News & Events

กิจกรรมตักบาตร “บุญสุนทาน ประจำเดือนมีนาคม 2568

 

วันที่ 28 มี.ค. 2568 คณะจิตวิทยา โดยคณบดีและผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการ เป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมตักบาตร “บุญสุนทาน ประจำเดือนมีนาคม 2568” ณ เรือนไทย จุฬาฯ ซึ่งจัดโดยธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ งานนี้มี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธาน และมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารและบุคลากรคณะ สถาบัน หน่วยงาน และนิสิตจุฬาฯ ร่วมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ 9 รูป จากวัดสระเกศ

 

 

 

 

พิธีตักบาตร พิธีถวายชัยมงคลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เนื่องในโอกาส ครบ 9 รอบ (108 ปี) แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันพุธที่ 26 มีนาคม 2568 คณะจิตวิทยาเข้าร่วม พิธีตักบาตร พิธีถวายชัยมงคลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาส ครบ 9 รอบ (108 ปี) แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันที่ 21 มีนาคม 2568 ระหว่างเวลา 08.30 – 09.00 น. ณ ห้องประชุม HB7211 ชั้น 2 อาคาร HB7 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา รองคณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง Faculty of Psychology, Chulalongkorn University และ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากร นิสิตและนักศึกษาทั้งสองสถาบันในด้านการบริหารจัดการด้านการประกันคุณภาพและพัฒนาองค์กรรวมถึงพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การประชุมวิชาการและเผยแพร่ผลงานวิชาการ การจัดอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการ ต่อไป

 

 

 

 

ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก – Intimate partner violence

 

ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก เป็นหนึ่งในประเภทย่อยของความรุนแรงในความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด (domestic abuse/violence) ซึ่งรวมถึงคู่สมรส บุตร ญาติ หรือบุคคลในครัวเรือน

 

ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักหมายความเจาะจงถึงความรุนแรงต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์แบบโรแมนติก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบคู่รักอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ อยู่ร่วมกันหรือไม่อยู่ร่วมกัน สมรสแล้วหรือยังไม่สมรส และเป็นความสัมพันธ์ที่ยุติไปแล้วหรือยังดำเนินอยู่ก็ได้ ซึ่งในความสัมพันธ์นั้น ๆ มีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบทางลบ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือทางเพศ รวมไปถึงพฤติกรรมควบคุมคนรักของตนด้วย

 

  • ความรุนแรงทางร่างกาย (physical abuse/violence) ได้แก่ การตบ ตี เตะ ข่วน ปาของใส่ กัด ผลักเผา ข่มขู่ด้วยอาวุธ
  • ความรุนแรงทางจิตใจ (psychological/emotional abuse/violence) ได้แก่ การทำให้อับอาย กลัวอันตราย คุกคาม โดยการด่า ข่มขู่ ล่อลวง ด้อยค่า เงื้อมือ ถ่มน้ำลาย
  • ความรุนแรงทางเพศ (sexual abuse/violence) ได้แก่ การใช้กำลังบังคับให้อีกฝ่ายมีเพศสัมพันธ์หรือมีกิจกรรมทางเพศด้วยโดยไม่ให้ความยินยอม การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันโดยอีกฝ่ายไม่ให้ความยินยอม การบังคับให้กระทำสิ่งที่เหยื่อรับรู้ว่าเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการสะกดรอย
  • พฤติกรรมควบคุมคู่รักของตน ได้แก่ ความพยายามควบคุมการพบปะผู้คนของอีกฝ่าย ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของอีกฝ่าย การบังคับให้ทำสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม

 

 

 

ความชุกและผลกระทบของการประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก


 

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2021 ที่เก็บข้อมูลจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย พบว่า เพศหญิงร้อยละ 13-61 มีโอกาสประสบความรุนแรงทางร่างกาย และร้อยละ 6-59 มีโอกาสประสบความรุนแรงทางเพศในความสัมพันธ์แบบคู่รัก โดยเหยื่อทั้งสองกลุ่มมีโอกาสมากขึ้นที่จะเสี่ยงต่อพฤติกรรมควบคุมต่าง ๆ โดยคู่รักร่วมด้วย

 

การศึกษาในประเทศไทยในปี 2018 พบสถิติเพศหญิงที่เคยประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักถึงร้อยละ 15.4 แบ่งเป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจร้อยละ 7.5-15.4 ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 2.6-10.6 ความรุนแรงทางเพศร้อยละ 3.3-10.4 และพฤติกรรมควบคุมร้อยละ 4.6-28.5 แตกต่างกันตามลักษณะของพฤติกรรมรุนแรง

นอกจากนี้ยังชี้ว่า 1 ใน 6 ของเพศหญิงที่สมรสแล้วหรืออาศัยร่วมกันกับคนรักเคยประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก โดยพบความรุนแรงทางจิตใจมากที่สุด เช่น ทำให้หวาดกลัว คุกคาม ทำให้อับอาย และการข่มขู่ และพบความรุนแรงทางร่างกายระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น การผลักหรือตบ มากกว่าความรุนแรงระดับสูง เช่น การขู่ด้วยอาวุธ เตะ กระทืบ และบีบคอ ความรุนแรงทางเพศพบน้อยที่สุด โดยรายงานว่าเป็นการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม ในส่วนของพฤติกรรมควบคุม เพศหญิงในประเทศไทยรายงานว่าพฤติกรรมที่พบมากที่สุดคือการที่คนรักยืนยันว่าจะต้องรู้ให้ได้วาตนกำลังอยู่ที่ไหนตลอดเวลา และโกรธเมื่อคู้ว่าตนพูดคุยกับเพายคนอื่น และระบุว่าความรุนแรงเหล่านี้มักเกิดซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง

 

แม้การศึกษาในประเทศไทยที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นไปที่การประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในเพศหญิง ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักนั้นเกิดได้โดยไม่จำกัดเพศ รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มีโอกาสประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน การศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นในเพศชายและเพศหญิง ทั้งความรุนแรงที่กระทำโดยคนรักเพศเดียวกันและต่างเพศ โดยมีการอธิบายว่าความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและการควบคุมมากกว่าเพศ

 

ทั้งนี้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในเพศหลากหลายยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากอคติของสังคมและความเกรงกลัวว่าจะถูกตัดสินและตีตราเพิ่มจากที่เป็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงรักหญิง ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของการตีความทฤษฎีเฟมินิสต์ที่มุ่งเน้นการอธิบายถึงความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักด้วยเหตุผลเชิงเพศและอำนาจ ทำให้การมองว่าเพศหญิงทำร้ายเพศหญิงกันเองนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยพบว่ามีเพียงร้อยละ 3 ของการวิจัยในประเด็นนี้ที่ศึกษาความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในเพศหลากหลาย แต่ผลกระทบของผู้ที่ประสบความรุนแรงนั้นอาจเทียบเคียงได้กับกลุ่มรักเพศตรงข้าม

 

การสำรวจของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคในสหรัฐอเมริกา พบสถิติการประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในกลุ่มหญิงรักหญิงร้อยละ 43.8 ในกลุ่มหญิงไบเซ็กชวลร้อยละ 61.1 และกลุ่มหญิงรักขายร้อยละ 35 ในขณะที่พบในกลุ่มชายรักชายร้อยละ 26 ในกลุ่มชายไบเซ็กชวลร้อยละ 37.3 และกลุ่มชายรักหญิงร้อยละ 29 จะเห็นได้ว่าในการสำรวจนี้แม้จะพบความรุนแรงในเพศหญิงมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็มีโอกาสประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักได้ และความรุนแรงนั้นอาจกระทำโดยเพศใดก็ได้เช่นกัน

 

ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักอาจเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น (teenager dating violence) มีงานวิจัยพบว่าผู้ที่ประสบความรุนแรงในสัมพันธ์แบบคู่รักในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสเป็นเหยื่อต่อไปทั้งในช่วงวัยรุ่นและช่วงวัยผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย

ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักนั้นนำไปสู่ผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจมากมายของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลทางร่างกายไปจนถึงการเสียชีวิต โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการต่าง ๆ ของโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ความรู้สึกผิดและโทษตนเอง ความมั่นใจในตนเองต่ำ โรคเรื้อรังทางกายและทางจิตใจ รวมไปถึงพบความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมทางลบต่าง ๆ ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ เสพติดแอลกอฮอล์ และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ

 

 

การรับมือของผู้ที่ประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก


 

 

ผู้ที่ประสบความรุนแรงไม่ได้ตอบสนองต่อความรุนแรงด้วยการยุติความสัมพันธ์ในทันทีเสมอไป การออกจากความรุนแรงนั้นเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและมีปัจจัยหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง งานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักเสนอให้เห็นว่าการให้ความหมายต่อสถานการณ์ที่ตนอยู่และพฤติกรรมควบคุมที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อการยอมรับความรุนแรง ซึ่งอาจแฝงมาในรูปของความหึงหวงที่มักเชื่อมโยงกับภาพการรับรู้ว่าเป็นการแสดงออกของความรัก ความปลอดภัย และการปกป้อง โดยสัญญาณความรุนแรงขั้นมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกแล้วแต่มักไม่ถูกมองเห็น การให้ความหมายเพื่อให้ความรุนแรงดูเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เช่นนี้เป็นสิ่งที่พบได้ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่

 

งานศึกษาในปี 2004 พบว่า ยิ่งผู้หญิงประสบความรุนแรงในระดับสูง จะมีความพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อปกป้องตนเองมากขึ้น แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้นต่อ ซึ่งสะท้อนว่าผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงไม่ได้นิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน พบว่าไม่มีวิธีการใดที่ดีที่สุดที่ได้ผลกับทุกคน วิธีการที่ผู้หญิงคนหนึ่งใช้แล้วลดความรุนแรงได้ อาจส่งผลให้เพิ่มความรุนแรงในผู้หญิงอีกคน งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์นั้นโดยส่วนใหญ่มีการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น พยายามคุยกับคนรักเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นร้อยละ 94 แจ้งตำรวจร้อยละ 92 พยายามเลี่ยงการพบเจอคนรักร้อยละ 90 พยายามยุติความสัมพันธ์ร้อยละ 89 อย่างไรก็ตาม วิธีการที่พบว่ามักทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้มากที่สุดคือการติดต่อศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักและใช้บริการที่พักพิงสำหรับผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว วิธีการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีการวางแผนการรับมือเพื่อความปลอดภัยต่อไป ในขณะผู้ที่เลือกใช้วิธีการสู้กลับทางร่างกายมักทำให้สถานการณ์แย่ลง ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ใช้วิธีการยอมทำตามที่คนรักต้องการเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงนั้นไม่สามารถลดความรุนแรงได้จริง แต่กลับพบระดับความซึมเศร้าที่สูงขึ้นด้วย

 

แม้งานวิจัยในอดีตจะมุ่งเน้นไปที่การยุติความสัมพันธ์เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่มีหลายงานที่บ่งชี้ว่าการยุติความสัมพันธ์อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป ในบางสถานการณ์การออกจากความสัมพันธ์เป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงมากกว่า เช่น การถูกข่มขู่ว่าจะเพิ่มความรุนแรงหากคิดจะจากไปจากผู้กระทำ การสะกดรอย หรือการใช้บุตรเป็นเครื่องมือในการควบคุมแทน และสำหรับบางคน ก็มีความรักความผูกพัน และการพึ่งพาคู่รักของตนอยู่มาก รวมกับความไม่มั่นใจในตนเอง ความกลัว ความโดดเดี่ยว ความละอาย ความรู้สึกผิด และการยึดคู่รักเป็นส่วนของตัวตนของตัวเอง และบางคนไม่มีปัจจัยสนับสนุนภายนอกมากพอที่จะออกจากความสัมพันธ์ เหยื่อหลายคนจึงเลือกที่จะหาสมดุลระหว่างสิ่งที่จำเป็นและสิทธิของตนเอง โดยเลือกอยู่ในความสัมพันธ์ การมองว่าการยุติความสัมพันธ์คือทางเลือกที่ดีที่สุดในความสัมพันธ์ที่รุนแรงอาจช่วยสนับสนุนอำนาจในตนเอง (empowerment) แต่ในอีกทางหนึ่งการเหมารวมดังกล่าวอาจละเลยความซับซ้อนของสถานการณ์และความต้องการของบุคคลที่เลือกตัดสินใจอยู่ต่อในความสัมพันธ์

 

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระทำความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก


 

 

1. การเรียนรู้ทางสังคม (Social learning)

การเคยเห็นหรือมีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวอาจทสอนเด็กให้เข้าใจว่าการกระทำความรุนแรงเป็นการให้แรงเสริมและเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อาจส่งผลให้เด็กแสดงความไม่พอใจ การแก้ปัญหา และการควบคุมผู้อื่นออกมา ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติเมื่อเผชิญกับสภาพการณ์ความขัดแย้งและเพิ่มความรู้สึกถึงศักยภาพของตนเอง นักวิจัยหลายคนจึงนำทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมมาใช้อธิบายลักษณะการปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวทั้งที่ดีและไม่ดี อาทิ คนเราเรียนรู้ที่จะเป็นคู่รักและเป็นพ่อแม่จากการสังเกตผู้ปกครองของตนเองในบทบาทต่าง ๆ แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่ประสบการณ์ทางบวก แต่หากได้เรียนรู้ต้นแบบพฤติกรรมมาจากครอบครัวแล้วก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลดทอนความรุนแรงหรือหลีกหนีจากพฤติกรรมนั้น ผู้ใหญ่ที่เคยเห็นการกระทำความรุนแรงของพ่อแม่ในวัยเด็กมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการกระทำความรุนแรงในคู่รักทั้งที่เป็นผู้กระทำผิดและเป็นเหยื่อได้

 

2. รูปแบบความผูกพัน (Attachment Styles)

 

ผู้ที่มีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง ได้แก่ รูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัว (fearful) หรือหมกมุ่น (preoccupied) สัมพันธ์กับการเป็นเหยื่อความรุนแรงในคู่รัก โดยเฉพาะในเพศหญิง ส่วนรูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวลสัมพันธ์กับการกระทำความรุนแรงในคู่รัก โดยเฉพาะในเพศชาย ส่วนสามีที่ชอบทำร้ายซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบไม่สนใจ (dismiss) ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการแสดงอำนาจและการควบคุมภรรยาของตนเอง นอกจากนี้ประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อความรุนแรงในคู่ครองทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านรูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวลว่าจะถูกทอดทิ้งและการหลีกหนีความใกล้ชิดอีกด้วย

 

3. การหลงตนเอง (Narcissism)

งานวิจัยพบว่าความหลงตนเองสัมพันธ์กับความก้าวร้าว กล่าวคือคนที่มีความหลงตนเองสูง เมื่อถูกวิจารณ์จะตอบโต้รุนแรงและก้าวร้าวกว่าคนอื่น โดยมีแนวโน้มแสดงความก้าวร้าวในหลายรูปแบบ เช่น ทางคำพูด ทางกาย และทางเพศ นอกจากนี้บุคคลที่หลงตนเองสูงมักขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) จึงไม่กังวลต่อความทุกข์ทรมานของเหยื่อ แม้ว่าพวกเขาสามารถตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้แต่ก็มักไม่ตระหนักเมื่อไม่รู้สึกสนใจจะทำ อีกทั้งพวกเขามีแนวโน้มจะรักษาการขยายมุมมองเกี่ยวกับตนเองด้วยการบิดเบือนการรับรู้อันเป็นเหตุให้ทำพฤติกรรมผิดปกติได้อย่างง่ายดาย เช่น อ้างกับตนเองได้ว่าเหยื่อความรุนแรงของพวกเขามีความปรารถนาทางเพศหรือมีการแสดงออกบางอย่างที่สอดคล้องกับพวกเขาอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดคือพวกเขามีความกังวลในการสร้างความประทับใจแก่ผู้อื่น ทำให้พวกเขาแสวงหาการเอาชนะทางเพศเพื่อการโอ้อวดต่อกลุ่มเพื่อนของพวกเขา

 

 

 


 

 

 

ข้อมูลจาก

 

สาธิดา เต็มกุลเกียรติ. (2567). ประสบการณ์การรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของผู้เคยถูกกระทำความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://digiverse.chula.ac.th/Info/item/dc:95735

 

ศรัญญา ศรีโยธิน. (2557). การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการกระทำความรุนแรงและการถูกกระทำความรุนแรงในคู่รัก [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2014.221

 

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์

 

วันที่ 17 มีนาคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ชั้น 14 อาคารสรรพศาสตร์วิจัย จุฬาฯ

 

 

 

Writing Clinic with Dr. Nicolas Geeraert

 

Exclusively for CU Psychology Postdocs, PhD Students, and Faculty Members!

 

Join us at the Writing Clinic with Dr. Nicolas Geeraert, a scholar and editor, who will help you refine your research papers and elevate your writing.

 

This session is tailored for faculty members, postdocs and PhD students from the Faculty of Psychology, Chulalongkorn University who are aiming for research publication success.

 

Be sure to check out the poster below for session dates and registration details! https://forms.gle/jHtFo8Pj8StJZs2j9

 

 

พิธีเปิด-ปิดกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2568

 

วันที่ 14 มี.ค. 2568 คณะจิตวิทยาเข้าร่วมกิจกรรมเดินพาเหรด ในพิธีเปิด-ปิดกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2568 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ธีม Self-care is priority

 

 

 

 

ขอแสดงความยินดีกับ ศ. ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ ที่ได้รับมอบเข็มเชิดชูเกียรติ “คุมประพฤติสดุดี” ชั้นที่ 3 เหรียญทองแดง

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ [ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา] ที่ได้รับมอบเข็มเชิดชูเกียรติ “คุมประพฤติสดุดี” ชั้นที่ 3 เหรียญทองแดง พร้อมเกียรติบัตร จากอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะผู้ที่ทำคุณประโยชน์ สนับสนุนภารกิจงานคุมประพฤติ ในวันที่ 14 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมคุมประพฤติครบรอบ 33 ปี

 

 

 

 

 

การร่วมรับฟังผลการวิจัยและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำไปสู่การสร้างและจัดทำข้อเสนอทางนโยบายในการสร้างและส่งเสริมทักษะทางสังคมและอารมณ์ สุขภาวะทางปัญญา การลดปัญหาทางด้านจิตใจ ในวัยรุ่น

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา และรองศาสตราจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและครอบครัว และปัจจัยเพาะบ่มทางจิตวิทยาที่มีต่อทักษะทางสังคมและอารมณ์ สุขภาวะทางปัญญา และปัญหาทางด้านจิตใจ ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้กล่าวเปิดงานและเข้าร่วมฟังผลการวิจัยร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำไปสู่การสร้างและส่งเสริมทักษะทางสังคมและอารมณ์สุขภาวะทางปัญญา ตลอดจนการลดปัญหาด้านจิตใจในวัยรุ่น ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แสดงความยินดีกับ นางสาวทิพย์วรินทร ญาณกรธนาพันธุ์ ในการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งหญิง เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ดิวิชั่น 3 กลุ่มเอ

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ นางสาวทิพย์วรินทร ญาณกรธนาพันธุ์ (กัปตันแพรว JIPP14) นิสิตหลักสูตร JIPP ชั้นปีที่ 2 คณะจิตวิทยา จุฬาฯ และทีมฮอกกี้น้ำแข็งหญิงไทยที่คว้ารองแชมป์ในศึก ฮอกกี้น้ำแข็งหญิง เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ดิวิชั่น 3 กลุ่มเอ (2025 IIHF Ice Hockey Women’s World Championship Division III, Group A) ที่เมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย
ภาพจาก Ice Hockey Family