News & Events

แสดงความยินดีครบรอบ 54 ปี แห่งการสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา

 

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และคุณกษิดินทร์ บุญขำ บุคลากรคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาส ครบรอบ 54 ปี แห่งการสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องบรรณสารสนเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

 

Relationships between mindfulness, self-compassion, and grit among Thai national athletes: the mediating role of selfregulation

 

มหกรรมกีฬา Olympic Games 2024 ณ กรุง Paris ได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว…นักจิตวิทยาเกี่ยวข้องกับการกีฬาอย่างไรบ้าง

 

ตัวอย่างงานวิจัยของคณาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบุญ จารุเกษมทวี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ พร้อมคณะวิจัย เรื่อง Relationships between Mindfulness, Self-Compassion, and Grit among Thai National Athletes: The Mediating Role of Self-Regulation ซึ่งได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารนานาชาติ International Journal of Sport and Exercise Psychology ปี 2021

 

 

 

งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาที่สัมพันธ์กับความมั่นหมาย (Grit) อันเป็นคุณลักษณะที่แสดงออกในสิ่งที่ตนสนใจและมีความเพียรพยายามที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายระยะยาว ซึ่งความมั่นหมายเป็นคุณลักษณะพบในนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก โดยการศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลกับนักกีฬาทีมชาติไทยจากกีฬาประเภทต่าง ๆ จำนวน 320 คน

 

ผลการศึกษาพบว่า 1) การมีสติ (mindfulness) คือ การตระหนักรู้ในความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตน 2) ความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-Compassion) คือ การปลอบโยนตนเองและการไม่ตำหนิตนเองเมื่อเผชิญความทุกข์ยาก และ 3) การกำกับตนเอง (Self-Regulation) คือ การกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเอง เพื่อเอื้อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ ทั้งสามคุณลักษณะนั้นสัมพันธ์ทางบวกกับความมั่นหมายของนักกีฬา

 

 

 

 

ผลวิจัยนี้ยังระบุว่า ภาวะสติร่วมกับความเมตตากรุณาต่อตนเอง ส่งผลต่อการกำกับตนเองอันเป็นตัวแปรส่งผ่านไปสู่การมีความมั่นหมายของนักกีฬา โดยสติยังส่งผลโดยตรงกับความมั่นหมายของนักกีฬาอีกด้วย

 

นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้เสนอแนะว่าโปรแกรมทางจิตวิทยา อาทิ เช่น Mindfulness-Acceptance-Commitment (MAC) Programสามารถพัฒนาและบ่มเพาะความมั่นหมายของนักกีฬาให้เกิดขึ้นได้

 

 

 

 

ผู้เขียน

ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐสังฆการ

 

 

 


 

 

Research
Jarukasemthawee, S., Pisitsungkagarn, K., O’Brien, W., Manley, H., & Pattanamontri, C. (2021). Relationships between mindfulness, self-compassion, and grit among Thai national athletes: the mediating role of self-regulation. International Journal of Sport and Exercise Psychology, 1-21. https://doi.org/10.1080/1612197X.2021.2010230

 

เทคนิค Door-in-the-face หรือ เธอปฏิเสธฉัน ในการโน้มน้าวใจแบบตัวต่อตัว

 

การโน้มน้าวใจแบบตัวต่อตัว เช่นการขอร้องให้คนอื่นทำตามความต้องการของเราจัดเป็นอิทธิพลจากคนสู่คนที่สำคัญอย่างมาก เพราะในชีวิตประจำวันหรือในการทำงาน เราอาจจำเป็นต้องให้ผู้อื่นทำตามความต้องการต่าง ๆ ของเรา เช่น ขอให้เขาช่วยทำงานแทน ขอให้เขายอมแลกวันหยุดกับเรา ขอยืมเงิน หรือแม้แต่การโน้มน้าวใจลูกค้า การทำความเข้าใจเทคนิคการโน้มน้าวใจระหว่างบุคคลจึงน่าจะเป็นประโยชน์ ไม่รวมถึงความจำเป็นที่เราควรรู้เท่าทันกลวิธีของผู้ไม่ปรารถนาดีที่อาจให้เทคนิคเหล่านี้เพื่อให้เรายินยอมทำตามเพื่อเอาประโยชน์จากเรา

 

ในการขอให้คนอื่นทำอะไรสักอย่างให้เรา ถ้าผู้ขอมีอำนาจหรือสถานภาพเหนือกว่าบุคคลเป้าหมายก็อาจใช้การกดดันหรือออกคำสั่งให้ทำก็ได้ แต่ถ้าผู้ขอมีอำนาจน้อยกว่าหรือพอ ๆ กับบุคคลเป้าหมาย จะมีวิธีขอร้องอย่างไรให้ได้ผล?

 

จิตวิทยาสังคมศึกษาเทคนิคต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้อื่นทำตามความต้องการของเรา เช่น เทคนิคได้คืบจะเอาศอก (Foot-in-the-door technique) เทคนิคเธอปฏิเสธฉันหรือ door in the face นี้กลับด้านกันกับเทคนิคได้คืบจะเอาศอกที่เริ่มจากขอน้อย-เขายอม-แล้วจึงขอมาก โดยเทคนิคเธอปฏิเสธฉันเริ่มจากการขอมาก-เขาปฎิเสธ-แล้วจึงขอน้อยลง ซึ่งมักจะทำให้ได้รับการยอมให้มากกว่าการขอน้อยไปเลยโดยไม่มีการขอมากนำไปก่อน จะเห็นว่าเทคนิคเธอปฏิเสธฉันมีกระบวนการ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขออะไรบางอย่างจากบุคคลเป้าหมายที่มากเกินไปจนเขาต้องปฏิเสธ เช่น ขอให้เขาทำอะไรให้ ขอสิ่งของ ขอให้ยอมให้เรื่องใหญ่ๆ ที่เรารู้อยู่แล้วว่าเขาไม่อาจยอมได้ เมื่อเขาปฏิเสธแล้วจึงขอขั้นที่ 2 คือการขออีกครั้งแบบขอน้อยลงกว่าครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ขอต้องการจริง ๆ ตั้งแต่แรก แต่ใช้การขอขั้นที่ 1 เป็นตัวทำให้การขอขั้นที่ 2 ประสบความสำเร็จง่ายขึ้นนั่นเอง

 

เช่น หากเรามีแผนจะใช้เทคนิคเธอปฏิเสธฉัน เพื่อขอยืมเงินเพื่อนจำนวน 2,000 บาท เราอาจทำได้โดย ขั้นที่ 1 – เอ่ยขอยืมเงินเพื่อน 10,000 บาท (โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นจำนวนที่มากเกินกว่าที่เขาจะยอมให้ได้ เขาจึงน่าจะปฏิเสธ) เมื่อเพื่อนบอกว่าให้ไม่ได้ เราจึงขอขั้นที่ 2 – ถ้าเช่นนั้นขอยืมแค่ 2,000 บาทก็ได้ ซึ่งมักจะได้ข่าวดีว่าเขาตกลง! คุ้นๆ ไหมคะ? หลายท่านเคยใช้วิธีนี้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ แต่ถ้าจะเรียกว่าใช้เทคนิคเธอปฏิเสธฉันหรือ door in the face แล้วละก็…ผู้ใช้จะต้องตั้งใจวางแผนไว้ทั้ง 2 ขั้นตั้งแต่แรก

 

งานวิจัยตั้งต้นของเทคนิคนี้ นำโดย ดร. รอเบิร์ต ชาลดินี (Dr. Robert Cialdini) นักจิตวิทยาสังคมผู้เชี่ยวชาญด้านการโน้มน้าวใจจาก Arizona State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1975 ผู้วิจัยได้ขอให้ผู้ร่วมการทดลองมาเป็นอาสาสมัครไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กจากสถานพินิจ สัก 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยระยะเวลานานขนาดนั้นก็ทำให้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธคำขอทันที ผู้วิจัยจึงเสนอคำขอที่ 2 ที่เล็กลงโดยการขอให้ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กขณะพาไปเที่ยวสวนสัตว์เพียง 1 วันแทน ผลปรากฏว่า มีมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบตกลง เมื่อเทียบกับผู้ร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกขอให้ช่วยไปเป็นอาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็กที่สวนสัตว์ 1 วันเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเพียงคำขอเดียว ที่มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบตกลง หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มแรกที่ถูกขอร้องด้วยเทคนิคเธอปฏิเสธฉันทั้ง 2 ขั้นตอน

 

 

ทำไมเทคนิคเธอปฏิเสธฉันจึงได้ผลดีกว่าการขอไปเลยในขั้นตอนเดียว?

 

เหตุผลก็อยู่ในชื่อเทคนิคเลยค่ะ การปฏิเสธใครสักคนเมื่อเขาขออะไรเราโดยเฉพาะเมื่อการขอนั้นมีเหตุผลที่ดีรองรับ (เช่น ขอให้เป็นอาสาสมัครช่วยเด็กในสถานพินิจ) ทำให้บุคคลเป้าหมาย:

 

  • ก. รู้สึกกดดันว่าต้องตอบแทนที่ผู้ขอลดความต้องการลงในขั้นที่ 2 นั่นคือเขายอมลดความต้องการลงแล้วนะ (เช่น ลดจากที่อยากยืมเงิน 10,000 บาท เหลือขอแค่ 2,000 บาท) ทำให้ตนควรจะยอมถอยบ้างเป็นการตอบแทน กลไกนี้งานวิจัยพบว่าเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เทคนิคนี้ประสบความสำเร็จ
  • ข. พยายามเลี่ยงจากการเป็นคนที่ไม่ช่วยเหลือ เพราะบรรทัดฐานโดยทั่วไปคือคนเราควรช่วยเหลือเมื่อมีคนขอ และการ (ถูกวางแผนให้ต้อง) ปฏิเสธคำขอร้องให้ช่วยในขั้นที่ 1 ทำให้บุคคลกลายเป็นคนที่ไม่ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นเรื่องที่ระคายเคืองทั้งจากการมองตัวเอง และการถูกมองจากผู้อื่น จึงทำให้ยินยอมตกลงกับคำขอขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นโอกาสให้บุคคลได้แก้ตัวและคืนการรับรู้ว่าตนเองได้ทำสิ่งที่เหมาะสมตามบรรทัดฐานของสังคม คือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น (ดู Feeley, Anker, & Aloe, 2012) ที่น่าสนใจคือการมองว่าตนผิดจากบรรทัดฐานสังคมโดยไม่ช่วยเหลือ อาจทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกผิดหรือรู้สึกไม่ดีซึ่งอาจเป็นตัวช่วยผลักให้ตกลงกับคำขอขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้นด้วย แต่หลักฐานการวิจัยเรื่องปัจจัยความรู้สึกนี้ยังไม่หนักแน่นนัก (เช่น Martinie, Bordas, & Gil, 2024)

 

 

ควรใช้เทคนิคเธอปฏิเสธฉันเมื่อไรดี?

 

เทคนิคนี้น่าได้ผลดีกับการขอให้บุคคลทำสิ่งที่ดี เพราะมักทำให้เกิดการรับรู้ว่า “ฉันควรให้ความช่วยเหลือ เพียงแต่ฉันไม่สามารถทำได้”จากการขอร้องขั้นที่ 1 ได้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ยอมตกลงในขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้นเมื่อการร้องขอนั้นน้อยลงและบุคคลสามารถทำให้ได้ และเนื่องจากเทคนิคนี้อาศัย “การติดหนี้” จากข้อ ก. ข้างต้น ผู้ขอในขั้นที่ 2 จึงควรเป็นคนเดียวกันกับขั้นที่ 1 นอกจากนี้ “การถูกปฏิเสธ” ในขั้นที่ 1 นั้นเป็นกลไกสำคัญของเทคนิคนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ ส่วนเรื่องระยะเวลานั้น สามารถขอขั้นที่ 2 หลังจากขั้นที่ 1 ได้เลยเพื่อจะได้อาศัยประโยชน์จากความรู้สึกผิดจากขั้นที่ 1 ช่วยให้บุคคลยอมรับคำขอขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้น แต่ข้อควรระวังก็คือเทคนิคนี้มีความเจ้าเล่ห์อยู่ เนื่องจากคำขอขั้นที่ 1 เป็นการขอเพื่อสร้างแรงกดดัน จึงควรระมัดระวังการใช้ เช่นในการเจรจาต่อรอง หากคู่เจรจาจับได้ว่าใช้เทคนิคนี้เพื่อเอาประโยชน์ อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ เสียความไว้วางใจและไม่อยากร่วมงานด้วยอีกในอนาคต (Wong & Howard, 2018) เทคนิคนี้จึงอาจไม่เหมาะจะใช้กับคนใกล้ชิดที่เราต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ในระยะยาว

 

กว่า 45 ปีหลังจากเทคนิคนี้ได้ถูกนำเสนอ เป็นที่น่ายินดีว่าการวิจัยตั้งต้นของเทคนิคเธอปฏิเสธฉัน ของ Cialdini และคณะ (1975) ได้รับการทดสอบซ้ำ (replication) และพบประสิทธิภาพของเทคนิคนี้ตามที่รายงานไว้ (Genschow et. al., 2021) จึงทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่าเทคนิคนี้มีประสิทธิภาพ และไม่ขึ้นกับบริบททางเวลาหรือกลุ่มคน
อย่าลืมนำไปใช้เพื่อสร้างสิ่งที่ดีในสังคมกันนะคะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Cialdini, R. B., Vincent, J. E., Lewis, S. K., Catalan, J., Wheeler, D., & Darby, B. L. (1975). Reciprocal concessions procedure for inducing compliance: The door-in-the-face technique. Journal of Personality and Social Psychology, 31(2), 206-215.

 

Feeley, T. H., Anker, A. E., & Aloe, A. M. (2012). The door-in-the-face persuasive message strategy: A meta-analysis of the first 35 years. Communication Monographs, 79(3), 316-343. https://doi.org/10.1080/03637751.2012.697631

 

Genschow, O., Westfal, M., Crusius, J., Bartosch, L., Feikes, K. I., Pallasch, N., & Wozniak, M. (2021). Does social psychology persist over half a century? A direct replication of Cialdini et al.’s (1975) classic door-in-the-face technique. Journal of Personality and Social Psychology, 120(2), e1–e7. https://doi.org/10.1037/pspa0000261

 

Martinie, M.-A., Bordas, B. & Gil, S. (2024). Negative affect related to door-in-the-face strategy. Scandinavian Journal of Psychology, 65, 490–500.

 

Wong, R. S., & Howard, S. (2018). Think twice before using door-in-the-face tactics in repeated negotiation. International Journal of Conflict Management, 29(2), 167–188. https://doi.org/10.1108/ijcma-05-2017-0043

 

 


 

 

บทความโดย
ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

เปิดรับสมัคร 50 องค์กร เพื่อเฟ้นหา 5 “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024

 

เปิดรับสมัคร 50 องค์กร เพื่อเฟ้นหา 5 “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024

เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่องค์กรอื่นๆ ในด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน

 

 

 

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญชวนองค์กรในประเทศไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็น “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024 ชิงถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตรในมิติที่โดดเด่น จำนวน 5 รางวัล พร้อมได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ขององค์กร ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานต่อไป

 

หากองค์กรของคุณ มีโปรแกรมที่ส่งเสริมพนักงานในทุกมิติ หรือมิติใดมิติหนึ่งของ GRACE ได้แก่

 

  • G = Growth & Development – สนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการของพนักงาน
  • R = Recognition – สนับสนุนด้านการแสดงออกและการรับรู้ถึงความสามารถและความสำเร็จของพนักงาน
  • A = All for inclusion – สนับสนุนด้านการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน
  • C = Care for health & safety – สนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน
  • E = work-life Enrichment – สนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

 

 

องค์กรที่สนใจ สามารถสนใจส่งข้อมูลเบื้องต้น มาเข้าร่วมโครงการ (Pre-registration) ได้ที่

https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_4ScwSlhUJ8gXWp8

 

หรือ สมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ที่

https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_eDKHjhhzzZV1I2i

 

ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 กันยายน 2567

 

 

ประกาศผลองค์กรผู้ชนะวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม E-mail : thaimindawards@chula.ac.th

 

 

งานแถลงข่าว การเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อร่วมเข้าคัดเลือก “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards

 

ภาพบรรยากาศงานแถลงข่าว การเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อร่วมเข้าคัดเลือก “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 – 12.00 น. ณ CU Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมเสวนา
  • ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร. นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมก่อตั้ง TIMS : สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต
  • ดร. ตฤณ ทิวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • อาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และผู้ร่วมก่อตั้ง TIMS : สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และผู้รับผิดชอบโครงการ
ดำเนินรายการโดย
  • คุณนรินทร ชฎาภัทรวรโชติ Miss Thailand World 2019 และนักวิชาการด้านสุขภาพจิต TIMS

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม

 

https://www.chula.ac.th/news/175806/

 

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

 

วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยบุคลากรสายปฏิบัติการ เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (28 กรกฎาคม 2567) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น
เริ่มจากพิธีถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ณ บริเวณเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาฯ โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธี ต่อมาเป็นพิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 73 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล ณ บริเวณรอบเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาฯ

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาส ครบรอบ 62 ปี แห่งการสถาปนาบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา และคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ไปร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาส ครบรอบ 62 ปี แห่งการสถาปนาบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) ชั้น 20

 

 

 

 

กิจกรรม CHULA Mind people: ดูแลใจในสวน

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ PMCU จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะที่ดีเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

 

“CHULA Mind people: ดูแลใจในสวน”

วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 12.00-18.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กิจกรรมประกอบด้วย

 

 

 

Album ภาพ

 

การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ – Successful Aging

 

 

 

 

การประเมินการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จมี 2 รูปแบบ ดังนี้

 

  1. การประเมินแบบภววิสัย (Objective successful aging) คือ การใช้เกณฑ์จากทฤษฎีและงานวิจัยมาวิเคราะห์การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งอิงปัจจัยที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ (การคงไว้ซึ่งระบบร่างกายและสมองที่ทำงานได้อย่างปกติและการห่างไกลจากโรค) โดยเปรียบเทียบกันในกลุ่ม
  2.  การประเมินแบบอัตวิสัย (Subjective successful aging) คือ มุมมองจากตนเองว่ามีการรับรู้อย่างไรเกี่ยวกับการสูงวัยของตน มองเป็นการวัดแบบตอบข้อคำถามด้วยตนเอง (self-report)

 

การประเมินทั้งสองแบบมักมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากการมองการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จแบบภววิสัยมักมีองค์ประกอบเรื่องภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคและภาวะทุพพลภาพ ขณะที่การมองการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จแบบอัตวิสัย ปัจจัยทางกายภาพไม่มีอิทธิพลมากนัก ซึ่งเกิดจากกระบวนการปรับตัวของบุคคลต่อสถานการณ์ที่ตนประสบ จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่บุคคลนั้นพึงพอใจ ทำให้มีแนวโน้มการประเมินองค์ประกอบด้านสุขภาพในทางบวกมากกว่า

 

ดังการศึกษาหลายงานที่เปรียบเทียบการประเมินการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จทั้งแบบภววิสัยและแบบอัตวิสัย ผลปรากฏว่า มีผู้สูงวัยจำนวนมากที่ประเมินว่าตนเองสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ แม้ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินแบบภววิสัยหรือเกณฑ์เรื่องการไม่มีโรคและภาวะทุพพลภาพ

ในปี ค.ศ. 2008 Kanning และ Schlicht ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จที่ประกอบด้วยด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยมีความสุขเชิงอัตวิสัย (subjective well-being) เป็นเป้าหมายสำคัญ แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุเป็นหลัก เนื่องจากสามารถช่วยในเรื่องสุขภาพร่างกาย ระบบปัญญารู้คิด และสร้างเสริมความสุขเชิงอัตวิสัยในระหว่างทำกิจกรรมได้ และเชื่อว่าผู้สูงอายุสามารถกำหนดการมีความสุขเชิงอัตวิสัยด้วยตนเองได้ โดยตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับคุณค่าส่วนบุคคลหรือวัฒนธรรมของตนและไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ซึ่งความสัมพันธ์ของการตั้งเป้าหมาย การไล่ตามเป้าหมาย และความสุขเชิงอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลสามารถเติมเต็มความต้องการด้านจิตใจได้มากหรือน้อย ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่ความสุขเชิงอัตวิสัยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกายของผู้สูงอายุเองเท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับการเตรียมการของแต่ละคน และข้อจำกัดของโครงสร้างทางสังคมอีกด้วย

 

การประเมินการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จในประเทศไทย ปี ค.ศ. 2013 สุทธิวรรณและคณะ ได้พัฒนาเครื่องมือวัดการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จโดยเน้นองค์ประกอบทางจิต เรียกว่า Successful Aging Inventory (SAI) โดยสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้สูงอายุชาวไทยที่สูงวัยอย่างประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ถึงองค์ประกอบของการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จและปัจจัยที่ช่วยส่งเสริม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ระบุว่า สติ (mindfulness) ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว และการมีส่วนร่วมในสังคม เป็นปัจจัยสำคัญของการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ

 

มาตรวัด SAI จึงประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านสุขภาพ – การห่างไกลจากโรค สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้
  2. ด้านจิตใจและอารมณ์ – การรู้สึกถึงคุณค่าของตนและรู้สึกมีพลัง มีความพึงพอใจในชีวิต
  3. ด้านมองและปัญญารู้คิด – การมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่และส่งต่อความรู้ไปยังคนรุ่นหลังได้
  4. ด้านสังคม – การตระหนักว่าตนเองมีความสำคัญต่อครอบครัวและเพื่อนฝูง สามารถพูดคุยเรื่องต่าง ๆ และแบ่งปันความรู้สึกได้
  5. ด้านปัญญาในการดำเนินชีวิต – การมีความรู้และยอมรับความจริงว่าไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน (เป็นด้านที่เพิ่มเข้ามาเรื่องจากเป็นลักษณะของผู้สูงอายุชาวไทย)

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

วิทยานิพนธ์เรื่อง

 

“ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จของผู้สูงอายุตอนต้นและผู้สูงอายุตอนกลาง ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร” โดย วิลาวัลย์ วาริชนันท์ (2562) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69654

 

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “รู้จัก…เข้าใจ…แก้ไข Cyberbullying”

 

วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “รู้จัก…เข้าใจ…แก้ไข Cyberbullying”

ณ ห้อง Learning auditorium อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้า Central World

 

ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

 

งานเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในเรื่อง Cyberbullying และข้อคิดเห็นต่าง ๆ ให้บุคคลในสังคมได้เกิดความตระหนักรู้ถึงความร้ายแรงของการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ และแนวทางการลดพฤติกรรม รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลจิตใจหลังจากถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพจิตสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ได้แก่

 

  • คุณณัญช์ภัคร์ พูลสวัสดิ์ (คุณเต้ย) ผู้จัดการแผนก/บรรณาธิการ/โปรดิวเซอร์ รายการครอบครัวบันเทิง – เรื่องเล่าเช้านี้ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3
  • คุณกวิสรา สิงห์ปลอด (คุณมายยู) ศิลปินอิสระ และ Influencer
  • ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าโครงการฯ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และอาจารย์ประจำหลักสูตรจิตวิทยาการปรึกษา
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ รองหัวหน้าโครงการฯ รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม

 

ดำเนินรายการโดย

  • คุณรวีโรจน์ เลิศพิภพเมธา (คุณวี) DJ คลื่น Eazy fm102.5

 

ชมภาพภายในงานเพิ่มเติมได้ที่
https://www.chula.ac.th/news/173163/

และ FB: Psychology CU

 

 


 

สื่อสาระความรู้จากโครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จักเข้าใจ Cyberbullying” Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying”