News & Events

ถอดความ PSY Talk เรื่อง Pride Month กับมุมมองทางจิตวิทยา

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

Pride Month กับมุมมองทางจิตวิทยา

 

โดยวิทยากร
  • พ.อุเทน บุญอรณะ (หมอแพท)
    อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา, นักเขียนนามปากกา “รังสิมันต์”, เจ้าของเพจ “หมอตุ๊ด”
  • อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์ (อ.แฮม)
    ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา
  • คุณภิรญา ธีระโชติกรกุล (คุณเฟิร์น)
    Co-Founder นฤมิตไพรด์ ผู้จัดงาน Bangkok Pride 2023

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก)
    ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและการสื่อสาร

 

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 13.30 – 14.30 น.

 

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/935451114415077/

 

 

 

 

การจัดงาน Pride month ส่งผลต่อการรับรู้ของคนในสังคมอย่างไรบ้าง


 

คุณภิรญา

แบ่งออกเป็น 2 มุม ด้านหนึ่งคือการรับรู้ในแง่ของการ celebrate การเป็นสีสัน เห็นภาพของ community ที่ไม่ได้เป็นส่วนน้อยในสังคมไทย ความแข็งแรงของ community ส่วนด้านที่สอง ด้วยตัว pride parade เอง ในทุก ๆ ขบวนมันมีพื้นฐานจาก community อยู่แล้ว มีองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะ NGO CSO ที่ทำงานขับเคลื่อน เรียกร้องประเด็นทางกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นมันก็ถูกสอดแทรกประเด็นต่าง ๆ อยู่เหมือนกัน

 

Pride parade ในประเทศไทยค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครจัด ก่อนหน้านี้ก็มี pride parade เหมือนกัน แต่จะเป็น gay pride คือค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น Pride parade ที่เป็น LGBTQ+ เลย ปีที่แล้วเป็นปีแรก ซึ่งก็เกิดการรับรู้ตื่นตัวประมาณหนึ่ง ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองด้วย ปีที่แล้วเป็นปีที่เราได้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ มีการเปิดนโยบายต่าง ๆ ที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น คนก็รับรู้ไปแล้วส่วนหนึ่ง มาคราวนี้ รอบที่สองมันเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศ เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน ภาพมันก็เลยกว้างขึ้น คนรับรู้มากขึ้น ถามว่าแต่ละคนรับรู้มากน้อยขนาดไหน เข้าใจลึกซึ้งขนาดไหน ก็คงจะต่างกัน แต่ถามว่ารับรู้มากขึ้นมั้ย เฟิร์นมองว่ามันเป็นภาพที่ใหญ่มาก ๆ ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้น

 

อ.หยกฟ้า

ปีนี้ออกข่าวแทบทุกช่องเลย สมัยก่อนยังรู้สึกว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มเฉพาะ กลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น วัยทำงาน ที่มีความสนใจการขับเคลื่อนทางสังคม แต่ปีนี้ ประเด็นเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในความคิดของคนในสังคม คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายก็ได้รับรู้ว่ามันมีอะไรแบบนี้ เด็กเล็ก ๆ ก็รับรู้ด้วย

 

หมอแพท

จากการสังเกต เรื่อง LGBTQIAN+ ก่อนหน้านี้เรารู้จัก ทุกคนรู้จัก แต่ด้วยตัว pride parade ที่ทำกิจกรรมในสองปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนจากการรู้จักเป็นการรับรู้ เรารับรู้มากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วเพื่อนของเรา มีใครบ้าง เป็นอย่างไร เขายังขาดมิติใด ๆ ในเรื่องความเท่าเทียมบ้าง ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ pride parade เป็นตัวที่ช่วยรณรงค์แคมเปญต่าง ๆ มันค่อย ๆ เปลี่ยนจากรู้จักเป็นรับรู้มากขึ้น คิดว่าปีถัด ๆ ไปก็จะรับรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ

 

เราพูดกันถึงในมุมใหญ่ ๆ ไปแล้ว มาลองดูในมุมเล็ก ๆ บ้าง แพทมองในมุมของความเหงา เด็กบางคนก็เกิดมารู้ตัวว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ สิ่งแรกที่ทุกคนรู้สึกคือ รู้สึกเหงา มนุษย์เราไม่ได้ต้องการเพียงปัจจัยสี่ เรายังต้องการปัจจัยห้าด้วย คือการ connect การเชื่อมโยง คือตัว pride parade เป็นตัวที่ต่อให้เราไม่ได้ไปเข้าร่วม แต่พอเราได้เห็น เราได้รับรู้ว่ามันมีความหลากหลายอยู่ เราจะรู้สึก connect กับคอมมู เมื่อเรารู้สึกว่าเราเชื่อมโยง ความเหงาจะหายไป

 

ถ้ามองในแง่ของบุคคลเล็ก ๆ พูดถึงใจของแต่ละคน ตัวเด็กหรือคนทุกวัยก็ตาม พอได้เห็นอันนี้มันจะช่วยให้เขา connect กับคอมมูได้ และรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เหงา ไม่ได้ถูก disconnect ไป

 

อ.หยกฟ้า

ตรงนี้น่าสนใจมาก ว่าถึงแม้เราจะไม่ได้ไปเดินขบวน แต่การมีงาน มีการให้ความสำคัญกับตรงนี้ เราก็ได้เห็นว่ามีคนที่เหมือนเราอยู่เต็มไปหมดเลย ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกกีดกันออกมา ไม่ได้โดดเดี่ยว โดยเฉพาะเด็กที่อาจจะเพิ่งรู้จักตนเอง เขายังอยู่ในวัยที่ต้องการคนมาซัพพอร์ต ให้กำลังใจ หรือวางรากฐานวิธีคิดว่าควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป

 

หมอแพท

ใช่ครับ อย่างน้อยทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นตัวคนเดียวในโลกนี้ สำหรับเด็กที่เกิดมาแล้วรู้สึกว่า ฉันไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็น straight อารมณ์แรกเลยคือจะรู้สึก disconnect แน่ ๆ ตรงนี้ก็จะช่วยเชื่อมโยงเขากับโลกของเขาที่เขาอาจจะไม่รู้มาก่อนว่ามี

 

คุณภิรญา

ขอเสริมว่านอกจากเด็กแล้ว ขอแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นภาพชัดเลย คือกลุ่มผู้สูงวัย เรามีผู้สูงวัยในประเทศไทยที่เป็น LGBTQ+ เยอะมาก เขาค้นพบตัวเองแล้วว่าเขาเป็น แต่ว่าในยุคของเขามันไม่ได้มีการเปิดกว้าง ไม่มี community ที่มีการเห็นภาพชัดว่ามีการ connect กันได้ขนาดนี้

 

ตั้งแต่ปีที่แล้วที่จัดงานเราได้รับ inbox เข้ามาเยอะมาก เขาถ่ายรูปคู่กัน บอกว่า ป้าเป็นเลสเบียนนะ อยู่ด้วยกันมา 30 ปีแล้ว รู้สึกว่างานวันนี้ดีมากเลย ป้าไม่ได้โดดเดี่ยว มีเพื่อน

 

เหมือนว่าเมื่อได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นแล้วคนอื่น ๆ ก็เป็นเหมือนฉันเหมือนกัน ฉันไม่ได้โดดเดี่ยวใน 60 ปีที่ฉันใช้ชีวิตมา มีอะไรแบบนี้เยอะมาก จึงเห็นด้วยกับหมอแพทในเรื่องการ connect ซึ่งนอกจากเด็กที่กำลังค้นหาตัวตน คนที่ค้นหาแล้ว เป็นอีก generation หนึ่ง ที่เขาอาจจะโดดเดี่ยวมาสักพักหนึ่งแล้ว ก็ได้ connect กับ community เหมือนกัน

 

อ.ภาณุ

แฮมว่านอกจากการ connect ของคนที่มีลักษณะเหมือนกัน มันคือการ connect กับเครือข่าย คือมีองค์กรหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการซัพพอร์ตกลุ่ม LGBTQ+ การที่เราได้เข้าไปรู้จักภาคีเครือข่ายเหล่านี้ ก็เป็นการที่เราได้เชื่อมโยงกับองค์กรที่ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา แฮมมองว่า LGBTQIAN+ ที่ชื่อยาวมากนี้ มันมีความหลากหลายอยู่แล้วในตัวเอง ดังนั้นงาน pride ที่นอกจากจะเป็นการเฉลิมเฉลองแล้ว การเป็น LGBTQ+ นั้นเรายังมีความรู้สึกกลัวการถูกประเมิน การถูกตัดสินจากสังคมหรือคนรอบข้าง หรือกระทั่งตัวเราเอง ดังนั้นงาน pride เป็นงานหนึ่งที่บางทีคนหลายคนใช้พื้นที่นี้ในการเสี่ยงหรือการทดลองดูว่า ถ้าเขามีรสนิยมความชอบแบบนี้ ตัวเขาเป็นแบบนี้ เขาจะสามารถได้รับการยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน

 

แฮมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพื่อนแฮมที่ไปร่วมงาน pride ปีที่แล้ว และขออนุญาตนำมาแชร์ให้ฟัง เขาบอกว่าเขาอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ แต่ก็มีความชอบบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง และเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาชอบแบบนี้นั้นจะถูกตัดสิน ประเมินแค่ไหน เมื่อมีงาน pride เขาก็คิดวางแผนเลยว่าจะแต่งตัวอย่างไร ไปเดินที่ไหน และถ้าแต่งตัวแล้วมันไม่โอเค เขาจะไปเปลี่ยนชุดกลับที่ไหน อย่างไร และเมื่อเขาไปเดิน เขาก็พบว่าการที่เขาได้เปิดเผยบางอย่างที่เป็นตัวตนของเขาที่เฉพาะเจาะจงนั้น เขาได้รับการยอมรับ ถูก respect เขารู้สึกว่าเขาเป็นแบบนี้ได้ มันไม่ผิด มันเปิดกว้าง มันเสรีมากขึ้น เขารู้สึกว่ามันเป็นการ unlock ตัวเขา เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างในตัวเองของเขาเยอะมากเลย ดังนั้นงาน pride จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนหลากหลายได้มีโอกาสมาสำรวจหรือรู้จักตัวเองมากขึ้น จิตวิทยาที่นี่มองว่า self หรือตัวเรา มีลักษณะเหมือนฟองน้ำพรุน ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนทุกอย่างตลอดเวลา คนที่มาเดินขบวน หรือคนที่มาแค่โบกธงเฉย ๆ การที่เขาได้เห็นงาน pride ได้เห็นคนที่เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ แม้ตัวเขาเองจะยังไม่พร้อม แต่เขาก็จะได้รับสาร รับสิ่งต่าง ๆ ไป ถึงจังหวะหนึ่งจุดหนึ่งเขาอาจจะกล้าเปิดเผยหรือยอมรับตัวเองได้มากขึ้น แต่ละคนมีกระบวนการในการยอมรับตนเองต่างกัน แต่งาน pride เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถให้เราได้ลองมารู้จักและยอมรับตัวเองได้มากขึ้นได้

 

อ.หยกฟ้า

เวลาเราถามว่างาน pride ส่งผลต่อการรับรู้ของคนในสังคมอย่างไร เรามักจะมองในแง่ว่าคนนอก หรือ outsider จะมองอย่างไร แต่คนใน คนที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ มองตนเองอย่างไร หรือมีโอกาสได้สำรวจตัวเองอย่างไร ซึ่งงาน pride ก็ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนที่จะกล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อสำรวจตัวเองโดยไม่กลัวคำตัดสินหรือการประเมิน เพราะวันนี้เป็นเหมือนวันที่ฉันสามารถทำอะไรบางอย่างได้ ไม่มีใครมาว่าฉัน

 

 

การเคลื่อนไหวที่จะมี สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่งผลต่อการยอมรับของคนในสังคมมากขึ้นด้วยหรือไม่


 

คุณภิรญา

ตอนนี้มันค้างอยู่ในสภาสองอัน แต่เสียงประชาชนส่วนใหญ่ก็คือเอาสมรสเท่าเทียม ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะจริง ๆ ต้องชี้แจ้งอย่างนี้ว่า ในส่วนของพ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นมันเป็นการกดทับอีกครั้งหนึ่งด้วยซ้ำ เป็นการกดขี่ในรูปแบบของกฎหมาย เพราะฉะนั้น 1. ยืนยันว่าเอาสมรสเท่าเทียม 2. ถ้าสมมติว่าสมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน ต้องบอกก่อนว่าที่อยู่ในสภาตอนนี้เป็นร่างของพรรคก้าวไกล ซึ่งถ้าสมมติว่าไม่ผ่านก็มีอีกร่างหนึ่งที่เป็นร่างของภาคประชาชน ที่ก่อนหน้านี้มีการล่ารายชื่อ มีรายชื่อแล้วประมาณสามแสนหกหมื่นรายชื่อ ถ้าร่างนั้นไม่ผ่านหรือมีอะไรก็แล้วแต่ ร่างของภาคประชาชนที่ถ้าเทียบกันจริง ๆ แล้ว มีความก้าวหน้าของร่างของพรรคก้าวไกลอยู่เล็กน้อย ตัวนั้นจะถูกส่งเข้าสภาไปเช่นกัน ตอนนี้มีทีมที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่

 

ส่วนที่ว่ามันผ่านแล้ว การรับรู้ของสังคมมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องบอกว่าสำหรับคนที่ไม่เข้าใจหรือต่อต้าน เขาก็คงจะช็อค เฟิร์นมองว่าถ้ามันมีสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นมันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ มันก็ไม่ได้ต่างกับชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ทำให้คู่รักที่ถูกลิดรอนสิทธิ มีสิทธิเท่ากับคู่รักชายหญิงเท่านั้นเอง ถ้าถามว่าจะทำให้มีการเปิดกว้างขึ้นมั้ย ก็คงทำให้สังคมมีความเข้าใจมากขึ้น พอมันมีตัวกฎหมายมายืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายนะ มันไม่ได้ผิด มันก็อาจจะยืนยันได้ว่าสิ่งนี้สามารถทำได้นะ และหากมองถึงในอนาคต เฟิร์นมองว่าถ้าเรามีสมรสเท่าเทียมแล้ว มันก็จะมีกฎหมายอื่น ๆ ที่ ณ ตอนนี้กำลังเรียกร้องอยู่เพิ่มเติมเข้าไปอีก ถ้าต้องการให้สังคมไทยก้าวหน้าจริง ๆ เทียบเท่าต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นเรื่องการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ การเรียกคำนำหน้า การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี อะไรเหล่านี้ มันยังมีกฎหมายอีกเยอะมากที่จะต้องเรียกร้องกันต่อไป ก็คิดว่าถ้าสมรสเท่าเทียมผ่าน การรับรู้ของคนในสังคมก็คงจะเปิดกว้างมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ณ วันนี้ ความรักของฉันมันไม่ผิด ไม่เป็นสิ่งที่ใครมาตีตราได้ว่ามันผิดหรือแปลกประหลาด

 

หมอแพท

ขอแยกเป็น 2 ส่วน ตอนนี้มันมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสมรสเท่าเทียม ก็อย่างที่คุณเฟิร์นบอก พ.ร.บ.คู่ชีวิตจัดเป็นพ.ร.บ.แบบขอไปที อยากมีหรือ ฉันมีให้ก็ได้ แต่ฉันมีให้แค่นี้เท่านั้นนะ จึงเป็นการกดขี่อยู่ เนื่องจากว่าทำงานด้านนี้มาพอสมควร คือแพทเป็นคนที่ออกมาเรียกร้องว่า เลิกใช้คำว่า นายแพทย์ กับ แพทย์หญิง แต่ให้ใช้คำว่า พ. คือ แพทย์ คำเดียวก็พอ อย่างอเมริกาเขาก็ใช้คำว่า M.D. ต่อท้ายเฉย ๆ เลย ลองนึกภาพว่ามีคุณหมอที่เป็นทรานส์ เขายังต้องมีคำว่า นายแพทย์นำหน้าอยู่หรือ เวลาคนไข้จะมารักษากับเขา ไปเสิร์ชชื่อแล้วเห็นว่าเป็นนายแพทย์แต่พอมาเจอเป็นผู้หญิง เขาก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ดังนั้นนอกจากเรื่องสมรสเท่าเทียมมันยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมาก

 

ในระยะสั้น ถ้าเรื่องสมรสเท่าเทียมมันผ่านได้แล้วจริง ๆ แพทมองว่าการรับรู้ของสังคมในระยะสั้นจะไม่ได้เปิดกว้างมากขึ้น แต่มันจะชัดเจนขึ้น คนที่สนับสนุนก็จะสนับสนุนได้เยอะขึ้น ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น บริษัทประกัน การสร้างอนาคตร่วมกัน การกู้ร่วมเพื่อที่จะมาซื้อบ้าน ทุกวันนี้ภาคเอกชนเขานำหน้าภาครัฐบาลไปเยอะมากเลยนะ สามารถซื้อประกันชีวิตให้คู่รักของตนเองได้แม้จะเป็นเพศเดียวกัน การกู้ร่วมในเพศเดียวกันเพื่อซื้อบ้าน ทำได้ อะไรแบบนี้ในระยะสั้นมันจะได้เห็นชัดเจนขึ้น แน่นอนว่าสำหรับคนที่แอนตี้ ก็จะแอนตี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คนที่เกลียดไม่ได้เกลียดด้วยเหตุผล ไม่ได้เกลียดด้วยกฎเกณฑ์ เขาเกลียดเพราะเขาเกลียด ดังนั้นต่อให้มีกฎหมายมาช่วย มีข้อมูลมาช่วย ให้เขาเข้าใจ แต่การเข้าใจใช้สมองอีกส่วนหนึ่ง คนละส่วนกับที่เกี่ยวกับความเกลียด ความชอบ การยอมรับ

 

ทีนี้ในระยะยาว แพทไม่ได้มองใน generation นี้ แพทมองถึงเด็กหนึ่งขวบสองขวบ เขาจะเกิดและเติบโตมาในโลกที่ทุกคนเท่ากัน ผมเคยเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองหนึ่ง และนักการเมืองใหญ่ในพรรคนั้นเขาพูดว่า ผมไม่เข้าใจเลยนะว่าจะมาเรียกร้องสิทธิพิเศษอะไรกันขนาดนี้ เราก็รู้สึกว่าแบบนี้เป็นนักการเมืองไม่ได้ เขามองว่าเป็นสิทธิพิเศษ ทั้งที่เรายังไม่เท่าเทียมกันเลย แต่สิทธิที่คนจะใช้ชีวิตคู่กันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายยังไม่มี แล้วพูดได้อย่างไรว่าคนมาเรียกร้องขอสิทธิพิเศษ คิดดูว่าขนาดเป็นพรรคการเมืองระดับหนึ่ง มีตำแหน่งในพรรคการเมืองระดับหนึ่ง เขายังเข้าใจแบบนี้อยู่เลย การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายส่วนหนึ่งอาจจะเพิ่มการตระหนักรู้ ความเข้าใจเข้าใจให้ได้ แต่ก็ยังยืนยันว่าในระยะสั้นความเปิดกว้างอาจจะยังไม่ได้เห็นชัดเจนมาก แต่ความชัดเจนคือ คนที่สนับสนุนก็สนับสนุนได้อย่างเต็มที่ คนที่เกลียดก็ยังคงเกลียดต่อไป

 

อ.หยกฟ้า

แสดงว่าถ้าร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านจริง ๆ ก็จะได้เห็นวิธีคิดของคนมากยิ่งขึ้น คนจะแสดงจุดยืนของตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นสองขั้วไม้บรรทัด

 

หมอแพท

ต่อไปเราอาจจะได้เห็นคนที่มาแอนตี้ pride parade เลยก็ได้ ตอนนี้เ pride parade เรายังมีความสงบ สันติ สนุกสนาน แต่ต่อไปอาจจะเห็นภาพการปะทะกันมากขึ้นใน pride parade ก็ได้

 

ส่วนในระยะยาว ถ้ามันผ่านแล้ว ต่อไปในเด็กเล็ก ๆ เขาจะมีเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากครอบครัวที่มีพ่อกับพ่อ หรือครอบครัวที่มีแม่กับแม่ หรือครอบครัวที่พ่อเพียงคนเดียว หรือมีแม่เพียงคนเดียว คือเด็กเขาจะเกิดมาในโลกแบบนี้

 

อ.หยกฟ้า

เด็กเขาก็จะยอมรับมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ถูกสังคมที่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งมาหล่อหลอมว่าแบบนี้ใช้แบบนี้ไม่ใช่ แบบนี้ถูกหรือผิด

 

 

แล้วเราจะเปลี่ยนคนที่มีวิธีคิดแบบสุดขั้วอย่างไร ถ้าเราอยากให้เขายอมรับเร็วขึ้น


 

อ.ภาณุ

มันก็ตอบยากเหมือนกันครับ การที่เขามีความคิดอย่างนั้น การที่เราจะไปเปลี่ยนเขา เราก็ต้องใช้การโน้มน้าวหรือการที่ทำให้เขาเห็นว่ามันมีข้อดีอย่างไร แต่ทัศนคติมุมมองบางอย่าง เช่นเรื่องศาสนา หลักธรรม หรืออะไรเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ fix มาก การจะไปขยับ มันทำได้ยาก การที่เปลี่ยนจากสุดขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง หรือจะขยับยังไงให้ผ่อนหรือเบาลงได้ แฮมก็ยังคิดไม่ตกเหมือนกัน

 

แต่จะขอเพิ่มอีกประเด็นหนึ่งคือ แฮมก็อยากให้กฎหมายมันผ่านเร็ว ๆ ให้คนแต่งงานกันได้ แต่ทั้งนี้ผลที่จะมีตามมามันก็จะเป็นสิ่งใหม่ของเมืองไทย ผลลัพธ์ที่ตามมาจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ในมุมที่นักจิตวิทยาการปรึกษามองคือ การแต่งงานเกิดขึ้นได้ การหย่าร้างก็จะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าชายชายและหญิงหญิงแต่งงานกันได้ หรือไปจนถึงมีบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เมื่อวันหนึ่งความสัมพันธ์ยุติลง ผลกระทบหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกบุญธรรมของคู่สมรสชายชายและหญิงหญิงจะเป็นอย่างไรบ้าง แฮมไปเจองานวิจัยงานหนึ่งที่ออสเตรเลีย เขาศึกษาคู่สมรสชายชายและหญิงหญิงที่เขามีลูกบุญธรรมด้วยกัน แล้วเขาหย่าร้างกัน มีผลกระทบทางใจอะไรเกิดขึ้นบ้าง เขาเจอสองประเด็นหลักคือ อันแรก ในสังคมออสเตรเลียเขาเปิดกว้างแล้วว่ารักกันได้ แต่งงานกันได้ แต่พอจะหย่าร้างปุ๊บ เขาก็ยังมีความรู้สึกกลัวว่า พอชายชายและหญิงหญิงเกิดการหย่าร้าง สังคมจะมองเขาว่าคู่รักแบบนี้ไม่ใช่คู่รักที่สมบูรณ์แบบ เป็นคู่ที่มีความผิดปกติ ไม่เท่าเทียม ไม่เหมือนกับคู่ชายหญิงปกติหรอก เขาเกิดความกลัวว่าเขาไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ได้ หรืออีกอย่างก็คือ ในตัวเขาเอง เขารู้สึกว่าคนรอบข้างในสังคม LGBTQ+ เอง มองว่านี่คือคู่สมรสหรือคือคู่ครอบครัวต้นแบบ เป็น pioneer เป็น role model เขาเกิดความกดดันหากจะต้องเลิกกัน เกิดความเครียด และรู้สึกว่าไม่สามารถเปิดเผย หรือปรึกษาหารือกับคนอื่นได้ว่าคู่ของฉันมีปัญหา จะเลิกรากัน ดังนั้นแฮมในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ก็คิดว่าหากสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยผ่าน มันจะมีสิ่งเหล่านี้ตามมาหรือเปล่า และเราจะมีความรู้อย่างไรบ้างที่จะมาซัพพอร์ตดูแลหรือให้การช่วยเหลือ

 

หมอแพท

เรื่องการหย่าร้างและความกดดันว่าสังคมจะมองเราว่าเป็นความรักแบบฉาบฉวยหรือเปล่า คือคนที่แต่งงานกันไป มันมีโอกาสอยู่แล้วใช่มั้ยที่จะหย่ากัน ไม่ว่าจะเป็นชายชาย หญิงหญิง ชายหญิง ทุกคู่มีโอกาสที่จะเลิกกันได้ ความรักหรือความสัมพันธ์มันเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง มันมีโอกาสที่จะตายก่อนเราได้ มองในมุมของคนที่อายุ 40 อัพแล้วกัน ตอนที่เราอายุ 20 กว่า ๆ เราจะรู้สึกว่า คนจะมองเรา คนจะ validate เรา คนจะตัดสินเรา พออายุ 40 แล้วเราจะบอกได้ว่า ไม่มีใครสนใจที่จะมา validate เรา เราอาจจะกลัวสังคมจะมาตัดสินเราอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พออายุเริ่มเยอะขึ้นจะพบว่าทุกคนดิ้นรนต่อสู้ในชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ เขาไม่ได้ใส่ใจมากนักที่จะมาตัดสินคนอื่น ดังนั้นพออายุเท่านี้แล้วเรารู้สึกสบายมากที่เราจะทำอะไรก็ได้ ก็เผื่อไว้สำหรับคนที่กังวลว่าจะมีใครมาตัดสินเราหรือเปล่า

 

จริง ๆ แล้วการรับรู้เรื่อง LGBTQIAN+ ปัจจุบันนี้ต่อให้เราคิดว่าเราเป็น gay friendly แต่ในเมืองไทยยังเป็นสังคมแบบ tolerance อยู่ การยอมรับมันมี 2 ระดับ หรือ acceptance กับ tolerance ตอนนี้เราจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่าน อย่างน้อยคนที่ต่อต้านที่สุด มาถึงจุด ๆ หนึ่ง เขาต้อง tolerance กับตรงนี้ได้ และหวังว่าต่อ ๆ ไปมันจะเป็น acceptance

 

อ.หยกฟ้า

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เรามักคาดหวังทางบวกว่าถ้ามันผ่านจะทำให้เราเท่าเทียมกัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้เข้าถึงสิทธิที่เขาควรจะได้รับมาตั้งนานแล้วแต่ไม่ได้รับ แต่ก็ยังมีความคาดหวังที่มันเป็นแรงกดดันด้วย ถ้าเป็นคู่สมรสกันแล้ว อาจจะมีแรงกดดันจากภายนอกว่าถ้าเป็นคู่สมรสกันแล้ว ต้องประคองไปให้สุดนะ ถ้าเกิดการเลิกราระหว่างทางคนก็จะมาชี้นิ้วว่า บอกแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็จะมาฝืน ซึ่งมันก็เป็นการแบกรับความคาดหวัง แต่อย่างที่หมอแพทบอกว่าจริง ๆ แล้ว การที่เราจะดำเนินความสัมพันธ์มันก็ย่อมมีทั้งบวกและลบ และเป็นไปได้ว่ามาถึงจุดหนึ่งก็อาจจะหย่าร้างแตกหักเหมือนคู่ชายหญิง ดังนั้นก็ไม่ต้องกดดันกับตัวเองมากจนเกินไปนัก ถ้าพ.ร.บ.นี้มันผ่านจริง ๆ และเราอยากสมรสกับคู่รักของเรา ไม่ต้องแบกรับความคาดหวังของคนอื่น หรือของคอมมูด้วยกันว่าคุณจะต้องเป็น role model ต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าคุณไปได้ด้วยดี ไปจนถึงสุดทาง เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วว่าอาจจะเกิดความไม่เข้าอกเข้าใจกัน เกิดความขัดแย้งกัน ภายในคู่ของตัวเอง

 

 

หากสมรสเท่าเทียมผ่าน จะส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยหรือไม่ หรือส่งผลต่อมูฟเมนต์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมอย่างไร


 

คุณภิรญา

เฟิร์นมองว่าต่อให้กฎหมายมันผ่านหรือไม่ผ่าน มันก็มีการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยอยู่แล้ว มีอยู่ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ เรื่องหน้าตา beauty standard เรื่องชนชั้น ชาติกำเนิด ความรวยความจน การศึกษา สถาบันการศึกษา มันมีเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นมองว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรื่องนี้เลย

 

ถ้าระยะยาวอาจจะช่วย แต่ในระยะสั้นก็อาจจะเหมือนอย่างที่หมอแพทพูด ว่าถ้าคนเรามีอคติจริง ๆ มันก็เปลี่ยนยาก อาจจะรออีก generation หนึ่งถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสังเกตได้

 

เพราะก่อนหน้านี้ที่ประเด็นไม่ได้แมสเท่านี้ ภาคเอกชน ธุรกิจบางธุรกิจ ก็มีสวัสดิการที่มันก้าวหน้าไปแล้ว เฟิร์นก็เลยมองว่ามันอยู่ที่บุคคล ทัศนคติของแต่ละคนแต่ละองค์กร ว่าจะยอมรับมากน้อยอย่างไร เพราะก่อนหน้าที่ประเด็นไม่เป็นที่พูดถึงกว้างขวาง บางบริษัทก็มีสวัสดิการลาผ่าตัดแปลงเพศ มีสวัสดิการให้ลาไปแต่งงานได้แม้คุณจะเป็นเพศเดียวกัน ดังนั้นจึงมองว่ามันอยู่ที่จิตสำนึกหรือทัศนคติของแต่ละคนมากกว่า ต่อให้กฎหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน ในการเลือกปฏิบัติอาจจะไม่มีผลให้เห็นชัดมากขนาดนั้น มันอาจจะมีแต่คงไม่ทำให้ได้เห็นชัดเจนว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนขนาดนั้น

 

โอเคว่าถ้ากฎหมายมันผ่านมันอาจจะช่วยให้หลาย ๆ องค์กรลองที่จะปรับ คือในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าพูดถึงในแง่ของเศรษฐกิจ GDP มันมีมูลค่าที่สูงมาก เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกที่ธุรกิจจะมาจับประเด็นนี้ และการที่ตัวธุรกิจเองจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการการทำงาน หรือเรื่องนโยบายต่าง ๆ การยกเว้นการเลือกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งการทำห้องน้ำที่เป็น all gender เฟิร์นมองว่ามันเป็นการที่เขาจะต้องปรับตัวให้ทันโลกมากกว่า จะด้วยความยินดีหรือไม่ยินดีก็แล้วแต่ แต่มันก็อาจจะมีบางสิ่งที่ฉันต้องทำเพื่อให้ทันโลกทันสมัย เพราะเรื่องความหลากหลายทางเพศมันเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก

 

หมอแพท

เรื่องของธุรกิจมันไม่เกี่ยวกับใจ แต่มันเกี่ยวกับนโยบายเกี่ยวกับกลยุทธของเขา บริษัทไหนที่จะมุ่งนโยบายไปทางด้านนี้ อาจจะเพราะเขาเห็นโอกาสทางธุรกิจหรืออะไรก็ตาม เขาไปอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องรอกฎหมาย เพราะฉะนั้นเรื่องการเลือกปฏิบัติหรือเลือกที่จะไม่ปฏิบัติมันเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยแต่ละคนด้วยซ้ำไป แต่ถ้าสมมติในระยะยาวจริง ๆ เลย แพทมองว่าเจนถัดไปจะไม่มีคำว่า LGBTQIAN+ อีกต่อไป มันจะเป็น a person หรือทุกคนเป็น person เท่ากันหมดเลย เด็กรุ่นใหม่เขาจะไม่รู้จัก LGBTQ เขาจะมองว่านั่นก็ person นี่ก็ person และอาจจะไม่มีการเลือกปฏิบัติเลยก็ได้ เพราะจะมองว่าทุกคนเท่ากันเหมือนกัน เท่าเทียมกัน

 

แต่ว่า ณ ตอนนี้ ถ้าพูดถึงว่ากฎหมายถ้าออกมาแล้วจะช่วยให้เท่าเทียมขึ้นมั้ย ก็ยังมองอยู่ว่าการเลือกปฏิบัติมันไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมาย ใกล้ตัวที่สุด เพื่อน ๆ ผู้หญิงถ้าจะปรึกษาปัญหาหัวใจ ปรึกษาเรื่องการแต่งหน้า ยังปรึกษาเพื่อนกะเทยเลย นี่ก็เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ไปปรึกษาเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน คิดว่าเขาจะมีอคติ ไปปรึกษาเพื่อกะเทยดีกว่าเพราะจะมีความเข้าใจทั้งผู้ชายและผู้หญิง เห็นไหมว่าเรื่องใกล้ตัวที่สุดเรายังเลือกปฏิบัติเลย ต้องมองก่อนว่าการเลือกปฏิบัติ กับการไม่เคารพสิทธิ หรือการที่กดให้สิทธิเขาไม่เท่าเทียมกับเรา มันเป็นคนละเรื่องกัน การเลือกปฏิบัติอาจไม่ใช่เรื่องทางลบหรือเป็นเรื่องที่แย่เสมอไป แต่ว่าการไปริดรอนสิทธิการที่ไปกดทับเอาไว้ไม่ให้เขาเท่ากับเรา อันนั้นต่างหากเป็นเรื่องที่ผิด

 

อ.ภาณุ

การเลือกปฏิบัติ ถ้าในแง่ของอาชีพ สมัยก่อนจะมีคำศัพท์อย่างเช่น glass ceiling effect คือการที่เพศหญิงหรือเพศทางเลือกไม่ได้สามารถที่จะก้าวหน้าทางอาชีพได้เพราะถูกปิดด้วยเรื่องเพศสภาพ แฮมเห็นด้วยกับคุณเฟิร์นว่าเรื่องนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมมันมีคอนเซปต์ของ power คือมันมีอำนาจเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อำนาจสิ่งนี้มันไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการเลิกการกีดกันหรืออคติทางเพศ เพราะมันคือสิ่งที่อยู่ห่างกันประมาณหนึ่ง แต่แฮมคิดว่าในระยะยาว เมื่อเรามีอำนาจต่อรองมากขึ้น สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามองกลับไปที่การกีดกันทางเพศ ในเรื่องอาชีพหรือเรื่องใดก็แล้วแต่ มันก็เกิดขึ้นจากการที่เรามีการรับรู้ว่าสังคมเราเป็นสังคมที่ชายหญิงเป็นใหญ่ เป็น majority สังคมโฮโมเซ็กชวลหรือสังคม LGBTQIAN+ เป็นสังคมที่เป็น minority การที่มันมีพวกมากพวกน้อยอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด power ต่างกัน เมื่อ power ต่างกัน การเหยียด การกีดกัน หรืออคติ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อไรก็ตามที่สองคำนี้ major-minor มันถูกสลายได้ หรือเป็นเพียง person กันจริง ๆ ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีอำนาจเท่ากัน การกีดกันทางเพศหรือด้วยลักษณะต่าง ๆ มันก็จะน้อยลงได้เหมือนกัน แต่นั่นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะยาว ตอนนี้เป็นเพียงการค่อย ๆ เพิ่ม power ให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เขาได้มีโอกาสมาต่อรองหรือมีการขยับขับเคลื่อนความหลากหลายมากขึ้นมากกว่า

 

อ.หยกฟ้า

หมายความว่าการขับเคลื่อนเรื่องของความเท่าเทียมกันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คนมองเห็นคนอื่นเป็นคน เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไร้อคติ บางทีกฎหมายอาจจะไม่ต้องมีออกมาใหม่เลยด้วยซ้ำ ถ้าสมมติว่ามันเท่าเทียมกันจริง ๆ อยู่แล้ว เรามองอีกคนหนึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะมีรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เพียงแต่ ณ ปัจจุบันมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ซึ่งเราหวังว่าในอนาคตมันไม่มีการแบ่งแยกและตีตรา มองทุกคนเท่ากันหมดจริง ๆ

 

 

การเข้าร่วมใน pride parade ของบางองค์กร บ้างก็ถูกมองว่าฉาบฉวย บ้างก็มองว่าฉาบฉวยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย


 

คุณภีรญา

ความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทย ถ้าไปดูรายงานของ economic forum ต่าง ๆ ของ LGBTQ+ ที่เขาทำไว้ ประเทศไทยถ้าเทียบในเอเชียมีมูลค่าสูงมาก สูงที่สุดในเอเชีย และเราก็ติดท้อปพอ ๆ กับของฝรั่งเศส อเมริกา เลย คราวนี้พอค่าการตลาดมันสูง มันไม่แปลกที่ธุรกิจต้องการแย่งชิงพื้นที่ ต้องบอกว่ามันเป็นการจับจองพื้นที่ ใครจะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากน้อยไปกว่ากัน ถ้าเริ่มเร็วก็ได้เร็ว
ประเด็นเรื่อง rainbow washing มันก็มีมานานแล้ว เฟิร์นมองว่าการที่แต่ละธุรกิจเข้ามาเปลี่ยนโลโก้สีรุ้ง เราในฐานะผู้บริโภคเราก็ตัดสินไม่ได้หรอก หรือตัดสินได้แค่ผิวเผิน คงไม่ได้รู้ไปทั้งหมด ว่าเขาเป็น rainbow washing มั้ย ในภาพที่เรามองเฉย ๆ มันก็เป็นภาพที่น่ารักดี พอเป็นเดือนของ pride month มองทางไหนก็เป็นสีรุ้งไปหมด แต่เราอาจจะต้องไปดูกันลึก ๆ มากกว่า ในตัวของแบรนด์นั้น ๆ บริษัทนั้น ๆ เองว่ามีการทำนโยบาย หรือมีสวัสดิการเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า หรือเขาเองมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศจริงหรือเปล่า ตอนนี้เมื่อกระแสมันแมสมันกว้างขึ้น ค่าของการขับเคลื่อน GDP มันสูง

 

เฟิร์นขอขยายความว่ามันมี 4 หัวใจหลัก ใน GDP การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในความหลากหลายทางเพศ

  1. บันเทิง ผับบาร์ คาบาเรต์ แดร๊ก ร้านเหล่า โชว์ ต่าง ๆ ขาดไม่ได้เลย ใคร ๆ ก็รู้ ต่างชาติที่เข้ามา
  2. อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์วาย คอนเทนต์วายคอนเทนต์ยูริต่าง ๆ ปีที่แล้วมูลค่าส่งออกซีรีส์วาย 1,500 ล้านบาท ส่งออกไปจีน ไปนู่นนี่นั่น ต่อให้เกาหลีมี KPOP ก็สู้เราไม่ได้ จีนเกาหลีเขาอนุรักษ์นิยมสุดๆ
  3. การท่องเที่ยว ทัวร์ ต่าง ๆ ประเทศไทยเฟรนด์ลี่มาก คู๋รักชายชายเดินจับมือกันก็ไม่มีใครเดินมาต่อย มาทำร้ายร่างกาย เขาสามารถเข้ามาเที่ยวเข้ามาพักผ่อนได้
  4. medical hub การผ่าตัดแปลงเพศ การศัลยกรรมเสริมความงาม หมอไทยเก่งมาก

ทุกอย่างมูลค่ามันสูงมาก และทำให้เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคไม่ว่าจะเปิดตัวหรือไม่เปิดตัวมันเยอะมาก เป็นเรื่องธรรมดาที่ภาคธุรกิจจะต้องมาแย่งส่วนแบ่งการตลาด เขาพยายามที่จะเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ให้ได้

 

ในการจัดงาน Bangkok Pride เราดูแลในส่วนของ partnership ทั้งหมด มันเห็นภาพชัดว่ามีบางองค์กรที่เขาเข้าใจจริง ๆ และพยายามที่จะปรับนโยบายในองค์กรของตนเอง ในการสร้างสวัสดิการให้พนักงาน เวลาเรามองมันก็เห็นได้ว่าต่อให้คุณผลิตสินค้ามาแบรนด์หนึ่งต่อให้มีสโลแกนมาอันหนึ่ง ถ้าคุณไม่ได้มีความเข้าใจจริง ๆ มันก็จะมองดูแล้วตลก ผู้บริโภคเองก็แยกแยะได้ บางแบรนด์ก็อาจจะฉาบฉวยจริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่ามีที่แค่มาเพื่อทำการตลาด เฟิร์นมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เฟิร์นว่ามันสนุกมากเลยที่ภาคธุรกิจเขาเข้าใจทำอะไรกันแบบนี้ มองว่ามันเป็นการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้แข่งขันกันแค่ส่วนแบ่งการตลาด แต่ผู้บริโภค ณ วันนี้ เขาตัดสินใจเองได้แล้ว เขามีสิทธิที่จะเลือกว่าเขาจะใช้บริการเจ้าไหน ซื้อประกันเจ้าไหน กินอาหารร้านไหน แต่ละองค์กรแต่ละบริษัทมันต้องมาแข่งกันที่จะซื้อใจผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วเขาจะทำอย่างไร มันก็เป็นการเรียนรู้ที่ภาคธุรกิจเองที่ต้องทำความเข้าใจว่าฉันจะต้องทำอย่างไร สิทธิมันมีอะไรบ้าง ความต้องการจริง ๆ ของผู้บริโภคกลุ่มนี้คืออะไร สินค้าแบบไหนที่จะเจาะตลาดได้ เฟิร์นมองว่าเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของภาคธุรกิจที่เฟิร์นมองเห็น และมันทำให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มี power มาก ๆ ถ้าไม่มี power มากคนจะไม่เข้ามาแย่งกันขนาดนี้

 

หมอแพท

ปกติเราก็รักแม่ทุกวัน แต่พอวันแม่เราก็ให้ดอกมะลิ เราก็มีสัญลักษณ์ของวันแม่ ของสัปดาห์วันแม่ ของเดือนแห่งวันแม่ มันก็เหมือนกัน บริษัทแต่ละบริษัทก็สนับสนุนอยู่แล้ว สนับสนุนในทุก ๆ วัน แล้วทำไมเราจะเอนจอยในช่วงที่มันเป็น pride month ไม่ได้

 

เรื่อง pride parade ได้ติดตามดูก็เห็นเหมือนกันว่าอันนี้นะปกติไม่ได้ทำสักหน่อยนึง มาฉกฉวยเอาสัญลักษณ์สีรุ้งมาใช้ อันนี้ก็ไม่ว่าจะเป็นทางการตลาดหรือทางนโยบายก็ตาม ทุกอย่างเริ่มต้นที่ awareness เราต้องการการตระหนักรู้ pride parade ที่อเมริกาเขาเกิดมาจากการต่อสู้ พอได้ชัยชนะเขาก็เฉลิมฉลอง พอมันเป็นวัฒนธรรมที่เรารับมา เรามาใช้มันเป็นอุปกรณ์หนึ่งเพื่อใช้ในการสร้าง awareness ดังนั้นเมื่อภาคเอกชนเข้ามาร่วม ไม่รู้ล่ะว่าก่อนหน้านี้เขาสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน แต่เขาก็มาเข้าร่วม มันเหมือนเป็น KPI ให้เราดูได้เลยว่าเราต้องการ awareness เราก็ได้ awareness อย่างที่อ.แฮมพูดว่า pride parade มันคือรูปธรรมของการเปิดโอกาส เรามีโอกาสที่จะเป็นตัวเราเอง ออกไปลองดูซิว่าเมื่อเป็นตัวเราสังคมเขายอมรับมั้ย มันคือการเปิดโอกาส ทุกคนควรจะเข้าถึงโอกาสนั้นไม่ว่าคุณจะปากว่าตาขยิบมั้ยคุณก็มีโอกาสเข้าถึงตรงนั้นได้หมด อย่างที่คุณเฟิร์นพูด ผู้บริโภคเขาฉลาด ใครที่ผักชีโรยหน้า ผู้บริโภคเขารู้ เพราะฉะนั้น pride parade ทำหน้าที่ของตัวเองเป๊ะเลย คือฉันเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะจริงใจหรือไม่ เชิญมาร่วมในพาเหรดของฉันได้อย่างเต็มที่ คนดูจะเป็นคนตัดสินเอง ถ้าเธอเล่นสมบทบาทมาตั้งแต่ต้นคนดูจะปรบมือให้ ถ้าเล่นไม่สมบทบาทเขาก็ตัดสินได้

 

ส่วนแต่ละบริษัทที่เขามาร่วม แพทมองตามกลไกทางจิตวิทยา ถ้าตอนแรกเราต่อต้าน เราก็ต้อง tolerance ต้องทนอยู่กับมันให้ได้ ภาคเอกชนที่ต่อต้าน สุดท้ายเขาต้อง tolerance อยู่ดี จากนั้นเขาก็จำเป็นต้อง participant เมื่อเข้าร่วมไปสักพักหนึ่งเขาจะ acceptance เวลาเราสั่งสเต็กมาสักชิ้นหนึ่งเราไม่สามารถตักทั้งชิ้นเข้าปากได้ เราต้องค่อย ๆ สไลด์มันเป็นชิ้นเล็ก ๆ เราต้องเคี้ยวแล้วเราค่อย ๆ กลืนจนสเต็กหมดชิ้น เช่นเดียวกันสังคมหรือกระทั่งพ่อแม่ที่บ้านก็ตาม ตอนที่เรา come out บางคนบอกว่าเนี่ยหนู come out แล้วว่าหนูเป็นเกย์ ทำไมพ่อแม่ไม่ยอมรับหนู สังคมยอมรับแล้วนะ ก็จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่านี่มันคือสเต็กชิ้นหนึ่ง เราต้องตัดเป็นชิ้น ค่อย ๆ กิน ถ้าเรากินทีเดียวเราจะติดคอตาย เช่นเดียวกัน แต่ละบริษัทเขาก็จะมีสเตปของเขา เป็นไปได้ที่เขาจะก้าวสเตปพลาด แทนที่จะค่อย ๆ ทำ กลับรีบกระโดดเข้ามาสีรุ้งไปหมด แต่ให้มองด้วยจิตเมตตาว่าเขาก็พยายาม เขาอาจจะก้าวแย่หน่อยหนึ่ง แต่เขาก็พยายามจะเปลี่ยนจาก tolerance ไปสู่ acceptance ณ เวลาหนึ่งจนได้

 

อ.หยกฟ้า

ดังนั้นการจะเปลี่ยนจากคนที่แอนตี้สุด ๆ มายอมรับก็คงต้องใช้ระยะเวลา ๆ กว่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนเจตคติเขาได้ คงไม่ใช่ชั่วข้ามคืน

 

หมอแพท

ใช่ครับ และในขณะที่เขามีใจ กำลังจะเปลี่ยนมา เราก็ควรจะ appreciate ความพยายามของเขา เขาอาจจะพยายามแล้วพลาดไปบ้าง แต่สิ่งที่จะทำให้เขาแน่วแน่จนเปลี่ยนมา acceptance ได้ คือ positive reinforcement (การเสริมแรงทางบวก) คือการ appreciate จากคนรอบช้าง ฉันเข้าใจนะว่าอย่างน้อยเธอก็พยายาม

 

อ.หยกฟ้า

ให้คำชื่นชม สนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ ก็จะช่วยให้สังคมเกิดการยอมรับในภาพกว้างได้ในที่สุด

 

อ.ภาณุ

แฮมรู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะทำผิดพลาดหรือยังไง สุดท้ายมันคือการ win-win อย่างแบรนด์ Apple มีการเปลี่ยนสายนาฬิกาให้เป็นสีรุ้ง ในช่วงเดือน pride month และเขาทำอย่างต่อเนื่อง แฮมรู้สึกว่าในแง่ของผู้บริโภค หรือในแง่ของบุคคลคนหนึ่งที่เห็น มันคือการ normalize ว่า กุมภามีวาเลนไทน์ ธันวามีคริสต์มาส ตุลามีฮัลโลวีน การที่เดือนมิถุนาเรามี pride month มีการเฉลิมฉลอง ไม่ว่าจะฉาบฉวยหรือไม่ฉาบฉวยแค่ไหน มันให้เห็นว่าในหนึ่งปี หนึ่ง cycle นี้ เดือนมิถุนาจะเป็นหนึ่งเดือนที่เฉลิมฉลองการเป็น pride มันคือการยอมรับหรือการเพิ่มเติมเพศทางเลือกมากขึ้น จริง ๆ มันไม่ได้หยุดที่เดือนมิถุนา ที่อังกฤษมีการขยายถึงกรกฎาถึงสิงหาด้วย เพียงแต่เดือนที่พีคคือเดือนมิถุนา แฮมมองว่าในแง่ของบุคคลมันคือการ normalize คนว่า ถึงเดือนมิถุนาแล้ว ถึง pride month แล้ว ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการขยับเพื่อเฉลิมฉลองเดือนนี้

 

อ.หยก

การที่หน่วยงานธุรกิจ องค์การต่าง ๆ นานา มาร่วมขับเคลื่อน มาจอยกับ pride month ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นสีรุ้งหรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ฉาบฉวยหรือเปล่าไม่รู้ แต่พอทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แน่นอนการยอมรับในสังคมมันจะค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันจะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อคนมองเป็นเรื่องปกติ การยอมรับจะเกิดขึ้นในที่สุด

 

 

การสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอคติ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ควรเริ่มจากไหน


 

คุณภีรญา

เริ่มจากครอบครัว ถ้าเราจะสร้างสังคมที่ไม่ตีตรา ไม่กีดกัน สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญสุด เพราะมันเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ พ่อแม่สามารถที่จะดูแลได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กคนหนึ่งเกิดมา ไปโรงเรียนและออกไปเจอโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร บางอย่างมันเหมือนอยู่นอกเหนือการควบคุมไปแล้ว เราไม่รู้ว่าจะไปเจอครูแบบไหน เพื่อนแบบไหน สังคมการทำงานเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือครอบครัว ต่อให้เราออกไปเจอสังคมข้างนอก ถูกตีตรา ถูกตัดสิน เจ็บช้ำน้ำใจ เรากลับมาบ้านเรายังมีพ่อแม่พี่น้องที่เข้าใจ รับฟัง มีความเห็นอกเห็นใจกัน มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถจะเป็นตัวเองได้ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ถึงความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นรากฐานที่สำคัญมาก และสมมติว่าหลาย ๆ ครอบครัวสามารถที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้านของตัวเองได้ เชื่อว่าเรื่องอื่น ๆ มันก็ลดลงได้เอง

 

หมอแพท

สังคมคือคนที่มาอยู่รวมกัน สังคมจะปลอดภัยเมื่อบุคคลเป็นบุคคลปลอดภัย พอบุคคลทุกคนในครอบครัวเป็นบุคคลที่ปลอดภัย ครอบครัวจะเป็นครอบครัวที่ปลอดภัย และเมื่อครอบครัวในชุมชนนั้นแทบทุกครอบครัวเป็นครอบครัวปลอดภัยจะกลายเป็นชุมชนที่ปลอดภัย และเมื่อหลาย ๆ ชุมชนเป็นชุมชนที่ปลอดภัยก็จะกลายเป็นสังคมที่ปลอดภัย และเมื่อสังคมทั้งประเทศเป็นสังคมที่ปลอดภัยจะกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัย และสุดท้ายจะกลายเป็นโลกที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นมันเริ่มต้นจากจุดที่เป็นบุคคล แล้วอะไรล่ะที่จะเป็นตัวปลูกฝังบุคคล ก็คือสถาบันครอบครัวอยู่ดี
แพทเจอเยอะมากเพื่อน ๆ ที่มีลูก แล้วแพทถามว่าถ้าลูกเป็นเกย์เป็นเลสเบียนล่ะ ทุกคนจะพูดคล้าย ๆ กันหมดเลยว่าให้เขาเป็นอะไรก็ได้ขอให้เขาเป็นคนดีก็พอ แพทรู้สึกว่า No ไม่ใช่ เรายังคงมา validate ยังสร้างเงื่อนไขอยู่เลยว่า “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดีก็พอ” เราควรจะเปลี่ยนความคิดเป็นว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้มีความสุข และไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน” นี่ต่างหากคือ attitude ที่ปลูกฝังลงไปแล้วจะทำให้กลายเป็นบุคคลที่ปลอดภัย หนึ่งตัวเองมีความสุขปลอดภัยต่อตัวเอง สองไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนคือปลอดภัยต่อคนอื่น แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้อง validate ว่าต้องเป็นคนดี เพราะเป็นคนดีมันดูยากเหลือเกิน ด้วยกฎเกณฑ์ไหนล่ะมันมีหลายกฎเกณฑ์หลายศาสนา เราเป็นอะไรก็ได้แต่เป็นตัวเองที่มีความสุขและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน attitude แบบนี้ถ้าปลูกฝังในตัวเด็กหรือในตัวเราเองก็ได้ ตอนนี้เราขอเป็นตัวเราเอง เป็นอะไรก็ได้ที่เรามีความสุขและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน มันทีที่เราผ่านความคิดนี้เราจะกลายเป็นบุคคลที่ปลอดภัย และเราจะสามารถส่งต่อ attitude แบบนี้ออกไป แพทเชื่อว่า attitude ที่ดีมันจะมีกลิ่นหอม พอคนได้กลิ่นแล้วเขาก็อยากจะใช้ attitude แบบนั้น และเราก็จะแพร่กระจาย attitude แห่งความปลอดภัยนี้ ทำให้สังคมปลอดภัยได้

 

อ.ภาณุ

ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ใช่ สถาบันที่สำคัญคือสถาบันครอบครัว แต่แฮมรู้สึกว่า ถ้ามองในแง่ครอบครัว บางคนที่เกิดมาครอบครัวเขาอาจจะไม่ได้ยอมรับ ในการที่มาอยู่โรงเรียนเขาอาจเจอเพื่อนที่ยอมรับเขา หรืออาจเจอคุณครูที่ยอมรับ หรือเจอกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยอมรับเขา ถ้าในแง่ตัวบุคคล การที่เรามีใครสักคนที่เขายอมรับตัวเราได้อย่างที่เป็นเรา ยอมรับในเพศสภาพ ยอมรับในการเป็นตัวเราโดยที่ไม่ถูกตัดสิน การที่เราเจอคนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเราเห็นว่าเขารับเราได้ รักเราได้ นี่คือการสร้างเกราะป้องกันอันหนึ่งที่ดีที่สุด ถ้าเราสามารถเอาสิ่งนี้กลับเข้ามาที่ตนเองได้ การสร้างเกราะหรือสร้างความรู้สึกว่านี่คือตัวเรา นี่คือตัวฉัน นี่คือเพศสภาพของฉัน นี่คือตัวตนของฉันแล้ว เรารับมันได้ เรารักมันได้ เรามีความภูมิใจหรือ pride กับมันได้ เราหวังว่าสังคมอื่นจะดี แต่ถ้าเราเจอคนที่เขาอาจจะไม่ได้หวังดีหรือคนที่มีความเลวร้ายบางอย่างกับตัวเรา ถ้าเรามีเกราะที่ดีสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะถูกกระเทือนแค่ไหน เราก็จะแข็งแรงต่อได้ นี่คือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดซึ่งมันเกิดขึ้นจากตัวเราและจากคนรอบข้างที่เป็นคนซัพพอร์ตเรา

 

ส่วนในเรื่องของสังคม อคติ ทุกอย่าง มันอยู่ในอากาศ มันคือสิ่งที่เราสูดเข้าไปตลอดเวลา ถ้าจะแก้ที่บุคคลแล้ว สังคมก็ต้องขยับหรือแก้ไปด้วยกันเพื่อให้อากาศมันดีขึ้น อากาศดีขึ้นเราก็หายใจได้โล่งขึ้น

 

อ.หยกฟ้า

สรุปแล้วก็คือเราก็ต้องเริ่มจากตัวเราเองด้วย ถ้าเรามีแรงซัพพอร์ตที่ดี ถ้าหาจากครอบครัวไม่ได้ ก้ไปหาแรงซัพพอร์ตจากคนที่เรารู้สึกว่าเขาจะสามารถอยู่ข้าง ๆ เรา และมั่นใจเชื่อมั่นในตัวเรา และเคารพในความเป็นตัวเรา มันก็จะทำให้เราเกิดความเคารพตัวเองในที่สุด นี่คือในส่วนของบุคคล

 

ในส่วนของสังคม หยกเชื่อว่าในการจัดให้มี pride parade หรือ pride month ขึ้นมาทำให้คนเกิดความตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราควรจะขยับมาให้ความสำคัญ กับกลุ่มคนที่โดยลิดรอนสิทธิอะไรบางอย่างในสังคม มันก็จะทำให้สังคมโดยถ้วนหน้ารู้สึกว่าเราสามารถทำได้ ตรงนี้ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ยังเป็นช่องว่างอยู่ เรามาช่วยกัน เพื่อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเองเคารพในตัวเองแล้ว ยังรู้สึกว่ามีคนอื่นที่เคารพในตัวฉัน และวันหนึ่งเราก็เคารพซึ่งกันและกัน และในอนาคตไม่ต้องมีตีตรา ไม่ต้อง label ว่า LGBTQIAN+ แต่เป็น person กับ person คุยกัน หยกอยากอยู่ในเห็นถึงวันนั้น อยากเห็นสังคมที่มันเท่าเทียมกันจริง ๆ

 

หนึ่งมันก็ต้องเริ่มจากใจเราด้วย เราก็ต้องเปิดกว้างเพียงพอ คนที่เขายังแอนตี้อยู่เราก็อาจจะต้องเปิดใจให้เขานิดนึง เขาอาจจะต้องกล้ำกลืนนิดนึงกับสิ่งที่เขายึดถือมาเป็นเวลานาน ต้องให้โอกาสเขาสักพักหนึ่งให้เขาค่อยซึมซับ ค่อย ๆ เข้าใจตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้และมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากชายหญิงทั่วไป ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ มันเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมเพียงแต่มันถูกกดทับ และถูกคนอื่นมองว่ามันไม่ปกติและเกิดการแบ่งแยกกันขึ้นมา

 

ถอดความ PSY Talk เรื่อง จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง
จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

โดยวิทยากร
  • ผศ. ดร.ฐนันดรศักดิ์ บวรนันทกุล
    อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช
    อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อาจารย์ ดร.ปิยกฤตา แก้วพิกุล
    อาจารย์ประจำคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์
    รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 16.00 – 17.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1787613661449021

 

 

 

 

 

มีการใช้หลักการทางจิตวิทยาในกระบวนการสอบสวนหรือไม่


 

อ.ฐนันดรศักดิ์

ในแง่ทฤษฎีการเรียนการสอน จิตวิทยาถูกนำมาใช้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในสาขา โดยเฉพาะในวิชาทฤษฎีอาชญวิทยา (Criminology) มีพูดถึงพื้นฐานทางจิตวิทยาต่าง ๆ (เช่น เรื่องความจำที่ผิดพลาด การโกหก การสารภาพเท็จ) และมีวิชา Personality and crime คือเรื่องบุคลิกภาพกับการประกอบอาชญากรรม ในทางวิชาการนำไปใช้ได้ค่อนข้างเยอะ

 

อีกส่วนหนึ่งใช้ในวงการปฏิบัติ ในกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ ในยุคแรกก็มีวิชา Forensic Psychology แปลว่า นิติวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยา หรือ นิติจิตเวช เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก มีทั้งการศึกษาและการฝึกอบรม ตอนหลังมีการเพิ่มนักจิตวิทยามาในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เรียกว่าสหวิชาชีพ เนื่องจากมองว่าเด็กเป็นกลุ่มคนที่มีจิตใจเปราะบาง นักจิตวิทยาก็จะช่วยในกระบวนการสอบสวนไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำสองในเด็กและผู้หญิง ไม่ให้ระลึกถึงความบอบช้ำทางจิตใจที่มีอยู่ (Psychic trauma) ในประเทศไทยก็นำมาใช้แล้ว

 

เรื่องที่สามคือการศึกษาที่ FBI ที่ได้ประมวลไว้และนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ เผยแพร่ในทางภาพยนตร์ก็มี อาทิ criminal mind คือการศึกษาเรื่องแรงจูงใจของอาชญากรที่ประกอบอาชญากรรม มักเกี่ยวข้องกับการตามล่าเหล่าฆาตกรต่อเนื่อง (Serial killing) และล่าสุดในช่วง 10 กว่าปีนี้ มีการทำ Criminal profiling ประวัติอาชญากรรมทางจิต เป็นการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีของศาล ในอเมริกามีศาลที่เรียกว่า Mental health court เป็นศาลที่พิจารณาความผิดของผู้ที่มีปัญหาโรคจิต หรือติดเสพสารเสพติดจนเสียสภาพจิตไป ในอังกฤษก็มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่โด่งดังเรื่องนี้ อยู่ที่ลิเวอร์พูลและฮัดเดอส์ฟีลด์ ตัวท่านและลูกศิษย์ก็ได้เผยแพร่เรื่อง criminal profiling จนเป็นที่แพร่หลาย

 

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของบทบาทของการใช้จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

ในการพิจารณาคดีของศาลเอง ผมได้ไปบรรยายหลักสูตรผู้พิพากษาเรื่องจิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวน ก็พบว่าเขานำเอาเรื่อง จิตวิทยาในการโกหก และจิตวิทยาในเรื่องการ recall ความทรงจำของคนที่นำตัวมาเป็นพยาน มาใช้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงเรื่องจิตวิทยาในการรับสารภาพ เหล่านี้เป็นมิติที่พยายามดึงเอาจิตวิทยามามีบทบาทในทางอาชญวิทยาและกระบวนการยุติธรรม

 

 

คนที่เรียนหลักสูตรการใช้จิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวนมีใครบ้าง


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

คนที่เรียนศาสตร์เหล่านี้ก็มีบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เราได้ไปทำ MOU กับมหาวิทยาลัยฮัดเดอส์ฟีลด์ แล้วได้เอาพวกวิชา Investigative Psychology เข้ามา มีการทำคอร์สอบรมให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ศาล ตำรวจ ราชทัณฑ์ จนถึงผู้คุมประพฤติเยาวชน

 

อ.อภิชญา

ลูกศิษย์ของเราที่จบจิตวิทยาไป (แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม) บางคนก็ไปทำงานในกระทรวงยุติธรรม บางคนก็ได้ทุนของกพ.ไปเรียนทางด้าน Forensic Psychology และด้าน Applied Psychology ตนเองก็เลยเปิดรายวิชา Psychology and Crime เพื่อให้นิสิตที่สนใจทางด้านนี้จะได้นำความรู้ทางจิตวิทยาไปต่อยอดหรือใช้ในชีวิตประจำวันหรือชีวิตการทำงาน เราสอนเกี่ยวกับเรื่อง false memory ความจำผิดที่พลาด ให้ได้รู้ว่าเรามักมั่นใจในความจำของเรามากเกินจริง เราจะคิดว่าเราเห็นเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้ แต่ทุกครั้งที่เราพูดออกมาใหม่ เราจะ encode ข้อมูล ใส่สี ตกแต่งข้อมูล และใส่กลับเข้าไปในสมองอีกทีหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความจำผิดที่พลาด และ false confession การสารภาพเท็จ ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุก ในต่างประเทศพบเคสเหล่านี้หลังจากพิสูจน์ด้วย DNA แล้วได้พบว่าการให้ปากคำของพยานและผู้ต้องสงสัยนั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนก็ตั้งใจโกหก เพราะมี hidden agenda แต่บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่มีความจำที่ผิดพลาด และมีบุคลิกที่คล้อยตามสิ่งชี้แนะในบริบทแวดล้อมได้โดยง่าย

 

สำหรับการนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ก็อย่างเช่นการเสพข่าว เราจะสามารถติดตามข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ พิจารณาได้ว่าข่าวไหนน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

 

อ.ปิยกฤตา

ที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีเปิดรายวิชาจิตวิทยากับกระบวนการยุติธรรม สำหรับคนที่จะทำงานในกระบวนการยุติธรรม การมีองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน เพราะอาชญากรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน คือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จิตวิทยาสามารถเข้ามาช่วยได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตอนเกิดอาชญากรรมจนถึงการขึ้นศาล การพิจารณาคดี การตัดสินโทษ และการบังคับคดี โดยจิตวิทยาจะเข้ามาช่วยปิดจุด Human error ที่มนุษย์นั้นสามารถมีได้ตลอดเวลา

 

ตัวอย่างการใช้จิตวิทยาในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตั้งแต่ยังจับคนร้ายไม่ได้ ก็จะมีการทำ criminal profiling ที่ดูความสอดคล้องของพฤติกรรมเพื่อวิเคราะห์หาตัวคนร้าย และเมื่อได้ตัวผู้ต้องสงสัยและพยาน การสอบปากคำก็สามารถนำจิตวิทยาเข้ามาช่วยได้ในการดูว่าความทรงจำของผู้ให้ปากคำที่อาจจะมีข้อผิดพลาดหรือยังไม่สมบูรณ์นั้น จิตวิทยาจะช่วยเติมให้มันละเอียดขึ้นหรือแม่นยำขึ้นได้อย่างไร หรือตอนชี้ตัวผู้ต้องสงสัย ศาสตร์จิตวิทยารู้ว่าความจำของมนุษย์นั้นจดจำเป็นภาพรวมมากกว่าที่รายละเอียด ดังนั้นควรให้ดูในองค์รวมก่อนไปดูรายละเอียดที่ตาหรือจมูก

ดังนั้นการมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยา นอกจากช่วยในการทำงานของผู้เกี่ยวข้องแล้ว กับคนทั่วไปยังช่วยให้เรามีวิจารณญาณในการเสพข่าว และการวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวอาชญากรรมมากขึ้นด้วย

 

 

กระแสสังคมที่ช่วยกันตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ในคดี มีอิทธิพลต่อกระบวนการสอบสวนเพียงใด


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

การจับพิรุธของสื่อสังคมก็อาจมีส่วนช่วยพนักงานสอบสวนในแง่ของการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานหรือกวาดข้อคิดข้อสงสัยต่าง ๆ เข้ามาเพื่อหาข้อพิสูจน์หาความจริงให้มากที่สุด ไม่ให้ตกหล่นประเด็นใดไป นอกเหนือจากที่ใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งการสอบสวนของเจ้าหน้าที่เขาก็มีเทคนิคของเขาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน โรงเรียนนายร้อยเขามีวิชาชื่อว่า จิตวิทยาตำรวจ ที่สอนให้พนักงานสอบสวนนำหลักการต่าง ๆ มาใช้ประกอบในการสอบปากคำ มันก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือมีหลักการความรู้ กระบวนการ และเจ้าหน้าที่เขาก็มีประสบการณ์ของเขาที่อาจจะเป็นเรื่องจิตวิทยาในชีวิตประจำวันมาประยุกต์ร่วมด้วย

 

ส่วนในแง่การทำสำนวนคดี กระแสสังคมไม่ได้กระทบมากนัก เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ ทั้งพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม หรือพยานในที่เกิดเหตุ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกกลั่นกรองโดยอัยการอีกชั้นหนึ่ง และพิสูจน์ในศาล ดังนั้นกระแสสังคมก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากนักเพราะจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานเป็นหลัก

 

ประเด็นของสังคมน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า ประชาชนจึงมีการพยายามจับข้อพิรุธต่าง ๆ ดังนั้นนอกเหนือจากการที่ตำรวจทำตามหลักวิชาการที่เรียนมา ทำงานไปตามข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม และนำข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากนั้นก็เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในวงการตำรวจเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความชื่อมั่นในการเก็บพยานหลักฐาน แต่ถามว่ากระแสสังคมเหล่านี้มีผลต่อคดีมากหรือไม่ คิดว่ามีผลในการทำงานแค่ระดับหนึ่ง เพราะข้อมูลหลักฐานที่จะนำไปพิสูจน์ก็จะต้องอิงจากหลักการที่มีอยู่ในกระบวนยุติธรรม

 

 

การวิเคราะห์บุคลิกภาพของอาชญากรมีส่วนในการพิจารณาคดีเพียงใด


 

อ.อภิชญา

ในการพิจารณาคดีอาชญากรรมจะให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรมทางนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า ส่วนเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับบุคลิกภาพก็มีการให้ความสนใจ แต่ยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก

 

ในต่างประเทศ เช่นในประเทศอังกฤษ มีการวิเคราะห์บุคลิกภาพและสืบประวัติของคนเวลาให้ปากคำ ว่าพยานหลักฐานที่มาจากพยานหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีคนนี้มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยานั้นยังไม่ได้นับเป็นหลักฐานสำคัญเท่ากับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ให้ทางศาลไว้พิจารณา

 

 

จิตวิทยาการโกหก จับพิรุธ มีจริงหรือไม่


 

อ.ปิยกฤตา

ทางจิตวิทยาก็มีความพยายามอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนเราเวลาที่เราโกหก ถ้าเราโกหกจะมีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง

 

จิตวิทยามีกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการโกหกอยู่ 3 แนวทาง คือ

  1. Emotional approach เสนอว่า คนโกหกจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น อันเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกผิด รู้สึกกลัว รู้สึกตื่นเต้น
  2. Cognitive approach เสนอว่า คนโกหกจะใช้ทรัพยากรทางสมองมาก เนื่องจากการโกหกเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ทำให้การตอบสนองทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวโดยรวมจะช้าลง พูดช้าลง หรือมีจังหวะหยุดพูดค่อนข้างบ่อย
  3. Attempted-control approach เสนอว่า คนโกหกมักพยายามควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งการควบคุมนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนเราฝึกฝนอยู่ทุกวัน ดังนั้นยิ่งพยายามควบคุมยิ่งทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ

 

จะเห็นว่าแต่ละแนวคิดให้ข้อเสนอแนะที่ขัดแย้งกันในบางจุด เช่น แนวคิดแรกบอกว่าคนโกหกจะตื่นเต้น ทำให้ขยับร่างกายมากขึ้น ดูยุกยิก ขณะที่แนวคิดที่สามกลับบอกว่าคนโกหกจะทำให้คนมีท่าทีแข็ง ๆ คอยยั้งตัวเอง หรือการที่แนวคิดที่สองเสนอว่าคนโกหกจะพูดช้าลงและตะกุกตะกักเพราะต้องคิดมากขึ้น แต่ก็มีงานวิจัยหลายงานพบว่าคนโกหกจะพูดเร็ว พูดรัวจนแทบไม่มีจังหวะหยุดเลย ต่อมางานวิจัยที่รวบรวมสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ข้อสรุปว่าคนโกหกจะพูดเร็วหรือช้า รัวหรือตะกุกตะกัก ขึ้นอยู่กับประเภทของการโกหก เช่น หากเป็นการโกหกด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ ไม่ใช่แค่ปกปิดหรือไม่พูด การโกหกลักษณะนี้จะทำได้ยากกว่า ทำให้คนโกหกพูดตะกุกตะกัก เพราะคิดไปพูดไป แต่ถ้าเป็นการโกหกที่แค่ปกปิดความจริงหรือพูดไม่หมด คนโกหกจะพูดเร็ว เพราะเรื่องราวจะมีอยู่ในความคิดแล้ว

 

ส่วนเรื่องภาษากาย ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่พอจะได้ผลวิจัยที่สอดคล้องกันว่าคนโกหกจะมีการเคลื่อนไหวมือ แขน เท้า ที่ช้าลง และมีการใช้เสียงสูงกว่าปกติ ส่วนการหลบตา การมองไปทางอื่น การยิ้ม ยังไม่ใช่ภาษากายที่จะระบุได้ถึงการโกหก รวมถึงที่คนเชื่อกันว่า คนโกหกจะมองบนซ้ายนั้น งานวิจัยปัจจุบันก็ยังไม่สนับสนุนไปในทางเดียวกัน

ดังนั้นการที่จะระบุว่าคนโกหกมีภาษากายหรือมีการใช้คำพูดเช่นไร ยังไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถสรุปตายตัวได้

 

 

เครื่องจับเท็จใช้ได้จริงหรือไม่


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

เครื่องจับเท็จยังมีประเด็นในแง่กฎหมาย คือยังไม่ได้เป็นสภาพบังคับ แม้ตำรวจจะใช้เครื่องจับเท็จในการสอบสวน แต่ในกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ยอมรับ ศาลยังไม่ได้ยอมรับ เป็นได้เพียงข้อมูลประกอบ ถ้ามี

 

ส่วนในแง่จิตวิทยา เครื่องจับเท็จยังมีข้อผิดพลาดในระดับหนึ่ง เช่น การดื่มเบียร์เพียง 1 กระป๋อง ก็สามารถทำให้เข็มไหวได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ หรือความอ่อนไหวของผู้ถูกซักถาม ที่จะทำให้เกิดผลลวง หรือในทางตรงกันข้าม หากมีการฝึกฝนและเข้าใจการทำงานของเครื่องมือ เช่นคนที่ทำงานด้านข่าวกรอง ก็สามารถโกหกได้เป็นตุเป็นตะโดยที่เครื่องไม่สามารถจับได้

 

ด้วยเหตุนี้หากผู้ถูกสอบสวนยินยอมเข้าเครื่องจับเท็จ ข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นเพียงพยานประกอบในการรับฟังเท่านั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้ในการตัดสินคดีได้แบบข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์

 

 

ทำไมจึงมีคนรับสารภาพเท็จ


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ก่อนการให้ปากคำในศาลก็มีการให้สาบานตน ถึงขนาดมีการพูดกันว่าการพิจารณาคดีในศาล ชนะหรือแพ้ขึ้นอยู่กับว่าใครโกหกเก่งกว่ากัน คนไปสาบานตัวก็มีทั้งคนที่กลัวและไม่กลัว ยืนขาไขว้กันหรืออะไรต่าง ๆ ผู้พิพากษาบางคนก็เชิญพระพุทธรูปมาตั้งในศาลเลย ต้องยอมรับว่าบ้านเราบางครั้งมันมีการเสี้ยมพยาน คือก่อนที่จะขึ้นให้ปากคำ บางครั้งเองทนายก็เอาพยานมาแล้วคุยว่าถ้าเขาถามแบบนี้ต้องตอบแบบนี้นะ เคยมีถึงขนาดกลับคำให้การในศาลเลย เพราะฉะนั้นการให้การเท็จหรือไม่เท็จในแง่หนึ่งก็มาจากการเตรียมกัน

 

และมีกรณีไม่น้อยที่ทนายความบอกลูกความให้รับสารภาพ เนื่องจากมีเรื่องของบัญชีอัตราโทษ ภาษาบ้านเราเรียกว่า “ยี่ต๊อก” บางครั้งทนายความเองก็ไปเดาเอาว่าถึงลูกความไม่ผิดแต่ถ้ารับสารภาพ ศาลก็จะตัดสินด้วยการรอลงอาญาหรือได้รับการลดโทษ ดังนั้นทนายจึงให้คำแนะนำแก่ลูกความว่า ต่อให้ไม่ผิดก็ให้สารภาพ ดีกว่าสู้คดีแล้วแพ้

 

อีกประเภทหนึ่งคือ ฝั่งจำเลยไม่มีข้อพิสูจน์ที่จะหักล้างได้ ไม่มีความสามารถในการเอาพยานหลักฐานอย่างอื่นมาโตแย้งได้ เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร คนที่ไม่มีหนทางในการสู้คดีบางคนจึงมองว่าการสารภาพเป็นทางออกของตน เพราะอย่างน้อยศาลก็จะลดโทษและตนก็จะติดคุกไม่กี่ปีเป็นต้น
การรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้ทำผิดก็มีเยอะเหมือนกัน

 

อ.อภิชญา

การสารภาพเท็จมีหลายแบบ มีเคสหนึ่งในต่างประเทศที่สารภาพเท็จโดยการที่เจ้าตัวเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุจริง ๆ เนื่องจากขณะเกิดเหตุผู้ต้องสงสัยได้กินยากล่อมประสาทเข้าไป ทำให้ตกอยู่ในภาวะมึนงง และเมื่อนำตัวมาไต่สวน การไต่สวนเป็นระบบปิด คือไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก ไม่มีทนาย ด้วยสภาวะแวดล้อมและวิธีการซักถามบางอย่าง ทำให้ผู้ถูกไต่สวนเกิดความจำผิดพลาดและเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุ เรียกว่า Internalize false confession

 

ในประเทศไทย ก็มีคดีล่วงละเมินทางเพศคดีหนึ่งที่ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ แต่เมื่อตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าไม่ใช่คนร้าย ส่วนที่รับสารภาพไปนั้นเพราะขณะถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่โน้มน้าวให้รับสารภาพ เพราะอย่างไรก็ไม่มีทางสู้พยานหลักฐานได้ ไม่มีทางหนีพ้น และผู้ต้องสงสัยก็เชื่อตามนั้น

 

กรณีที่สารภาพเท็จโดยคล้อยตามว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดนั้นมีจริง แต่มีไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสารภาพเท็จโดยรู้ตัว เนื่องจากอยากให้ตนหลุดพ้น เหนื่อยจากการสอบสวน จึงตัดสินใจรับสารภาพเพราะคิดว่าติดคุกไม่นาน นอกจากนี้ก็มีคนที่รับผลประโยชน์จากการสารภาพ หรือต้องการช่วยเหลือคนอื่นจึงรับผิดแทน

 

 

มีปัจจัยอื่นหรือแรงจูงใจอะไรที่ทำให้คนรับสารภาพเท็จ


 

อ.ปิยกฤตา

ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหา การรับสารภาพเท็จนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่ว่าจะในกรณีที่คล้อยตามและเชื่อจริง ๆ ว่าตัวเองกระทำ หรือบางคนเต็มใจรับสารภาพเท็จเพื่อรับผิดแทนลูกแทนคนในครอบครัว หรือบางคนมีภาวะทางจิต หรือเป็น psychopath ต้องการให้ตนได้รับความสนใจ จึงรับสารภาพเท็จเพื่อให้ตัวเองตกอยู่ใน spotlight

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับสารภาพผิดในสิ่งที่ตนไม่ได้กระทำอันเนื่องจากสถานการณ์พาไป กรณีเช่นนี้คือสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งมาจากกระบวนการสอบสวน กล่าวคือ กระบวนการสอบสวนได้กระตุ้นให้ผู้ต้องสงสัยเกิดความรู้สึกเครียด กดดัน เหนื่อยล้า แล้วจึงรับสารภาพเพื่อที่จะหนีจากสภาวะที่กำลังเผชิญ อาจเพราะบางคนยังเป็นเด็กอยู่ หรือมีประสบการณ์ชีวิตน้อย แม้แต่การอดนอน หรือมีบางคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีทักษะการคิดที่ไม่มากพอ หากเขาโดนชี้นำ โดนชักชวน โดนกดดันมาก ๆ ก็อาจทำให้เขารับสารภาพผิดได้โดยที่เขาก็ไม่ได้ทำด้วยซ้ำ ดังนั้นกระบวนการสอบปากคำหากไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการสารภาพเท็จหรือการจับแพะได้

 

ส่วนเรื่องพยาน ก็มีเช่นกันที่เขาเกิดคิดว่ามีความทรงจำนี้ทั้งที่ไม่มีจริง แบบที่เรียกว่า reconstructive memory เพราะมนุษย์เราชอบมีสคริปต์อยู่ในหัว ความจำของเราไม่ไช่การอัดวิดีโอ ฉายภาพซ้ำได้เป๊ะ ๆ มันมีความไม่สมบูรณ์แบบของมัน เมื่อมันไม่สมบูรณ์แบบ เราก็อาจเอาเรื่องอื่น ๆ มาปะต่อ ๆ กันให้มันกลายเป็นความจำที่สมบูรณ์ แล้วเราก็เชื่อว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบนั้น

 

จะเห็นว่า human error ของเรามันส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมในหลายกระบวนการมาก ๆ

 

 

สิ่งแวดล้อมที่ควรให้เป็นไปในการสอบสวนเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดคืออะไร


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ปัจจุบันโลกเปิดกว้างมากขึ้น การสอบสวนในรูปแบบที่สร้างความกดดันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีโอกาสพนักงานสอบสวนจะถูกร้องเรียน อย่างที่ทราบกันเรื่องหลัก Miranda warning คือเมื่อถูกจับคุณมีสิทธิที่จะไม่พูด ตำรวจของไทยก็ต้องแจ้งสิทธิแบบนั้นแก่ผู้ถูกจับกุมเช่นกัน

 

ในการสอบปากคำ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ก็ต้องกระทำแบบโปร่งใส การสอบปากคำติดต่อกัน 4-5 ชม. อาจจะทำได้กับคนที่ไม่รู้เงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิตนเอง แต่กับคนที่เขารู้ในสิทธิของเขา การสอบโดยไม่พักเลย สอบโดยไม่มีทนาย หรือมีการใช้กำลังข่มขู่ ก็ถูกนำมาใช้อ้างในชั้นศาลได้ว่าเขาถูกสอบติดต่อกัน 5 ชม. ดังนั้นคำให้การของเขาในชั้นพนักงานสอบสวนนั้นเชื่อถือไม่ได้ ศาลก็ให้สอบสวนใหม่ในชั้นศาลเลยก็มี

 

ดังนั้นพวกการสอบในห้องมืด สอบแบบไม่มีใครอยู่เลย หรือมีแนวโน้มการใช้กำลังทำร้าย ถ้าเป็นต่างจังหวัดไกล ๆ ก็อาจมีเจอได้ แต่ในพื้นที่ที่มีความเจริญขึ้นมา พนักงานสอบสวนเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะการคุ้มครองสิทธิในปัจจุบันมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก เช่น มีการสอบปากคำโดยการบันทึกเทป เด็กไม่ต้องขึ้นให้การ การมีสหวิชาชีพหรือนักจิตวิทยาคอยดูแล พนักงานสอบสวนไม่สามารถสอบถามเด็กได้โดยตรง ต้องถามผ่านนักจิตวิทยา กระบวนการตรงนี้มันถูกกำหนดโดยกฎหมายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นวิธีการสอบสวนแบบดั้งเดิม ที่กดดันให้เกิดความหวาดกลัวความเครียดสูงเกินเหตุนั้นทำได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน มันไม่ค่อยได้ผลในปัจจุบัน เขาก็จะไปใช้เทคนิคจิตวิทยาอย่างอื่น พนักงานสอบสวนที่มีประสบการณ์สูงเมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานใดน่าจะมีน้ำหนักที่รับฟังได้ในคดี ก็จะมุ่งเป้าไปทางนั้นมากกว่าที่จะใช้การกดดัน

 

 

เทคนิคการสอบสวนแบบ Good cop-Bad cop มีจริงหรือไม่


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

มีครับ ถุงดำ แต่ก่อนภาษาตำรวจเขาเรียกว่าพาไปเที่ยว Big-C เป็นคำศัพท์เฉพาะ ปกติแล้วถ้าไปใช้กำลังเตะ ถีบ แบบ bad cop เต็มที่ มันจะเจอร่องรอย ความเสี่ยงของพนักงานสอบสวยมันมีเยอะ และอย่างยิ่งในปัจจุบันมันมีกล้องวงจรปิดทั้งในโรงพักและรอบ ๆ วิธีอื่น ๆ ที่เขาใช้ก็จะมีน้ำแข็ง คือใส่กุญแจมือแล้วเอาน้ำแข็งเป็นก้อน ๆ วางทับอวัยวะ แต่ก่อนมี เดี๋ยวนี้บางแห่งก็มี มันจะไม่ทิ้งร่องรอยบอบช้ำไว้บนร่างกาย ที่ใช้ถุงรัดแล้วคลายก็มี แต่ในปัจจุบันตำรวจเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เกิดไปทำแล้วมีคนวางยาก็แย่

 

ส่วนใหญ่เขาก็จะใช้ประสบการณ์ ว่าสำนวนคดีนี้ศาลรับฟังตรงนี้เป็นหลัก เอาพยานหลักฐานตรงนี้เป็นหลัก เขาก็จะมุ่งเป้าไปให้น้ำหนักตรงนั้นมากที่สุด ให้หลักฐานตรงนั้นไปปรากฏมากที่สุด มากกว่า

 

 

การวางตัวที่เหมาะสมในกระบวนการสอบสวนเป็นอย่างไร เช่นที่เคยได้ยินว่าให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอนด์ได้เคยพูดไว้ว่า Paradigm ในกระบวนการยุติธรรมมี 2 รูปแบบ แบบแรก Crime control คือให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก อย่างในอเมริกา อีกแบบคือ Due process คือให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหา ของประเทศไทยเรากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูฐว่ากรอบที่เราใช้เป็นแบบ Due process คือหลักที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาคือผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ และในกฎหมายของเราก็ใช้หลักการกล่าวหา คือผู้ที่กล่าวอ้างต้องเป็นผู้พิสูจน์ และถ้าพิสูจน์ไม่สมต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ต้องปล่อยตัวไป ใบกระบวนการเหล่านี้จะเห็นว่ามีการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหาค่อนข้างเยอะ

 

ทีนี้ปัญหาของรูปแบบนี้คือ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนที่มีเงินมาก ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะจ้างทนายความหรือใคร ๆ เป็นที่ปรึกษาหรือออกหน้าให้ ดังนั้นในรูปแบบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหามากเช่นนี้ ก็จะเป็นจุดอ่อนให้รัฐใช้อำนาจในการพิสูจน์และเอาผิดได้น้อยกว่า

 

 

คำแนะนำถึงคนทั่วไปในการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างละอคติ ไม่ไปตัดสินและชี้นำสังคม


 

อ.อภิชญา

มีตำรวจท่านหนึ่งเคยออกมาพูดว่า โซเชียลมีเดียก็กดดันตำรวจเหมือนกัน ตำรวจยังไม่กล้าปิดคดีบางคดีเลย แสดงว่าอิทธิพลทางสังคมมันมีจริง ถึงแม้ว่าตำรวจจะทำหน้าที่ไปตามพยานหลักฐานก็ตาม

 

ข้อดีมันก็มี คือตำรวจเขาก็ได้เก็บประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมตั้งข้อสงสัยให้ทำคดีอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่บางครั้งก็เป็นการปะติดปะต่อจนกลายเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นเอง (confabulation) ดังนั้นเราควรต้องหาสมดุลให้ดีระหว่างที่จะช่วยตำรวจสืบสวนกับการให้ความยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้อง หากเราไปกล่าวหาใครมาก ๆ และสุดท้ายแล้วเขาได้รับการตัดสินว่าไม่ผิด ก็เหมือนกับเป็นการไปทำร้ายเขา เป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจ (trauma) คนบางคนที่ถูกตราหน้า (label) และได้รับอิทธิพลทางสังคมมาก ๆ ถึงขนาดไม่อยากมีชีวิตอยู่เลยก็มี

 

อ.ปิยกฤตา

เวลาเราเสพข่าวคดีต่าง ๆ เราอาจจะชอบจับผิดว่าคนนั้นคนนี้โกหก แต่ทั้งนี้การโกหกหรือการมีพิรุธ ปฏิกิริยาที่มันออกมาจากร่างกายของคน หลาย ๆ ครั้งมันไม่ใช่ universal sign ไม่ใช่ universal expression ที่จะบอกว่าทุกคนที่โกหกจะต้องมีลักษณะแบบนี้ 1-2-3-4 มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจจะทำให้การแสดงออก คำพูด ท่าทางของเขา อาจจะดูเหมือนคนโกหก ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนทำ เช่นคนบางคนเป็นคนตื่นเต้นง่ายแม้จะกำลังพูดความจริงอยู่ อีกข้อหนึ่งคือเรามักจะคิดว่า มีแค่คนที่ทำผิดเท่านั้นที่จะดูกลัว ดูประหม่า เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องปิดบัง ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้น ความตื่นเต้นมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน นึกถึงตัวเราถ้าอยู่วันหนึ่งเราต้องไปนั่งคุยกับผู้บังคับใช้กฎหมายที่เราอาจจะถูกปลูกฝังมาว่าเขาอาจจะทำอะไรก็ได้ เราก็อาจจะรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน

 

ดังนั้นความเชื่อของเราว่าคนนั้นคนนี้มีพิรุธ คำพูดของเราอาจไปกระทบกับเขา หรือไปกระทบกับคนทำคดี แล้วส่งผลชี้นำอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งหากเป็นคนที่กระทำความผิดจริง ๆ การบอกว่าคนโกหกจะมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ เขาก็อาจจะไปฝึกและเลี่ยงไม่ทำทุกอย่างที่ชี้กันมา

อยากให้ทำความเข้าใจในมนุษย์ว่าทุกอย่างไม่มีอะไร 100% ไม่มีอะไรเป็นแพทเทิร์น และมีช่องว่างมากมายให้เกิดความผิดพลาดในสิ่งต่าง ๆ ที่เราเชื่อกันมา เพราะฉะนั้นให้เราฟังไว้ ดูไว้ พอเป็นแนวทาง แต่อย่าไปฟันธงและแสดงความคิดตัดสินอะไรแบบมั่นใจเกินไป

 

 

ฝากถึงคนที่สนใจในเรื่องอาชญวิทยา หรือจิตวิทยาอาชญากรรม


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้สร้างอิทธิพลในแง่ mass social psychology ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราน่าจะวางแผนหรือออกแบบให้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกล่อมเกลา สร้างประโยชน์ นำเอาความรู้ทั้งทางจิตวิทยาสังคมมาสร้างสรรค์สังคม อีกอันหนึ่งที่มีผลมาก ๆ คือจิตวิทยาพัฒนาการ ที่สามารถส่งผลกับเราตั้งแต่ในวัยเด็ก การปรับตัว การสร้างบุคลิกภาพ อะไรต่าง ๆ ที่จะหล่อหลอมคนว่าจะเติบโตไปเป็นคนปกติในสังคมหรือเดินเข้า juvie (สถานพินิจ) นอกจากนี้ข้อมูลที่ FBI ประมวลไว้ในแง่อาชญากรรม สามารถนำมาตกผลึกทางความคิด และนำมาเป็นองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาวางแผนอะไรต่าง ๆ ได้ ทั้งสามด้านสามารถนำมาร่วมกันเพื่อใช้สร้างคนหรือปรับพฤติกรรมของ next generation ได้

 

อ.อภิชญา

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราจะต้องดูแลคือคนที่อยู่ในคุก ถ้าเรามีความเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ จะทำอย่างไรให้คนที่เข้าไปอยู่ในคุกได้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ดังที่ เนลสัน แมนเดอลา ได้กล่าวไว้ว่า “จะดูว่าชาติไหนเป็นอย่างไร ให้ดูว่าเราปฏิบัติต่อคนที่เล็กน้อยที่สุดในสังคมอย่างไร”

 

อ.ปิยกฤตา

การมีความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจในพฤติกรรม เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะใช้ในกระบวนการยุติธรรม ใช้ในการฟื้นฟูคนที่กระทำความผิด หรือใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดก็ดี จิตวิทยามั่นไปได้หลายทาง อีกประการคือการวิจัยเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้แพร่หลายมาก ใครที่สนใจเรียนทางนี้ ผลิตงานวิจัยทางนี้ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่กระบวนการยุติธรรมไทยได้

 

 

 

Resilience – การฟื้นพลัง

 

 

 

 

การฟื้นพลัง หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ภายหลังที่พบเหตุการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในชีวิต อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลผ่านพ้นอุปสรรคและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

การฟื้นพลังสำหรับแต่ละชาตินั้น อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป เพราะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างครอบครัว วัฒนธรรม รวมทั้งศาสนาและความเชื่อของแต่ละเชื้อชาติ สำหรับบริบทไทย มีการศึกษาของกรมสุขภาพจิตที่ได้ระบุถึงองค์ประกอบของการฟื้นพลังไว้ ดังนี้

 

  1. ด้านความมั่นคงทางอารมณ์หรือการทนต่อแรงกดดัน คือ ความสามารถในการดูแลจิตใจให้คงอยู่ได้ในภาวะกดดัน รู้เท่านั้นอารมณ์ความรู้สึกของตนและผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกทางลบของตัวเองได้ในสถานการณ์กดดัน
  2. ด้านความหวังและกำลังใจ คือ มีความหวังและแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งความหวังและกำลังใจนี้อาจมาจากการสร้างด้วยตนเองหรือคนรอบข้างก็ได้
  3. ด้านการต่อสู้เอาชนะอุปสรรค คือ ความมั่นใจและพร้อมที่จะเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤต ซึ่งความมั่นใจนี้เกิดจากการตระหนักในความสามารถหรือทักษะของตนเอง คิดว่าตนเองทำได้ แก้ปัญหาที่เผชิญได้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้และเข้าถึงความช่วยเหลือหรือปรึกษา

 

การฟื้นพลังด้านความมั่นคงทางอารมณ์มีความจำเป็นมากในระยะแรกที่เผชิญสถานการณ์วิกฤต ช่วงเวลาต่อมาที่ปัญหาคงอยู่ก็ยังต้องใช้ความสามารถในความมั่นคงทางอารมณ์อยู่ เช่นเดียวกับกำลังใจที่ต้องมีอยู่ทุก ๆ ระยะ

ในระยะแรกที่จิตใจอ่อนแอ กำลังใจอาจจะมาจากคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง แต่พอเวลาผ่านไป จิตใจมีความทนทานมากขึ้น ก็อาจสร้างกำลังใจด้วยตัวเองได้ ส่วนการแก้ปัญหานั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งความมั่นคงทางอารมณ์และกำลังใจประกอบกันไปด้วย (กรมสุขภาพจิต, 2555)

 

Grotberg (1995) กล่าวว่าการส่งเสริมการฟื้นพลังเป็นการช่วยเสริมสร้างให้บุคคลมีการพัฒนาทางความคิด มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์และรับรู้ในสิ่งที่ตนเองเป็นอย่างเหมาะสมด้วยความเชื่อที่ว่า

 

  1. ตนเป็นคนมีความสามารถ มีความรู้สึกมั่นคงทางใจ เชื่อในคุณค่าและความสามารถของตน ในการควบคุมจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
  2. ตนมีความสำคัญ มีค่า มีความหมายเป็นที่ยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว กลุ่ม หรือสังคมสิ่งแวดล้อม
  3. ตนมีพลังอำนาจ มีความสามารถในการควบคุม หรือแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามาส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเองได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้บุคคลมีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและทักษะในการเผชิญปัญหารูปแบบต่างๆ ได้แก่
    • ความสามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักประเมินสถานการณ์และควบคุมการแสดงออกของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
    • ความสามารถใช้ทักษะทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
    • สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตอย่างเข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นได้ มีความเข้าใจถึงข้อจำกัดตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ หรือลงมือทำในเรื่องบางอย่าง และพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถนำแนวความคิดของการฟื้นพลังมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องตามหลักเหตุผลและจริยธรรม

 

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญต่อการสร้างเสริมการฟื้นพลัง คือต้องสร้างความรู้สึกต่อไปนี้ให้เกิดขึ้น (Gilligen , 2000)

 

  1. ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน – ด้วยการให้ความรัก คอยสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ทำให้เกิดความไว้วางใจ มีความเป็นตัวของตัวเองและมีความคิดริเริ่ม ซึ่งต้องมาจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่บุคคลอาศัยอยู่
  2. ความสำนึกในคุณค่าแห่งตน – เริ่มมาจากการให้ความรัก เมื่อบุคคลรับรู้ถึงความรู้สึกว่าถูกรักก็จะคิดว่าตนเองยังมีคุณค่า มีคนรักและห่วงใยอยู่ นำไปสู่การคิดถึงคุณค่าของตนเองที่มีอยู่
  3. สมรรถนะแห่งตน ว่าบุคคลสามารถจัดการเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วยตนเอง – ด้วยการคอยสนับสนุน ช่วยเหลือ เพื่อให้โอกาสบุคคลได้จัดการปัญหาของตนเองและเล็งเห็นถึงความสามารถของตน

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการพัฒนาการฟื้นพลังต่อปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง” โดย นลพรรณ ส่งเสริม, วรัญญา ศิลาหม่อม และ สรสิช โภคทรัพย์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46900

 

 

 

Cultural Intelligence – ความฉลาดทางวัฒนธรรม

 

 

 

Early และ Ang (2003) ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความฉลาดทางวัฒนธรรม (cultural intelligence) ขึ้นจากแนวคิดเรื่อง Loci of intelligence ของ Sternberg และ Detterman (1986) ว่าความฉลาดของบุคคลมี 4 แบบ ได้แก่ ความฉลาดทางการคิดวิเคราะห์ (metacognitive intelligence) ความฉลาดทางการรู้คิด (cognitive intelligence) ความฉลาดทางแรงจูงใจ (motivational intelligence) และความฉลาดทางพฤติกรรม (behavioral intelligence) โดยได้ให้ความหมายของความฉลาดทางวัฒนธรรมไว้ว่า เป็นประสิทธิภาพ (capability) ของบุคคลในการจัดการกับสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ในสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความฉลาดทางวัฒนธรรมได้ช่วยให้บุคคลดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

องค์ประกอบของความฉลาดทางวัฒนธรรม


 

1. อภิปัญญาทางวัฒนธรรม (metacognitive CQ)

คือ กระบวนการทางปัญญาที่บุคคลใช้เพื่อทำความเข้าใจและรับรู้ความรู้ทางวัฒนธรรม เป็นจิตสำนึกและการตระหนักรู้ของบุคคลทั้งก่อนและในระหว่างที่มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตลอดจนสามารถประเมินความรู้ทางวัฒนธรรม รวมถึงทำให้บุคคลสามารถปรับตัวและวางตัวในสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม

 

ผู้มีอภิปัญญาทางวัฒนธรรมสูงจะช่างสังเกตและระมัดระวังเวลาปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม และจะปรับใช้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ตนมีเข้ากับสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น ๆ

 

2. ความรู้ทางวัฒนธรรม (cognitive CQ)

คือ ความรู้พื้นฐานของบุคคลเกี่ยวกับวัฒนธรรม บรรทัดฐาน การประพฤติปฏิบัติ รวมถึงธรรมเนียมที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ความรู้เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากการศึกษาและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และส่งผลกระทบต่อมุมมองและพฤติกรรมของบุคคล ความรู้ที่บุคคลมีจะทำให้บุคคลสามารถประเมินความเหมือนและความแตกต่างระหว่างตนเองกับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรมได้

 

ผู้มีความรู้ทางวัฒนธรรมสูงจะสับสนน้อยลงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม

 

3. แรงจูงใจทางวัฒนธรรม (motivational CQ)

คือ ความสามารถทางจิตใจของบุคคลที่จะมุ่งความสนใจและทุ่มเทกับการเรียนรู้และการทำงานในสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยแรงจูงใจทางวัฒนธรรมเป็นแรงขับเคลื่อนที่ช่วยกระตุ้นความพยายามและแรงที่จะมุ่งไปสู่ความตั้งใจทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 

ผู้ที่มีแรงจูงใจทางวัฒนธรรมสูงจะไม่ลังเลที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม

 

4. พฤติกรรมทางวัฒนธรรม (behavioral CQ)

คือ ความสามารถในการแสดงออกทางวาจาและภาษาท่าทางที่เหมาะสมในขณะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม สะท้อนถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์เหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ สรุปได้ว่า พฤติกรรมทางวัฒนธรรมอธิบายถึงทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์

 

 

ผลของความฉลาดทางวัฒนธรรม


 

เนื่องจากความฉลาดทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการศึกษาความฉลาดทางวัฒนธรรมกับตัวแปรผลลัพธ์เชิงบวก เช่น ความพึงพอใจในงาน (job satisfaction) การปรับตัวข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural adjustment) จากงานวิจัยจำนวนมากสรุปได้ว่าความฉลาดทางวัฒนธรรมแต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อความพึงพอใจในงาน ประสิทธิภาพในการทำงาน และการปรับตัวของบุคคลในด้านต่าง ๆ โดยงานวิจัยที่ศึกษามีทั้งการศึกษาในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในต่างประเทศ นักศึกษาแลกเปลี่ยน การทำงานในสายอาชีพที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ เช่น พยาบาล พนักงานโรงแรม รวมถึงการทำงานในองค์การต่างชาติในประเทศของตนเอง ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติ

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความเพียรกับการรับรู้ความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับองค์การ โดยมีรูปแบบองค์การและความฉลาดทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรกำกับ” โดย นลิน มนัสไพบูลย์ (2564) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/79354

 

 

 

เชิญชวนนิสิตประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่ ศูนย์ PSYCH-CEO

 

ปิดเทอมแล้ว มาแสดงความคิดสร้างสรรค์ให้เต็มที่กันเถอะ!
ศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (Psychological Center for Effective Organization : PSYCH-CEO) ขอเชิญชวนน้องๆนิสิตร่วมแสดงความสามารถในการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่สำหรับศูนย์ PSYCH-CEO

 

ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2566

ชิงรางวัลชนะเลิศ 10,000 บาท!!

 

 

 

เงื่อนไขการเข้าร่วม
  • เป็นนิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สามารถเข้าร่วมได้ทุกชั้นปี ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก)
  • สามารถส่งผลงานได้มากกว่า 1 ชิ้น / คน หรือ กลุ่ม
  • ส่งผลงานในรูปแบบนามสกุล .JPG .AI .PSD หรือ .PDF ความละเอียดไม่ต่ำกว่า 300 dpi พร้อมระบุ code สีโหมด CMYK (สามารถระบุแนวคิดในการออกแบบได้ตามความต้องการในการนำเสนอ)
  • ผลงานที่เข้าร่วมการประกวดจะต้องเป็นการออกแบบของนิสิตเองเท่านั้น
  • สามารถส่งผลงานได้ที่ psyassesscu@gmail.com ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยส่งผลงานพร้อมแนบรายละเอียดผู้ออกแบบ (ชื่อ-สกุล ระดับการศึกษา ชั้นปีและรหัสนิสิต)

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ psyassesscu@gmail.com หรือโทร 02-218-1172 (พี่พลอย นักจิตวิทยาประจำศูนย์ฯ)

 

 

รางวัลการประกวด
  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 10,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 5,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3,000 บาท

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติมในการออกแบบ (Optional)

ศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรอย่างครบวงจร ทั้งสร้างข้อสอบคัดเลือกบุคลากร การวัด-การประเมิน การพัฒนามาตรวัดเพื่อการประเมินและการแก้ไขปัญหาภายในองค์กร การตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางจิตมิติของมาตรวัดทางจิตวิทยา และการจัดอบรมเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรอย่างยั่งยืน

 

 

พันธกิจของศูนย์ฯ
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินทางจิตวิทยาในประเทศไทย
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและต่อยอดความรู้เกี่ยวกับการประเมินทางจิตวิทยาในประเทศไทย
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินทางจิตวิทยาแก่ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย
  • เพื่อเป็นแหล่งให้บริการการประเมินทางจิตวิทยาที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ

 

อย่าลืมส่งผลงานกันเข้ามานะคะ

 

 

A Psychologist’s Role within Youth Justice Services in the UK: Different Ways of Working as a Psychologist

 

ขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง การบรรยายพิเศษ เรื่อง

 

A Psychologist’s Role within Youth Justice Services in the UK: Different Ways of Working as a Psychologist

 

โดยวิทยากร

Dr. Janchai King,
Senior Practitioner Educational Psychologist – Barnet Educational Psychology Team, London, UK

 

 

การบรรยายนี้ท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของบทบาทการทำงานของนักจิตวิทยาในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในสหราชอาณาจักร

 

จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 – 14.30 น.

ณ ห้อง 613 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  • การบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ
  • ลงทะเบียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

https://forms.gle/cwhJac1KQwnp7Gv89

 

สอบถามเพิ่มเติม : Bhibhatbhon.P@chula.ac.th

 

กรอบความคิด “การเลือก” (choice mindset)

 

การมี “ตัวเลือก” (choice) อย่างพอประมาณ ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ “ดี” ในชีวิต เมื่อไม่มีตัวเลือกหรือมีตัวเลือกน้อยเกินไป บุคคลอาจรู้สึกไม่มีอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ในทางกลับกัน เมื่อมีตัวเลือกมากเกินไป บุคคลอาจรู้สึกท่วมท้นกับข้อมูลที่มีอยู่และไม่สามารถประมวลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรเสีย เราจะบอกได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรา “ลงมือทำ” ในแต่ละวัน อะไรเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจาก “การเลือก” ของเรา และอะไรเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เลือกหรือไม่มีโอกาสที่จะได้เลือก

 

ลองนึกถึงเช้าวันหนึ่งที่กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างปกติ คุณตื่นขึ้นมา อาบน้ำแต่งตัว และรับประทานอาหารเช้าก่อนที่จะเดินทางไปเรียน/ทำงาน ในช่วงเวลาสั้น ๆ (น่าจะประมาณ 1-2 ชั่วโมง) คุณได้ตัดสินใจเลือกและไม่เลือกอะไรไปบ้าง ในช่วงเวลาดังกล่าว บางคนอาจมองว่า พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเลือกอะไรเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างแทบจะเป็นอัตโนมัติ แต่บางคนอาจมองว่า พวกเขาได้ตัดสินใจเลือกไปแล้วหลายครั้ง เริ่มต้นจากเลือกที่จะปิดนาฬิกาปลุกและลุกขึ้นจากเตียง เลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เวลาอาบน้ำ เลือกเสื้อผ้าที่จะแต่งตัว เลือกอาหารเช้าที่จะรับประทาน และเลือกวิธีและเส้นทางที่จะเกิดทางไปเรียน/ทำงาน หรือในสังคมออนไลน์ บางคนอาจรับรู้ว่า พฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การกดไลค์ (like) การแชร์/ส่งต่อ/ตอบกลับ การรับเป็นเพื่อน ฯลฯ เป็นการตัดสินใจเลือกทำและไม่ทำบางสิ่ง แต่บางคนก็อาจไม่ได้รับรู้การได้เลือกทำสิ่งต่าง ๆ อย่างชัดเจน

 

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าคน 2 คน อาจอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและอาจมีพฤติกรรมเหมือน ๆ กัน แต่คน 2 คนนี้ ก็อาจ รับรู้ ว่า พวกเขามีโอกาสที่จะได้เลือกสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากันและมีจำนวนตัวเลือกไม่เท่ากันด้วย ในทางจิตวิทยา ความแตกต่างของ 2 คนนี้ อยู่ที่ “กรอบความคิดการเลือก” (choice mindset) ซึ่งก็คือ แนวโน้มที่บุคคลจะรับรู้และตีความสถานการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ภายใต้มุมมองของ การมีอยู่ของตัวเลือกและการได้เลือก ที่แตกต่างกัน (Madan et al., 2020) ในสถานการณ์ที่ (จริง ๆ แล้ว) มีตัวเลือกค่อนข้างน้อย บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกชัดเจนมักจะรับรู้และตีความการกระทำของตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ “มีอิสระที่จะตัดสินใจเลือก” ส่วนในสถานการณ์ที่ (จริง ๆ แล้ว) มีตัวเลือกค่อนข้างมาก บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกไม่ชัดเจนก็มักจะรับรู้และตีความการกระทำของตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ “ไม่มีอิสระที่จะตัดสินใจเลือก”

 

 

กรอบความคิดการเลือกอาจเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล (individual difference) ที่สะท้อนประสบการณ์ที่บุคคลสั่งสมมา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางจิตวิทยานำไปสู่ข้อสังเกต 2 ประการ คือ เราสามารถกระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกชัดเจนมากขึ้นได้ และบุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกแตกต่างกันจะส่งผลต่อกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจที่มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน

 

ประการแรก การทดลองทางจิตวิทยามักจะกระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกจาก

(i) การถามตรง ๆ ว่า “ที่ผ่านมา คุณได้ตัดสินใจอะไรไปบ้าง” (ลองเปรียบเทียบกับคำถามที่ว่า “ที่ผ่านมา คุณได้ทำอะไรไปบ้าง”)

(ii) ให้เลือกสิ่งต่าง ๆ ในกระบวนการทดลอง เช่น สีของปากกา ประเภทของนิตยสาร ฯลฯ หรือ

(iii) ให้สังเกตการกระทำของบุคคล (ในคลิปวีดีโอ) แล้วระบุการกระทำที่แสดงการตัดสินใจ (Savani et al., 2010; Savani et al., 2017)

เนื่องจากวิธีที่กระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกในการทดลองทางจิตวิทยาไม่ได้แตกต่างไปจากประสบการณ์ที่บุคคลสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันมากนัก นักจิตวิทยาจึงมีความเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ เรามีการดำเนินชีวิตประจำวันกับตัวเลือกที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ (เช่น สินค้าและบริการ กิจกรรม อาชีพ ฯลฯ) ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บุคคลจากสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอาจถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้ในลักษณะที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Savani และคณะ (2010) ศึกษากรอบความคิดการเลือกกับผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันและชาวอินเดีย ผลการศึกษาที่น่าสนใจ คือ โดยทั่วไป ผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้มากกว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอินเดีย ยกเว้นในกรณีที่เหตุการณ์เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal action) เช่น การซื้อของไปฝากบุคคลอื่น การให้คำแนะนำบุคคลอื่น ฯลฯ ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันและชาวอินเดียถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้พอ ๆ กัน

 

ประการที่สอง บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจนจะมีกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจที่แตกต่างจากบุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ไม่ชัดเจน ซึ่งนักจิตวิทยาบางคนมีความเห็นว่า ความแตกต่างนี้อาจส่งผลดีต่อบุคคล แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวมได้ (Madan et al., 2020)

 

การวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน (หรือถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน) มักจะ

 

(i) มองสิ่งต่าง ๆ อยู่ในลักษณะของ “ตัวเลือก”
(ii) พยายามมองหา ความต่าง ระหว่างสิ่งต่าง ๆ มากกกว่าที่จะมองหาความเหมือน
(iii) มีการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytic thinking) มากกว่าการคิดแบบองค์รวม (holistic thinking [Savani et al., 2017])
(iv) ให้น้ำหนักกับ “บุคคล” ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำมากกว่า “เงื่อนไขแวดล้อม” และ
(v) รู้สึกมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มข้างต้นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการวางนโยบายสาธารณะได้ กล่าวคือ หากคนส่วนใหญ่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน เรามีแนวโน้มที่จะ

 

(i) ผลักให้บุคคลรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาทำ เกินกว่า สิ่งที่พวกเขาควบคุมได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ “โทษเหยื่อ” (victim blaming) เมื่อสถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น
(ii) สนับสนุนแนวคิดที่ว่า สถานภาพของบุคคล เช่น คนที่มีน้ำหนักเกิน คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศ (sexual minority) เกิดขึ้นจาก “การเลือก” ของบุคคล ซึ่งอาจโอนเอียงต่อการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
(iii) ยอมรับความไม่เท่าเทียมกัน ที่สุดโต่ง เพราะมองว่า ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคล (เช่น รายได้ การได้รับการยอมรับ ฯลฯ) เกิดขึ้นจากการเลือกของบุคคล
(iv) มุ่งที่จะแสดงตัวตน (เช่น ความคิด ความเชื่อ ความชอบ การให้คุณค่า ฯลฯ) มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับผู้อื่น และ
(v) สนับสนุนนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นความมีอิสระของบุคคล แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางลบได้หากไม่มีการกำกับดูแลที่ดี

 

 

ข้อสรุปที่ชัดเจนในตอนนี้ คือ การเตรียมตัวเลือกให้บุคคลได้ตัดสินใจเลือก (เช่น การออกแบบนโยบายสาธารณะ การออกแบบโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฯลฯ) ด้วยความหวังที่ว่า บุคคลจะมีกระบวนการตัดสินใจที่ดี (เช่น บุคคลจะพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน บุคคลจะรู้สึกมีอิสระ ฯลฯ) อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ได้หวังไว้ หากบุคคลไม่มีกรอบความคิดการเลือกและไม่ได้รับรู้ว่า พฤติกรรมของตน คือ การเลือก และกรอบความคิดการเลือกเป็นเสมือน “ดาบสองคม” ที่อาจต้องกระตุ้นให้อยู่ในระดับที่พอดีและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

 

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจนมากขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ การส่งเสริมให้บุคคลตระหนักถึงอิทธิพลของเงื่อนไขแวดล้อมที่อาจจำกัดอิสระในการตัดสินใจของบุคคล และการส่งเสริมให้บุคคลมองหาความเหมือน (แทนที่จะมองหาความต่าง) และความเชื่อมโยง (แทนที่จะมองหาความโดดเด่น) ระหว่างสิ่งต่าง ๆ อาจเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นที่ดีที่จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรู้เท่าทันกรอบความคิดของตัวเอง

 

 

รายการอ้างอิง

 

Madan, S., Nanakdewa, K., Savani, K., & Markus, H. (2020). The paradoxical consequences of choice: Often good for the individual, perhaps less so for society? Current Directions in Psychological Science, 29, 80-85.

 

Savani, K., Markus, H., Naidu, N., Kumar, S., & Berlia, N. (2010). What counts as a choice? U.S. Americans are more likely than Indians to construe actions as choices. Psychological Science, 21, 391-398.

 

Savani, K., Stephens, N., & Markus, H. (2017). Choice as an engine of analytic thought. Journal of Experimental Psychology: General, 146, 1234-1246.

 

 


 

 

 

บทความโดย

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา

 

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ “ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)”

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ

“ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)”

 

 

 

 

‘โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ เป็นโครงการสําหรับการปูพื้นฐานให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการปรึกษา ได้เรียนรู้และเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ ของจิตวิทยาการปรึกษา และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ การเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา และทฤษฎีหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการปรึกษา รวมถึงการคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมไปนั้น จะสามารถนําศาสตร์ทางจิตวิทยาการปรึกษาไปประยุกต์ใช้ต่อตนเอง และผู้อื่นให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายผลักดันการเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น/ชุดรายวิชา ที่มีการรับรองความสามารถ และรองรับการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ให้กับผู้สนใจเข้าศึกษา และสามารถขอเทียบโอนหน่วยกิตเมื่อเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรของคณะ ในการนี้คณะจิตวิทยาจึงได้จัดให้มีโครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ ขึ้นมาเพื่อนำร่องสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ในระหว่างวันที่ 4 ก.ค. – 5 ส.ค. 2566 (วันอังคาร – วันพฤหัสบดี เวลา 18.00 – 21.00 น. และวันเสาร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.) ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

** โครงการนี้เป็นการเรียนพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัด ไม่มีการฝึกปฏิบัติ ผู้เรียนยังไม่สามารถให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาได้ **

 

 

การอบรมประกอบด้วย

  • บรรยาย
    เปิดสอนแบบชุดรายวิชา (Module) โดยการบรรยายแบ่งเป็น 16 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง (รวมชั่วโมงการบรรยายทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง)
  • สอบวัดผล
    จัดสอบ 1 ครั้ง ระยะเวลา 3 ชั่วโมง

 

 

การประเมินผล

  • การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน คิดเป็นร้อยละ 30
  • สอบวัดผลและรายงาน คิดเป็นร้อยละ 70

โดยประเมินผลแบบ Letter Grade มีเกณฑ์การวัดผล ดังนี้

 

Letter Grade
ช่วงคะแนน
A
85 คะแนนขึ้นไป
B+
80 – 84 คะแนน
B
75 – 79 คะแนน
C+
70 – 74 คะแนน
C
65 – 65 คะแนน
D
60 – 64 คะแนน
F
ต่ำกว่า 60 คะแนน

 

 

หลักเกณฑ์การบันทึกระบบคลังหน่วยกิต / เทียบโอนรายวิชาเมื่อเข้าศึกษา

 

Certificate of Achievement
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมด 16 หัวข้อ
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องสอบผ่านโดยได้รับการประเมินผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 (B ขึ้นไป)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องสอบผ่านโดยต้องได้รับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนและการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต ของคณะจิตวิทยา มาแล้วไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการ (ผู้เข้าร่วมโครงการประจำปี พ.ศ. 2566 สามารถเทียบโอนรายวิชาได้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 – ปีการศึกษา 2570)

 

Certificate of Attendance
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าเรียนในหัวข้อที่อบรม
  2. มีระยะเวลาเก็บในแต่ละหัวข้อ ตั้งแต่หัวข้อที่ 1 ถึงหัวข้อที่ 16 เป็นระยะเวลา 5 ปี จึงมีสิทธิ์ขอสอบรับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนเพื่อเทียบโอนรายวิชา (Certificate of Achievement)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องเข้าร่วมโครงการครบ 16 หัวข้อ นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการในหัวข้อแรก จนถึงสอบผ่านการอบรมโครงการ รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี

 

 

การเทียบโอนรายวิชา

 

รหัสรายวิชา
ชื่อรายวิชา
จำนวนหน่วยกิต
3802601
ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY
3 (3-0-9)
คำอธิบายรายวิชา
การวิเคราะห์เปรียบเทียบและการประเมินโดยประสบการณ์เกี่ยวกับทฤษฎีและเทคนิคในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
ทักษะเบื้องต้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด งานวิจัยปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง
Comparative analysis and empirical evaluation of counseling and psychotherapy theories, and techniques;
basic skills for counseling and psychotherapy; current relevant research.
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
  • เข้าใจและวิเคราะห์จุดเด่น ข้อจำกัดและความแตกต่างระหว่างทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่สำคัญได้
  • สามารถค้นหาและอธิบายทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่ได้รับมอบหมายได้

 

* การเทียบโอนรายวิชาจะสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา ภายในภาคการศึกษาแรกของการเข้าศึกษาในหลักสูตร

 

 

หัวข้อการฝึกอบรม / วิทยากร

 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

รับผู้ลงทะเบียนที่เป็นบุคคลทั่วไป จำนวน 20 คน

  • ลงครบ 16 หัวข้อ ราคา 18,000 บาท
  • ลงแยกรายหัวข้อ หัวข้อละ 1,500 บาท

 

หมายเหตุ

  1. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  2. ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 20 คน จะได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียน

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาติดต่อผู้จัดงานเพื่อตรวจสอบที่นั่งว่างก่อนชำระค่าลงทะเบียน
  2. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  3. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  4. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
  5. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอย งานบริการวิชาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 

 

 


คำอธิบายหัวข้อการเรียน

 

1
Why be a counsellor
นักจิตวิทยาการปรึกษาคืออะไร แล้วทำไมเราจึงอยากเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา
2
Difference, Diversity, and Power
ความแตกต่างหลากหลายและมิติทางอำนาจในกระบวนการปรึกษา
3
Wounded Counsellor: Therapeutic Use of Self
ประสบการณ์บาดแผลทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อกระบวนการปรึกษา
4
Logotherapy
จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต : แม้ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ชีวิตก็ยังมีความหมาย มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองเสมอ
5
Humanistic Approach – Rogerian Client-Centered Approach
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง : เมื่อศักยภาพของมนุษย์เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง
6
Gestalt Therapy
จิตบำบัดแนวเกสตัลท์ : สุขภาวะทางจิตดีขึ้นได้ด้วยการตระหนักรู้อย่างเป็นปัจจุบันขณะ
7
Psychoanalytic and Psychodynamic Therapy
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์และพลวัต: เหตุใดทฤษฎีต้นตำรับของจิตบำบัดนี้ยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน
8
Cognitive Behavioral Therapy
จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นความคิดและพฤติกรรมนิยม : จิตบำบัดที่ได้รับการยอมรับสำหรับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
9
Acceptance and Commitment Therapy
จิตบำบัดแนวการยอมรับและพันธสัญญา : ยอมรับความท้าทาย พร้อมยืนหยัดต่อความหมายในชีวิต
10
Adlerian Therapy & Behavioral Therapy
จิตบำบัดแบบแอดเลอเรียนเพื่อการเข้าใจและแก้ไขปมในใจที่บ่มเพาะในวัยเด็ก และจิตบำบัดมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : เมื่อความสุขและความทุกข์กำหนดโดยสิ่งแวดล้อม
11
Couple and Family Therapy
พื้นฐานจิตวิทยาความสัมพันธ์และครอบครัว
12
Art Therapy
ศิลปะบำบัดในศาสตร์กระบวนการปรึกษา
13
Buddhist Approach
จิตวิทยาการปรึกษาเชิงพุทธ : บูรณาการพุทธธรรมสู่การดูแลใจเชิงจิตวิทยา
14
The Controversy of Diagnosis
มองข้อถกเถียงเกี่ยวกับการวินิจฉัยในศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษาในมุมต่าง ๆ
15
Reality Therapy
การปรึกษาแบบเผชิญความจริง : ชีวิตมีทางเลือก เมื่อทางเลือกเปลี่ยน
ชีวิตเปลี่ยน ค้นหาทางเลือกสู่ชีวิตที่ปรารถนา
16
Therapeutic Relationship: A significant predictor of
therapeutic outcome
สัมพันธภาพในกระบวนการปรึกษา : ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของจิตบำบัด

 

 

 


 

 

การเดินทางมายังคณะจิตวิทยา

 

อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

ขนส่งสาธารณะ
BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 2 แล้วเดินตรงเข้ามาทางประตูสนามนิมิบุตร ประมาณ 300 เมตร
รถเมล์ ป้ายสนามกีฬาแห่งชาติ / มาบุญครอง / โอสถศาลา

ที่จอดรถ
อาคารจอดรถ 4 ติดกับอาคารจุฬาพัฒน์ 14

 

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “Cross-Cultural Psychology, Immigration, Multiculturalism, and Intergroup Relations”

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา โดย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันออก-ตะวันตก หัวข้อ

“Cross-Cultural Psychology, Immigration, Multicultura-lism, and Intergroup Relations”

 

 

 

โครงการนี้เป็นโครงการสำหรับผู้ที่ต้องเข้าใจในพื้นฐานของการอยู่ร่วมในสังคมที่มีความต่างทางวัฒนธรรม รวมไปยังการทำงานในบริบทที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากวัฒนธรรมไทย อย่างเช่น การอพยพถิ่นฐาน และการสร้างสังคมแบบพหุวัฒนธรรม โดยโครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

ส่วนที่ 1 “Cross-Cultural Psychology & Intergroup Relations”

มุ่งเน้นการศึกษาไปยังการสร้างความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของวัฒนธรรม อย่างเช่น มิติของค่านิยม ที่ส่งผลต่อการสื่อสารและการอยู่ร่วมกันในสังคม การประยุกต์ใช้จิตวิทยาในการเข้าใจและรับมือต่อความหลากหลายที่เกิดขิ้นในโลก และผลของการมีปฏิบัติสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง

 

ส่วนที่ 2 “Immigration, Multiculturalism and Group Relations”

มุ่งเน้นศึกษาประเด็นเรื่องการอพยพและตั้งถิ่นฐาน สังคมแบบพหุวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้อพยพหรือกลุ่มชาวต่างชาติ โดยวิทยากรจะสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เรียนว่า สังคมแบบพหุวัฒนธรรมเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความหลากหลายในประเทศ รวมไปถึงหลักการที่ในการลดอคติต่อผู้อพยพ และการกระทำที่ต่อต้านผู้อพยพและคนต่างด้าว เพื่อสร้างสังคมที่โอบรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วิทยากร

Professor Saba Safdar, Ph.D.
Department of Psychology, University of Guelph, Canada

 

 

 

 

กำหนดการฝึกอบรม

 

1.Cross-Cultural Psychology & Intergroup Relation

– วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.

– วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.

 

2. Immigration, Multiculturalism, & Group Relations

– วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00 – 20.00 น.

– วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00 – 20.00 น.

 

ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

  • บุคคลภายนอก (ลงทะเบียน 2 หัวข้อ) 1,500 บาท
  • บุคคลภายนอก (ลงทะเบียน 1 หัวข้อ) 1,000 บาท
  • บุคลากรและนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีค่าลงทะเบียน

 

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งฟอร์มลงทะเบียน ท่านจะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ท่านทราบภายใน 3 วัน
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะส่งให้ท่านทาง E-mail
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

https://forms.gle/7g5gBbk5iXKw2kUm8

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอย

โทร. 02-218-1307 หรือ email: Wathinee.s@chula.ac.th

 

 

คณะจิตวิทยา ต้อนรับคณะเดินทางจากมหาวิทยาลัย Temasek Polytechnic ประเทศสิงค์โปร์

 

 

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการต้อนรับคณะเดินทางจากมหาวิทยาลัย Temasek Polytechnic ประเทศสิงค์โปร์ เพื่อเข้าเยี่ยมชมคณะจิตวิทยาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านวิชาการ