News & Events

รักตามวิถี ACT

 

เทศกาลวาเลนไทน์ที่ใกล้จะมาถึง อาจทำให้หลาย ๆ คนที่เห็นคุณค่าให้ความสำคัญกับความรักนึกอยากใช้เทศกาลนี้ในการบอกรักหรือเติมความหวานให้กับรักที่มี คนโสดอาจนึกอยากลองเปิดใจ เปิดรับความรักครั้งใหม่เข้ามา หรือใครที่อยู่ในความสัมพันธ์อยู่แล้ว ก็อาจอยากชวนคู่มาทำอะไรดี ๆ ที่เติมเต็มความสดใสให้ความรัก แค่คิดถึงโอกาสดี ๆ เหล่านี้ก็อาจทำให้หลายคนใจฟู รอวันวาเลนไทน์แทบจะไม่ไหวเลยทีเดียว

 

แม้จะตื่นเต้นกับความรัก แต่ก็อาจจะอีกเสียงหนึ่งในใจของหลายคนที่เข้ามาสกัดไม่ให้ความสดใสเกิดขึ้นได้เต็มที่ หลายคนที่อยากมีรักใหม่ อาจลังเลเพราะเสียงของความไม่มั่นใจว่าตัวเองมีค่าคู่ควรความรักหรือคนที่รักหรือไม่ เสียงเหล่านั้นอาจย้ำเตือนถึงเรื่องราวความล้มเหลวของรักในอดีต หรือคาดเดาถึงปัญหาอุปสรรคที่จะเจอในอนาคต ทำให้หลายคนนึกกลัว จนล้มเลิกความตั้งใจในการบ่มเพาะรักครั้งใหม่ขึ้นมา

 

สำหรับคู่ที่อยู่ในความรักแล้ว เสียงที่บั่นทอนอาจเข้ามาในรูปแบบของความต้องการความสมบูรณ์แบบของทั้งตัวเองหรือคู่รัก บางเสียงอาจดึงเราให้ติดกับของความคาดหวังในความสัมพันธ์ รักของเจ้าชายเจ้าหญิงในเทพนิยายดูง่ายดายเหมือนมีด้ายแดงมาผูกไว้ จนหลายคนรู้สึกว่า ถ้าเราเจอคู่แท้ ความรักจะสะดวกดาย ไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ ก็ได้ จนหลายคู่ลดถอยความพยายามไป สำหรับบางคู่ที่พร้อมจะออกแรง ก็อาจจะถูกรั้งเอาไว้ให้เก้ ๆ กัง ๆ ด้วยเสียงบั่นทอนชวนให้นึกถึงความแตกต่างระหว่างกัน ประเด็นปัญหาที่เคยมี ความทรงจำแย่ ๆ ถึงเรื่องที่คู่หรือตัวเองเคยทำ จนเกิดความลังเลสงสัย ไม่มั่นใจว่าจะทำให้รักดีขึ้นได้หรือไม่ กลายเป็นความกลัว ๆ กล้า ๆ พาให้รักได้ไม่เต็มที่ จนคู่เองก็อาจพลอยเกร็ง ต่างฝ่ายต่างไม่กล้าขับเคลื่อนความรักต่อไปได้อย่างเต็มที่

 

หากรักใหม่ของคุณไม่เริ่ม หรือรักเดิมไม่เดินต่อ การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบยอมรับและพันธสัญญา (Acceptance and Commitment Therapy) อาจช่วยได้นะคะ การปรึกษานี้หรือที่เรียกสั้น ๆ ตามอักษรย่อว่า ACT (ออกเสียงรวบเป็นคำเดียวว่า “แอคท์” ซึ่งสื่อความหมายถึง “การลงมือทำ”) มีเป้าหมายในการช่วยให้เราได้ลงมือใช้ชีวิตไปตามคุณค่า (Value) ที่มี แม้จะมีบางเสียงในใจเข้ามารบกวนหรือดึงรั้งไว้ ในเรื่องของความรักนั้น หากคุณให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ฉันคู่รักแล้ว ACT จะช่วยความเตรียมพร้อมให้คุณลงมือเริ่มหรือพัฒนาความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะยังมีเสียงในใจ ประสบการณ์ ความทรงจำ ความคาดหวัง หรืออารมณ์ความรู้สึกที่บั่นทอนการทำตามคุณค่านี้

 

ACT เป็นคลื่นลูกใหม่ลูกที่สามของแนวคิดการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบปัญญาพฤติกรรมนิยม (Cognitive Behavioral Therapy) ACT นับเป็นแนวคิดใหม่ แต่มีงานวิจัยรองรับถึงประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ACT คล้ายกับ CBT ในแง่ที่ต่างให้ความสำคัญกับความคิดและความเชื่อที่เรามี หากแต่ ACT มีวิธีการจัดการความคิดความเชื่อแตกต่างไป แทนที่จะโต้แย้งหักล้างความคิดบั่นทอนที่เกิดขึ้น ACT มุ่งเน้นช่วยให้เราได้เว้นระยะห่าง สังเกตและตระหนักว่าความคิดที่บั่นทอนเป็นเพียงความคิดที่เลื่อนไหลเข้ามา มีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณค่าที่เรามี ดังนั้น แทนที่จะหลอมรวมตกอยู่ใต้อิทธิพลของความคิด ใช้เวลาโต้เถียงต่อสู้กับกับความคิดที่มี หรือรอจนกว่าความคิดที่บั่นทอนจะหมดไป ACT จะช่วยให้เราได้ฝึกเปิดพื้นที่ให้ความคิด ความทรงจำ ความลังเลสงสัย หรืออารมณ์ความรู้สึกใด ๆ โดยไม่ปฏิเสธ หากแต่ฝึกฝนกลวิธีในการจัดวางให้ประสบการณ์ภายในจิตใจเหล่านี้อยู่ในที่ในทางของตัวเอง ไม่เข้ามารบกวนบั่นทอนการใช้ชีวิตตามคุณค่าที่เรามีได้

 

มีหลักฐานการวิจัยจำนวนมากสนับสนุนประสิทธิผลของ ACT ในการช่วยให้บุคคลใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในมิติต่าง ๆ ของชีวิต โดยรวมถึงความรักด้วยค่ะ หากผู้อ่านสนใจอยากลองใช้ ACT เติมเต็มความหมายในชีวิตรักของคุณ และต้องการการสนับสนุนจากนักจิตวิทยา สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา หมายเลขติดต่อ 02-218-1171 มาลองลงมือรักให้เต็มที่ตามวิถีของ ACT กันนะคะ

 

 

 


 

 

บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ
อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

 

คณะจิตวิทยาต้อนรับ Dr. Lee Dong Hun, Professor จาก SKKU

 

 

คณะจิตวิทยาได้ต้อนรับและหารือความร่วมมือทางวิชาการกับ Dr. Lee Dong Hun, Professor จาก Department of Education, Sungkyunkwan University (SKKU) and Committee Chair of Public Policy and Crisis Support ของ Korean Counseling Psychology Association, ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

 

การเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูน

 

การเหยียดเพศที่เป็นปัญหาที่รู้จักและกล่าวถึงกันโดยทั่วไปมักหมายถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้หญิง ความโกรธและรังเกียจเดียดฉันท์ผู้หญิง (hostile sexism) ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ในเกือบจะทุกยุคและทุกวัฒนธรรมที่ผู้หญิงถูกจำกัดให้มีบทบาททางสังคมที่ด้อยกว่าผู้ชาย หลักฐานที่ปรากฏในโลกปัจจุบันก็มีเป็นต้นว่าผู้หญิงยังคงเผชิญกับอคติในการรับเข้าทำงาน ตลอดจนการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง และยังคงถูกราวีทางเพศในที่ทำงาน รวมทั้งถูกรับรู้ว่าเป็นผู้นำที่ด้อยกว่าผู้นำเพศชายในโลกการเมืองและธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับความก้าวร้าวรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นบ่อยอย่างน่าเป็นห่วง

 

วงการจิตวิทยาเชื่อกันว่าการเหยียดเพศมิได้สะท้อนถึงความเป็นปรปักษ์ต่อผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเหยียดเพศที่สำคัญอีกด้านหนึ่งด้วย ได้แก่ ความรู้สึกทางบวกต่อผู้หญิงที่มักเกิดควบคู่กับความชิงชัง ท่านคงสงสัยว่าความรู้สึกทางบวก ความปรารถนาจะปกป้องและเทิดทูนถือเป็นการเหยียดเพศได้อย่างไร คำอธิบายก็คือเป็นการมองผู้หญิงอย่างเหมารวม เป็นภาพในความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงทั้งปวงว่าสมควรมีบทบาทที่จำกัดเฉพาะในบ้านในครอบครัว เพื่อเป็นคู่รัก เป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นเพศที่น่าเคารพบูชา เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยผู้ชาย

 

การยกผู้หญิงไว้บนหิ้งให้เทิดทูนและปกป้องไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งดี เพราะแม้ว่าจะทำให้ถูกมองด้วยความรู้สึกทางบวก แต่ก็ยังคงเป็นการตอกย้ำให้ผู้หญิงอยู่ในบทบาทที่จำกัดเฉพาะบริบทในครัวเรือน และภายใต้อำนาจเหนือกว่าของความเป็นชาย เช่น ผู้ชายคือผู้ทำมาหาเลี้ยงและผู้หญิงต้องอาศัยผู้ชาย ซึ่งผลที่ติดตามมาคือสถานภาพที่ต่ำต้อยย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย ยิ่งไปกว่านี้ผู้ที่ถูกเหยียดทางเพศมักไม่รับรู้ว่าเป็นการเหยียดเพศด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งอาจกล่าวชมเพื่อนร่วมงานของเขาที่เป็นผู้หญิงว่า “วันนี้คุณดูน่ารักจัง” ซึ่งไม่ว่าจะพูดด้วยเจตนาดีเพียงใดก็ตาม ก็อาจกลายเป็นการกัดกร่อนและทำลายความรู้สึกของเธอในการเป็นที่ยอมรับอย่างจริงจังในเชิงอาชีพได้

 

กลุ่มชนที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันมักมีความเป็นปฏิปักษ์และมีอคติต่อกัน ความจริงข้อนี้เป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่ แต่ความแตกต่างทางชีวภาพของชายหญิงเป็นสถานการณ์ที่พิเศษไม่เหมือนความผิดแผกระหว่างกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากผู้ชายต้องอาศัยผู้หญิงเพื่อมีทายาทสืบทอดเชื้อสาย และเพื่อสนองความต้องการทางเพศ อีกทั้งผู้ชายอาจแสวงหาการเติมเต็มให้กับความต้องการใกล้ชิดทางจิตใจจากผู้หญิงด้วย โดยอาจเป็นเพราะไม่สามารถสนองความต้องการนี้ได้ง่ายนักจากผู้ชายด้วยกันเองผู้ซึ่งมักเป็นคู่แข่งที่คอยแก่งแย่งฐานะและทรัพยากรตลอดเวลา ดังนั้นจึงอาจมองได้ว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายมีอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อำนาจของผู้หญิงในความสัมพันธ์ภายในคู่สะท้อนให้เห็นได้ในอุดมการณ์ของสังคม เป็นต้นว่าเจตคติปกป้องคุ้มครองผู้หญิง การให้เกียรติยกย่องบทบาทความเป็นแม่และภรรยา และการมีภาพของหญิงผู้เป็นคู่รักคู่เสน่หาในอุดมคติ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือนิยามของลักษณะการเหยียดเพศในทางบวกนั่นเอง

 

แม้ว่าการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูน (benevolent sexism) นี้จะให้ความรู้สึกว่าเป็นการมองผู้หญิงในทางบวก แต่ก็เป็นการยึดถือสมมติฐานเดียวกับการเหยียดเพศแบบเป็นปฏิปักษ์ นั่นคือเชื่อว่าผู้หญิงยึดครองบทบาทที่จำกัดในครอบครัว และเป็นเพศที่ “อ่อนแอกว่า” ไร้ความสามารถที่จะใช้อำนาจในสถาบันทางเศรษฐกิจ กฎหมาย และการเมือง ดังนั้นทั้งการเหยียดเพศแบบเป็นปฏิปักษ์และแบบปกป้องเทิดทูนต่างก็ทำหน้าที่อธิบายให้ความชอบธรรมแก่ผู้ชาย ให้ข้ออ้างว่าผู้ชายต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายมีอำนาจควบคุมโครงสร้างทางสังคม

 

นักจิตวิทยาได้สร้างมาตรวัดการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูนขึ้นมาทำนองเดียวกับแบบเป็นปฏิปักษ์ ลองอ่านดูแล้วตอบว่าเห็นด้วยกับประโยคเหล่านี้บ้างไหมนะคะ

  1. เมื่อเกิดภัยพิบัติ ผู้หญิงควรจะได้รับความช่วยเหลือก่อนผู้ชาย
  2. ผู้หญิงจำนวนมากมีคุณสมบัติของความบริสุทธิ์ผุดผ่องที่ผู้ชายน้อยคนมี
  3. ผู้ชายควรเต็มใจเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อดูแลรับผิดชอบทางการเงินให้ผู้หญิงในชีวิตของเขา
  4. ผู้ชายจะไม่สมบูรณ์หากปราศจากผู้หญิง
  5. เมื่อเทียบกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงมักมีสำนึกในวัฒนธรรมที่ละเมียดละไมกว่าและมีรสนิยมดีกว่า

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ ท่านเห็นด้วยกับประโยคเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเห็นด้วยมากก็แปลว่ายิ่งเหยียดเพศสูงค่ะ

 

 

 

นักจิตวิทยาเสนอว่าการเหยียดเพศทั้งด้านลบและด้านบวกมีองค์ประกอบสามองค์ประกอบร่วมกัน

 

องค์ประกอบแรก คือ ลักษณะลัทธิความสัมพันธ์แบบพ่อปกครองลูก เพราะมีทั้งอำนาจเหนือกว่าและความรักความคุ้มครอง บรรดาผู้สนับสนุนการเหยียดเพศอ้างว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงมีความเป็นผู้ใหญ่ไม่เพียงพอ จึงต้องให้ผู้ชายมาควบคุม และผนวกกับการที่ผู้ชายต้องพึ่งพาผู้หญิงให้มามีความสัมพันธ์ในฐานะภรรยา แม่ หรือคู่รัก จึงต้องการทะนุถนอมปกป้องดูแลผู้หญิง

 

องค์ประกอบที่สอง คือ การจำแนกบทบาททางเพศ ซึ่งหมายถึงการมองว่าผู้ชายเท่านั้นที่มีคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการบริหารสถาบันหลัก ๆ ในสังคม และนอกจากนี้ผู้เหยียดเพศก็เชื่อว่าผู้หญิงมีคุณลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนผู้ชายแต่เป็นส่วนประกอบที่เติมเต็มให้ผู้ชายสมบูรณ์พร้อมด้วย

 

องค์ประกอบที่สาม คือ ความลุ่มหลงเสน่หาระหว่างเพศ ซึ่งมีทั้งการที่ผู้ชายปรารถนาจะใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้หญิงอย่างจริงใจ และความก้าวร้าวรุนแรงต่อผู้หญิง โดยการที่ผู้ชายซึ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าต้องขึ้นอยู่กับผู้หญิงเพื่อสนองความต้องการทางเพศอาจเป็นสภาวะที่ทำให้ผู้ชายแค้นใจ ดังนั้นความดึงดูดใจต่อผู้หญิงอาจไม่สามารถแยกออกจากความปรารถนาจะมีอำนาจเหนือผู้หญิงได้

 

 

มีการวิจัยที่ให้ผู้คนจาก 19 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 15,000 คนตอบมาตรวัดการเหยียดเพศทำนองเดียวกับที่ท่านได้ตอบไปก่อนหน้าในสัปดาห์นี้ พบว่าประเทศที่มีการเหยียดเพศแบบเป็นปฏิปักษ์สูงก็จะมีระดับการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูนสูงด้วย และบุคคลที่เหยียดเพศแบบหนึ่งแบบใดสูงก็มีแนวโน้มที่จะเหยียดเพศอีกแบบหนึ่งสูงด้วย

 

การเหยียดเพศทางด้านบวกหรือเรียกว่าแบบปกป้องเทิดทูนผู้หญิงนั้น แม้จะไม่เข้าข่ายเป็นอคติแต่ก็ไม่จัดว่าเป็นเรื่องน่าพึงปรารถนา แม้ว่าจะดูไม่มีพิษภัย ดูเป็นสุภาพบุรุษดี หรือแม้กระทั่งโรแมนติกด้วย แต่ก็อาจส่งผลเสียหายร้ายแรง เพราะเป็นอุดมการณ์ที่สนับสนุนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ และมักแอบแฝงซ่อนเร้น เช่นการอ้างว่า “ผู้หญิงควรละทิ้งอาชีพเพราะมีความเป็นเลิศในการดูแลเด็ก” อาจเป็นที่ยอมรับมากกว่าการกล่าวว่า “ผู้หญิงควรละทิ้งอาชีพเพราะขาดความสามารถ” การวิจัยพบว่าผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการเหยียดเพศแบบเป็นปรปักษ์สูงมักปฏิเสธการเหยียดเพศแบบเป็นปรปักษ์แต่มักเห็นด้วยกับการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูน

 

นอกจากนี้ยังพบว่าการเหยียดเพศแบบเป็นปรปักษ์สัมพันธ์กับการยอมรับความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการข่มขืน เช่นเชื่อว่าผู้หญิงพอใจกับการถูกข่มขืน หรือเชื่อว่าหากผู้หญิงพยายามจริง ๆ แล้วจะสามารถสู้และต่อต้านการข่มขืนได้ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่เชื่อว่าผู้หญิงมีคุณลักษณะที่แตกต่างแต่เติมเต็มให้ผู้ชายก็มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการข่มขืนเช่นกัน

 

การเหยียดเพศเป็นเรื่องที่สมควรได้รับความสนใจอย่างยิ่งเลยนะคะ

 

 


 

 

บทสารคดีทางวิทยุ รายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ”
โดย อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์ (2548)
ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

 

แสดงความยินดี ครบรอบ 107 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

 

คณะจิตวิทยา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี และ คุณเวณิกา บวรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เข้าร่วมพิธีตักบาตร และแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 107 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2567

 

 

 

คณะจิตวิทยาร่วมเป็นเจ้าภาพจัด Side Meeting (PMAC2024) เรื่อง “Promoting Healthy Food and Well-being in an Era of Polycrises”

 

วันที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 9.00 – 12.30 น. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดงานเสวนา (side meeting) ในหัวข้อ “Promoting Healthy Food and Well-being in an Era of Polycrises” งานเสวนาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2567 (Prince Mahidol Award Conference: PMAC 2024) ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 22 – 27 มกราคม 2567 “ภูมิรัฐศาสตร์และความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพในยุคพหุวิกฤต” (Geopolitics and Health Equity in an Era of Polycrises)

 

งานเสวนาหัวข้อ “Promoting Healthy Food and Well-being in an Era of Polycrises” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง

สถาบันการศึกษา

  • คณะจิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

สมาคมวิชาชีพ

  • สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย
  • สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย

หน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานเอกชนจากต่างประเทศ

  • Ajinimoto Group Global
  • International Glutamate Technical Committee (IGTC)
  • Psychology Department, Faculty of Arts and Letters, Tohoku University
  • Institute for SDGs Promotion, Ochanomizu University
  • Umami Information Center (UIC)

 

 

 

งานเสวนาดำเนินการโดย ศาตราจารย์ ดร. Nobuyuki SAKAI จาก Tohoku University และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา เป็นประธานและประธานร่วม เปิดกระบวนการเสวนาโดย ศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล กีรติพิบูล ประธานเครือข่าย Thai Networking of Sensory Science for Better Well-being (SSWB)

 

งานบรรยายในครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทางการศึกษา องค์กรเอกชน อาทิ

  • Dr. Hisayuki Uneyama (Ajinomoto Co.,Inc.)
  • Mr. Yuji Koshugi (MUFJ Bank, Japan)
  • Asst Prof Dr Anadi Nitithamyong (President of FoSTAT, Thailand)
  • Dr. Andrew Costanzo (Deakin University, Australia)
  • Prof. Toshihide Nishimura (Kagawa Nutrition University, NPO Umami Information Center (UIC) Vice President Japan)
  • Assoc Prof Dr Chalat Santivarangkna (Mahidol University)
  • Mr Matt Kovac (Chief Executive Officer, Food Industry Asia (Singapore)
  • Asst. Prof. Chanida Pachotikarn, Ph.D., CDT, RD (President of Thai Dialectic Association)

 

และวิทยากรรับเชิญท่านอื่น ๆ ร่วมอภิปรายในปัญหาวิกฤตโลกร้อนที่ส่งผลต่อการขาดแคลนทรัพยากรอาหาร การขาดแรงงานทางการเกษตรเนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเสริมสร้างสุขภาวะให้เกิดพร้อมกับการเสริมสร้างโภชนาการในกลุ่มต่าง ๆ นับเป็นการอภิปรายที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขบนฐานการวิจัยในยุคพหุวิกฤตได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

 

 

คณะจิตวิทยาเข้าพบท่านอธิการบดี เนื่องในโอกาสสวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2567

 

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เข้าพบท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เพื่อขอพรปีใหม่ เนื่องในโอกาสขึ้นปีพุทธศักราช 2567 โดยท่านอธิการได้ให้คำอวยพรที่เป็นสิริมงคลต่อคณะจิตวิทยา

 

 

 

การรับรู้ความยุติธรรมในองค์การ – Perception of organizational justice

 

 

 

การรับรู้ความยุติธรรมในองค์การ หมายถึง การรับรู้ของพนักงานเกี่ยวกับการปฏิบัติจากองค์การ และการปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชาที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความยุติธรรม เกี่ยวกับกฎและบรรทัดฐานทางสังคมที่ควบคุมการจัดสรรผลตอบแทน (ทั้งรางวัลและการลงโทษ) และกระบวนการที่ใช้ในการตัดสินใจเพื่อจัดสรรผลตอบแทน รวมถึงการตัดสินใจด้านอื่นๆ และด้านการปฏิบัติกันระหว่างบุคคลด้วย

 

 

การรับรู้ความยุติธรรมในองค์การแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

 

 

1. การรับรู้ความยุติธรรมด้านการแบ่งสรรผลประโยชน์ (Distributive justice)

หมายถึง การรับรู้ของพนักงานว่าตนได้รับผลตอบแทนจากการทำงานเหมาะสมกับสิ่งที่ตนได้ทำลงไปหรือไม่ Lambert (2003) เสนอว่า ผลตอบแทนนั้นอาจเป็นได้ทั้ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ อำนาจ สิ่งของ บริการ โอกาส การลงโทษ รางวัล บทบาท กฎระเบียบ ค่าจ้าง การเลื่อนขั้น เป็นต้น

การศึกษาเรื่องการรับรู้ความยุติธรรมจะศึกษาด้านนี้เป็นหลัก

 

งานวิจัยหลายงานมาจากทฤษฎีความเป็นธรรม (Equity theory) ของ Adam (1965) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแลกเปลี่ยนทางสังคม คือเมื่อบุคคลทำบางสิ่งบางอย่างกับผู้อื่นแล้ว เขาควรจะได้รับบางอย่างกลับคืนมาเช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นการวิเคราะห์ปฏิกิริยาของบุคคลแต่ละคนซึ่งมักกระทำตนเป็นผู้สังเกตการเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น กับสิ่งที่ตนลงทุนกับผลลัพธ์ที่ได้ และการที่ผู้อื่นลงทุนกับผลลัพธ์ที่ผู้อื่นได้รับ แล้วนำสัดส่วนมาเปรียบเทียบกัน

ผลที่ลงทุนถือเป็นต้นทุนสำหรับการแลกเปลี่ยนกับองค์การ เช่น การตั้งใจทำงาน การตรงต่อเวลา ส่วนผลลัพธ์นั้นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ เช่น โบนัส การเลื่อนขั้น สำหรับบุคคลที่มาเปรียบเทียบอาจเป็นเพื่อนร่วมงานหรือใครก็ได้ หรือเปรียบเทียบเฉพาะกับตนเอง

2. ความยุติธรรมด้านกระบวนการ (Procedural justice)

หมายถึง การที่พนักงานรับรู้ว่านโยบาย หรือกระบวนการในการกำหนดผลตอบแทนของตนมีความถูกต้องและเหมาะสมมากน้อยมากเพียงใด เช่น กระบวนการตัดสินใจขององค์การ กระบวนการแก้ไขข้อพิพาท เป็นต้น

 

Floger และ Cropanzano (1998) เสนอว่าประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความยุติธรรมด้านนี้คือ การมีสิทธิมีเสียง (voice) กระบวนการตัดสินใจที่ดีจะเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นของตนในด้านต่าง ๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะมองกระบวนการแก้ปัญหาว่ามีความยุติธรรมถ้าเขาได้รับโอกาสเพียงพอในการแสดงเหตุผลของเขา

 

นอกจากนี้ leventhal (1980) เสนอว่าความยุติธรรมด้านกระบวนการควรประกอบด้วย

  • ความคงที่ – กระบวนการใช้ควรมีความคงเส้นคงวา คงที่ในทุกเวลา และทุกคน ไม่มีบุคคลใดได้เปรียบหรือมีโอกาสพิเศษเหนือผู้อื่น
  • ไม่มีอคติ – กระบวนการไม่ได้รับอิทธิพลจากผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคลใดๆ
  • ความถูกต้อง – กระบวนการควรเป็นไปตามข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความผิดพลาดน้อยที่สุด
  • สามารถแก้ไขได้ – มีโอกาสให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ
  • เป็นตัวแทน – กระบวนการต้องแสดงถึงความต้องการพื้นฐาน คุณค่า และความคาดหวังของบุคคลและกลุ่มคนที่ได้รับผลของการกำหนดผลประโยชน์
  • มีจรรยาบรรณ – กระบวนต้องตั้งอยู่บนศีลธรรมพื้นฐาน และจรรยาบรรณของผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น หลีกเลี่ยงการหลอกหลวง ไม่ละเมิดสิทธิหรือความเป็นส่วนตัว ไม่มีการติดสินบน

 

 

3. การรับรู้ความยุติธรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ (Interactional justice)

หมายถึง การที่พนักงานรับรู้ว่าตนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม ความยุติธรรมด้านนี้จะเน้นในความสัมพันธ์ที่มีต่อหัวหน้างานเป็นหลัก Bies และ Moag (1986) เสนอว่าควรประกอบไปด้วย

  • ความน่าเชื่อถือ – ผู้มีอำนาจควรเปิดกว้าง ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ได้อคติในการสื่อสาร เมื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจ และหลีกเลี่ยงการหลวกลวงหรือปิดบัง
  • การให้เหตุผล – ผู้มีอำนาจควรให้การอธิบายที่เพียงพอต่อผลลัพธ์ที่ได้รับจากกระบวนการตัดสินใจ
  • ความเคารพ – ผู้มีอำนาจควรปฏิบัติต่อบุคคลอื่นด้วยความจริงใจ ให้เกียรติ ไม่หยาบคาย หรือทำร้ายผู้อื่น
  • ความเหมาะสม – ผู้มีอำนาจควรละเว้นการพูดอย่างมีอคติ หรือถามคำถามที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่อง เชื้อชาติ เพศ อายุ ศาสนา เป็นต้น

 

ต่อมามีการแบ่งความยุติธรรมด้านปฏิสัมพันธ์ออกเป็น 2 ด้านย่อย ได้แก่

ความยุติธรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal justice)

หมายถึง การที่พนักงานรับรู้ว่าผู้บังคับบัญชาเข้าใจความรู้สึกของพนักงาน มีความห่วงใย สุภาพ ให้เกียรติ และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

ความยุติธรรมด้านข้อมูลข่าวสาร (Informational justice)

หมายถึง การที่พนักงานรับรู้ว่าผู้บังคับบัญชามีความรู้ในกระบวนการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อพนักงาน และสามารถอธิบายให้พนักงานทราบอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้พนักงานเข้าใจ คลายกังวล และยอมรับในการตัดสินใจ รวมไปถึงสาเหตุและผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนั้นๆ ด้วย

 

อิทธิพลของการรับรู้ความยุติธรรมในองค์การ


 

การรับรู้ความยุติธรรมในองค์การมีบทบาทสำคัญต่อเจตคติและพฤติกรรมในการทำงาน Roch แลพ Schanok (2006) เสนอว่า การรับรู้ความยุติธรรมของพนักงานมีผลในบริบทของการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ การพึ่งพาองค์การ การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำและสมาชิก ความพึงพอใจในงาน ผลการปฏิบัติงาน และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกขององค์การ

เช่นเดียวกับ Tekleab, Takeuchi และ Taylor (2005) ที่เสนอว่า ความยุติธรรมมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพขององค์การ เนื่องจากการรับรู้ความยุติธรรมจะนำไปสู่พฤติกรรมทางบวก ส่วนการรับรู้ความไม่ยุติธรรมจะทำให้เกิดพฤติกรรมทางลบ กล่าวคือ บุคคลที่คิดว่าตนเองไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมจะมีแนวโน้มทำพฤติกรรมหรือมีเจตคติที่จะส่งผลเสียต่อที่ทำงาน เช่น ความโกรธ การกระทบกระทั่งกัน การมีอารมณ์ด้านลบ ป่วยง่าย การทำลายสิ่งของในที่ทำงาน เป็นต้น (Greenberg, 1999)

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความยุติธรรมในองค์การกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ และความพึงพอใจในงาน โดยมีการมองโลกในแง่ดีเป็นตัวแปรกำกับ” โดย พัชรพล โปษะกฤษณะ (2548) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47617

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความยุติธรรมในองค์การโดยรวม และความผูกพันที่บุคลากรมีต่อองค์การ หัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน โดยมีวัฒนธรรมปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่เป็นตัวแปรกำกับ” ธัญญา แซ่โค้ว, พรพรรณ เพ็ชรทอง และ อัจฉราวดี อินทนิล (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46898

 

 

 

วุฒิภาวะทางจิตสังคม – Psychosocial maturity

 

 

 

 

วุฒิภาวะทางจิตสังคม (Psychosocial maturity) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิดตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมกับความเป็นผู้ใหญ่

 

วุฒิภาวะทางจิตสังคมเป็นตัวแปรทางจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นถึงการมีบุคลิกภาพและสุขภาวะทางจิตที่ดี และยังเป็นตัวแปรด้านสังคมที่ทำให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ วุฒิภาวะทางจิตสังคมอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีของ Erikson กล่าวคือ ถ้าบุคคลสามารถผ่านช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้ด้วยดีก็จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงวัยถัดไปได้อย่างประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีความสำคัญในการวัดการประสบความสำเร็จในชีวิต

 

 

วุฒิภาวะทางจิตสังคมมี 7 องค์ประกอบ


 

  1. ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Self-reliance) หมายถึง ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ สามารถริเริ่มและเป็นที่พึ่งให้แก่คนรอบข้างได้
  2. การรู้จักตนเอง (Identity) หมายถึง การรู้จักอุปนิสัยของตนเอง อัตลักษณ์ ความสนใจหรือความต้องการของตนเอง และให้คุณค่ากับสิ่งนั้น
  3. ความรับผิดชอบในการทำงาน (Work responsibility) หมายถึง ความสามารถในความมุ่งมั่นต่อการทำงาน รับผิดชอบต่องานที่ตนเองได้รับมอบหมาย และแสดงความคิดเห็นระหว่างการทำงานได้อย่างเหมาะสม
  4. การคำนึงถึงผลกระทบในอนาคต (Consideration of future consequence) หมายถึง ความสามารถในการคาดคะเนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำหรือความคิดของตนเอง เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และวางแผนสู่เป้าหมายของตนเองในอนาคต
  5. การคำนึงถึงผู้อื่น (Consideration of others) หมายถึง ความสามารถในการคิดหรือเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมมองของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ไม่เห็นแก่ตัว และช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
  6. การควบคุมอารมณ์หุนหันพลันแล่น (Impulse control) หมายถึง ความสามารถในควบคุมอารมณ์ภายในของตนเอง ไม่หุนหันทำตามสัญชาตญาณ มีการคิดไตร่ตรองก่อนการกระทำเสมอ
  7. การยับยั้งความก้าวร้าว (Suppression of aggression) หมายถึง ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวของตนเองให้แสดงออกอย่างเหมาะสม ไม่ทำร้ายบุคคลรอบข้างเมื่อโกรธ

 

 

อายุมีความสัมพันธ์กับวุฒิภาวะทางจิตสังคม โดยงานวิจัยพบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่จะมีวุฒิภาวะทางสังคมมากกว่า และตัดสินใจเข้าสังคมมากกว่ากลุ่มวัยรุ่น โดยวุฒิภาวะทางจิตสังคมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้ในช่วงอายุ 16-19 ปี และจากการศึกษาเรื่องความคิดความเข้าใจ (cognition) และวุฒิภาวะทางจิตสังคม ใน 11 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย พบว่า ความคิดเข้าใจเข้าจะเกิดขึ้นราว ๆ อายุ 16 ปี แต่วุฒิภาวะทางจิตสังคมจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 18 ปี

 

ในการศึกษาระยะยาว (longitudinal study) ในวัยรุ่นอันธพาลและติดตามผลไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า วัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะทางจิตสังคมต่ำจะมีปัญหาพฤติกรรมในการแยกตัวจากสังคมสูง (antisocial behavior) และเมื่อติดตามผลไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า บุคคลมีวุฒิภาวะทางจิตสังคมสูงขึ้นจะเริ่มมีการเข้าสังคมมากขึ้น กลับกันผู้ที่ยังคมมีวุฒิภาวะทางจิตสังคมต่ำ จะยิ่งขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ มีความก้าวร้าว มุมมองความคิดไม่กว้างไกล และยังคงมีปัญหาพฤติกรรม

 

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม กล่าวคือ หากลูกรับรู้ถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เหมาะสม ทั้งการได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่และการได้รับอิสระในการคิดหรือทำสิ่งต่าง ๆ จากพ่อแม่ จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีวุฒิภาวะทางจิตสังคม ทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง ๆ ที่เป็นปัญหาได้อีกด้วย

 

 

 

 

ข้อมูลจาก

“ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนบทบาท การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ ต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม ในผู้ใหญ่แรกเริ่ม” โดย ณิชมน กาญจนนิยต (2562) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69650

 

 

 

พิธีตักบาตรของจุฬาฯ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2567

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2567 บุคลากรคณะจิตวิทยา นำโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา เข้าร่วมพิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 60 รูป เนื่องในโอกาสขึ้นพุทธศักราชใหม่ 2567 ณ ลานพระศรีมหาโพธิ์ หน้าอาคารจามจุรี 4

 

ในพิธีการนี้มีกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตัวแทนจากคณะ สถาบัน สำนักงาน ศูนย์ สำนัก และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมกันอย่างอบอุ่น โดย ศ.(กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ได้กล่าวให้โอวาทและอวยพรปีใหม่แก่ประชาคมจุฬาฯ

 

 

สวัสดีปีใหม่ 2567 นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567 คณะจิตวิทยา นำโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา เข้าพบนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.กิตติคุณ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล เพื่อสวัสดีปีใหม่ พุทธศักราข 2567