กว่าจะเป็นผีเสื้อที่สวยงาม ประสบการณ์การแสดงออกซึ่งตัวตนของหญิงข้ามเพศ

17 Jun 2024

ฐิดาพร สุขเจริญ, ณัฐกิตติ์ ดวงกลาง, และสุกัลยา ลัมภเวส นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะจิตวิทยา

 

ในเดือนมิถุนายนนี้ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกต่างร่วมกันเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจ หรือ Pride month เพื่อเฉลิมฉลองและแสดงออกซึ่งการเป็นตัวของตนเองด้วยความภาคภูมิใจ หลายคนอาจสงสัยว่าการเป็นตัวของตนเองนั้นสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงต้องมีเทศกาลแห่งการแสดงออกซึ่งตัวตนที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ งานวิจัยของนิสิตปริญญาตรี คณะจิตวิทยา ในหัวข้อ “ตัวตนที่มากกว่าความสวยงาม : ประสบการณ์ของหญิงข้ามเพศต่อกระบวนการสร้างตัวตนผ่านการใช้ฮอร์โมน” ได้เสนอให้เห็นว่าการมีร่างกายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง รวมถึงการได้แสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศที่ตนเป็นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพศึกษาในกลุ่มหญิงข้ามเพศ หรือ Transgender women ที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ โดยการให้นิยามของคำว่า หญิงข้ามเพศ ไม่ได้หมายถึงบุคคลที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศจากชายไปเป็นหญิงแล้วเท่านั้น ทว่ายังหมายถึง บุคคลที่มีเพศกำเนิดอยู่ในเพศสรีระของเพศชาย แม้จะยังไม่ได้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่มีความคิดที่จะผ่าตัดแปลงเพศ แต่หากบุคคลนั้นรับรู้และพึงพอใจว่าตนเองคือเพศหญิง ก็สามารถนิยามตนเองว่าเป็นหญิงข้ามเพศได้เช่นกัน ทั้งนี้การให้นิยามคำเรียกต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละบุคคล

 

หากลองจินตนาการว่าตัวเรามีจิตใจและรับรู้ตัวตนของตนว่าเป็นผู้หญิง ทว่าต้องมาอยู่ในร่างกายของผู้ชาย ร่างกายที่ขยับไปอย่างอิสระตามความนึกคิดของตน ร่างกายที่ควรจะเป็นของตน แต่ในบางครั้งกลับรู้สึกเหมือนไม่ใช่ร่างกายของเรา หรือที่แย่ไปกว่านั้น คือร่างกายเป็นเสมือนกรงขังไม่ให้เราได้แสดงออกถึงความเป็นตนเองอย่างแท้จริง ดังเช่นหญิงข้ามเพศที่ต้องประสบกับความรู้สึกขัดแย้งระหว่างร่ายกายที่มีกับตัวตนภายในที่เป็น เมื่อตัวตนภายในส่งเสียงร้องว่าพวกเธอคือผู้หญิง แต่พวกเธอกลับเกิดมาในร่างกายของเพศชายซึ่งทำให้พวกเธอรู้สึกคับข้องและทุกข์ทรมานใจ

 

 

เกิดมาผิดร่าง


 

“เพราะว่า…เราเหมือนคนที่ว่าเกิดผิดร่างอย่างนั้นใช่ไหม…ใจเป็นผู้หญิงแต่เรามาเกิดในร่างผู้ชายแล้วแบบมันก็เลยแบบรู้สึกว่ามัน…มัน มันไม่ใช่ตัวเรา” (คุณท., อายุ 46 ปี)

 

จากการศึกษาพบว่าหญิงข้ามเพศใช้ชีวิตอยู่ในร่างกายที่มีลักษณะเพศชายด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลใจ และไม่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง หญิงข้ามเพศได้ให้สัมภาษณ์ว่า

 

“คือตอนนั้นที่มีรูปร่างเป็นผู้ชายเนอะ พี่อาจจะไม่สามารถพูดคะขาแล้วก็เป็นผู้หญิงได้มากเท่าที่พี่เป็นในปัจจุบัน […] มันอาจจะเป็นกาลเทศะหรืออะไรสักอย่างนึงที่มันเป็นกรอบ block พี่ไว้อยู่”

 

พวกเธอไม่กล้าพูดลงท้ายว่า ‘คะ/ค่ะ’ อย่างผู้หญิงด้วยความรู้สึกว่าตนยังอยู่ในร่างกายของเพศชายก็ควรจะแสดงออกตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดว่าผู้มีลักษณะเพศชายต้องปฏิบัติอย่างไร

 

พวกเธอยังไม่ชอบถ่ายรูปหรือโพสต์รูปตนเองลงบนโซเชียลมีเดียเพราะไม่อยากเห็นภาพตนเองที่เป็นผู้ชาย อีกทั้งยังไม่กล้าพูดคุยกับครอบครัวเพราะเกรงกลัวว่าคนในครอบครัวจะรู้ว่าเธอมีจิตใจเป็นหญิงอยู่ภายในร่างกายที่เป็นชาย อาจด้วยความเกรงกลัวการต่อต้านและการตัดสินจากสังคม ซึ่งเป็นเสมือนแรงกดดันให้พวกเธอไม่กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเป็น ความอึดอัดและไม่อาจแสดงความเป็นตัวเองได้นี้สร้างความทุกข์ทรมานใจให้แก่หญิงข้ามเพศเป็นอย่างมาก หญิงข้ามเพศในงานวิจัยนี้จึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนลักษณะร่างกายเพื่อให้พวกเธอได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

 

การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ


 

“สมมติว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่เราไม่พอใจเราก็ออกมาได้ แต่ว่าถ้าเราอยู่ในร่างกายที่เราไม่พอใจ เราออกมาไม่ได้ […] ดังนั้นการเทคฮอร์โมนเนี่ยมันก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับร่างกายของเราได้อย่างแฮปปี้” (คุณห., อายุ 18 ปี)

 

การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศมีส่วนช่วยให้ภาพสะท้อนบนกระจกที่เคยขัดแย้งกับจิตใจ สะท้อนลักษณะของเพศหญิงที่ตรงกับตัวตนภายใน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าร่างกายนี้คือร่างกายของพวกเธอ และภาพสะท้อนนี้คือตัวเธอเอง ก่อเกิดเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจและมีความสุขที่ได้เห็นตนเองในร่างกายนี้ทุกวัน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่พวกเธอรู้สึกว่าตนเอง เกิดมาผิดร่าง

 

นอกจากนี้หญิงข้ามเพศยังรายงานว่าพวกเธอมีความมั่นใจที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างผู้หญิงคนหนึ่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายอย่างเพศหญิง เช่น การใส่กระโปรง หรือการเข้าห้องน้ำหญิง นอกจากนี้ พวกเธอยังกล่าวว่าการมีร่างกายที่ตรงกับตัวตนที่แท้จริงทำให้พวกเธอมีแรงใจที่จะต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตต่อไป

 

การมีร่างกายที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองส่งผลให้หญิงข้ามเพศกล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น เนื่องจากรู้สึกว่าร่างกายนี้คือร่างกายของตน นำมาซึ่งความมั่นใจที่จะใช้ชีวิต ที่จะแสดงตัวตนของตนเองผ่านการแต่งกาย การแสดงออกทางพฤติกรรม โดยปราศจากความกังวลและหวาดกลัวการตัดสินหรือการต่อต้านจากสังคม

 

 

ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกซึ่งตัวตน แต่สะท้อนถึงความกล้าและความมั่นใจที่จะเป็นตัวของตนเองหลังจากต่อสู้และฝ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ เหมือนผีเสื้อที่อดทนเฝ้าฟูมฟักร่างกายของตนเองจนได้ฟักออกจากดักแด้และมั่นใจที่จะออกโบยบินสู่โลกกว้างอย่างอิสระ

 

 

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่

 

ฐิดาพร สุขเจริญ, ณัฐกิตติ์ ดวงกลาง, และสุกัลยา ลัมภเวส. (2566). ตัวตนที่มากกว่าความสวยงาม : ประสบการณ์ของหญิงข้ามเพศต่อกระบวนการสร้างตัวตนผ่านการใช้ฮอร์โมน. [วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา]. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 


 

 

ผู้เขียน

ฐิดาพร สุขเจริญ, ณัฐกิตติ์ ดวงกลาง, และสุกัลยา ลัมภเวส นิสิตชั้นปีที่ 4 ว่าที่บัณฑิตคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ตรวจสอบบทความและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

Share this content