News & Events

เปิดรับสมัคร 50 องค์กร เพื่อเฟ้นหา 5 “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024

 

เปิดรับสมัคร 50 องค์กร เพื่อเฟ้นหา 5 “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024

เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่องค์กรอื่นๆ ในด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน

 

 

 

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญชวนองค์กรในประเทศไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็น “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024 ชิงถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตรในมิติที่โดดเด่น จำนวน 5 รางวัล พร้อมได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ขององค์กร ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานต่อไป

 

หากองค์กรของคุณ มีโปรแกรมที่ส่งเสริมพนักงานในทุกมิติ หรือมิติใดมิติหนึ่งของ GRACE ได้แก่

 

  • G = Growth & Development – สนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการของพนักงาน
  • R = Recognition – สนับสนุนด้านการแสดงออกและการรับรู้ถึงความสามารถและความสำเร็จของพนักงาน
  • A = All for inclusion – สนับสนุนด้านการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน
  • C = Care for health & safety – สนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน
  • E = work-life Enrichment – สนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

 

 

องค์กรที่สนใจ สามารถสนใจส่งข้อมูลเบื้องต้น มาเข้าร่วมโครงการ (Pre-registration) ได้ที่

https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_4ScwSlhUJ8gXWp8

 

หรือ สมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ที่

https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_eDKHjhhzzZV1I2i

 

ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 กันยายน 2567

 

 

ประกาศผลองค์กรผู้ชนะวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม E-mail : thaimindawards@chula.ac.th

 

 

โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying”

 

สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเท่าทัน ป้องกัน และรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ในยุคสังคมดิจิทัลอย่างมีสุขภาวะที่ดี
โดย โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จักเข้าใจ Cyberbullying” Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

 

Research Summary


 

 

การศึกษาความชุกของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และผลกระทบทางจิตใจของเหยื่อในประเทศไทย

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2567)

เก็บข้อมูลระหว่าง มี.ค. – พ.ค. 2567 (จำนวน 445 คน)

 

 

 

 

มิติผู้กระทำ

 

พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมของผู้กระทำ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
  1. การล้อเลียนหรือปะทะคารม
  2. การเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ต
  3. การเผยแพร่ส่งต่อเรื่องน่าอับอาย

 

ผลเช่นนี้สะท้อนว่า การใช้ถ้อยคำในเชิงล้อเลียนหรือการปะทะคารมในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการใช้ภาษาในทางลบนั้นอาจทำได้ง่ายในโลกออนไลน์ ด้วยสภาวะนิรนามของผู้ใช้งาน กล่าวคือ ความรู้สึกว่าไม่ต้องระบุตัวตนในขณะที่ใช้งาน ทำให้บุคคลอาจมีความกล้าที่จะแสดงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือมีความสุดโต่งมากกว่าการทำพฤติกรรมในสถานการณ์แบบเผชิญหน้า

 

พื้นที่ออนไลน์แบบสาธารณะหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงอาจจำเป็นต้องตั้งข้อกำหนด หรือข้อบังคับเกี่ยวกับลักษณะถ้อยคำ หรือภาษาที่ใช้ เพื่อป้องปรามไม่ให้การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์เกิดขึ้น

 

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตวิทยาของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 185 คน ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า
  • การละเลยคุณธรรม การเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลอื่น ๆ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ หรือพยายามหาข้ออ้างอื่น ๆ เพื่อให้เหตุผลว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
  • การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น การเข้าใจถึง ความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ
ส่งผลต่อแนวโน้มการทำพฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

 

สองปัจจัยนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงตัวชี้วัดในเชิงคุณธรรมและจริยธรรมส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า หากทิศทางของสังคมหรือกลุ่มคนจำนวนมากในสังคม ไม่ยอมรับในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ก็อาจทำให้บุคคลที่มีเจตนาจะกระทำพฤติกรรมไม่สามารถจะหยิบใช้ข้ออ้างดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการกระทำของตนเอง จนอาจลดหรือล้มเลิกความคิดที่จะแสดงพฤติกรรมได้

 

มิติผู้ถูกกระทำ

 

พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมของผู้ถูกกระทำ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
  1. การได้รับภาพล่อแหลม
  2. การถูกล้อเลียนหรือปะทะคารม
  3. การถูกก่อกวนคุกคาม

 

ผลเช่นนี้สะท้อนว่า การที่บุคคลเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทั้งรูปโปรไฟล์ และข้อมูลเชิงความสัมพันธ์ อาจทำให้บุคคลตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ การที่บุคคลสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์และสามารถส่งภาพต่าง ๆ ไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย อาจเป็นการเอื้อต่อผู้กระทำที่มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมกลั่นแกล้งเหล่านี้สามารถทำพฤติกรรมได้ง่ายมากขึ้น

 

เมื่อตรวจสอบอิทธิพลเชิงสาเหตุของการถูกกลั่นแกล้งในโลกออกไลน์ ต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียด กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คน ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า การถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางจิตทั้งสามประการ ผลวิจัยในส่วนนี้ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลใจจิตของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์

 

การพัฒนาแนวทางดูแลใจจิต ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์มีการจัดการกับปัญหาทางจิตใจได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ

 

มิติผู้พบเห็นเหตุการณ์

 

พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมผู้พบเห็นเหตุการณ์ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
  1. การได้รับเรื่องตลกน่าอายของผู้อื่น
  2. การพบเห็นผู้ถูกก่อกวนคุกคาม
  3. การพบเห็นการเปิดเผยข้อมูลความลับของผู้อื่น

 

การที่ “การได้รับเรื่องที่น่าอับอายของผู้อื่น” เป็นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่บุคคลในฐานะผู้พบเห็นเหตุการณ์พบเจอมากที่สุด พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนดังในสังคมมากกว่าบุคคลอื่น เนื่องจากเนื้อหาในลักษณะนี้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้งานออนไลน์ได้ดี และหากมองถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมาจะพบว่า การส่งต่อคลิปลับ แชทหลุด หรือสิ่งที่น่าอับอายของผู้ถูกกระทำนั้น เป็นสิ่งที่พบเห็นได้มาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ปัจจุบัน การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ที่มีคุณสมบัติของการส่งต่อเนื้อหาข้อความหรือรูปภาพได้ในคราวละมาก ๆ ทำให้การแพร่กระจายของเนื้อหาในลักษณะนี้ทำได้ง่าย และขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ในระยะหลัง วัฒนธรรมการแฉ การเปิดโปง การล่าแม่มด ยังเกิดขึ้นมากในโลกออนไลน์ การจับผิดบุคคล และเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความอับอายให้กับบุคคลนั้นซ้ำ ๆ จึงเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถพบเห็นได้ในชีวิตบ่อยขึ้น

 

การสร้างบรรทัดฐานให้สังคมและคนในสังคมมองเห็นว่า การส่งต่อเรื่องน่าอับอายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด อาจลดแนวโน้มที่จะเกิดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ประเภทนี้ลงได้เช่นกัน

 

 


 

 

 

Episode 1 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: Introduction

 

 

 

เรื่อง Cyberbullying เราพูดกันมานาน แต่ทั้งที่มีคนพูดเยอะ ปัญหาก็ยังคงไม่น้อยลง
เมื่อดูจากสถิติ กว่าร้อยละ 50 ของเด็กและเยาวชนไทยเคยเจอพฤติกรรมนี้ หรือร้อยละ 50 เคยตกเป็นเหยื่อ และตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยลดลง

 

Cyberbullying สร้างผลกระทบในทุกระดับ

 

การรังแกในโลกออนไลน์พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงวัยที่ “เพื่อน”คือบุคคลสำคัญ ความสัมพันธ์กับเพื่อนไม่ว่าในโลกจริงหรือโลกออนไลน์ล้วนสร้างผลกระทบอย่างมาก เมื่อถูก Cyberbullying เด็กจะรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ซึ่งก็ส่งผลต่อการที่เด็กจะรู้สึกยอมรับหรือไม่ยอมรับตนเองได้

 

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเหยื่อของ Cyberbullying ก็มักจะเกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ทางลบ ซึ่งมีด้วยกันหลายระดับ ตั้งแต่โกรธ โมโห และเกิดความรู้สึกคับข้องใจ จนถึงความคับแค้น และเกิดความคิดอยากเอาคืน

 

ในช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เราอยากรู้อยากลอง การถูกรังแกในโลกออนไลน์ทำให้เรารู้สึกสั่นคลอนในใจของเราว่าวิธีคิดของเรา ความคิดเห็นของเรา มันแย่ถึงขนาดนั้นเลยหรือ จึงนำมาสู่ข้อความแห่งความเกลียดชังแทนที่จะเป็นข้อความของการยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าจะหาทางออกทางใด และเด็กหลาย ๆ คน เมื่อเจอปัญหาก็มักจะกลัวไปก่อนแล้วว่าผู้ใหญ่จะตัดสินตน จึงอาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในทางที่ไม่ถูกต้อง

 

สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ภาวะซึมเศร้าคือภาวะที่บุคคลรู้สึกโดดเดี่ยว ลำพัง จนถึงขั้นนำไปสู่ความคิดที่จะทำร้ายตนเอง

 

ถ้ามองผลกระทบในระดับสังคม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying มักจะมีความรู้สึกปลีกตัว แปลกแยก และบุคคลรอบข้างเองก็อาจปลีกตัวจากผู้ที่ถูก Cyberbullying เช่นกัน ไม่อยากเข้าไปหรือไม่อยากทำอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะกลัวว่าตนเองจะถูกกระทำเหมือนกัน จึงเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ของคนที่ถูกรังแกและคนรอบข้างจะแย่ลง

 

เหตุผลที่ Cyberbullying สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างร้ายแรง

 

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มีสิ่งที่เรียกว่า Digital footprint คือไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์แล้วจะลบเลือนออกไปได้ แม้ต้นทางจะลบออกไปแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีร่องรอยปรากฏเหลืออยู่

 

การรังแกทางโลกออนไลน์นั้นไม่มีพื้นที่จำกัด ทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าคนที่กระทำหรือใคร จึงกล่าวได้ว่า “ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการตกเป็นเหยื่อ” และในงานวิจัยพบว่า การรังแกในโลกจริงและในโลกไซเบอร์มักจะมาคู่กัน บางทีเป็นคนกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำ

 

ในทางความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ความรู้สึกคับแค้นใจอาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับตัวผู้กระทำที่ทำกับเขา แต่ยังขยายไปถึงคนแวดล้อมผู้กระทำด้วย ที่ไม่พยายามปกป้องเขา จนทำให้อารมณ์ทางลบนั้นถึงจุดที่ระเบิด และมีความคิดเหมารวมว่าทุกคนบนโลกนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับผู้ที่รังแกเขาใช่ไหม เพราะไม่มีใครช่วยเหลือเขาเลย

 

Cyberbullying จะสร้างผลที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการรังแกในลักษณะที่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเรา และทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีคนเข้ามาทำร้ายซึ่งส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้ และอาจกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัวและคนรู้จักของเราได้

 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่จะตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying

 

คือผู้ที่มีลักษณะอ่อนแอกว่า รวมถึงบุคคลกลุ่มน้อย (minority) ที่มีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม
แต่ทั้งนี้ ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ได้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า Cyberbullying เกิดขึ้นจากการที่มีคนเอาข้อความที่มีเจตนาดีของเราไปตีความผิด ๆ หรือการที่เราแชร์เรื่องราว ความคิดเห็นของเรา โดยอาจไม่ทันได้ระวังว่าเราแชร์ที่ไหน ในแหล่งใด กับคนกลุ่มใด ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ที่เป็นความเสี่ยงในการถูกกลั่นแกล้งรังแกได้

 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Cyberbullying เป็นเรื่องที่มีผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าที่เราคิด

 

แต่คนที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่ได้อยู่ลำพัง เดียวดาย สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราออกจากปัญหานี้ได้คือ “การแสวงหาความช่วยเหลือ” หาใครสักคนที่เรารู้สึกวางใจ ที่เราจะสามารถสื่อสารเรื่องนี้ได้ หาจุดที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย หาใครสักคนที่เชื่อใจและพูดคุยกับเขา

 

และทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ต่างก็มีอำนาจในการควบคุมพื้นที่ของตนเอง เราสามารถตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ของเราได้ในระดับหนึ่ง สกรีนว่ามีใครบ้างที่เราจะอนุญาตให้เขามาในพื้นที่ส่วนตัวของเรา หรือป้องกันตัวเองที่จะไม่เข้าไปหาเนื้อหาทางลบ

 

อย่างไรก็ตามแม้เราจะป้องกันตัวเองแล้ว ก็อาจจะยังถูกกลั่นแกล้งรังแกได้ เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้ได้ว่าเราถูกกระทำ เราก็ต้องพยายามดึงสติ รวบรวมความกล้า และใช้ความคิดว่าจะพาตนเองออกจากสถานการณ์นี้อย่างไรให้สวยงามที่สุด ให้เราสบายใจและทุกคนสบายใจ และมันก็ไม่จำเป็นที่ในสถานการณ์ที่เราถูกด่าว่าหรือถูกเอาไปกลั่นแกล้งในทางออนไลน์ เราจะต้องกลายเป็นเหยื่อเสมอไป ตราบใดที่เราไม่ได้มองว่าเราถูกกลั่นแกล้ง เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

 

 


 

 

Episode 2 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้กระทำ

 

 

 

การรังแกในโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
คิดก่อนโพสต์ เช็คก่อนแชร์ #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย

 

ถ้าเราดูนิยามในเชิงวิชาการ พฤติกรรม Cyberbullying เขาจะนับที่เจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก ว่ามีเจตนามีพฤติกรรมที่หวังผลร้ายกับผู้ถูกกระทำหรือไม่ แต่ในระยะหลัง ๆ เราพบว่าถึงแม้ผู้กระทำ Cyberbullying จะรู้สึกว่าไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี แต่ถ้าผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อแสดงความไม่พอใจออกมา แสดงอารมณ์ทางลบออกมา และผู้กระทำยังกระทำการนั้นซ้ำ ๆ เช่นนี้ก็ถือว่าเป็น Cyberbullying เช่นกัน

 

พฤติกรรม Cyberbullying ที่พบได้บ่อย (จากมุมมองของผู้กระทำ)
  • การส่งหรือเผยแพร่ต่อข้อความล้อเลียนใครบางคนที่เราอาจจะรู้สึกไม่ดีด้วย
  • การเฝ้าสะกดรอยตามทางออนไลน์คนที่เราชื่นชอบหรือสนใจเป็นพิเศษ คือเฝ้าดูเขาตลอดเวลาว่าโพสต์หรือทำอะไรบ้างในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่เขาใช้งานเป็นประจำ จนรู้ความเคลื่อนไหวของบุคคลนี้ไปเสียทั้งหมด ทำให้คนที่ถูกสะกดรอยรู้สึกไม่ดี รู้สึกหวาดกลัว
  • การขับบุคคลอื่นออกจากกลุ่ม ซึ่งทำให้คนที่ถูกกีดกันรู้สึกไม่ดี
  • การปะทะคารม การโต้เถียง การที่เราใช้คำรุนแรงระหว่างกันในอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ
  • การโพสต์หรือแชร์สิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกอับอาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง

 

พฤติกรรม Cyberbullying อาจเป็นพฤติกรรมที่เราเรียนรู้มาจากผู้อื่น เช่น เคยโดนกระทำมาก่อน แล้วนำมาทำบ้าง ก็เป็นการส่งต่อความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับคนอื่น ซึ่งหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเด็ก ๆ อาจไม่ได้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้

 

Cyberbullying จึงไม่ได้นับจากเจตนาหรือไม่เจตนา Cyberbullying นั้นเป็นพฤติกรรม หากเราทำลงไปแล้ว และมีคนที่ได้รับผลกระทบ ก็นับเป็น Cyberbullying เช่นการที่เราโพสต์คลิปตลก ๆ ของเพื่อนออกไป แล้วส่งผลให้มีคนมาพูดจาคุกคามทางในทางที่ไม่ดีกับเพื่อนของเรา ส่งผลให้เพื่อนของเราตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ต่อให้เราขอโทษเพื่อนและลบคลิปแล้ว แต่สิ่งที่คนอื่นนำคลิปไปแชร์ต่อ ผลกระทบนั้นก็ยังส่งถึงเพื่อนของเราอยู่ เราก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ Cyberbullying ได้เช่นกัน

 

อะไรที่ทำให้เรากลั่นแกล้งผู้อื่นทางออนไลน์
  • การที่เรารู้สึกว่าไม่มีใครรู้ว่าเราคือใคร เมื่อเป็นที่ที่ไม่ต้องแสดงความเป็นตัวตนของเราออกมา เราก็จะแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงออกมาโดยที่เราไม่กลัวว่า ฉันคือใคร
  • ในโลกออนไลน์เป็นโลกที่ขาดพื้นที่ของความเห็นอกเห็นใจ เราไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่าผลกระทบสิ่งที่เราพิมพ์หรือโพสต์ไป คนที่ได้รับผลกระทบ เขาจะรู้สึกอย่างไร เราจึงมีโอกาสทำพฤติกรรมนั้นต่อเนื่อง
  • เราไม่รู้ว่ามีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับอีกฝ่ายบ้าง เขาเผชิญความเดือดร้อนแค่ไหน เกิดผลกระทบอย่างไรในโลกความเป็นจริงด้วย
  • คนบางคนมีบุคลิกภาพที่ค่อนข้างก้าวร้าว ข่มขู่คุกคามคนอื่น
  • เคยถูกบูลลี่มาก่อนในโลกไซเบอร์ ในระยะต่อมาก็อาจไปกระทำกับคนอื่น
  • บางคนมุ่งหวังยอดผู้ติดตาม ยอดไลค์ ยอดคอมเมนต์ พอมีคนสนใจมาก ๆ ในเรื่องดราม่าก็ยิ่งมีการส่งต่อแชร์ต่อ

 

ผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับตัวผู้กระทำเอง
  • หากคนเราใช้ชีวิตอย่างขาดการตระหนักรู้ ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่สามารถควบคุมกำกับตัวเราเองได้ ซึ่งอาจจะขยายไปถึงเรื่องอื่นของปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การตระหนักรู้ในตนเอง หรือสุขภาวะทางใจของเราในอนาคต
  • Cyberbullying เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวประเภทหนึ่ง การได้ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในโลกออนไลน์ ก็เป็นไปได้ว่าวันหนึ่งจะนำมาทำในชีวิตจริง

 

การลดพฤติกรรมการรังแกในโลกออนไลน์
  • เริ่มจากความเชื่อและการตระหนักร่วมกันว่าการรังแกในโลกออนไลน์ผลกระทบนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ การที่เรารู้สึกว่าแค่เล่น ๆ ไม่ได้จริงจัง แต่ถ้าเป็นเราที่อยู่ในสถานการณ์นั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ฝึกการคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะช่วยให้เรายับยั้งพฤติกรรมของเราได้
  • ถ้าเราอยู่ในโลกออนไลน์ และมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มในโลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มทำพฤติกรรมแบบ Cyberbullying ให้ถอยตนเองออกมา หลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์แบบนั้น หรือลดปริมาณการใช้งานลง
  • คิดถึงภาพรวมของสังคมให้มากขึ้น การส่งต่อพลังงานทางลบออกไป พลังงานทางลบนั้นก็จะเวียนอยู่ในสังคมและสุดท้ายเราเอง รวมถึงคนรอบข้างของเราก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
  • ใจดีต่อกันมากขึ้น ส่งต่อพลังงานทางบวกมากขึ้น เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

 

 

 


 

 

Episode 3 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้ถูกกระทำ

 

 

 

คำพูดหรือการกระทำของผู้อื่น ไม่ได้กำหนดคุณค่าในตัวคุณ
STOP / BLOCK / TELL #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย

 

จากงานวิจัยในโครงการ เรื่อง “การศึกษาความชุกของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และผลกระทบทางจิตใจของเหยื่อในประเทศไทย (เก็บข้อมูลระหว่าง มี.ค. – พ.ค. 2567) พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมมองของ “ผู้ถูกผู้กระทำ” ที่พบมากที่สุด คือ
  1. การได้รับภาพล่อแหลมทางเพศ
  2. การได้รับข้อความดูถูก เหยียดหยาม หรือทำให้กลัว ซึ่งอาจจะเกิดจากการสนทนาและโต้เถียงกันจนลุกลาม
  3. การได้รับข้อความล้อเลียน เสียดสี

 

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่คนอาจไม่ค่อยรู้ว่าจัดเป็น Cyberbullying เช่นกัน
  • การแคปแชทส่วนตัวออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • การล่อลวงให้ส่งข้อมูลหรือภาพส่วนตัวในเรื่องเพศ แล้วนำออกไปเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • การขับคนออกจากกลุ่ม หรือ การติด Hashtag แบนคน
  • การตั้งกลุ่มปิดเพื่อนินทาลับหลังหรือส่งต่อข่าวที่ไม่ดี

 

วิธีการรับมือเมื่อถูก Cyberbullying
    1. STOP ไม่เข้าไปยุ่งกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
    2. BLOK ไม่ให้คนที่เข้ามาทำร้ายเราเข้าถึงตัวเราได้
    3. TELL ไม่เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวคนเดียว
  • ในกรณีที่มีคนมาขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตของเรา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เราอาจจะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก สิ่งที่จะทำได้คือออกมายอมรับ ขอโทษ ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น
  • ถ้าเรารู้สึกว่ามีโพสต์ใดที่คุกคามจิตใจของเรามาก เราสามารถกด report ให้ระบบจัดการให้โพสต์นั้นหายไป

 

วิธีการเยียวยาตนเองและหาทางออกจากปัญหา
  • เมื่อถูก Cyberbullying เราอาจจะถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่าเรามีอะไรไม่ดีหรือเปล่า…ให้ออกจากความคิดโทษตัวเองซ้ำ ๆ สิ่งที่จะช่วยได้คือการหาใครสักคนที่จะพูดคุย คนที่วางใจว่าจะช่วยเหลือเราได้
  • แพล็ตฟอร์มที่ให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิต เช่น 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต, App SATI, App HeretoHeal
  • ถ้าเรารู้สึกแย่มาก ๆ จากการเข้าถึงสังคมออนไลน์ที่ Toxic ให้เราพักจากสื่อนั้น ออกมาทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่จับต้องได้ ออกมาใช้เวลากับตัวเอง และใช้เวลาอยู่ในกลุ่มสังคมที่ดี ๆ

 

แนวทางการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการถูกรังแก
  • กลับมาโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้มากขึ้น เช่น ก่อนที่เราจะแชร์ ก่อนที่เราจะโพสต์ หรือจะสื่อสารอะไรออกไป เราจะสื่อสารอะไรในพื้นที่ไหนบ้างจึงจะปลอดภัย
  • สร้างค่านิยม สร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ร่วมกันผลักดันให้เกิดบรรทัดฐานที่ดี ๆ เมื่อมีสมาชิกคนไหนที่จะมา bully คนอื่น ก็ให้ช่วยกันสกรีน จนให้พฤติกรรมเหล่านั้นลดลง
  • ไม่ตอบโต้ สุมไฟ ให้ผู้กระทำยิ่งรู้สึกสนุก ถ้าเราไม่ยอมให้คนเหล่านั้นมามีบทบาทในชีวิตของเรา เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อ
  • ให้ทุกคนรู้จักคุณค่าของตนเอง เชื่อว่าตนเองมีคุณค่า ต่อให้จะมีใครมาว่ากล่าว ตำหนิเรา ให้ยึดว่าชีวิตของเรายังมีคุณค่า ยอมรับว่า ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์ ย่อมมีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบเรา เพียงแต่ว่าโลกออนไลน์มันง่ายที่คนจะมาพูดทำร้ายความรู้สึกของเรา แล้วก็ไป
  • รักตัวเองให้มาก เรียนรู้ที่จะก้าวผ่านเรื่องราวที่ไม่ดี เรียนรู้ที่จะเติบโตและเป็นคนที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างภาคภูมิใจ

 

 

 

 

 


 

 

Episode 4 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้พบเห็นเหตุการณ์

 

 

“แทนที่เราจะเป็นคนเฝ้าดูเฉย ๆ ซึ่งมันขาดความเห็นอกเห็นใจ ถ้าเราสามารถมีบทบาทในการที่เป็นผู้ปกป้อง บทบาทในการที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวลำพัง ก็จะช่วยได้มาก ๆ”

 

หยุดวงจรการเกิด Cyberbullying ซ้ำ ๆ ที่ตัวเรา
“เพิ่มบทบาทการเป็นผู้ปกป้อง” #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย

 

ผู้พบเห็น Cyberbullying แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ
  1. ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการ Cyberbullying ด้วย เช่น มาร่วมคอมเมนต์ในทางลบ
  2. ผู้ที่เข้ามาปกป้องผู้ถูกกระทำ เช่น การให้ข้อมูลความจริง หรือให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เป็นการปกป้องผู้ที่ถูกกระทำ หรือให้กำลังใจผู้ที่ถูกกระทำ
  3. ผู้ที่ไม่ได้ทำอะไร อาจกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อ หรือมองว่าเดี๋ยวคงมีคนอื่นมาช่วยเอง [ทางจิตวิทยาเรียกว่า bystander effect (ยืนมุงแต่ไม่ช่วยเหลือ) ]

 

เราสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying ได้อย่างไร
  • ไม่ส่งต่อ ไม่เผยแพร่ และอาจพูดคุยกับคนที่ส่งต่อมาให้ว่าอย่าส่งต่อไปให้คนอื่นอีกเลย เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม
  • ไม่คล้อยตาม หรือปักใจเชื่อ ว่าคนที่ถูกโจมตีจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ปัจจุบันนี้คนถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จกันมาก เพราะฉะนั้นจึงควรต้องพิจารณาดี ๆ อย่างรอบคอบ
  • ไม่เพิกเฉย ถ้าคนนั้นเป็นคนที่เรารู้จัก สามารถให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งได้เพื่อรักษาความถูกต้องบนโลกออนไลน์
  • ช่วยกันรณรงค์ว่าก่อนที่จะสื่อสารอะไร อาจจะกำลังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่
  • กด report โพสต์ หรือ บัญชี ที่ Cyberbullying คนอื่น
  • สื่อสารกับผู้ถูกกระทำ ว่ายังมีคนที่เข้าใจ

 

เราทุกคนช่วยกันลดปัญญา Cyberbullying ได้อย่างไร
  • เพิ่มการตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมอะไรที่ทำลงไปแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น และระงับพฤติกรรมนั้น
  • เพิ่มการมีวิจารณญาณในการใช้สื่อ (Media literacy) รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต และอะไรคือโทษที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกำหนดบรรทัดฐานหรือค่านิยมใหม่ ๆ ว่าสิ่งใดควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ คอยห้ามปรามกันและกัน
  • เราควรมีนโยบายป้องกันและระบบช่วยเหลือดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไร
  • เนื่องจาก Cyberbullying ส่วนมากมักเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนเป็นจุดที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้กับนักเรียน รวมถึงครูในโรงเรียน ถึงความร้ายแรงของ Cyberbullying ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการล้อเล่นกัน เพราะมันสามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อได้
  • ในรายวิชาด้านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกเหนือจากการศึกษาฟังก์ชั่นการใช้งาน ยังควรเพิ่มประเด็นเรื่องการใช้งานอย่างไรให้เหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นมาละเมิดสิทธิของเรา
  • การมีเครือข่ายในการดูแล ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือได้ง่าย รับรู้ได้ว่ามีกลุ่มบุคคลที่ปลอดภัยที่พึ่งพาได้
  • ผู้พัฒนาแพล็ตฟอร์มสร้างระบบที่จะช่วยผู้ถูกกระทำให้สามารถดึงกลับข้อมูลที่เหมาะสม งดการรีแชร์/รีโพสต์ข้อความ/รูปภาพ/คลิปเดิมซ้ำ ๆ ไม่ให้เกิดการรังแกซ้ำได้

 

การเพิกเฉยต่อปัญหา Cyberbullying สามารถสร้างบาดแผลให้กับผู้ถูกกระทำได้ ทุกคนจึงควรรวมพลังกัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ ลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ให้หายไป

 

 

ปฏิทินโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา ปี 2567

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา สำหรับบุคคลทั่วไป

โดยงานบริการวิชาการกลาง คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2567

 

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ เวลาจัดอบรม Application timeline สถานะ
แนวทางการบริการจัดการความหลากหลายในองค์กร
สำหรับผู้ดูแลและจัดการทรัพยากรบุคคล
(Diversity Management in Organizations for Human Resources)
23 มีนาคม 2567 กุมภาพันธ์ 2567 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
(Theories of Counseling and Psychotherapy)
8 มิถุนายน –
3 สิงหาคม 2567
เม.ย. 67 ปิดรับสมัครแล้ว
พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2567 17 – 28 มิถุนายน 2567 เม.ย. – มิ.ย. 67 ปิดรับสมัครแล้ว
สถิติเบื้องต้นสำหรับการวิจัยทางจิตวิทยา ประจำปี 2567 1 – 15 กรกฎาคม 2567 เม.ย. – มิ.ย. 67 ปิดรับสมัครแล้ว
พื้นฐานจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ประจำปี 2567 24 มิถุนายน –
25 กรกฎาคม 2567
พ.ค. – มิ.ย. 67 ปิดรับสมัครแล้ว
เทคนิคพื้นฐานการเจรจาต่อรอง รุ่นที่ 3 27 กรกฎาคม 2567 พ.ค. – มิ.ย. 67 เปิดรับสมัครอยู่
จิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2567 พฤศจิกายน –
ธันวาคม 2567
ตุลาคม 2567 ยังไม่เปิดรับสมัคร

 

 

 

Chula Care 2566-2567 : สำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Chula Care : ทุกปัญหานักจิตวิทยา​ยินดีรับฟัง

*** ประชาสัมพันธ์สำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ***

 

 

ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการจัดโครงการบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับอาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ (Chula Care) เพื่อดูแลสุขภาพภาวะทางจิตของบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการ CU Sustainable Well-Being: เสริมสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน โดยมีนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแก่บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถรับบริการฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มีระยะเวลาในการรับบริการตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

 

 

 

 

บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนขอนัดหมายรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทาง http://wellness.psy.chula.ac.th

 

สอบถามข้อมูลการรับบริการเพิ่มเติมได้ที่
“ศูนย์สุขภาวะทางจิต”
ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์ 082–329-8001
Line OA : @266wares (สแกน qr code ในรูป)
e-mail: contactchulacare@gmail.com

 

 


 

 

 

Chula Care News

 

 

 

 


 

 

การอบรมสำหรับบุคลากรจุฬาฯ (ฟรี) ในโครงการ Chula care

 

 

Social So Chill – Monthly Live Talk 2023

 

Social So Chill – Monthly Live Talk

 

 

2566


 

 

Ep.01 – รัก..ออกแบบได้

วิทยากร: ผศ.ดร. หยกฟ้า อิศรานนท์ และคุณวันทิพย์ ชวลีมาภรณ์ นิสิตปริญญาเอก

 

Ep.02 – ปรับงานอย่างไร… ให้ชีวิตสมดุล

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล และคุณปณต ศรีสินทรัพย์ นิสิตปริญญาเอก

 

Ep.03 – จิตวิทยาสังคมกับการเลือกตั้ง

วิทยากร: อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม และคุณเมธพนธ์ เตชะบุญเกียรติ นิสิตปริญญาตรี

 

Ep.04 – Locus of control อำนาจควบคุมตนสำคัญอย่างไร

วิทยากร: ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช และคุณภรัณยู โรจนสโรช นิสิตปริญญาโท

 

Ep.05 – จูงใจคนให้ทำเพื่อสิงแวดล้อมยังไงดี

วิทยากร: ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ และคุณพีรยา พูลหิรัญ นิสิตปริญญาโท

 

Ep.06 – Growth mindset ในการเรียนและการทำงาน

วิทยากร: ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา และ อ. ดร.ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข

 

Ep.07 – Cognitive bias อคติทางความคิดในการมองโลก…ของเราทุกคน

วิทยากร: อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

EP.08 – ใช้ social media อย่างไรให้รู้ทัน

วิทยากร: ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

EP.09 – Burnout contagion ภาวะหมดไฟแพร่ระบาดได้หรือไม่?

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

EP.10 – การทำความผิดในมุมจิตวิทยาสังคม

วิทยากร – อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม และ คุณภัทรพงศ์ สุทธิรัตน์

 

 

 

จิตวิทยาเชิงปริมาณคืออะไร?

 

จิตวิทยาเชิงปริมาณ (Quantitative Psychology) เป็นสาขาหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาที่เน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณ (เชิงตัวเลข) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตใจของมนุษย์ และเนื่องจากงานวิจัยทางจิตวิทยาในปัจจุบันมักมาจากการวิจัยเชิงปริมาณ สาขานี้จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางจิตวิทยาในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology) หรือสาขาอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการเชิงปริมาณ

 

นิยาม


 

“จิตวิทยาเชิงปริมาณ” เป็นการศึกษาวิธีการในการออกแบบการวิจัย การวัดคุณลักษณะของบุคคล และการวิเคราะห์ข้อมูลทางจิตวิทยา นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อศึกษากระบวนการทางจิตวิทยา (American Psychological Association [APA], 2009)

 

จากนิยามข้างต้น จิตวิทยาเชิงปริมาณสามารถแบ่งได้เป็น 4 ด้านหลัก ๆ ที่สัมพันธ์กัน โดยนักจิตวิทยาเชิงปริมาณคนหนึ่งอาจมีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องในด้านดังต่อไปนี้

 

1. การออกแบบการวิจัย (Research Design)

 

การออกแบบการวิจัย คือ การกำหนดวิธีการวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของคำถามวิจัยที่ตั้งไว้ ยกตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องการศึกษาว่าการเข้ากลุ่มที่ใช้การเจริญสติช่วยลดความเศร้าได้หรือไม่ การตอบคำถามนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น สุ่มคนส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มที่ใช้การเจริญสติและอีกส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มที่ไม่ใช้การเจริญสติ จากนั้นเปรียบเทียบระดับความเศร้าของคนในสองกลุ่มนี้หลังจากการเข้ากลุ่ม

 

ในด้านการออกแบบการวิจัย นักจิตวิทยาเชิงปริมาณมีหน้าที่พัฒนาวิธีการวิจัยให้นักจิตวิทยาสามารถตอบคำถามวิจัยได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ นักจิตวิทยาเชิงปริมาณมักร่วมมือกับนักจิตวิทยาในสาขาอื่น ๆ ในการกำหนดรูปแบบการวิจัยารสุ่มตัวอย่าง การเลือกเครื่องมือ การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล

 

2. การวัด (Measurement)

 

 เมื่อนักจิตวิทยารู้ว่าจะตอบคำถามวิจัยด้วยวิธีใดแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการวัด เช่น นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การต้องการวัดบุคลิกภาพของพนักงานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล แต่ปัญหาที่มักพบคือ จะใช้การวัดแบบใด และการวัดที่ใช้จะสามารถบอกบุคลิกภาพของพนักงานได้จริงหรือไม่

 

ตัวอย่างบทบาทของนักจิตวิทยาเชิงปริมาณในด้านนี้ ได้แก่ การพัฒนาทฤษฎีการวัดและวิธีการวัดที่ทำให้สามารถวัดในสิ่งที่ต้องการจะวัดได้อย่างแม่นยำ นักจิตวิทยาเชิงปริมาณยังทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาสาขาอื่น ๆ ในการสร้างมาตรวัดและตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัด

 

3. การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis)

 

การวิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาทำการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบของถามวิจัย ตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาการศึกษาต้องการทราบว่าแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียนลดลงหรือไม่หลังจากเปิดเทอม โดยเก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มเดียวซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวัดซ้ำในลักษณะนี้มีหลายวิธีซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน บางวิธีเหมาะสมกับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก แต่มีการวัดซ้ำหลายครั้ง ในขณะที่บางวิธีเหมาะสมกับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ แต่มีจำนวนการวัดซ้ำน้อย

 

งานของนักจิตวิทยาเชิงปริมาณในด้านนี้ ได้แก่ การค้นหาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในการวิจัยทางจิตวิทยา การเปรียบเทียบวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบต่าง ๆ การปรับแก้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น และการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมาใหม่ เป็นต้น

 

4. โมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติ (Mathematical and Statistical Modeling)

 

นอกเหนือจากการพัฒนาและตรวจสอบวิธีการวิจัยรวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล นักจิตวิทยาเชิงปริมาณยังใช้ความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์และสถิติในการสร้างโมเดลเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ โดยนักจิตวิทยาเชิงปริมาณจะนำเสนอปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางจิตวิทยาในรูปของสมการทางคณิตศาสตร์ เช่น การทำงานของสมอง กระบวนการคิดและการตัดสินใจ และการสร้างเครือข่ายทางสังคม อีกสิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาเชิงปริมาณทำในด้านนี้คือการนำโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่มีอยู่แล้วจากสาขาวิชาอื่นมาประยุกต์ใช้กับจิตวิทยา

 

สรุป


 

จิตวิทยาเชิงปริมาณมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อศาสตร์จิตวิทยา นักจิตวิทยาเชิงปริมาณมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและตรวจสอบการออกแบบการวิจัย การวัด การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ ด้วยความรู้เหล่านี้ นักจิตวิทยาเชิงปริมาณจึงมีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางจิตวิทยา

 

 

รายการอ้างอิง

 

American Psychological Association. (2009). Task force for increasing the number of quantitative psychologists. https://www.apa.org/science/leadership/bsa/quantitative

 

 

 


 

 

บทความโดย

 

อาจารย์ ดร.ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข

อาจารย์ประจำแขนงจิตวิทยาเชิงปริมาณ

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Psi – Psyche – Psychology ตำนานและสัญลักษณ์

 

Psychology: Study of Mind

 

 

คำว่า psychology หรือในภาษาฝรั่งเศสคือ psychologie เป็นคำยืมมาจากภาษาละติน psychologia ซึ่งมีรากศัพท์มาจากการประสมคำสองคำของภาษากรีกโบราณคือ psukh (จิต วิญญาณ) และ logía (ศาสตร์ วิชา)

 

 

Latin
Greek
meaning
psycho
psychē
psukhḗ (ψυχή)
soul
logy
logia
logía (λογία)
study of

 

 

 

Symbol: Psi, Butterfly and Psyche (Greek goddess)

 

จากที่มาข้างต้น Ψψ ตัวอักษรตัวแรกของคำว่า ψυχή ซึ่งเป็นตัวอักษรลำดับที่ 23 ในภาษากรีก [ออกเสียงว่า พไซ /psaɪ/ (อังกฤษ) หรือ ปซี /psi:/ (กรีก)] จึงเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า psychology ที่เป็นที่ยอมรับแพร่หลายมากที่สุด

 

 

 

 

นอกจากนี้ คำว่า psyche ซึ่งมีความหมายถึงจิตวิญญาณ ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ ผีเสื้อ ทั้งนี้ ผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ของ วิญญาณ ลมหายใจแห่งชีวิต การเกิดใหม่ การคืนชีพ และการเปลี่ยนรูป สะท้อนถึงวัฏจักรชีวิตของผีเสื้อ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากไข่ หนอน ดักแด้ ไปสู่ผีเสื้อที่สวยงาม โดยตามความเชื่อของชาวกรีก เมื่อมีคนเสียชีวิตวิญญาณจะออกจากร่างไปในรูปของผีเสื้อ

 

 

 

เชื่อมโยงกับปกรณัมกรีก ไซคี (Psyche) คือชื่อของเทพีแห่งจิตวิญญาณ ชายาของเทพเอรอส (Eros) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรมันคือเทพคิวปิด (Cupid) นางไซคีมีรูปลักษณ์เป็นเทพีมีปีกผีเสื้อ เคียงคู่กับสามีที่เป็นเทพมีปีกนกสีขาว

 

 

 

ตามตำนาน นางไซคีเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เป็นเจ้าหญิงองค์เล็กของราชวงศ์กรีกโบราณ มีความงดงามเป็นที่เลื่องลือ ความงามของไซคีเอาชนะเทพีแอโฟรไดที (Aphrodite) หรือเทพีวีนัส (Venus) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความงามและความรักได้ ส่งผลให้เทพีแอโฟรไดทีไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากประชาชนสักการะบูชาองค์เทพีน้อยลง เพราะเข้าใจนางไซคีว่าเป็นร่างอวตารขององค์เทพี จึงหันไปบูชานางไซคีแทน

 

แอโฟรไดทีได้ส่งให้เอรอสโอรสของพระนางไปจัดการให้ไซคีตกหลุมรักคนน่าเกลียดน่ากลัวที่สุดในแผ่นดินเพื่อเป็นการลงโทษ ทว่าเมื่อเอรอสได้พบหน้าไซคี พระองค์กลับหลงใหลในความงามจนทำศรปักตนเองและตกหลุมรักนางในที่สุด

 

หลังจากวันนั้น พี่สาวทั้งสองของไซคีได้แต่งงานออกไป เหลือเพียงไซคีที่มีคนมากมายหลงใหลแต่ไม่มีผู้ใดกล้ามาสู่ขอ พระราชาจึงนำความไปสอบถามเทพพยากรณ์ที่วิหารแห่งเทพอะพอลโล ณ เมืองเดลฟี เทพพยากรณ์ให้คำตอบว่านางโซคีจะได้แต่งงานกับอสุรกายที่แม้แต่เหล่าเทพยังหวั่นเกรง จงพานางไปยังยอดผาที่สูงที่สุดของเมือง ณ ที่แห่งนั้นนางจะได้พบกับผู้เป็นคู่ครอง

พระราชาทำตามคำชี้แนะของเทพพยากรณ์ด้วยหัวใจที่สลาย ไซคีถูกทอดทิ้งไว้กับโชคชะตาของนางอยู่บนผาสูง อสุรกายมิได้ปรากฏกาย มีเพียงเอรอสที่แอบซ่อนอยู่ตรงนั้น ในที่สุดเซฟีรัสเทพแห่งลมตะวันตกก็ได้พัดพานางไปยังตำหนักที่สวยสดงดงามของเอรอส

 

ยามค่ำ เอรอสเข้าหานางไซคีในความมืดมิด และกล่าวกับนางว่าไม่อาจให้นางเห็นหน้าและบอกกล่าวนามอันแท้จริงแก่นางได้ มิเช่นนั้นทุกอย่างจะพังทลาย ทั้งยังบอกไม่ให้นางไปไหนเพราะครอบครัวของนางต่างเข้าใจว่านางได้ตายไปแล้วเนื่องจากไม่เห็นนางอยู่ที่ผานั้น ไซคีเชื่อฟังสามี นางดำรงตนอยู่ในวิมานที่สวยงามและเพียบพร้อมนั้นด้วยความรู้สึกเงียบเหงา

 

ความโศกเศร้าของนางทำให้เอรอสอนุญาตให้นางไปพบพี่สาวได้ แต่ได้เตือนนางไว้ว่าพวกพี่สาวของนางอาจจะพูดสิ่งใดให้ความสัมพันธ์ของเราต้องแตกหัก ไซคีได้รับปากสามีว่าจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด อย่างไรก็ดีเมื่อพี่สาวได้ยุยงให้นางเกิดความสงสัยต่อรูปโฉมที่แท้จริงของสามีของนาง ตกกลางคืนเมื่อเอรอสหลับไหล ไซคีก็ได้ถือตะเกียงน้ำมันส่องแสงไปยังสามี เมื่อได้เห็นความงดงามของเทพบุตรหาใช้ความอัปลักษณ์ของอสุรกายไม่ นางไซคีเกิดความยินดี ทว่าน้ำมันร้อน ๆ จากตะเกียงได้หยดลงไปต้องไหล่ของเอรอส ปลุกให้เอรอสตื่นขึ้นด้วยความแสบร้อน องค์เทพโกรธที่ชายาผิดคำพูดและได้สยายปีกหนีไป

 

ไซคีเสียใจที่ได้กระทำการอันเป็นการหักหลังผู้เป็นสามี ด้านเทพีแอโฟรไดทีเมื่อเห็นแผลของเอรอสก็ได้ทราบความจริงว่าชายาของโอรสคือคนเดียวกับคนที่นางแสนเกลียดชัง ทันทีที่พบว่าไซคีได้วิงวอนต่อเทพเจ้าให้ช่วยเหลือนางตามหาสามี แอโฟรไดทีจึงได้ลงมาโปรดโดยแลกกับการที่นางไซคีต้องเผชิญกับแบบทดสอบ 4 ประการ เพื่อที่องค์เทพีจะไม่ขัดขวางความรักระหว่างโอรสและสุณิสาอีก และจะช่วยเหลือให้ทั้งสองได้คืนดีกัน

 

แบบทดสอบที่ยากลำบากทั้ง 4 เริ่มด้วย 1. การแยกเมล็ดธัญพืชจำนวนมหาศาลที่ปะปนอยู่ 6 ชนิด ออกจากกัน ด้วยความช่วยเหลือของฝูงมดโดยการดลบันดาลของเอรอสทำให้ผ่านพ้นภารกิจนี้ไปได้ 2. การเก็บข้ามแม่น้ำที่แสนอันตรายไปเก็บขนแกะทองคำ ด้วยคำแนะนำของเทพแห่งสายน้ำที่บอกให้นางเก็บขนแกะที่พันเกี่ยวต้นอ้ออยู่ก็ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จไปได้ด้วยดีเช่นกัน 3. การตักน้ำสีดำจากแม่น้ำสติสซ์จากดินแดนยมโลก ด้วยความช่วยเหลือของพญาเหยี่ยวแห่งมหาเทพซูส (Zeus) ที่ได้บินเอาถังไปตักน้ำมาให้ ภารกิจนี้ก็สำเร็จอีกครั้ง

 

ภารกิจสุดท้ายซึ่งยากที่สุด แอโฟรไดทีได้สั่งให้ไซคีไปขอแบ่งปันความงามจากเทพีเพอร์เซฟะนี (Persephone) ราชินีของเฮดีส (Hades) เทพเจ้าแห่งนรก เพื่อนำกลับมาให้องค์เทพี เนื่องจากนางได้สูญเสียความงามบางส่วนไปหลังจากรักษาบาดแผลให้โอรส ไซคีไม่รู้ว่าตนจะไปยังดินแดนแห่งนรกได้อย่างไร จึงตัดสินใจที่จะยอมตายด้วยการกระโดดหอคอย แต่ด้วยคำแนะนำจากหอคอย ไซคีก็ได้รู้หนทางไปพบองค์ราชินีแห่งนรกได้อย่างปลอดภัย ทว่าระหว่างทางกลับไปยังดินแดนแห่งทวยเทพ เมื่อใกล้ถึงเทือกเขาโอลิมปัส ไซคีได้เปิดกล่องออกดูโดยหวังจะขอปันความงามมาให้ตนเองบ้าง แทนที่จะได้พบกับความงาม ไซคีกลับต้องละอองแห่งความตาย เมื่อไซคีล้มลง เอรอสที่ฟื้นตัวจากบาดแผลและสามารถออกมาจากการกักขังของมารดาได้ ก็ได้เข้ามาช่วยชีวิตไซคีและพานางไปสานต่อภารกิจจนสำเร็จ

 

หลังจากนั้นเอรอสได้ขอให้มหาเทพซูสช่วยตัดสินเรื่องทั้งปวง เทพซูสจึงได้เรียกประชุมเหล่าทวยเทพ เจรจาให้เทพีอะโฟรไดทียอมรับในความรักของโอรสและสุณิสา และประกาศให้เทพเอรอสและไซคีเป็นสามีภรรยากันอย่างถูกต้อง เหล่าเทพเห็นใจในความยากลำบากที่ทั้งสองได้กระทำเพื่อความรัก จึงประทานน้ำอมฤตแก่ไซคี ให้นางกลายเป็นเทพีแห่งจิตวิญญาณ (the goddess of the soul) มีชีวิตอมตะเคียงคู่เอรอสได้นานเท่านาน

 


 

 

Faculty Color

 

สีประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ สีน้ำเงินแก่อมม่วง (สีขาบ หรือ Royal Blue)

 

#282E75
(40,46,117)

 

สีน้ำเงินเป็นสีที่อยู่ในโลโก้หรือสัญลักษณ์ของสมาคมจิตวิทยาหลายแห่งทั่วโลก

 

โดยสีน้ำเงินมีความหมายเกี่ยวโยงกับจิตใจ ความกลมกลืน ความสงบเยือกเย็น ลุ่มลึก ตรรกะเหตุผล จิตวิญญาณที่สงบสันโดษ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เกียรติยศ และการผ่อนคลาย ในทางจิตวิทยาพบว่า เมื่อเราพบเห็นสีโทนเย็นอย่างสีฟ้าสีน้ำเงิน ร่างกายเราจะทำงานช้าลงและผลิตสารเคมีที่ทำให้ประสาทสงบผ่อนคลาย ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตได้เล็กน้อย

 

ส่วนสีม่วงก็เป็นสีที่มีความหมายถึงเกียรติยศ โดยสีม่วงเข้มแสดงถึงความรู้สึกสงบ เยือกเย็น ภาคภูมิ และเป็นสีที่เชื่อมโยงถึงอารมณ์ ความอ่อนไหว การปลอบโยน และการสร้างสมดุลภายในจิตใจ

 


 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

รากศัพท์คำว่า Psychology

https://erenow.net/common/the-greek-and-latin-roots-of-english/10.php

https://en.wiktionary.org/wiki/psychology

https://en.wiktionary.org/wiki/psyche

https://en.wiktionary.org/wiki/-logy#English

https://en.wikipedia.org/wiki/Psi_(Greek)

 

ตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับผีเสื้อ

https://www.gypzyworld.com/article/view/975

 

ตำนานของเทพีไซคี

https://en.wikipedia.org/wiki/Psyche_(mythology)

http://legendtheworld.blogspot.com/2013/09/psyche-wife-of-eros.html

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1200643

จิตวิทยาปริชาน

 

เมื่อพูดถึงสาขาต่าง ๆ ในจิตวิทยา ส่วนมากแล้วสาขาที่หลาย ๆ คนรู้จักจะมี จิตวิทยาสังคม (social psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) จิตวิทยาการปรึกษา (counselling psychology) จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) จิตวิทยาองค์การ (organizational psychology) และ จิตวิทยาประยุกต์ (applied psychology) แต่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักจิตวิทยาปริชาน หรือ อีกชื่อหนึ่งที่มักจะถูกเรียกคือ จิตวิทยาปัญญา หรือ จิตวิทยาการรู้คิด เท่าไรนัก

 

จิตวิทยาปริชาน มุ่งศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ และตัดสินใจว่าเราควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ กระบวนการที่ว่านี้รวมไปถึง การใส่ใจ การรับรู้ การเรียนรู้ ความจำ ภาษา การแก้ปัญหา การให้เหตุผล และการคิด

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เราสามารถสรุปได้ว่า

 

จิตวิทยาปริชานพยายามศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมารวมกับความรู้ทางด้านประสาทวิทยา (cognitive neuroscience) เพื่อทำให้เราสามารถศึกษาการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการทำงานของสมองและโครงสร้างของสมองได้อีก

 

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งของหัวข้อในจิตวิทยาปริชาน คือ ความจำ (memory) นักจิตวิทยาปริชานจะทำวิจัยว่า

  • “ทำไมบางเรื่องที่เราอยากจำได้แต่เรากลับลืม”
  • “ในขณะที่เรื่องที่เราอยากลืมเรากลับจำได้แม่นยำ”
  • “จะทำอย่างไรให้เราจำได้ดีขึ้น”
  • “แต่ถ้าบางเรื่องมันกระทบจิตใจเรามาก ๆ จะทำอย่างไรให้เราลืมเรื่องพวกนั้นไป”
  • “ความจำที่เราคิดว่าเราจำได้แม่นยำมาก ๆ เราจำมันได้อย่างที่มันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า”
  • “ความทรงจำของเรามันสามารถบิดเบือนไปได้ไหม”

รวมไปถึงการทำงานของสมองว่า

  • “สมองส่วนใดมีหน้าที่ในการทำงานเกี่ยวข้องกับความจำ”
  • “หากสมองส่วนนี้ได้รับความเสียหายไปทำให้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำลดลงไป จะทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้”

 

เมื่อได้ผลการวิจัยมาก็จะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่า หากเราต้องการจำข้อมูลใดให้ได้ เราจะต้องพยายามดึงมันมาใช้บ่อย ๆ เราสามารถนำความรู้นี้มาปรับใช้ในเตรียมสอบได้ กล่าวคือ เมื่อเราทบทวนบทเรียนจบแล้ว การที่เรานำแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่ามาฝึกทำ เพื่อให้มีเรียกคืนข้อมูลที่เราอ่านไปแล้ว จะทำให้เราจำบทเรียนได้ดีขึ้น

 

 

Brain scheme with circles and icons

 

 

ในปัจจุบันความรู้ทางจิตวิทยาปริชานถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ บริบท เช่น

 

  • การศึกษา ที่ได้นำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมาปรับใช้กับเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การทำจิตบำบัด ที่นำความทางจิตวิทยาปริชานมาใช้ในการปรับความคิดและพฤติกรรมในการรักษาโรค
  • การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ การเข้าใจ และการทำงานของสมองได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมแบบระบบเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Virtual Reality (VR) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริง ที่นำความรู้เกี่ยวกับการรู้สึกและการรับรู้ในจิตวิทยาปริชานมาใช้

 

จากตัวอย่างที่ว่ามาจะเห็นได้ว่าความรู้ทางจิตวิทยาปริชานสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายบริบทที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ความเข้าใจของมนุษย์

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร. พจ ธรรมพีร

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จิตวิทยาการกีฬา

“จิตวิทยาการกีฬา” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Sport Psychology” เป็นสาขาวิชาที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการกีฬาของชาติเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงเวลานี้คนไทยเราสนใจกีฬาและการออกกำลังกายมากขึ้น เรามีนักกีฬาที่เป็นแชมป์ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้องเมย์ (รัชนก อินทนนท์) โปรเมย์ (เอรียา จุฑานุกาล) และ น้องณี (สุธิยา จิวเฉลิมมิตร) รวมถึงกีฬาประเภททีมที่ไทยเราติดอันดับโลกหลายประเภท เช่น วอลเลย์บอลหญิง ฟุตซอลชาย ลีกกีฬาในประเทศหลายประเภทก็กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ จึงน่าที่จะถึงเวลาที่เราจะหันมาสนใจในเรื่องของจิตวิทยาการกีฬาอย่างจริงจังเสียที

 

เมื่อก่อนนี้ เรามักจะคิดกันว่านักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์จะเป็นผู้ชนะเสมอ เราจึงไปเน้นที่การฝึกฝนทางร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว นักกีฬาในยุคนั้นจึงถูกมองว่ามีแต่ความแข็งแรง ในส่วนของความฉลาดหรือความสามารถด้านอื่น ๆ ได้ถูกมองข้ามไป แต่หลังจากที่สาขาวิชาทางจิตวิทยาการกีฬาเกิดขึ้น ทำให้มุมมองเรื่องการฝึกนักกีฬาเปลี่ยนไป นักกีฬาที่มีแต่ความแข็งแรงของร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่มีโอกาสที่จะชนะในการแข่งขันได้เลย ถ้าไม่รู้จักใช้ปัญญาในการวางแผนในการแข่งขัน จะเห็นจากตัวอย่าง เช่น โมฮัมมัท อาลี อดีตแชมป์นักมวยรุ่น เฮฟวีเวท ที่ใช้ปัญญาในการวางแผนชกกับคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่า โดยการพูดยั่วยุให้คู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ เมื่อคู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ โอกาสที่อาลีจะชนะก็มากขึ้น หรืออย่างเช่นถ้าเราดูการแข่งขันเทนนิสระดับโลก เราจะสังเกตเห็นว่านักเทนนิสที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า มักตีได้ดีกว่าผิดพลาดน้อยกว่า จึงมีโอกาสชนะได้มากกว่า ในกรณีที่มีฝีมือไม่ต่างกันมากนัก

 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักกีฬาก็คือคน คนก็จะต้องมีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งร่างกายและจิตใจย่อมมีผลต่อกันและกัน ร่างกายที่อ่อนแอย่อมทำให้จิตหดหู่ ขณะเดียวกัน จิตใจที่เบิกบานย่อมทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าเช่นกัน และถ้าจะถามว่า ร่างกายที่แข็งแรงแต่มีจิตใจที่หดหู่ มีโอกาสเป็นไปได้ไหม แล้วคนที่มีร่างกายที่อ่อนแอจะมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นไปได้ไหม คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้คำถามที่ตามมาคือ คนที่อ่อนแอกว่าแต่มีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะมีโอกาสที่จะชนะคนที่แข็งแรงกว่าแต่มีจิตใจที่หดหู่ ได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าอย่างนั้นสภาพจิตใจของนักกีฬาก็สำคัญกว่าสภาพของร่างกายอย่างนั้นสิ ก็ไม่เชิง ความจริงแล้วทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬาควรจะต้องสอดคล้องกัน โอกาสที่จะชนะในการแข่งขันจึงจะเกิดขึ้นได้

 

Coaches concept illustration

 

ในประเทศไทยเรานั้น มีโรงเรียนกีฬา มีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาพลศึกษาที่ดีมากมาย ดังนั้นถ้าพูดในด้านการพัฒนาทางด้านร่างกายก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเรามีองค์ความรู้ และเราทำได้ดี แต่ถ้ามองในแง่ของการพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจแล้ว เรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากวงการกีฬาในบ้าน เรายังให้ความใส่ใจในเรื่องทางด้านจิตวิทยาน้อยไป แต่ก็น่าเป็นที่ยินดีได้ในระดับหนึ่งที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้พยายามหานักจิตวิทยาไว้ประจำทีมนักกีฬาไทยในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ ถึงแม้ว่างบประมาณในด้านนี้ยังค่อนข้างน้อย ประกอบกับการที่เรามีนักจิตวิทยาที่สนใจทางด้านการกีฬาไม่มากนัก จึงทำให้นักจิตวิทยาหนึ่งคนต้องดูแลนักกีฬาจำนวนมากและดูแลหลายประเภทของกีฬา แต่ก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะมีนักจิตวิทยาหนึ่งคนต่อหนึ่งทีมเป็นอย่างน้อย เมื่อถึงเวลานั้นนักกีฬาของเราก็คงจะมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่จะแข่งขันและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเราเป็นอย่างมาก

 

 

ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการกีฬาพัฒนามาได้ราว ๆ 50 กว่าปีแล้ว โดยเริ่มจากทั้งทางยุโรปและอเมริกา โดยที่ศาสตร์นี้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ที่มีผลต่อการเข้าร่วมและการแสดงออกในการแข่งขันกีฬา และการออกกำลังกาย รวมถึงผลทางจิตวิทยาที่เกิดจากการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายที่มีต่อนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย ในช่วงต้น (ทศวรรษที่ 1960) ได้มีการตั้งสมาคมระดับนานาชาติขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เรียกสมาคมนั้นว่า ISSP (International Society of Sport Psychology) โดยมี Dr. Ferruccio Antonelli จิตแพทย์ชาวอิตาลีเป็นนายกสมาคมคนแรก และในปี 1968 ได้มีการจัดประชุมของสมาคมขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และในปีนั้นเองนักจิตวิทยาการกีฬาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งสมาคมของตนเองขึ้นเรียกชื่อสมาคมว่า North America Society for the Psychology of Sport and Physical Activity จากวันนั้นเองจิตวิทยาการกีฬาก็เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น ได้มีการวิจัยเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งในระยะแรกของการวิจัยนั้นนักจิตวิทยาการกีฬาจะให้ความสนใจปัจจัยทางด้านบุคคลิกภาพที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา แต่ต่อมาความสนใจเรื่องดังกล่าวเริ่มลดหายไป มาสนใจในประเด็นของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่า ปัจจัยทางด้านปัญญาหรือความคิดของบุคคลที่มีต่อสภาพแวดล้อมนั้น น่าจะมีผลต่อการแสดงออกในการเล่นกีฬา

 

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 จึงมีการให้ความสนใจศึกษาถึงปัจจัยทางด้านความคิดและจินตภาคของนักกีฬาที่มีผลต่อการแข่งขันของนักกีฬา โดยตั้งคำถามว่า นักกีฬาควรคิดอย่างไร ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้เป็นอย่างดี จากการวิจัยในระยะนั้นพบว่านักกีฬาที่มีความคิดว่า “ฉันทำไม่ได้” มีผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นประสบความล้มแหลวในการแสดงออกในการแข่งขัน ในทางกลับกันว่านักกีฬาที่มีความคิดว่าเขาสามารถทำได้ ก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลนี้เองจึงมีความเชื่อว่าความคิดทางบวกน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญประเด็นหนึ่ง ที่จะทำให้นักกีฬาสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลจากการที่นักกีฬาเหล่านี้มีความคิดทางบวกต่อตนเองและประสบชัยชนะในการแข่งขัน ก็ทำให้นักกีฬาเหล่านี้มีการรับรู้ความสามารถของตนเองมากขึ้น และนักกีฬาที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นสามารถที่จะแสดงออกถึงความสามารถของตนเองได้เต็มศักยภาพที่ตนมีอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นักกีฬาเหล่านี้เริ่มสงสัยในความสามารถของตน นักกีฬาเหล่านี้ก็จะแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้ไม่เต็มศักยภาพ อย่างที่เราจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า นักกีฬาก็มีวันที่ฟอร์มดีและฟอร์มตกนั่นเอง

 

 

ปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสำคัญถึงปัจจัยทางปัญญา ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการซ้อมและการแข่งขัน ปัจจัยทางปัญญาที่พวกนักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสนใจคือความคิดและความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดทางบวก ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ไม่เฉพาะกับนักกีฬาเท่านั้น หากแต่จะเป็นประโยชน์แก่การใช้ชีวิตของบุคคลทั่วไปอีกด้วย

 

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้นักกีฬามีการแสดงออกในการแข่งขันได้สม่ำเสมอนั้น คือการที่พวกเขาประสบความสำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่งคือชัยชนะในการแข่งขันนั่นเอง และด้วยปัจจัยนี้ การศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ นั่นคือถ้าเราเกิดความล้มเหลวในชีวิตหรือในการกระทำสิ่งต่าง ๆ เราควรหยุดคิดและหยุดทำสักพัก มาตั้งหลักใหม่ โดยการทำกิจกรรมที่เราสามารถทำได้และจะต้องสำเร็จแน่นอน การทำเช่นนี้จะทำให้ความเชื่อในความสามารถของเราเพิ่มมากขึ้น และเราค่อย ๆ ขยับระดับความยากของงานให้สูงขึ้นอย่างไม่รีบร้อน ก็จะทำให้เราทำงานได้เต็มความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ ก็จะสูงขึ้นตามมาเช่นกัน

 

Junior football team stacking hands before a match

 

นอกจากปัจจัยทางด้านความสำเร็จในการกระทำจะส่งผลต่อการเพิ่มความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ แล้วยังมีอีกอย่างน้อย 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความเชื่อในความสามารถของตนเอง ได้แก่ การพูดของโค้ชที่บอกแก่นักกีฬาว่าพวกเขาสามารถทำได้ก็จะทำให้นักกีฬาเหล่านั้นทำได้ดีในช่วงเวลาการแข่งขันเช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะส่งผลคือ การเห็นต้นแบบ นั่นคือถ้าเราได้เห็นบุคคลอื่นทำได้หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลอื่นว่าเขาทำได้ ก็จะทำให้เราเชื่อว่าเราทำได้เช่นกัน ดังนั้นการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียง ก็จะทำให้เกิดเป็นแรงผลักดันให้เราสามารถเกิดความเชื่อว่าเราทำได้ นอกจากนี้ความไม่วิตกกังวลในการแข่งขันก็จะช่วยให้ความเชื่อในความสามารถของตนเองสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นนักกีฬาน่าจะได้มีการฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี

 

 

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าจิตวิทยาการกีฬามิได้มุ่งไปที่นักกีฬาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ความสนใจในบุคคลทั่วไปที่ออกกำลังกายอีกด้วย ดังนั้นพวกฟิตเนสทั้งหลายที่เปิดกันอย่างมากมาย น่าจะมีนักจิตวิทยาการกีฬาประจำศูนย์ด้วยก็จะเป็นการดี

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

จิตวิทยาการปรึกษา

“จิตวิทยาการปรึกษา” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Counseling Psychology นั้น เป็นศาสตร์หนึ่งด้านจิตวิทยา ที่มุ่งเน้นในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้บุคคลสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มศักยภาพในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตส่วนตัว และด้านการทำงาน โดยเราจะเรียกบุคคลที่ประกอบวิชาชีพในด้านจิตวิทยาการปรึกษาว่า “นักจิตวิทยาการปรึกษา”

 

การทำงานของนักจิตวิทยาการปรึกษา เป็นกระบวนการที่นักจิตวิทยาการปรึกษาทำหน้าที่ในฐานะผู้เอื้ออำนวยให้บุคคลที่มารับบริการ ได้เข้าใจปัญหาของตนเองได้อย่างชัดเจน ผ่านกระบวนการสำรวจภายในตนเอง จนสามารถตระหนักรู้ในตนเองตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่ตนมี และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคคล

 

จากความหมายดังกล่าวจะสรุปได้ว่าศาสตร์ด้านจิตวิทยาการปรึกษาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจและเอื้ออำนวยบุคคลให้พัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพ

 

ชมรมจิตวิทยาการปรึกษา (Society of Counseling Psychology) สังกัดสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับความเฉพาะทางของจิตวิทยาการปรึกษาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

  1. มุมมองต่อผู้มารับบริการ บุคคลในวิชาชีพจิตวิทยาการปรึกษามีการมองผู้มารับบริการอย่างให้คุณค่าและความสำคัญในความเป็นมนุษย์ อันจะสะท้อนต่อมาที่แนวทางในการทำงานร่วมกับผู้มารับบริการของนักจิตวิทยาการปรึกษา จะมุ่งเน้นในการพัฒนาความเข้มแข็งของบุคคล นอกจากนี้นักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำความเข้าใจปัญหาของผู้มารับบริการผ่านมุมมองด้านการพัฒนาการ
  2. เป้าหมายของการทำงานในด้านจิตวิทยาการปรึกษานั้น สามารถทำงานทั้งในลักษณะการมุ่งป้องกันการเกิดขึ้นของปัญหาในอนาคต โดยส่งเสริมให้มีผู้มารับบริการมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีสุขภาวะ หรือที่เรียกกันว่างานในลักษณะการป้องกันและส่งเสริม และการให้การช่วยเหลือเพื่อเยียวยาปัญหาต่าง ๆ ในจิตใจ หรือที่เรียกกันว่างานในลักษณะการบำบัดเยียวยา

 

Psychology, therapy, psychiatry, mental health and counseling concept. candid shot of nervous self conscious young male in glasses telling middle aged female counselor about his problems at work

 

 

เมื่อนึกถึงคำว่านักจิตวิทยา คนทั่วไปอาจมีภาพในใจว่า การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีลักษณะเดียวกับภาพที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ ที่มีตัวละครนอนบนโซฟายาว แล้วเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ตัวละครที่นั่งอยู่ด้านหลังฟัง ซึ่งภาพในใจจากฉากในภาพยนตร์ที่เราเห็นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในการให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวทางของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง โดยในปัจจุบันอาจยังมีนักจิตวิทยาการปรึกษาบางท่านใช้รูปแบบเช่นในภาพยนตร์อยู่ หรืออาจใช้รูปแบบอื่น ๆ ในการพูดคุยกับผู้มารับบริการ โดยรูปแบบการปรึกษาเชิงจิตวิทยา จะเป็นการนั่งพูดคุยกันระหว่างนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้รับบริการ และจะแตกต่างกันออกไปตามกรอบความคิดทางทฤษฏีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่นักจิตวิทยาการปรึกษาเข้าใจและยึดถือ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาออกไปอย่างมากมาย

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นกระบวนการของสัมพันธภาพที่พิเศษที่มุ่งให้ผู้ที่มีปัญหาได้มีโอกาสหยุดกระบวนการคิดที่ไม่เหมาะสม และได้มีโอกาสเพ่งพิจารณาและทำความเข้าใจปัญหาของตน ด้วยสติปัญญาชัดเจน จนมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาของตนด้วยตนเอง กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการเอื้อให้บุคคลได้พัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ โดยมีนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นผู้เอื้ออำนวยในกระบวนการ นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่ผู้แก้ปัญหา และจะไม่เข้าไปบงการแนะนำ หรือ แทรกแซงผู้รับบริการ แต่จะเป็นผู้ที่ใช้ความชำนาญที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษในการช่วยให้ผู้รับบริการสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตนเอง

 

 

ความเหมือนและแตกต่างระหว่างนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ที่ทำงานให้บริการด้านสุขภาพจิตในวิชาชีพต่าง ๆ

 

 

นักจิตวิทยาการปรึกษา VS จิตแพทย์

 

นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่จิตแพทย์ แม้จะมีการทำงานอยู่ในเส้นทางเดียวกันในการดูแลสุขภาพจิตของบุคคล ให้การบำบัดรักษาปัญหาจิตใจ หรือมีเรื่องที่กระทบกระเทือนทางจิตใจ อันส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่ความแตกต่างกันคือ จิตแพทย์ซึ่งเรียนทางด้านการแพทย์ เน้นการให้บริการกับผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิต และสามารถใช้ยาประกอบในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ในขณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะใช้การบำบัดรักษาทางจิต หรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยา เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน และให้บริการส่วนใหญ่กับผู้ที่มีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ และการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดความงอกงามเข้มแข็งทางจิตใจ

 

นักจิตวิทยาการปรึกษา VS นักจิตวิทยาคลินิก

 

ชมรมจิตวิทยาการปรึกษา สังกัดสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ได้กล่าวเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิคไว้ว่า ในบรรดาศาสตร์ด้านจิตวิทยาทั้งหมด งานด้านจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิคเป็นงานที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่รากฐานในการเริ่มต้นของงานทั้งสองด้านมีความแตกต่างกัน โดยจิตวิทยาคลินิคเริ่มต้นจากการศึกษาความผิดปกติทางจิต หากจิตวิทยาการปรึกษามีจุดเริ่มต้นมาจากการให้คำแนะนำด้านอาชีพ โดยจิตวิทยาการปรึกษายังคงมุ่งเน้นในการให้บริการตลอดทุกช่วงวัยให้มีการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและมุ่งเน้นในการทำงานกับกลุ่มคนทั่วไปในสังคม เพื่อให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองเสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมในทุกช่วงชีวิต แม้จะมีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องความผิดปกติทางจิตอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ

 

 

การมารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวผู้มารับบริการได้อย่างไร?

 

การเข้ารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาจะเกิดประโยชน์ต่อผู้มารับบริการในด้านการจัดการกับปัญหา คลายความไม่สบายใจ และมีแนวทางในการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ โดยเกิดความเข้าใจในตนเอง ซึ่งความเข้าใจในตนเองนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถวางแนวทางการดำเนินชีวิตของตนได้อย่างเหมาะสม โดยผู้มารับบริการจะสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมั่นคง และสามารถจัดการปัญหาของตนได้อย่างสอดคล้อง และเหมาะสมกับความเป็นจริง ผู้มารับบริการจะสามารถค้นพบศักยภาพของตนเองและใช้ศักยภาพนั้นได้อย่างเต็มที่ ในการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และขยายทัศนะในการมองโลก และชีวิตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดี

 

ผู้ที่จะมารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาคงจะไม่จำกัดแค่เพียงผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วคนทั่ว ๆ ไปสามารถมารับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้เมื่อเขามีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจและส่งผลต่อการดำเนินชีวิต หรือไม่ได้มีปัญหาอะไรก็สามารถพบนักจิตวิทยาการปรึกษาเพื่อให้ตนมีชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น การปรึกษาเชิงจิตวิทยา ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่เฉพาะผู้ที่มีปัญหาในชีวิตเท่านั้น เพราะนอกเหนือจากช่วยเหลือคนเหล่านี้แล้ว การปรึกษาเชิงจิตวิทยายังเน้นการส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปพัฒนาศักยภาพของตนในด้านต่าง ๆ และช่วยให้คนเหล่านั้นเข้าใจตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น

 

 

รูปแบบในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา

 

การบริการปรึกษารายบุคคล (Individual Counseling)

 

จะเป็นรูปแบบในการบริการที่นักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้มารับบริการมาพบกันเป็นรายบุคคล โดยผู้มารับบริการ 1 ท่านจะพบกับนักจิตวิทยาการปรึกษา 1 ท่านอย่างเป็นส่วนตัวเพื่อบอกเล่าถึงปัญหา หรือเรื่องราวที่อยากพัฒนาให้นักจิตวิทยาการปรึกษารับฟังและร่วมกันหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยรูปแบบในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบรายบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วผู้มารับบริการและนักจิตวิทยาการปรึกษาจะพบกันเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมง

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม (Group Counseling)

 

จะมีรูปแบบในการบริการที่ผู้มารับบริการประมาณ 6-12 คน หรือในกรณีที่เป็นกลุ่มจิตศึกษา (Psychoeducation group) อาจมีสมาชิกมากกว่านี้ได้ ทั้งนี้สมาชิกที่เข้ามาร่วมกลุ่มต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ที่มีการกำหนดเฉพาะในแต่ละกลุ่ม ซึ่งวัตถุประสงค์ของกลุ่มจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้มารับบริการที่เป็นสมาชิกกลุ่ม เช่น กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง โดยการดำเนินกลุ่มจะมีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่ม 1 – 2 ท่าน ทั้งนี้บทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาในฐานะผู้นำกลุ่มจะเป็นผู้เอื้อให้บรรยากาศของกลุ่มเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเอื้ออำนวยของการพัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพของสมาชิกกลุ่มแต่ละคน ทั้งนี้รูปแบบในการบริการกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะมีทั้งรูปแบบการนัดเป็นรายสัปดาห์ หรือการนัดเป็นช่วงยาวต่อเนื่อง

 

People conversing at a group therapy session

 

นอกจากการบริการในรูปแบบหลัก ๆ 2 รูปแบบดังกล่าวแล้ว ยังมีการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น ครอบครัวบำบัด คู่สมรสบำบัด และยังมีรูปแบบในการบริการที่เป็นไปเพื่อการเข้าถึงผู้มารับบริการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการผ่านสายด่วนเยียวยาจิตใจ การบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาออนไลน์ เป็นต้น

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com

 

จิตวิทยาสังคม

“จิตวิทยาสังคม” หรือ “Social Psychology” เป็นจิตวิทยาสาขาหนึ่งในหลากหลายสาขาทางจิตวิทยา โดยจุดเน้นของจิตวิทยาสังคมคือ การศึกษาพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกของคนเรา ที่ได้รับอิทธิพลจากคนอื่น ๆ รอบตัวเรา เพราะคนเราอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว ครูอาจารย์ เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่ทำงานและเจ้านาย หรือกระทั่งพนักงานขายอาหาร และคนแปลกหน้าที่เราพบเจอ หรือคนที่เราไปติดต่อธุระด้วยในแต่ละวัน

 

จิตวิทยาสังคมเป็นศาสตร์ที่ศึกษาว่า รูปร่างท่าทาง การกระทำต่าง ๆ การแสดงออกของคนเหล่านั้น ส่งผลต่อการตอบสนองของเราอย่างไรบ้าง และในทางกลับกัน ท่าทีและการกระทำของเราส่งผลอย่างไรต่อคนรอบข้างเรา

 

ยกตัวอย่างเช่น การที่เราแต่งตัวปอน ๆ เดินเข้าไปในร้านอาหาร อาจจะทำให้พนักงานบริการเราไม่ดี เทียบกับเมื่อเราแต่งตัวภูมิฐานเข้าไปใช้บริการ และการที่บริกรพูดกับเราไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราตอบโต้ด้วยท่าทางไม่เป็นมิตร กลายเป็นวัฎจักรของการส่งอิทธิพลต่อกันและกันได้

 

นักจิตวิทยาสังคมจึงมีหัวข้อให้ศึกษามากมาย ตั้งแต่เรื่องการตีความและตัดสินบุคคลอื่น เช่น ในการสัมภาษณ์งานเราควรจะแต่งกายและนำเสนอตัวเองอย่างไร จึงจะสร้างความประทับใจได้ ความคิดความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง ส่งผลต่อการไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอย่างไร เช่น คนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำอาจจะพยายามโพสต์แต่สิ่งดี ๆ เกี่ยวกับตัวเองให้คนอื่นเห็นในเฟซบุ๊ก ไปจนถึงเรื่องการโน้มน้าวใจผู้อื่น การคล้อยตาม และเทคนิคการขอร้องให้ได้ผล การตัดสินใจเกี่ยวกับผู้อื่น ความชอบ / ไม่ชอบสิ่งต่าง ๆ การช่วยเหลือกัน การทำร้ายกันหรือการแสดงความก้าวร้าว ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้ง พฤติกรรมในกลุ่ม ความรักและความชอบพอดึงดูดใจ การเป็นผู้นำหรือหัวหน้า เป็นต้น

 

จิตวิทยาสังคมมักจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ

  1. การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่น
  2. การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น
  3. ความสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

หัวข้อแรกคือ การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นนั้น เป็นการศึกษาว่าคนเราตัดสินผู้อื่นและเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ดูจากตรงไหน เราสรุปได้อย่างไรว่าคน ๆ หนึ่งน่าจะใจดีหรือไม่น่าไว้ใจ ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็เช่น คนเราได้รับอิทธิพลจากเรื่องลบ ๆ หรือลักษณะที่ไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าลักษณะดี ๆ ของเขา คนเรายังตัดสินคนจากประสบการณ์ในครั้งแรก ๆ หรือช่วงแรก ๆ ที่พบกัน หรือที่เรียกว่าความประทับใจแรกพบนั่นเอง แถมเรายังมีความลำเอียงในการตัดสินคนอื่น ๆ อีกหลายประการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้โดยตรงในการสัมภาษณ์งานเพื่อคัดเลือกบุคคลหรือการประเมินบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ

 

การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นยังหมายถึง การที่เราตัดสินเหตุผลในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ของผู้อื่นและตัวเราเองด้วย เช่น เราสอบตก ตกเพราะอะไร ตกเพราะเราไม่เก่งหรือเพราะเราอ่านหนังสือไม่มากพอ การอธิบายเหตุการณ์สมหวังและผิดหวังนี้ อาจส่งผลถึงสุขภาพจิตของเราได้ การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นยังรวมถึงเวลาที่เราตัดสินว่าอะไรดีไม่ดี สิ่งใดหรือสินค้าใดเข้าท่าน่าซื้อหรือไม่อีกด้วย เรียกว่าการศึกษาเจตคติ ซึ่งสามารถประยุกต์ไปใช้ในเรื่องการสร้างความชอบต่อสินค้าหรือโฆษณาในแวดวงการตลาด หรือแม้แต่การชอบพรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้

 

 

การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ในหัวข้อนี้นักจิตวิทยาสังคมจะเน้นศึกษาว่า คนเราสามารถทำให้อีกคนหนึ่งเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความเชื่อ หรือเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร และมีเทคนิคอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าวใจว่ามีทฤษฎีหรือขั้นตอนวิธีการให้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง การขอร้องให้คนอื่นทำอะไรให้เรา ควรจะพูดอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ เมื่อไรควรจะใช้พรีเซนเตอร์หรือผู้เชี่ยวชาญมาโฆษณาสินค้าของเรา ดังนั้น หัวข้อทางด้านการโน้มน้าวใจจึงเป็นที่นิยมและสามารถประยุกต์ใช้ได้ ทั้งในด้านการตลาด การสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ และในทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น หันมาออกกำลังกายมากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือหันมาประหยัดพลังงาน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ได้ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่นยังรวมถึงเรื่องการคล้อยตามแรงกดดันของคนในกลุ่ม หรือผู้มีอำนาจ เพื่อศึกษาว่าคนเราจะยอมทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเหนือกว่าหรือไม่ เมื่อใดเราจึงมักจะคล้อยตามผู้อื่น และยังศึกษาถึงการกระทำของคนเมื่ออยู่ในกลุ่ม เช่น เมื่อเราทำงานร่วมกับผู้อื่นคนเรามักจะอู้งาน นักจิตวิทยาสังคมจะศึกษาว่าทำไมคนเราอู้งาน และจะป้องกันการอู้งานได้อย่างไร ในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มยังอาจจะมีหัวหน้า นักจิตวิทยาสังคมก็จะศึกษาเรื่องการเป็นผู้นำ คืออะไร ผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่าหัวข้อเหล่านี้ สามารถประยุกต์ไปใช้ประโยชน์ในบริบทต่าง ๆ ได้มาก โดยเฉพาะการทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม การมีหัวหน้างานที่เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการออกแบบแคมเปญรณรงค์ให้คนไทยหันมาทำสิ่งดี ๆ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา หรือโตไปไม่โกง เป็นต้นค่ะ นี่คือหนทางหนึ่งที่นักจิตวิทยาสังคมสามารถช่วยสังคมแก้ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ได้

 

Millennial group of young businesspeople asia businessman and businesswoman celebrate giving five after dealing feeling happy and signing contract or agreement at meeting room in small modern office.

 

 

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น แน่นอนว่าเราสามารถมีความรัก เกลียด ช่วยเหลือเกื้อกูล และทำร้ายผู้อื่นได้ นักจิตวิทยาสังคมศึกษาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเพราะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างคนกับคน นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ตั้งแต่ความรักคืออะไร มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คนเราชอบพอกัน การรักษาความสัมพันธ์ของคู่รักทำได้อย่างไร การแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ทำได้อย่างไรบ้าง รักแล้วก็มีเกลียด นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องการรังเกียจกลุ่ม ซึ่งหมายถึงการไม่ชอบใครสักคนหรือกลุ่มคนสักกลุ่มเพียงเพราะเขามาจากกลุ่ม ๆ นี้อันเป็นการเหมารวมที่ไม่ยุติธรรม เช่น การดูถูกเพศหญิง อาจทำให้ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าในหน่วยงาน การดูถูกคนจากประเทศที่เรามองว่าด้อยความเจริญ เป็นต้น และแน่นอนว่านักจิตวิทยาสังคมศึกษาเทคนิควิธีที่จะเอาชนะการรังเกียจกลุ่ม ที่ช่วยให้คนเราลดอคติ และอยู่ร่วมกันได้แม้จะแตกต่างกัน

 

นักจิตวิทยาสังคมยังวิจัยว่าทำไมคนเราจึงช่วยเหลือกัน อะไรเป็นปัจจัยทำให้เราทำเพื่อผู้อื่น เช่น บริจาคเงิน ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท หรือเสี่ยงอันตรายช่วยเหลือคนอื่นในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสุดท้ายจิตวิทยาสังคมยังทำความเข้าใจ การจงใจทำร้ายผู้อื่นหรือการแสดงความก้าวร้าว ว่าทำไมคนเราจึงทำร้ายกัน เช่น ตกลงว่าการเล่นวีดีโอเกม ที่มีเนื้อหารุนแรงเช่นการต่อสู้และการฆ่ากันนั้น ส่งผลให้ผู้เล่นออกมาทำร้ายผู้อื่นโลกความจริง อันมักจะเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ นั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของจิตวิทยาสังคมนั้นกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

 

Upset couple sitting back to back and ignoring each other. couple sitting on couch.

 

 

นักจิตวิทยาสังคมสามารถเลือกศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคู่รัก การทำงานร่วมกันในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคการโน้มน้าวใจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแวดวงโฆษณาและการตลาดได้ ไปจนถึงการศึกษาเรื่องความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปกำหนดแนวนโยบายระดับสังคมได้

 

วิธีที่นักจิตวิทยาสังคมใช้ทำวิจัยพฤติกรรมต่าง ๆ มีลักษณะเน้นการทดลอง และใช้การศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ รอบคอบและเป็นระบบ นักจิตวิทยาสังคมจึงมีทักษะทางด้านการวิจัยและสถิติอีกด้วย โดยทักษะเหล่านี้จะทำให้นักจิตวิทยาสังคม สามารถทำงานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบแคมเปญทางด้านการตลาดและนักวิจัยทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและการสร้างมาตรวัด ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ผู้อบรมและพัฒนาทักษะด้านการโน้มน้าวใจและการเจรจาต่อรอง อีกทั้งยังสามารถเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามบริษัทต่าง ๆ เช่น การพัฒนาความเป็นผู้นำแก่หัวหน้าหน่วยงาน เป็นต้น นอกจากนี้ นักจิตวิทยาสังคมยังสามารถทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น การสอบปากคำผู้ต้องหา การชี้ตัวผู้ต้องหา การวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม เป็นต้น

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

จิตวิทยาพัฒนาการ

“จิตวิทยาพัฒนาการ” คือ ศาสตร์แห่งการเข้าใจมนุษย์ โดยใช้องค์ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์มาช่วยอธิบาย

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการมองว่า พัฒนาการมนุษย์นี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ชีวิตเกิดขึ้น ก็คือตั้งแต่เมื่อเซลล์จากทางพ่อ และรังไข่จากทางแม่ผสมกันสำเร็จเป็นเซลล์แรกของชีวิตใหม่ ดังนั้น พัฒนาการของชีวิตหนึ่งชีวิต จะเริ่มดูกันตั้งแต่ภายในครรภ์มารดาเลยว่า มีความสมบูรณ์ในระดับโครโมโซมหรือไม่ ระดับฮอร์โมนเพศอย่างไรที่ทำให้เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย มลภาวะ หรือสารพิษ อะไรบ้างที่ไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการในช่วงนี้ ต้องอาศัยศาสตร์ทางชีววิทยาเข้ามาช่วยอธิบาย ประกอบกับดูปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย จากนั้นเมื่อทารกเกิด นักวิจัยทางจิตวิทยาพัฒนาการจะทำการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ และอธิบายพัฒนาการทารก ในช่วง 0 – 2 ปี เช่นว่าบุคลิกภาพที่ติดตัวมากับทารกแรกเกิดแต่ละคน มีทั้งแบบที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย บางคนก็ปรับตัวได้ปานกลาง บางคนก็ปรับตัวได้ยาก พ่อแม่บางคนจึงอาจรู้สึกท้อใจว่าบุคลิกภาพนี้จะติดตัวเด็กคนหนึ่งไปตลอดชีวิต

 

จากผลการวิจัยที่ติดตามพัฒนาการระยะยาวของทารกไปจนถึงวัยรุ่น พบว่า เด็กทารกจะเติบโตมาเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพแรกเกิดเท่าใดนัก เพราะการเลี้ยงดูและประสบการณ์ที่พ่อแม่สร้างกับลูก ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้เช่นกัน จึงไม่จำเป็นว่าเด็กทารกที่เลี้ยงยาก จะเติบโตมาเป็นเด็กที่มีพัฒนาการไม่ดีเสมอไป หากทารกได้รับความรัก ความใส่ใจ และการตอบสนองที่เหมาะสม ก็จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสร้างสรรค์สังคมได้ นอกจากนี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการยังสนใจว่าทารกมีความสามารถในการรับรู้และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร เช่น ผลจากการศึกษาที่พบว่า ทารกสามารถแยกแยะเสียงของแม่กับเสียงของคนแปลกหน้าได้ หรือการศึกษาที่พบว่าทารกชอบมองภาพที่มีลายเส้น มากกว่าภาพพื้น ๆ เป็นต้น

 

Baby doing his first steps

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการยังศึกษากระบวนการที่แม่มีปฎิสัมพันธ์กับลูกทารกเพื่อช่วยส่งเสริมความรู้สึกผูกพันของแม่และลูก และให้ลูกทารกรู้สึกปลอดภัย ซึ่งความรู้สึกอุ่นใจจากการที่มีคนดูแลนี้ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญขั้นแรกของทารก ดังนั้น เด็กจะมีพัฒนาการใน 2 ขวบปีแรกได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความรัก ความเอาใจใส่ที่คนในครอบครัวมอบให้ลูกน้อย

 

จะเห็นได้ว่า จิตวิทยาพัฒนาการเป็นศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจ และอธิบายพัฒนาการมนุษย์ ผลที่ได้การศึกษาและวิจัยในศาสตร์นี้ จะช่วยให้เรารู้ว่า พัฒนาการเช่นไรที่ถือว่าเป็นปกติ และอย่างไรที่ถือว่าผิดปกติ การที่เรารู้ว่าพัฒนาการที่ปกติเป็นเช่นไร จะช่วยเป็นแนวทางให้เราเลี้ยงดูลูกหลานและปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างเป็นปกติสุข และการที่เรารู้ว่าพัฒนาการที่ไม่ปกติเป็นเช่นไร จะช่วยไม่ให้เราไปเลี้ยงดูลูกหรือแนะนำคนอื่น ๆ แบบผิด ๆ หรือหากผิดพลาดไปแล้ว ก็จะต้องศึกษารายละเอียดของความผิดปกตินั้น เพื่อแก้ไขปัญหานั้นต่อไป

 

มีการศึกษามากมาย ที่ช่วยอธิบายว่าทารก 0 – 2 ปีแรก ควรมีพัฒนาการเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูได้เข้าใจว่า เด็กวัยทารกนี้ทำอะไรได้บ้าง มีความสามารถทางกาย ทางการเรียนรู้ และทางอารมณ์สังคมเป็นเช่นไร และในช่วงนี้เราจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้ทารกมีพัฒนาการไปในทางที่ดี นักจิตวิทยาพัฒนาการจึงมักศึกษาพัฒนาการที่เป็นปกติ ที่สามารถใช้อธิบายประชากรส่วนใหญ่ได้ เช่น พัฒนาการทางร่างกาย นักจิตวิทยาพัฒนาการ ก็จะศึกษารวบรวมข้อมูลพัฒนาการจนสรุปออกมาเป็นตารางได้ว่า เด็กโดยทั่วไปจะลุกนั่งทรงตัวหลังตรงโดยไม่ต้องมีพนักพิงได้ตอนช่วงอายุกี่เดือน ตั้งไข่ได้ตอนช่วงอายุกี่เดือน เป็นต้น โดยช่วงอายุที่แสดงก็จะเป็นช่วงกว้าง ๆ เพราะเด็กแต่ละคนอาจเริ่มมีพัฒนาการเร็วช้าต่างกัน แต่ตราบใดที่เด็กมีพัฒนาการในช่วงนี้ ก็ยังถือว่ามีพัฒนาการที่เป็นปกติ

 

ประเด็นวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กก็คือ การศึกษาว่าสินค้าและโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ ที่บอกว่า ช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการเร็วกว่าเด็กคนอื่น ๆ ที่อายุเท่ากันได้นั้น สามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการได้เร็วขึ้นจริงตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? …เพื่อตอบประเด็นนี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการก็จะทำการศึกษาเชิงทดลอง เปรียบเทียบกลุ่มเด็กที่ได้ใช้สินค้าหรือที่ได้รับโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการ กับเด็กวัยเดียวกันที่ไม่ได้ใช้สินค้าหรือโปรแกรมใด ๆ ผลจากการทดลองรูปแบบนี้ก็จะช่วยทำไขข้อข้องใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ โดยรวมแล้ว สินค้าหรือโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการสำหรับเด็กบางอย่าง ก็ช่วยส่งเสริมความสามารถของเด็กได้จริง แต่บางอย่างก็เป็นอวดอ้างที่เกินจริง

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการบางกลุ่มตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กคนหนึ่งพูดได้เร็ว ท่องคำศัพท์ หรือบวกลบคูณหารได้ก่อนใคร ๆ ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราให้เวลาเล่นหรือทำกิจกรรมกับเด็ก ให้ความรักความอบอุ่น เด็กก็จะเติบโตมาได้ มีพัฒนาการเป็นปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว บางทีความสุขของเด็ก อาจไม่ได้อยู่ที่ทำสิ่งใดได้เร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน แต่เป็นที่การได้เล่นกับพ่อแม่และคนในครอบครัวก็เป็นได้ แต่ถ้าประเมินดูแล้วว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องไปขอคำปรึกษาจากนักกระตุ้นพัฒนาการ

“นักกระตุ้นพัฒนาการ” ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งของนักจิตวิทยาพัฒนาการเช่นกัน นักพัฒนาการกลุ่มนี้ไม่เน้นการทำวิจัย หรือเน้นการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย แต่เน้นในทางปฏิบัติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางพัฒนาการให้แก่เด็ก และช่วยแนะนำการดูแลลูกให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้

นอกจากนี้ผู้ที่เรียนจบทางจิตวิทยาพัฒนาการหลายคน ก็ได้เอาความรู้ ไปประยุกต์ในสถาบันส่งเสริมพัฒนาการเด็กของตน หรือสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กมีกิจกรรมวันหยุด และได้ประสบการณ์ความรู้ใหม่ ๆ ไปด้วย

 

 

การส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กมีทักษะหรือความสามารถเร็วกว่าคนอื่นนั้นจำเป็นหรือไม่?

 

คำตอบก็คือ ถ้าเป็นความสามารถที่เด็กจะเรียนรู้ และทำได้อยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่สมควร เช่น การพูด การเดิน การวิ่งก็อาจจะไม่ต้องไปกระตุ้นพัฒนาการอะไรมาก แต่ถ้าเด็กมีภาวะที่ผิดปกติ เป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น อายุ 3 ขวบกว่าแล้วแต่ยังพูดเพียงไม่กี่คำ เป็นต้น ก็จะต้องพาเด็กไปพบกับผู้เชี่ยวชาญทางการกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อประเมินพัฒนาการทางการพูดของเด็ก และวางแผนช่วยกระตุ้นพัฒนาการ

 

 

พัฒนาการของเด็กวัยเรียน

 

พัฒนาการของเด็กวัยเรียนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การปรับตัวให้เข้ากับสังคมนอกบ้าน การพิสูจน์ตนเองให้พ่อแม่เห็นว่าตนสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และการพยายามทำความรู้จักกับตนเอง ว่าตนเองถนัดอะไร ทำอะไรได้ดีหรือแย่กว่าเพื่อนในชั้นเรียนบ้าง เด็กจะเริ่มมีสังคมเพื่อน เริ่มมีความสนใจกิจกรรมนอกชั้นเรียนต่าง ๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ หรือกีฬาเป็นต้น

 

จากการวิจัยเรื่องการเลี้ยงดูและการปรับตัวของเด็กวัยเรียน ก็จะแนะให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ทำหน้าที่คอยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักตนเอง ยิ่งเด็กโตมากขึ้น ก็จะเริ่มรับรู้ตนเองในทางที่เป็นจริงมากขึ้น เช่น รู้ว่าตนเก่งภาษาอังกฤษ แต่อ่อนวิชาเลข ชอบวิชาพละ แต่ไม่ค่อยถนัดวิชาศิลปะ เป็นต้น เด็กโตจะมีการรู้คุณค่าในตนเองแบบแยกเป็นเรื่อง ๆ ได้ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า แม้ว่าตนจะทำได้ไม่ดีในทุกเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่ทำได้ดี ซึ่งถ้าเด็กคิดได้เช่นนี้ ก็จะมีความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถรู้จุดเด่น เอาจุดเด่นมาเป็นคุณค่าในตนเองได้ และมีความสุขกับสิ่งที่ตนชอบทำ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องไปกดดันลูกให้เก่งและดีในทุกเรื่องก็ได้ ให้เค้าทำอะไรได้ดีซักวิชานึง แล้วสอนให้เค้าพยายามให้เต็มที่กับวิชาที่ไม่ถนัด ค่อย ๆ สอนเค้าให้เห็นคุณค่าของทุกวิชาที่เรียน ว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตของเค้า บอกให้เค้าลองตั้งใจเรียนวิชาที่ไม่ชอบให้ถึงที่สุดก่อน เด็กบางคนไม่ชอบเรียนเลข แต่ฝันอยากเป็นวิศวกร เราก็ต้องช่วยอธิบายว่าวิชาเลขเกี่ยวข้องกับการเป็นวิศวกรอย่างไร เด็กหลาย ๆ คน พอได้ลองตั้งใจกับวิชาที่ไม่ชอบแล้ว กลับทำได้ดี กลายเป็นอีกวิชาหนึ่งที่ชื่นชอบก็ได้ ต้องอย่าลืมว่า เด็กแต่ละคนทำความเข้าใจต่อเรื่องต่าง ๆ ช้าเร็วไม่เท่ากัน เด็กที่เข้าใจความรู้บางเรื่องช้า ไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง แต่เพราะยังไม่พร้อม หากได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากพ่อแม่และครู เด็กคนนั้นก็จะพัฒนาตนเองได้ เด็กวัยนี้โตพอที่จะเข้าใจหลักการของเหตุผล พ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ด้วยเหตุผล ขอเพียงเราดูแลเขาด้วยความเข้าใจ และให้ความรัก ก็ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดแล้ว

 

มนุษย์เราทุกคนล้วนมีพัฒนาการ เกิด เรียนรู้ ปรับตัว เติบโต พัฒนาการจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา และอยู่กับเราตั้งแต่เด็กจนโต ดังนั้นถ้าเราเข้าใจพัฒนาการมนุษย์ เราก็จะเข้าใจตนอง และเข้าใจคนอื่น และสามารถนำความรู้ไปช่วยคนอื่น ๆ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้

หลายคนเข้าใจว่าจิตวิทยาพัฒนาการเน้นที่พัฒนาการเด็ก และสอนเรื่องการเลี้ยงลูกเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว ยังมีนักจิตวิทยาพัฒนาการอีกมากมายที่ไม่ได้สนใจพัฒนาการเด็ก แต่สนใจพัฒนาการวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัยก็มี

 

 

พัฒนาการของวัยรุ่น

 

สำหรับวัยรุ่นแล้ว การมีกลุ่มเพื่อน และได้รับการยอมรับจากเพื่อนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ วัยรุ่นจะใช้เวลาอยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่เสียอีก แม้เมื่อกลับบ้านแล้ว ก็ยังแชทคุยกับเพื่อนอยู่ตลอด

 

พ่อแม่ของลูกวัยรุ่นต้องเข้าใจธรรมชาตินี้ให้มาก ๆ พยายามคอยดูอยู่ห่าง ๆ ให้สิทธิลูกวัยรุ่นในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญเราต้องทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะคุยกับเราในเวลาที่เขามีปัญหา คนวัยนี้ ถ้าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เขาอาจจะไปได้รับคำแนะนำที่ผิด ๆ จากคนอื่นนอกครอบครัว

 

นอกจากเรื่องเพื่อน ก็อาจจะมีเรื่องความสัมพันธ์ด้วย วัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มคิดเรื่องการมีแฟน หรือการดูแลให้ตัวเองดูดีเพื่อให้เป็นที่สนใจต่อคนรอบข้าง วัยรุ่นมักมีความเชื่อว่าตนเองเป็นจุดสนใจของผู้อื่น เช่น ถ้ามีสิว หรือผมยุ่ง หรือใส่เสื้อตัวที่เคยใส่มาก่อน คนจะจำได้

 

ถ้าอยากให้ลูกวัยรุ่นไว้ใจเรา คุยกับเรา ในฐานะพ่อแม่เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น หากลูกแต่งตัวหรือทำตัวไม่เหมาะสม เราก็สามารถตักเตือนได้ด้วยความรักความหวังดี แต่ไม่ควรไปต่อว่าให้ลูกรู้สึกอาย หรือไม่เป็นตัวของตัวเอง วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาความชอบความสนใจของตนเอง เพียงเราคอยดูอยู่ห่าง ๆ ให้เขาได้ลองทำ ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยที่ยังอยู่ในกรอบที่เราวางไว้ ขอเพียงเราสื่อให้ลูกวัยรุ่นรู้ว่า เขามีเราเป็นที่พึ่งคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ เมื่อมีปัญหาเขาก็จะเข้ามาหาเรา มาเล่าให้เราฟังเอง จะเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ คิดเสียว่า ลูกวัยรุ่นกำลังฝึกการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ และเรามีหน้าที่เป็นครูผู้ฝึกชั้นดี มีอะไรที่เราเคยเรียนรู้ เคยผ่านมาก่อน ก็เอามาเล่ามาเตือนให้ลูกฟังได้

 

พ่อแม่บางคนมองว่าลูกของเรา ต่อให้โตยังไงอายุเท่าไหร่ เราก็ยังเห็นเขาเป็นเด็กอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าอยากให้ลูกไว้ใจ และสนิทกับเราไปนาน ๆ เราก็ต้องค่อย ๆ ปรับบทบาทให้เข้ากับวัยของลูกที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะอีกไม่นาน เขาก็จะต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องดูแลตนเอง และรับผิดชอบตนเองอย่างเต็มตัว

 

 

พัฒนาการวัยผู้ใหญ่

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการแบ่งพัฒนาการช่วงวัยผู้ใหญ่ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ใหญ่ตอนกลาง และผู้ใหญ่ตอนปลาย

 

Medium shot happy people together

 

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เราต่างคนก็จะมีทางชีวิตที่แตกต่างกันไป บางคนมีสถานการณ์ในชีวิต เช่น ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หรือมีลูกเร็ว ตั้งแต่อายุ 18 ก็จะทำให้คนผู้นั้นได้ชื่อว่ามีความเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าคนอื่น ๆ ในช่วงอายุเดียวกัน ในขณะที่บางคน ฐานะทางบ้านดี ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว พ่อแม่สามารถส่งเสียค่าเล่าเรียนได้สูงที่สุดเท่าที่คนคนนั้นจะทำได้ คนบางคนในกลุ่มนี้ บางทีอายุ 30 กว่าแล้ว แต่ยังไม่มีอาชีพแน่นอน ยังเรียนต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังหาความสนใจของตนเองไม่เจอ จะเห็นได้ว่าอายุ ไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จะบ่งชี้ความเป็นผู้ใหญ่ แต่ละคนจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นมาสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นสั้นยาวไม่เท่ากัน

 

ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น ถือเป็นก้าวแรกของเราในการมีหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง มีรายได้เป็นของตนเอง มีหน้าที่การงานหรืออาชีพที่แน่นอน หรือเริ่มใช้ชีวิตคู่ มีครอบครัวมีลูก ช่วงวัยนี้ก็จะเน้นสร้างความก้าวหน้าในงานที่ตนทำ พยายามพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานยอมรับ ในขณะเดียวกันก็สร้างฐานะ เพื่อความมั่นคงในชีวิตของตนเองและครอบครัว

 

พอมาถึงวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง ก็จะเริ่มมีลูกโตขึ้น เรียนมัธยมหรือเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนหน้าที่การงานก็จะเริ่มมั่นคงอยู่ตัว ได้เป็นหัวหน้างานที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น ส่วนใหญ่มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในองค์กร หรือหน่วยงานที่ทำอยู่ ถือเป็นรุ่นพี่ ที่ต้องทำหน้าที่สอนงานให้รุ่นน้อง ผู้ใหญ่วัยกลางคนในที่ทำงานมักเริ่มรู้สึกว่าอีกไม่กี่ปี ตนก็ต้องเกษียณอายุออกไป ดังนั้นเพื่อให้รู้สึกว่าตนได้ทิ้งอะไรที่เป็นประโยชน์ก่อนไป ก็มักจะแชร์ประสบการณ์ในงานให้คนรุ่นหลัง

 

ผู้ใหญ่ตอนกลางถือเป็นวัยแห่งการให้ เพราะถือว่าต้องดูแลใส่ใจความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวอีกถึง 2 รุ่นด้วยกัน คือลูกวัยรุ่น และพ่อแม่ผู้สูงวัยของตน เป็นวัยที่พอตนประสบความสำเร็จด้านการเงินการงานในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มคิดถึงการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เช่นงานอาสา งานบุญ การช่วยเหลือสังคม เป็นต้น

 

มาถึงวัยหลังเกษียณที่มักจะกำหนดด้วยอายุ 60 ปี ก็จะถือว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย เป็นวัยที่หลาย ๆ คน มักเชื่อมโยงคนวัยนี้เข้ากับความเชื่องช้า ความเสื่อมถอย แต่แท้จริงแล้ว มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงวัยแต่ละคน มีระดับความเสื่อมถอยช้าเร็วแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายที่สะสมมาตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น การออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะคล้ายกับการสะสมบุญ เพราะหากเราเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ก็จะไปมีผลส่งให้เราเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงในวันข้างหน้า

 

นอกจากนี้ เนื่องจากแนวโน้มการดูแลสุขภาพของคนเราในยุคปัจจุบัน เรามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวมากขึ้น และยังคงความสามารถในการเรียนรู้ และการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป เราคงจะตัดสินคนจากแค่อายุ ไม่ได้อีกแล้ว คุณค่าของคน ไม่ควรอยู่ที่ว่าเขามีอายุเท่าไหร่ แต่สามารถทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

…ทำไมคุณถึงทำงาน?…

 

หลายท่านคงรีบตอบอย่างไม่ลังเลว่า ก็ทำงานเพื่อเงินน่ะสิ ซึ่งก็อาจไม่จริงเสมอไป แต่ละคนอาจมองหางานที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น บางท่านอาจจะบอกว่าต้องการทำงานที่ให้อิสระในการควบคุมและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ในขณะที่บางท่านอาจจะบอกว่าชอบงานที่ทำให้เรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น มีอำนาจ

 

จากผลการสำรวจ National Research Council survey (1999) พบว่า ร้อยละ 70 ของคนอเมริกันตอบว่ายังคงทำงานต่อไป แม้ว่าจะถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ จนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องทำงาน นั่นก็สะท้อนว่าคนเราทำงานเพื่อสิ่งอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่เงิน ซึ่งสิ่งที่นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การสนใจศึกษาก็คือ อะไรที่ทำให้คนเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาวะที่ดีในการทำงาน

 

“จิตวิทยาอุตสหกรรมและองค์การ” หรือ I/O Psychology จัดเป็นสาขาวิชาหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยา จิตวิทยาเป็นการศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตของมนุษย์อย่างเป็นระบบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ อาจจะทำโดยการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรม หรือปรากฎการณ์ตามสภาพแวดล้อมจริง เพื่อทำความเข้าใจ ทำนาย หรือจัดกระทำปรากฎการณ์ต่าง ๆ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเป็นการประยุกต์แนวคิดและทฤษฎีทางจิตวิทยา มาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ในบริบทการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งเสริมสุขภาวะขององค์การและคนในองค์การ

 

 

นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ไม่เพียงแต่สนใจแค่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างความพึงพอใจในการทำงานเท่านั้น นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังคงสนใจปัจจัยภายนอกที่ทำงาน ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของพนักงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านครอบครัว บุคลิกภาพ และสถานการณ์ทางสังคมอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีลูกเล็ก แล้ววันนี้ก่อนที่คุณจะออกจากบ้านไปทำงาน ลูกของคุณร้องไห้โยเยเพราะ ไข้ขึ้น ไม่สบาย สิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของคุณก็ได้ ส่วนปัจจัยทางบุคลิกภาพนั้นก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานเช่นเดียวกัน เช่น คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดตัว (extroverted person) กับคนที่มีบุคลิกภาพปิดตัว (introverted person) มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกัน คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดตัวมักชอบสังคมและแสดงความคิดเห็น ก็มักชอบทำงานเป็นทีม พรีเซนต์งาน หรือออกสื่อ มากกว่าคนที่บุคลิกภาพแบบปิดตัว นอกจากนี้ คนที่บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ สูง มักมีอารมณ์ทางบวกมากกว่าคนที่บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ต่ำ

 

นอกจากนี้นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังสนใจปัจจัยด้านสถานการณ์อีกด้วย เช่น อุทกภัยน้ำท่วม การชุมนุมประท้วงทางการเมือง เป็นต้น ล้วนส่งผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของคนจำนวนมาก ในหลาย ๆ องค์การ ในการที่ต้องพยายามบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การ และทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การต่างต้องคำนึงถึงปัจจัยมากมายดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการการทำงานของคนในองค์การ

 

ในขณะเดียวกัน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังสนใจว่า งานจะส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการทำงาน (nonwork behaviors) อีกด้วย หลาย ๆ คนคงเคยรู้สึกเครียดหากหัวหน้าขอให้เอางานกลับไปทำต่อที่บ้าน แน่นอนเรามักรู้สึกหงุดหงิดและวิตกกังวล จนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นแฟน พี่น้อง หรือลูก ๆ อีกทั้งงานยังมีอิทธิพลต่อสุขภายกาย และสุขภาพจิตใจของเราอย่างไม่ต้องสงสัย หลาย ๆ ครั้งที่เรามักรู้สึกเครียดกับงานจนล้มป่วย หรือรู้สึกอารมณ์ขุ่นมัว หากบางคนติดอยู่กับอารมณ์ลบ ๆ นาน ๆ มีการคิดวนเวียนกับความเครียดคงค้างเดิม ๆ จากงาน เช่น ทะเลาะกับหัวหน้า หัวหน้าไม่เคยรับฟังความคิดเห็น แล้วยังให้งานล้นอีก บางรายถึงขั้นเครียดจากงานจนเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการทางจิตอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ

 

จะเห็นได้ว่านักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การสนใจทั้งอิทธิพลของชีวิตต่องาน และอิทธิพลของงานต่อชีวิตของพนักงาน เนื่องจากงานและชีวิตนอกเหนือจากงานต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน

 

ดังนั้นการที่เราจะพยายามเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมการทำงาน เพื่อที่จะจูงใจคนให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน หรือรักษาระดับความพึงพอใจในการทำงานนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยภายนอกงานของพนักงานและควรตระหนักถึงผลกระทบของงานต่อสุขภาวะของพนักงานอีกด้วย การส่งเสริมการพัฒนาโปรแกรมการจัดการกับความเครียด และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของพนักงาน จัดเป็นงานที่สำคัญของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

 

 

Millennial group of young businesspeople asia businessman and businesswoman celebrate giving five after dealing feeling happy and signing contract or agreement at meeting room in small modern office.

 

 

 

สาขาย่อยของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

 

1. จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial psychology) หรือด้าน “I”

 

บางครั้งก็เรียกว่า จิตวิทยาบุคลากร (Personnel Psychology) สาขานี้จะมุ่งเน้นกิจกรรมของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resource) ตั้งแต่การสรรหา คัดเลือกบุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงาน ไปจนถึงการเลื่อนขั้นพนักงาน การจัดอบรมพนักงาน และการยุติการว่าจ้าง โดยรวมแล้ว ด้าน I หรือจิตวิทยาอุตสาหกรรมมุ่งสนใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล พนักงานแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร แล้วความแตกต่างนั้นทำนายหรืออธิบายพฤติกรรมการทำงานอย่างไร ความแตกต่างระหว่างบุคคลในที่นี้อาจจะหมายถึงความฉลาดทางปัญญา ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความสามารถในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการที่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างบุคคลได้นั้น จะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกพนักงานให้เหมาะสมกับตำแหน่ง เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นแตกต่างอย่างไรกับคนที่เรียนด้าน Human resource management (HRM) นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นจะเป็นการประยุกต์งานวิจัย แนวคิดทางจิตวิทยาไปใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์การ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงาน ซึ่งเรื่องที่สนใจจะมีความคาบเกี่ยวกับ HRM แต่นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นจะไม่เน้นเรื่อง กฎหมายแรงงาน การบริหารเงินชดเชย (compensation) ต่าง ๆ นักจิตวิทยาบุคลากรจะเน้นการวิเคราะห์งาน เพื่อกำหนดว่างานแต่ละตำแหน่งหรือประเภทควรจะมีหน้าที่อะไรบ้าง และคนที่จะมาทำงานนั้น ต้องมีความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะอะไรบ้าง หากพนักงานมีความสามารถไม่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ ต้องจัดอบรมทักษะ หรือความสามารถด้านใด โดยใช้ความรู้ทางจิตวิทยาและการวิจัยอย่างเป็นระบบ

 

 

2. จิตวิทยาองค์การ (Organization Psychology) หรือ ด้าน “O”

 

นักจิตวิทยาองค์การนั้นจะสนใจด้านอารมณ์และการจูงใจในการทำงาน เช่น จะทำอย่างไรเพื่อจูงใจพนักงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อเจตคติในการทำงานของพนักงาน เจตคติในการทำงานในที่นี้ เช่น ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันกับองค์การ อยากอยู่ต่อกับองค์การไปนาน ๆ เป็นต้น นอกจากนี้นักจิตวิทยาองค์การยังสนใจเรื่องภาวะผู้นำ ผู้นำแบบใดจึงจะเหมาะกับสถานการณ์แต่ละอย่าง เช่น ในสถานการณ์ที่มีความคลุมเครือ พนักงานไม่รู้ว่าจะทำงานให้ลุล่วงได้อย่างไร อาจต้องอาศัยผู้นำที่มาคอยกำกับชี้แจงโครงสร้างของงานให้ชัดเจน ในขณะที่บางสถานการณ์ที่วิกฤต บริษัทกำลังจะเจ๊ง ยอดขายตกจนพนักงานเสียขวัญ อาจต้องการผู้นำแบบมีวิสัยทัศน์และมีทักษะในการพูด มาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงาน และชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่สำคัญขององค์การ พร้อมกลยุกต์ในการไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ๆ

 

ในปัจจุบันทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า พนักงานในหลาย ๆ องค์การ ต่างเผชิญกับระดับความเครียดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากข้อเรียกร้องจากงานค่อนข้างสูงเพื่อตอบสนองต่อสภาวะการแข่งขันที่สูง นักจิตวิทยาองค์การต่างให้ความสำคัญเรื่องการลดความเครียดของพนักงาน ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจส่งผลให้พนักงานเกิดความเครียด เช่น โครงสร้างงานไม่ชัดเจน บทบาทการทำงานกำกวม ความขัดแย้งระหว่างบุคคลในที่ทำงาน ปัญหาครอบครัว หรือมีบุคลิกภาพที่หวั่นไหวหรือไวต่อสิ่งเร้าง่าย นอกจากนี้ นักจิตวิทยาองค์การยังสนใจเรื่องกระบวนการกลุ่ม คนเราจะทำงานกับคนอื่นเป็นทีมต้องทำอย่างไร มีปัจจัยอะไรต้องคำนึงถึงบ้าง และการพัฒนาองค์การ

 

Group of asia young creative people in smart casual wear discussing business celebrate giving five after dealing feeling happy and signing contract or agreement in office. coworker teamwork concept.

 

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าหน้าที่หลัก ๆ ของนักจิตวิทยา I/O นั้นคือ การพยายามที่จะสร้างการงานที่ดีแก่พนักงาน ว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานนั้นรู้สึกมีความสุขในการทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยจับคู่คนให้เหมาะกับงาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การลดความกำกวมและความขัดแย้งในบทบาทการทำงาน ทั้งนี้ ทำได้ด้วยการวิเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ และอาศัยงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่ออธิบายพฤติกรรมการทำงาน

 

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

โครงการการฝึกอบรมด้านจิตวิทยา เรื่อง “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสําหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์”

 

เนื่องจากศาสตร์จิตวิทยามีความเกี่ยวเนื่องกับศาสตร์อื่น ๆ ค่อนข้างมาก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ในหลากหลายกรณี ซึ่งที่ผ่านมา ศาสตร์จิตวิทยาได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างสรรค์งานที่ใช้องค์ความรู้ระหว่างศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การผลิตผลงานระหว่างศาสตร์อาจมีอุปสรรคหากผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ ขาดมุมมองเชิงกว้างของศาสตร์จิตวิทยาและยังไม่สามารถระบุความต้องการของตนและบทบาทของศาสตร์จิตวิทยาได้อย่างชัดเจน เพื่อให้การบูรณาการระหว่างจิตวิทยาและศาสตร์ต่าง ๆ ได้รับผลลัพธ์ที่น่าสนใจและมีประโยชน์ การอบรมความรู้ที่เปิดมุมมองเชิงกว้างที่สะท้อน “ความร่วมกัน” จากความหลากหลายของศาสตร์จิตวิทยา จะช่วยให้ผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ ระบุความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัด (6 ชั่วโมง) โครงการอบรมจึงตีกรอบให้แคบขึ้น โดยเนื้อหาจะตั้งอยู่บนความพยายามของนักจิตวิทยาและนักวิชาการที่จะ “รวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) และได้นำเสนอมุมมองต่าง ๆ ที่ทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาในมุมกว้าง และสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

 

 

ชื่อโครงการ

โครงการอบรมทางจิตวิทยา “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสำหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์ (Bridging Disciplines: Incorporate Psychology into Your Endeavor)”

 

 

วิทยากร

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

รูปแบบการจัดกิจกรรม

บรรยายความรู้ ระยะเวลา 6 ชั่วโมง

ในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 09.00 – 16.00 น. ในรูปแบบไฮบริด

 

โครงการอบรมนี้เหมาะสำหรับ
  • ผู้ที่มีความต้องการที่จะบูรณาการศาสตร์จิตวิทยาเพื่อการทํางาน/การเรียน/การดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ
  • ผู้ที่ทํางานร่วมกับบุคคลในอาชีพด้านจิตวิทยา และ
  • ผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการเห็นภาพรวมของศาสตร์จิตวิทยาด้วยมุมมองที่กระชับ

 

 

ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเกียรติบัตรการเข้าร่วมโครงการจากคณะจิตวิทยา

โดยผู้เข้าร่วมแบบ on-site จะได้รับเกียรติบัตรแบบ Hard copy และผู้เข้าร่วมแบบ online จะได้รับเกียรติบัตรแบบ e-certificate ทางอีเมล

 

 

 

สําหรับผู้ที่เข้าร่วมแบบ On-Site ราคานี้รวมอาหารกลางวัน อาหารว่าง เอกสารประกอบการอบรม และเกียรติบัตรเข้าร่วมโครงการ 

 

 

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางอีเมลที่กรอกมาในแบบฟอร์มลงทะเบียน (กรุณาตรวจสอบอีเมลของท่านให้ถูกต้อง)
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 02-218-1307 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 

 


 

 

 

คำอธิบายเกี่ยวกับโครงการอบรมฯ

 

 

จิตวิทยาสำหรับสหวิทยาการ

 

โครงการอบรม “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสำหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์ (Bridging Disciplines: Incorporate Psychology into Your Endeavor)” เหมาะสำหรับ

    1. ผู้ที่ศึกษา/ทำงานอยู่นอกศาสตร์จิตวิทยา แต่ต้องการที่จะสร้างสรรค์งานระหว่างศาสตร์ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบการประยุกต์ใช้จิตวิทยาด้วยตัวเอง หรืออยู่ในรูปแบบการร่วมมือกับบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา
    2. ผู้ที่ศึกษา/ทำงานด้านจิตวิทยา และอาจมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอบทบาทของจิตวิทยาในการสร้างสรรค์งานระหว่างศาสตร์ และ
    3. บุคคลทั่วไปที่สนใจจิตวิทยา และต้องการที่จะเห็น “ภาพรวม” ของศาสตร์ด้วยมุมมองที่กระชับ

 

อุปสรรคสำคัญที่หลายคนสัมผัสได้เมื่อผนวกจิตวิทยาเข้ากับศาสตร์ของตนเองอาจอยู่ที่ความหลากหลายของจิตวิทยา ที่มีสาขา/แขนงจำนวนมาก มีทฤษฎี/แนวคิดจำนวนมาก มีลักษณะทางจิตวิทยาจำนวนมาก และ/หรือ มีเครื่องมือจำนวนมาก จนยากที่จะมั่นใจได้ว่า เมื่อตัดสินใจเลือก “จิตวิทยา” มาใช้แล้ว อย่างน้อยเราไม่ได้ตกหล่น (สิ่งที่จิตวิทยามีอยู่ แต่เราไม่รู้) หรือไม่ได้พิจารณาลักษณะสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น (สิ่งที่จิตวิทยาให้ความสำคัญ แต่เราคิดว่าไม่สำคัญ) อย่างที่ควรจะเป็น

 

ด้วยเหตุนี้ โครงการอบรมนี้จึงประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

    1. ไวยากรณ์ (บางส่วน) ของจิตวิทยา (a [partial] grammar of psychology)
    2. การใช้งานจิตวิทยาผ่านมุมมอง “การรวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) และ
    3. จิตวิทยาและการบูรณาการระหว่างศาสตร์

โดยเนื้อหาส่วนแรกจะเป็นการนำเสนอ “โครงสร้างพื้นฐาน” ของจิตวิทยาที่เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่กระจัดกระจาย ซึ่งจะถูกนำมารวมกันในเนื้อหาส่วนที่สอง และเนื้อหาส่วนสุดท้ายจะพูดถึงบทบาทของโครงสร้างพื้นฐานและภาพรวม เพื่อใช้งานจิตวิทยาอย่างเหมาะสมสำหรับการทำงานระหว่างศาสตร์

 

ไวยากรณ์บางส่วนของจิตวิทยาจะพูดถึง “หน่วยโครงสร้าง” (building block) และ “ฟังก์ชั่น” (psychological function) ของลักษณะทางจิตวิทยา ที่จะประกอบไปเป็นลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนมากขึ้น เปรียบได้กับไวยากรณ์ทางภาษา ที่อาจมีคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ ฯลฯ ซึ่งเราจะนำคำเหล่านี้มาร้อยเรียงกันเป็นประโยค ลักษณะทางจิตวิทยาก็เช่นเดียวกัน ที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา เช่น อารมณ์เป็นหน่วยโครงสร้างทางจิตวิทยา และความฉลาดทางอารมณ์เป็นลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจมีอารมณ์เป็นหน่วยโครงสร้างหลัก (แน่นอนว่าจะประกอบเข้ากับหน่วยโครงสร้างอื่น ๆ) นอกจากนั้น นักจิตวิทยาบางกลุ่มได้พยายามที่จะจัดหมวดหมู่ฟังก์ชั่นของลักษณะทางจิตวิทยาต่าง ๆ (เพื่อตอบคำถามที่ว่า “เรามีสิ่งนี้ไว้เพื่ออะไร”) เป็น 4 ฟังก์ชั่นใหญ่ ๆ ซึ่งลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนอาจมีฟังก์ชั่นมากกว่า 1 ฟังก์ชั่น เช่น อารมณ์อาจมีฟังก์ชั่นหนึ่ง ๆ และความฉลาดทางอารมณ์อาจมีฟังก์ชั่นหลากหลายมากกว่า ในบางครั้ง เราอาจพบว่า ลักษณะทางจิตวิทยาที่มีชื่อเหมือนกัน กลับมีรายละเอียด (นิยาม) ที่ต่างกัน และลักษณะทางจิตวิทยาที่มีชื่อต่างกัน กลับมีรายละเอียดเหมือนกัน (ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า jingle-jangle fallacies [Lawson & Robins, 2021]) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ในศาสตร์จิตวิทยาเนื่องจากนักจิตวิทยาและนักวิชาการอาจมีมุมมองทางทฤษฎีที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจลักษณะทางจิตวิทยาจากหน่วยโครงสร้างและฟังก์ชั่นจึงมีความสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา

 

เนื่องจากศาสตร์จิตวิทยามีความหลากหลาย ในปัจจุบัน สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริการะบุไว้ 56 สาขา/แขนง เช่น จิตวิทยาทั่วไป [Division 1] จิตวิทยาสุนทรียภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และศิลปะ [Division 10] จิตวิทยาการฟื้นฟูสภาพ [Division 22] ฯลฯ การทำงานร่วมกันภายในศาสตร์และระหว่างศาสตร์จะติดขัดหากมุ่งเป้าไปที่ความเชี่ยวชาญที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของงาน การพยายามทำความเข้าใจความเหมือนและความต่างของศาสตร์จิตวิทยา เพื่อก่อให้เกิดการใช้งานจิตวิทยาอย่างตรงเป้า จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการอบรมนี้ และภายในระยะเวลาสั้น ๆ (6 ชั่วโมง) เราจะใช้เนื้อหาจากนักจิตวิทยาและนักวิชาการที่พยายามจะ “รวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) ถึงแม้ว่าการรวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่งอาจเป็น “ความท้าทายที่เป็นไปไม่ได้” จากมุมมองของนักจิตวิทยาบางกลุ่ม (เนื่องจากจิตวิทยาสาขา/แขนงต่าง ๆ อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในหลายประเด็น ตั้งแต่มุมมองทางปรัชญา ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ความรู้) และในตอนนี้ก็ยังไม่มีผู้ที่ทำได้สำเร็จ (ความท้าทายนี้มีวารสารทางวิชาการที่เฉพาะเจาะจง เช่น Integrative Psychological and Behavioral Science หรือแม้แต่ Review of General Psychology และ New Ideas of Psychology) แต่ในระหว่างที่นักจิตวิทยาและนักวิชาการร่วมกันเดินทางเพื่อวาดแผนที่ของศาสตร์จิตวิทยา เราก็พอที่จะได้เห็นภาพของศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาพนี้อาจยังไม่สามารถพูดได้ว่า “ถูกต้อง” แต่จะมีประโยชน์อย่างแน่นอน โครงการอบรมนี้จะคัดสรรภาพที่เข้าใจง่ายและมีประโยชน์สำหรับการเริ่มต้นที่จะผนวกจิตวิทยาให้ตรงกับความต้องการระหว่างศาสตร์ที่หลากหลาย

 

สำหรับผู้ที่รู้จักทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาอยู่แล้ว อาจสังเกตได้ว่า ลักษณะทางจิตวิทยาบางลักษณะอาจ ดูเหมือน มีความใกล้เคียงกัน เช่น ความเชื่อในความสามารถของตน (self-efficacy) และมโนทัศน์แห่งตน (self-concept) หรือทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาอาจ ดูเหมือน มีความใกล้เคียงกัน เช่น ความคลาดเคลื่อนในการอนุมานสาเหตุ (fundamental attribution error) และความลำเอียงเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) ซึ่งหลัก ๆ ก็เป็นการอนุมานสาเหตุเหมือนกัน เราอาจเห็นความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อพิจารณาทฤษฎี/แนวคิดเหล่านี้พร้อมกัน แต่ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ลักษณะทางจิตวิทยาและทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาด้วยความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ก็น่าจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ก็น่าจะช่วยให้การทำงานระหว่างศาสตร์เป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้นเช่นกัน โครงการอบรมนี้จึงไม่ได้นำเสนอทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยา (สิ่งเหล่านี้หาได้จากโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาฯ และโครงการอบรมความรู้จากสาขา/แขนงต่าง ๆ) แต่โครงการอบรมนี้จะนำเสนอ “โครงสร้างพื้นฐาน” ทางจิตวิทยา ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของลักษณะทางจิตวิทยาและทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาที่มีอยู่ หากเปรียบได้กับการปรุงอาหาร ทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาก็อาจเหมือนสูตรอาหาร ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางจิตวิทยาก็อาจเหมือนวัตถุดิบและกระบวนการปรุงอาหาร ถ้ารู้แต่สูตรอาหาร การดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุประสงค์และบริบทต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้ารู้วัตถุดิบและกระบวนการปรุงอาหารด้วย การดัดแปลงก็อาจทำได้ง่ายกว่า

 

และสุดท้าย เราจะขมวดเนื้อหาทั้งหมดเข้าด้วยกันในส่วนของ “จิตวิทยาและการบูรณาการณ์ระหว่างศาสตร์” โดยจะนำเสนอบทบาทของจิตวิทยาที่อาจแตกต่างกันระหว่างการประยุกต์ใช้ การร่วมมือ และการอำนวยความสะดวก ซึ่งน่าจะทำให้การทำงานระหว่างศาสตร์ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะเน้นที่การใช้งานจิตวิทยาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals) ที่จิตวิทยาอาจมีส่วนร่วมในหลากหลายเป้าหมาย แต่ก็ยากที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างศาสตร์ โครงการอบรมจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 9:00-16:00 ที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มีระบบออนไลน์)

 

 

รายการอ้างอิง

 

Lawson, K. M., & Robins, R. W. (2021). Sibling constructs: What are they, why do they matter, and how should you handle them? Personality and Social Psychology Review, 25, 344-366.

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 38 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬา

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณเวณิกา บวรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และคุณกษิดินทร์ บุญขำ บุคลากรคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ และคณะผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 38 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมีและสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ

 

 

หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

 

ประกาศ

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

 

 

ด้วย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสรรทุนอุดหนุนการศึกษาสำหรับนิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อดึงดูดผู้สมัครที่มีศักยภาพทางวิชาการและการวิจัยสูงให้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลิตผลงานวิชาการและผลงานวิจัยคุณภาพสูงร่วมกับคณาจารย์

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา ครั้งที่ 21/2567 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 จึงกําหนดรายละเอียดการขอรับทุนอุดหนุนการศึกษา ไว้ดังนี้

 

 

1. ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง หลักเกณฑ์ และ วิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568”

 

 

2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป

 

 

3. ผู้มีสิทธิ์ขอรับทุน

 

3.1 วุฒิการศึกษา ตรงตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

3.1.1 จบการศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.2 กําลังศึกษาปีสุดท้ายในสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.3 นิสิตปริญญาโทคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สอบวัดคุณสมบัติระดับปริญญาเอกผ่าน และเปลี่ยนระดับเป็นปริญญาเอกภายในปีการศึกษา 2567

 

3.2 มีผลการเรียนสะสมไม่ต่ํากว่า 3.50 ณ วันที่สมัคร และเมื่อสําเร็จการศึกษา

 

3.3 ต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ CU-TEP ตั้งแต่ 75 ขึ้นไป หรือ TOEFL ตั้งแต่ 550 ขึ้น ไป หรือ IELTS ตั้งแต่ 6.5 ขึ้นไป หรือสําเร็จการศึกษาหรือกําลังศึกษาในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

 

3.4 นิสิตต้องมีโครงร่างวิทยานิพนธ์ โดยมีจํานวนคํา ไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 คํา

 

3.5 นิสิตต้องมีอาจารย์ประจําคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกลงรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ตามแบบฟอร์ม

 

 

4. ผู้มีสิทธิ์รับทุน

 

4.1 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 3 และ

4.2 คณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่นิสิตสมัครเข้าศึกษาพิจารณาเห็นชอบให้ได้รับทุนนี้ และ

4.3 ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยาในปีการศึกษา 2568

 

 

5. เงื่อนไขการรับทุน

 

5.1 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาของการรับทุน (โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องใส่ชื่อนิสิตร่วมในการตีพิมพ์บทความทางวิชาการด้วย)

 

5.2 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง และต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับ อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 ปีหลังวันที่จบการศึกษา โดยผลงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

 

(1) ผลงานวิจัยตีพิมพ์ต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอยู่ในฐานข้อมูล ISI/SCOPUS จัดอยู่ในลําดับควอไทล์ที่ 2 หรือเหนือกว่า ตามประกาศฉบับล่าสุดในการจัดลําดับวารสารของ Journal Citation Report – Clarivate Analytics (JCR) หรือ Scimago Journal & country (SJR)

 

(2) ในบทความที่ตีพิมพ์ นิสิตต้องระบุชื่อนิสิตผู้รับทุนเป็นชื่อแรก อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักเป็น corresponding author และระบุสังกัดว่า สังกัดคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

5.3 นิสิตต้องรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษา การทําวิทยานิพนธ์ และการทําวิจัย โดยผ่านการพิจารณาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เพื่อพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนในภาคการศึกษาถัดไป

 

5.4 นิสิตต้องระบุการได้รับทุนสนับสนุนการศึกษา ในกิตติกรรมประกาศ ดังนี้

 

กิตติกรรมประกาศ ในวิทยานิพนธ์ ระบุดังนี้ “ขอขอบพระคุณคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สําหรับการสนับสนุนทุนการศึกษา อันเป็นประโยชน์และ เป็นส่วนสําคัญที่ช่วยให้การศึกษาวิจัยในครั้งนี้สําเร็จลุล่วงได้ด้วยดี”

 

กิตติกรรมประกาศ ในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทุกประเภท ระบุดังนี้ “บทความวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง………………………………………….. โดยได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

 

 

6. จํานวนเงินทุน และระยะเวลาการรับทุน

 

6.1 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จํานวน 3 ทุน เมื่อนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรละ 1 ทุน โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 4 ภาคการศึกษา ดังนี้

    • ค่าธรรมเนียมการศึกษา  ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย)   35,000 บาท
    • ค่าธรรมเนียมพิเศษ       ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย)   50,000 บาท

ผู้ได้รับทุนสามารถลงทะเบียนเรียนในรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาในระหว่างที่กําลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีได้ โดยได้รับการยกเว้นการชําระค่าธรรมเนียมการศึกษาผู้เข้าร่วมฟัง

 

6.2 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จํานวน 3 ทุน เมื่อนิสิตสอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถยื่นขอรับทุนได้ในภาคการศึกษาถัดไป จากที่ได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษา ดังนี้

    • ค่าธรรมเนียมการศึกษา  ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย)   35,000 บาท

 

 

7. การระงับทุน

คณะจิตวิทยาจะระงับการให้ทุน ดังนี้

 

7.1 พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต

 

7.2 ทุจริตในการสอบหรือคัดลอกผลงานวิชาการ

 

7.3 อยู่ในระหว่างการลาพักการศึกษา

 

7.4 นิสิตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับทุนตามข้อ 5

 

7.5 คณะจิตวิทยา เห็นสมควรให้ระงับทุน

 

 

8. การสมัครขอรับทุน

ให้นิสิตติดต่อฝ่ายวิชาการ คณะจิตวิทยา นับตั้งแต่วันที่ประกาศ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568

 

 

จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

คณบดีคณะจิตวิทยา

 

 

ประกาศทุน

 

 


 

 

 

ใบสมัครขอรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – ทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์

 

 


 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันภาษา จุฬาฯ

 

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยบุคลากรคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.จิรดา วุฑฒยากร ผู้อำนวยการสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารเปรมบุรฉัตร

 

 

 

 

 

โครงการจิตวิทยา จุฬาฯ “ฮีลใจผู้ประสบภัย”

 

คณะจิตวิทยาเล็งเห็นถึงความสำคัญในช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยและอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบัสโดยสารคณะทัศนศึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต จึงจัดให้มีโครงการจิตวิทยา จุฬาฯ “ฮีลใจผู้ประสบภัย” โดยมีรูปแบบการให้บริการดูแลจิตใจ
เบื้องต้น (Psychological First Aid) ผ่านสายด่วนโทรศัพท์ 02-2180810 ในช่วงวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ) จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นี้ บริการฟรี บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

 

 

ทั้งนี้นิสิตอาสาในโครงการได้ผ่านการอบรมจากคณาจารย์ของศูนย์สุขภาวะทางจิตไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567

 

 

 

ก้าวข้ามความแตกต่าง: เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย (ตอนที่ 2/2)

 


 

 

อ่านตอนที่ 1/2 

 

 


 

 

ตัวอย่างสถานการณ์ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านและในที่ทำงาน

 

ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลากหลายยุค เช่น ปู่ย่าเป็น Gen Baby Boomers, พ่อแม่เป็น Gen X และลูกหลานเป็น Gen Millennials และ Gen Z ความท้าทายคือการปรับตัวเข้าหากัน เนื่องจากแต่ละรุ่นมีความสนใจ ความชอบ รูปแบบการสื่อสาร และค่านิยมที่ต่างกัน

 

 

 

บริษัทนวัตกรรมชุมชนคนเมือง เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีพนักงานประจำเต็มเวลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่งเรียนจบ และพนักงานบางส่วนที่ทำงานพาร์ทไทม์หลังเกษียณจากงานประจำ เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่หลายตัว โดยมุ่งหวังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของชุมชน

 

 

 

หัวใจ 2 ข้อในการ “เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย”

 

ข้อแรก ลดช่องว่างด้วยการสื่อสารที่สร้างสรรค์

  • หลีกเลี่ยงการกระแนะกระแหนหรือแซะกัน : พยายามลดคำพูดที่อาจสร้างบรรยากาศเชิงลบ แทนที่จะวิจารณ์หรือเหน็บแนมกัน
  • เปลี่ยนมุมมองมาเป็นการแบ่งปันและรับฟัง : ส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์ ความคิด และฟังกันอย่างตั้งใจ ให้แต่ละคนมีพื้นที่แสดงออกและเรียนรู้จากกัน

 

ข้อที่สอง เติมเต็มความแตกต่างด้วยกิจกรรมร่วมกัน

  • ทำกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ : หากการพูดคุยกันยังไม่คุ้นเคย ลองหากิจกรรมที่ทำด้วยกัน เช่น เดินเลือกซื้อของ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร หรือออกกำลังกายร่วมกัน ซึ่งช่วยเชื่อมโยงกันผ่านการทำสิ่งสร้างสรรค์และการลงมือทำไปพร้อมกัน
  • ใช้เวลาให้กันอย่างสม่ำเสมอ : ไม่จำเป็นต้องนาน แต่การใช้เวลาคุณภาพร่วมกันและอัปเดตชีวิตกันสั้นๆ ช่วยให้แต่ละฝ่ายรู้สึกผูกพันต่อกัน
  • สร้างพื้นที่หรือหาเป้าหมายร่วมกัน : ค้นหาสิ่งที่ทุกคนให้คุณค่าร่วมกัน เช่น การทำแปลงผักสวนรวมหลายเจนที่แต่ละวัยสามารถร่วมปลูกและดูแล หรือเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้สมาชิกในบ้านรู้สึกเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อสิ่งเดียวกัน

 

 

ตัวอย่าง การเติมเต็มความแตกต่างในสถานการณ์ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านและที่ทำงาน

 

 

 

 

กฎ Platinum 3 ข้อ สำหรับ เตือนใจ เชื่อมใจคนต่างยุคกัน

 

  • ข้อแรก : เปิดใจ – ไม่ว่ารุ่นไหนหรือวัยไหน ทุกคนต่างมีความสามารถและความถนัดในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตน การแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ของทุกคน
  • ข้อที่สอง : ปิดช่องว่างระหว่างวัย – ควรมองหาสิ่งที่เรามีร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมโยงระหว่างกัน
  • ข้อสุดท้าย : หลีกเลี่ยงความคาดหวังเกินจริง – ควรรักษาความสม่ำเสมอในการสื่อสารและการทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ตั้งความหวังที่สูงเกินไป

 

 

 

 

 

ขอบคุณทุกท่านที่เห็นความสำคัญของ “การลดความแตกต่างและเติมเต็มช่องว่างระหว่างรุ่นวัย” สิ่งนี้จะช่วยลดภาพเหมารวม (stereotypes) ของแต่ละรุ่น ทำให้เราเห็นคุณค่าในความหลากหลาย และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคม การเชื่อมโยงนี้ช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางใจ เพิ่มความเข้าใจ รู้ทันโลก รู้จักคนรอบข้าง อีกทั้งเป็นการกระตุ้นความคิด ลดอารมณ์ทางลบ และช่วยรักษาทักษะทางสังคมในทุกช่วงวัย

 

 

 


 

 

บทความโดย

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา
ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก้าวข้ามความแตกต่าง: เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย (ตอนที่ 1/2)

 

คนแต่ละยุคซึมซับประสบการณ์และค่านิยมทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่ต่างกัน จึงพัฒนามุมมอง แนวคิด และค่านิยมเฉพาะตัวที่สะท้อนยุคสมัยของตนเอง ทำให้พวกเขามีลักษณะและมุมมองร่วมกันมากกว่าที่จะคล้ายคลึงกับคนรุ่นก่อน สิ่งนี้เป็นรากฐานของ “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ generation gap คาร์ล มันไฮม์ (Karl Mannheim) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยเขาได้พัฒนา “ทฤษฎีรุ่นวัย” (Theory of Generations) ในผลงาน “The Problem of Generations” ที่ตีพิมพ์ในปี 1928

 

 

ช่องว่างระหว่างวัย — ความแตกต่างที่เกิดจาก “ขอบเขตของอายุ” (age boundaries)

 

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนที่เกิดในยุคเดียวกันมักมีมุมมองและให้ความสำคัญต่อสิ่งต่าง ๆ ในทิศทางคล้ายคลึงกัน การเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีข้อสังเกตว่า:

  • คนแต่ละยุคได้ซึมซับและสะสมประสบการณ์เฉพาะของยุคสมัยของตนเอง
  • คนแต่ละยุคมีลักษณะร่วมและความคล้ายคลึงกันกับคนในยุคเดียวกันมากกว่าที่จะเหมือนกับคนในรุ่นพ่อแม่

 

 

ถอดรหัสลักษณะเฉพาะของคนแต่ละยุคในสังคมปัจจุบัน

 

 

 

กลุ่มคนตามช่วงอายุ

  • ยุคปู่ย่าตายาย หรือ Silent Generation คนที่เกิดปี พ.ศ. 2468 – 2485 อายุ 80 ปี ขึ้นไป
  • ยุคลุง ป้า พ่อและแม่ หรือ Baby Boomers คนที่เกิดปี พ.ศ 2489 – 2507 อายุ 58-76 ปี
  • ยุค พ่อและแม่ น้า อา Generation X คนที่เกิดปี พ.ศ. 2508 – 2522 อายุ 43-57 ปี
  • ยุค น้า อา พี่ น้อง Generation Y คนที่เกิดปี พ.ศ. 2523 – 2540 อายุ 25-42 ปี
  • ยุค พี่ น้อง Generation Z คนที่เกิดปี พ.ศ 2539 ปี อายุต่ำกว่า 25 ปี
  • ยุค หลาน เหลน Generation Alpha คนที่เกิดปี พ.ศ. 2553 ปี อายุต่ำกว่า 12 ปี

 

ลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนแต่ละยุค โดยแบ่งตามคุณลักษณะเด่น และการใช้เทคโนโลยี อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

 

 

 

 

ช่องว่างระหว่างวัย มีแนวโน้มเป็นภัยเงียบ อาจก่อให้เกิดปัญหา เมื่อคนเรา…

 

  1. ขาดความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละวัย ทำให้เกิดการคาดหวังที่เกินจริง
    • เมื่อคนต่างวัยให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน จึงเกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับพฤติกรรมและความเชื่อที่แต่ละวัย “ควรจะมี”
    • คนรุ่นสร้างเนื้อสร้างตัวหลังสงคราม (รุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย) มองว่าควรทำงานที่เดียวตลอดชีวิตและมีความภักดี ในขณะที่คนยุคใหม่หรือเจนวาย (Gen Y) มองหาความท้าทายและโอกาสจากหลากหลายองค์กร ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง
  2. ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ทำให้คนมองต่างกันได้ง่ายขึ้น
  3. ใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มีธุระเยอะ ไม่มีเวลาให้กันเท่าที่ควร
  4. อยู่ในครอบครัว สถานที่ทำงาน ชุมชน ที่มีความหลากหลายของคนต่างรุ่นวัย (คนมักเข้าใจคนรุ่นใกล้ตัวและเห็นต่างกับคนรุ่นที่ห่างจากตน)

 

 

ปัญหาคือ พอคุยกันไม่ได้ เลยไม่เข้าหากัน หนีหน้ากันเพียงเพราะไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากโต้เถียงกัน ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน ช่องว่างยิ่งห่างขึ้น

 

 

 


 

 

อ่านต่อตอนที่ 2/2

 

 


 

 

บทความโดย

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา
ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การประชุมรับฟังความเห็นเพื่อการจัดทำคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2567 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration; IOM) ในการจัดการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อการจัดทำคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ Psyche Space ชั้น 3 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การประชุมนี้เป็นการนำเสนอเนื่อหาของคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัย เรื่อง “Mapping of Available MHPSS services for Vulnerable Migrants in Thailand and Development of a Handbook for Shelter Staff in Designing and Delivering MHPSS Support for Victims of Trafficking during the NRM Reflection Period” โดยคู่มือดังกล่าวมีเนื้อหาประกอบด้วยหลักการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมแก่บุคคลเปราะบางในกระบวนการค้ามนุษย์ ตลอดจนการดูแลจัดการบาดแผลทางจิตใจแบบทุติยภูมิและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลตนเองของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมนำเสนอตัวอย่างการนำทฤษฎีไปใช้ในทางปฏิบัติ

 

การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณซัสเกีย ก๊อก หัวหน้าฝ่ายคุ้มครอง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน มาเป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ตัวแทนจากสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตัวแทนจากบ้านพักเด็กและครอบครัว และตัวแทนจากองค์กรที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมในบริบทต่าง ๆ มาร่วมรับฟังเนื้อหาและแสดงความเห็นเพื่อใช้ในการพัฒนาคู่มือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้ปฏิบัติงานต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

อัลบั้มภาพ 

 

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย