลงที่วัยรุ่นจะต้องเผชิญนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย (Biological transitions) การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญา (Cognitive transitions) และการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม (Social transitions)

 

  • การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย (Biological transitions)

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ความสูงและน้ำหนัก ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวัยรุ่น หรือการเปลี่ยนแปลงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่แสดงให้เห็นถึงการมีวุฒิภาวะทางเพศ เช่น เด็กชาย มีกล้ามเนื้อมากขึ้น มีเสียงที่เปลี่ยนไป หรือในเด็กหญิงที่มีการขยายของหน้าอกและสะโพก จนเกิดเป็นคำทักทาย “โตเป็นสาวแล้วนะเนี่ย” หรือ “โตเป็นหนุ่มเลย” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกายด้วยเช่นกัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงการหลั่งของระดับฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) ซึ่งทำให้เด็กชายมีการหลั่งครั้งแรก (First ejaculation) หรือเด็กหญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรก

 

และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเหล่านี้ ทำให้วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือเพิ่งจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย มีความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง หรือกังวลกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเอง

 

การเปลี่ยนแปลงต่อมาคือ

  • การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญา (Cognitive transitions)

การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของวัยรุ่นในการทำความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยวัยรุ่นจะสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเป็นไปได้ต่าง ๆ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น สูตรทางเคมี สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ

 

ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปก็คือ วัยรุ่นมีความสามารถในการเข้าใจสิ่งรอบตัวได้ละเอียดและลึกซึ้งมากขึ้น

 

แต่นอกจากนี้ วัยรุ่นยังมีลักษณะความคิดที่เป็นความเฉพาะตัวของช่วงวัยด้วย ลักษณะแรกคือ การมีผู้ชมในจินตนาการ (Imaginary audience) โดยวัยรุ่นจะคิดว่าคนรอบข้างนั้นจะคอยสังเกตลักษณะหรือพฤติกรรมของวัยรุ่นอยู่ตลอดเวลา เปรียบได้กับการที่วัยรุ่นอยู่บนเวทีที่มีคนรอบข้างเป็นผู้ชมคอยจับจ้อง ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นกังวลกับรูปลักษณ์ของตนเองมากขึ้น อีกลักษณะคือ ความคิดที่ว่า ตนเองเป็นคนพิเศษ ประสบการณ์ของตนเองนั้นมีลักษณะที่เฉพาะเจาะจง (Personal fable) ดังนั้นผู้ใหญ่อาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “พ่อไม่เข้าใจผมหรอก…” หรือ “แม่ไม่เข้าใจในสิ่งที่หนูเจอหรอก…” เป็นต้น ซึ่งความคิดในลักษณะนี้ยังทำให้วัยรุ่นมีความเชื่อได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่นจะไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา ความเชื่อในลักษณะนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น เพราะเชื่อว่าอุบัติเหตุหรืออันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนอื่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา

 

การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มสุดท้ายคือ

  • การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม (Social transitions)

 

การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมมีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตนเอง และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

 

การเปลี่ยนแปลงภายในตนเองที่เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเด็กก้าวสู่วัยรุ่นคือ การพัฒนาอัตตลักษณ์ (Identity) หรือ การพยายามหาคำตอบว่า ฉันคือใคร ซึ่งช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงของการสำรวจและทดลองสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาสิ่งที่ตรงกับตนเอง ดังนั้นประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นได้ค้นพบสิ่งที่เป็นตัวตน

 

นอกจากนี้เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ความสัมพันธ์ที่วัยรุ่นมีกับคนรอบข้างเกิดการก็เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น

    • ความสัมพันธ์กับครอบครัว ที่อาจจะมีการใช้เวลาร่วมกันที่ลดลง เนื่องด้วยวัยรุ่นต้องการที่จะมีอิสระมากขึ้น
    • ความสัมพันธ์กับเพื่อน ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของวัยรุ่นมากขึ้น เป็นแหล่งสนับสนุนที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิตวัยรุ่น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ “แทนที่” ความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่เป็นสิ่งที่ “เพิ่มเติม” นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์กับครอบครัว
    • ความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ ความสัมพันธ์ที่วัยรุ่นต้องเริ่มต้นทำความรู้จักและเรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้

จะเห็นได้ว่าเมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มีเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น และเพื่อให้วัยรุ่นสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอันมากมายที่เกิดขึ้น

 

จะทำอย่างไรดี… ที่จะช่วยลดความเหนื่อยจากการก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

 

ไม่ว่าจะเป็นตัววัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง สิ่งที่สำคัญคือ เปิดใจ เข้าใจ และเรียนรู้

 

เปิดใจ… สังเกตและยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งตัววัยรุ่นเองและผู้ใหญ่ การเปิดใจจะช่วยลดความกลัวและความวิตกกังวลของวัยรุ่นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในวัยรุ่นและผู้ใหญ่

 

เข้าใจ… ความพยายามที่จะทำความเข้าใจทั้งต่อสาเหตุและเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง

 

เรียนรู้… ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งตัววัยรุ่นเองที่ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และผู้ใหญ่ที่ยังต้องเรียนรู้ว่าจะปรับตัวให้เข้ากับเด็กที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ที่จะปรับตัวซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่สามารถอยู่ร่วมกันได้ พร้อมทั้งสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

 

อ้างอิง

Arnett, J. J. (2018). Adolescence and emerging adulthood (6th ed.). New Jersey: Pearson.

Steinberg, L. (2017). Adolescence (11th ed.). New York: McGraw-Hill Education.

 

 


 

 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

 

Share this content