5 เหตุผลทางจิตวิทยา ที่การท่องเที่ยวดีต่อใจ

08 May 2019

ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ นอกจากการซื้อของขวัญให้แก่กันและกันแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนอาจถือโอกาสในช่วงวันหยุดยาวเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

 

การท่องเที่ยว นอกจากจะให้ความเพลินเพลิน สร้างความผ่อนคลาย ทำให้เกิดอารมณ์ที่ดี มีความสุข และช่วยให้เราสามารถหลีกหนีจากความเครียดในชีวิตได้แล้ว (Gilbert & Abdullah, 2002) ในทางจิตวิทยา การท่องเที่ยวยังส่งเสริมประสิทธิภาพของการทำงานของสมอง ช่วยในแง่ของกระบวนการคิด และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อคนอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย อยู่บ่อยครั้ง คุณน่าจะได้รับแรงบันดาลใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งยังอาจจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ใจกว้าง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้นด้วย

 

นั่นก็เพราะ การเดินทางไปยังที่ๆเราไม่คุ้นเคย ไม่เคยไปมาก่อน เหมือนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราต้องเผชิญ เท่ากับว่าเรากำลังออกจาก comfort zone หรือความเคยชินเดิม ๆ

 

เราต้องมีการวางแผน มีการจัดการบริหารสิ่งต่างๆและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ดังนั้น สมองของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยงของเส้นประสาท ทำให้มีความยืดหยุ่น มีการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ๆ แต่ละประเภทได้มากขึ้น ทำให้สามารถสร้างการเชื่อมต่อและเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่า neuroplasticity ซึ่งตรงจุดนี้เองที่จะส่งเสริมให้คนเรา #เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือจุดประกายแนวคิดใหม่ ๆ ได้

 

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Maddux & Galinsky (2009) พบว่า กุญแจสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นั่นก็คือ การได้ใช้เวลาอยู่ในสถานที่ใหม่ ๆ ซึมซับกับบรรยากาศ และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรม หรือความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นๆ เนื่องจากจะทำให้เราได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น

 

นอกจากเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ หรือรูปแบบวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การท่องเที่ยวยัง เพิ่มความไว้วางใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกด้วย เพราะการมีประสบการณ์ที่หลากหลายทางวัฒนธรรม เพิ่มความเชื่อมโยงทางความคิดระหว่างตัวเรากับคนในวัฒนธรรมอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้เราได้เห็นว่าคนในประเทศอื่น วัฒนธรรมอื่น ก็ปฏิบัติกับเราไม่ได้แตกต่างกัน ทำให้เราเกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ ศรัทธาในความเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน และเกิดความไว้วางใจกันได้ในที่สุด

 

ผลพวงที่สำคัญอีกประการจากการได้เปิดรับมุมมองใหม่ ๆ ผ่านการท่องเที่ยว นั่นคือ เราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างได้ดีมากขึ้นเนื่องจากการที่เราได้พบปะกับผู้คนที่มีสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือความเชื่อที่ต่างจากตัวเรา ทำให้เราสามารถที่จะเปิดรับ อดทน และมีความยืดหยุ่นต่อความหลากหลาย การยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนเราได้มากขึ้นนี่เอง ที่จะทำให้เรา ไม่ตัดสินคนอื่นง่าย ๆ ทำให้เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนที่คิดต่างจากเราได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ หลายๆ ครั้งที่การเดินทางท่องเที่ยวของเรานั้น เป็นการท่องเที่ยวแบบกลุ่มหรือหมู่คณะ การได้เรียนรู้ประสบการณ์แปลกใหม่ร่วมกัน ก็สามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของตัวเราและเพื่อนร่วมเดินทางดีขึ้น เนื่องจากการมีเป้าหมายร่วมกัน ทำให้มีความใกล้ชิดสนิทแน่นแฟ้นมากขึ้น รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น

 

แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเที่ยวคนเดียว การเดินทางเพียงลำพังก็ช่วยทำให้คุณได้รู้จักตัวเองมากขึ้นได้เช่นกัน คุณอาจจะค้นพบจุดแข็งหรือข้อดีในตัวเอง ที่อาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อนก็ได้ว่าคุณมีความสามารถด้านนี้

 

ด้วยข้อดีเหล่านี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่งานวิจัยจะพบว่า ประสบการณ์จากการท่องเที่ยวนั้นสร้างความสุขได้มากกว่าและยาวนานกว่าการซื้อสิ่งของชิ้นใหม่เสียอีก (Kumar, Killingsworth, & Gilovich, 2014)

 

ทราบข้อดีของการท่องเที่ยวที่ให้คุณได้มากกว่าแค่ความสนุกสนานแล้ว ลองวางแผนทริปอื่น ๆ หลังจากนี้ของคุณไปยังสถานที่แปลกใหม่กันดูบ้างดีไหมคะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Gilbert, D., & Abdullah, J. (2002). A study of the impact of the expectation of a holiday on an individual’s sense of well-being. Journal of Vacation Marketing, 8(4), p.352-361.

 

Kumar, A., Killingsworth, M. A., & Gilovich, T. (2014). Waiting for Merlot: Anticipatory consumption of experiential and material purchases. Psychological science, 25(10), 1924-1931.

 

Maddux, W., & Galinsky, A. (2009). Cultural borders and mental barriers: The relationship between living abroad and creativity. Journal of Personality and Social Psychology, 96(5), 1047-1061.

 

ภาพจาก https://pxhere.com/en/tag/415

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content