News & Events
คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับอาจารย์และบุคลากรของคณะที่ได้รับรางวัลในพิธียกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2567
คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับอาจารย์และบุคลากรของคณะที่ได้รับรางวัลในพิธียกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2567 ในวันที่ 3 เมษายน 2567 ณ หอประชุมจุฬาฯ
ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา
-
รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรที่ทำชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยในระดับชาติและนานาชาติ
จากการรับรางวัล “The CEHD Distinguished Alumni Award” โดย College of Education an Human Development, University of Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.วนัสนันท์ กันทะวงศ์ บุคลากรสายปฏิบัติการคณะจิตวิทยา
-
รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาเอก กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช”
จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย (Greenwashing by carbon credit trading in Thailand) ในสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เชิญชวนนิสิตคณะจิตวิทยาเปิดประสบการณ์การเป็นนิสิตแลกเปลี่ยน (exchange student)
ฝ่ายวิรัชกิจ คณะจิตวิทยา เชิญชวนนิสิตคณะจิตวิทยาในทุกหลักสูตร (ตรี-โท-เอก) เปิดประสบการณ์การเป็นนิสิตแลกเปลี่ยน (exchange student) กับมหาวิทยาลัยพันธมิตรชั้นนำของโลกในหลายภูมิภาค ทั้งในญี่ปุ่น (Japan) ฮ่องกง (Hong Kong) อินโดนีเซีย (Indonesia) และสหรัฐอเมริกา (USA) โดยนิสิตสามารถไปแลกเปลี่ยนได้ 1-2 ภาคการศึกษา และสามารถโอนหน่วยกิตกลับมาทางจุฬาฯ ได้
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อฝ่ายวิรัชกิจ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ ramon.p@chula.ac.th
กิจกรรม (สำหรับนิสิตจุฬาฯ) : Plant Myself ดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง
ขอเชิญนิสิตจุฬาฯ ทุกชั้นปี เข้าร่วมกิจกรรม Plant Myself ดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง
ดำเนินกิจกรรมโดย นักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกประสบการณ์ ศูนย์สุขภาวะทางจิต
** นิสิตจุฬาฯ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย **
สัปดาห์ที่ 1: Mindfulness
ในโลกที่วุ่นวาย ชวนทุกคนกลับมาพักกาย พักใจ และมีสติอยู่กับปัจจุบัน ด้วยกิจกรรมจัดสวนจิ๋ว (Terrarium)
จัดโดย: คุณพิริยะ พิริปุญโญ (พี่จุ๊) และทีมพี่ ๆ นักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกประสบการณ์ ศูนย์สุขภาวะทางจิต
วันและเวลา: วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 17.00 – 19.00 น.
สถานที่: ณ ห้อง 301 อาคารจุฬาพัฒน์ 5 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สัปดาห์ที่ 2: Self-Compassion
สัปดาห์ที่ 3: Burnout
เปลี่ยนเถ้าถ่านในใจให้กลายเป็นไฟที่ลุกโชน
จัดโดย: คุณธนพล แสนจักร์ (พี่บอม) และทีมพี่ ๆ นักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกประสบการณ์ ศูนย์สุขภาวะทางจิต
วันและเวลา: วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 17.00 – 19.00 น.
สถานที่: ณ ห้อง 301 อาคารจุฬาพัฒน์ 5 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สัปดาห์ที่ 4: Resilience
If you can’t look for the sunshine, I will sit with you in the dark.
จัดโดย: ณัฐฐา นิตยะประภา (พี่เกรท) และทีมพี่ ๆ นักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกประสบการณ์ ศูนย์สุขภาวะทางจิต
วันและเวลา: วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 17.00 – 19.00 น.
สถานที่: ณ ห้อง 301 อาคารจุฬาพัฒน์ 5 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เบอร์โทรศัพท์ : 061-736-2859
Email: cocu38psywellness@gmail.com
ความฉลาดทางอารมณ์ – Emotional intelligence
ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการตระหนักรู้ และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ทั้งของตนเองและผู้อื่น รวมถึงการจัดการและการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง ส่งผลต่อความสำเร็จในการปรับตัว
Goleman (1995) ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ว่าประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบที่สำคัญคือ
- ขั้นตระหนักรู้จักอารมณ์ของตนเอง – เป็นการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในภาวะอารมณ์และความต้องการของตนในแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ รับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นและสามารถเข้าอารมณ์ได้
- ขั้นบริหารจัดการอารมณ์ – เป็นความสามารถที่จะควบคุมจัดการกับความรู้สึกหรือภาวะอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ทั้งอารมณ์ทางบวกและทางลบให้เป็นไปตามทิศทางที่สังคมยอมรับ
- ขั้นการจูงใจตนเอง – เป็นการกระตุ้นเตือนตนเองให้คิดริเริ่ม อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และผลักดันไปสู่เป้าที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ สามารถอดได้รอได้ ไม่หุนหันใจเร็วด่วนได้
- ขั้นตระหนักรู้อารมณ์ของผู้อื่น – เป็นความสามารถที่จะเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ตลอดจนรับรู้ความต้องการของผู้อื่นได้
- ขั้นความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น – มีความเป็นผู้นำ สามารถมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นอย่างดีจนก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน
นอกจากนี้ Bar-on (2006) ได้เสนอองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน 15 คุณลักษณะ ดังนี้
1. ความสามารถภายในบุคคล (Intrapersonal)
- Self-regard — รับรู้ เข้าใจ ตนเองอย่างถูกต้อง และยอมรับตนเองได้
- Emotional self-awareness — ตระหนักและเข้าใจภาวะอารมณ์ของตนเอง
- Assertiveness — แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์
- Independence — เชื่อในอำนาจและการตัดสินของตน มีอิสระทางอารมณ์จากคนอื่น
- Self-actualization — มีความพากเพียรเพื่อบรรลุเป้าหมาย และไปถึงศักยภาพที่แท้จริงของตน
2. ทักษะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal)
- Empathy — ตระหนักและเข้าใจว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร
- Social responsibility — ระบุกลุ่มทางสังคมของตนได้และให้ความร่วมมือกับผู้อื่น
- Interpersonal relationship — สร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นได้
3. การจัดการความเครียด (Stress management)
- Stress tolerance — จัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์
- Impulse control — ควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์
4. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
- Reality-testing — คิดและรู้สึกอย่างสมเหตุสมผลสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
- Flexibility — ปรับความคิดและความรู้สึกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้
- Problem-solving — แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะแก่ตนและความสัมพันธ์
5. ด้านแรงจูงใจและภาวะอารมณ์ (General mood)
- Optimism — คิดบวก มองเห็นด้านที่ดีของชีวิต
- Happiness — รู้สึกพึงพอใจในตนเอง ผู้อื่น และชีวิตโดยรวม
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์
1. พันธุกรรมหรือพื้นอารมณ์ – แต่ละคนมีบุคลิกและพื้นอารมณ์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแตกต่างกัน จากพันธุกรรมและภาวะความเครียดของแม่ในขณะตั้งครรภ์ หากบุคคลมีพื้นอารมณ์ดี ก็เปรียบได้กับมีพื้นที่แข็งแรงสามารถรองรับแรงกระแทกได้มาก
2. สภาพแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดู – การเป็นแบบอย่างและการสอนถึงทักษะทางอารมณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก ด้วยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกครอบครัวมีความไว้วางใจกัน มีการสื่อสารที่เปิดเผย รับฟัง ไม่ทำร้ายจิดใจกัน ให้การสนับสนุนและกำลังใจ เหล่านี้จะช่วยพัฒนากล่อมเกลาและควบคุมพื้นอารมณ์ด้านลบ และส่งเสริมพื้นอารมณ์ด้านบวกได้
3. การศึกษา – ครูอาจารย์มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียน เป็นประชาธิปไตย มีอิสระ ให้ความเคารพและรับฟัง ฝึกฝนเรื่องการเอื้ออาทรผู้อื่น ระมัดระวังคำพูดและอารมณ์ของตนเอง ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจ บริหารจัดการภาวะอารมณ์ของตนเองได้
4. อายุ – ความฉลาดทางอารมณ์สามารถพัฒนาได้และเปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิต ตามวุฒิภาวะและประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้
5. ความแตกต่างระหว่างเพศ – มีงานวิจัยพบว่า ระดับความฉลาดทางอารมณ์ของเพศชายและหญิงไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างในบางองค์ประกอบ เช่น เพศหญิงมีทักษะระหว่างบุคคลมากกว่า จะตระหนักในอารมณ์ทั้งของตนเองและผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ส่วนเพศชายจะมีความนับถือตนเอง มีความเป็นอิสระ มีความสามารถในการแก้ปัญหา รู้จักยืดหยุ่น รับมือกับความเครียดได้ดี และมองโลกในแง่ดีกว่า
นอกจากนี้ ความฉลาดทางอารมณ์ยังมีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและหน้าที่ของสมองส่วนต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะสมองซีกขวา ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการรับรู้โดยภาพรวมในเชิงมิติสัมพันธ์ การคิดเป็นภาพ คิดคาดคะเนอารมณ์ สีหน้า ความรู้สึก คิดโดยประมวลสิ่งเร้าต่าง ๆ พร้อมกัน ศิลปะ ภาพสัญลักษณ์ ความสุนทรีย์ คิดรับรู้จินตนาการในลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ คิดแบบทันทีทันใด และญาณหยั่งรู้เรื่องของจิตใจ
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งสมองเป็น 3 ขั้นตามลำดับความซับซ้อนในการทำงาน ได้แก่ ชั้นในสุด เรียกว่า Reptilian ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณ, สมองส่วนกลาง ที่มี Amygdala ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรับรู้ ตอบสนองต่ออารมณ์โกรธ กลัว โดยส่งผลต่อการทำงานของสมองชั้นนอกสุด, สมองชั้นนอกสุด เรียกว่า Neocortex ซึ่งทำหน้าที่คิด รับรู้ พูด และวางแผน
พัฒนาการทางอารมณ์และสมองมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากสมองได้รับความเสียหาย กระบวนการคิด การตัดสินใจ การตอบสนองทางอารมณ์ และการแสดงออกต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
ข้อมูลจาก
“ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์กับการปรับตัวในมหาวิทยาลัยของนิสิตชั้นปีที่ 1” โดย ณัฐวุฒิ ศรีวัฒนาวานิช และ มินตรา ศรศิริ (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47863
“การเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดของผู้ป่วยยาเสพติดในสถาบันธัญญารักษ์” โดย วรรณิศา แสงแย้ม (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47575
Bar-On, R. (2006). The Bar-On model of emotional-social intelligence (ESI) 1. Psicothema, Retrieved from http://www.psicothema.com/pdf/3271.pdf
คณะจิตวิทยาร่วมทำบุญตักบาตรและวางพานพุ่มถวายสักการะ เนื่องในโอกาสครบรอบ 107 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื่องในโอกาสครบรอบ 107 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะจิตวิทยา นำโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา คุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และคุณเวณิกา บวรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ร่วมทำบุญตักบาตรและวางพานพุ่มถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า บริเวณหน้าหอประชุมจุฬาฯ เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567
Special Talk: ‘Individualism-Collectivism Reconsidered: Overcoming Commonplace Cultural Stereotypes’
You are invited to attend ‘Individualism-Collectivism Reconsidered: Overcoming Commonplace Cultural Stereotypes,’ a talk by Dr. Plamen Akaliyski.
Dr. Akaliyski, an assistant professor in sociology at Lingnan University, Hong Kong, brings years of extensive research experience to the discussion. His work focuses on comprehending the nature and determinants of cultural differences among modern societies, with publications in journals such as the Journal of Cross-Cultural Psychology and European Societies.
During this presentation, Dr. Akaliyski will discuss a reevaluation of a significant concept in cross-cultural psychology: Hofstede’s scores. He will propose a new individualism-collectivism index for 99 countries/territories, grounded in nationally representative data from the World Values Survey and the European Values Study. Furthermore, the talk will encourage a deeper understanding of East-West differences that go beyond Individualism-Collectivism.
-
Date: March 29th, 2024
-
Time: 1:30 – 2:30 PM (Thailand time)
-
Location: Room 613, 6th floor, Borommaratchachonnanisisattaphat Building, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
We extend our gratitude to Dr. Plamen for his engaging and insightful talk. A special thank you to all attendees participating, sharing questions, and contributing thoughts to the discussion. We anticipate reconnecting with you at our next activity.
อ่อนไหวเกินไป…หรือใครกำลังบีบให้รู้สึกผิด? รู้จักกับ Guilt Trip ทริคทางจิตวิทยาของการควบคุมความสัมพันธ์
หลายต่อหลายครั้งที่คำพูดของบุคคลอื่นทำให้เราต้องรู้สึกเจ็บปวดหรือทุกข์ใจ แต่เช่นกันที่หลายครั้งความเจ็บปวดเหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็น “ความอ่อนไหว” ของเราแต่เพียงฝ่ายเดียว
- “ไม่รักกันแล้วใช่ไหม?”
- “ทำไมไม่เชื่อใจกันบ้าง?”
- “ช่วยเพื่อนแค่นี้ไม่ได้เหรอ?”
- “พูดเล่นแค่นี้ไม่ได้ อ่อนไหวเกินไปหรือเปล่า?”
- “ฉันทำเพื่อเธอมามากแล้วนะ ทำให้กันแค่นี้ไม่ได้เหรอ?”
คำพูดเหล่านี้หลายครั้งเป็นคำพูดที่คุ้นหู แต่กลับทำให้ผู้ฟังรู้สึกผิดได้อย่างง่ายดายทั้งที่ในบางครั้งผู้ฟังไม่ได้ทำความผิดอะไรแม้แต่อย่างเดียว แต่กลับต้องยอมรับและคล้อยตามเพราะความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น ราวกับตนเองทำให้ผู้พูดเป็นฝ่ายเจ็บช้ำใจและตนเองเป็นคนผิดในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น
การตั้งคำถาม หรือการหาเหตุผลสนับสนุนเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตามว่าเป็นฝ่ายผิดในเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Guilt Trip” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการชักจูงทางจิตวิทยาหรือ Emotional Manipulation ที่บุคคลอาจใช้เพื่อครอบงำทางความคิดและพฤติกรรมของบุคคลอื่นเพื่อผลประโยชน์บางประการของตนเอง Guilt Trip นี้เป็นหนึ่งในวิธีการที่เป็นที่นิยมในการใช้ควบคู่กันไปกับ Gaslighting เพื่อทำให้คนคนหนึ่งสงสัยในการกระทำของตนเองและรู้สึกว่าการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด หลายต่อหลายครั้งที่การควบคุมจิตใจเหล่านี้ทำให้บุคคลต้องยอมลดความสำคัญของความรู้สึกของตนเอง เพื่อใส่ใจและทุ่มเทให้กับผู้ที่แสดงตนว่าเจ็บปวดนั้นแทน
Guilt Trip กับ Gaslight ต่างกันอย่างไร?
ในความเป็นจริง ทริคทางจิตวิทยาทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการชักจูงทางจิตใจเช่นเดียวกัน และมักเกิดขึ้นควบคู่กันเพื่อให้ได้ผลการชักจูงตามที่ฝ่ายควบคุมต้องการ โดย Gaslighting เป็นการลดทอนความรู้สึกของบุคคล ทำให้บุคคลมีความคิดว่าความรู้สึกของตนเอง หรือประสบการณ์ของตนเองนั้นเป็นเพียงเรื่องอ่อนไหวของตนเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญมากมายไปกว่าความรู้สึกของผู้ที่ควบคุมความสัมพันธ์นั้นอยู่ ในขณะที่ Guilt Trip เป็นการกดดันทั้งทางอารมณ์ คำพูด หรือการกระทำเพื่อให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด เป็นฝ่ายที่ทำให้ผู้ควบคุมนั้นต้องเสียใจ หรืออาจเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของความสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ ดังนั้น Guilt Trip จึงมักเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด หรือความสัมพันธ์ที่ส่งผลทางอารมณ์ของบุคคลได้ง่าย เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก หรือความสัมพันธ์บางรูปแบบที่ต้องอาศัยความรู้สึกร่วมของบุคคล เช่น ศิลปินและแฟนคลับ
ในเมื่อไม่ได้ผิด แล้วทำไมถึงยอมเป็นฝ่ายขอโทษ?
เพราะความรู้สึกผิด เป็นหนึ่งในความรู้สึกที่มีพลังในการชักจูงพฤติกรรมของบุคคลไม่น้อยไปกว่าความรู้สึกอื่น ๆ ในบางครั้งเมื่อเรารู้สึกว่าเราทำผิด หรือทำให้ผู้อื่นเสียใจโดยเฉพาะคนที่มีความสำคัญกับเรา เราย่อมอยากที่จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ หายโกรธ หรือรู้สึกดีขึ้นจากความเสียใจนั้น หลายครั้งที่ความสนิทสนมทำให้บุคคลรู้สึกว่ายิ่งต้องให้ความสนใจในความรู้สึกของกันและกันมากขึ้น นั่นอาจเป็นโอกาสให้ฝ่ายควบคุมในความสัมพันธ์ใช้ทริคเหล่านี้เพื่อทำให้คนคนหนึ่งยอมทำตามสิ่งที่ตนต้องการได้ โดยการ Guilt Trip นั้น อาจพบเจอได้ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
1. การบังคับ (Manipulating)
คือการใช้ความสัมพันธ์มาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างแรงกดดันทางจิตใจและอารมณ์ เป็นการบีบบังคับอีกฝ่ายทางอ้อมด้วยอำนาจบางอย่างในความสัมพันธ์ และทำให้อีกฝ่ายต้องจำยอมเพราะไม่อยากเสียความสัมพันธ์นั้นไป เช่น การโน้มน้าวให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยการอ้างความเป็นคนรัก การบังคับให้โดดเรียนไปด้วยกันเนื่องจากเป็นเพื่อนกัน เป็นต้น
2. การเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา (Conflict Avoidance)
คือการใช้การหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือกล่าวถึงปัญหาในเรื่องราวที่เกิดขึ้น หลีกเลี่ยงที่จะสำรวจถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจของอีกฝ่ายและปล่อยให้ปัญหานั้นยังคงค้างคาในความรู้สึกของอีกฝ่ายไป จนกระทั่งฝ่ายที่เกิดความเจ็บปวดนั้นรู้สึกว่าความเจ็บปวดของตนไม่ได้มีความสำคัญ เช่น ใช้ความเหน็ดเหนื่อยจากงานมาเป็นข้ออ้างในการเลี่ยงการพูดคุย “แค่นี้ก็เหนื่อยมากลแล้ว อย่าเพิ่งคุยเรื่องนี้ได้ไหม?” หรือ “ทำงานมาเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ยังต้องมาเถียงกันเรื่องนี้อีกเหรอ?” เป็นต้น
3. การสั่งสอนทางศีลธรรม (Moral Education)
คือการพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมหรือแนวคิดของอีกฝ่ายให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ โดยการพยายามทำให้สิ่งที่อีกฝ่ายทำกลายเป็นเรื่องผิด และแสดงออกว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่เป็นเรื่องถูกต้อง เช่น การบอกคนอื่นว่าแม้จะทำงานเสร็จเร็วก็ห้ามกลับก่อน เพราะตนยังรอกลับพร้อมคนอื่นได้ หรือ ในตอนที่ฉันเป็นเด็ก ฉันยังอดทนกับเรื่องเหล่านี้ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยในชีวิตของแต่ละคนและสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่แต่ละคนต้องเผชิญก็มีความแตกต่างกันออกไป
4. การทำให้อีกฝ่ายเห็นใจ (Elicit Sympathy)
คือการพยายามใช้ความรู้สึกสงสาร ความเห็นอกเห็นใจเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดที่ทำให้ตนเองต้องเจ็บปวด ไม่ว่าจะในรูปแบบของการทำร้ายตัวเองเพื่อรั้งให้อีกฝ่ายยังคงรักษาความสัมพันธ์ไว้ หรือการใช้คำพูดเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าหากตนเองจากไป จะทำให้ฝ่ายควบคุมต้องสูญเสียอย่างมาก หรืออยู่ไม่ได้หากไม่มีตน ซึ่งการกระทำเหล่านี้ มักเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) ตามมาได้
แล้วอะไรคือสัญญาณว่าเรากำลังเผชิญกับ Guilt Trip?
เราอาจเจอกับสิ่งเหล่านี้ ที่บุคคลอื่นกำลังพยายามทำให้เรารู้สึกผิดไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เช่น
- การใช้ถ้อยคำประชดประชัน ทำให้เกิดความรู้สึกละอายหรือรู้สึกผิด เช่น “ดีใจนะที่ในที่สุดเธอก็สนใจฉันสักที”
- ย้ำเตือนอยู่บ่อย ๆ ถึงความพยายาม หรือความทุ่มเทของตนเองให้เราฟัง คล้ายกับการทวงบุญคุณทางอ้อม
- นำความผิดพลาดในอดีตของเรากลับมาพูดซ้ำบ่อยครั้ง หรือทำบางสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรา “ไม่ดีพอ”
- พูดหรือย้ำเตือนถึงความเจ็บปวดของตนเอง ประสบการณ์เลวร้ายของตนเองบ่อย ๆ เพื่อทำให้เรารู้สึกว่าความรู้สึกของเขาสำคัญ ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ
รับมือให้เป็น แสดงให้เห็นว่า “ฉันไม่ได้อ่อนไหว คุณต่างหากที่ทำเกินไป”
ประโยคที่ว่า “ฉันไม่ได้อ่อนไหว คุณต่างหากที่ทำเกินไป” เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของจิตแพทย์หญิงชาวเกาหลีใต้ ยูอึนจ็อง ที่จะพาผู้อ่านไปสังเกตพฤติกรรมของคนที่ชอบล้ำเส้นอารมณ์ของผู้อื่น รวมไปถึงวิธีการสร้างความมั่นคงทางจิตใจเพื่อสร้างขอบเขตทางอารมณ์ (Boundary) ที่แข็งแกร่ง ไม่ให้ใครหรือสิ่งใดมาทำร้ายความรู้สึกของเราได้ง่าย ๆ และไม่ปล่อยให้ตัวเองทำร้ายความรู้สึกของใครเช่นเดียวกัน โดยวิธีการรับมือกับ Guilt Trip นั้น อาจจะทำได้ง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของบุคคล แต่ก็มีวิธีการคร่าว ๆ ให้ได้ลองฝึกฝนกันดังนี้
- รู้ตัวอยู่เสมอว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา สังเกตถึงความพยายามที่จะทำให้เรารู้สึกผิดของผู้อื่น และรู้ทันการ Guilt Trip นั้น
- เข้าใจถึงผลของการ Guilt Trip ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เรารู้สึกผิดได้อย่างไร เราทำอะไรเมื่อรู้สึกผิด และสถานการณ์ไหนที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้อีก
- ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้สึกของตนเอง ทบทวนให้มั่นใจว่าความเจ็บปวด ความรู้สึกต่าง ๆ ของเราเป็นเรื่องจริงและไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าใคร ถึงแม้เราไม่ได้โต้ตอบด้วยอารมณ์ไปในทันที แต่เมื่อทบทวนตนเองชัดเจนแล้วก็ควรที่จะสำรวจสาเหตุของความเจ็บปวดเหล่านั้นร่วมกัน
- สร้างขอบเขตทางอารมณ์ให้ชัดเจน ยืนยันในความรู้สึกของตนและยืนยันว่าเราไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เขาต้องเจ็บปวด
- รับฟังและเปิดพื้นที่ให้เขาได้พูดถึงความรู้สึกของตน แลกเปลี่ยนพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟังความรู้สึกซึ่งกันและกัน หากคนนั้นไม่ได้มีความพยายามจะทำให้เรารู้สึกผิดด้วยผลประโยชน์บางอย่าง การเปิดพื้นที่รับฟังนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในกันและกันมากขึ้น
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการไม่ลืมว่าเราทุกคนต่างเป็นตัวของตัวเอง มีความรู้สึกของตัวเอง อย่าปล่อยให้ใครมาลดความสำคัญของความรู้สึกของเรา และอย่าไปก้าวล้ำความรู้สึกของใคร การเคารพในความรู้สึกของกันและกัน เปิดใจพูดคุยและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กัน คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีต่อจิตใจนะคะ
รายการอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2023). ไม่ใช่คนผิด แต่ดันรู้สึกผิด เมื่อ “การชักจูงทางจิตวิทยา” กระทบใจวัยทำงาน. https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1071758
PsychCentral. (2022). Why the ‘Guilt Trip’ Comes Naturally (but Can Be Problematic). https://psychcentral.com/health/guilt-trip
Talk Your Heart Out. (2022). Guilt-tripping: Definition, Signs, Examples, and How to Respond. https://talkyourheartout.com/guilt-tripping/
Urban Creature. (2022). มนุษย์ออฟฟิศอ่าน 5 หนังสือพักจากงานที่เหมาะอ่านในวันหยุด. https://urbancreature.co/books-for-office-worker/
บทความโดย
บุณยาพร อนะมาน
นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)
แสดงความยินดีกับนิสิตนักกีฬา คณะจิตวิทยา ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 “นนทรีเกมส์”
- เหรียญทอง กีฬาครอสเวิร์ด ประเภทคู่ผสม
- เหรียญเงิน กีฬาครอสเวิร์ด ประเภททีมหญิง
- เหรียญทองแดง กีฬาครอสเวิร์ด ประเภทคู่หญิง
- เหรียญเงิน กีฬาหมากกระดาน ประเภทหมากรุกสากล ทีมหญิง
- เหรียญเงิน กีฬาเรือพาย ประเภทกรรเชียงบก 1 คน 500 เมตร มือใหม่ หญิง
ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถ – Imposter phenomenon
งานวิจัยในต่างประเทศบางงานเลือกใช้คำว่า “Imposter Syndrome” ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางจิตวิทยาคลินิก ที่มักใช้ในการศึกษากลุ่มตัวอย่างในเชิงคลินิก
สำหรับในบริบททั่วไป ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถ (Imposter phenomenon) หมายถึง ภาวะที่ทำให้บุคคลคิดว่าตนเองนั้นด้อยประสิทธิภาพหรือด้อยความสามารถ ไม่คู่ควรกับความสำเร็จที่ได้รับมา เนื่องจากคิดว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่ใช่จากความสามารถของตนเอง เช่น โชค หรือความผิดพลาดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงกลัวว่าจะถูกผู้อื่นค้นพบว่าตนเองเป็นคนหลอกลวง ถึงแม้ว่าตนเองจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีประสิทธิภาพหรือมีความสามารถอย่างแท้จริงก็ตาม
นักจิตวิทยาระบุว่า ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารเป็นการรับรู้ทางปัญญาและอารมณ์ว่าตนเองนั้นเป็นคนหลอกลวง ทำให้บุคคลกังวลเรื่องคุณค่าและภาพลักษณ์ทางสังคมของตนเอง และหมายรวมถึงพฤติกรรมทางสังคมที่บุคคลกระทำเพื่อปกปิดจุดด้อยของตนเองเมื่อต้องเข้าสังคมหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถมักถูกเข้าใจผิดกับการอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) ของวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งแท้จริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การอ่อนน้อมถ่อมตนคือการประเมินความสามารถตนเองของบุคคลอย่างตรงไหนตรงมาตามสภาพความเป็นจริง ส่วนความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถคือปรากฏการณ์ด้านกระบวนการรู้คิดที่ทำให้บุคคลประเมินความสามารถตนเองต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง กล่าวได้ว่าบุคคลที่มีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถเป็นบุคคลที่มีความมั่นใจต่ำเกินไป (Under confidence) ได้ เพียงแต่มีความซับซ้อนกว่า
Clance (1985) อธิบายว่าบุคคลที่มีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถจะมีอย่างน้อย 2 คุณลักษณะ จากทั้งหมด 6 คุณลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. การมีวงจรความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถ (Imposter cycle)
คุณลักษณะนี้เป็นคุณลักษณะที่เด่นที่สุด วรจรนี้เริ่มขึ้นเมื่อบุคคลได้รับมอบหมายงานบางอย่าง หลังจากได้รับมอบหมายบุคคลจะเกิดความวิตกกังวลว่าตนเองจะไม่สามารถทำงานดังกล่าวออกมาได้ดีพอ จึงแสดงออกด้วยการทำงานหนักจนเกินไป หรือผัดวันประกันพรุ่งนี้ก่อนจะเริ่มทำงานหนักในช่วงใกล้เส้นตาย ซึ่งไม่ว่าบุคคลจะแสดงออกในรูปแบบใด บุคคลจะสูญเสียสมดุลของลำดับความสำคัญของสิ่งอื่น ๆ ในชีวิต และเมื่อดำเนินงานดังกล่าวเสร็จสิ้น บุคคลจะเกิดความรู้สึกโล่งใจ ทว่าหากได้รับคำชมเชย บุคคลจะลดทอนคุณค่าคำชมเชยนั้น เนื่องจากไม่คิดว่าความสำเร็จเกิดขึ้นจากความสามารถของตนเอง หากแต่เป็นความพยายามอย่างหนักหรือโชคช่วย กระคุ้นให้ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถรุ่นแรงขึ้น และเมื่อได้รับมอบหมายงานถัดไป วงจรนี้ก็จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง แม้บุคคลจะรู้แก่ใจแต่ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรนี้ไปได้
2. การต้องการเป็นคนพิเศษหรือคนที่ดีที่สุด (The need to be special or the best)
บุคคลที่มีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถจะต้องการอยู่ในจุดที่สูงที่สุด หากเขาพบว่าตนเองไม่ได้เป็นคนที่ดีที่สุดหรือเก่งที่สุด และมีบุคคลอื่นที่ดีหรือเก่งกว่าพวกเขา พวกเขาจะคิดว่าตนเองนั้นไร้ความสามารถหรือไร้ประสิทธิภาพ แม้จะมีความสามารถอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ก็ตาม Clance (1985) อธิบายว่าคุณลักษณะนี้จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อบุคคลก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากพวกเขาจะต้องพบเจอคนมากมายกว่าตอนอยู่ในโรงเรียนมัธยม
3. การมีมุมมองแบบยอดมนุษย์ (Superhuman aspects)
คุณลักษณะนี้จะสัมพันธ์กับคุณลักษณะการต้องการเป็นคนพิเศษหรือคนที่ดีที่สุด ผู้ประสบกับภาวะนี้จะมีแนวโน้มเป็นผู้รับความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) พวกเขาต้องการให้ทุกอย่างที่พวกเขาทำออกมาไร้ที่ติและไม่มีข้อบกพร่อง พวกเขาตั้งมาตรฐานไว้สูง และมักผิดหวังจากการไม่สามารถทำตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เป็นผู้รับความสมบูรณ์แบบหรือมีลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบสูง ไม่จำเป็นต้องมีความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถเสมอไป
4. การกลัวความล้มเหลว (Fear of failure)
บุคคลที่ประสบกับภาวะนี้จะรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากหากได้รับมอบหมายให้ทำงานบางอย่าง เนื่องจากพวกเขากลัวความล้มเหลวที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับพวกเขาการทำผิดพลาดและไม่สามารถดำเนินงานได้ตามมาตรฐานสูงสุดที่ตนเองวางไว้จะทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย ดังนั้นบุคคลที่ประสบกับภาวะนี้จึงมักทำงานอย่างหลักเพื่อลดโอกาสเกิดความล้มเหลวให้มากที่สุด
5. การปฏิเสธความสามารถของตนเองและลดทอนคุณค่าคำชมเชย (Denial of competence and discounting praise)
บุคคลมักจะคิดว่าความสำเร็จของพวกเขาเกิดจากปัจจัยภายนอก นอกจากนี้พวกเขายังลดทอนคุณค่าคำชมเชยหรือข้อเสนอแนะทางบวก เนื่องจากพวกเขาคิดว่าตนเองไม่ควรค่าที่จะได้รับคำชมเชยนั้น
6. การรู้สึกผิดต่อความสำเร็จ (Git about success)
การรู้สึกผิดต่อความสำเร็จนี้เกี่ยวข้องกับผลที่ตามมาของความสำเร็จนั้น ๆ เช่น พวกเขามักจะรู้สึกห่างเหินจากเพื่อนหรือครอบครัวของพวกเขาเมื่อได้รับความสำเร็จ พวกเขากลัวที่จะถูกคนรอบข้างปฏิเสธ จึงรู้สึกผิดกับการเป็นคนที่แตกต่าง นอกจากนี้พวกเขายังกลัวว่าความสำเร็จจะทำให้คนรอบข้างคาดหวังพวกเขาในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง
“ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรี” โดย เมธาวี สารกอง (2565) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/82279