ปัจจุบันมีข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงฉ้อโกงทรัพย์ทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ (scam) เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกให้โอนเงิน การหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้าในราคาถูกผ่านเฟสบุ๊ค และการหลอกให้ลงทุนทรัพย์สิน
การฉ้อโกงทรัพย์ในทุกรูปแบบล้วนมีเจตนาหลอกลวงโดยการให้สัญญาว่าเหยื่อจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินทอง สินค้า หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน แต่จริง ๆ แล้วผู้หลอกลวงไม่มีเจตนาที่จะให้ผลตอบแทนเหล่านี้ การฉ้อโกงเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในโลกและก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 5 ล้านล้านบาทต่อปี (Gee & Button, 2019) อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บช้ำใจและมีความเครียดมากอีกด้วย
การฉ้อโกงทางโทรศัพท์และทางอินเทอร์เน็ตเป็นอาชญากรรมชนิดพิเศษ เพราะว่าผู้กระทำผิดมักอยู่ห่างใกลจากผู้เสียหายโดยทั้งสองฝ่ายอาจไม่เคยพบเจอหรือรู้จักกันด้วยซ้ำ แต่เหยื่อก็ยังตัดสินใจเลือกที่จะส่งข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงินไปให้อีกฝ่าย และถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลเตือนภัยรูปแบบต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ แต่ก็ยังมีข่าวต่อเนื่องเรื่องการถูกโกง เราจึงควรทำความเข้าใจกระบวนการทางจิตวิทยาในเทคนิคกลโกงและการโน้มน้าวที่มิจฉาชีพมักใช้ รวมถึงการเข้าใจลักษณะส่วนบุคคลที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงฉ้อโกง
มิจฉาชีพมักใช้เทคนิคหลอกลวงทางจิตวิทยาอย่างไรบ้าง?
มิจฉาชีพมีกลยุทธ์การหลอกลวงหลากหลายรูปแบบเพื่อหลอกล่อเหยื่อ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางจิตวิทยาที่วิเคราะห์การหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า 580 ประเภท ชี้ว่ามิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ๆ คือ การอ้างอำนาจ (authority) และการกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity) มิจฉาชีพอาจสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยการแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอที่นำมาล่อลวงนั้นมีความถูกต้องตามกฎหมายและมีหน่วยงานหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือรองรับ หรือแม้กระทั่งการอ้างอิงว่าตนเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกเชื่อใจและไว้ใจ อีกทั้ง ผู้หลอกลวงมักใช้การโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผล เช่น จงใจจำกัดระยะเวลาในการส่งข้อมูลหรือโอนเงิน จำกัดจำนวนสินค้าที่จำหน่าย หรือจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการลงทุน ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกว่าต้องรีบส่งข้อมูลหรือโอนเงินเพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจ และหลงเชื่อว่าตนจะได้รับผลตอบแทนตามที่ผู้หลอกลวงสัญญาไว้
ใครเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ?
คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นกลุ่มเป้าหมายของการหลอกลวงฉ้อโกง ทั้งนี้ เพศหญิงมักตกเป็นเหยื่อเป้าหมายของการหลอกล่อให้รักเพื่อหลอกลวงโกงทรัพย์สิน ส่วนผู้สูงวัยมักเป็นเหยื่อของการโกงทรัพย์หรือหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัวออนไลน์ และบุคคลที่มีการศึกษาและมีรายได้ค่อนข้างสูงมักเป็นเหยื่อของการล่อลวงให้ลงทุน อีกทั้ง งานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ว่ามี 3 ลักษณะนิสัยที่เพิ่มความเสี่ยงการถูกโกงทรัพย์สินโดยมิจฉาชีพ ดังนี้
1. นิสัยและพฤติกรรมเสี่ยง (risk-taking) – เล่ห์การหลอกลวงเปรียบเสมือนการซื้อล็อตเตอรี่หรือการพนันแบบไม่เป็นทางการ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีนิสัยกล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ และรับความเสี่ยงนั้นมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอของผู้หลอกลวงมากถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ชอบความเสี่ยง ลักษณะชอบความเสี่ยงจึงเป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะทำตามข้อเสนอผู้หลอกลวงและเชื่อใจผู้หลอกลวง เพราะไม่ได้ใส่ใจกับการประเมินระดับความสุ่มเสี่ยงของข้อเสนอแต่กลับมุ่งความสนใจไปที่รางวัลผลตอบแทนที่อาจได้รับจากการลองเสี่ยง
2. ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) – การกำกับตนเองเป็นทักษะสำคัญที่รวมถึงการควบคุมอารมณ์ชั่วขณะ การควบคุมพฤติกรรม และการควบคุมความต้องการของตนเอง บุคคลที่ชอบตัดสินใจเสี่ยงมักมีความสามารถในการกำกับตนเองต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ชี้ว่าคนที่เคยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมักมีทักษะในการควบคุมตนเองค่อนข้างต่ำ เช่น มีนิสัยชอบซื้อของโดยไม่ทันยั้งคิด บุคคลที่มีความบกพร่องในการควบคุมตนเองจึงไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจลงทุนหรือโอนเงินแบบหุนหันพลันแล่น โดยเฉพาะกรณีที่ผู้หลอกลวงใช้กลยุทธ์การจำกัดเวลาหรือจำกัดจำนวนรางวัลตอบแทนเพื่อโน้มน้าวและชักใยทางอารมณ์
3. ความสามารถในการจัดการอารมณ์ (emotional competence) – ความฉลาดทางอารมณ์คือความสามารถในการรับรู้และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทางการธุรกิจการเงินที่มีความเสี่ยงสูง บุคคลที่มีทักษะจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเองต่ำจะมีความสามารถในการไตร่ตรองข้อมูลลดลง และอาจตัดสินใจทางการเงินโดยใช้อารมณ์ชั่วขณะ (เช่น กลัวพลาดโอกาสทองในการทำกำไร หรือรู้สึกคล้อยตามแนวคิดโน้มน้าวของผู้หลอกลวง) จึงมีแนวโน้มตอบรับขอเสนอการล่อลวงทรัพย์สินมากกว่าบุคคลที่กำกับอารมณ์ตนเองได้ดี
ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อการโกงได้ง่ายขึ้น เช่น การมีความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศไม่มากพอ และการไว้ใจและเชื่อคนง่าย การรู้เท่าทันปัจจัยความเสี่ยงที่ตนเองมีและการรู้เท่าทันกลหลอกลวงทางจิตวิทยาของมิจฉาชีพอาจช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงฉ้อโกง และถึงแม้ว่าลักษณะนิสัยและพฤติกรรมส่วนตัวของตนเองอาจเปลี่ยนแปลงได้ยาก เราสามารถลดความเสี่ยงโดยการใช้เวลาค่อย ๆ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลาย ๆ แหล่งและปรึกษาคนรอบตัวที่ไว้ใจก่อนที่จะตัดสินใจโอนเงินหรือลงทุนอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเงินจำนวนไม่น้อย และถึงแม้ว่าข้อเสนออาจจะดูน่าเชื่อถือเพราะมีการอ้างอิงความชอบธรรมทางกฎหมาย เราก็ยังควรนำข้อมูลทั้งหมดมาไตร่ตรองพิจารณาให้ดี และเตือนตัวเองว่าโอกาสการได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจมักมาพร้อมกับความเสี่ยงไม่น้อย
สุดท้ายแล้ว เราคงต้องหาความสมดุลโดยที่ไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป แต่ก็ต้องมีสติในการควบคุมอารมณ์ชั่วขณะและพฤติกรรมตนเองในการตัดสินใจเรื่องสำคัญทางธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะกับบุคคลที่เราเพียงสื่อสารด้วยผ่านโทรศัพท์หรือออนไลน์แต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว
รายการอ้างอิง
Fischer, P., Lea, S. E. G., & Evans, K. M. (2013). Why do individuals respond to fraudulent scam communications and lose money? The psychological determinants of scam compliance. Journal of Applied Social Psychology, 43(10), 2060–2072. https://psycnet.apa.org/doi/10.1111/jasp.12158
Gee, J., & Button, M. (2019). The financial cost of fraud 2019. http://www.crowe.ie/wp-content/uploads/2019/08/The-Financial-Cost-of-Fraud-2019.pdf
Hanoch, Y., & Wood, S. (2021). The scams among us: Who falls prey and why. Current Directions in Psychological Science, 30(3), 260-266. https://doi.org/10.1177/0963721421995489
Jones, H. S., Towse, J. N., Race, N., & Harrison, T. (2019). Email fraud: The search for psychological predictors of susceptibility. PLOS ONE, 14(1), Article e0209684. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0209684
Wood, S., Liu, P.-J., Hanoch, Y., Xi, P. M., & Klapatch, L. (2018). Call to claim your prize: Perceived benefits and risk drive intention to comply in a mass marketing scam. Journal of Experimental Psychology: Applied, 24(2), 196–206. https://doi.org/10.1093/geroni/igy023.2302
บทความโดย
อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน