News & Events

จิตวิทยาไม่ใช่การอ่านใจ

 

ช่วงก่อนหน้านี้ หนังสือบนชั้นในร้านหนังสือจำนวนมากที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวด “จิตวิทยา” มีชื่อเรื่องเกี่ยวกับการอ่านใจ (Mind reading) เพื่อระบุว่าใครเป็นอย่างไร ภายในการมองเพียงปราดเดียว หรือการฟังคำพูดเพียงไม่กี่คำ

 

เมื่อเข้าไปพิจารณาใกล้ ๆ บางเล่มเป็นหนังสือแปลที่ชื่อภาษาอังกฤษเป็นชื่ออื่น แต่เมื่อมาแปลงเป็นชื่อไทย ก็เติมคำว่า “อ่านใจ” “หยั่งรู้ใจคน” เอาไว้ข้างหน้า ประหนึ่งเพื่อใช้เป็นการดึงดูดความสนใจ และสื่อสารอย่างง่ายว่าฉันคือหนังสือจิตวิทยา

 

นั่นอาจสะท้อนมุมมองต่อความเข้าใจของคนในสังคมไทยว่าจิตวิทยาคืออะไร

 

แล้วจริง ๆ นักจิตวิทยาอ่านใจคนได้จริงหรือไม่?

 

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราลองมาดูนิยามของคำว่าจิตวิทยากันก่อนนะคะ

 

จิตวิทยา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ข้อความรู้หรือทฤษฎีต่าง ๆ ทางจิตวิทยาล้วนแล้วแต่ได้มาผ่านการศึกษาวิจัย สำรวจและทดลอง ด้วยวิธีการเดียวกันกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ตั้งแต่การสังเกตปรากฏการณ์ ตั้งสมมติฐาน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ด้วยสถิติ ไปจนถึงการอภิปรายผลโดยไม่มองข้ามความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น และต้องระบุถึงข้อจำกัด ข้อยกเว้น และขอบเขตของการศึกษาว่าครอบคลุมถึงบริบทใด

 

ดังนั้นผู้ที่ศึกษาจิตวิทยาไปเรื่อย ๆ จะถูกฝึกให้มีทฤษฎีตั้งไว้ในใจ แต่ไม่ตัดสินอะไรด้วยข้อมูลผิวเผิน เช่น เอาการกระทำของคนไม่กี่คนเป็นตัวแทนประชากรทั้งหมด หรือใช้ข้อมูลที่ผ่านการตีความด้วยประสบการณ์และเจตคติส่วนตัวของบุคคล อันส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่มี bias หรือความลำเอียง

 

เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ยอมรับได้ นักจิตวิทยาต้องรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดและวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง โดยตระหนักถึงข้อจำกัดที่มีและความเป็นไปได้อื่น ๆ

 

กระบวนการเหล่านี้ย่อมใช้เวลา ดังนั้นหากการอ่านใจหมายถึง การพบเห็นคนแปลกหน้าไม่เกิน 5 นาที แล้วตัดสินจากสีหน้า ท่าทาง บุคลิก คำพูด ในช่วง 5 นาทีนั้น แล้วระบุว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีนิสัยแบบไหน คิดอะไรอยู่ โกหกหรือไม่ การอ่านใจในความหมายนี้ไม่ใช่สิ่งที่นักจิตวิทยาทำได้

 

เช่นนั้นแล้วมีอะไรที่นักจิตวิทยาทำได้บ้าง เรียนตั้งมากจะไม่มีชุดความรู้ใดที่เอามาใช้งานในช่วงเวลาจำกัดได้เลยหรือ

 

มนุษย์เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนสูง แม้แต่ให้เราอธิบายตนเองหลายคนก็ยังใช้เวลานาน เราล้วนมีด้านมุมที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ ช่วงเวลา และบริบทแวดล้อม ฉะนั้นในชั่วเวลาพริบตา การจะระบุว่า “ใครเป็นอย่างไร” นั้นไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำได้ แต่การ “อ่านสถานการณ์” และ “อ่านอารมณ์” เป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ ไม่ใช่แค่นักจิตวิทยาอาชีพ นักจิตวิทยาสมัครเล่นและผู้ที่สนใจก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

มีงานวิจัยทางจิตวิทยาที่เสนอว่า ในเวลาเสี้ยววินาทีเราสามารถระบุอารมณ์ของคนจากการแสดงออกทางสีหน้าได้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไรในอารมณ์พื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ดีใจ ตื่นเต้น กลัว โกรธ รังเกียจ พอใจ ไม่พอใจ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสื่อสารกันของมนุษย์ และนอกจากสีหน้าแล้ว น้ำเสียง ท่าทาง และระยะห่าง ก็เป็นสิ่งที่คนเราสามารถตรวจจับได้เช่นกัน และมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าอวัจนภาษาทั้งหลายเหล่านี้สามารถเชื่อถือได้มากกว่าวัจนภาษา

 

อย่างไรก็ดี มีการศึกษามากมายที่พบว่า การระบุอารมณ์จากสีหน้าของคนไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมีความคลาดเคลื่อนตามความแตกต่างทางภูมิหลังหรือวัฒนธรรมได้ และบ่อยครั้งคนเราก็อ่านอารมณ์ที่ซับซ้อนออกมาได้แตกต่างกัน เช่น ความสำนึกผิด กับ ความกลัวแต่ไม่ได้สำนึกผิด นอกจากนี้ หลายครั้งเราไม่สามารถระบุถึงเจตนาเบื้องหลังของการแสดงออกได้อย่างแม่นยำ เช่น ระดับของการประชดประชัน เสียดสี ล้อเล่น (โดยเฉพาะกับคนต่างวัฒนธรรม) รวมถึงการโกหก

 

ท่ามกลางบทวิเคราะห์และหนังสือจำนวนมากที่พยายามระบุ “วิธีจับโกหก” อย่างง่าย ว่าผู้ที่โกหกจะมีลักษณะอย่างไร เหลือบตามองทางใด ขยับแขนขยับขาอย่างไร พูดช้าหรือเร็ว นิ่งหรือลุกลี้ลุกลน งานวิจัยที่ทำโดยนักจิตวิทยา นักอาชญวิทยา ตลอดจนการถอดประสบการณ์ของนักปฏิบัติอย่าง FBI และ CIA ต่างก็ระบุว่าพฤติกรรมการโกหกมีการแสดงออกที่ซับซ้อนและแตกต่างหลากหลายไปตามเงื่อนไขที่ต่างกัน และไม่สามารถตัดสินได้โดยไม่มีพฤติกรรมปกติมาเปรียบเทียบ นักวิชาการและนักวิชาชีพจึงต้องวิเคราะห์และตัดสินอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

นักจิตวิทยาถูกสอนและถูกฝึกให้สังเกต รับฟังอย่างตั้งใจ ชะลอการตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่พยายามหาทางลัดให้ได้คำตอบที่เร็วที่สุดเพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที เพราะแบบนั้น แม้แต่นักจิตวิทยาเองก็ไม่ได้จะสามารถฝืนธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ได้ตลอดเวลาในการมองสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ นอกจากนี้ ความรู้ใหม่ ๆ จากการศึกษาใหม่ ๆ ก็เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน บ้างก็มาต่อยอด เสริมรายละเอียดที่เรายังไม่รู้ บ้างก็มาล้มทฤษฎีหักล้างข้อค้นพบที่เคยเรียนกันมา สิ่งที่นักจิตวิทยาจำต้องมีจึงเป็นการเท่าทันตัวเองให้เก่ง ๆ ว่ากำลังด่วนตัดสินอะไรด้วยอคติอยู่หรือไม่ และชุดความรู้ที่มี outdate ไปแล้วหรือยัง

 

นักจิตวิทยาอาจจะไม่ได้อ่านใจคนได้ (mind reading) หรือทำนายนิสัยคนได้ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ แบบในหนังในละคร แต่นักจิตวิทยาก็สามารถอธิบายได้ว่าพฤติกรรมนี้ของคนสามารถมาจากสาเหตุใดได้บ้าง บุคลิกภาพใดและพฤติกรรมใดจะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบใด หากต้องการให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้จะต้องไปสร้างหรือไปปรับที่กลไกใด

 

อย่างเช่น

 

  • นักจิตวิทยาการปรึกษา สามารถประเมินจากสีหน้าท่าทางและคำพูดของผู้รับบริการได้ว่าเกิดความวิตกกังวลหรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยในระหว่างการให้คำปรึกษาหรือไม่ และมีวิธีจัดการกับภาวะเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง
  • นักจิตวิทยาพัฒนาการ ตอบได้ว่าเด็กที่มาเข้ารับการประเมิน มีพัฒนาการเป็นไปตามวัยหรือไม่ และหากล่าช้ากว่าวัยควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างไร
  • นักจิตวิทยาสังคม ทราบว่าพฤติกรรมแบบใดบ้างที่สะท้อนถึงการรังเกียจกลุ่ม หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ และจะมีวิธีปรับเจตคติและสร้างระบบหรือกลไกที่ลดการเลือกปฏิบัติได้อย่างไร
  • นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ ทราบว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้พนักงาน burnout หรือมีผลการปฏิบัติงานที่ไม่ดี และจะให้องค์กรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างไรจึงจะได้ผล
  • นักจิตวิทยาปริชาน ค้นคว้ากระบวนการจำและการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ และสามารถสร้างโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพของสมองหรือชะลอการเสื่อมของสมองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้

 

เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างยาวสักนิดเพื่อให้เห็นภาพว่านักจิตวิทยาศึกษาอะไร มีชุดความรู้แบบใด และมีบทบาทอย่างไรในสังคมบ้าง เพราะการอ่านใจ อ่านอารมณ์ หรืออ่านสถานการณ์ เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของการศึกษาวิจัยด้านจิตวิทยาทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะพอทำให้ผู้ที่สนใจเห็นภาพของนักจิตวิทยาได้ตรงกับความเป็นจริง และเห็นความหลากหลายขอบเขตการศึกษาในศาสตร์จิตวิทยามากขึ้น

 

 

สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) และการศึกษาไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่น่ารู้ศาสตร์หนึ่งที่ผู้เขียนรับประกันได้ว่าสามารถนำข้อความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของทุก ๆ คน หากท่านพบเจอแหล่งการศึกษาที่ท่านเชื่อถือได้ มีหัวข้อที่ตรงกับความสนใจของท่าน การพัฒนาตนเองด้วย soft skill ด้วยศาสตร์ทางจิตวิทยาจะคุ้มค่ากับเวลาที่ท่านใช้ไปในการศึกษาอย่างแน่นอน และคนที่ท่านจะสามารถอ่านใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง (มากขึ้น) คนแรกจะเป็นตัวท่านเอง เมื่อท่านเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง ก็จะช่วยให้ท่านเข้าใจผู้อ่านได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นนั่นเอง

 

 


 

อ้างอิง

 

นักจิตวิทยาสามารถอ่านใจคนได้หรือไม่ (Psychologist is a Mind Reader?)
https://www.psychola.net/applied/-psychologist-is-a-mind-reader

 

How We Read Emotions from Faces
https://kids.frontiersin.org/articles/10.3389/frym.2017.00011

 

จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-talk-2022-forensic-psy

 

ก่อนจะตัดสินใครว่านิสัยแย่ (สมองของคนเราชอบหาทางลัด)
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/attribution-error

 

 

ถ้าไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นก็คงไม่มีวันที่จะเข้าใจกันได้ hot-cold empathy gap ช่องว่างระหว่างสภาวะที่เราเป็น

 

หลาย ๆ ครั้งเราคงอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นตัวเราเอง เพื่อนเราหรือคนอื่น ที่มีพฤติกรรมที่เราต้องถามว่า “ทำไปได้อย่างไร” ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งเราสั่งอาหารมาจำนวนมากเวลาที่เราหิวเพราะอยากกินไปหมด พอกินไปได้สักพักเราต้องมานั่งมองว่าจะกินหมดนี่ได้อย่างไร หรือบางครั้งเราก็ซื้อเสื้อผ้ามาทั้ง ๆ ที่ชุดที่มีอยู่ในตู้ยังใส่ไม่หมดด้วยซ้ำ เผลอ ๆ ซื้อมาจะไม่มีที่เก็บซะด้วยสิ และเรื่องเหล่านี้ก็มักจะเกิดซ้ำ ๆ กับเราอยู่ตลอด

 

นั่นเป็นเพราะว่าเราประเมินอิทธิพลของแรงกระตุ้นภายใน (visceral drives) ของเราต่ำเกินไปหรือเราปล่อยให้ตัวเองถูกแรงกระตุ้นนี้เข้าไปอยู่พาเราเข้าไปอยู่ในสภาวะ (state) นั้น โดยที่เมื่อเรารู้สึก “หิว” มากนั่นเองจึงสั่งอาหารมาเกินกว่าปกติหรือกินแบบไม่ยั้งแล้วมารู้สึกผิดทีหลัง หรือกำลังเห็นโฆษณาชุดสวย มีโปรโมชั่นดี ของมีจำกัด และกลัวคนอื่นจะมาแย่งเราซื้อเลยตัดสินใจซื้อมาโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ใส่หรือเปล่า

 

สิ่งเรานี้เกิดขึ้นเพราะว่าช่วงเวลาที่เราตัดสินใจนั้นอยู่ในสภาวะที่มีความอยาก (Hot State) ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อเราหลุดพ้นจากแรงกระตุ้นแล้วกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ (Cold State) เราก็อดหงุดหงิดตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ที่สำคัญคือเมื่อเราอยู่ในช่วง Cold State นั้นเราก็คงไม่สามารถประเมินได้หรอกว่าเวลาที่เราอยู่ในช่วง Hot State เราจะมีพฤติกรรมหรือการตัดสินใจอย่างไร สิ่งนี้คือ hot-cold empathy gap นั่นเอง

 

อธิบาย hot-cold empathy gap ง่าย ๆ ก็คือ มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจินตนาการได้ว่าเมื่อเราอยู่ในอีกสภาวะนึง เราจะตัดสินใจหรือมีพฤติกรรมอย่างไร เพราะการตัดสินใจทำอะไรหรือมีพฤติกรรมอะไรของเรานั้นขึ้นอยู่กับสภาวะที่เราเป็นอยู่นั่นเอง (แต่บางคนอาจเจอสิ่งที่ตัวเองเป็นบ่อยจนเริ่มควบคุมตัวเองไม่ให้ไปอยู่ในสภาวะ Hot State หรือเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็นในสภาวะ Hot State ได้บ้าง)

 

 

George Loewenstein และ Dan Ariely ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ hot-cold empathy gap เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมทางเพศ โดยให้อาสาสมัครชาย 35 คน อายุ 18 – 21 ปี ตอบคำถามเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมทางเพศหลายข้อในช่วงที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ (Cold State) และตอบคำถามเดิมอีกครั้งในช่วงที่มีความตื่นตัวทางเพศมาก (Hot State) นั่นคือช่วงที่กำลังช่วยตัวเองอยู่นั่นเอง โดยตอบผ่านแลปท็อปทั้งสองครั้งโดยให้คะแนนจาก 0 -100 ตัวอย่างของคำถาม (จริงถามหลายข้อแต่ขอยกตัวอย่างมาแค่นี้นะครับ) เช่น

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม

 

ในช่วง Cold State ได้คำตอบว่า

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม “ตอบว่าได้ 7 %”
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม “ตอบว่าได้ 53%”
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม “ตอบว่าได้ 19%”

 

ในช่วง Hot State ได้คำตอบว่า

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม “ตอบว่าได้ 23 %”
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม “ตอบว่าได้ 77%”
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม “ตอบว่าได้ 34%”

 

การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเวลาที่เราอยู่ในภาวะ Hot State นั้น เรามีความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมที่ต่างจากช่วง Cold State ไม่น้อยเลย

 

 

ความเข้าใจเรื่อง hot-cold empathy gap นี้ยังช่วยให้เราเข้าใจคนที่อยู่ในสภาวะที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติทั่วไปเช่น หิว เหงา กลัว หรือเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจอีกว่าทำไมหลายครั้งที่เราวางแผนจะทำอะไรไว้เช่นแผนการควบคุมการกินอาหารเพื่อสุขภาพ แผนการนั้นถึงล้มไม่เป็นท่า เพราะเราวางแผนในช่วง Cold State ไม่ได้รู้สึกหิวอะไรหรือนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอยากกินอะไร แต่เมื่อเราเองไปอยู่ในช่วง Hot State การตัดสินใจเลือกกินอาหารถึงไปคนละทางกับที่วางแผนไว้

 

ความเข้าใจในเรื่องนี้ยังนำไปสู่การปรับปรุงหรือพัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพต่างที่ช่วยในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น หรือตัวโปรแกรมเองก็จะออกแบบให้ป้องกันผู้เข้าร่วมไปถึงสภาวะ Hot State เช่น การปรับลดอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงมี Cheat Period บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ไปถึง Hot State แล้วทำให้แผนที่วางไว้พังหมดจนเสียกำลังใจและเลิกล้มไปในที่สุด

 

 

 

อ้างอิง

 

Ariely, D., & Loewenstein, G. (2006). The heat of the moment: The effect of sexual arousal on sexual decision making. Journal of Behavioral Decision Making, 19(2), 87-98.

Loewenstein, G. (2005). Hot-cold empathy gaps and medical decision-making. Health Psychology, 24(Suppl. 4), S49-S56.

 

 


 

 

 

บทความโดย

คุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย

ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

Leader humility – ความถ่อมตนของผู้นำ

 

 

 

ความถ่อมตน (humility) ถูกรวมเป็นหนึ่งในคุณธรรมหลักขององค์การ ซึ่งเป็นรากฐานทางศีลธรรมขององค์การในสภาพแวดล้อมที่มีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น

 

มีนักทฤษฎีที่ให้ความเห็นว่าความถ่อมตนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาพแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้และเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ผู้นำในศตวรรษที่ 21 ต้องมีความถ่อมตนมากขึ้นและลดความโอหังให้น้อยลง

 

 

Owens และคณะ (2012) อธิบายความถ่อมตนของผู้นำว่าเป็นพฤติกรรมที่


 

 

1. ผู้นำยอมรับข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตนเอง

 

การยอมรับข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตนเองแสดงถึงความต้องการของผู้นำที่ต้องการตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างถูกต้อง (accurate self-awareness) ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การตระหนักรู้นี้ทำให้เขารับรู้เกี่ยวกับทรัพยากรภายในตนเองอย่างถูกต้อง เช่น ความสามารถและข้อจำกัดที่แท้จริงของตนเอง

 

การยอมรับข้อผิดพลาดและการมองหาคำติชมอย่างตรงไหนตรงมาและเป็นจริงเกี่ยวกับตนเอง มีแนวโน้มจะช่วยลดการเกิดความเชื่อมั่นในตนเองที่มากเกินไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สร้างภัยอันตรายให้แก่องค์การ โดยเฉพาะเมื่อผู้นำระดับสูงขององค์การมีคุณลักษณะนี้ เพราะความสั่นใจที่มากเกินไปเป็นต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ เช่น การตัดสินใจที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงความประมาทหรือชะล่าใจจากการมีความพึงพอใจในตนอย่างไม่สมเหตุสมผล

 

นอกจากนี้การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตนเองจะยังช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจในทีม

 

 

2. ผู้นำชื่นชมในผลงาน การมีส่วนร่วม และคุณค่าของผู้ตาม

 

การชื่นชมในผลงาน การมีส่วนร่วมและคุณค่าของผู้ตาม เป็นพฤติกรรมที่มาจากความถ่อมตน ที่ช่วยให้บุคคลไม่ตอบสนองเชิงเปรียบเทียบ-แข่งขัน (comparative-competitive response) เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น เมื่อทำงานกับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานที่เก่ง เขาจะไม่รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามโดยความสามารถของผู้อื่น แต่กลับจะชื่นชมจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของผู้อื่นอย่างแท้จริงโดยไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยค่าไปกว่าเขา และก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีความถ่อมตนจะลืมจุดอ่อนและจุดด้อยของผู้อื่น แต่พวกเขาจะสามารถระบุและความสำคัญกับความสามารถและจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้อื่นได้ดีขึ้น คนที่ถ่อมตนมีแนวโน้มทีจะมีมุมมองต่อผู้อื่นผ่านเลนส์หลากหลายมุมแทนการประเมินผู้อื่นด้วยมุมมองที่แคบ เช่น คิดแบบขาว-ดำ ว่าคนนี้มีความสามารถหรือไร้ความสามารถ พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้ผู้นำที่ถ่อมตนและสมาชิกของเขามีทัศนคติที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันจากจุดแข็งของแต่ละคน

 

 

3. ผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการเรียนรู้ การเป็นผู้ถูกสอนได้

 

การเป็นผู้ถูกสอนได้เป็นพฤติกรรมของความถ่อมตนที่เปิดกว้างในการเรียนรู้ข้อเสนอแนะและแนวคิดใหม่ ๆ จากผู้อื่น ความถ่อมตนประกอบไปด้วยการเปิดใจกว้างต่อการติชม ความคิดเห็น และคำแนะนำของผู้อื่น รวมถึงการมีความเต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อแสวงหาความแนะนำ โดยมีความปรารถนาที่จะเรียนรู้

 

การที่สมาชิกในองค์การเปิดรับและพร้อมเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์การในปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางการแข่งขันในเศรษฐกิจแห่งความรู้ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นชี้ให้เห็นว่าองค์การต้องการผู้นำและพนักงานที่เปิดรับ พร้อมเรียนรู้ มีความปรารถนาและความเต็มใจที่จะรับทักษะใหม่ ๆ ดูดซับข้อมูลใหม่ ๆ และเรียนรู้จากผู้อื่น

 

บุคคลที่มีความถ่อมตนโดยการแสดงผ่านความสามารถในการเป็นผู้ถูกสอน เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีโอกาสพูดแสดงความเห็น เป็นการสร้างความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นในทีม รวมถึงการเพิ่มความรู้สึกถึงความยุติธรรมในทีม เมื่อผู้นำสามารถยอมรับอย่างถ่อมตนได้ว่า “ฉันไม่รู้” การยอมรับนั้นบังคับให้ผู้นำลดการเสแสร้ง ลดการแสดงความรอบรู้ ทิ้งอำนาจความเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งผลที่ตามมาคือการรับฟังและเรียนรู้เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่

 

 

ผลของความถ่อมตนของผู้นำ


 

งานวิจัยหลายงานที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการที่ผู้นำมีความถ่อมตน เพราะทำให้เกิดพฤติกรรมแสดงความเห็น
ผู้นำที่ถ่อมตนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการพูดสิ่งที่อยู่ในใจ และการที่ลูกน้องรับรู้ว่าหัวหน้าเปิดรับฟังคำแนะนำของพวกเขา ลูกน้องจะลดความกังวลในการแสดงความคิดเห็น

 

ผู้นำที่ถ่อมตนสามารถมอบอำนาจที่ตนเองมีไปยังผู้อื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบภาวะผู้นำแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) ที่ผู้นำชื่นชมการมีส่วนร่วมของลูกน้อง รวมถึงชื่นชมความรู้ความสามารถของลูกน้อง หัวหน้าจะไม่สนใจเฉพาะตัวเอง แต่จะเปิดรับความคิดเห็นและมุมมองของคนในทีมโดนเน้นจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของผู้อื่น

 

ผู้นำที่ถ่อมตนจึงเสริมสร้างพลังอำนาจของพนักงาน เพราะเขามีแนวโน้มที่จะเห็นคุณค่าของจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของลูกน้อง และหัวหน้าก็เต็มใจที่จะเรียนรู้จากพวกเขา ความถ่อมตนของหัวหน้าจึงสร้างบรรยากาศที่ทีมงานได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง สร้างการเติบโตและการพัฒนาความสามารถแก่ลูกน้อง

 

นอกจากนี้ ผู้นำที่มีความถ่อมตนสามารถส่งเสริมให้เกิดความจงรักภักดีและเพิ่มความมุ่งมั่นของลูกน้อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพิ่มพฤติกรรมเชิงรุกของลูกน้อง เช่น พฤติกรรมการริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง การมุ่งเน้นอนาคตเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสริมสร้างการเรียนรู้ของพนักงาน ความพึงพอใจในงาน การมีส่วนร่วมในงาน และลดอัตราการลาออกของพนักงาน

 

ในด้านผลลัพธ์ของทีม งานวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าผู้นำที่มีความถ่อมตนสามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทีม

 

ด้วยข้อดีที่ได้กล่าวมาข้างต้น หลายองค์การจึงต้องการผู้นำที่มีความถ่อมตนเพื่อเข้ามาบริหารจัดการสภาพการทำงานที่มีความคลุมเครือและฝ่าฟันความสลับซับซ้อนที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความถ่อมตนของผู้นำกับการแสดงความเห็นและความเงียบของพนักงานโดยมีความปลอดภัยทางจิตใจเป็นตัวแปรส่งผ่าน และความกล้าหาญของผู้นำเป็นตัวแปรกำกับ” โดย สริตา วรวิทย์อุดมสุข (2564) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/81073

 

Here to Heal: Mental Health and Wellbeing Support Services

 

From 2020 to 2023, Chulalongkorn University’s Psychology Faculty partnered with the Thai Health Promotion Foundation for a project. Their goal was to create an online system called Mental Health Online Service (MOS) or “Here to Heal” service to improve mental health services in Thailand. MOS offers a range of services, including mental health information, online consultations, and referrals to network providers. This project addresses the growing need for mental health support and aims to bridge the gap in access, particularly for financially disadvantaged individuals in Thailand.

 

The MOS service operates on the website https://heretohealproject.com and offers mental health consultation through Line and website. So far, we’ve helped 3,401 individuals with 4,281 sessions in various formats. Out of these, 691 people were referred to mental health service providers. We found that service recipients were significantly more life-satisfaction after receiving our help (t = 6.65; p > 0.00; df = 40). Also, 61.90% of those referred said they got the right information they needed.

 

 

 

Additionally, we organized workshops to promote mental health and shared knowledge through videos, infographics, and summaries on our website and Facebook. We collaborated with various stakeholders, including the public sector, civil society, academia, and the private sector, to support mental health policies in the country.

 

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

 

In 2022, we focused on destigmatization to reduce barriers that prevent individuals from seeking mental health support. Furthermore, reducing self-stigma or societal stigma also provides an opportunity for individuals to take care of their own and others’ mental health. The project promoted this issue through public seminars and video presentations.

 

 

 

 

 

 

Lastly, the Psychology Faculty and Thai Health Foundation plan to expand this project in the coming year.

 

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม – Emerging adulthood

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม – Emerging adulthood

 

 

 

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม เป็นแนวคิดที่อธิบายถึงพัฒนาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย จนถึงช่วงอายุประมาณ 20 ปีตอนปลาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 18-25 ปี ที่บุคคลมีลักษณะหรือคุณสมบัติเฉพาะอันโดดเด่นและแตกต่างจากช่วงวัยอื่น ๆ (Arnett, 2000)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มมีลักษณะแตกต่างจากวัยรุ่น (13-20 ปี) และผู้ใหญ่ตอนต้น (21-40 ปี) คือเป็นบุคคลที่มีอายุบรรลุนิสิตภาวะและไม่ใช่ผู้เยาว์ตามกฎหมาย มีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่ทำให้มีความสามารถที่มีประสิทธิภาพกว่าช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ทำให้สามารถและมีเวลามากพอที่จะสำรวจและทดลองในเรื่องการศึกษา ความสัมพันธ์ และหน้าที่การงาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถที่จะรับผิดชอบตนเองได้เทียบเท่าผู้ใหญ่ (Arnett et al., 2014)

 

นิยามนี้สอดคล้องกับมุมมองของ Erikson ที่มองว่า การเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดการยืดเวลาของพัฒนาการในช่วงวัยรุ่นออกไป ทำให้บุคคลมีเวลาสำหรับการค้นหาตัวตนของตัวเองมากขึ้น โดยการทดลองสวมบทบาทของตนเองอย่างอิสระจากบรรทัดฐานของสังคมหรือความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งในจุดนี้อาจจะต้องพิจารณาถึงบริบททางวัฒนธรรมร่วมด้วย

 

Masten et al. (2004) และ Werner (2005) มองว่าผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงเวลาที่บุคคลมีจุดเปลี่ยน หรือโอกาสที่สอง สำหรับคนที่มีช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่อยู่ในบริบทที่ไม่เอื้อให้เกิดสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เป็นช่วงวัยที่บุคคลได้มีโอกาสมากขึ้นในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตตนเอง (ทั้งการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์) ไปสู่เส้นทางที่เอื้อให้เกิดสุขภาพกายและใจที่ดีมากขึ้น

 

 

คุณสมบัติ 5 ประการของผู้ใหญ่วัยเริ่ม


 

 

1. การค้นหาอัตลักษณ์ (identity exploration)

 

เปรียบเสมือนการทดลองเพื่อดูความเป็นไปได้ต่าง ๆ เช่น เราสามารถเป็นต้นแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ ความรัก การทำงาน และอุดมการณ์ การสำรวจอัตลักษณ์มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงผู้ใหญ่วัยเริ่มและมีความเข้มข้นมากขึ้น ผู้ใหญ่วัยเริ่มมักมีความคิดจริงจังเกี่ยวกับการลงหลักปักฐานหรือการสร้างข้อผูกมัดต่าง ๆ ที่จะช่วยกำหนดโครงสร้างของความสัมพันธ์และหน้าที่การทำงานในช่วงวัยผู้ใหญ่ของตน และจะค่อย ๆ เริ่มดำเนินการตามแผนการที่วางไว้เมื่ออายุ 30 ปี

 

ทั้งนี้ การสำรวจอัตลักษณ์อาจสร้างความสับสนให้แก่บุคคลในวัยดังกล่าว หากไม่สามารถเลือกเส้นทางในการสำรวจอัตลักษณ์ของตนได้ หรือรู้สึกว่าเส้นทางที่ตนเลือกนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นพัฒนาการปกติของผู้ใหญ่วัยเริ่มและจะสามารถคลี่คลายลงได้เมื่ออายุย่างเข้า 30 ปี ในทางตรงกันข้าม หากผู้ใหญ่วัยเริ่มไม่สามารถปรับตัวได้ กระบวนการดังกล่าวอาจขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่

 

2. ความรู้สึกไม่มั่นคง (instability)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงวัยหนึ่งที่ประสบกับความไม่มั่นคงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน การเรียน และการย้ายที่อยู่อาศัย ความไม่แน่นอนและไม่มั่นคงในชีวิตเหล่านี้ส่วนหนึ่งมากจากกระบวนการสำรวจอัตลักษณ์ อย่างไรก็ตามก็อาจเกิดขึ้นโดยที่บุคคลไม่ได้ตั้งใจ เช่น การถูกบอกเลิกโดยตนรัก หรือถูกเลิกจ้าง การเปลี่ยนแปลงโดยบุคคลไม่ได้สมัครใจนี้อาจส่งผลกระทบทางลบจนนำไปสู่ความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนที่อยู่อาศัยบ่อยครั้งอาจทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่เพียงพอ หลายคนจึงมักพึ่งพาโซเชียลมีเดียเพื่อให้ตนรู้สึกเสมือนได้รับการสนับสนุนทางสังคม

 

3. การให้ความสำคัญกับตนเอง (self-focused)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงวัยที่บุคคลมุ่งให้ความสนใจเฉพาะตนเอง เนื่องจากช่วงเวลานี้บุคคลมีบทบาทและภาระผูกพันทางสังคมน้อยลง กล่าวคือ ในวัยเด็กและวัยรุ่นบุคคลจะตอบสนองต่อคำสั่งหรือข้อเรียกร้องของผู้ปกครอง และบุคลากรในโรงเรียน แต่สำหรับผู้ใหญ่วัยเริ่มภาระส่วนนี้จะลดลง แม้จะมีภาระผูกพันกับผู้ปกครองอยู่บ้าง เช่น ยังพึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อแม่ แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองเหมือนอย่างเช่นวัยเด็ก

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มสามารถทดลองมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์แบบคู่รัก ซึ่งอาจยังไม่ได้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว อีกทั้งมีการเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดความผูกพันกับนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือผูกพันกับงาน และจะใช้เวลาไปกับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ สำรวจทักษะต่าง ๆ และพัฒนาความเข้าใจในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ ประกอบกับกฎหมายเอื้อให้ช่วงวัยนี้สามารถตัดสินใจและรับผิดชอบตนเองได้ บุคคลจึงมีอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกของตน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใหญ่

 

4. ความรู้สึกก้ำกึ่ง (feeling in-between)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มมักมองว่าตนเองไม่ใช่ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ แต่อยู่บริเวณระหว่างทาง เมื่อให้ตอบคำถามว่ารู้สึกว่าตนเองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่มักตอบว่า “ใช่ในบางแง่มุมและไม่ใช่ในบางแง่มุม” โดยเกณฑ์ที่บุคคลใช้ประเมินตนเองว่าเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เช่น การยอมรับในความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่บุคคลควรมีต่อตนเอง และการตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นความรู้สึกของการเป็นผู้ใหญ่จึงค่อยเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น พบว่า จนกว่าบุคคลเข้าสู่ช่วงวัยยี่สิบตอนปลายหรือสามสิบปีตอนต้น บุคคลจึงจะพิจารณาว่าตนเองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

 

ความรู้สึกคาบเกี่ยวนี้อาจกระตุ้นให้เกิดความหดหู่และความวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เชื่อว่าตนเองควรเป็นผู้ใหญ่ตามเกณฑ์ที่เคยถูกกำหนดไว้ มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นตามข้อเท็จจริง

 

5. การมีความคิดว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นไปได้ (possibilities/optimism)

 

แม้ว่าผู้ใหญ่วัยเริ่มจะเจอกับการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่และเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบทั้งในทางดีและไม่ดีผสมกันไป การศึกษาพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่วัยเริ่มมีความเชื่อว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นไปด้วยดีและสดใส แม้การศึกษาดังกล่าวจะทำขึ้นในช่วงหลังการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หลายประเทศประสบปัญหาการจ้างงานและค่าแรงที่ลดลง แต่ผู้ใหญ่วัยเริ่มในประเทศสหรัฐอเมริกายังสามารถมองโลกในแง่ดี และมีความสามารถในการฟื้นพลังที่ดีระหว่างเผชิญความยากลำบากได้

 

ในการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ใหญ่วัยเริ่มมองว่าประสบการณ์ในช่วงวัยนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาดูแลตนเอง สิทธิเสรีภาพ และสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง มีความใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานที่ตนเองต้องการ และชอบที่จะหางานเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสามารถในการฟื้นพลังของผู้ใหญ่วัยเริ่ม: การวิเคราะห์จัดกลุ่มความเมตตากรุณาต่อตนเอง ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การให้การสนับสนุนทางสังคม และการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม” โดย ดลนภัส ชลวาสิน (2565) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/82275

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางการเงินและเป้าหมายการออมในผู้ใหญ่วัยเริ่ม” โดย กอข้าว เพิ่มตระกูล (2562) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69648

 

 

 

Social So Chill – Monthly Live Talk 2023

 

Social So Chill – Monthly Live Talk

 

 

2566


 

 

Ep.01 – รัก..ออกแบบได้

วิทยากร: ผศ.ดร. หยกฟ้า อิศรานนท์ และคุณวันทิพย์ ชวลีมาภรณ์ นิสิตปริญญาเอก

 

Ep.02 – ปรับงานอย่างไร… ให้ชีวิตสมดุล

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล และคุณปณต ศรีสินทรัพย์ นิสิตปริญญาเอก

 

Ep.03 – จิตวิทยาสังคมกับการเลือกตั้ง

วิทยากร: อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม และคุณเมธพนธ์ เตชะบุญเกียรติ นิสิตปริญญาตรี

 

Ep.04 – Locus of control อำนาจควบคุมตนสำคัญอย่างไร

วิทยากร: ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช และคุณภรัณยู โรจนสโรช นิสิตปริญญาโท

 

Ep.05 – จูงใจคนให้ทำเพื่อสิงแวดล้อมยังไงดี

วิทยากร: ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ และคุณพีรยา พูลหิรัญ นิสิตปริญญาโท

 

Ep.06 – Growth mindset ในการเรียนและการทำงาน

วิทยากร: ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา และ อ. ดร.ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข

 

Ep.07 – Cognitive bias อคติทางความคิดในการมองโลก…ของเราทุกคน

วิทยากร: อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

EP.08 – ใช้ social media อย่างไรให้รู้ทัน

วิทยากร: ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

EP.09 – Burnout contagion ภาวะหมดไฟแพร่ระบาดได้หรือไม่?

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

EP.10 – การทำความผิดในมุมจิตวิทยาสังคม

วิทยากร – อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม และ คุณภัทรพงศ์ สุทธิรัตน์

 

 

 

Social So Chill – Monthly Live Talk 2022

 

Social So Chill – Monthly Live Talk

 

 

2565


 

 

Ep.01 – ผู้นำแบบไหน คนไทยชอบ

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

Ep.02 – ความสัมพันธ์กึ่งเสมือน (Parasocial Relationship)

วิทยากร: ม่อน นิสิตป.โทจิตวิทยาสังคม, เบอร์ลิน โมน่า แพท ริว ริน นิสิตป.ตรีหลักสูตรนานาชาติ และ อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

 

Ep.03 – ความก้าวร้าวในสังคมไทย: บุคลิกภาพด้านมืด

วิทยากร: ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช และ ดร.นฤมล อินทหมื่น บัณฑิตปริญญาเอก

 

Ep.04 – การโน้มน้าวใจโดยใช้ความกลัว

วิทยากร: ผศ.ดร. วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ และคุณสุประภา สง่าศรี นิสิตปริญญาโท

 

Ep.05 – ความปลอดภัยทางจิตวิทยาในองค์กรสำคัญอย่างไร

วิทยากร: ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา และคุณณภัทร์ ชุติวงศ์ บัณฑิตปริญญาตรี

 

Ep.06 – ยิ่งใกล้เหมือนยิ่งไกล แรงจูงใจเมื่อยิ่งใกล้เป้าหมาย

วิทยากร: อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

 

 

 

ดีที่สุด vs สมบูรณ์แบบ

 

เราทุกคนต่างต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองและครอบครัว การดำเนินชีวิตของเราจึงเป็นไปในทิศทางเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยการดำเนินชีวิตแบบนั้น หลายครั้งเราเองก็รู้สึกว่าการใช้ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เกิดคำถามว่าอะไรคือความสมบูรณ์แบบในชีวิตของเรา อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่แท้จริงสำหรับเรา ดังนั้น การทำความเข้าใจคำว่า “ดีที่สุด” จึงเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น

 

ก่อนอื่นเรามีคำอยู่ 2 คำที่มีความหมายที่ใกล้เคียงกันค่อนข้างมากก็คือ คำว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” และ “สิ่งที่สมบูรณ์แบบ” (Perfection) ถึงแม้ว่าสองคำนี้จะมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างในการรับรู้อยู่เช่นกัน หากเราพูดว่า “สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับฉัน” กับ “สิ่งที่สมบูรณ์แบบสำหรับฉัน” ตามการรับรู้ของคนทั่วไป เราค่อนข้างจะรับรู้ความหมายในเชิงบวกกับประโยคแรกมากกว่าประโยคที่สอง

 

เพราะอะไรเราถึงรับรู้ “สิ่งที่ดีที่สุด” ดีกว่า “สมบูรณ์แบบ”

 

หนึ่งในเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ก็คือ คนเรารับรู้ความสมบูรณ์แบบตามการศึกษาทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า ความสมบูรณ์แบบเป็นลักษณะที่บุคคลตั้งมาตรฐานของตนเองไว้สูงเกินไปและวิพากษ์วิจารณ์ตนเองมากเกินไป ประกอบไปด้วยลักษณะของความพยายามที่จะไปสู่มาตรฐานที่ตั้งไว้ (perfectionistic striving) และลักษณะความกังวลว่าจะไปถึงมาตรฐานได้หรือไม่เมื่อเทียบกับความเป็นจริง (perfectionistic concern) นอกจากนี้ ความสมบูรณ์ยังมีความสัมพันธ์กับปัญหาทางสุขภาพจิตหลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ หมดไฟในการทำงาน การติดงาน (workaholism)

 

เราจะเห็นได้ว่าความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำว่าความสมบูรณ์แบบ ก็คือ การมีมาตรฐานเป็นตัวชี้วัดว่า ชีวิตนี้ดีแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าเป็นไปตามมาตรฐานปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่เกิด แต่เมื่อไหร่ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานปัญหาย่อมตามมา มาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี”

 

แต่ทว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” มันก็มีมาตรฐานที่สร้างขึ้นมาจากตัวเองไม่ใช่หรือที่บอกว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี คำตอบคือใช่ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้คำว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” มีความหมายใกล้เคียงกับ “สมบูรณ์แบบ” อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดอาจมีอีกความหมายหนึ่งได้เช่นกันก็คือ สิ่งนี้ดีที่สุด(แล้ว)สำหรับฉัน การรับรู้ตรงนี้สะท้อนอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ดีแล้วสำหรับฉัน ฉันพึงพอใจกับสิ่งนี้แล้ว นั่นสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการรับรู้ที่ไม่มีมาตรฐานที่ตัวเองสร้างขึ้นแล้ว และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารับรู้ “สิ่งที่ดีที่สุด” เป็นทางบวกมากกว่า “สมบูรณ์แบบ”

 

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเรารับรู้ไปในทางบวก เราก็ควรดำเนินชีวิตที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เต็มที่โดยที่ไม่มีมาตรฐานอะไรมาเป็นตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานจากคนอื่นหรือจากตนเอง และผลที่ตามมาก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา

 

 

อ้างอิง

 

Frost, R. O., Marten, P., Lahart, C., & Rosenblate, R. (1990). The dimensions of perfectionism. Cognitive Therapy and Research, 14(5), 449–468. https://doi.org/10.1007/BF01172967

 

Stoeber, J., & Otto, K. (2006). Positive conceptions of perfectionism: Approaches, evidence, challenges. Personality and Social Psychology Review, 10(4), 295–319. https://doi.org/10.1207/s15327957pspr1004_2

 

Limburg, K., Watson, H. J., Hagger, M. S., & Egan, S. J. (2017). The relationship between perfectionism and psychopathology: A meta-analysis. Journal of Clinical Psychology, 73(10), 1301-1326. https://doi.org/10.1002/jclp.22435

 

Clark, M. A., Michel, J. S., Zhdanova, L., Pui, S. Y., & Baltes, B. B. (2016). All work and no play? A meta-analytic examination of the correlates and outcomes of workaholism. Journal of Management, 42(7), 1836–1873. https://doi.org/10.1177/0149206314522301

 

Hill, A. P., & Curran, T. (2016). Multidimensional perfectionism and burnout: A meta- analysis. Personality and Social Psychology Review, 20(3), 269–288. https://doi.org/10.1177/1088868315596286

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ

 

ท่านเคยนอนไม่หลับหรือไม่

 

ไม่ต้องถึงขั้นเป็นโรคนอนไม่หลับ เอาแค่นอนไม่หลับสักคืนหรือสองคืน ก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานไปมากแล้ว

 

บางคนนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จนถึงขั้นต้องหันไปพึ่งยา ช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะต้องเผชิญกับผลข้างเคียงต่างๆ ด้วยเช่นกัน

 

ปัญหานี้จิตวิทยาอาจจะช่วยท่านได้

 

การนอนไม่หลับมีสาเหตุและวิธีแก้ไขหลากหลายทีเดียว การเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมในการนอนก็สามารถช่วยให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น หลับนานขึ้น และหลับอย่างมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเราสามารถนำเอาความรู้ทางจิตวิทยามาใช้ในวัตถุประสงค์นี้ได้เช่นกัน

 

บทความนี้ เราจะมาคุยกันเรื่องความคิดและความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับการนอนหลับของเรา ซึ่งเมื่อบุคคลมีความคิดความเชื่อบางอย่าง กลายเป็นว่าทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อบางอย่างนั้นทำให้เรามีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ร่างกายเลยนอนหลับยากขึ้นตามไปด้วย

 

ต้องบอกก่อนว่าความเชื่อเกี่ยวกับการนอนหลับนั้น บางความเชื่อเป็นความเชื่อที่ผิด แต่บางความเชื่อก็อาจมีส่วนที่ถูกต้อง แต่ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิด ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรามองความเชื่อนั้นและตอบสนองต่อมันอย่างไรมากกว่า

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับ “ผลลัพธ์” จากการนอนไม่หลับ หรือมีเวลานอนไม่เพียงพอ

 

 

เกือบทุกคนน่าจะเข้าใจว่า การนอนไม่หลับจะทำให้รู้สึกง่วงนอนมากขึ้นในวันถัดมา นั่นเป็นความเข้าใจที่ถูก

 

บางคนเลือกที่จะยอมรับสิ่งนี้ และพยายามวางแผนจัดกิจกรรมของวันรุ่งขึ้น ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเองมากที่สุด ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะได้ก็ควรทำ

 

แต่บางคน มีอาการ “กระต่ายตื่นตูม” คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ไม่สามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขยายเรื่องราวจนเป็นเรื่องใหญ่พาลให้วิตกกังวลนอนไม่หลับมากขึ้นไปอีก

 

หรือบางคนอาจคิดกังวลไปว่า เมื่อนอนไม่หลับแล้วจะต้องใช้ยานอนหลับ ซึ่งอาจรู้อยู่แก่ใจเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียงจากการใช้ยานั้น ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยเพราะไม่ทราบว่ามีวิธีอีกหลายวิธีนอกเหนือจากการใช้ยาที่สามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

 

ลองนึกถึงสถานการณ์ต่อไปนี้

 

ท่านกำลังนอนอยู่บนเตียง ขณะนี้เลยเวลานอนปกติมาหนึ่งชั่วโมงแล้ว ท่านก็ยังคงตาสว่างอยู่ ในหัวเฝ้าครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ร้ายๆ จากการอดนอน วิตกกังวลไปว่าเราอาจจะไปทำงานสาย ทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุ หรือไม่สามารถจดจ่อใช้ความคิดกับงานตรงหน้าได้อย่างเต็มที่

 

สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อนอนไม่หลับแล้วอาจจะกังวลไปถึงปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ หรือไม่ก็ไม่มีแรงที่จะออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจเป็นความกังวลใจหลักของผู้สูงอายุ

 

ความคิดที่แล่นเข้ามาในหัวอาจจะเป็น “ฉันไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าฉันนอนหลับไม่เพียงพอ” หรือ “ถ้าฉันยังนอนไม่หลับอยู่แบบนี้ พรุ่งนี้ฉันจะต้องไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรแน่ๆ”

 

ข้อความทั้ง 2 ข้อความนี้ถือเป็นความเชื่อที่ผิด ผิดตรงที่ระดับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นสุดโต่งเกินไป

 

ลองพูดกับตัวเองเสียใหม่ “ถ้าฉันนอนหลับไม่เพียงพอ ฉันอาจจะทำงานบางประเภทที่ต้องใช้พลังกาย พลังสมอง และพลังใจมากๆ ไม่ได้ แต่ก็น่าจะมีงานหรือกิจกรรมอีกหลายประเภทที่ฉันน่าจะทำได้ และทำได้ดีด้วย”

 

“หรือถ้าฉันยังนอนไม่หลับอยู่แบบนี้ พรุ่งนี้ฉันอาจจะมีเรี่ยวแรงไม่มากพอที่จะทำทุกอย่าง ตามที่ฉันได้วางแผนไว้ แต่ฉันน่าจะมีแรงที่จะทำบางอย่างได้สำเร็จเช่นกัน”

 

ท่านอาจจะคิดว่า ประโยคทั้งหมดนั้นไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่มันก็แตกต่างกันมากตรงที่ระดับความวิตกกังวล และระดับความวิตกกังวลที่ลดลงนี่เองที่ทำให้เรานอนหลับได้ง่ายมากขึ้น

 

คนที่มีความคิดแรกนั้นบอกตัวเองให้เชื่อว่า ฉันจะต้องนอนหลับอย่างเพียงพอ “เท่านั้น” ถึงจะทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ ได้ ไม่เหลือทางออกให้ตัวเองแบบนี้ รังแต่จะวิตกกังวลนอนไม่หลับมากขึ้น

 

แต่ถ้าเปลี่ยนความคิดสักเล็กน้อยเป็น “ถึงแม้ว่าฉันจะนอนหลับไม่เพียงพอ ฉันก็น่าจะสามารถทำอะไรบางอย่างที่ฉันต้องทำได้”

โจทย์ก็เปลี่ยนไป มี “ทางออก” ขึ้นมาทันที ทางออกที่ว่านี่ คือ เราทำอะไรได้บ้าง และเราไม่ควรจะทำอะไรเมื่อร่างกายของเราไม่พร้อม

 

หรือถ้าเราไม่ได้มีทางเลือกมากนัก อย่างน้อยโจทย์ใหม่นี้ก็น่าจะช่วยให้เราได้วางแผนกิจกรรมต่างๆ ของวันพรุ่งนี้ได้ง่ายขึ้นมาก อาจจะทำงานเดิมแต่ระวังตัวมากขึ้น หรือทำในปริมาณที่น้อยลง

 

การเปลี่ยนความคิดให้มันสุดโต่งน้อยลงนั้นอาจจะได้ผลสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคน ความเชื่อที่ว่า “ฉันไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าฉันนอนหลับไม่เพียงพอ” นั้น ไม่สามารถลบล้างได้ด้วยการคุยกันเฉย ๆ เสียแล้ว

 

ถ้าเช่นนั้นลองเขียนไดอารี่ จดบันทึกสักสองสามวันดู

 

ท่านปล่อยให้ตนเองเชื่อเช่นนั้นไปก่อนก็ได้ แต่ขอให้ท่านที่มีปัญหานอนไม่หลับ ลองจดบันทึกประจำวันดูเสียหน่อยว่า วันถัดมาหลังจากที่ท่านนอนหลับไม่พอนั้น ท่านได้ทำอะไรไปบ้าง

 

ท่านจะบันทึกทุกกิจกรรม หรือบันทึกเฉพาะกิจกรรมที่ท่านคิดว่าสำคัญสำหรับท่านเท่านั้นก็ได้ แต่จดอย่างเดียวไม่พอ ท่านจะต้องให้คะแนนด้วยว่า แต่ละกิจกรรมที่ได้ทำลงไปนั้น ท่านคิดว่า “ฉันทำได้ดีมากน้อยเพียงใด” และ “ฉันพึงพอใจกับผลลัพธ์ของแต่ละกิจกรรมมากน้อยเพียงใด”
ให้คะแนนตั้งแต่ 0 – 10

 

มีกิจกรรมใดบ้างไหมที่ “ผ่าน” หรือได้ 5 คะแนนขึ้นไป ถ้ามีก็แสดงว่าความเชื่อที่ว่า “ฉันไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าฉันนอนหลับไม่เพียงพอ” นั่น ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว อาจจะมีบางกิจกรรมที่ “ตก” แต่ก็มีบางกิจกรรมที่ “ผ่าน” เช่นกัน

 

แต่ถ้าท่านคิดว่า ท่านจะต้องได้คะแนนเต็มในทุกกิจกรรมถึงจะเรียกได้ว่า “ทำได้ดี” แล้ว แสดงว่าท่านมีปัญหาสำคัญนอกเหนือไปจากการนอนแล้ว ต้องรีบปรึกษานักจิตวิทยาโดยด่วน

 

เมื่อจดบันทึกกิจกรรมที่ทำควบคู่ไปกับปัญหาการนอนไม่เพียงพอแล้ว สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนความคิดความเชื่อได้ดีทีเดียว

 

หลักการคือพยายามให้ความคิดของตัวเองตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เราไม่ได้หลอกตัวเองว่า เราทำ “ทุกอย่าง” ได้ดี ถึงแม้ว่าเรามีเวลานอนหลับไม่เพียงพอ และเราก็ไม่ได้หลอกตัวเองด้วยว่า “เราจะทำอะไรไม่ได้เลย” ไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง

 

การจดบันทึกข้างต้นยังช่วยให้เราวางแผนได้ดีขึ้นด้วย

 

สมมติว่าท่านพบว่าท่านทำงานบางอย่างได้ไม่ดีเอาเสียเลย อาจเป็นเพราะว่าคุณรู้สึกง่วงจนไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับงานนั้นได้ หรือท่านเกือบจะประสบอุบัติเหตุก็ตาม

 

ข้อมูลนี้จะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงกิจกรรมนั้นในครั้งต่อไป เมื่อท่านรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการนอน อย่างน้อยก็ในระยะแรกที่ท่านกำลังปรับพฤติกรรมการนอนของตัวเอง

 

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุม “ปริมาณ” และ “คุณภาพ” การนอนหลับ

 

 

คนที่นอนไม่หลับ เมื่อมีอาการนี้ไปนานวันเข้า ก็จะมีความเชื่อบางอย่างเกิดขึ้น เป็นความเชื่อที่ว่าเราจะไม่สามารถ “ควบคุม” ปริมาณและคุณภาพการนอนหลับของตัวเองได้อีกต่อไป

 

นี่เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนของตัวเอง

 

สมมติว่าเรามีความเชื่อนี้ “ฉันไม่สามารถควบคุมการนอนหลับของตัวเองได้” นั่นอาจเป็นเพราะว่าคุณไม่สามารถนอนหลับเมื่อถึงเวลาที่ต้องการได้ ซึ่งถ้าเรามองเพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องทีเดียว

 

แต่เราลืมมองไปว่า เราสามารถควบคุมพฤติกรรมการ “ตื่นนอน” ของตัวเองได้

 

ไม่ปฏิเสธว่า การบังคับให้ตัวเองตื่นนอนมาทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่ยังง่วงและรู้สึกว่าตัวเองนอนไม่พอ เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่สิ่งนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในการควบคุมของตัวเองได้ ซึ่งต่างจากการบังคับให้ตัวเองหลับ

 

การรู้ว่าเราสามารถควบคุมการตื่นนอนของตัวเองได้นั้นสำคัญอย่างยิ่ง

 

ประการแรกเป็นการทำให้ความเชื่อที่ว่า “ฉันไม่สามารถควบคุมการนอนหลับของตัวเองได้” ดูจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด น่าจะลดความกลัวและความวิตกกังวลลงไปได้มากโข

 

อีกประการนั้นเป็นการบอกกับตัวเองทางอ้อมว่า ถ้าเราควบคุมเวลาตื่นของตัวเองได้ การควบคุมการนอนหลับของตัวเองก็เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นกัน

โชคดีที่คนเราอย่างไรเสียก็ต้องการการนอนหลับพักผ่อน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองเล็กน้อย ก็สามารถทำให้เราควบคุมการนอนหลับของตัวเองได้บ้าง

 

คิดง่าย ๆ เมื่อเราอดนอนมาก ๆ เข้า ร่างกายก็จะบอกเองว่า ต้องการการนอนหลับแล้ว ซึ่งคนที่นอนไม่หลับตอนกลางคืน ก็อาจจะใช้เวลากลางวันนอนชดเชย ซึ่งบางคนอาจจะใช้เวลาส่วนนี้มากเกินไปสักหน่อย เป็นผลให้นอนหลับตอนกลางคืนได้ยากขึ้น หรือตื่นสายขึ้นในอีกวัน ด้วยความคิดที่ว่าจะต้องชดเชยเพื่อที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

และยังเป็นการย้ำความคิดว่า “ฉันไม่สามารถควบคุมการนอนหลับของตัวเองได้” ไปเสียอีก

 

ขอให้ท่านลองตื่นให้เป็นเวลา ถึงแม้จะรู้สึกว่าตัวเองนอนไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงงีบหลับตอนกลางวันหรือช่วงกลางคืนก็ตาม มันอาจจะทรมานในระยะแรก แต่นั่นจะทำให้เรา “รู้สึก” ว่าเราสามารถควบคุมการนอนหลับของตัวเองได้บ้าง และยังทำให้ร่างกายของเรานอนหลับได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องการอีกด้วย

 

 

ความเชื่อในเรื่องทั่วไปเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการนอนหลับ

 

 

ความเชื่อที่ผิดความเชื่อแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคาดหวังในการนอน “คนเราจะต้องนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันถึงจะดี” นี่เป็นความเชื่อที่ผิด ถ้าเรามัวแต่ยึดติดกับตัวเลขจำนวน 8 ชั่วโมง

 

ข้อแรกคือ บุคคลมีความแตกต่างกันในความต้องการการนอนหลับ ซึ่งความแตกต่างนี้อาจน้อยกว่าหรือมากกว่า 8 ชั่วโมงก็ได้

 

นอกจากนั้น ความต้องการในการนอนหลับ อาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามกิจกรรมที่บุคคลทำในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นคนเรามีโอกาสที่จะนอนหลับมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละวัน

 

การยึดติดกับการที่จะ “ต้อง” นอนหลับให้ได้เป็นเวลา 8 ชั่วโมงนั้นทำให้เราเกิดความวิตกกังวลโดยใช่เหตุ

 

ลองหาระยะเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง และอย่าไปคิดว่าการนอนหลับน้อยกว่าช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องใหญ่ มันเกิดขึ้นได้ถ้าร่างกายไม่ได้รับภาระหนักในวันนั้น

 

 

อีกความเชื่อหนึ่งที่ยังบอกไม่ได้ว่าถูกหรือผิด แต่ไม่น่าจะมีผลดีต่อสุขภาพสักเท่าไหร่คือ “แอลกอฮอล์ช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น” นั่นอาจจะเป็นความคิดที่ถูกต้องเมื่อมองในมุมของปริมาณการนอนเพียงอย่างเดียว

 

แต่ก็ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก เมื่อคำนึงถึงคุณภาพการนอนและสภาพร่างกายของตัวเองในวันรุ่งขึ้น ความเชื่อนี้ไม่ได้ทำให้นอนไม่หลับ แต่ทำให้มีพฤติกรรม การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับอย่างผิด ๆ เสียมากกว่า

 

แอลกอฮอล์อาจจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นจริง แต่ก็มีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นเช่นกัน และมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวมมากกว่า ซึ่งการออกกำลังกายก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง

 

 

 

ยังมีความคิดความเชื่อที่ผิดอีกมากที่เกี่ยวกับการนอนไม่หลับ แต่ก่อนจะจากกัน ขอย้ำอีกครั้งว่าเนื้อหาบทความนี้นำเสนอแค่ปัจจัยหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัย ที่มีผลต่อสุขภาวะการนอนของเรา แน่นอนว่ามันมีประโยชน์ที่จะลอง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นตัวช่วยที่ดี ถ้าการนอนไม่หลับของเรานั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านความคิดและความเชื่อ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสุขภาพร่างกาย หรือสภาพแวดล้อมในการนอน

 

สำหรับคนที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย แต่ถ้าไม่มีปัญหาสุขภาพกาย ลองปรึกษากับนักจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรมการนอน ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

 

 

 


 

 

จากบทสารคดีวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ FM 101.5 MHz
โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ออกอากาศเมื่อ พฤษภาคม 2556